“ความสามารถในการออกแบบกราฟิกเป็นศูนย์”

“ทำสไลด์ไม่สวย ต้องปรับแก้แล้ว ปรับแก้อีก”

“อยากทำรูปขึ้นมาด้วยตัวเองง่าย ๆ เร็ว ๆ โดยยังไม่ต้องพึ่งพาดีไซเนอร์”

ปัญหาเหล่านี้ถูก Canva แก้ไขให้แล้ว!

มิหนำซ้ำ Canva ยังกลายเป็น MarTech กลุ่ม Content Design ที่กำลังมาแรงสุดขั้ว เพราะสามารถเข้าถึงผู้คนได้เป็นจำนวนมาก จนหลายคนเริ่มรู้จัก Canva ในนาม “เครื่องมือออกแบบงานกราฟิกออนไลน์ ที่เหมาะกับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับการออกแบบงานกราฟิกมาก่อน รวมถึงผู้ที่ยังไม่ต้องการจ้างกราฟิกดีไซเนอร์ด้วย” 

กลยุทธ์การตลาดอะไรที่ทำให้ Canva ซื้อใจนักลงทุนจนมีมูลค่าบริษัทมากถึง 40 พันล้านเหรียญในเวลาเพียง 5 ปี พร้อมทั้งครองใจผู้ใช้งานหลายล้านคน วันนี้ Content Shifu เลยถอดสูตรความสำเร็จของ Canva มาให้ทุกคนดูกัน

จุดเริ่มต้นของ Canva

Canva เป็นสตาร์ตอัปสัญชาติออสเตรเลียที่ก่อตั้งโดยคุณ “เมลานี เพอร์กินส์” (Melanie Perkins) โดยในปี 2007 เมลานีได้ไปสอนการออกแบบกราฟิกให้กับนักศึกษากลุ่มหนึ่งและรู้สึกว่าต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะทำเป็น เธอจึงเกิดไอเดียสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ทำให้การออกแบบงานกราฟิกเป็นเรื่องง่าย

Melanie Perkins
อ้างอิงรูปภาพ: Twitter @Canva

เมื่อเข้าสู่ปี 2008 เมลานีกับคลิฟฟ์ โอเบรชต์ (Cliff Obrecht) แฟนของเธอก็ได้ร่วมกันสร้าง Fusion Books โปรแกรมออกแบบหนังสือรุ่นออนไลน์ขึ้นมา เพื่อให้นักศึกษาได้ร่วมกันออกแบบ เมื่อรู้ว่าหนทางนี้เริ่มไปได้สวย พวกเขาก็ตั้งใจรวบรวมและสร้างเทมเพลตงานออกแบบที่ครอบคลุมทั้งหมด จนกระทั่งปี 2013 Canva ก็ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ

หลังจากเปิดตัวได้เพียง 4 เดือน Canva มีผู้ใช้งานไปแล้วกว่า 150,000 คน หลังจากนั้นก็เริ่มขยับเป็น 1,000,000 คน จนปี 2015 มีผู้ใช้งาน 4,000,000 คน

ที่น่าตกใจ คือ ปี 2018 Canva ได้กลายเป็น Unicorn มีมูลค่าบริษัท 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เรียกได้ว่าเป็นการเติบโตที่ก้าวกระโดดมาก

แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้บอกเลยว่าไม่ง่าย เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเมลานีต้องงัดทุกกลยุทธ์ที่จะทำให้นักลงทุนสนใจไอเดียเธอให้ได้ จนเธอต้องเริ่มเล่นกีฬาเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับนักลงทุนและหาจังหวะพิชไอเดีย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ชนะใจนักลงทุนได้ คือ การออกแบบซอฟต์แวร์ที่ใช้งานง่ายของ Canva ที่ทุกคนสามารถใช้ได้โดยไม่ต้องมีความรู้เกี่ยวกับการออกแบบมาก่อน

จำนวนผู้ใช้ของ Canva ปี 2013-2022
อ้างอิงรูปภาพ: MK's Guide

กลยุทธ์การตลาดแบบผู้ให้ที่ทำให้ Canva เติบโตอย่างรวดเร็ว

1. Canva ใช้งานฟรีแบบไม่หวงฟีเจอร์

การตลาดของ Canva เริ่มจากแก้ปัญหาให้ผู้ใช้ด้วยการเปิดให้ใช้งานฟรี! ไม่จำกัดระยะเวลาในการใช้งาน แถมฟีเจอร์ยังหลากหลาย มีเทมเพลตฟรีกว่า 250,000+ แบบ ทำให้ผู้ใช้ใหม่บางคนรู้สึกว่าการใช้เวอร์ชันฟรีเพียงพอต่อการความต้องการ

อีกอย่าง คือ พวกเขาไม่รู้สึกว่าถูกยัดเยียดให้ใช้ Canva Pro จนเกินไป หากเป็นซอฟต์แวร์อื่น ๆ เรามักจะเจอให้ใช้งานเพียง 2-3 ครั้ง แล้วก็ให้จ่ายเงินเพื่อปลดล็อกฟีเจอร์การใช้งานที่มากขึ้น และนี่เป็นเหตุผลที่อาจทำให้ผู้ใช้ไม่อยากใช้อีก แต่ Canva สามารถทำให้คนกลับมาใช้งานได้อีกเรื่อย ๆ

2. ออกแบบหน้าแรกของเว็บไซต์ที่ทำให้เกิด Conversion

หลายแบรนด์อาจมองข้ามส่วนนี้ไป แต่ Canva ให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง โดยคิดมาแล้วว่า Homepage จะต้องดึงดูดผู้ใช้ให้ใช้งานได้ทันที เพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ใช้และลูกค้า

หากลองสังเกต Homepage ของ Canva จะเห็นว่ามีความเรียบง่าย ใช้คำสั้นกระชับแต่เข้าใจได้ทันที มีการโชว์ Design Ideas เพื่อปูทางให้คนเริ่มใช้งาน และสิ่งสำคัญที่ Canva ไม่พลาด! คือ การลงทะเบียนที่แสนง่ายเพียง 1 คลิก หรือกรอกแค่อีเมลเท่านั้น มองเหมือนเรื่องธรรมดาเล็กน้อย แต่ถูกใจผู้ใช้ยิ่งนัก

โฮมเพจ Canva
อ้างอิงรูปภาพ: Canva

3. Design Anything + ใช้งานง่าย = ได้งานคุณภาพ

Canva สร้างการรับรู้ให้ผู้ใช้ทราบว่าซอฟต์แวร์นี้แก้ปัญหาการสร้างงานกราฟิกได้ทุกรูปแบบ ตั้งแต่หน้าแรกเราจะเห็นว่ามีเทมเพลตทุกประเภท ทั้งงานกราฟิกสำหรับโซเชียลมีเดีย พรีเซนเทชัน โปสเตอร์ เรซูเม่ หรือโลโก้ เป็นต้น

ที่สำคัญ คือ ใช้งานง่ายมาก ไม่ต้องมีพื้นฐานการแต่งรูป เพียงแค่ลาก + วาง ซึ่งช่วยลดชั่วโมงการเรียนรู้ Photoshop หรือเครื่องมือออกแบบงานกราฟิกต่าง ๆ ได้มาก แถมไม่ต้องเสียเวลาดูวิดีโอแนะนำการใช้งาน แต่สุดท้ายก็ยังได้งานสวยและมีคุณภาพเทียบเท่ากับการจ้างกราฟิกดีไซน์เนอร์

ตรงนี้เองที่ทำให้ Canva แตกต่างจากโปรแกรมออกแบบงานกราฟิกทั่ว ๆ ไป และเข้าถึงผู้ใช้ได้จำนวนมาก เพราะแก้ Pain Point ได้อย่างตรงจุดและครอบคลุมแทบทุกอย่าง

4. ทดลองใช้ Canva Pro ฟรี! ถึง 30 วัน

ซอฟต์แวร์ส่วนใหญ่มักจะให้ใช้งานฟีเจอร์แบบโปรหรือพรีเมียมฟรีแค่ 5 วัน บ้างก็ 7 วัน หรือ 15 วัน บางคนยังไม่ทันได้ใช้ก็ถูกหักเงินไปเสียแล้ว แถมยังยุ่งยากในการติดต่อขอรับเงินคืนอีกด้วย นับถือใจ Canva ที่เปิดให้ทดลองใช้แบบ Pro ฟรีถึง 30 วัน ซึ่งเราจะไม่ค่อยเห็นแบรนด์ไหนเปิดให้ใช้งานฟรีนานขนาดนี้

แต่เชื่อว่ากลยุทธ์การตลาดของ Canva อันนี้สามารถทำให้คนเปลี่ยนมาเป็นลูกค้าของ Canva ได้มากพอสมควร เนื่องจากระยะเวลา 30 วันนั้นนานพอที่จะทำให้ผู้ใช้ติดใจ Canva Pro และเปรียบเทียบความแตกต่างได้ชัดว่าดีกว่าแบบฟรียังไง

ขณะเดียวกันราคา 229 บาทต่อเดือนก็ไม่ได้ทำให้ผู้ใช้รู้สึกเสียดายเท่าไรนักเมื่อเทียบกับการจ้างกราฟิกดีไซเนอร์มืออาชีพที่อาจได้งานเพียงแค่ชิ้นเดียว

5. ตอบโจทย์ Remote Working

จุดเด่นของ Canva คือ ไม่ว่าจะฟรีหรือเสียเงิน คุณก็สามารถชวนผู้อื่นมาดีไซน์และทำงานร่วมกันได้ ซึ่งตอบโจทย์ยุคนี้ที่คนส่วนใหญ่ Work From Home หรือ Work From Anywhere เรียกได้ว่าเป็นการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน และทำให้ธุรกิจไปต่อได้โดยไม่หยุดชะงัก ในทางเดียวกันยังเป็นการส่งเสริมการทำงานร่วมกันกับทีมในช่วงที่ต่างฝ่ายต่างต้องแยกกันทำงานอีกด้วย

ต่อให้สถานการณ์การระบาดดีขึ้นแล้ว Canva ก็รู้ว่าคนยังจะ Work From Home กันต่อไป แน่นอนว่าฟีเจอร์นี้จะตอบโจทย์ผู้ใช้ในระยะยาว อีกอย่างคือสมัยนี้ถ้าซอฟแวร์ไหนที่ไม่ตอบโจทย์ Remote Working มีโอกาสที่จะถูกปัดตกทันที!

6. สื่อสารกับ (ว่าที่) ผู้ใช้ผ่านโซเชียลมีเดีย

โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้แบรนด์ขยายฐานลูกค้าได้อย่างมหาศาล แต่จะมีสักกี่แบรนด์ที่ดึงลูกค้าให้สนใจได้ภายในไม่กี่วิ และน่าแปลกใจที่ Canva สามารถทำได้!

คอนเทนต์บนโซเชียลของ Canva
อ้างอิงรูปภาพ: Canva Facebook Fanpage

วิธีการ คือ Canva จะมี Core Message ของตัวเองที่สื่อสารให้คนรู้ว่าฟีเจอร์ของเขาทำให้เราออกแบบงานกราฟิกได้อย่างง่ายดาย สามารถออกแบบอะไรก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้ และไม่ต้องมานั่งฝึกอบรมการใช้งาน


ชมตัวอย่างวิดีโอคอนเทนต์: Enjoy Presentations

 

นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้คนแชร์ผลงานจากการใช้ Canva โดยติดแฮชแท็ก #canvalove เพื่อสร้างชุมชนคนใช้ Canva และยังเป็น Community หนึ่งที่พูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้

7. สร้างคอนเทนต์ที่ทรงพลังเพื่อช่วยเหลือผู้ใช้

Canva มีการสร้างคอนเทนต์เพื่อช่วยเหลือผู้ใช้งาน โดยบทความจะเกี่ยวข้องกับการใช้งาน Canva เป็นหลัก เช่น การยกเลิกแผน Canva ชั่วคราว การจัดการและลบทีม การพิมพ์และจัดส่ง การเพิ่มแทร็กเสียงและเอฟเฟ็กต์เสียง เป็นต้น

คอนเทนต์ของ Canva
อ้างอิงรูปภาพ: Canva

เมื่อผู้ใช้ค้นหาวิธีการทำหรือการแก้ไข บทความของ Canva ก็จะตอบคำถามให้กับผู้ใช้ได้ ขณะเดียวกัน Canva ก็ทราบดีว่าคอนเทนต์เหล่านี้จะช่วยเพิ่ม Traffic และ Returning Visitor ให้กับเว็บไซต์เช่นกัน

8. ใช้ SEO ผลักดันผลิตภัณฑ์ของตนเอง

ไม่ว่าจะเราจะเสิร์ชคำว่า “ออกแบบรูปภาพ” “ออกแบบโลโก้” หรือ “ทําสไลด์สวยๆ” เรามักจะเห็นเว็บไซต์ Canva ปรากฏขึ้นมาหน้าที่เสิร์ชทันที แน่นอนว่านักการตลาดย่อมรู้ว่านี่คือการทำ SEO โดยใช้คีย์เวิร์ดที่คนส่วนใหญ่นิยมเสิร์ชมาทำการตลาด เพื่อผลักดันให้เว็บไซต์อยู่อันดับต้น ๆ และเพิ่มโอกาสให้คนคลิกมากที่สุด

จนปัจจุบันมีผู้ใช้กว่า 300 ล้านคนเยี่ยมชมเว็บไซต์ Canva ทุกเดือน อีกทั้งผู้ใช้ในสหรัฐอเมริกาประมาณ 1-10 ล้านคนยังมีการค้นหาคำว่า “Canva” บน Google ทุกเดือนอีกด้วย

ความสำเร็จจากไอเดียที่อยากแก้ปัญหา

ปัจจุบัน Canva กลายเป็นหนึ่งในบริษัทซอฟต์แวร์ที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก ที่นักลงทุนต่างจับตามอง โดยรอบล่าสุดระดมเงินทุนได้ถึง 200 ล้านดอลลาร์

  • มีมูลค่าบริษัทกว่า 40 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
  • มีลูกค้ารายเดือนกว่า 75 ล้านรายใน 190 ประเทศ
  • มีออกแบบ 150 ชิ้นงานภายใน 1 วินาที
  • มีแปลเนื้อหาไปแล้วกว่า 100 ภาษา
  • มีการเพิ่มพนักงานเป็น 2,500 คน
  • ติดอันดับ 1 บริษัทออกแบบในปี 2022 จากการจัดอันดับของ Fast Company
อัตราการเติบโตของ Canva ปี 2016-2021
อ้างอิงรูปภาพ: MK's Guide

สรุป

กลยุทธ์การตลาดที่กล่าวมาทั้งหมดมีส่วนทำให้ Canva เติบโตเร็วอย่างเห็นได้ชัด และยังมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมมากขึ้นด้วย เพราะเป็นซอฟต์แวร์ที่ตอบโจทย์คนแทบทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา คนทำธุรกิจส่วนตัวที่ต้องการออกแบบโลโก้หรือรูปภาพเอง แม้แต่กราฟิกดีไซเนอร์มือโปรก็ยังหันมาใช้ Canva ด้วย

ถ้าจะให้สรุปสั้น ๆ ว่าทำไมคนถึงนิยมใช้ Canva กันอย่างต่อเนื่อง ก็คงต้องพูดว่า “Canva เป็นผู้ให้ก่อนเป็นผู้รับ” ให้ทั้งฟีเจอร์ที่หลากหลาย ให้ความสะดวกสบาย ให้งานที่มีคุณภาพ ที่สำคัญคือให้ใช้ฟรีได้นานกว่าแบรนด์อื่น เชื่อแล้วว่าความต่างเพียงเล็กน้อยสามารถสร้างมูลค่าที่เหนือกว่าหลายเท่าได้

ตาคุณแล้ว

หลายคนใช้ Canva เพราะทำให้การออกแบบงานกราฟิกเป็นเรื่องง่าย แล้วคุณล่ะใช้ Canva เพราะอะไร หรือถ้ายังไม่เคยใช้ ลองมาออกแบบและสร้างสรรค์ผลงานที่ Canva ดูสิ เชื่อว่ามีเทมเพลตงานออกแบบอย่างที่คุณต้องการแน่นอน!