เมื่อพูดถึงคำศัพท์ Marketing ที่มีอย่างมากมายนั้น Call-to-Action ถือเป็นหนึ่งสิ่งสำคัญที่คุณควรรู้จัก และยังเกี่ยวข้องกับกระบวนการของ Inbound Marketing มากทีเดียว ซึ่งก่อนหน้านี้หลายๆ บทความของพวกเรา ก็ได้มีการกล่าวถึงศัพท์ตัวนี้ไปบ้าง ไม่ว่าจะเป็นบทความ Landing Page 101 บทความการตลาดกับการกุศล

สำหรับบทความนี้ ได้เวลาแล้วที่เราจะมาคุยกันเรื่องคอนเซปต์ และองค์ประกอบที่ดีในการทำการกระตุ้นให้คนตอบสนองต่อข้อเสนอของเรา

หมายเหตุ: ในบทความจะเขียนชื่อคำศัพท์แบบเต็มๆ และเขียนแบบย่อๆ ว่า CTA สลับกันไป

Call-to-Action หรือ CTA คืออะไร สำคัญยังไง

Call = เรียก, Action = กระทำ

Call-to-Action ก็แปลได้แบบตรงไปตรงมาเลยค่ะว่า มันคือการเรียกหรือกระตุ้น ให้เกิดการลงมือกระทำอะไรบางอย่าง Call-to-Action คือส่วนประกอบสำคัญในการทำ Marketing ว่าด้วยการส่งสารให้คนตอบสนองต่อข้อเสนอของเรา สำหรับโลกธุรกิจ การกระทำที่เราต้องการจากลูกค้าก็หนีไม่พ้นเรื่องต่างๆ เหล่านี้ ได้แก่ ให้สมัครสมาชิก, ให้ซื้อของ, ให้แชร์ต่อบอกต่อ เป็นต้น

ตัวอย่าง Call To Action หรือ CTA

หลังจากที่ทำแคมเปญการตลาดต่างๆ มาอย่างยาวนาน Call-to-Action หรือ CTA ก็คือปืนนัดสุดท้ายที่ชี้ความสำเร็จเลยทีเดียว ถ้าออกแบบ CTA ออกมาดี ก็จะสื่อสารให้ผู้รับสารดำเนินการตามที่เราต้องการได้ [เป็นจุดที่ใช้เปลี่ยนคนรับสารเข้าสู่กระบวนการ Convert หรือ Close ในคอนเซปต์ของ Inbound Marketing นั่นเอง]

ภาพด้านบนนี้จาก coschedule.com เป็นตัวอย่างของข้อความ CTA ที่เราเห็นกันบ่อยๆ ทว่าบนโลกออนไลน์นั้นมีศิลปะต่างๆ ในการทำ CTA อยู่ไม่น้อย ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่เหมือนกับศิลปะการทำป้ายข้างทางซักทีเดียว เพราะเรากำลังพูดถึงโลกออนไลน์ เรามาดูกันต่อดีกว่าค่ะว่าถ้าเป็นออนไลน์ มีองค์ประกอบอะไรบ้างที่ต้องคำนึงก่อนทำ CTA

องค์ประกอบหลักๆ ของศิลปะ Call-to-Action

เราอยากขอแนะนำ Infographic ชิ้นนี้ จากเว็บ litmus.com ซึ่งอธิบายองค์ประกอบของศิลปะการทำ CTA ได้ดีมากๆ จึงขอหยิบภาพบางส่วนมาไว้แนะนำในบทความนี้ด้วย เรามาดูพร้อมๆ กันดีกว่า
call-to-action / CTA elements

จากรูปนี้จะเห็นได้ว่า CTA หลักๆ ที่หน้าจอนี้ต้องการ มีอยู่สองเรื่องคือ “SHOP NOW” และ “ADD TO CART”

1. Copywriting

เราเรียนภาษามาก็คงพอทราบว่า เราสามารถใช้หลากหลายคำศัพท์ที่แตกต่างกัน ในการสื่อสารสิ่งที่ความหมายเหมือนกันได้ เช่น คำว่า “ช็อป” มีความหมายใกล้เคียงกับ “ซื้อ” ใกล้เคียงกับ “หยิบเข้าตะกร้า” เราจะเลือกใช้คำไหนในตอนไหน และเราจะเลือกใช้ระดับการใช้ภาษาอย่างไร เช่น แทนที่จะเป็น “ช็อป” ห้วนๆ ควรใช้แบบไหนดี “ช็อปเลย”, “ช็อปตอนนี้”, “อยากช็อปในราคาพิเศษ” เป็นต้น

2. คอนเทนต์ประกอบ

Copywriting บน CTA นั้น ปกติจะเน้นสั้นกระชับ แต่แน่นอนว่าการจะจูงใจให้คนเกิด Action คนเหล่านั้นจะต้องได้รับข้อมูลให้แน่ใจและรู้สึกพร้อมในระดับนึงก่อน (ดูบริเวณข้อ 3 ของรูป)

3. Format มีได้หลากหลาย

CTA นั้นจะทำออกมาเป็นปุ่มสวยๆ ก็ได้ เป็นภาพก็ได้ หรือจะทำออกมาเป็นเพียงข้อความ Text อย่างเดียวก็ได้ แต่สิ่งจำเป็นก็คือมันต้องสามารถกดได้ แล้วพา User ไปสู่หน้าจอใหม่ที่จะต่อยอด Action นั้นๆ ต่อได้ ดังนั้น Format ไม่ตายตัว มีได้หลากหลาย แต่สำคัญคือต้องใส่ Link ลงไป พาเขาไปกระทำการนั้นๆ ต่อได้

4. ขนาด สี และตำแหน่ง

CTA ควรอยู่ในตำแหน่งที่มองเห็นได้ง่าย ควรมีขนาดและสีที่มองเห็นได้ที่สะดุดตา มี white space หรือพื้นที่ด้านข้างเหลือพอสมควร ไม่ให้มีคอนเทนต์อื่นๆ มาเบียด จำไว้ว่า CTA จะต้องเห็นได้ง่าย คลิกได้ง่าย

ของ Content Shifu มีการใช้สีตัดกันเพื่อเน้นส่วนที่เป็น CTA

ตัวอย่าง CTA ของ Content Shifu

ส่วนของภาพตัวอย่างด้านบน จะเห็นว่ามีการใช้สีของปุ่ม ADD TO CART เป็นสีส้มซึ่งตัดกับแบคกราวน์สีฟ้าชัดเจน ปุ่ม SHOP NOW ก็มีขนาดใหญ่ อยู่ในตำแหน่งที่ดี และมีพื้นที่ white space พอสมควรให้มองเห็นง่าย

ตัวอย่างเทคนิค Call-to-Action (CTA) ง่ายๆ แต่ได้ผลดี

ตัวอย่างการเขียน Copywriting แทรกโปรโมชัน

ตัวอย่างนี้เป็นตัวอย่างของการเขียน Copywriting ที่ปุ่ม CTA ได้น่าสนใจ มีการแทรกโปรโมชัน เข้าไปที่ปุ่มได้อย่างการขีดฆ่า ลดจากราคาปกติ มาเป็นราคาที่จับต้องได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นถึงคุณค่าที่จะได้รับแบบชัดๆ อย่างคำว่า LIFETIME ACCESS (เข้าชมได้ตลอด ไม่จำกัดระยะเวลา)

ตัวอย่าง CTA แทรกโปรโมชั่น

ตัวอย่างการใช้รูปภาพทำ CTA ให้เป็นประโยชน์

ตัวอย่างนี้เอาไว้บอกคนลง Ad ว่า คุณไม่จำเป็นต้องอยู่กับ CTA มาตรฐานที่ Facebook มีให้เสมอไป อย่าง Learn More, Book Now, Sign Up, Download เป็นต้น

ตัวอย่างด้านล่างนี้เป็นภาพ ที่ใส่ลูกเล่นกระตุ้นให้คนอยากคลิกเพิ่มขึ้น อย่างคำว่า TRY IT FOR FREE เพราะ CTA พื้นฐานอาจยังไม่โดดเด่นพอ

ตัวอย่าง CTA แบบใช้รูปภาพ

การเลือกใช้ Personalized Content ทำ CTA

เลือกใช้คอนเทนต์ที่ต่างกันสำหรับคนแต่ละแบบ ถ้าเป็น Social Media คุณสามารถยิง Ad ต่างๆ กัน ไปหากลุ่มเป้าหมายต่างๆ กันได้ อย่างตัวอย่างนี้ก็เลือกยิงคอนเทนต์นี้ มาหาเรา ซึ่งเป็นคนกรุงเทพ และมีโปรไฟล์ความสนใจเกี่ยวข้องกับ Startup ค่อนข้างมาก

ตัวอย่าง CTA จาก Personalized Content

สำหรับเว็บไซต์ เราสามารถเลือกให้คอนเทนต์แสดงผลต่างกันสำหรับคนที่เป็นเมมเบอร์ หรือมีประวัติว่าเคยเข้าเว็บคุณมาก่อนแล้ว กับคนที่ไม่เคยเข้าเว็บมาก่อนเลย ตัวอย่างในภาพนี้มาจาก HubSpot ถ้าเป็นลูกค้าอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเขียนขายของ แต่ถ้ายังไม่เป็นลูกค้า ก็จะเน้น Call ให้เกิด Action ที่ต้องการ อย่างการสมัครทดลองใช้ฟรี เป็นต้น (ตัวอย่างนี้อาจจะไม่ง่าย แต่ก็มีวิธีต่างๆ ที่คุณสามารถทำได้ ถ้ามีคนสนใจ เราจะนำเสนอบทความเรื่องนี้อีกครั้ง)

ตัวอย่าง CTA ทดลองใช้ฟรี

สรุป

Call-to-Action หรือ CTA สำคัญตรงที่เป็นจุดเหนี่ยวไกให้คนเกิดพฤติกรรม ซึ่งถือว่าสำคัญมากในการทำการตลาด เราไม่ควรให้คนที่เห็นคอนเทนต์ใดๆ เห็นแล้วเพียงผ่านไป แต่ควรกระตุ้นให้เขาเกิดพฤติกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการ Convert ให้มาเป็น Lead หรือการ Close ให้มาเป็นลูกค้า

ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จของ CTA มีครบทุกศิลปะ ทั้งศิลปะในการเขียน ศิลปะในการออกแบบหน้าตา รวมถึงศิลปะการใช้ข้อมูลบุคคลในการออกแบบคอนเทนต์

ตาคุณแล้ว

ความจริงแล้วตัวอย่างดีๆ เกี่ยวกับ CTA ยังมีอีกไม่น้อย ใครพบเจอตัวอย่างดีๆ อะไรมาบ้าง มาร่วมกันพูดคุยและบอกเล่ากันในบทความนี้ได้เลยค่ะ