พฤติกรรมผู้บริโภค (Consumer Behavior) เปลี่ยนไปเพราะผลกระทบรุนแรงจากสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ซึ่งแน่นอนว่า พฤติกรรมผู้บริโภค มีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ เพราะถ้าคุณไม่สามารถจับใจผู้บริโภคได้ ยอดขายของคุณก็ไม่กระเตื้องแน่นอน

ดังนั้นเรามาดูข้อมูลเจาะเทรนด์โลกจาก TCDC กันดีกว่าว่าผู้คนในแต่ละช่วงวัยหรือ Generation ต่างๆ จะมีแนวโน้มพฤติกรรมอย่างไรในปี 2023

Baby Boomer (1946-1964)

กลุ่มผู้สูงวัยที่มีอายุระหว่าง 59-77 ปี ถ้าจะให้พูดง่ายๆ ก็เป็นวัยคุณตาคุณยายมีลูกมีหลาน เป็นวัยที่กำลังเกษียณหรือเกษียณไปแล้ว เป็นรุ่นที่เกิดหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง (World War II) ยุติลง ซึ่งเป็นยุคที่ประเทศชาติบ้านเมืองกำลังฟื้นฟูต้องการแรงงานคน ทำให้คนสมัยนั้นนิยมมีลูกกันค่อนข้างเยอะเป็นที่มาของชื่อ Baby Boomer

Baby Boomer

พฤติกรรมผู้บริโภค ของ Baby Boomer

  • หันมาค้นหาความหมายที่แท้จริงของชีวิต ให้ความสำคัญกับเวลาพักผ่อน การเล่นโซเชียลมีเดีย และการพบปะเข้าสังคมมากขึ้น
  • ยึดติดในกิจกรรมและไลฟ์สไตล์เดิมๆ และเลือกงานในรูปแบบชั่วคราวที่รับจ้างระยะสั้น (Gig Worker หรือ Gig Economic) เพื่อนำเวลาว่างไปเข้าสังคมบนโซเชียลมีเดีย
  • ชอบการเรียนรู้สถานการณ์ที่ใช้เวลาร่วมกับ Gen อื่น เพื่อเท่าทันคนรุ่นใหม่
  • อยากออกไปพบปะสังสรรค์ ท่องเที่ยวกับเพื่อนฝูง มากกว่าถูกกำหนดขอบเขตการใช้ชีวิตโดยลูกหลาน
  • ถึงแม้จะเผชิญกับวิกฤตแต่ไลฟ์สไตล์หลายอย่างยังเหมือนเดิม เช่น เน้นเรื่องความแข็งแรงและการมีสุขภาพดี ให้ความสำคัญเรื่องการใช้เวลากับครอบครัว เน้นการใช้เวลาอยู่บ้าน
  • เบบี้บูมเมอร์ท่องโลกโซเชียลมีเดียสูงขึ้น เพื่อลดความโดดเดี่ยว ชื่นชอบการแชร์ข้อมูลให้เพื่อนๆ พฤติกรรมตรงนี้เป็นโอกาสของแบรนด์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ สุขภาวะ และแฟชั่น โดยอัปเดตข่าวสารจากแพลตฟอร์ม Facebook, TikTok  และ YouTube เป็นหลัก
  • หลังหมดการแพร่ระบาดของโรคแล้ว นักช้อปสูงวัยก็ยังชอบใช้บริการสั่งของจากร้านค้าออนไลน์ถึง 90% อยู่ เพราะว่าช้อปปิ้งออนไลน์ตอบโจทย์ความสะดวกสบายให้กลุ่มคนเหล่านี้ แถมเป็นโอกาสของแบรนด์ที่มีช่องทางออนไลน์หาทางจับใจเหล่าเบบี้บูมเมอร์ให้อยู่หมัด

รู้เทรนด์พฤติกรรม Baby Boomer แล้วเอาไปใช้ยังไงดี?

ถ้าวิเคราะห์จากเทรนด์ปี 2023 แล้ว นี่ถือว่าเป็นโอกาสของร้านค้าออนไลน์ หรือธุรกิจออนไลน์ ในการขยายฐานกลุ่มเป้าหมายไปยังกลุ่มผู้สูงวัยมากขึ้น โดยเฉพาะแบรนด์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ และแฟชั่นห้ามพลาดฐานลูกค้ากลุ่มนี้เด็ดขาด เพราะเป็นวัยที่มีกำลังในการจับจ่ายมากกว่าเจนอื่นๆ มีความมั่นคง และด้วยการที่เข้าถึงออนไลน์มากขึ้นก็ยิ่งทำให้มีโอกาสซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้นเช่นกัน แนะนำว่าต้องหากลยุทธ์การตลาดที่จับใจกลุ่ม Baby Boomer ให้ได้

Gen X (1965-1980)

กลุ่มที่มีอายุระหว่าง 43-58 ปี เป็นกลุ่มคนที่เกิดมาในยุคแห่งความมั่งคั่งกำลังขยายไปทั่วโลก มีการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจสูง และอัตราการเกิดลดลงเพราะคนไม่นิยมมีลูกมาก

Gen X

พฤติกรรมผู้บริโภค ของ Gen X

  • ให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายและการประหยัด เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้เหล่าเจนเอ็กซ์รู้สึกเครียดเรื่องการใช้เงินมากขึ้น
  • เป็นกำลังหลักของครอบครัว ทำให้มีความกังวลต่อเจนอื่นๆ เช่น การดูแลผู้สูงอายุ (Baby Boomer) และการดูแลลูกหลาน (Gen Z) เรียกได้ว่ามีความกังวัลมากกว่าเจนอื่นๆ อยู่พอสมควร
  • เจนนี้เริ่มหันมาใช้ประโยชน์จากเครื่องมือดิจิทัลอย่าง TikTok เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับผู้คนในครอบครัวและแบรนด์สินค้ามากขึ้น
  • เป็นเจนที่เติบโตด้วยการพึ่งพาตัวเอง จัดการตารางชีวิตให้มีประสิทธิภาพ ควบคุมค่าใช้จ่ายภายในบ้าน ร้านไหนมีของสมนาคุณหรือการ์ดสะสมคะแนน เจนเอ็กซ์ไม่พลาด
  • เจนนี้มีความตั้งใจมองหาแบรนด์ระดับพรีเมียมที่มีคุณภาพสูงและมีคุณค่ากว่าแบรนด์ที่ใช้ประจำอยู่เสมอ
  • ต้องการจัดทริปแบบรียูเนียนกับเหล่าเพื่อนฝูงและครอบครัว เนื่องจากเจนนี้ต้องการเติมเต็มเป้าหมายของตนเองหลังเจอสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้หายไป 2 ปี

รู้เทรนด์พฤติกรรม Gen X แล้วเอาไปใช้ยังไงดี?

เนื่องจากเป็นเจนที่ค่อนข้างมีความกังวล ความเครียด ถือเป็นโอกาสของแบรนด์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ อาหารเสริม วิตามิน นอกจากนี้ถ้าแบรนด์ไหนมีกลยุทธ์ใช้การสะสมแต้มแลกของ มีระบบ Membership ก็ถือว่าสามารถดึงดูดคนกลุ่มนี้ได้ดี นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอีกด้วย เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ต้องการหันมาใส่ใจความต้องการของตัวเองผ่านการพักผ่อนจากการไปเที่ยวมากขึ้น

Millennials หรือ Gen Y (1981-1995)

กลุ่มที่มีอายุระหว่าง 28-42 ปี สามารถเรียกได้ว่า Millennials และ Gen Y เป็นกลุ่มคนที่อยู่ในยุคของการพัฒนาเทคโนโลยี เข้าถึงโลกออนไลน์ได้อย่างรวดเร็ว

Gen Y

พฤติกรรมผู้บริโภค ของ Gen Y

  • ถึงแม้โรคระบาดจะหมดไป แต่เจนวายยังคงยึดหลักการใช้ชีวิตแบบ Work-Life Balance หันมาใส่ใจสุขภาพร่างกายและจิตใจ โดยให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมที่อยู่ อาหารการกิน ไปจนถึงโปรแกรมการใช้ชีวิตอย่างสม่ำเสมอ
  • เป็นเจนที่กลัววันอาทิตย์ (Sunday Scaries) มากขึ้น เนื่องจากกังวลว่าจะใช้วันหยุดไม่คุ้มค่า จึงชอบวางแผนการท่องเที่ยวในระยะยาวแทน
  • ติดโซเชียลแต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกโดดเดี่ยวมากขึ้น จึงใช้วันหยุดไปกับกิจกรรมกลางแจ้ง ตั้งแคมป์ ไปคาเฟ่ ชอบเครื่องดื่มใหม่ๆ ดำน้ำ โชว์ไลฟ์สไตล์หรูหราบนสื่อโซเชียล และชอบอัปเดตเทรนด์ในโลกออนไลน์เสมอ เป็นเป้าหมายหลักของธุรกิจร้านกาแฟ ชานมไข่มุก และร้านเครื่องดื่มอื่นๆ
  • ให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะมีอาการเครียดสะสมตลอดเวลา จึงมองหากิจกรรมที่ช่วยสร้างสมดุลให้กับการทำงานและชีวิต ซึ่งในปัจจุบันคนเจนนี้ก็เริ่มหันมาดื่มเครื่องดื่มแบบ Non-Alcohol มากขึ้นถึง 40% เพราะอยากดื่มด่ำกับบรรยากาศอย่างแท้จริง
  • เหล่ากลุ่มเจนวายคาดหวังให้องค์กรมีการพัฒนาเทคโนโลยีการทำงานให้ทันสมัย เพื่อให้การทำงานออกมามีประสิทธิภาพและใช้เวลาน้อยลง
  • แบรนด์ที่มีเป้าหมายเป็นเจนนี้ควรมีจุดยืนความจริงใจ และความซื่อสัตย์ต่อกลุ่มลูกค้าอย่างชัดเจน

รู้เทรนด์พฤติกรรม Gen Y แล้วเอาไปใช้ยังไงดี?

ด้วยพฤติกรรมของเจนวาย ถือเป็นโอกาสของแบรนด์ สินค้าเพื่อสุขภาพ เครื่องดื่ม Non-Alcohol สินค้าที่โชว์ไลฟสไตล์ หรือเฟอร์นิเจอร์สไตล์มินิมอลที่มีความคุมโทนก็ตอบโจทย์กลุ่มคนเหล่านี้ และที่สำคัญด้วยความที่เป็นเจนที่เชื่อในการขับเคลื่อนสังคม ดังนั้นแบรนด์ควรจะมีจุดยืนที่ชัดเจนด้านสังคมเช่นกัน

Gen Z (1996-2011)

กลุ่มที่มีอายุระหว่าง 12-27 ปี เกิดมาในยุคที่เทคโนโลยีรุ่งเรือง ทำให้อุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ เป็นดิจิทัล กลุ่มคนเหล่านี้จึงถนัดการดำเนินชีวิตในสังคมดิจิทัล

Gen Z

พฤติกรรมผู้บริโภค ของ Gen Z

  • ชื่นชอบการสร้างรายได้จากโซเชียลมีเดีย มากกว่าการหาทักษะระยะยาวในการทำงานจากการเรียนต่อมหาวิทยาลัย เพราะต้องการสั่งสมประสบการ์ณจริง
  • พร้อมแสดงความคิดเห็นหรือลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม ไม่จมอยู่กับการวิจารณ์ผ่านหน้าจออย่างเดียว แต่พร้อมลงมือทำจริง ยกให้เป็น “เจนแห่งความหวัง”
  • คอนเทนต์ไวรัลหรือที่เป็นกระแสมักมาจากเจนซี ทำให้เป็นเจนที่มีส่วนสำคัญในการขึ้นเทรนด์บนโลกโซเชียลมีเดีย นอกจากนี้ยังสามารถกระจายคอนเทนต์ได้เร็วด้วยแพลตฟอร์มใหม่ๆ เพราะเปิดรับสิ่งใหม่ได้ง่ายกว่ามิลเลนเนียล
  • กลุ่มเจนซีนิยมชอบเรียนรู้ด้วยตัวเอง และมักหาคำตอบจากแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นหลัก โดยใช้ Google ถึง 70% และรองลงมาเป็น TikTok  
  • ไม่ยึดติดกับงานสาขาใดสาขาหนึ่ง จึงชอบที่จะเรียนรู้ทักษะอาชีพหลายๆด้าน เพื่อค้นหาตัวเองไปในตัว
  • สนใจในแบรนด์ที่แตกต่าง ซึ่งจะเลือกซื้อจากแบรนด์ที่มีจริยธรรมการค้าขาย ความเป็นธรรมกับคนทุกกลุ่ม ดังนั้นภาพลักษณ์ของแบรนด์จึงเป็นสิ่งสำคัญ ในการตัดสินใจเลือกซื้อ
  • ให้ความสำคัญกับ Safe Zone อย่างห้องนอนต้องมีการแต่งห้องให้สวยคุมโทน มีดีไซน์ที่ผสมผสานระหว่างยุค 90s ถึง 2000 เพื่อตอบโจทย์การโพสต์ภาพลงบนโซเชียลมีเดีย

รู้เทรนด์พฤติกรรม Gen Z แล้วเอาไปใช้ยังไงดี?

เจนซีจะมีความคล้ายกับเจนวายอยู่หลายด้าน แต่เจนนี้จะมีความเป็นครีเอเตอร์อยู่สูง และชื่นชอบการสร้างรายได้บนโลกโซเชียลมีเดีย ดังนั้นแบรนด์ควรใส่ใจกลุ่มลูกค้าเจนนี้ เพราะเจนซีจะช่วยให้แบรนด์ของคุณเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น หรือก็คือสร้าง Brand Awareness ได้ เนื่องจากมีคนที่เป็น Influencer ค่อนข้างเยอะ ซึ่งมีการใช้แพลตฟอร์ม Google และ TikTok เป็นหลัก หากอยากเข้าถึงกลุ่มคนเจนนี้ก็สามารถใช้ช่องทางดังกล่าวในการเป็นโปรโมตแบรนด์

Gen Alpha  (2010-2024)

เป็นกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ที่มีอายุตั้งแต่ 13 ปีลงไป เป็นกลุ่มช่วงวัยที่มีความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีได้สูงมากกว่าเจนอื่นๆ เพราะเติบโตมากับเทคโนโลยี ทำให้สามารถเรียนรู้ได้อย่างว่องไว และอาจจะเป็นเจนที่ฉลาดที่สุดเพราะการเติบโตมาบนโลกที่รายล้อมไปด้วยเทคโนโลยี

Gen Alpha

พฤติกรรมผู้บริโภค ของ Gen Alpha

  • เจนนี้ชอบวิธีการสื่อสารและการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งอุปกรณ์ AI เป็นแนวโน้มสำคัญในการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้
  • เป็นวัยที่เติบโตมาในยุคของดิจิทัลอย่างแท้จริง ทำให้เจนนี้มีความฉลาดทางด้านอารมณ์ เรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วเกินวัย เนื่องจากได้รับข้อมูลข่าวสารบนโลกออนไลน์เป็นส่วนใหญ่
  • เจนอัลฟามักชอบเล่นเกมออนไลน์ที่เสมือนจริง ที่มีกิจกรรมสนุกๆ และมีส่วนร่วมระยะยาว เพื่อลดความเหงาจากการที่ไม่ได้ออกไปเล่นกับเพื่อนข้างนอก
  • ด้วยการรับรู้ข่าวสารได้ทั่วถึงมากขึ้น ทำให้เจนอัลฟามักชื่นชอบแบรนด์สินค้าที่มีคุณภาพดี ยั่งยืน และใส่ใจผลเชิงสุขภาพ รวมไปถึงต้องเข้าถึงได้ง่ายผ่านโซเชียลมีเดีย
  • กำเนิด “Alphluence” เป็นการรวมคำระหว่าง Alpha และ Influence เรียกได้ว่าเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่มีความสามารถครองพื้นที่โซเชียลมีเดียได้นานกว่าเจนอื่นๆ เนื่องจากความสามารถที่คิดคอนเทนต์ได้อย่างรวดเร็ว

รู้เทรนด์พฤติกรรม Gen Alpha แล้วเอาไปใช้ยังไงดี?

เจนอัลฟา เด็กยุคใหม่ที่จะมาเป็นอนาคตของโลก ครีเอเตอร์คนใดกำลังทำช่อง YouTube หรือ TikTok การมีเนื้อหาที่เหมาะสำหรับเด็กก็ถือว่าเป็นโอกาสที่ดี นอกจากนี้ยังเป็นเป็นโอกาสของสินค้าเพื่อสุขภาพ หรือแบรนด์ที่มีจุดยืนด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อีกทั้งผู้ปกครองของกลุ่มวัยนี้ก็ให้ความสำคัญกับสุขภาพของลูกด้วย ถ้าแบรนด์ไหนมีตัวเลือกสำหรับเด็กโดยเฉพาะแถมถ้าเป็นออร์แกนิคด้วยก็ถือว่าเป็นกลยุทธ์ที่ดี และทำให้รายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

สรุป

โดยสรุปแล้วแต่ละเจน แต่ละวัย ก็มีความแตกต่างกันไปตามช่วงอายุ ผลกระทบจากโรคระบาดส่งผลอย่างหนักต่อพฤติกรรมผู้บริโภคทั้ง Baby Boomer หันมาช้อปปิ้งออนไลน์มากขึ้น Gen X ที่แบกรับความเครียดเพราะอยู่กึ่งกลางระหว่างเจนอื่นๆ Gen Y ผู้เป็นนักสู้ลงมือทำจริง ขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้า Gen Z คนรุ่นใหม่ไม่หยุดนิ่ง นักครีเอทคอนเทนต์สร้างกระแสเทรนด์ต่างๆ ได้ดี และสุดท้าย Gen Alpha กลุ่มคนที่เป็นอนาคตของโลกเพราะเติบโตมากับเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ๆ 

ต้องขอขอบคุณข้อมูลเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคจาก “เจาะเทรนด์โลก 2023” โดย  TCDC ที่ทำให้เราสามารถเห็นความกระจ่างชัดในแต่ละเจนได้ขนาดนี้ บอกเลยว่าทุกธุรกิจไม่ควรพลาด

ตาคุณแล้ว

หวังว่าบทความนี้เป็นประโยชน์ในการนำไปประยุกต์ใช้กับกลยุทธ์ทางธุรกิจนะคะ และอยากให้ทุกคนได้ทำความเข้าใจความแตกต่างของเจนอื่นๆ นอกเหนือจากเจนตัวเองอีกด้วย เพื่อที่จะได้เข้าใจว่าต่างวัยก็ต่างความคิด ไม่ใช่อ่านเพื่อ “แบ่งแยก” แต่เป็น “เข้าอกเข้าใจ”