“ไอเดียเยอะ แต่ฟุ้ง!”

ในบทความนี้ เราจะมาดูกันค่ะ ว่าทำไมหลายครั้ง เวลาที่เราคิดไอเดียคอนเทนต์ที่ดูน่าจะเวิร์ก แต่พอเอาไปทำจริง มันกลับไม่เวิร์กซะงั้น

สมมติว่า มีนักการตลาดสาวคนนึง กำลังอยากได้ Leads (กลุ่มเป้าหมายที่มีแนวโน้ม สนใจสินค้าและบริการขององค์กร) ลูกค้าคอนโด ที่เป็นคนรุ่นใหม่ สาย Startup สไตล์ “Work hard, play harder”

เธอคิดชื่อคอนเทนต์ “10 เทรนด์จัดคอนโด ของสาย Productive” ที่พอใครอ่านก็บอกเลยว่า “โดนใจคนรุ่นใหม่สายนี้แน่ๆ!” หัวข้อก็โดน Tie-in ก็ดี น่าจะต้องได้ยอดขายเพิ่ม

พอปล่อยคอนเทนต์ออกไป คอนเทนต์นี้ฮอตขึ้นมาจริงในกลุ่มเป้าหมาย ทั้งยอดไลก์ ยอดแชร์ 

แต่…สุดท้าย ยอดขายสินค้าไม่ได้เพิ่มขึ้นขนาดนั้น

เกิดอะไรขึ้น?

ปัญหาในการคิดคอนเทนต์ ที่ไม่ตอบโจทย์อยู่ตรงไหน?

ในแคมเปญนี้ นักการตลาดสาวตั้ง “โจทย์” ของแคมเปญนี้เป็นการ “สร้าง Leads ที่ตรงกลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุด ด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด” ซึ่งการตั้ง “โจทย์” นี่ล่ะที่เป็นปัญหา

ทำไมถึงเป็นปัญหา? Leads ก็มาก กลุ่มเป้าหมายก็ตรง ต้นทุนก็ต่ำ มันก็น่าจะเพิ่มยอดขายได้ไม่ใช่หรอ?

จริงๆ แล้วก็ไม่เสมอไป

เรามาลองพลิกมุมมองกันดูนะคะ สมมติว่า เราเหลือเวลาอีกแค่ 1 เดือนในการเพิ่มยอดขาย “คอนโด” ให้ได้มากที่สุด Leads ที่เราต้องการน่าจะเป็นแบบไหน? ก็น่าจะเป็น Leads อยู่ที่ช่วงการ “ตัดสินใจ” พร้อมซื้อ พร้อมจ่าย ดูคอนโดมาแล้วหลายที่ ไม่ได้ต้องใช้เวลาสำรวจอะไรมากมาย

คำถามคือ คอนเทนต์ที่ดึงดูด Leads ประเภทนี้ จะเหมือนกับคอนเทนต์ที่ดึงดูดคนทั่วไปที่กำลังดูคอนโด แต่ยังต้องใช้เวลาตัดสินใจ รึเปล่า? ก็อาจจะไม่ เพราะการที่จะดึงดูด Leads ให้ได้มากๆ คอนเทนต์ต้องเปิดกว้างพอสำหรับกลุ่มเป้าหมายทั่วๆไป ที่มีโอกาสจะสนใจคอนโด

นั่นก็หมายความว่า การตั้งเป้าหมายว่า จะเขียนคอนเทนต์ให้ได้ Leads มาก ต้นทุนต่ำ อาจจะได้คอนเทนต์ที่ไม่ได้ “เจาะจงมากพอ” สำหรับการ “ตัดสินใจซื้อ” ในขณะเดียวกัน คอนเทนต์ที่เหมาะสำหรับการ “ตัดสินใจซื้อ” ก็อาจจะไม่ได้กว้างพอสำหรับจะดึงคนจำนวนมากให้เข้ามาสนใจได้

ในกรณีนี้ เลยทำให้แม้ว่านักการตลาดคนนี้จะได้ Leads มาก แต่ Leads ส่วนใหญ่ จะกลับมาซื้อหลังจากพ้น 1 เดือนนี้ไปแล้ว ทำให้ยอดของไตรมาสไม่เข้าเป้า

เราจะเห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในกรณีนี้ คือการ “ตั้งโจทย์ผิดมุม”

“ไอเดียว้าวขนาดไหน ถ้าตั้งโจทย์ผิดมุม ผลลัพธ์ก็ได้ไม่ตรงจุด”

พอตั้งโจทย์ผิดมุม ผลลัพธ์ก็ไม่ตรงจุด ทำให้ไอเดียที่ออกมามีความ “ฟุ้ง”

ดังนั้น ในการแก้ปัญหานี้ นักการตลาดอาจจะต้องถอยหลังซักก้าว แล้วตั้งคำถามกับตัวเองก่อนว่า

“เราตั้งโจทย์ถูกมุมแล้วหรือยัง ?”

“มันมีมุมอื่นของโจทย์ที่ตรงจุดมากกว่ารึเปล่า?” ก่อนที่จะเริ่มคิดไอเดีย



3 วิธีคิดไอเดียคอนเทนต์ยังไงให้ตรงโจทย์ ไม่ ‘ฟุ้ง’! พร้อมตัวอย่าง

แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าโจทย์นี้ดีรึยัง? 

โจทย์ที่ดี ต้องบรรลุ “ยอด” ตอบโจทย์ “Timeline” และคุ้ม “Budget” ซึ่งเราสามารถเช็กได้ 3 Steps นี้ค่ะ

STEP 1 | ถ้าเราตอบโจทย์นี้ได้ แคมเปญเราจะบรรลุ “ยอด” ที่ต้องการรึเปล่า?

STEP 2 | ถ้าจะให้ได้ผลที่ต้องการจากโจทย์นี้ เราต้องใช้ “เวลา” เท่าไร? อยู่ใน Timeline รึเปล่า?

STEP 3 | ถ้าจะให้ได้ผลที่ต้องการจากโจทย์นี้ เราต้องใช้ “ต้นทุน” เท่าไร? อยู่ใน Budget รึเปล่า?

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น เรามาดูตัวอย่างกันนะคะ


สมมติว่าพวกเราเพิ่งทำ Application หาคุณหมอออนไลน์ขึ้นมา โดยที่เราต้องการจะมีผู้ใช้งาน 100,000 คน ภายใน 3 เดือน เราจะตั้งโจทย์คอนเทนต์ยังไงดี?

แน่นอนว่าแง่ในการตั้งโจทย์คอนเทนต์มีหลายวิธี ในที่นี้ เราจะมีดูสองแง่หลักๆ กัน

แง่ที่ 1 | เขียนแบบกวาด Mass ดึงคนอ่านให้มากที่สุด ด้วยระยะเวลาที่เร็วที่สุด

เขียนคอนเทนต์ที่ดึงดูดคนจำนวนมากเปอร์เซ็นต์คนอ่านที่โหลดจริงน้อยไม่เป็นไร (ถ้าคนอ่าน 10 ล้านคน ต่อให้มีคนดาวน์โหลดแค่ 1% ก็เข้าเป้าแล้ว) เช่น คอนเทนต์ที่พูดเรื่องการออกกำลังกาย ดึงดูดคนที่สนใจด้านสุขภาพ โดยคาดว่าคอนเทนต์นี้จะโดนใจคนซักกลุ่มนึงให้เข้ามาใช้แอป

แง่ที่ 2 | เขียนแบบเจาะ Niche ดึงคนอ่านที่พร้อมโหลดแอป ด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด

เขียนคอนเทนต์ที่ตรงจุดกับคนที่ต้องการจะดาวน์โหลดจริงๆ (เช่น คอนเทนต์เหมาะกับคนแค่ 1 ล้านคน แต่อย่างน้อย 10% ต้องโหลด) เช่น คอนเทนต์ที่เจาะคนเป็นโรคเบาหวาน โดยเขียนให้เห็นว่าแอปหาหมอออนไลน์นี้มีประโยชน์ต่อคนที่เป็นเบาหวานยังไง

ตัวอย่างการเช็กไอเดียคอนเทนต์ที่จะทำ

คิดไอเดียคอนเทนต์ วิธี brainstorm

ว่าแต่…แง่ไหนน่าสนใจกว่านะ? เรามาเช็ก 3 Steps กันดีกว่า

STEP 1 | ถ้าเราตอบโจทย์นี้ได้ แคมเปญเราจะบรรลุ “ยอด” ที่ต้องการรึเปล่า?
ทั้งคู่สามารถที่จะทำให้เราบรรลุยอดที่ต้องการได้

✅ เขียนแบบกวาด Mass ดึงคนอ่านให้มากที่สุด ด้วยระยะเวลาที่เร็วที่สุด

✅ เขียนแบบเจาะ Niche ดึงคนอ่านที่พร้อมโหลดแอป ด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด

STEP 2 | ถ้าจะให้ได้ผลที่ต้องการจากโจทย์นี้ เราต้องใช้ “เวลา” เท่าไร? อยู่ใน Timeline รึเปล่า?

ในกรณีนี้ ทั้งคู่สามารถที่จะทำยอดเข้าเป้าได้ตาม Timeline ไม่ต่างกัน

✅ เขียนแบบกวาด Mass ดึงคนอ่านให้มากที่สุด ด้วยระยะเวลาที่เร็วที่สุด

✅ เขียนแบบเจาะ Niche ดึงคนอ่านที่พร้อมโหลดแอป ด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด

STEP 3 | ถ้าจะให้ได้ผลที่ต้องการจากโจทย์นี้ เราต้องใช้ “ต้นทุน” เท่าไร? อยู่ใน Budget รึเปล่า?

แต่…พอพูดถึงเรื่องงบประมาณล่ะ? สมมติว่าตอนนี้เรามีงบจำกัดมาก การที่เราจะเขียนคอนเทนต์ Mass แล้วยิงโฆษณาให้คนเห็นมหาศาล อาจจะไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีนัก

❌ เขียนแบบกวาด Mass ดึงคนอ่านให้มากที่สุด ด้วยระยะเวลาที่เร็วที่สุด

✅ เขียนแบบเจาะ Niche ดึงคนอ่านที่พร้อมโหลดแอป ด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด

เช็ก 3 Steps นี้แล้ว เราก็รู้แล้วว่าคอนเทนต์ที่เราต้องเขียน จะเป็นคอนเทนต์แบบไหน ในกรณีนี้ ด้วยความที่คนอ่านที่พร้อมโหลดแอปหาคุณหมอออนไลน์ จะเป็นกลุ่มคนที่มีความกังวลใจจากโรคบางอย่างอยู่แล้ว เช่น โรคเครียดสะสม ดังนั้น การที่เราตั้งโจทย์ว่าต้องการเขียนคอนเทนต์เจาะ Niche ดึงคนที่พร้อมโหลดแอป ก็คือการเขียนคอนเทนต์ที่เจาะประเด็นความกังวลใจเหล่านี้โดยตรงนั่นเอง

เท่านี้ เวลาที่เรา Brainstorm คิดไอเดียหัวข้อคอนเทนต์ ต่อให้ครีเอทีฟขนาดไหน ก็ไม่ฟุ้ง ไม่หลุดเป้าหมายธุรกิจที่ต้องการจะไปแล้ว


ถ้าคุณต้องการหาไอเดียธุรกิจ หรือหา insight เพื่อจับตลาดลูกค้าของคุณ เครื่องมืออย่าง Google Trend สามารถช่วยวางแผนธุรกิจ หาความนิยมของสินค้า หรือแม้กระทั่งสร้างคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ การดัน SEO ให้เว็บไซต์ Google Trends จะเป็นเครื่องมือที่ดีที่ช่วยคุณค้นหา Keywords ยอดนิยม

 

สรุป

อย่าลืมนะคะ เมื่อไรก็ตามที่เราต้องการคิดไอเดียคอนเทนต์แบบครีเอทีฟแบบไม่ฟุ้ง ให้เริ่มจากการวางโจทย์คอนเทนต์ที่ใช่ก่อน โดยโจทย์จะใช่หรือไม่ ให้เช็กง่ายๆ ที่ 3 Steps

STEP 1 | ถ้าเราตอบโจทย์นี้ได้ แคมเปญเราจะบรรลุ “ยอด” ที่ต้องการรึเปล่า?

STEP 2 | ถ้าจะให้ได้ผลที่ต้องการจากโจทย์นี้ เราต้องใช้ “เวลา” เท่าไร? อยู่ใน timeline รึเปล่า?

STEP 3 | ถ้าจะให้ได้ผลที่ต้องการจากโจทย์นี้ เราต้องใช้ “ต้นทุน” เท่าไร? อยู่ใน Budget รึเปล่า?

ตาคุณแล้ว

อยากให้ทุกคนลองคิดไอเดียกันได้เลย แต่ถ้ายัง ไม่มีปัญหา เราลองถอยกลับมาดูกันก่อนว่า มันยังมีส่วนไหนของโจทย์ที่ยัง “ไม่ตอบโจทย์” เป้าหมาย เพื่อที่จะพลิกโจทย์ไปมุมที่ใช่นั่นเอง ลองทำกันดูนะคะ

New call-to-action