คอนเทนต์ อยู่รอบๆ ตัวเราเต็มไปหมด รู้ไหมคะว่า เมื่อปีค.ศ. 2011 เปิดเผยว่า มีคอนเทนต์จำนวน 27 ล้านคอนเทนต์เผยแพร่อยู่บนโลกออนไลน์ทุกวัน และปัจจุบันมีรูปภาพกว่า 3.2 ล้านถูกแชร์ออกทุกวัน และในปี 2018 เว็บไซต์ Techstartups เผยว่าในแต่ละวัน มีคนทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ถึง 456,000 ทวีตต่อนาที มีคนโพสต์รูปลง Instagram ถึง 46,740 รูปต่อนาที และ Youtube มี User ดูคลิปวิดีโอถึง 4,146,600 คลิปต่อนาที

เราจะเห็นได้ว่า ทุกวันนี้โลกออนไลน์เราเต็มไปด้วยคอนเทนต์มากมายที่เสิร์ฟให้เราอ่าน เราดูทุกวัน การที่มีข้อมูลมากมายขนาดนี้ ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Content Overload หรือ Information Overload ค่ะ ว่าแต่ Content Overload คืออะไร และส่งผลต่อชีวิตเราอย่างไร ลองตามมาดูกันเลยค่ะ

Content Overload / Information Overload คืออะไร

คอนเทนต์

ก่อนอื่นมารู้กันก่อนดีกว่าค่ะว่า Content Overload คืออะไร Content Overload ก็คือ สภาวะข้อมูลหรือคอนเทนต์ท่วมท้น ไม่ว่ามองไปทางไหนก็เจอแต่ต่อคอนเทนต์ อย่างเช่น ในโลกออนไลน์ปัจจุบันนี้ พอเราเข้าเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันต่างๆ ก็จะเห็นแต่บทความ โพสต์ของเพื่อน รวมถึงธุรกิจต่างๆ ที่ตอนนี้ก็หันกันมาสร้างคอนเทนต์กันมากขึ้น เลยทำให้ปัจจุบันนี้ เราเลยเข้าสู่ยุคที่มีคอนเทนต์อยู่บนหน้าจอสมาร์ทโฟนเต็มไปหมด

รู้ไหม Content Overload กำลังทำอะไรเราอยู่

น่าจะดีเสียอีก โลกที่เต็มไปด้วยคอนเทนต์มากมาย ทำให้เรารับรู้ข่าวสาร ข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น รวดเร็วยิ่งขึ้น แต่ในอีกมุมหนึ่งแล้ว การที่เราอยู่ท่ามกลางคอนเทนต์ที่ล้นมากเกินไปก็ส่งผลกระทบบางอย่างให้กับชีวิตเราได้เช่นกันค่ะ จากงานวิจัย Information Overload: Causes, Symptoms and Solutions ได้เผยว่า การที่เราอยู่กับคอนเทนต์มากมายอาจทำให้เกิดผลเสียบางอย่างได้ ได้แก่

คอนเทนต์

  • เกิดความเครียด
    25% ของพนักงานรู้สึกเครียดมากขึ้น เนื่องจากต้องรับสารจากข้อมูลจำนวนมาก
  • สุขภาพย่ำแย่
    36% ของพนักงานระดับผู้จัดการรายงานว่ามีสุขภาพที่แย่ลง เนื่องจากการรับข้อมูลคอนเทนต์ต่างๆ ระหว่างการทำงาน
  • รู้สึกว่าตัวเองได้รับข้อมูลที่ล้นเกินไป
    68% ของผู้จัดการในข้อที่แล้ว รู้สึกว่าตัวเองกำลังตกอยู่ในสภาวะคอนเทนต์ท่วมท้นมากเกินไป จนเกิดผลกระทบด้านลบในชีวิตส่วนตัวและความสัมพันธ์

อีกหนึ่งงานวิจัย ทำการวิจัยกับผู้จัดการจากสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฮ่องกง สิงคโปร์ และออสเตรเลีย พบว่ากว่า

  • 73% ของผู้จัดการเหล่านั้นรู้สึกต้องการข้อมูลจำนวนมากเพื่อมาใช้ในการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพ แต่พวกเขาก็รู้สึกว่า ข้อมูลที่ล้นเกินก็แอบทำร้ายพวกเขาเบาๆ อยู่เหมือนกัน ตรงที่ว่า
  • 33% รู้สึกสุขภาพแย่ลงจากการรับข้อมูลมากเกินไป
  • 66% บอกว่าเกิดความเครียดระหว่างเพื่อนร่วมงานและการจัดการพอๆ กับประสิทธิภาพงานก็ลดลงด้วยเช่นกัน
  • 62% บอกว่าสังคมและความสัมพันธ์กับคนอื่นมีความยุ่งเหยิง

อาการแบบไหนที่เรียกว่าเราเสพคอนเทนต์มากเกินไปแล้ว

  • นอนหลับยาก
  • วิตกกังวล
  • ไม่ค่อยมีสมาธิ
  • เครียด
  • ท้อแท้กับชีวิต

นี่ก็คืออาการบางส่วนที่อาจเกิดขึ้นได้กับคนที่เสพคอนเทนต์มากเกินไปค่ะ ซึ่งอาการก็จะขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าจะเป็นอย่างไร แต่อย่างน้อยถ้าคุยเจอกับอาการเหล่านี้สัก 2-3 ข้อ และมีพฤติกรรมชอบอ่านคอนเทนต์ในโลกออนไลน์ ก็เป็นไปได้ว่า นี่คือสัญญาณเตือนว่า คุณกำลังตกไปอยู่มท่ามกลางสภาวะ Content Overload เข้าให้ซะแล้ว

เราควรรับมือกับ Content Overload อย่างไร

1. ลดจำนวนคอนเทนต์ที่อ่าน

ลองคิดกันดูเล่นๆ สิคะว่า วันหนึ่งเราต้องอ่านคอนเทนต์วันละกี่คอนเทนต์ บางทีมันอาจจะมากเป็นร้อยเลยก็ได้ และที่ยิ่งกว่านั้นคือ ใน 100 คอนเทนต์อาจจะมีเรื่องซ้ำๆ กันอยู่ก็ได้ (แค่ถูกเขียนคนละเว็บไซต์) หากนี่คือพฤติกรรมที่ใช่ตัวคุณล่ะก็ ขอบอกว่า คุณกำลังตกอยู่ในสภาวะ Content Overload แล้วล่ะค่ะ วิธีการจัดการคอนเทนต์ตรงหน้าที่ล้นเกินไปก็คือ ลองลดจำนวนคอนเทนต์ที่อ่านดู พูดเหมือนง่าย แต่ทำจริงๆ ก็ยากเหมือนกัน

คอนเทนต์

เราเลยขอแนะนำตัวช่วยก็คือ แอปพลิเคชัน Nuzzel ความสามารถของแอปนี้ก็คือจะช่วยให้เราไม่ตกเทรนด์ในโลกออนไลน์ค่ะ แต่ไม่ทำให้เราต้องเสพย์คอนเทนต์มากจนเกินไป เพราะแอปนี้จะช่วยคัดเลือกคอนเทนต์ที่กำลังเป็นที่นิยม หรือมีคนติดตามมากที่สุดมาให้เราอ่าน ซึ่งเราสามารถเลือกได้ค่ะว่า จะคอนเทนต์ยอดนิยมในทุกๆ กี่ชั่วโมง ถ้าจะให้ดีหน่อยก็อาจจะเลือกเป็น 24 ชั่วโมงไปเลยค่ะ กรองคอนเทนต์เด็ดๆ ออกมาวันละครั้งพอ

2. จัดเก็บคอนเทนต์ลงใน Pocket

อีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้เราไม่ตกอยู่ในสภาวะติดอยู่กับคอนเทนต์มากเกินไปก็คือ การเซฟหรือเก็บคอนเทนต์ไว้อ่านทีหลังค่ะ วิธีการนี้จะช่วยให้เราไม่ต้องจ้องอ่านคอนเทนต์อยู่ทั้งวัน และช่วยให้เรารู้จักคัดเลือกคอนเทนต์ที่ดีเอาไว้ เพราะเราจะเริ่มรู้สึกว่า ถ้าต้องอ่านทีหลัง แต่แน่ใจด้วยว่าที่กดเซฟมาเนี่ย เราต้องอ่านหมด หลายคนคงสงสัยใช่ไหมคะว่า แล้วเราจะเซฟคอนเทนต์ยังไงดีล่ะ ถ้าจะบุ๊คมาร์คในเว็บเบราว์เซอร์ ส่งอีเมลหาตัวเอง หรือจดบันทึกในโปรแกรมก็จะไม่ค่อยสะดวกอีก

คอนเทนต์

วิธีการที่น่าสนใจก็คือ ลองใช้ตัวช่วยอย่างแอปพลิเคชั่น Pocket ค่ะแอปนี้จะช่วยบันทึกบทความที่น่าสนใจ แล้วบทความทั้งหมดก็จะลิสต์อยู่ในแอปนี้ค่ะ หรือจะดาวน์โหลดบทความเอาไว้อ่านตอนที่ไม่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตก็ได้เหมือนกันนะคะ

3. จำกัดการเข้าเว็บไซต์ให้น้อยลง

วันนี้คุณต้องเข้าเว็บไซต์กันกี่เว็บไซต์เอ่ย? ตื่นมาต้องเช็กทั้ง Facebook Twitter Instagram หรือเปล่า? ถ้าดูหมดนี่ แน่นอนค่ะว่า คุณจะต้องเจอกับคอนเทนต์จำนวนมากมายปะทะเข้าตรงหน้าเรา ดังนั้น วิธีนึงที่จะช่วยให้เราจัดการกับคอนเทนต์ที่มากล้นเกินไปก็คือ ลดจำนวนเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันที่ใช้ลดลงบ้าง อย่างเช่น จากที่เคยเข้า Social Media ทั้ง Facebook Twitter Instagram ก็ลองลดจำนวนด้วยการเล่นแค่อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น Facebook ก็พอค่ะ

4. จำกัดเวลาในการอ่านคอนเทนต์

การที่ต้องคอยมานั่งอ่านคอนเทนต์ หรือเช็กข่าวสารความเป็นไปตลอดทั้งวัน อาจเป็นการรบกวนเวลาทำงานของเราได้ค่ะ และอาจทำให้เราจมอยู่กับคอนเทนต์ต่างๆ มากมายที่อยู่ตรงหน้าเรา จนลืมตัวไปเลยว่า ยังมีงานสำคัญรออยู่นะ เพื่อไม่ให้คอนเทนต์ดูดตัวเราเข้าไป เราควรจำกัดเวลาในการเสพคอนเทนต์ค่ะ เราอาจจะกำหนดขึ้นมาเองก็ได้ว่า เราจะอ่านคอนเทนต์ในช่วงก่อนเริ่มงาน และหลังงานเสร็จเท่านั้น และใช้เวลาในการอ่านไม่เกินครึ่งชั่วโมง อย่างน้อยวิธีการนี้ก็น่าจะดีกว่า การนั่งอ่านคอนเทนต์อยู่ทั้งวันแน่ๆ ค่ะ

5. เลือกกด Subscribe คอนเทนต์คุณภาพทางอีเมล

คอนเทนต์

วิธีการนี้ก็จะช่วยให้เราไม่ต้องเจอกับคอนเทนต์มากล้นเกินไปค่ะ แทนที่เราจะนั่งไล่อ่านคอนเทนต์มากมาย จากหลากหลายเว็บไซต์ เราก็ลดปริมาณคอนเทนต์ที่จะเสพย์ลงได้ ด้วยการคัดเลือกคอนเทนต์จากเว็บไซต์ที่มีคุณภาพ คอนเทนต์ที่เราอยากอ่านจริงๆ แล้วกด Subscribe เว็บไซต์นั้น ให้เขาส่งบทความดีๆ เข้ามาทางอีเมลของเราค่ะ ทำให้เราไม่ต้องเข้าไปอ่านคอนเทนต์จากหลายๆ เว็บไซต์ หรือต้องเจอกับคอนเทนต์มากมาย ที่บางทีก็ไม่ใช่คอนเทนต์ที่เราอยากอ่าน หรือเป็นคอนเทนต์หัวข้อซ้ำๆ ที่แสนน่าเบื่อ แต่ให้อ่านเฉพาะคอนเทนต์ที่ส่งเข้ามาในเมล วิธีการนี้ก็จะช่วยให้เราไม่ต้องเจอกับคอนเทนต์ที่เยอะไปหมด แถมวิธีการนี้ยังช่วยเราคัดกรองคอนเทนต์ที่มีคุณภาพได้ด้วยนะคะ อย่างเช่น Content Shifu เราขอแนะนำให้ Subscribe ไว้ได้เลยค่ะ

สรุป

ทุกวันนี้ไม่ว่าจะท่องโลกออนไลน์ไปที่เว็บไซต์ไหน หรือแอปพลิเคชั่นไหน เราก็จะเห็นได้ว่า เต็มไปด้วยคอนเทนต์มากมาย จริงๆ แล้วมันก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีอย่างหนึ่งค่ะ ที่เราสามารถเข้าถึงหรือค้นหาข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น สะดวกสบายยิ่งขึ้น แต่ถ้าเราเสพย์คอนเทนต์อย่างไม่ถูกวิธี หรือถึงขั้นมากเกินไป ก็อาจจะทำให้เกิดผลกระทบในด้านลบได้ ดังนั้น ควรเลือกอ่านคอนเทนต์อย่างพอดี และหาวิธีรับมือกับคอนเทนต์ที่มากล้นเหล่านั้นไว้ให้ดีค่ะ

ตาคุณแล้ว

ลองเช็กกันดูว่า ทุกวันนี้เรารับข่าวสาร อ่านคอนเทนต์ตามโลกออนไลน์มากเกินขีดจำกัดหรือเปล่า สิ่งนี้ส่งผลลกระทบต่อการทำงาน หรือสุขภาพคุณหรือไม่ ถ้าใช่ก็คงถึงเวลาที่จะจัดระเบียบการเสพย์คอนเทนต์เสียแล้ว เพื่อไม่ให้ตกอยู่ในวังวนของ Content Overload หรือสภาวะคอนเทนต์ท่วมท้นชีวิตเรามากเกินไป