ในเดือนหน้าที่จะถึงนี้ (10 สิงหาคม 2561) Content Shifu จะมีอายุครบ 2 ขวบปี แต่เนื่องในวาระอันดีที่เราทำการยกเครื่องเว็บไซต์ใหม่ทั้งหมด เราเลยขอพูดถึงวันครบรอบก่อนถึงเวลาจริงสักนิด

ในตอนที่เริ่มทำเว็บไซต์แรกๆ นั้น เราไม่ได้คิดและไม่ได้คาดหวังอะไรมากมายจาก Content Shifu เลย เราเพียงแค่เห็นว่าในไทยยังไม่มีเว็บที่เน้นเขียนเกี่ยวกับเรื่อง Inbound Marketing และเน้นเรื่องราวแบบ How-to หรือเขียนในลักษณะ Long-form ซักเท่าไรนักก็เท่านั้นเอง

2 ปีที่ผ่านมานี้ พวกเราได้ทำ ทดสอบ และทดลองอะไรหลายอย่างร่วมกับ Content Shifu ไม่ว่าจะเป็นการเขียนบล็อก (ซึ่งความท้าทายคือการพยายามเขียนให้ได้อย่างสม่ำเสมอ ทั้งที่ก็มีงานประจำอื่นๆ) การสอนทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ​(ซึ่งความท้าทายคือการกลั่นความรู้ให้ได้เป็นบทเรียน) และอื่นๆ อีกหลายอย่าง

ซึ่งการทำ Content Shifu นั้นได้เปิดประตูโอกาสให้เราอีกหลายบาน นอกจากนั้นแล้วยังมีเรื่องราวให้เราครุ่นคิดมากขึ้นอีกด้วย โดยเรื่องที่เราคิดแล้วคิดอีก คิดแล้วคิดอีก มากที่สุดก็คือเรื่อง “อนาคตของ Content Shifu

เราไม่อยากให้ Content Shifu เป็นเพียงแค่เว็บไซต์คอนเทนต์ดีๆ ที่เข้ามาอยู่กับตลาดไทยแค่ช่วงหนึ่ง พอเราหมดแรงหรือมีอย่างอื่นที่ต้องทำ Content Shifu ก็จะหายไป

เราอยากให้ Content Shifu สามารถส่งมอบสิ่งดีๆ ให้กับคนไทยได้อย่างยั่งยืน ไม่ใช่แค่ 1-2 ปี แต่เป็น 5-10 ปีเป็นอย่างน้อย

ในบทความนี้เราจะมาเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของ Content Shifu ให้คุณได้อ่านกัน

ความเปลี่ยนแปลงและอนาคตของ Content Shifu

1. ไม่มี “บริษัท ชิฟู ดิจิทัล จำกัด” อีกต่อไป

ด้วยความตั้งใจที่อยากจะทำให้เว็บนี้ยั่งยืน ครั้งแรกที่เราเริ่มหารายได้ให้กับเว็บไซต์คือการผลิตและขายคอร์สเรียนออนไลน์ บริษัท ชิฟู ดิจิทัล จำกัด เป็นบริษัทที่เราจดทะเบียนขึ้นมาเพื่อขายคอร์สเรียนนั้นจะถูกนำไปควบรวมกับบริษัท แม็กนีโต้แล็บส์ จำกัด ซึ่งเปรียบเสมือนบริษัทพี่บริษัทน้องของบริษัท ชิฟู ดิจิทัล จำกัด ความหมายก็คือต่อจากนี้เว็บไซต์ Content Shifu จะเป็นทรัพย์สินของบริษัท แม็กนีโต้แล็บส์ จำกัด ซึ่งสาเหตุแห่งการควบรวมนั้นมีอยู่ 2 สาเหตุใหญ่ๆ คือ

1.1 แม็กนีโต้แล็บส์เป็นบริษัทที่ให้บริการทางด้านดิจิทัลซึ่งเป็นบริษัทที่มีลูกค้าและมีรายรับมาเป็นประจำในทุกๆ เดือนอยู่แล้ว

เพราะฉะนั้นก็เลยทำให้ Content Shifu นั้นสามารถเป็นเว็บไซต์ที่เป็น Value Driven ไม่ใช่ Profit Driven ได้ (ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ได้แคร์เรื่อง Profit เลย Profit ยังคงเป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญเพราะธุรกิจที่เราทำอยู่คือ For-profit Business ไม่ใช่ Non-profit Business)

1.2 การควบรวมจะทำให้ Content Shifu ได้รับผลประโยชน์จากทางแม็กนีโต้แล็บส์มากยิ่งขึ้น

โดยที่ผลประโยชน์ที่ได้รับหลักๆ แล้วมีอยู่ 2 อย่างคือ 1. เรื่องของภาษี (ต่อจากนี้ไปบริษัทที่ทำธุรกิจกับเราจะสามารถนำ VAT ไปคำนวณภาษีซื้อได้) 2. เรื่องของทรัพยากรบุคคล ซึ่งเราสามารถจัดสรรปันส่วนเวลาของทีมงานบางส่วนที่อยู่ในแม็กนีโต้แล็บส์มาช่วยทำ Content Shifu ได้ดีขึ้นและมากขึ้นกว่าเก่า

ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้อยู่เบื้องหลัง Content Shifu ทั้งหมดจะต้องเกี่ยวข้องกับแม็กนีโต้แล็บส์ มีบุคคลคุณภาพมากมายที่มีส่วนช่วยสนับสนุน Content Shifu มาด้วยกันกับเรา หากคุณสนใจร่วมเขียนคอนเทนต์แบ่งปันความรู้ เรายินดีรับนักเขียนมาร่วมเขียนด้วยกันกับเราอยู่นะ

2. Content Shifu กำลังเติบโตขึ้น

แรกเริ่มเดิมที Content Shifu ถูกสร้างขึ้นมาโดยแบงค์และอรซึ่งเราคิดว่าภาพลักษณ์ของเว็บไซต์นั้นมีความเป็นบล็อกเกอร์ค่อนข้างสูง แต่ในวันนี้และในอนาคตเราวางแผนที่จะทำให้ Content Shifu นั้นเติบโตเป็นมืออาชีพไปอีกขั้น เราจึงอยากที่จะปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่างเพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งที่เราตั้งใจไว้โดยที่

2.1 การรีแบรนด์และการรีดีไซน์เว็บไซต์ใหม่

“What got us here won’t get us there”

แบรนด์ดิ้งและเว็บไซต์เดิมของ Content Shifu นั้นทำหน้าที่ของมันได้ดีมาก มีหลายคนจดจำมันได้ แต่ถ้าเราอยากที่จะเติบโตขึ้น ความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่จำเป็น คุณสามารถเข้าไปอ่านเกี่ยวกับเหตุผลในการรีแบรนด์และการรีดีไซต์เว็บไซต์ใหม่ได้ในบทความตอนต่อไป

2.2 แบงค์/อร

ที่ผ่านมา Content Shifu ถูกเขียนมาในนามของแบงค์/อรมาตลอด ซึ่งข้อดีของการใช้ชื่อและหน้าของพวกเราคู่กับแบรนด์ Content Shifu คือจะมีความเป็น Personal มากกว่า แต่เรารู้ดีว่าถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป Content Shifu จะไม่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน เพราะฉะนั้นตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปชื่อของแบงค์/อรจะถูกลดบทบาทลงและชื่อของ Content Shifu จะถูกชูขึ้นมาให้เด่นเต็มที่

ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าแบงค์และอรจะหายไปเลย เราทั้งสองคนยังคงเป็นคนที่บริหารจัดการ Content Shifu และเป็นคนเขียนบทความหลายๆ บทความอยู่ (อรจะเป็นเหมือน Content & Product Manager ของ Content Shifu ซึ่งมีหน้าที่ดูแล Content Shifu เป็นหลัก ส่วนแบงค์จะเน้นการดูแลแม็กนีโต้แล็บส์เป็นหลัก) และที่สำคัญที่สุดยิ่งกว่าสิ่งไหน จิตวิญญาณ ความตั้งใจ และเหตุผลที่ทำไม Content Shifu ถูกสร้างขึ้นมาจะยังคงมีอยู่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนไป

3. พบกับบริการใหม่ของ Content Shifu

ก่อนหน้านี้เราได้เปิดตัวคอร์สออนไลน์ของเราไปแล้ว (ตอนนี้ได้เราได้ปิดการขายลงชั่วคราวเพื่อทำให้ทั้งตัวคอร์สและระบบการเรียนดีขึ้นกว่าเก่า สำหรับผู้เรียนปัจจุบันยังคงสามารถเข้าไปล็อกอินและเรียนได้ตามปกติที่ academy.contentshifu.com)

สำหรับบริการใหม่ที่เราเปิดขึ้นมานั้นคือส่วนของ Public Training (คอร์สเรียนแบบสอนสดและอีเวนต์ต่างๆ) และ In-house Training ให้กับบริษัท เน้นสอนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ Digital Marketing โดยจะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบใหญ่ๆ คือ แบบ Strategy (เหมาะสำหรับผู้บริหารหรือหัวหน้างาน) และ Specialist (เหมาะสำหรับคนที่ลงมือทำ)

ซึ่งทีมผู้สอนจาก Content Shifu นั้นจะไม่ใช่เพียงแค่แบงค์ อร หรือคุณท็อป หรือคนใกล้ตัวไม่กี่คน แต่จะมาจากคนที่ลงมือทำจริงและคลุกคลีกับสิ่งที่สอนเป็นประจำในทุกๆ วัน (หากคุณคิดว่าคุณคือคนสายดิจิทัลที่ลงมือปฏิบัติจริงและอยากลองมาร่วมทีมแบ่งปันความรู้ ลองทักมาคุยกับเราได้)

ส่วนสุดท้ายคือ Agency Curation Service ซึ่งสาเหตุที่เราเปิดบริการตรงส่วนนี้มานั้นเป็นเพราะว่ามีบริษัท/คนติดต่อสอบถาม Content Shifu มาเกี่ยวกับบริการทำการตลาดออนไลน์ การทำคอนเทนต์ การทำเว็บ และอื่นๆ แทบจะทุกวัน แต่บริการการทำ Digital Marketing ไม่ใช่สิ่งที่ Content Shifu โฟกัส

Content Shifu เราโฟกัสที่การเป็นแหล่งข้อมูลคุณภาพเพราะฉะนั้นเราคิดว่ามันก็คงจะเป็นการดีถ้าเราสามารถแนะนำ Agency ที่มีคุณภาพให้กับคนที่ติดต่อเข้ามาให้ได้ (โดย Agency คุณภาพก็เปรียบเสมือคอนเทนต์คุณภาพที่เราอยากจะแชร์ต่อบอกต่อ)

ถ้าคุณกำลังหาบริการจาก Agency อยู่ เริ่มหา Agency คู่ใจได้ที่นี่

ตอบข้อสงสัย
Agency Curation Service ไม่ใช่ Marketplace แต่เป็นบริการ Business Service Matching ซึ่งทาง Content Shifu จะช่วยคัดกรองทั้งเอเจนซีโดยที่จะต้องเป็นเอเจนซีที่มีประวัติการทำงาน สามารถส่งมอบงานที่มีคุณภาพได้ และมีความพร้อมในการรับงาน และคัดกรองผู้หาเอเจนซี โดยที่ผู้หาเอเจนซีจะต้องเป็นบริษัท/คนที่มีความต้องการที่ชัดเจนและมีงบประมาณในการลงทุนระดับหนึ่ง (หลักหลายหมื่นบาทต่อเดือน – สาเหตุที่ต้องเป็นแบบนี้นั้นเป็นเพราะสิ่งที่เอเจนซีส่งมอบนั้นไม่ได้เป็นชิ้นงานเป็นชิ้นๆ เช่นบทความ 1 บทความหรือกราฟิก 1 ชิ้น แต่เป็นโซลูชั่นซึ่งต้องมีการคิด วิเคราะห์ และดำเนินการตามแผนงาน)
ตอบข้อสงสัย
บางคนอาจจะมีคำถามว่า Agency Curation Service จะเกิด Conflict of Interest กับแม็กนีโต้แล็บส์ที่เป็นเอเจนซีเหมือนกันรึเปล่า

เราคิดว่าไม่ สาเหตุก็เป็นเพราะ 1. แม็กนีโต้แล็บส์มีคนติดต่อมาเองเป็นประจำอยู่แล้ว (เราทำ Inbound Marketing ให้กับแม็กนีโต้แล็บส์เช่นกัน) 2. บริการของแม็กนีโต้แล็บส์มี 2 อย่างคือ Website Design Service กับ Inbound Marketing Service อะไรที่นอกเหนือจากนี้ไม่ใช่สิ่งที่เราโฟกัส 3. บริษัทมีทรัพยากรที่จำกัด ไม่สามารถรับงานเป็นจำนวนมากได้

สรุป

และนี่คือทิศทางในอนาคตของ Content Shifu ที่เราอยากจะเอามาเขียนแชร์ให้ทุกคนได้อ่านกัน

ขอบคุณที่ติดตามกันตลอดมาและหวังว่าจะอยู่ด้วยกันไปอีกนานๆ 🙂

พวกเราจะพยายามอย่างเต็มที่ที่จะทำให้ Content Shifu สามารถส่งมอบคุณค่าให้กับคนไทยได้อย่างยั่งยืน