การตลาดแบบสายฟ้าฟาดคืออะไร? แล้วมันจะช่วยให้คุณทำการตลาดได้ดีขึ้นอย่างไร? เดี๋ยวผมจะมาเล่าให้คุณได้อ่านในบทความนี้ครับ

เดือนที่แล้ว (มีนาคม 2023) ผมได้มีโอกาสไปร่วมงาน SEAT2023 (South East Asia Technology Conference 2023) ที่จัดโดย MCFIVA มา และได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณ Chris Yeh ที่เป็นผู้ร่วมแต่งหนังสือ Blitzscaling ร่วมกับคุณ Reid Hoffman ที่เป็น Co-founder ของ LinkedIn มา

ถึงแม้ว่างานนี้จะเป็นงานอีเวนต์ แต่เนื้อหาที่ผมจะหยิบมาแชร์ในบทความนี้เป็นเนื้อหาแบบ Evergreen โดยที่ผมจะเอาเนื้อหาจากใน Session ที่เขาพูดและเอาเนื้อหาจากที่ผมสัมภาษณ์เขาส่วนตัว (แบบที่บรีฟให้เขาเข้าใจแล้วว่าคนอ่านของ Content Shifu เป็นคนอ่านประเภทไหนและอยากรู้เรื่องอะไร) มาเขียนให้คุณได้อ่านนะครับ

รับรองว่าเนื้อหาพรีเมี่ยม!

Blitzscaling คืออะไร?

คำว่า Blitz เป็นภาษาเยอรมันที่แปลว่าสายฟ้า (Lightning) และคำว่า Scaling คือการขยายให้เติบโต

พอ 2 คำนี้รวมกันก็เลยกลายเป็นการขยายให้เติบโตแบบสายฟ้าฟาด

ซึ่งคำว่า “Blitzscaling” นั้นแปลเป็นไทยได้ว่าการแสวงหาการเติบโตอย่างก้าวกระโดดด้วยการให้ความสำคัญกับความเร็วเหนือประสิทธิภาพภายใต้ช่วงเวลาที่ไม่แน่นอน (The pursuit of rapid growth by prioritizing speed over efficiency in the face of uncertainty)

นอกจากนั้นแล้ว คุณ Chris ยังอธิบายมาเพิ่มเติมอีกว่า คำว่า Blitzscale คือการยอมแลกทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้เรากลายเป็นผู้นำตลาด ผมคิดว่าสำนวนไทยอย่างการ “ทุบหม้อข้าว ก่อนเข้าตีเมือง” นั้นดูจะเป็นสำนวนที่แปลความหมายของคำว่า Blitzscaling ได้ดี

ปัจจัยที่ทำให้เกิด Blitzscaling คืออะไร?

  1. Big Market – ขนาดตลาดต้องใหญ่เพียงพอก่อน (ภาษาของ Startup จะใช้คำว่า TAM หรือ Total Addressable Market)
  2. Product-Market Fit – ตัวสินค้าที่คุณมีต้องตรงกับความต้องการของตลาด
  3. High Gross Margins – ต้องมีกำไรขั้นต้นสูง
  4. Ops Scalability – การลงมือทำงานต่างๆ นั้นต้องสามารถขยายได้อย่างรวดเร็ว
  5. Org Scalability – องค์กรจะต้องสามารถขยายได้อย่างรวดเร็ว

โอกาสทางธุรกิจที่มาพร้อมกับ AI & Automation

AI ช่วยให้การทำการตลาดดีขึ้นได้อย่างไร?

AI จะเป็นตัวช่วยเสริมให้ทำ Marketing ได้ดีขึ้น

ตัวอย่างการเขียน Prompt ใน ChatGPT ด้วยประโยค “Write a Facebook Ads copy promoting Blitzscaling Book”

เช่นการใช้ ChatGPT หรือ Solutions อย่าง Copy.ai หรือ Rytr ในการช่วยเขียนคอนเทนต์โฆษณาสำหรับการตลาด (ผมเคยเขียนบทความเรื่อง AI Writer ไว้แล้ว ไปอ่านต่อได้ที่นี่)

ซึ่งการใช้ AI ช่วยเขียนจะเป็นตัวที่ยิ่งช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับ Programmatic Ads (การซื้อโฆษณาแบบกำหนดกฏเกณฑ์บางอย่างเอาไว้ เช่นถ้าวันนี้โฆษณาช่วยให้เพิ่มยอดขายขึ้น 30% ให้โปรแกรมเพิ่มงบโฆษณาเป็นอีกเท่าตัวโดยอัตโนมัติ)

AI ยังสามารถเอาไปปรับใช้กับ Use Case อื่นๆ ได้อีกเช่นกันเช่นการใช้ AI เพื่อ Optimize การสื่อสารกับลูกค้า เช่นการใช้ AI ช่วยส่งอีเมลไปหาลูกค้าในเวลาที่ลูกค้าจะมีโอกาสเปิดมากที่สุด

นอกจากนั้นแล้ว AI ยังสามารถเอาไปใช้กับเรื่อง Productivity ส่วนตัวและในองค์กรได้อีกด้วย เช่นการให้ AI ช่วยอ่านอีเมลใน Email Inbox และบอกว่าอีเมลไหนเป็นอีเมลสำคัญที่ควรอ่านก่อน

กฏของการใช้งาน AI

คุณ Chris ได้แนะนำวิธีการใช้งาน AI ให้ได้มีประสิทธิภาพอีก 3 อย่างคือ

  1. ให้มอง AI เป็น Undergrad Research Assistant ที่ฉลาด คือช่วยหาข้อมูล ช่วยทำงานบางอย่างให้เราได้ แต่เราต้องเป็นคนสรุปเอง
  2. ให้มอง AI เป็น Movie Director ไม่ใช่ Carpenter คือไม่ใช่ Tool ที่ทำเรื่องเดิมๆ ซ้ำๆ แต่เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้
  3. ลงมือทำ ทดสอบ อย่างไปโต้เถียงให้มากความ (Just do it. Experiment, Don’t Debate.)

ตลาด APAC มีความแตกต่างกับตลาด US/EU บริษัทในโซนนี้จะสามารถ Blitzscale การตลาดได้อย่างไร?

1. Early Regional Expansion

ใครที่เริ่มขยายในภูมิภาคก่อนจะเป็นฝ่ายได้เปรียบ

2. Local winner-take-most dynamics

จะต้องเป็นผู้นำที่ Dominate ตลาดในพื้นที่หรือประเทศที่ตัวเองอยู่ให้ได้ก่อนแล้วค่อยขยาย

3. Ownership of infrastructure

ระบบโครงสร้างพื้นฐานในประเทศที่พัฒนาแล้วค่อนข้างพร้อม ทำให้สิ่งกีดขวางในการแข่งขัน (Barrier to Entry) ต่ำและคู่แข่งเข้ามาแข่งได้ง่าย แต่ถ้าใน Asia ที่ระบบต่างๆ ยังไม่พร้อม ถ้าธุรกิจไหนสามารถสร้างและเป็นเจ้าของระบบโครงสร้างพื้นฐานบางอย่าง เช่น Logistics หรือ Payment จะทำให้กันผู้เล่นใหม่เข้ามาได้ ช่วงแรกๆ อาจจะต้องลงทุนเยอะหน่อย แต่หลังๆ จะโตเร็ว

4. Consumer Leapfrogging

ผู้บริโภคใน Asia มีพฤติกรรมที่ Advance (ตัวอย่างเช่นพ่อค้าแม่ค้าคนไทย ทำการ Live สดขายของ) ธุรกิจต้องมองว่าจะมี Solution หรือ Technology ที่น่าสนใจอันไหนที่สำเร็จแล้วจากต่างประเทศ (เช่น US) สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้าง Solution ที่เหมาะกับ Asia โดยเฉพาะได้บ้างรึเปล่า ถ้าทำได้ก็จะได้เปรียบ

กรณีศึกษาการทำการตลาดแบบ Blitzscale ของบริษัทใน APAC

ตัวอย่างจากหนึ่งในบริษัทที่ดังที่สุดใน APAC

ตัวอย่างของบริษัทใน APAC ที่ดังที่สุดบริษัทนึงที่ทำการ Blitzscale ได้น่าจะเป็น Grab ที่สามารถสร้าง Marketplace ที่มี 2-size Network Effect (เช่นหน่วยงาน Transport ที่มีทั้งคนขับรถและคนเรียกรถ)

ใน APAC คอนเซปต์ของ Super App (แอบเดียวทำได้หลายๆ อย่างเช่น Grab หรือ LINE) มีตัวอย่างที่สำเร็จให้เห็นมากกว่าใน US มากๆ

สิ่งที่บริษัทที่ Blitzscale ใน APAC ต้องทำเหมือนกันคือจะต้องสามารถได้มาซึ่ง Market Leadership ในหลายๆ ที่ หลายๆ ตลาดพร้อมกัน

แล้วบริษัทขนาดเล็กหรือบริษัทที่ตั้งใหม่จะสามารถเอาคอนเซปต์ Blitzscale ไปใช้ได้อย่างไร?

1. Consider Blitzscalability

ให้ดูว่าธุรกิจที่คุณกำลังทำอยู่หรือกำลังจะทำมี Blitzscalability แค่ไหน โดยให้ย้อนกลับไปดู Elements ทั้ง 5 (Big Market, Product-Market Fit, High Gross Margins,Ops Scalability & Org Scalability)

2. Think from Day 1

ให้คิดและทำแบบ Blitzscale ตั้งแต่วันแรกเลย

3. หา Virality & Hooked

ทำอย่างไรที่จะทำให้สินค้าหรือบริการของเราเป็นกระแสได้ และสามารถทำให้คนติดสินค้าหรือบริการของเรา

ดูเพิ่มเติม: แกะสูตรสร้าง Viral Content: ไม่ใช่แค่ดัง แต่ต้องดีด้วย และ รู้จักกับ Hook Model เฟรมเวิร์คที่ทำให้ลูกค้าติด

4. เริ่มก่อน Launch

ให้เริ่มคิดท่าของการทำ Blitzscale ตั้งแต่ก่อนที่จะเริ่มปล่อยสินค้าหรือบริการเลย ไม่อย่างนั้นถ้าปล่อยไปแล้วมาปรับทีหลังอาจจะเสียเวลาหรือทำได้ยาก

5. It’s never too early to make preparation for Blitzscale

ไม่มีคำว่า “เร็วเกินไป” ที่จะเตรียมตัวในการ Blitzscale

สรุป

ในความเห็นของผม Blitzscaling เป็นคอนเซปต์ที่น่าตื่นตาตื่นใจ ถ้าเอาคอนเซปต์นี้มาช่วยในการทำการตลาด คุณจะมีโอกาสทำ “การตลาดแบบสายฟ้าฟาด” ได้มากยิ่งขึ้น และคุณ Chris เองก็ตอบคำถามมาได้อย่างเข้าใจง่าย ซึ่งผมคิดว่าเขาเองก็ได้ศึกษาธุรกิจต่างๆ ใน APAC มาในระดับนึง

ทั้งนี้ ผมเชื่อว่าสิ่งที่เขาแชร์นั้น อาจจะไม่สามารถเอามาประยุกต์ใช้ได้กับทุกๆ บริบทของทุกๆ ธุรกิจ (ผมลองมองสิ่งที่เขาแชร์ผ่านเลนส์ของ Content Shifu แล้วก็คิดว่า หลายๆ เรื่องมันก็ไม่ง่ายเหมือนกัน) เพราะฉะนั้นผมแนะนำให้คุณไปศึกษาเพิ่มเติม และเอาสิ่งที่เหมาะกับธุรกิจของคุณไปใช้นะครับ

ถ้าสนใจหนังสือ Blitzscaling เพิ่มเติม สามารถเข้าไปศึกษาได้ที่นี่ครับ

สุดท้าย ขออวยพรให้สายฟ้าฟาดลงมาที่ทำการตลาดของคุณทำให้มันเป็นกระแสและเติบโตได้อย่างรวเร็วครับ 🙂

ตาคุณแล้ว

คุณเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาในบทความนี้ยังไงบ้าง? คุณได้เคยลองทำการ Blitzscale ธุรกิจของคุณไปบ้างแล้วรึเปล่า มีกรณีศึกษาดีๆ อะไร มาแชร์ให้ผมกับผู้อ่านคนอื่นๆ ได้รู้ได้ที่คอมเมนต์เลยนะครับ!