สำหรับทุกธุรกิจแล้ว “การสื่อสาร” ถือเป็นสิ่งสำคัญที่อยู่ในแทบทุกขั้นทุกตอนของช่วงเวลาการทำธุรกิจ แต่ปัญหาและคำถามที่มักจะเกิดขึ้นกับหลายคนก็คือ เราจะทำอย่างไรให้การสื่อสารนั้นมีประสิทธิภาพอย่างที่ใจคิด?

ในการสื่อสาร หาก “เนื้อหา” คือพระราชา “การออกแบบที่ดี” ก็น่าจะเปรียบได้กับนกพิราบสื่อข่าวตัวเก่งที่ทำงานได้อย่างสมบูรณ์ เพราะสามารถส่งสารที่ต้องการให้ไปถึงมือผู้รับได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน

ในบทความนี้ เราจะพาคุณมารู้จักกับเคล็ดลับการออกแบบเบื้องต้น ที่ช่วยให้คุณสื่อสารการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงานสื่อสารชิ้นต่อไปของธุรกิจของคุณได้ทันที

1. ทำให้เป็นระเบียบ

สำหรับคนที่ไม่ใช่นักออกแบบ คุณอาจจะคิดว่านักออกแบบนั้นคือมนุษย์ที่พร้อมและพยายามจะแหกกฎ อยู่นอกเกณฑ์อยู่ตลอดเวลา แต่ในความเป็นจริงแล้วมันเป็นตรงกันข้าม

การออกแบบสื่อสารนั้น มีเป้าหมายเพื่อทำให้คนที่รับสาร (audience) เข้าใจง่าย ฉะนั้น การออกแบบที่ดีส่วนใหญ่จึงมักจะออกมาเรียบร้อย เป็นระเบียบ เพื่อให้สมองเราใช้พลังงานในการตีความให้น้อยที่สุด #ไม่คิดเยอะสมองบวม ว่างั้น

เทคนิคการออกแบบที่จะทำให้งานออกมาดูเป็นระเบียบนั้นสามารถทำได้หลายอย่าง เช่น

ให้ความสำคัญกับการจัดเรียง (Alignment)

ถ้าหากคุณต้องอ่านหนังสือที่จัดวางตัวหนังสือซ้ายที ขวาที หรือดีไม่ดี ไม่มีรูปแบบการจัดวางเลย คุณคงปวดหัวน่าดู การจัด Alignment จึงสำคัญมากๆ เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้ข้อมูลเป็นระเบียบ กวาดสายตาเพื่อรับสารได้ง่าย

การออกแบบเมนูที่ทำให้อ่านง่าย สื่อสารชัดเจน
ตัวอย่างเมนูอาหารที่ใช้ Alignment ทำให้คนเข้าใจง่ายว่าหากต้องการดูรายการอาหาร ให้ดูด้านซ้าย หากต้องการดูราคา ค่อยกวาดสายตามาทางคอลัมน์ขวา Credit

การจัดกลุ่มความใกล้ชิด (Proximity)

การจัดกลุ่มข้อมูลที่มีความหมาย หรือเรื่องที่ใกล้เคียงกันเอาไว้ด้วยกัน การทำเช่นนี้เป็นการช่วยผู้อ่านในการจัดกลุ่มข้อมูลก่อนเบื้องต้น เพื่อที่เขาจะได้ไม่ต้องไปตีความทุกอย่างเอง

การออกแบบนามบัตรการจัดกลุ่มข้อมูลติดต่อเป็นกลุ่มเป็นก้อนเพื่อให้อ่านง่ายในนามบัตร Credit

2. ทำซ้ำ

“คนสายครีเอทอย่างเรา จะมาบอกให้ทำอะไรซ้ำๆ เหรอ? ไม่มีทาง!”

อย่าเพิ่งเข้าใจผิด เราไม่ได้หมายความว่า ห้ามคุณใช้สมองซีกขวา ห้ามสร้างของใหม่ หรือบอกให้ไปลอกของคนอื่นมาใช้

การทำซ้ำในที่นี้ หมายถึงการกำหนด “ระบบ” การใช้ออกแบบขึ้นมา เพื่อจุดประสงค์หลัก 2 ข้อ

2.1 สร้างการรับรู้ในเรื่องของแบรนด์ ตอกย้ำสื่อสารเรื่องเดิมซ้ำๆ ให้คนจำแบรนด์ได้

ถ้าคุณกำลังจะซื้อโค้ก คุณเอื้อมไปหยิบเจ้ากระป๋องสีแดงโดยอัตโนมัติตามความทรงจำที่ฝังแน่นที่ว่า “กระป๋องแดง” = “โค้ก” แต่จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าจู่ๆ โค้กเปลี่ยนดีไซน์กระป๋องไปใช้สีคู่แข่งอย่างเป๊บซี่? ไม่ต้องคิดเลยว่าการทำเช่นนี้ จะทำให้โค้กเสียรายได้ไปให้เป๊บซี่วันละเป็นล้านบาท

การออกแบบโลโก้และเลือกใช้สีที่มีเอกลักษณ์ของเป๊ปซี่และโค้ก
การเลือกใช้สีที่เป็นเอกลักษณ์ของโค้กกับเป๊ปซี่ ทำให้ผู้บริโภคจดจำและแยกออกได้ทันทีโดยแทบไม่ต้องมองโลโก้ Credit

2.2 ทำให้ผู้รับสารใช้ความจำ แทนที่จะต้องมองหาและตีความใหม่ทุกครั้ง

คุณรู้สึกเบื่อไหม ที่ทุกครั้งที่เข้าแอปเฟซบุ๊ค แล้วพบว่าเมนูต่างๆ นั้นเหมือนเดิมทุกครั้ง? คุณน่าจะรู้สึกขอบคุณมากกว่าที่วันนี้พี่มาร์คไม่เปลี่ยนตำแหน่งของเมนูที่คุณคุ้นเคย แล้วลองเอาเมนูอื่นมาใส่แทนที่

Credit

ในเรื่องของการออกแบบการสื่อสารและการออกแบบเพื่อการใช้งาน การทำซ้ำถือเป็นสิ่งที่แยกระหว่างงานที่ดี กับงานที่ไม่ดีออกจากกันได้เลยทีเดียว การเปลี่ยนเพื่อทำให้ดีขึ้นนั้นเป็นเรื่องดี แต่ก็ควรจะต้องนึกถึงความคาดหวังของคน และเวลาที่ลูกค้าจะต้องเสียไปกับการเรียนรู้วิธีใช้งานใหม่ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงด้วยว่าคุ้มกันหรือเปล่า

3. รู้จักเรียกร้องความสนใจ

การเรียกร้องให้เกิดความสนใจในงานออกแบบนั้นมีจุดประสงค์อะไรบางอย่างอยู่เสมอ

เรียกร้องเพื่อให้คนสะดุด หยุด แล้วหันมามอง

เรียกร้องเพื่อให้คนโฟกัสไปยังสิ่งที่เราอยากให้เขาสนใจ

หรือ เรียกร้องเพื่อให้คนตัดสินใจซื้อสินค้าจากเรา

คุณสามารถเรียกร้องความสนใจได้ โดยใช้หลักการออกแบบง่ายๆ เช่น

การใช้ความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดกับสิ่งที่ต้องการเน้น (Contrast)

สามารถทำได้โดยการออกแบบสิ่งที่ต้องการเน้นให้เด่น แล้วทำให้แตกต่างจากสิ่งอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นขนาด สี หรือตำแหน่ง ฯลฯ

การออกแบบเว็บไซต์ของ lyftตัวอย่างหน้า Landing Page ของเว็บไซต์ Lyft.com ที่เน้น Headline โดยทำให้มีขนาดใหญ่ และเลือกใช้รูปรถสีแดงบนพื้นสีฟ้า

การชี้นำด้วยภาพ (Visual Cue)

การชี้นำด้วยภาพ ถือเป็นสิ่งที่ช่วยให้สิ่งที่ต้องการจะเน้น ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งวิธีการสามารถทำได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการชี้ด้วยลูกศรตรงๆ หรือชี้นำแบบอ้อมๆ เช่น การใช้รูปคนที่มองไปทางนั้น เป็นต้น

ตัวอย่างการใช้รูปคนหันไปมองเพื่อให้คนดูโฟกัสที่เนื้อหาตรงกลางเว็บไซต์ Asana.com

สรุป

เคล็บลับที่คัดมาด้านบนเป็นเพียงตัวอย่างพื้นฐานส่วนหนึ่งของการนำเอาหลักการออกแบบมาประยุกต์ใช้ เพื่อช่วยให้ธุรกิจของคุณสื่อสารได้ตรงประเด็น น่าสนใจ และน่าเชื่อถือนะคะ