ถ้าคุณกดเข้ามาอ่านบทความนี้ เราคิดว่าคุณคงมีความสนใจสายงาน Digital Marketing ไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน

เมื่อดูลึกรายละเอียดของสายงานนี้ จะพบว่า นักการตลาดดิจิทัล นั้นเป็นอาชีพที่มีความต้องการจ้างงานเป็นอันดับต้นๆ ในประเทศไทย 

ข้อมูลรายงานจาก JobsDB เว็บไซต์หางานและสมัครงานชื่อดัง ได้ออกมาเปิดข้อมูล ทิศทางตลาดแรงงานหลังวิกฤตในไตรมาสที่ 1/2564 พบว่า กลุ่มสายงานที่มีจำนวนประกาศงานเติบโตขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับครึ่งปีหลังของปี 2563 ได้แก่ สายงานการตลาดและประชาสัมพันธ์ คิดเป็น 29.7% เลยทีเดียว นอกจากนี้กลุ่มสายงานขาย บริการลูกค้า และพัฒนาธุรกิจ ก็จัดเป็นกลุ่มสายงานที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด คิดเป็น 16%

จะเห็นได้ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา งานนักการตลาดดิจิทัล และ Digital Marketing มีความต้องการเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี

บทความนี้เราจะมาทำความรู้จักเจาะลึกว่า นักการตลาดดิจิทัลคืออะไร มีลักษณะงานอย่างไรบ้าง ถ้าอยากเป็น ต้องมี Hard & Soft Skill อะไร โดยแบ่งตามลักษณะงานที่ทำจริง ทั้งนี้การจัดกลุ่มสายงานในบทความนี้ อ้างอิงจากประสบการณ์ของ Content Shifu ในฐานะผู้สอน Digital Marketing ว่ามักจะมีผู้สนใจเรียนในสายไหน 

ถ้าคุณอยากรู้ว่ามีทักษะใดบ้าง มาหาคำตอบในบทความนี้ไปด้วยกันค่ะ 

นักการตลาดดิจิทัล (Digital Marketer) คืออะไร

อาชีพนักการตลาดดิจิทัล (Digital Marketer) คือ ผู้ที่ทำหน้าที่สื่อสารเรื่องราวของแบรนด์ เช่น คุณสมบัติและจุดเด่นของสินค้า รีวิว ความประทับใจลูกค้าผ่านทาง Digital Platform & Media ดังนี้

  • Social Media (Facebook , Instagram, Twitter & TikTok)
  • Search Engine (Google & Bing)
  • LINE
  • Website
  • YouTube
  • Email

ในขั้นตอนการทำงานนั้น เริ่มจากนักการตลาดดิจิทัลจะต้องวิเคราะห์ข้อมูลกลุ่มเป้าหมายอย่างละเอียด จากนั้นทำกำหนดว่า การสื่อสารแต่ละครั้งมี “เป้าหมาย” อะไร เช่น ต้องการสร้าง Brand awarness สร้างความน่าเชื่อถือให้สินค้า หรือ ปิดการขาย เมื่อกำหนดเสร็จจึงทำการสื่อสารออกไป

หลังจากสื่อสารออกไปแล้ว นักการตลาดดิจิทัลจะต้องวิเคราะห์ข้อมูลว่า ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้หรือไม่ ทำไมแคมเปญหนึ่งประสบความสำเร็จ แต่อีกแคมเปญหนึ่งไม่เหมือนที่คิดไว้ อะไรคือสิ่งที่ขาดหายไป เพื่อที่จะนำข้อมูลจริงที่เกิดขึ้น มาปรับปรุงและพัฒนาการสื่อสารในครั้งต่อไป

นักการตลาดดิจิทัล มีลักษณะงานอย่างไร (แยกตามสาย)

สายงาน Digital Advertising 


Digital Marketing ในประเทศไทยนั้น ถ้าหากบอกว่าเริ่มต้นและขับเคลื่อนมาจาก Digital Advertising หรือการลงโฆษณาเป็นสำคัญก็ไม่ผิดนัก เรามีสมาคมโฆษณาดิจิทัล (DAAT) ที่ขับเคลื่อนวงการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 

แม้ว่าปัจจุบันสมาคมโฆษณาดิจิทัลไม่ได้เน้นแค่เรื่อง Digital Advertising เท่านั้น เพราะ Digital Marketing มีมากกว่าแค่เรื่องของการโฆษณา แต่ Advertising ก็ยังมีส่วนสำคัญมากอยู่  หากดูรายงาน Digital Advertising Spending ของประเทศไทย ก็จะเห็นตัวเลขที่เติบโตขึ้นตลอดในทุกๆ ปี ไม่ว่าจะในอุตสาหกรรมรถยนต์ เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ครีมบำรุงผิว ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ก็ล้วนแล้วแต่ใช้โฆษณาในการส่งเสริมการขายหรือสร้างการรับรู้ให้ลูกค้าของพวกเขาทั้งสิ้น


จากภาพจะเห็นได้ว่าโฆษณานั้นมีหลายช่องทาง หลายรูปแบบ หลายแพลตฟอร์ม จำแนกได้ทั้งประเภทของช่องทางอย่าง Facebook หรือ LINE รูปแบบการสื่อสาร หรือรูปแบบธุรกิจ 

นั่นทำให้ผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในช่องทางหรือแพลตฟอร์มยอดนิยมต่างๆ ยังเป็นที่ต้องการ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องใช้ทุกช่องทางการโฆษณาให้ครบถ้วน หากคุณเป็น Specialist ในแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มนึง ก็มีโอกาสในสายงานแล้ว แต่ก็ต้องอย่าลืมว่าในปัจจุบันผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่แค่ในแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มนึงเพียงที่เดียว ทั้งนี้อยากให้คุณเลือกใช้ช่องทางที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายของคุณจะดีที่สุดค่ะ 

โดยนักการตลาดดิจิทัล สายงาน Digital Advertising  จะมีลักษณะงานและ Hard Skill มีดังนี้ 

  • ใช้เครื่องมือทางการตลาดของ Search Engine เช่น Google Ads เพื่อที่จะทำให้ข้อมูลของแบรนด์ปรากฏในลำดับต้นๆของผลการค้นหา
  • ใช้เครื่องมือทางการตลาดในโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook Ads, YouTube Ads, LINE Ads Platform หรือ Instagram Ads  (คุณไม่จำเป็นต้องทำการตลาดกับทุกแพลตฟอร์ม ขึ้นอยู่กับว่ากลุ่มเป้าหมายของคุณคือใคร ซึ่งจะนำมาสู่การเลือกใช้แพลตฟอร์มที่เหมาะกับธุรกิจของคุณ)
  • วัดผลลัพธ์และวิเคราะห์ข้อมูล (Data Tracking & Analytics) เนื่องจาก ‘Ad Spending’ เป็นเรื่องของการ ‘ลงเงิน’ และเกิดค่าใช้จ่ายที่จ่ายออกไป แน่นอนว่าธุรกิจต้องอยากรู้ว่าที่จ่ายออกไปนั้น ได้รับผลเป็นอย่างไร และจะปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้นได้อย่างไร และการหา Insight จากช่องทางที่คุณใช้งาน เช่น Google Analytics สำหรับวัดผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นบนเว็บไซต์ ฯลฯ
  • Creative / Content เพราะ Advertising ส่วนใหญ่ต้องอาศัยคอนเทนต์หรือความคิดสร้างสรรค์ คุณจึงมีโอกาสได้ร่วมงานกับคนสายงาน Content อยู่ตลอด (สายนี้จะพูดถึงในบทความนี้ต่อไป)

โดยอาชีพที่ต้องใช้ทักษะสำหรับสายงาน Digital Advertising ในการลงมือทำจริง ได้แก่ 

  • Media Planner
  • Media Buyer
  • Biddable Specialist 
  • Ads Specialist 

ส่วนอาชีพที่อาศัยการดูภาพรวมงานโฆษณา ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ด้าน Digital Advertising ด้วยได้แก่   

  • Social Media Marketing Specialist 
  • Strategic Planner 
  • Digital Marketer 
  • Marketing Specialist 

Shifu แนะนำ

สำหรับมือใหม่ที่ต้องการความรู้เพิ่มเติมในสาย Digital Advertising ศึกษา Tutorial ฟรีเบื้องต้นของพวกเราได้เลยที่นี่

 

 

สายงาน Search Marketing


นักการตลาดดิจิทัล สาย Search Engine Marketing หรือเรียกย่อๆ ว่าการทำ SEM นั้น เป็นอีกแขนงนึงของการทำการตลาดที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจาก Search Engine อย่างเช่น Google นั้นมีผู้ใช้งานจำนวนมาก ซึ่งรูปแบบการทำการตลาด นอกจากการใช้โฆษณาอย่าง Google Ads ที่ได้ยกตัวอย่างไปแล้ว ยังมีกลยุทธ์อีกรูปแบบที่เป็นการปรับแต่งเว็บไซต์โดยไม่เสียเงินค่าโฆษณา (Organic Search) เรียกว่าการทำ SEO (Search Engine Optimization) 

โดยรวมๆ แล้ว นักการตลาดดิจิทัล สาย Search Marketing มีลักษณะงานดังนี้ 

  • การหา Keyword หรือทำ Keyword Research
    เพราะคำค้นหา คือจุดตั้งต้นสำคัญของการตลาดรูปแบบนี้
  • ศึกษาให้เข้าใจในแพลตฟอร์ม หรือ Search Algorithm
  • ออกแบบโครงสร้างเว็บไซต์ และสร้าง Landing Page ที่มีคุณภาพ
  • การอ่านค่าและวิเคราะห์ข้อมูล เช่น Google Analytics 
  • มีความรู้เรื่อง Content เพราะท้ายสุดแล้ว เนื้อหาที่ไปปรากฏบนผลการค้นหา จะต้องน่าดึงดูดและตอบโจทย์ผู้ค้นหา

ในความเป็นจริงแล้ว ตำแหน่งงานในปัจจุบันจะไม่ค่อยพบเห็นตำแหน่ง Search Specialist ที่เก่งทั้ง SEO และ Search Ads ในตัวคนเดียว ทั้งนี้ที่เราเอามาเขียนไว้ด้วยกัน เพราะคำแนะนำของเราคือ “ควรรู้เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น” ในการจะเป็น SEO Specialist ความรู้สาย Google Ads ก็ค่อนข้างมีประโยชน์ และในการเป็น Google Ads Specialist ความรู้ด้าน SEO ก็ค่อนข้างมีประโยชน์เช่นกัน

โดยอาชีพที่ต้องใช้ทักษะสำหรับสายงาน Search Engine ได้แก่ SEO Specialist, Digital Marketer และอาชีพด้าน Digital Marketing ที่จำเป็นต้องใช้ความรู้ด้าน SEO และ SEM ในการทำให้เว็บไซต์ให้เป็นที่รู้จัก เช่น Digital Content Writer, Copywriter 


Shifu แนะนำ

เทรนด์ในการทำ SEO เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ การคอยติดตามข่าวสารเกี่ยวกับนโยบายใหม่ๆ ของ Google และอัปเดตเทรนด์ SEO จึงเป็นอีกหน้าที่ที่คนดูแลเว็บไซต์ คนทำ SEO ต้องคอยติดตามอยู่ตลอด Content Shifu มีบทความแนะนำ เทรนด์ SEO เพื่อรักษาอันดับบนหน้า Search Engine ของเว็บไซต์คุณ

 

สายงาน Content


คุณคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “Content is King”  

จากยุคก่อนที่ผู้ส่งสารมีหน้าที่กำหนดว่าผู้รับสารควรฟังอะไร แต่ในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยข้อมูลมากมาย อำนาจการเลือกสารจึงตกอยู่ในมือของผู้รับสารว่าพวกเขาสนใจเรื่องอะไรอยู่ อยากรับฟังเรื่องไหนเป็นพิเศษในช่วงเวลาใด หน้าที่ของคนทำคอนเทนต์คือการบริหารจัดการ Content ให้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้งาน ส่งผ่านสื่อที่เหมาะสม และถ่ายทอดให้กับคนที่ต้องการรับฟัง เพื่อไปสู่เป้าหมายมุ่งหวังที่ต้องการ 

การทำคอนเทนต์เลยไม่ได้มีเพียงแค่การเขียนอะไรสักอย่างให้คนอ่านเท่านั้น เพราะคอนเทนต์มีหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น Blog, Video, บทความ, โฆษณา, Search Engine และอยู่ในสื่อ (Media) อีกหลายอย่าง  แต่หมายถึงการสร้างและส่งมอบคอนเทนต์ที่มีคุณค่า ให้กับคนที่ใช่ ในที่ที่ใช่ ในเวลาที่ใช่ เพื่อผลมุ่งหวังทางธุรกิจ โดยเริ่มจากการสร้างการรับรู้ของสินค้าหรือบริการ (Awareness) กระตุ้นความสนใจให้ลูกค้าของคุณอยากรู้เพิ่มเติม (Interest) สร้างให้เกิดความรู้สึกอยากได้ (Desire) และทำให้เกิดการซื้อ (Action) สายงานด้าน Content จึงกลายเป็นที่ต้องการ  

ลักษณะงาน และ Skills สำหรับสายงาน Content ได้แก่ 

  • รวบรวมข้อมูลภาวะตลาดที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เข้าใจธุรกิจ เข้าใจลูกค้า เข้าใจเทรนด์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น
  • เรียนรู้คุณสมบัติของช่องทางออนไลน์ที่ธุรกิจนั้นๆ ใช้งาน เพื่อให้ทำคอนเทนต์ได้ตอบโจทย์กับช่องทางนั้นๆ (เช่น คอนเทนต์ที่ดีบนเว็บไซต์ กับ คอนเทนต์ที่ดีบน Social Media แต่ละเจ้านั้น มีความแตกต่างกัน)
  • Create หรือสร้างคอนเทนต์ ซึ่งอาจเป็นการเขียน การทำ Video การทำ Podcast โดยในปัจจุบันมีความต้องการผู้ที่มีความสามารถแบบ All in One สูงมากขึ้นเรื่อยๆ
  • เรียนรู้ทักษะเแกนลึกแบบ Specialist ตัวอย่างเช่น SEO Content Writing คือเน้นการเขียนเพื่อให้ติดผลการค้นหาบน Search Engine
  • มีทักษะด้านกว้างในสาย Digital Marketing เช่น การวางแผนแคมเปญ การวัดผลลัพธ์

เพราะบางครั้ง Content Creator กับ Content Marketer ก็เป็นคนเดียวกัน หรือคนละคนกัน แล้วแต่ขนาดองค์กร แต่พวกเราก็เชียร์ว่า หากสามารถฝึกฝนให้ทั้ง Create ได้ และทำ Marketing ให้ Content ต่อได้ก็ยิ่งดี

โดยอาชีพที่ต้องใช้ทักษะสำหรับสายงาน Content ได้แก่ 

  • Content Marketing Specialist 
  • Content Creator (ในบางบริษัทมีเพียงตำแหน่ง Content Marketing ซึ่งแล้วแต่ขนาดองค์กร แต่ถ้าสามารถฝึกฝนให้ทั้ง Create ได้ และทำ Marketing ให้ Content ต่อได้ก็ยิ่งดี)
  • Digital Content Writer 
  • Copywriter 
  • Video Editor

Shifu แนะนำ

สำหรับคนที่ชอบเผยแพร่ไอเดีย หรือเล่าเรื่องผ่านตัวอักษรของตัวเอง แต่อาจจะยังไม่แน่ใจว่าจะเอา ความชอบนี้มาทำเป็น ‘อาชีพนักเขียน’ จริงๆ จังๆ ดีไหม หรือยังไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มต้นสร้างรายได้จากงาน เขียนของตัวเองยังไงให้โดดเด่น เรามีคำแนะนำสำหรับคนชอบเขียนสู่นักเขียนออนไลน์มืออาชีพ ที่จะช่วยเป็น Guideline ให้กับคนที่อยากเป็นนักเขียนต่อไปค่ะ

 

สายงาน Sales / Customer Service


ถึงแม้ว่าคุณจะทำคอนเทนต์ได้ดีเยี่ยม วางแผนช่องทางการโฆษณาไว้เสร็จสรรพพร้อมใช้งาน แต่ถ้าคุณไม่สามารถปิดการขายได้ ธุรกิจของคุณอาจไม่สามารถไปต่อได้ในอนาคต ดังนั้นสายงานขายและงานบริการลูกค้าจึงเป็นอีกสายงานที่สำคัญอย่างยิ่ง 

งานด้านการขาย หรือ Sales นั้นเป็นตำแหน่งที่มีมานาน โดยเฉพาะในธุรกิจที่ไม่สามารถปิดการขายได้บนโลกออนไลน์ แต่แน่นอนว่า Sales ยุคใหม่เองก็จะต้องมีความสามารถมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า

ส่วนสายงาน Customer Service เป็นอีกสายงานที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะเกือบทุกธุรกิจจำเป็นต้องมีการบริการลูกค้า ไม่ว่าคุณจะเป็นธุรกิจแบบ B2B หรือ B2C คุณก็จะต้องคุยกับลูกค้าผ่านช่องทางต่างๆ เช่น Chat, Email หรือการโทรถาม และเป็นหนึ่งในการทำ Customer Experience หากสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าได้ ก็จะทำให้ลูกค้าของคุณเกิดความประทับใจและกลายเป็นลูกค้าผู้ชื่นชอบแบรนด์ (Promoter) ที่จะช่วยดึงลูกค้าใหม่ๆ ให้กับคุณในอนาคต   

ส่วนใหญ่แล้วสายงาน Sales / Customer Service จะใช้ Soft Skills เป็นหลัก เช่น ทักษะการติดต่อสื่อสาร (Communication) ทักษะการบริหารเวลา (Time Management) ทักษะการนำเสนอ (Presentation) แต่ในปัจจุบันการมี Hard Skills หรือใช้เทคโนโลยีในการขายและการบริหารลูกค้าก็จะช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

ลักษณะงานและ Hard Skills ที่แนะนำสำหรับสายงาน Sales / Customer Service 

  • มีความรู้เรื่อง CRM (Customer Relationship Management) โดยการใช้ซอฟต์แวร์สำหรับการทำ CRM โดยเฉพาะ เพื่อจัดการข้อมูลลูกค้า และนำไปสู่การปิดการขายอย่างรวดเร็ว 
  • ทำ Email Marketing เพื่อการติดต่อสื่อสารทางธุรกิจ และวิเคราะห์ข้อมูลที่เกิดขึ้น เช่น อัตราการเปิดอ่านอีเมล จำนวนผู้ติดตาม 
  • ความรู้ด้าน Digital Marketing เพื่อทำงานร่วมกับสายงาน Content, Digital Advertising, Search Marketing เพราะคุณจะต้องดูว่ายอดขายที่สามารถทำได้สมเหตุสมผลกับการลงโฆษณา หรือการทำการส่งเสริมการตลาดหรือไม่ แล้วควรแก้ไขด้วยวิธีใด (เช่น เพิ่มการลงคอนเทนต์ เน้นลงโฆษณาในช่องทางใดช่องทางหนึ่ง เป็นต้น) 

โดยอาชีพที่ต้องใช้ทักษะสำหรับสายงาน Sales ได้แก่

  • Account Executive (AE)
  • Account Manager (AM) 
  • Sales Executive 
  • Customer Service 

Shifu แนะนำ

การขายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจของคุณเติบโต หากคุณสนใจยกระดับการขายของคุณให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น คุณสามารถเรียนรู้ เทคนิคการขาย ช่วยให้ขายดีกว่าเดิม ผ่านการใช้เครื่องมือดิจิทัล เพื่อช่วยในการบริหารงานและจัดการธุรกิจของคุณอย่างง่ายดาย 

 

สายงาน Generalist


ถ้าพูดถึงสายงานด้าน Generalist หลายคนคงนึกถึง ‘การเป็นเป็ด’ ที่รู้ทุกอย่าง แต่ไม่ได้เชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษ แต่ถ้าคุณจะก้าวสู่สายงานนี้ คุณจะต้องไม่ใช่เป็ดธรรมดาที่รู้กว้างๆ แต่คุณต้องเปลี่ยนตัวเองเป็น ‘สุดยอดเป็ด’ ที่รู้และเข้าใจในงานของตัวเองเป็นอย่างดี นำความรู้ที่มีไปประยุกต์ใช้ได้ และสามารถแนะนำสายงานอื่นๆ อย่าง Content, Search Engine หรือ Sales ได้ว่า ควรแก้ตรงไหน พัฒนาจุดไหนได้ เพื่อให้ธุรกิจเติบโต 

สายงานด้าน Generalist จึงเป็นสายงานที่เน้นรู้กว้าง มีความรู้ความเข้าใจในธุรกิจและแผนการตลาดเป็นอย่างดี มักได้รับบทบาทเป็นสายนักวางแผนและใช้ Soft Skills เป็นหลัก เช่น ทักษะการสื่อสาร ทักษะการวางแผนโครงการ ทักษะการเจรจาต่อรอง ทักษะการจัดการกับความเสี่ยง แต่การมี Hard Skills โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีก็เป็นเรื่องจำเป็นเช่นกัน ในส่วนงานด้าน Generalist จะเป็นงานที่เน้นการแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้า วางแผนกลยุทธ์ และมองหาช่องทางการตลาดใหม่ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ธุรกิจในอนาคต 

Skills ที่จำเป็นสำหรับสายงาน Generalist

  • ทักษะด้านการวางแผน และการ Research 
  • ทักษะทางด้าน Project Management เพื่อให้แต่ละฝ่ายสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างง่ายดายและราบรื่น
  • ความเข้าใจในธุรกิจ และการสร้างรายงาน การติดตามวัดผล
  • ความรู้ด้าน Digital Marketing เพื่อทำงานร่วมกับฝ่ายอื่นๆ ที่กล่าวไว้ในบทความทั้งหมด เพราะคุณมีหน้าที่มองภาพรวมของธุรกิจและวางแผนกลยุทธ์ คุณจึงจำเป็นต้องรู้ว่าแต่ละฝ่ายทำงานอย่างไร เพื่อนำไปวางกลยุทธ์ได้ถูกต้องและทำให้ธุรกิจเติบโต  

โดยอาชีพที่ต้องใช้ทักษะสำหรับสายงาน Generalist ได้แก่

  • Business Development 
  • Project Manager 
  • Strategic Planner

Shifu แนะนำ

ความสามารถในการค้นคว้าข้อมูล และสร้าง Dashboard ข้อมูลเอง ก็เป็นที่ต้องการเป็นอย่างมาก และในโครงการขนาดเล็ก อาจไม่มีคนในตำแหน่ง Data Analyst โดยตรง จึงเป็นอีกทักษะที่ Generalist ควรมี เราขอแนะนำซอฟต์แวร์ในสาย Business Analytics ยอดนิยมให้คุณได้ลองศึกษาเพิ่มเติม

 

อยากเป็นนักการตลาดดิจิทัล ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร

1. ชื่นชอบเทคโนโลยี

คุณสมบัติข้อแรกของนักการตลาดดิจิทัล คือ หลงไหลสนใจในโลกดิจิทัลและชอบใช้ชีวิตกับเทคโนโลยี เช่น ติดตามข่าวเกี่ยวเทคโนโลยีใหม่อยู่ตลอด  ชอบทดลองใช้แอพพลิเคชั่นใหม่ๆ  คุ้นเคยและรู้ข้อดีข้อเสียของ Social Platform ที่คนในสังคมนิยมใช้

ข้อดีของการเป็นคนที่สนใจ Digital Technology จะช่วยให้เข้าใจว่า คนในสังคมที่ใช้ Social Platform หรือ แอพพลิเคชั่น นั่น มีพฤติกรรมอย่างไร สิ่งใดดึงดูดให้ใช้งาน อะไรคือปัญหาและความไม่สะดวกที่ต้องเจอ ข้อมูลเหล่านี้ จะช่วยให้นักการตลาดดิจิทัล สามารถสื่อสารการตลาดไปยังกลุ่มผู้ใช้งานเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. รักการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

โลกของ Digital Marketing  สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงคือ ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอด ในแต่ละปีจะมีแพลตฟอร์มใหม่เกิดขึ้น Social Media อาจเปลี่ยนแปลงการแสดงผล ซอฟต์แวร์การตลาดออกฟีเจอร์ใหม่ อุปกรณ์ไอทีจำหน่ายสินค้าที่ไม่เคยมีในตลาดมาก่อน

นักการตลาดดิจิทัลจึงควรมีนิสัยกระหายใคร่รู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา  เพราะจะได้ปรับข้อมูลให้สอดคล้องกับภาวะตลาดที่ไม่หยุดนิ่ง มิเช่นนั้นแล้ว หากยังยิดติดกับความรู้เก่าๆ เดิมๆ  อาจส่งผลให้ตกยุค และพลาดโอกาสธุรกิจดีๆที่จะเกิดในอนาคตได้

3. ชอบวิเคราะห์

หนึ่งในคุณสมบัติที่นักการตลาดควรมี คือ รักการวิเคราะห์  อันหมายถึง เมื่อพบเห็นสิ่งใด ก็ชอบตั้งคำถามว่า ผลที่เกิดขึ้น มีเหตุจากสิ่งใด อะไรคือปัจจัยให้สิ่งนี้ไม่เกิด เมื่อบางสิ่งเกิดแล้วจะส่งผลอะไรในอนาคต

เหตุที่ควรมีนิสัยข้างต้นเพราะ  เนื้องานที่นักการตลาดต้องทำอยู่บ่อยๆคือ การวิเคราะห์ข้อมูล ตัวอย่างเช่น ต้อง วิเคราะห์อัตราการคลิ๊กชมโฆษณาบนเฟสบุ๊คว่า ทำไมจึงได้ผลลัพธ์เท่านี้ อะไรคือเหตุและปัจจัยให้คนคลิ๊ก เป็นต้น

นิสัยการชอบวิเคราะห์จะช่วยให้ทราบเหตุในการการกระทำของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ทำการตลาดให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีต่อไป

4. มีความคิดสร้างสรรค์

ปัจจุบัน ธุรกิจ Digital Marketing มีลักษณะตลาดเป็นแบบ monopolistic competition นั่นคือ มีบริษัทจำหน่ายสินค้าและบริการใหม่ๆเกิดขึ้นตลอดเวลา คู่แข่งใหม่สามารถจะเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดได้อย่างเสรี ส่งผลธุรกิจ Digital Marketing มีการแข่งขันที่สูงมาก

ด้วยภาวะการแข่งขันที่ดุเดือด นักการตลาดดิจิทัลจึงต้องคิดวิธีสื่อสารการตลาดรูปแบบใหม่ ที่ “แตกต่างและดีกว่าเดิม” อยู่เสมอ อันจะเป็นจุดขายให้องค์กรคุณมีความน่าสนใจและโดดเด่นเหนือกว่าคู่แข่ง นั่นทำให้ “การมีความคิดสร้างสรรค์” เป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่ขาดไม่ได้

5. ทำงานเป็นทีม

หากคุณชอบพะปะผู้คน เอ็นจอยชีวิตสังคม นักการตลาดดิจิทัลคืออาชีพที่เหมาะกับคุณสุดๆ เพราะเป็นอาชีพที่ต้องปฏิสัมพันธ์กับบุคคลหลากหลาย “เช่น พูดคุยกับลูกค้า ประสานงานกับทีมคอนเทนต์ บรีพรายละเอียดภาพกับกราฟฟิกดีไซน์

ลักษณะงานข้างต้น คนที่จะทำงานได้ดีจึงต้องมีนิสัย  ทำงานเป็นทีม  นั่นคือ สามารถพูดคุย ปฏิสัมพันธ์ ทำงานร่วมกับคนรอบข้างได้อย่างไหลลื่น เปิดใจรับฟังความเห็นต่าง หากโครงการที่ทำอยู่เกิดปัญหา แม้สาเหตุจะไม่ได้เกิดจากส่วนที่ตัวเองรับผิดชอบโดยตรง ก็พร้อมที่จะช่วยเหลือเพื่อนร่วมงาน เพื่อผลักดันโครงการให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย

สรุป

และนี่คือทักษะที่จำเป็นต้องมีหากคุณต้องการเริ่มต้นสายงาน Digital Marketing แยกตามสายงานทั้งหมด 5 สาย ได้แก่ Digital Advertising, Search Engine, Content, Sales/Customer Service และ Generalist

คุณจะพบว่า ถึงแม้แต่ละสายจะระบุไว้ว่าเป็นสายงานไหนอย่างชัดเจน แต่ในส่วนของ Hard Skills นั้นไม่ได้มีแค่ทักษะด้านความเชี่ยวชาญของสายงานนั้นอย่างเดียว 

ยกตัวอย่างเช่น หากคุณอยู่ในสายงาน Digital Advertising นอกจากที่คุณจะต้องรู้เรื่องการทำโฆษณาในแต่ละแพลตฟอร์มแล้ว คุณยังต้องรู้จักการวิเคราะห์ข้อมูล (Analytics) เพื่อทำการตลาดครั้งต่อไปให้ดียิ่งขึ้น และความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบงานโฆษณาเพื่อทำงานร่วมกับฝ่าย Content 

หรือแม้กระทั่งสายงาน Content ก็ไม่ได้มีเพียงแค่การเขียนคอนเทนต์เท่านั้น แต่ยังต้องรู้เรื่องการทำ SEO เพื่อเขียนบทความให้ติดอันดับ และต้องเข้าใจแต่ละสื่อเหมือนกับสายงาน Digital Advertising อีกด้วย 

หลังจากอ่านบทความนี้จบแล้ว เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะเป็นแนวทางที่ดีในการเริ่มต้นพัฒนาทักษะเพื่อก้าวสู่สายงาน Digital Marketing นะคะ  

แนะนำเพิ่มเติม: วิธีก้าวเข้าสู่สายงาน

นอกจากนี้ความเข้าใจเรื่องงานและทักษะแล้ว เราอยากแนะนำวิดีโอนี้ที่จะช่วยให้คำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับคนที่อยากสมัครงานหรืออยากย้ายเข้าสู่สายงานนี้

ตาคุณแล้ว

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่อยากเพิ่มพูนทักษะด้าน Digital Marketing ในแต่ละสายที่เราได้แนะนำไป คุณสามารถพัฒนาทักษะ เพิ่มความรู้เพื่อก้าวสู่สายงานด้าน Digital Marketing คุณสามารถศึกษารายละเอียดคอร์สของ Content Shifu ซึ่งแยกทักษะแต่ละสายไว้เรียบร้อยแล้วได้ที่นี่