เมื่อ Google จะยกเลิก Universal Analytics ในปี 2023 และกึ่งบังคับให้หันมาใช้ Google Analytics 4 แทน ทำให้เราจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีในการอ่านรีพอร์ท หรือการทำรายงานเสียใหม่ เพราะมีหลายๆ เมทริกซ์ที่เปลี่ยนไป และมีการอัปเดตใหม่อยู่เรื่อยๆ ดังนั้นวันนี้เรา จึงได้หยิบยก 10 เหตุผลที่ควรเลิกใช้ Universal Analytics และหันมาใช้ GA 4 ตัวใหม่หลายฟีเจอร์ตัวนี้กัน

Google Analytics 4 คืออะไร?

Google Analytics 4 เป็นเครื่องมือวิเคราะห์เว็บไซต์เวอร์ชั่นใหม่ ที่เพิ่งปล่อยออกมาให้ใช้ได้ไม่นานประมาณปี 2020 ซึ่งสามารถที่จะวัดผลได้ทั้งบนเว็บไซต์ และแอปพลิเคชันในที่เดียวกัน อย่างไรก็ตามการทาง Google เองก็มีการเปลี่ยนไปพอสมควร เพราะในเวอร์ชั่นนี้ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นบนเว็บไซต์ จะมีการรายงานกลับมาว่าเป็น ‘Events’ เสมอ ซึ่งใน Users หนึ่งอาจจะมีหลายๆ Events เกิดขึ้นพร้อมๆ กันในคราวเดียว

Google Analytics 4
แหล่งที่มา blog.google

10 เหตุผลที่คุณควรหันมาใช้ Google Analytics 4

1. ติดตั้งได้ทั้งบนเว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน 

สำหรับ GA4 ประโยชน์ข้อแรกเลยก็คือ มันสามารถที่จะติดตั้งเพียงแค่รอบเดียว แล้วสามารถใช้ได้ทั้งบนเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชัน ไม่ว่าจะเป็น iOS หรือ Android อย่างไรก็ตามจะต้องติดตั้งด้วยการเชื่อมผ่าน Firebase เพียงเท่านั้น ซึ่งจะทำให้เราสามารถตรวจสอบและวัดผลคนเข้าใช้งาน เว็บ และแอปพลิเคชันในที่เดียวกัน โดยไม่ต้องเปลี่ยนเครื่องมือไปมา

2. ตั้งค่า  Conversions ง่าย และไม่ยุ่งยาก

สำหรับใน Universal Analytics เราจะต้องตั้งค่า Goal Setting ไม่ว่าจะตั้งด้วย destination goal หรือเปลี่ยนจาก event มาเป็น event as a goal ด้วยการเซ็ตผ่าน google tag manager แต่เมื่อหันมาใช้ GA4 เราจะสามารถเปลี่ยนไปเป็น conversions ได้ง่าย เพียงแค่คลิกเลือกแค่อีเว้นท์ที่เราต้องการจะเปลี่ยนมาเป็นคอนเวอร์ชั่นเท่านั้น

3. Engagement Rate จะช่วยให้คุณเข้าใจได้ว่ามีคนอ่านบทความจริงๆ

สำหรับ Universal Analytics ค่อนข้างที่จะลำบากใจว่า หน้าเว็บไซต์หรือเพจนั้นๆ มีคนอ่านจริงไหม บ้างอาจจะใช้ Average time spend on page เพื่อวัดดูว่าถ้ามี Users อยู่ในหน้านี้ แสดงว่าเค้าก็น่าจะอ่านบทความนี้อยู่ เป็นต้น แต่ในทางกลับกันบน Google Analytics 4 ได้สร้างเมทริกซ์ใหม่ขึ้นมาเรียกว่า ‘Engagement Rate’ ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจว่า บทความนั้นๆ มี Engagement อย่างไรบ้าง ซึ่งถ้ามีจำนวนที่ยิ่งสูง ก็ยิ่งดี 

ขณะเดียวกัน Engagement Rate มาจากที่ Engagement Sessions / Total sessions ซึ่ง Engagement Sessions จะเกิดขึ้นเมื่อ Users อยู่ในหน้านั้นๆ มากกว่า 10 วินาที หรือมีการคลิกไปยังเพจอื่นๆ มากกว่า 2 หน้าขึ้นไป หรือเค้าได้ทำคอนเวอร์ชั่นเข้ามา จาก 3 เหตุผลทาง Google จะตีค่าว่าเป็น Engage Sessions ทั้งหมด ซึ่งจะมีค่าน้อยกว่า sessions เสมอ

4. สามารถสร้าง Audience แล้วแชร์ให้ Google Ads ได้ง่ายขึ้น

สำหรับ Google analytics 4 เราจะสามารถสร้าง Audiences ที่เกิดขึ้นจาก Events ต่างๆ แล้วแชร์โดยตรงให้กับทาง Google ads เพื่อไปทำ Remarketing ได้ง่ายขึ้น เพียงแค่ลิงก์ Google ads กับ GA4 เมื่อได้สร้าง audience ระบบก็จะแชร์เข้า Google ads ให้เราในทันที 

อย่างไรก็ตามใน GA4 ยังมีอีกฟังก์ชั่นที่เรียกว่า ‘Predictive Audiences’ ที่ทาง Gooogle จะเลือกใช้ Machine Learning ในการจัดการให้เรา เพื่อมองหา audience ที่มีความใกล้เคียงกับ users กลุ่มนั้นๆ อย่างเช่น Likely-7 day purchaser เป็นต้น อย่างไรก็ตาม Predictive audience จะเปิดให้ใช้ได้งานถ้าระบบสามารถรับข้อมูลเข้ามาในระดับหนึ่ง ซึ่งเราก็บอกไม่ได้ว่า ต้องมากขนาดไหน

5. เราสามารถสร้าง Report Interface ได้ตามแต่ที่เราต้องการ

ถ้าใครเบื่อ Report Tap ที่อยู่ใน Google Analytics 4 ก็จะสามารถแก้ไขให้แสดงได้ตามที่ใจชอบ อย่างไรก็ตามในการเปลี่ยนแปลงในส่วนนี้จะไม่ได้เปลี่ยนเฉพาะคุณเท่านั้น หากแต่ว่าจะยังอัปเดตไปยังผู้ใข้งานรายอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้ Property เดียวกัน ดังนั้นก่อนจะเปลี่ยนอาจจะลองสอบถามบุคคลที่เกี่ยวข้องก่อน

6. เราสามารถเปลี่ยน Attribution Modeling ได้

สำหรับ Universal Analytics เราต่างทราบกันดีว่าระบบนั้นเลือกใช้ระบบที่เรียกว่า ‘Last-click attribution modeling’ ซึ่งมันก็หมายความว่า จะมีเพียงแค่ media channel สุดท้ายเท่านั้นที่จะได้เครดิตไป ถ้าหาก Users คนนั้นได้เลือกซื้อสินค้า หรือใช้บริการของคุณ ในทางกลับกันบน GA4 มีหลากหลาย Model ให้เราสามารถเลือกได้อย่างที่เราต้องการ โดยที่ค่าเริ่มต้นจะเป็น ‘Data-Driven’

แต่เราสามารถเลือกได้ว่าจะเป็นแบบอื่นได้ อาทิเช่น Last-click, First-click, Position-base หรือ Time-decay ซึ่งแต่ละ model ก็จะมีหลักที่ต่างกันออกไป อย่างไรก็ตามถ้าเราต้องการจะ Import Conversion จาก GA4 ไปยัง Google Ads จะต้องเปลี่ยนจาก Data-Driven ไปเป็น Last-click เพื่อให้สามารถแชร์ข้อมูลหากันได้ 

7. Exploration Reports สร้าง Dashboard ของตัวเองบน GA4

สำหรับสายวิเคราะห์ข้อมูล และต้องการสร้างกราฟ เราก็สามารถที่จะสร้างได้เองบน Exploration Reports ซึ่งจะทำให้เราสร้างได้ทั้งกราฟแบบท่อง, กราฟเส้น หรืออื่นๆ ได้ไม่ต่างจาก Data Studio หากแต่ว่า data ที่จะนำมาใช้จะขึ้นอยู่กับ Data Retention ที่เราได้ตั้งค่าเอาไว้ ซึ่งปกติแล้วจะตั้งไว้อยู่ที่ 2 เดือน หมายถึงว่า Data ที่จะเลือกมาแสดงนั้นคือ 2 เดือนล่าสุด แต่เราสามารถที่จะขอขยายได้ไปเป็น 14 เดือน สำหรับเวอร์ชั่น (Free)

Google Analytics 4

8. Bounce Rate ที่ตรงขึ้นกว่าเดิม

ก่อนหน้านี้ GA4 ได้ประกาศว่าจะไม่มี Bounce Rate มาเป็น เมทริกซ์ แต่เมื่อวันที่ 17 กรกฏาคม 2565 ทาง Google ได้เพิ่ม metric เข้ามา แต่จะอยู่ในส่วนของ exploration reports อย่างไรก็ตาม Bounce Rate ที่ถูกเพิ่มเข้ามานั้น จะไม่เหมือนเดิม

สำหรับ Universal Analytics  เมทริกซ์นี้จะเกิดขึ้นเมื่อ Users เข้ามายังเว็บไซต์ของเรา แม้ว่าจะอ่านบทความค่อนข้างนาน เช่น 10 นาที แล้วออก โดยไม่เกิด interaction ใดๆ เกิดขึ้น ระบบก็จะนับว่า Users นั้น Bounce ออกไป ขณะเดียวกัน Bounce Rate บน GA4 นั้นคำนวณด้วยวิธีที่ต่างกันออกไป 

โดยที่จะนับจากยอดที่เหลือจาก Engagement Rate อาทิเช่น สมมติว่า Content Shifu มี Engagement Rate 50% จาก Users ทั้งหมด 100 คน ดังนั้นอีก 50 คนที่เหลือก็จะถือว่า Bounce ทันที ทำให้เว็บ Content Shifu มี Bounce Rate อยู่ที่ 50% นั่นเอง ซึ่งถือได้ว่าค่อนข้างตรง และดีกว่าแบบเดิม

9. Debug View บน GA4

สำหรับ Google Analytics 4 เราสามารถดูได้ว่า Events ที่ได้ติดตั้งไปบนเว็บไซต์ของเรานั้น เป็นไปตามที่เราได้ตั้งค่าเอาไว้หรือไม่ โดยฟังก์ชั่นนี้จะทำงานเมื่อเราเปิด Preview mode บน Google Tag Manager เพียงเท่านั้น โดยทุกอีเว้นท์ที่เราได้ตั้งค่าเอาไว้บน Google Tag Manager และมีการติดตั้งที่ถูกต้อง Debug view จะแสดงให้เห็นชื่อ Events นั้นๆ

10. เก็บข้อมูลเข้า Google Big Queries

สำหรับคนที่ชอบเขียน SQL (Structured Query Language) ซึ่งเป็นวิธีการจัดการข้อมูลบนฐานข้อมูล (Database) ด้วยการเขียนโปรแกรม ทำให้คุณสามารถที่จะจัดการข้อมูลของ GA4 ได้ด้วยตัวเอง โดยระบบของ Google Analytics 4 จะสามารถเชื่อมมายัง Google Big Quries ได้ โดยที่เวอร์ชั่น Stardard นั้นจะสามารถเชื่อมมาได้ประมาณ 1 ล้านแถว

สรุป

Google Analytics 4 ถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ที่ไม่ใช่แค่เปลี่ยนวิธีการจัดเก็บข้อมูล แต่มันหมายถึงการเปลี่ยนแปลงไปของหลายๆ เมทริกซ์ที่เราอาจจะเคยคุ้นชิน รวมทั้งทาง Google เองยังได้อัปเดตฟีเจอร์ใหม่ๆ เข้ามาอยู่เรื่อยๆ ดังนั้นถ้าเว็บไซต์ไหนที่ยังไม่ได้หันมาใช้ Google Analytics เวอร์ชั่นใหม่ เราขอแนะนำให้เริ่มเปลี่ยนตั้งแต่วันนี้ ก่อนที่ Universal Analytics จะถูกยกเลิกในปีถัดไป

ตาคุณแล้ว

คุณได้เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ Google Analytics ในบทความนี้บ้างรึเปล่า? คุณมีความเห็นหรือความรู้อะไรมาแนะนำให้ผมและผู้อ่านคนอื่นๆ รู้เพิ่มเติมไหมครับ? มาคุยกันต่อได้ในคอมเมนต์เลย!