หัวข้อ “The FUTURE of EVERYTHING” ในงาน Creative Talk Conference 2022 ที่จัดขึ้นวันที่ 25-26 มิถุนายน 2565 มี Expert หลายคนจากหลายวงการไม่ว่าจะเป็น Creative, Marketing, Innovation, Entrepreneurship & People มาแชร์สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมไปถึงการเตรียมตัวเองให้พร้อมกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ

ซึ่งผมได้จดประเด็นที่น่าสนใจของทั้ง 5 หัวข้อ ที่แชร์โดย Expert 10 ท่าน และสรุปใจความสำคัญออกมา

ถ้าคุณอยากเพิ่มพูนความรู้เพื่อที่ว่า “ตัวคุณเองในอนาคต” จะพร้อมเปิดรับโอกาสใหม่ๆ มากยิ่งขึ้น คุณไม่ควรพลาดบทความนี้ครับ!

อนาคตของโลก Creative, Marketing, Innovation, Entrepreneurship & People จะเป็นอย่างไร

หัวข้อที่ 1: Creative

Speakers: คุณปั๋น ดริสา การพจน์ (Riety) & คุณเล็ก ดมิสาฐ์ องค์ศิริวัฒนา (Sour Bangkok)

เทรนด์ของโลก Creative มีอะไรบ้าง?

คุณปั๋น: ประเทศไทยเป็นประเทศที่เด่นเรื่อง Creativity & Storytelling อยู่แล้ว ในอดีตสื่อหมายถึงความบันเทิง ทำให้รู้สึกดี แต่ปัจจุบันคนสามารถเล่าเรื่องที่ลึกขึ้น และหลากหลายขึ้น มีการสอดแทรกค่านิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และผู้ชมเองก็เปิดรับเรื่องเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยสรุปคือปัจจุบันคนเปิดรับกับสื่อแบบที่เป็น Education + Entertainment แล้ว คนในวงการ Creative เองก็หามุมมองมาเล่นได้มากยิ่งขึ้น

คุณเล็ก: ปัจจุบันเครื่อง CCreative เกิดการ Shift ของงาน ซึ่งจากแต่ก่อนงาน Creative เป็นโลกของ Specialist หรือมืออาชีพ แต่ปัจจุบัน Creative ถูกเปลี่ยนมาเป็นเรื่องของ Mindset ซึ่งหมายความว่าทุกๆ ในบริษัท ลูกค้า หรือแบรนด์ ทุกๆ คนมี Creativity ในตัวกันหมดเลย ทุกๆ คนสามารถกลายเป็นสื่อได้ด้วยกันทั้งนั้น

คนสนใจเรื่อง Creative ต้องหาความรู้ / ต้องมีทักษะอะไร?

คุณเล็ก: โลก Creative เกิด Tools ใหม่ๆ ขึ้นมาเยอะมาก เทรนด์ก็เยอะเช่นเดียวกันไม่ว่าจะเป็น Crypto Metaverse & NFT สิ่งที่ Creative ต้องมีคือความ “เอ๊ะ” ต้องตั้งคำถามว่าสิ่งนั้นๆ ทำไปทำไม (Why) และทำอย่างไร (How) ปัจจุบัน Consumer หรือผู้บริโภคนั้นถูกขับเคลื่อนด้วยคุณค่า (Value-driven) เช่นเรื่องในเรื่องความเท่าเทียมหรือเชื่อในสิ่งแวดล้อม ตัวแบรนด์เองก็ต้องถูกขับเคลื่อนด้วยเป้าหมาย (Purpose-driven) ที่จะไปตอบโจทย์อะไรบางอย่างกับผู้บริโภคด้วยเช่นเดียวกัน

คุณปั๋น: นอกจากเรื่องของ Tools แล้ว สิ่งที่ยังไงก็ยังคงเป็นเรื่องสำคัญกับคนไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนคือเรื่องของ Emotion & Experience เพราะคนมีสัญชาตญาณความเป็นมนุษย์ มีรัก โลภ โกรธ และหลงอยู่ การที่พยายามรักษา Emotion & Experience ไว้จะทำให้ตัวเรามีความ Authentic (หรือว่าง่ายๆ คือเราสามารถแสดงสิ่งที่เราเป็น สิ่งที่เราคิดได้จริงๆ)

มีเรื่องอะไรเกี่ยวกับ Creative ที่ต้องจับตามอง/เตรียมตัว?

คุณเล็ก: Creativity ก็เปรียบเหมือนหุ้น มีกราฟขึ้น มีกราฟลง และมีการเซ็ทฐาน มันจะมีกราฟของความฮิตของเรื่องอะไรบางอย่าง ซึ่งจะขึ้นไปถึงจุด Peak และเมื่อถึงคุณ Peak คนก็จะเบื่อแล้วกราฟก็จะตกลงมา ซึ่งเทรนด์มันก็จะกลับไป กลับมา ปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ๆ น่าสนใจมากมาย เมื่อมันถึงจุด Peak (ซึ่งยังไม่ใช่ตอนนี้) คนสาย Creative ก็จะกลับมาสู่ความ Simple อีกครั้ง จากนั้นกราฟก็จะพุ่งกลับขึ้นไป เป็นวัฏจักรแบบนี้ไปเรื่อยๆ

คุณปั๋น: อนาคตที่คาดการณ์ได้แน่ๆ ในฐานะคนทำงาน Creative คือความรู้สึก “Burnout” ที่มันจะขึ้นๆ ลงๆ ไปเรื่อยๆ ตลอดชีวิต สิ่งสำคัญคือเราต้องใจดีกับตัวเอง และหลายๆ อย่างมันเกินที่เราจะควบคุม หรือให้เป็นเรื่องที่เราควบคุมได้ มันก็ยังจะต้องมีเวลาขึ้นและลงอยู่ดี ต้องเตรียมรับมือกับความไม่แน่นอน

หัวข้อที่ 2: Marketing

Speakers: คุณเต้ย ภารุจ ดาวราย (DAAT) & คุณตูน สุธีรพันธุ์ สักรวัตร (SCB)

ปีที่ผ่านมามีเรื่องอะไรน่าจับตามอบในแวดวงการ Marketing บ้าง?

คุณเต้ย: คนจะใช้ชีวิตอยู่ 2 โลก คือโลกปกติและโลกเสมือน ไม่มีวันแยกออกจากกัน เราจะต้องเชื่อมโยงคนคนเดียวกันที่อยู่ทั้ง 2 โลกให้ได้ เพราะไม่อย่างนั้นความเข้าใจก็จะไม่เกิดขึ้น และถ้ามองโลก 2 โลกแยกกัน คนคนเดียวกันนี้อาจจะเหมือนเป็นคนละคน แต่จริงๆ แล้วเขาเป็นคนเดียวกัน เพราะฉะนั้นนอกจากเอา Data บนโลกออนไลน์มาใช้แล้ว ต้องอาศัยการคุยกับคนจริงๆ ด้วย

คุณตูน: มีอยู่ 3 เรื่องคือ 1. Democratize Everything: ทุกอย่างสามารถเข้าถึงได้ ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของแบรนด์ เจ้าของสื่อ หรือแม้แต่เรื่อง Banking ที่หลายๆ คนก็สามารถออก Product (เช่น Currency) มาแข่งกับธนาคารได้ 2. เทคโนโลยีสามารถซื้อได้ แต่ Talent และ Culture เป็นสิ่งที่ซื้อไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องพยายามทำเรื่องเหล่านี้ให้ดี 3. Business Model เปลี่ยนไปเร็วมาก ต้องปรับเปลี่ยนให้ทัน และต้องหาให้เจอว่า Business Model แบบไหนที่เหมาะกับธุรกิจของเรา ซึ่งคุณตูนบอกว่าปัจจุบันมี Business Model มากกว่า 22 แบบให้เลือกใช้ (ผมลองไปค้นหาดูแล้วเจอโพสต์นี้ ที่เขียนถึง 50 Types of Business Models (2022) – The Best Examples of Companies Using It ลองไปอ่านดูได้ครับ)

ทักษะอะไรที่ตอนนี้ที่ต้องมีบ้าง?

คุณตูน: มีอยู่ 3 เรื่องเหมือนกัน คือ 1. The Great Resignation: เมื่อก่อนคนทำงานคุยเรื่องเงินเดือนและ Benefits แต่ปัจจุบันคนทำงาน (ที่มีทางเลือก) เริ่มคุยเรื่อง Model แบบ Freelance (จบ Project นี้ได้เท่าไหร่) หรือแบบ Valuation (ถ้าทำเรื่องนี้สำเร็จแล้วจะได้ส่วนแบ่งเท่าไหร่) บริษัทหรือ Corporate ต้องเรียนรู้และตามเรื่องนี้ให้ทัน 2. The Great Reskill: สำหรับหลายๆ คน สิ่งที่ทำมาหลายสิบปีเป็นสิ่งที่ต้องโยนทิ้งและเริ่มต้นใหม่ ประสบการณ์หลายๆ อย่างที่มีมาในอดีตมันใช้ในอนาคตไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้นการเรียนรู้จึงต้องเกิดในทุกช่วงวัย 3. The Great Resilience: ทำยังไงให้ตัวเราเองและธุรกิจของเรายืดหยุ่น และคนทำงานต้องมีความเฉพาะทาง (Niche) ในตัวเอง ถ้าไม่เฉพาะทาง เราจะไม่เป็นอะไรสำหรับใครเลย

คุณเต้ย: โดยพื้นฐานแล้ว อารยธรรมของมนุษย์คือการทำงานร่วมกัน ต้องพยายามเชื่อมโยงคนและสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกันให้ได้ ห้ามมองแต่หน้าที่ของตัวเองหรือมองทุกอย่างเป็น Silo การสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ จึงอยากแนะนำให้สร้างวัฒนธรรมแบบที่ Overcommunicate & ทำให้มั่นใจว่าคนเข้าใจกันจริงๆ รวมไปถึงเรื่องการเอา Data มาประยุกต์ใช้ คือจะใช้แต่ Gut Feeling (สัญชาตญาณ) ไม่ได้ ต้องเอา Data มาประกอบด้วย

อนาคตของ Marketing จะเป็นยังไงบ้าง?

คุณเต้ย: 1. การทำ Personalization จะไม่ได้เป็น Differentiator อีกต่อไปเพราะทุกคนต้องทำสิ่งนี้ 2. คนจะต้อง Shift จาก Output-focus มาเป็น Outcome-focus คือเน้นผลลัพธ์ให้มากขึ้น ไม่ใช่เน้นแต่ชิ้นงานที่ทำออกมา

คุณตูน: 1. สิ่งสำคัญพื้นฐานเลยคือเรื่อง Data ต้องเอาให้ทุกอย่างขึ้น Cloud และเก็บ/รวบรวม Data ให้ได้ 2. องค์กรจะไม่ได้มองแค่การโตขึ้นปีละ 5-10% แต่จะมองแบบ Winner takes all (คนชนะไม่กี่คนได้หมด) การคิดและการทำงานของคนสาย Marketing ก็ต้องเปลี่ยนตาม 3. โลกซับซ้อนขึ้น: การแบ่งกลุ่มคนจะไม่ได้แบ่งตามอายุหรือ Segmentation แบบปกติในอดีต แต่จะแบ่งแบบ Lifecyclestage ซึ่งมีอยู่ 18 Lifecycle Stage (คุณตูนแนะนำให้ไปอ่านหนังสือเรื่อง Stage (Not Age) เพิ่มเติม) และต้องรู้ว่าเราถนัดในการทำ Business Model แบบไหน

หัวข้อที่ 3: Innovation

Speakers: คุณลิงค์ จอมทรัพย์ สิทธิพิทยา (Exzy) & คุณรัน นิรันดร์ ประวิทย์ธนา (Ava Advisory)

ช่วงที่ผ่านมา Innovation อะไรน่าจับตามอง?

คุณลิงค์: 1. เรื่อง Hybrid Working ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ที่องค์กรต้องดูทั้งเรื่อง People, Place & Process โดยที่พื้นที่ในออฟฟิศจะถูกใช้น้อยลง องค์กรต้องใช้เทคโนโลยีในทุกๆ Touchpoint ซึ่งออฟฟิศจะกลายเป็น Satellite หรือเป็นสถานที่ที่ไม่ใช่แค่ให้พนักงานเข้ามาทำงานแต่ให้ลูกค้าเข้ามาเพื่อสร้าง Engagement ด้วย 2. เรื่อง Metaverse ก็เป็นเรื่องที่คนต้องสนใจว่าจะใช้ประโยชน์จากมันอย่างไร เช่นปัจจุบันมีการทำ Virtual Factory ที่สร้างโรงงานสายการผลิตรถบน Metaverse ก่อนสร้างจริง และคุณลิงค์ยังเสริมอีกว่า ปัจจุบันโลกจะมีความเป็น Multi-technology มากขึ้น คือเอาเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้งานร่วมกัน

คุณรัน: 1. Blockchain & Decentralized Finance ซึ่งเป็นการตัดคนกลางออกจากไป อนาคตน่าจับตาดูว่าจะผสานกับ Traditional Finance ยังไงเพื่อให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์มากที่สุด 2. AI เช่นพวกเทคโนโลยีทำ Text-to-speech ช่วยสร้างเสียงสำหรับผู้พิการที่พูดไม่ได้หรือใช้ AI ไปยกระดับการผลิต ซึ่งในอนาคตเรื่องเหล่านี้จะแม่นยำมากขึ้นเรื่อยๆ และมนุษย์จะเริ่มถูกตัดออกจากสมการเรื่อยๆ 3. Biotech (Alternative Protein) ซึ่งโลกจะเจอสภาวะที่ประเทศพัฒนาแล้วประชากรหดตัวแต่ประเทศกำลังพัฒนาประชากรขยายตัว ซึ่งจะทำให้ประเทศเหล่านี้ขาดแคลนโปรตีนมหาศาล ปัจจุบันเลยมีการทำเทสต์พวก Lab-grown meat (โปรตีนที่ไม่ได้มาจากพืชแต่เอา Stemcell ของสัตว์มาผลิต) มากขึ้น

เราต้องปรับตัวเข้ากับ Innovation ยังไง?

คุณรัน: ในมุมของมนุษย์ถือว่าท้าทายมาก เพราะคนในอนาคตจะต้องเรียนรู้ที่จะเข้าใจว่างานไหนที่ทำจะไม่ไปแบ่งกับ Automation ต้องดูว่าสิ่งที่คนแข่งได้คืออะไร (เช่นพวก Human Touch หรืออะไรที่เกี่ยวข้องกับ Emotion)

คุณลิงค์: อนาคตจะเกิด Human & Robot Companionship คือคนกับโรบ๊อททำงานร่วมกันเช่นงาน Barista ที่ให้โรบ๊อทชงกาแฟ ส่วนคนเป็นคนคิดสูตร รูปแบบ และการเสริฟ และในการทำงานต้องมีคนที่รู้ลึกในการใช้ Use Case (Business Guy) และคนที่คุยกับคอมได้ (Tech Guy) มาทำงานควบคู่กัน

ในอนาคตมีเรื่องอะไรที่น่าจับตามองมากไปอีก?

คุณรัน: คนสร้าง Innovation มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิด Recession (ภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง) ทำให้คนลงทุนในการสร้าง Innovation ต้องคิดมากขึ้น คือจะเริ่มเลือก Business ที่ใช้เทคโนโลยีไม่ต้อง Advance มากแต่ทำให้ได้กำไรจริงๆ มากขึ้น รวมไปถึงแนวคิดแบบ Startup จะถูกท้าทาย (Mindset ที่เชื่อว่าถ้าเทคโนโลยีดี + ขนาดตลาด (Total Addressable Market) ที่ใหญ่พอ แล้วจะสามารถสร้างการเติบโตแบบ Expontial ได้) คนจะเริ่มกลับมา Balance เทคโนโลยีกับรายได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นแล้วการเอาพวก Low-code หรือ No-code Automation มาใช้ก็จะเริ่มแพร่หลายมากยิ่งขึ้น

คุณลิงค์: บางอาชีพที่เคยเป็น Labor (คนที่ใช้แรงงาน) ในอีกไม่นานจะกลายเป็นอาชีพที่มีรายได้เยอะ เพราะในงานที่เกี่ยวกับ Metaverse จะมีเรื่องของ 3D Modelling & Graphic มากขึ้น กลุ่มคนที่ทำสิ่งเหล่านี้ได้จะมีมูลค่าสูงขึ้นทันที นอกจากนั้นแล้วในอนาคต การลองดู Key Driver หรือปัจจัยที่ขับเคลื่อนโลก (เช่นเรื่องความเท่าเทียม สภาพอากาศ หรืออัตราส่วนของคนที่จะทำงานกับคนเกษียณ) เป็นเรื่องสำคัญเพื่อทำให้มั่นใจว่าสิ่งที่เราเลือกและตัดสินใจจะเป็นสิ่งที่ดีจริงๆ

หัวข้อที่ 4: Entrepreneurship

Speakers: คุณโธมัส พิชเยนทร์ หงษ์ภักดี (Smart ID Group) & คุณปิ๊ก ธรรศภาคย์ เลิศเศวตพงศ์ (Trick of the Trade)

เห็นเรื่องอะไรที่ Entrepreneur จะต้องจับตามองบ้าง?

คุณปิ๊ก: เรื่องค่าใช้จ่าย เพราะในช่วงที่ผ่านมาธุรกิจหารายได้ได้ไม่เหมือนเดิม ธุรกิจที่อยู่รอดไม่ใช่ธุรกิจที่หา Top Line เก่ง (หาลูกค้าหรือหาเงินเก่ง) เพราะมันเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เราต้องทั้งชนะใจลูกค้าและชนะคู่แข่ง สิ่งที่ควรทำคือหันกลับมามอง Cost ในองค์กรซึ่งเป็นปัจจัยที่ควบคุมได้มากกว่า

คุณโธมัส: ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาถือเป็นช่วงเวลาที่ Entrepreneur ต้อง Reflect ตัวเองสูงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ การมีแค่ Why ในการทำงานอย่างเดียวอาจจะไม่พอ แต่ต้องมีอีก 3 อย่างคือ 1. มี Purpose: ต้อง Reflect ว่าความลำบากที่เราต้องเจอมัน Match กับ Purpose ไหม เรามีความเชื่อว่าอะไร 2. มี Care: ต้องแคร์สังคม แคร์โลก แคร์คนที่อยู่ร่วมกัน แคร์พนักงาน 3. ต้อง Inspire: เราจะทำทุกอย่างให้เกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่สามารถ Inspire ตัวเองกับคนที่เดินร่วมทางได้บ้าง

ทักษะหรือสกิลอะไรที่ Entrepreneur ต้องเน้นย้ำ?

คุณปิ๊ก: จุดเปลี่ยนที่สำคัญคือ Consumer ปีนี้คือจุดตัดที่ Gen Z จะเริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงาน สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องมองถึงอนาคต คนกลุ่มที่จะขึ้นมาจะเป็นลูกค้าของเรา คนเราเรามักจะถนัดขายของคนใน Gen เดียวกัน แต่ต้องพยายามฝึกสกิลในการเข้าใจคนต่างวัยด้วย นอกจากนั้นแล้วเราอยู่ในยุคที่ผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามาง่ายมาก ต้องมีความพร้อมในการแข่งขัน สำคัญคือต้องไม่ยึดติดกับแผนงานเดิมๆ ที่เคยทำ

คุณโธมัส: 1. System: ต้องเก่งเรื่องระบบมากกว่าก่อนเรื่องมากๆ ต้องดู Cashflow, Accounting ให้ดี ต้องมีสกิลนี้ให้ได้ก่อน ไม่ใช่ตายเอาดาบหน้า 2. ต้องมีสกิลการบริหารความหลากหลาย: ผู้ประกอบการมีความสามารถในการ Blend in ความหลากหลายแค่ไหน 3. สกิล Respect: ต้อง Respect ความคิดเห็น มุมมอง สิ่งที่คนอื่นทำ อย่าไปด้อยค่า

มองไปในอนาคต คิดว่ามีเรื่องอะไรที่ Entrepreneur ควรจับตามองเป็นพิเศษ?

คุณโธมัส: ต้องดู Purpose ให้ชัดเจนก่อน จากนั้นค่อยปรับสิ่งต่างๆ ให้เข้ากับเรา โดยที่ต้องมองทุกอย่างเป็น Funnel จากภาพใหญ่ลงมาภาพเล็ก (ไล่ตั้งแต่ ระดับโลก ระดับประเทศ จนถึงตัวเอง) แล้วดูว่าปัจจัยไหนเกี่ยวข้องกับธุรกิจของเราบ้าง อันไหนเกี่ยว ก็โฟกัส อันไหนไม่เกี่ยว ไม่เกี่ยวก็แค่รู้ไว้ก็พอ อย่าเป็นเหยื่อของข่าว แต่ต้องเป็นคนที่ใช้ประโยชน์จากข่าวให้ได้

คุณปิ๊ก: สิ่งที่จะช่วยมากคือการ Collaborate ระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภค (ไม่ใช่แค่ระหว่างแบรนด์กับแบรนด์) ถ้าเราทำให้แบรนด์มีชีวิต คนก็จะมาสนใจ สุดท้ายคนจะเลือกซื้อแบรนด์ที่มี Value ที่สอดคล้องกับ Value ของพวกเขา

หัวข้อที่ 5: People Skills

Speakers: คุณบี อภิชาติ ขันธวิธิ (QGEN, HR The Next Gen) & คุณจูน เมธาวี ทัศนาเสถียรกิจ (Vulcan Coalition)

Wrap up เรื่องคนใน 2-3 ปีที่ผ่านมา

คุณบี: เทรนด์ทั้งไทยและเทศจะสนใจเรื่อง DEI & B มากขึ้น: Diversity, Equality & Inclusivity (ความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมได้) รวมไปถึง Belonging (ความมีตัวตนของคน)

คุณจูน: เสริมเพิ่มเติมจากคุณบีเรื่อง Diversity ว่าหลายๆ คนอาจจะมองมันแบบเหมารวม แต่มันเหมาได้หลายประเภท ได้แก่ 1. Internal (ความแตกต่างที่ติดตัวมาแต่กำเนิด) เช่นคนพิการ เพศ อายุ เชื้อชาติ 2. External (ความแตกต่างที่ว่าเราอยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบไหน และถูกสร้างให้เป็นคนแบบไหน เช่นคนเมือง กับคนต่างจังหวัด อาจจะมีความคิดที่แตกต่างกันออกไป หรือศาสนา) 3. Organizational Diversity ที่คนที่มี Role ที่ต่างกัน ตำแหน่งที่ต่างกัน ต้องมาทำงานร่วมกันได้อย่างไร 4. World View Diversity เช่น การเมือง มุมมองที่มีต่อโลก

ยุคนี้ต้องพัฒนาทักษะเรื่องอะไรบ้าง?

คุณบี: เทรนด์เรื่อง Remote เริ่มจะเป็นแนวโน้มที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ และคนต้องพัฒนาตัวเองให้เป็นแบบ T-Shape คือต้องรู้ลึกขึ้นกว่าเดิมในงานของตัวเอง (ต้องสอนคนอื่นได้) และต้องรู้กว้างมากยิ่งขึ้น ซึ่งคำว่ารู้กว้างคือ 1. ต้องมี Growth Mindset 2. ต้องมี Data Literacy (เข้าใจเรื่องข้อมูล) 3. ต้องมี Leadership & People Management Skill และ 4. ต้องมี Problem Solving Skill

คุณจูน: ต้องพัฒนาเรื่อง Inclusive Leadership Skill ต้องทำให้คนทุกคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร และใช้ความแตกต่างของคนขับเคลื่อนธุรกิจ และต้องเข้าใจเรื่อง Generation Gap

อนาคตต้องรู้อะไรบ้าง?

คุณบี: ต้องมี Curiosity (ความขี้สงสัย ความเอ๊ะ) ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นตัวตั้งต้นสำหรับการที่จะพัฒนาเรื่องใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้ ต้องไม่ทำตัวเองให้เป็น The Best แต่ต้องทำให้ Better ขึ้นเรื่อยๆ เพื่อทำให้เรามีทางเลือกมากขึ้นเสมอๆ

คุณจูน: ในอนาคตนอกจากมนุษย์แล้ว อาจจะมี AI เป็นเพื่อนร่วมงานคนใหม่ ต้องมีสกิลที่ทำงานร่วมกับ AI ต้องเตรียมองค์กรให้มีความพร้อมและปรับตัวเข้ากับ Tech ได้

สรุป

และนี่คือการสรุป Session ทั้ง 5 Session ของ “The FUTURE of EVERYTHING” ในงาน Creative Talk Conference 2022 นะครับ

ถึงแม้ว่าสิ่งที่เว็บไซต์ Content Shifu โฟกัสจะเป็นเรื่อง Marketing แต่เอาจริงๆ แล้ว เรื่องอีก 5 เรื่องคือเรื่อง Creative, Innovation, Entrepreneurship และ People Skill ต่างเป็นเรื่องที่สำคัญและคอยส่งเสริมการทำ Marketing ให้ดีทั้งนั้น เพราะฉะนั้นแล้วหลังจากที่คุณอ่านบทความนี้จบ ผมแนะนำให้คุณไปศึกษาเรื่องเหล่านี้ต่อนะครับ ยิ่งคุณรู้ลึกในสายงาน และรู้กว้างในเรื่องรอบด้าน คุณจะทำ Marketing ได้ดียิ่งขึ้นครับ

ตาคุณแล้ว

คุณคิดว่ามีเรื่องอื่นที่น่าสนใจนอกเหนือจากที่ผมเขียนมาอีกรึเปล่า? หรือคุณไปงาน Creative Talk Conference 2022 เหมือนกันกับผม แล้วคิดว่าผมจดมาไม่ครบถ้วน แล้วอยากจะเสริมอะไรบ้างรึเปล่า? มาคุยกันได้ในคอมเมนต์เลยครับ!