Category และ Tag – ใครก็ตามที่ต้องสร้างโพสต์บน WordPress หรือ CMS อื่นๆ ก็ตาม ก็จะต้องได้เห็นกับชื่อของเจ้าสองอย่างนี้มาก่อนอย่างแน่นอน ก่อนหน้านี้เราเองก็รู้สึกสับสนกับการใช้งานสองอย่างนี้เหมือนกัน บทความนี้จึงอยากขอย้อนถึงความสับสนต่างๆ ที่ตัวเองเคยมี โดยหวังว่าจะช่วยคุณย่นระยะเวลา และเข้าใจสองอย่างนี้ได้เร็วยิ่งขึ้น

ทำไมเราถึงมี Category และ Tag

ช่องเลือก Category และ Tag ใน WordPress

ช่องเลือก Category และ Tag ใน WordPress

เพื่อบ่งบอกประเภท

พูดถึง Category (หมวดหมู่) และ Tag (ป้ายกำกับ) แบบง่ายๆ หลายๆ คนเห็นพ้องต้องกันว่าทั้งคู่ “เป็นช่องเอาไว้ให้ใส่คำต่างๆ”  ซึ่งเป็นคำที่เราใช้เพื่อบอกว่าบทความนี้เกี่ยวข้องกับอะไร

ถ้าพูดในภาษายากขึ้นอีกหน่อย ในภาษาอังกฤษเราเรียกทั้งคู่ว่าเป็น Taxonomy หรืออนุกรมวิธาน ซึ่งหมายถึงเป็นการจัดประเภท ของสิ่งต่างๆ นั่นเอง เหมือนกับการที่เรามีสัตว์โลกเยอะมาก จนต้องจัดประเภทของสัตว์แบ่งเป็นสปีชีส์ (Species) ต่างๆ

บทความเองก็เช่นกัน มันอาจถูกสร้างให้เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ ไม่หยุด การจัดประเภทก็จะมีประโยชน์ทันทีเมื่อเรามีบทความมากขึ้น คนอ่านก็จะได้เข้าใจมากขึ้นว่าอะไรเป็นอะไร

เพื่อรวบรวมจัดเป็นกลุ่ม

โดยในครั้งต่อๆ ไป เมื่อผู้ใช้ต้องการเข้าถึงคอนเทนต์ในหมวดหมู่หรือป้ายกำกับไหน ก็สามารถค้นหาได้โดยง่าย เช่น บทความนี้ของ Content Shifu อยู่ในหมวดหมู่ Blogging หากคุณอยากอ่านบทความอื่นๆ ในหมวดนี้เพิ่มเติม ก็สามารถหาอ่านได้ที่ URL: https://contentshifu.com/category/blogging/ ก็จะมีบทความในหมวดหมู่นี้รวมไว้อยู่

ในขณะเดียวกันบทความนี้เองก็มีแท็ก หรือป้ายกำกับว่า Blog รวมอยู่ด้วย ซึ่งคุณเองก็สามารถอ่านบทความที่มีป้ายกำกับนี้เพิ่มเติมได้ที่ URL: https://contentshifu.com/tag/blog/

พอยกตัวอย่างแบบนี้ คุณอาจจะรู้สึกว่า …อะไรเนี่ย แล้วจะมีป้ายกำกับว่า Blog แยกจากหมวดหมู่ Blogging อีกทำไม แล้วมันต่างกันอย่างไร เรามาคุยกันต่อค่ะ

Category และ Tag ใช้ต่างกันอย่างไร

ทำความเข้าใจที่มาที่ไป

จินตนาการว่าบล็อกของคุณก็เหมือนกับหนังสือหนึ่งเล่ม

Category ต่างๆ นั้นเปรียบเสมือน Table of Contents หรือสารบัญที่คุณจะเห็นในหน้าแรกๆ ของหนังสือ

ส่วน Tag นั้นเปรียบเสมือนหน้า Index หรือหน้าที่รวบรวมคำศัพท์ต่างๆ ไว้ท้ายเล่มของหนังสือ

วิธีการใช้ Category (หมวดหมู่)

1. ให้คิด Categories ของเว็บก่อนเริ่มต้นเขียนบทความใดๆ เพราะมันบ่งบอกว่าเนื้อหาของเว็บไซต์คุณจะเป็นอย่างไร

Category เป็นเหมือนตอนแต่ละตอนในสารบัญหนังสือ ปกติแล้วคุณต้องคิดก่อนว่า ถ้าอยากให้หนังสือเล่มนี้สมบูรณ์ควรมีเนื้อหาอะไรบ้าง จากนั้นจึงค่อยเขียนแต่ละบทใส่ในตอนต่างๆ

บทความของคุณเองก็เช่นกัน มันไม่ควรจะเขียนขึ้นมาอย่างลอยๆ แต่เขียนขึ้นมาเพื่อประกอบให้ตอนต่างๆ ในเว็บไซต์ของคุณสมบูรณ์ขึ้น เราต้องทราบว่าเมื่อเขียนมาแล้วจะจัดมันให้อยู่ในส่วนไหนของสารบัญหนังสือนั่นเอง

2. ทุกๆ บทความจำเป็นจะต้องมี Category เสมออย่างน้อยหนึ่ง Category 

หากคุณไม่ได้เลือก ปกติแล้ว WordPress จะมีสร้าง Category หนึ่งชื่อ ‘Uncategorized' และใส่ให้คุณเองอัตโนมัติ เพราะอยากที่บอกไปว่า ทุกๆ บทความจำเป็นต้องมีที่มาที่ไป

3. สามารถเปลี่ยน Uncategorized เป็นชื่ออื่นได้

โดยส่วนตัวคิดว่าชื่อนี้ไม่ค่อยเฟรนลี่เท่าไร อยากแนะนำให้ลองเปลี่ยนชื่อหมวดหมู่นี้ให้เป็นชื่ออื่น เช่นของ Content Shifu ตั้งชื่อใหม่เป็น ‘Others‘ หมายถึงบทความอื่นๆ ที่เรามองว่าอาจจะไม่ใช่แนวความรู้ปกติที่เราเขียนบ่อยๆ แต่ก็มีประโยชน์

4. หนึ่งบทความจะมีหมวดหมู่เดียว หรือหลายหมวดหมู่ก็ได้

สิ่งที่ทำให้ Category ต่างจากการเป็นสารบัญคือจริงๆ แล้วบทความของเราสามารถมีหมวดหมู่มากกว่าหนึ่งก็ได้ หากคุณมองว่าบทความนั้นของคุณเข้าข่ายเนื้อหาสำคัญหลายมุมมองในเว็บของคุณ

ตัวอย่างการคิดหมวดหมู่

สำหรับเว็บ Content Shifu นั้น เขียนบทความแบบเน้นแนวสาระความรู้โดยเฉพาะ ส่งผลให้เรามีหมวดหมู่อย่างเช่น หมวดหมู่ Fundamental: บทความแบบเน้นการปูพื้นฐานที่ควรทราบ เช่นบทความแนะนำคอนเซปต์ Inbound Marketing หรือบทความแนะนำคำศัพท์ไอทีสำหรับมือใหม่ เพื่อว่ามือใหม่จะได้ตามอ่านหมวดหมู่นี้ก่อนเป็นลำดับแรก นอกจากนี้ยังมีการแบ่งหมวดหมู่ตาม Topic ของเนื้อหาสาย Digital Marketing เช่น Email Marketing, Marketing Analytics เป็นต้น

วิธีการใช้ Tag (ป้ายกำกับ)

ทีนี้เรามาดูต่อที่ Tag กันบ้าง

1. ในหนึ่งบทความจะมี Tag หรือไม่มีก็ได้

ความแตกต่างอย่างชัดเจนข้อหนึ่งก็คือ Tag เป็นอะไรที่จะใส่หรือไม่ก็ได้ เพราะมันไม่ใช่หมวดหมู่

2. Tag ไม่จำเป็นต้องเชื่อมโยงกับเนื้อหาหลักของเว็บ

ชื่อภาษาไทยอย่างป้ายกำกับ ก็บ่งบอกแล้วว่า Tag เป็นเหมือนกับการแปะโน๊ตเท่านั้น ซึ่งนั่นแปลว่าสิ่งที่เราเอาไปใส่เป็น Tag นั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นเนื้อหาหลักของเว็บเหมือนอย่าง Category ก็ได้ เช่น บทความสุดละเอียดแนะนำวิธีใช้ Keywords Everywhere ปลั๊กอินบน Chrome และ Firefox ศึกษาคีย์เวิร์ดเพื่อทำงานเขียน Content Marketing อย่างมืออาชีพ ตัวนี้ก็มี Tag อย่างคำว่า ‘Chrome Extension‘ หรือปลั๊กอินบนเบราเซอร์ Chrome เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญของบทความ แต่ไม่ถึงขั้นเนื้อหาหลักของเว็บ ตราบใดที่เราไม่ใช่เว็บรีวิวปลั๊กอินอ่ะนะ

3. ใช้ Tag กับ Keyword สำคัญน่ารู้

อย่างที่บอกไปว่า Tag เหมือน Index

ปกติหน้า Index ก็คือหน้าที่รวมคำสำคัญต่างๆ เวลาที่ผู้อ่านหาคำใน Index เขาก็สามารถย้อนดูได้ว่าคำเหล่านี้ปรากฏอยู่ตรงไหนของเนื้อหา

Tag เองก็มีไว้เพื่อรวมคำน่ารู้ต่างๆ ไว้เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ (User Experience) ในการค้นคว้าหาข้อมูลต่อเพิ่มเติมค่ะ อย่างบทความเมื่อซักครู่ ติดป้ายกำกับให้กับ Chrome Extension เผื่อว่าผู้ใช้ Chrome อาจจะสนใจอยากทราบว่านอกจากตัวที่บทความเมื่อซักครู่แนะนำแล้ว ยังมีตัวอื่นๆ ที่เว็บนี้แนะนำอีกหรือไม่

แถม: รวมฮิตความเข้าใจผิดและยกตัวอย่างเพิ่มเติม

เนื้อหาส่วนแถมนี้จะขอพาดพิงถึงเรื่อง SEO นิดนึงนะคะ

เมื่อซักครู่ได้บอกไปว่า ใส่ Tag กับคำสำคัญ นั่นอาจทำให้คนเริ่มมีคำถามว่า หมายถึง Keyword เดียวกันที่จะใช้กับ SEO หรือเปล่า

อรว่านี่เป็นอีกหนึ่งความเข้าใจผิดที่เห็นบ่อยค่ะ คนส่วนใหญ่พอได้รู้จักประโยชน์ของ Keyword ในทาง SEO ก็จะหาวิธีพยายามใส่ให้ได้มากๆ ไฮไลท์ให้ได้เยอะๆ ช่องอย่าง Tag บางทีก็เลยมักจะเห็นเป็นช่องใส่ Keyword สำหรับ SEO ไปด้วย

แต่จะเห็นได้ว่าในบทความ 4 เทคนิคการเขียนบทความแบบคำนึงถึง SEO เราไม่ได้ระบุถึงช่อง Tag หรือ Category เอาไว้ นั่นเพราะเรามองว่า จริงๆ แล้ว Use Case ของ Keyword, Tag, Category 3 อย่างนี้ต่างกันโดยสิ้นเชิง

  • Category คือการคำนึงถึงผู้ใช้ว่าจะสนใจเนื้อหาเรื่องอะไร + คำนึงถึงตนเองว่าอยากปั้น อยากนำเสนออะไรเป็นเนื้อหาแกนสำคัญของเว็บไซต์ โดยปกติแล้วเรามักจะเลือก Category ไว้ก่อนเริ่มต้นเขียนบทความหนึ่งบทความ
  • สำหรับ Tag ปกติแล้วเราจะนั่งติดแท็ก หลังจากเขียนบทความนั้นๆ เสร็จแล้ว เป็นการมองหาคำสำคัญที่น่าจะมีประโยชน์ที่ผู้ใช้น่าจะสนใจค้นคว้าต่อ
  • Keyword จะต่างจากเพื่อนเลยคือ การคำนึงถึงผู้ใช้ที่ยังไม่ได้อยู่ในเว็บไซต์ของเรา แต่เป็นผู้ใช้ Search Engine ว่าจะสนใจเสิร์ชหาอะไร
ตัวอย่าง

สมมติบทความหนึ่งในเว็บไซต์แห่งหนึ่ง เขียนเนื้อหาเรื่อง ‘การประดิษฐ์ดอกกุหลาบ DIY เพื่อเป็นของขวัญวาเลนไทน์' บทความนี้อาจมี Keyword ในเชิง SEO ว่า ‘ดอกกุหลาบ DIY' หรือ ‘ดอกไม้ DIY' หรือ ‘ดอกไม้ วาเลนไทน์' ซึ่งเป็นคำที่คาดหวังว่าคนใช้ Search Engine น่าจะเสิร์ช

หากเว็บไซต์นั้นเป็นเว็บที่เกี่ยวกับงานประดิษฐ์ บทความนั้นคงมี Category เป็นคำว่า ‘DIY' ส่วน ‘ดอกไม้' และ ‘วาเลนไทน์' อาจจะเป็น Tag นึงในบทความ

หากเว็บไซต์นั้นเป็นเว็บเกี่ยวกับความรู้เรื่องดอกไม้ บทความนั้นคงมี Category เป็นคำว่า ‘ดอกกุหลาบ' และมี ‘DIY' เป็น Tag ในกรณีที่อาจนำเสนอบทความอื่นๆ ในเชิง DIY อีก

สรุป

ในขณะที่ Tag เป็นการติดป้ายกำกับ ให้กับคำน่าสนใจที่อยากจะ Index เก็บไว้เผื่อใช้ค้นคว้า Category จะค่อนข้างเป็นภาพใหญ่ที่สำคัญอย่างสารบัญ และสามารถตั้งได้ในหลายมุมมอง ไม่ว่าจะเป็นที่ Topic เนื้อหา, มุมมองในเชิงประโยชน์ที่ได้, มุมมองในเชิงสไตล์คอลัมน์ เป็นต้น

ทำไมต้องมี Category และ Tag ?

เราคิดว่าสองอย่างนี้ เป็นเสน่ห์อย่างร้ายกาจอย่างหนึ่งของ Online Content ที่หาไม่ได้บน Offline มันทั้งคู่ช่วย ‘จัดกลุ่ม' คอนเทนต์ ช่วยให้เราสามารถ ‘ค้นหา' คอนเทนต์ได้ง่าย ไม่หลุดธีม และเป็นคอนเซปต์ที่คำนึงถึงประโยชน์ของผู้ใช้

ตาคุณแล้ว

ทุกวันนี้คุณใส่อะไรเป็น Category และ Tag กันบ้าง และมีมุมมองอย่างไรต่อแนวคิดในบทความ สามารถพูดคุยกันได้เลยค่ะ

สำหรับใครที่สนใจแง่คิดในเชิง Online Content เยอะๆ อยากขออนุญาตฝากติดตามเนื้อหา 35 บทเรียนของเราได้ที่ Becoming A Great Digital Writer รายละเอียดตามนี้นะคะ