การทำ Digital Marketing คือสมรภูมิของการแข่งขัน…การอัปเดตข้อมูลอยู่เสมอจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะข้อมูลของเทรนด์ Content Marketing ที่เปรียบเสมือนอาวุธคู่กายของนักการตลาดที่ควรจะลับให้คมกริบอยู่ตลอดเวลา
2020 เป็นปีที่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย เรามาดูกันดีกว่าค่ะว่า ในปี 2021 นี้จะมีเทรนด์การทำ Content Marketing ในด้านไหนที่น่าสนใจสำหรับสาย Marketing และ Production กันบ้าง
ยาวไปอยากเลือกอ่าน
7 เทรนด์ Content Marketing ที่น่าสนใจ
1. ความเร็ว อาจไม่สำคัญเท่า ความถูกต้อง/เหมาะสม
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ “ความเร็ว” ในการทำคอนเทนต์ มีส่วนช่วยเป็นอย่างมากต่อความนิยม โดยเฉพาะในคอนเทนต์ประเภท Topical Content
ทว่าสิ่งที่ค่อนข้างสังเกตเห็นได้ในปีนี้คือ ความอ่อนไหว (Sensitive) ที่มีมากขึ้นของผู้รับสาร “ทำไมถึงลงรูปแบบนี้” “ทำไมถึงเขียนแบบนี้” การ ‘แบน’ เกิดขึ้นได้ง่ายมากและเกิดขึ้นได้เร็วเพียงอึดใจเดียว เพราะคนกล้าวิจารณ์และกล้าแชร์ต่อมากขึ้น “ยุคนี้ใครๆ ก็เป็นนักข่าว”
เราจะทำยังไงให้คอนเทนต์ของเรามันโอเค ไม่สื่อสารผิด ไม่ถูกแบน กลายเป็นโจทย์ที่หลายๆ แบรนด์คำนึงถึงมากกว่าเรื่องของความเร็วเป็นสำคัญ
เมื่อไม่กี่เดือนก่อน เราได้สัมภาษณ์คุณสายใย สระกวี Head of Communications, Google Thailand
เราอยากชวนมามาย้อนรับชมในนาทีที่ 14:00 ของคลิปนี้ ซึ่งเป็นช่วงคำถามที่ชวนคุยเรื่องเทรนด์การทำ PR ในปีหน้า (รวมถึงปีต่อๆ ไป)
Digital footprint = ร่องรอยบนโลกออนไลน์ที่คนสามารถย้อนสืบประวัติของเราได้ เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะพูดหรือทำอะไรออกไปก็ควรระมัดระวังมากขึ้น เพราะแม้จะผ่านมาหลายปี คนก็อาจจะยังหาสิ่งที่เราเคยโพสต์หรือเคยถูกพูดถึงเจอได้
ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าแบรนด์จะต้องปิดกั้นและไม่กล้าแสดงออกแต่อย่างใด เพราะการแสดงออกที่ชัดเจน ก็ช่วยให้สื่อสารได้ชัดเจนและเป็นที่จดจำได้ดีขึ้น เพียงแต่ต้องระมัดระวังในการหาจุดสมดุลที่เหมาะสม อย่างน้อยที่สุดคือเพียงแค่ไม่ละเลยในเรื่องความรอบคอบ (หลายบริษัทมีคนทำคอนเทนต์ไม่มาก เลยไม่ค่อยได้มีโอกาส Double check – แต่ถ้าเป็นไปได้ควรหาโอกาสให้คนใกล้ตัวซักคนช่วยดูด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสิ่งที่ edit แก้ไขได้ไม่ง่ายนัก เช่น ไฟล์รูป / ไฟล์วิดีโอ)
2. Be Relevant & Be Useful
ถ้าคุณได้มีโอกาสรับชมวิดีโอสัมภาษณ์ใน Shifu แนะนำ หัวข้อที่แล้ว แขกรับเชิญได้พูดถึงความสำคัญของการทำตัวให้ ‘เกี่ยวข้อง’ และ ‘มีประโยชน์’ กับ Audience
ทางเราเองก็เห็นด้วยและได้เคยเขียนถึงเรื่องนี้แล้วเช่นกันในบทความเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คู่มือฝ่าวิกฤต COVID : ปรับกลยุทธ์การทำ Digital ของคุณอย่างไรดีในช่วงนี้ และขอหยิบเนื้อหาบางส่วนมาพูดถึงอีกครั้ง เพราะเป็นประเด็นที่เชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องอยู่ในปี 2021
2.1 Embrace Negativity : ในช่วงที่ผ่านมา มีปริมาณการค้นหาที่เป็น “Negative keywords” อยู่ไม่น้อย เช่น “ฉันต้องการขอ Cancel ตั๋วเที่ยวบิน” หรือ Cancel ที่พัก เป็นต้น
นักการตลาดส่วนใหญ่มักจะกลัวที่จะพูดถึงแง่มุมลบ แต่นั่นไม่ได้แปลว่าคุณจะต้องหลีกเลี่ยง Negative keywords เสมอไป คุณสามารถเลือกที่จะดึงดูดคนที่กำลังมีความกังวลสับสน และพูดคุยกับพวกเขา เป็นเพื่อนที่ทำให้พวกเขารู้สึกสบายใจมากขึ้นได้ ลองทำคอนเทนต์ที่ ‘Relevant’ และเล่าถึงมุมที่คุณสามารถตอบปัญหา/ข้อสงสัย หรือช่วยเหลือพวกเขาได้
2.2 Self Security and Mentality : อีกทิศทางนึงที่เห็นชัดขึ้นในปีที่ผ่านมาคือ คอนเทนต์ที่เป็นที่พึ่งทางจิตใจ หรือเชื่อมโยงกับอารมณ์คนได้ ค่อนข้างได้รับความนิยมในปีที่ผ่านมา
ล่าสุดก่อนจะเขียนบทความนี้ได้ไม่นานก็เพิ่งมีกระแสเพจน้องใหม่อย่าง ไดโนเศร้า ซึ่งเน้นเนื้อหาด้าน Feeling แบบเต็มๆ
3. Revise กลุ่มเป้าหมายและวิธีการสื่อสาร
รายงาน 2021 B2B Content Marketing จาก Content Marketing Institute ได้ระบุว่าในช่วง Pandemic ที่ผ่านมา สิ่งที่นักการตลาดปร้บตัวกันมากที่สุด ได้แก่
- ปรับเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมาย และกลยุทธ์ในการสื่อสาร
- ปรับแผน Editorial Calendar
- เปลี่ยนกลยุทธ์การเผยแพร่และโปรโมตคอนเทนต์
- ปรับเว็บไซต์
- ลงทุนกับ Social media และสังคมออนไลน์มากขึ้น
(ดูรายการทั้งหมดได้ที่รูปด้านล่าง)

ผู้เขียนคิดว่าอันดับหนึ่ง “ปรับเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมาย และกลยุทธ์ในการสื่อสาร” นั้นค่อนข้างน่าสนใจ เพราะเป็นทิศทางที่ไม่ใช่เห็นได้เพียงกับกลุ่มธุรกิจ B2B (ที่มาของรายงานดังกล่าว) แต่เห็นได้กับกลุ่ม B2C ด้วย
ถ้าในบริบทของประเทศไทย เคสที่เห็นมีการพูดถึงกันในปีนี้คงจะเป็นแบรนด์ ‘แม่ประนอม’ ที่ปีนี้ปรับวิธีการสื่อสารบนโลกออนไลน์อย่างเห็นได้ชัด แม้จะเป็นสินค้าที่แมส แต่กลุ่มเป้าหมายบนออนไลน์ก็ดูเจาะจงมากขึ้นไปที่กลุ่มแม่บ้านรุ่นใหม่ – หญิงสาววัยทำงาน และสื่อสาร Brand voice ในเรื่องการ Empower ผู้หญิง

จากเพจ Maepranom ณ วันที่ 12 ธันวาคม 2020
ทาง The People ได้มีบทสัมภาษณ์ทายาทรุ่นที่ 3 เกี่ยวกับการปรับ Brand image และเพิ่ม Brand awareness ใครสนใจลองดูกันได้ที่
4. เทรนด์การทำ Academy / Educational Content
ตั้งแต่ปี 2017 เราเคยเขียนไว้ว่าเทรนด์คอนเทนต์ประเภทการให้ความรู้ จะเติบโตขึ้น ซึ่งก็ได้เห็นการเติบโตตามนั้นมากขึ้นจริง จนกระทั่งปี 2020-2021 นี้ เรายังคงเห็นเทรนด์ขาขึ้นอยู่เหมือนเดิม
Educational เองก็เป็นแนวทางอย่างนึงของการทำคอนเทนต์ที่มีประโยชน์ (ที่ได้เขียนไว้ในข้อ 2) เพราะสมการ มอบความรู้ = มีประโยชน์ นั้นค่อนข้างตรงตัวอยู่แล้ว
สิ่งที่เห็นเพิ่มเติมในช่วงหลังมานี้ก็คือ การทำ Educational content นั้นค่อนข้างจริงจังมากขึ้น คือไม่ได้อยู่เพียงแค่รูปแบบของบทความให้ความรู้แล้ว แต่ได้ขยับมาสู่รูปแบบของ ‘Webinar’ รวมไปถึงการผลิตคอร์สเรียนเพื่อนำเสนอความรู้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
หลายๆ องค์กรเองก็ได้มีการก่อตั้งหน่วยงาน ‘Academy’ ของตัวเองให้เห็นกัน
Academy นั้น มีบทบาทช่วยเหลือองค์กรได้ทั้งเป็นเครื่องมือทางการตลาดในการ “หาลูกค้าใหม่” เข้ามา และรวมไปถึง “การรักษาลูกค้าเดิม” ด้วยการทำให้พวกเขาทำงานต่างๆ ที่เขาต้องการได้อย่างดีขึ้น
นอกจากจะเป็นเครื่องมือทางการตลาดแล้ว ยังเป็นช่องทางสร้าง Partnership เพิ่มเติม อีกทั้งยังรวมไปถึงเป็นช่องทางในการสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับองค์กร
ถ้าองค์กรของคุณมีความสนใจเกี่ยวกับการทำหน่วยงาน Academy ของตนเอง และกำลังมองหาพาร์ทเนอร์หรือคนให้คำปรึกษา ลองติดต่อมาคุยกับทีม Content Shifu ได้นะคะ
5. วิดีโอยังโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะ Short-form Videos
เทรนด์นี้เกิดจากการเติบโตของ TikTok ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ Short-form videos (วิดีโอสั้นๆ) เป็นที่นิยมมาก จนแพลตฟอร์มอื่นๆ อย่าง YouTube, Instagram ก็ต่างสนับสนุน Short-form videos กันมากขึ้น

- YouTube Shorts พื้นที่แสดงผลวิดีโอ Short-form ของ YouTube ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เน้นการแสดงผลบน Mobile เป็นอีกพื้นที่ที่ Creators หลายคนเริ่มใช้ และมีจำนวนผู้เข้าชมพอสมควร (ยังไม่พบข้อมูล Users/Performance ที่ชัดเจน ใครพบฝากบอกมาได้เลยนะคะ)
- Instagram Stories : อ้างอิงจาก TechCrunch, IG Stories มีผู้ใช้งานในแต่ละวันถึง 300 ล้านบัญชี นอกจากนี้ ข้อสังเกตของผู้เขียนคือ ผู้ใช้ IG นั้นค่อนข้างใช้งานอย่างเป็นประจำ (มีความถี่สูง) รวมถึงยังมี Engagement ที่ดีอีกด้วย
ล่าสุดเอง Instagram ก็โฟกัสวิดีโอมากขึ้น ไม่เจาะจงเพียงแต่รูปภาพเหมือนแต่ก่อน โดยได้เปิดตัวฟีเจอร์ Instagram Reels เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
ตอนนี้ Adopters ส่วนใหญ่จะเป็น Creators รายย่อย รูปแบบที่เห็นมากในตอนนี้คือการทำ 1 วิดีโอและนำมา Repost ในแต่ละที่ เชื่อว่าในปี 2021 จะมีแบรนด์เข้ามาเล่นในพื้นที่ส่วนนี้มากขึ้น และน่าจะได้เห็นความคิดสร้างสรรค์ที่มากขึ้นตามไปอีก
นอกจากประเด็นที่ว่าวิดีโอสั้นๆ นั้นเข้าถึงง่าย รับชมได้ง่ายและเร็วกว่าวิดีโอยาวแล้วนั้น ความสำเร็จของ TikTok ยังเกี่ยวเนื่องกับการออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้ให้ติดหนึบด้วย พวกเราได้เคยวิเคราะห์ไว้แล้วใน แกะจิตวิทยา 5 ข้อ TikTok ทำยังไงให้คนติด
6. Interactive Content
Interactive content ก็มาแรงมากๆ ในปี 2020 และน่าจะแรงขึ้นอีกในปีต่อไป
มีตัวอย่างให้เห็นตั้งแต่ covidtracker ที่เป็น Interactive tool รวบรวมข้อมูลข่าว Covid ซึ่งเน้นเรื่องการแก้ปัญหา

มาจนถึง วิชาชีวิต ซึ่งเกี่ยวข้องกับ Emotional content ที่ให้คุณได้สำรวจตัวเองตั้งแต่วัยเด็ก สองโปรเจกต์นี้เป็นเคสตัวอย่างที่ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี
สำหรับสายธุรกิจ รายงานจาก Demand Gen ระบุว่า Interactive content มีประโยชน์กับการ Educate ลูกค้า มากกว่า Static content ราว 23%
ตัวอย่างที่น่าสนใจของ Interactive content เช่น Color Palette Generator ของ Canva
ของ Content Shifu เองก็มี Website Cost Calculator ตัวช่วยประเมินราคาค่าทำเว็บไซต์

7. Webinar / Virtual Event
Gartner เปิดเผยว่า 82% ของผู้นำองค์กรมีแผนที่จะรักษานโยบาย Remote work ต่อไป ถึงแม้ว่าสถานการณ์โรคระบาดจะสงบลงแล้วก็ตาม นั่นทำให้แพลตฟอร์มออนไลน์ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น Project management tools, Video conference tools หรือเครื่องมือที่ช่วยในการทำงานต่างๆ ก็ล้วนเติบโตขึ้น
รวมถึงกลุ่มลูกค้าเองก็ตอบรับกับการติดต่อสื่อสารและเสพคอนเทนต์บนออนไลน์มากขึ้นด้วย การเติบโตของการทำไลฟ์สด การทำสัมมนาออนไลน์ (Webinar) รวมไปจนถึง Virtual Event จึงจะยังคงเติบโตต่อในปี 2021
ปีนี้บริษัทต่างๆ เองก็มีความสนใจลงทุนใน Technology / Software กันมากขึ้น ไม่ใช่เพียงเฉพาะกับเรื่องการทำ Content Marketing เท่านั้น
ใครที่สนใจ Technology / Software เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในงาน พวกเราเคยได้รีวิวและสอนใช้งานกันไปแล้วหลายตัว ติดตามเพิ่มเติมกันได้ที่หน้ารวมรีวิวซอฟต์แวร์ และ YouTube ของ Content Shifu ค่ะ
สรุป
7 ข้อที่ได้รวบรวมมานี้ ผู้เขียนได้ลองกระจายมิติในหลายๆ มุม ตั้งแต่…
- ทิศทางในระดับ Direction เช่น การ Revise กลุ่มเป้าหมายและวิธีการสื่อสาร
- ทิศทางในเชิงคุณสมบัติที่ควรโฟกัส เช่น โฟกัสที่ความถูกต้อง ความเกี่ยวข้อง ความมีประโยชน์
- ทิศทางในเชิงชิ้นคอนเทนต์ เช่น Short-form video, Interactive video และ Virtual training เป็นต้น
หวังว่าผู้อ่านของ Shifu ซึ่งมีทั้งนักทำคอนเทนต์ นักการตลาด และนักธุรกิจ จะได้รับประโยชน์ต่อมุมมองต่างๆ เหล่านี้นะคะ
ตาคุณแล้ว
7 ข้อที่เลือกมาในบทความนี้เขียนในเชิงภาพรวมที่สามารถใช้ได้กับหลายธุรกิจ ทั้งนี้ถ้าคุณทำงานอยู่ในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่เฉพาะเจาะจง อาจลองหารายงานอื่นๆ อ่านเพิ่มเติมเสริมความรู้กันได้นะคะ
ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณทำธุรกิจในสาย B2B ลองดูรายงานนี้ต่อได้ค่ะ