Google Analytics 4 เป็นเครื่องมือพื้นฐานที่ทำให้คุณเข้าถึงข้อมูลต่างๆ บนเว็บไซต์ของคุณได้อย่างละเอียด คุณสามารถวัดผลได้ตั้งแต่จำนวนคนเข้าเว็บไซต์ ไปจนถึงระยะเวลาการใช้เว็บไซต์โดยเฉลี่ย นอกจากนั้นแล้วคุณยังสามารถใช้งานมันได้ฟรีอีกด้วย
แต่ถึงแม้ว่า Google Analytics 4 นั้นจะทั้งดี ทั้งฟรี มันก็มีจุดที่ทำให้คนใช้งานยากเช่นเดียวกัน ซึ่งก็คือรูปร่าง หน้าตาของมันที่ดูใช้งานยาก แถมยังเปลี่ยนไปจาก UA แทบจะทั้งหมด จนอาจจะทำให้มือใหม่ที่ยังไม่เคยใช้เครื่องมือนี้มาก่อนถอดใจไปตามๆ กัน
บทความนี้จะไม่ได้มาอธิบายวิธีการใช้งาน Google Analytics 4 แบบลงลึก ลงรายละเอียด (เพราะผมเองก็รู้ไม่ค่อยเยอะเหมือนกัน ฮา) แต่จะมาอธิบายคำศัพท์พื้นฐาน เพื่อช่วยให้มือใหม่รู้จักกับเครื่องมือตัวนี้มากยิ่งขึ้น
ถ้าอ่านจบแล้ว ผมรับรองว่าคุณจะเข้าใจ Google Analytics 4 ดีขึ้นกว่าเดิมแน่นอน
ยาวไปอยากเลือกอ่าน
คำศัพท์พื้นฐานที่น่ารู้ของ Google Analytics 4
1. Views
Views หรือ Pageviews ใน UA คือจำนวนการเข้าชมทั้งเว็บไซต์ และแอป ซึ่งจะถูกนับทุกครั้งที่มีคนเข้ามา ไม่ว่าคนคนนั้นจะเคยเข้ามาแล้วหรือไม่ก็ตาม โดยนับการ Reload หน้าเดิมซ้ำๆ ด้วยเช่นเดียวกัน
โดยตัว Views นั้นเอาไว้ใช้เพื่อดูภาพกว้างๆ ว่ามีเว็บไซต์ของคุณนั้นถูกเข้าเยอะแค่ไหน และหน้าไหนของคุณมีคนเข้าเยอะที่สุด ถือเป็นตัวชี้วัดพื้นฐานที่มักจะถูกพูดถึงบ่อยที่สุด (เวลาถูกถามว่าเว็บไซต์มีคนเข้าประมาณเท่าไหร่ คนส่วนใหญ่ก็จะใช้เลขตัวนี้ในการตอบกลับไป)
2. Users
Users คือจำนวนคนที่เข้ายังเว็บไซต์ของคุณ เช่นสมมุติว่ามีคนหนึ่งคนเข้ามายังเว็บไซต์ของคุณ แล้วเปิดหน้าเว็บของคุณไป 5 ครั้ง จากนั้นก็ปิดไป 2 วันต่อมา เขากลับมาเปิดเว็บไซต์ของคุณอีกครั้ง Users ก็จะถูกนับว่าเป็น 1 เท่านั้น โดยจะมีเมตริกผู้ใช้หลัก 3 ประเภท ดังนี้
1. Total Users หมายถึงจำนวนรวมของผู้ใช้ที่เข้าชมเว็บไซต์หรือแอปของคุณในช่วงเวลาที่กำหนด หรือมีการเกิด Event ของ GA4 อย่างน้อย 1 เหตุการณ์ ก็จะถูกนับเป็นผู้ใช้ทั้งหมดแล้ว
2. New Users หมายถึงจำนวนผู้ใช้ที่ไม่เคยเข้าชมเว็บไซต์หรือแอปของคุณมาก่อนในช่วงเวลาที่กำหนด
3. Active Users หมายถึงจำนวนผู้ใช้ที่มีการโต้ตอบกับเว็บไซต์หรือแอปในช่วงเวลาที่กำหนด ซึ่งจะรวมเฉพาะผู้ใช้ที่มีการโต้ตอบอย่างน้อย 1 ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าชมหน้าเว็บ คลิก หรือการดูวิดีโอ
วิธีการที่ Google Analytics ใช้บอกว่าคนคนนั้นเคยเข้ามายังเว็บไซต์ของคุณรึเปล่าก็คือการฝัง Cookie หรือถ้าแปลเป็นไทยง่ายๆ ก็คือหน่วยความจำเล็กๆ ที่ถูกฝังไว้ใน Browser ของคนคนนั้น ถ้าเขาเข้ามาอีกรอบโดยใช้ Browser เดิม และ Device เดิม จำนวน User ก็ยังคงเป็น 1 แต่ถ้าคนคนนั้นเปลี่ยน Browser (เช่นเปลี่ยนจาก Chrome เป็น Internet Explorer) หรือเปลี่ยน Device (เช่นจากโน็ตบุ๊คเป็นสมาร์ทโฟน) ตัวเลข User นั้นก็จะถูกนับค่าใหม่
โดยพื้นฐานแล้ว การที่มี Users เยอะๆ นั้นเป็นเรื่องดี แต่ถ้ามันเยอะจนห่างจาก Views ไม่มากแล้วละก็ มันจะไม่ค่อยดีนัก เพราะมันเป็นการบ่งบอกว่าคนส่วนใหญ่เข้ามายังเว็บไซต์ของคุณครั้งเดียว แล้วไม่กลับมาอีกเลย
3. Sessions
Pageviews กับ Users นั้นสามารถเข้าใจได้ไม่ยาก แต่ Sessions จะมีความซับซ้อนขึ้นมาระดับนึง โดยที่ Session นั้นจะเป็นสิ่งที่คนคนนึงทำอยู่บนเว็บไซต์ของคุณภายในระยะนึง โดยที่ Session จะถูกตัดก็ต่อเมื่อ
1. User คนนั้นไม่ทำอะไรบนเว็บไซต์ของคุณเป็นเวลา 30 นาที แต่เราสามารถปรับช่วงเวลาเป็น 1 ชั่วโมง หรือ 45 นาที ก็สามารถทำได้เหมือนกัน
2. เลยเที่ยงคืนของวันนั้น (นับตามเวลาที่คุณตั้งค่าไว้ใน Google Analytics 4)
เช่นถ้า นาย ก เข้ามายังเว็บไซต์หน้าแรกของคุณตอน 13.00 แล้วไปกินกาแฟ แล้วกลับมาที่เว็บไซต์ของคุณต่อตอน 13.20 จากนั้นปิดเว็บไซต์ของคุณไปตอน 13.40 Session ของคุณจะเป็น 1
ถ้า นาย ก เข้ามายังเว็บไซต์หน้าแรกของคุณตอน 13.00 แล้วไปกินกาแฟ แล้วกลับมาที่เว็บไซต์ของคุณต่อตอน 13.31 Session ของคุณจะเป็น 2
ถ้า นาย ก เข้ามายังเว็บไซต์หน้าแรกของคุณตอน 23.55 แล้วไปกินกาแฟ แล้วกลับมาที่เว็บไซต์ของคุณต่อตอน 00.02 Session ของคุณจะเป็น 2
นอกจากนี้ใน Session ยังมี Engaged sessions ที่จะคอยติดตามผู้ใช้งานที่มีส่วนร่วมกับเว็บไซต์ โดยวัดจากเงื่อนไข ดังนี้
- ผู้ใช้ใช้งานเว็บไซต์เกิน 10 วินาที
- เกิด Conversion Event ขึ้น เช่น กรอกฟอร์ม หรือกดซื้อสินค้า เป็นต้น
- ผู้ใช้ดูหน้าเว็บอย่างน้อย 2 หน้าขึ้นไป
Session จะไม่น้อยกว่า User และจะไม่มากกว่า Views
การที่ Session น้อยนั้นอาจจะหมายความว่าคนเข้ามาแล้ว ไม่อยากกลับเข้ามาอีก หรืออาจจะแปลว่าคนเข้ามาแล้ว ได้คำตอบแล้ว ก็เลยไม่กลับมาอีกก็ได้
ถ้า Session มากนั้นก็แสดงว่าคนกลับเข้ามาดูเว็บไซต์ของคุณบ่อยๆ
4. Event Count
Event Count คือ จำนวน Events บางอย่างที่เกิดขึ้น (กรณีที่เลือกดู Event เฉพาะเจาะจง) หรือจำนวน Events ทั้งหมดที่เกิดขึ้น (กรณีที่เลือกดู Event ทั้งหมด) โดยทุก Interaction ที่เกิดขึ้นจะนับเป็น Event ซึ่งใน GA4 นั้น Pageview เองก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของตัวชี้วัดใน Event
โดย Event ใน GA4 จะแตกต่างจาก Universal Analytics เพราะใน GA4 นั้นจะนับทุกการมีส่วนร่วมกับเว็บไซต์หรือแอปเป็น “Event” ขณะที่ใน Universal Analytics การโต้ตอบเหล่านี้จะนับเป็น “Hits”
เราสามารถแบ่งประเภทของ Event ได้ 2 ประเภทคือ Event ที่รวบรวมโดยอัตโนมัติใน GA4 ได้ และ Event ที่ต้องกำหนดเอง ซึ่งในแต่ละประเภทก็แบ่งรูปแบบการใช้งาน Event ย่อยๆ ไปอีก ได้แก่
ประเภทของ Event ที่รวบรวมอัตโนมัติ
- Automatically Collected Events หมายถึง Event ที่รวบรวมโดยอัตโนมัติที่ GA4 กำหนดมาให้เบื้องต้น เช่น การดูหน้าเว็บ การมีส่วนร่วมกับวิดีโอ การคลิกปุ่ม
- Enhanced Measurement Events หมายถึง Event ที่รวบรวมเมื่อเราเปิดใช้งานการวัดผลขั้นสูง (Enhanced Measurement) ใน GA4 บนเว็บไซต์หรือแอปข
ประเภทของ Event ที่ต้องกำหนดเอง
- Recommended Events เป็น Event ที่ทาง GA4 แนะนำ โดยจะมีชื่อและพารามิเตอร์ที่กำหนดไว้ล่วงหน้า
- Custom Events เป็น Event ที่เราสามารถสร้างขึ้นได้ตามต้องการ โดยต้อง Custom Reports หรือ Explorations แบบกำหนดตัวชี้วัด และกิจกรรมที่มีเฉพาะธุรกิจด้วยตัวเอง
5. Engagement Rate
Bounce Rate เคยเป็นเมตริกสำคัญใน Universal Analytics (UA) ที่จะบอกเปอร์เซนต์ของคนที่เข้ามายังเว็บไซต์ของคุณในหน้าใดหน้าหนึ่งแค่เพียงหน้าเดียวแล้วไม่คลิ๊กไปหน้าไหนต่อเลย แต่ GA4 ได้ปรับจาก Bounce Rate ให้หันไปใช้ Engagement Rate แทน
ซึ่ง Engagement Rate คือตัววัดเปอร์เซ็นต์ของ Session ที่ผู้ใช้มีส่วนร่วมบนเว็บไซต์ โดย Session ที่มีส่วนร่วมจะต้องใช้เวลานานกว่า 10 วินาที ดูหน้าเว็บมากกว่า 1 หน้า หรือมี Conversion Event อย่างน้อย 1 รายการ
โดยตัว Engagement Rate มุ่งเน้นไปที่การวัดว่าผู้ใช้มีส่วนร่วมกับเนื้อหาบนเว็บไซต์มากแค่ไหน ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์มากกว่า Bounce Rate ในการประเมินประสิทธิภาพของเว็บไซต์ แตกต่างกับ Bounce Rate ที่นับจากระยะเวลาหมดอายุแต่ละ Session ที่แตกต่างกันไป ทำให้ผลที่ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
Shifu แนะนำ
ก่อนที่จะอ่าน Average Session Duration ผมขออธิบายวิธีการคำนวณเวลาของ Google Analytics มาอธิบายให้คุณได้อ่านก่อน ไม่อย่างนั้นคุณจะต้องงงแน่ๆ
โดยปกติแล้ว Google Analytics นั้นคิดช่วงระยะเวลาจากการคลิ๊กจากหน้าหนึ่งไปยังอีกหน้าหนึ่ง เช่น ถ้า นาย ก คลิ๊กเข้าไปที่ Page A ตอน 9.00 น. จากนั้นก็คลิ๊กไปยัง Page B ตอน 9.07 น. ช่วงระยะเวลาที่อยู่ใน Page A ของ นาย ก จะเป็น เวลาที่ นาย ก คลิ๊กไปยัง Page B ลบกับ เวลาที่คลิ๊กเข้ามายัง Page A หรือก็คือ 9.07 – 9.00 = 7 นาที นั่นเอง
แล้วถ้าหลังจากที่ นาย ก คลิ๊กไปยัง Page B (ตอน 9.07 น.) เขากดปิดเว็บไซต์ไปโดยที่ไม่ได้คลิ๊กไปหน้าไหนๆ เลยล่ะ? คำตอบก็คือ Google Analytics นั้นจะไม่สามารถวัดได้ว่า นาย ก ใช้เวลาใน Page B ไปเท่าไหร่
คุณต้องทำความเข้าใจตรงส่วนนี้ให้ดี เพราะว่ามันมีผลต่อสิ่งที่ผมจะอธิบายต่อไป
6. Average Session Duration
Average Session Duration นั้นแปลว่าช่วงระยะเวลาเฉลี่ยของเซสชั่น ซึ่งคิดจาก Totol Session Duration / Total Sessions หรือแปลว่าช่วงระยะเวลาเฉลี่ยที่ผู้ใช้งานต่อ 1 Session
อธิบายแบบนี้แล้วอาจจะงง มาดูตัวอย่างกันดีกว่า
เช่นถ้า นาย ก เข้ามายังเว็บไซต์ของคุณแล้วใช้เวลาอยู่บน Page A ตั้งแต่ 13.00 ถึง 13.05 (5 นาที) จากนั้นเข้าไป Page B ตั้งแต่ 13.05 ถึง 13.07 (2 นาที) แล้วจากนั้นเขาไปกินกาแฟ จากนั้นกลับมาที่เว็บไซต์ของคุณต่อตอน 14.00 แล้วก็ปิดไปตอน 14.20
ระยะเวลาของ Session ทั้งหมดจะเป็น 5+2 = 7 นาที และ จำนวน Session จะเป็น 2 (ช่วงระยะเวลา 13.00 – 13.07 นับเป็น 1 session และตอน 14.00 – 14.20 นับเป็นอีกหนึ่ง session) และค่า Average Session Duration จะเป็น 3.5 นาที
จะสังเกตเห็นได้ว่า Google ไม่เอาระยะเวลาก่อนที่ นาย ก จะปิดเว็บไซต์ (ช่วงระหว่าง 14.00 – 14.20) มาคิดรวมในระยะเวลาของ Session สาเหตุเพราะว่า Google ไม่สามารถเช็คได้ว่าเขาปิดเว็บไซต์ไปตอน 14.20 นั่นเอง
7. Lifetime Value (LTV)
Lifetime Value คือ มูลค่าตลอดอายุการใช้งาน เป็นการวัดรายได้เฉลี่ยที่ธุรกิจของเราได้รับจากผู้ใช้แต่ละคน ตลอดช่วงเวลาที่มีส่วนร่วม แต่สำหรับผู้ใช้ใหม่จะนับภายใน 120 วันแรกของการใช้งา จากนั้นนำค่าเฉลี่ยของผลลัพธ์ที่ได้จากผู้ใช้ทั้งหมด
ค่านี้จะช่วยให้เราสามารถการแบ่ง Segment ของกลุ่มลูกค้า จากจำนวนมูลค่าที่มีตามการใช้จ่ายของลูกค้าซึ่งโดยคิดจากจาก จำนวนเซสชัน / ผู้ใช้งาน
สรุป
และนี่คือ 7 คำศัพท์พื้นฐานน่ารู้ของ Google Analytics 4 นะครับ
ผมแนะนำให้คุณลองไปอ่านวิธีการทำ WordPress ให้โหลดเร็ว และเรื่องเกี่ยวกับ On-page และ Off-page SEO เพิ่มเติมดูนะครับ เพราะเรื่องเหล่านี้จะมีผลต่อค่าต่างๆ ใน Google Analytics เหมือนกัน
จริงๆ แล้ว Google Analytics นั้นยังมีคำศัพท์ และเรื่องราวน่ารู้อีกมากมาย บางทีก็ดูเยอะเกินไปจนอาจจะทำให้คนที่ไม่เก่งเรื่องตัวเลขไม่อยากจะเข้าใกล้ แต่ถ้าคุณอยากทำธุรกิจบนโลกออนไลน์ การวิเคราะห์ข้อมูลเป็นเรื่องที่คุณหลีกเลี่ยงไม่ได้ครับเพราะมันเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะทำให้ธุรกิจออนไลน์ของคุณ “รุ่ง” หรือ “ร่วง” เลยล่ะ
ค่อยๆ เรียนรู้ ศึกษา และลงมือทำไปด้วยกันนะครับ ถ้าเราไม่หยุด เราจะต้องเก่งขึ้นแน่ๆ
แล้วมาเก่งขึ้นไปพร้อมๆ กันนะครับ : )
ตาคุณแล้ว
มีตรงไหนในบทความนี้ที่ผมอธิบายตกหล่นไป หรือคุณมีคำแนะนำอะไรเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Google Analytics อีกบ้างรึเปล่า? มาคุยกันต่อในคอมเมนต์ได้เลย
“Pageviews คือจำนวนครั้งที่คนเข้ามายังเว็บไซต์ของคุณ ซึ่งมันจะถูกนับทุกครั้งที่มีคนเข้ามา”
รู้สึกว่ามัน mis-leading ไปนิดนึงไหมอะ? แอบไปเปิด definition มาเค้าบอกว่า
“Pageviews is a metric defined as the total number of pages viewed.”
มันไม่น่าจะเป็นจำนวนครั้งที่คนเข้ามาในเว็บไซต์ป่ะ? เพราะสมมุติว่ามี 3 คนเข้ามาดูเว็บคนละครั้ง แต่ครั้งละ 1,2,3 หน้า => Pageviews = 6 / จำนวนครั้งที่คนเข้ามายังเว็บไซต์ของคุณ = 3
แต่ metric พวกนี้เอามาแปลไทยยากจริงๆคำมันจำกำกวมเยอะ บทความนี้ถือว่าแปลได้ดีมากๆเลยอ่ะ 🙂
ขอบคุณสำหรับคอมเมนต์ครับ : )
เห็นด้วยครับว่ามัน Mislead ผมเปลี่ยนจาก “จำนวนครั้งที่คนเข้ามาในเว็บไซต์” เป็น “จำนวนครั้งที่เว็บไซต์ถูกเข้าชม” แล้ว อันนี้น่าจะเหมาะกว่า
มีตรงไหนกำกวม หรือผิดอีก ก็บอกมาได้เลยนะ
จากข้อความ
” Gorocketfuel นั้นบอกไว้ว่าปกติแล้วค่า Bounce Rate จะอยู่ระหว่าง 26% – 70% โดยที่ถ้าอยู่ในช่วง 26%-40% จะถือว่าดี, 41%-55% จะถือว่ากลางๆ, 56%-70% จะถือว่าสูงไปหน่อย ”
สถิติส่วนตัว
ผมทำเว็บ http://Warrior.in.th ค่า Bounce Rate อยู่ที่ 70%
ผมทำเว็บ http://bravelife.in.th ค่า Bounce Rate อยู่ที่ 80%
ตอนแรกก็ตกใจเหมือนกันว่าทำไมค่าถึงสูงมาก
แต่หลังจากทำ SEO ไปสักพักพบว่า
ปัจจัยที่มีผลกับ SEO
ส่งผลอันดับ 1 : Time On Site
ส่งผลอันดับ 2 : ฺBounce Rate
จากผลลัพธ์จากเว็บทั้ง 2 พบว่า
Warrior.in.th
Page ที่ติดอันดับ SEO ตำแหน่ง 1-5 จะมี Time On Site ที่ 5 นาที่ขึ้นไป
Page ที่ติดอันดับ SEO ตำแหน่ง 6-10 จะมี Time On Site ที่ 2 นาที ขึ้นไป
Bounce Rate อยู่ในช่วง 45-80 %
bravelife.in.th
Page ที่ติดอันดับ SEO ตำแหน่ง 1-5 จะมี Time On Site ที่ 3 นาที่ขึ้นไป
Bounce Rate อยู่ในช่วง 60-90 %
…………………………………………………..
สรุปแนวทางแบบนักรบ
– ถึงแม้ Bounce Rate จะสูง ก็ติด SEO อันดับดีๆได้ ถ้า Time On Site มากพอ (โดยมากกว่าค่าเฉลี่ยของเว็บอื่นๆในกลุ่ม Keywords เดียวกัน)
– ควรเน้นที่ Content ที่ดีและมากๆก่อน เพื่อเพิ่ม Time On Site
หลังจากนั้น ถ้าจะลด Bounce Rate ให้เน้นสร้าง Call To Action หรือ แนะนำบทความที่เกี่ยวข้องโดนๆ
ขอบคุณครับพี่นักรบ
ของ Content Shifu เองก็มี Bounce Rate สูงเกิน 70% เหมือนกันครับ น่าจะเป็นเพราะว่าไม่มี Sidebar และก็ Link out เยอะ ผมก็เลยคิดว่า Bounce Rate ประมาณนี้น่าจะเป็นค่าที่ยอมรับได้ครับ (ทึกทักเอง ฮา)
จริงๆ แล้วผมเคยอ่านความเห็นนึงมา (เท่าที่จำได้น่าจะเป็นของ Neil Patel) ซึ่งเขาบอกว่า การที่มี Bounce Rate สูงก็ไม่ได้แปลว่าไม่ดีเสมอไป เพราะมันอาจจะเป็นเพราะว่าเว็บไซต์หน้านั้นๆ ให้ข้อมูลครบถ้วน และก็จบในตัวมันเองแล้ว คนอ่านเลยไม่จำเป็นต้องเข้าไปหน้าอื่นๆ เพิ่มเติม
เห็นด้วยในแง่มุมของ SEO ครับ : )
เยี่ยมเลย จะได้ไม่กังวลค่า Bounce Rate มากนักครับ
(70% สบายใจ 🙂
ครับผม : )
อยากทราบว่า จำนวนหน้าที่มีการเปิดที่ไม่ซ้ำ กับ การเข้าชม ต่างกันอย่างไรคะ
ถ้าจะนับตามเซสชันที่ไม่ซ้ำ จะต้องนับตัวไหนคะ สำหรับแต่ละหน้าภายในเว็บไซต์
สวัสดีครับ
อันนี้หมายถึงในข้อไหนเป็นพิเศษรึเปล่าครับ?
รบกวนขอคำจำกัดความของภาษาอังกฤษหน่อยได้ไหมครับ?
ขอบคุณครับ
จำนวน User นับจากการ Log in ด้วยหรือไม่คะ แล้วนับจาก IP เครื่องด้วยหรือไม่?