เทรนด์การตลาดออนไลน์ปี 2023

พอมีคำว่าเทรนด์แล้ว คนอาจจะคาดหวังว่าจะได้เห็นอะไรที่มันแปลกใหม่ เป็นกระแส ที่ต้องขี่ตามไปให้เร็ว ไม่อย่างนั้นจะตกขบวน

ซึ่งมันก็จริงส่วนหนึ่ง…

แต่ผมอยากจะเน้นย้ำตั้งแต่ตอนเปิดบทความนี้เลยว่า “การตลาดออนไลน์” เป็นส่วนหนึ่งของ “การตลาด” ซึ่งเป็นเรื่องของการทำความเข้าใจคน ทำความเข้าใจลูกค้า และนำเสนอสิ่งที่ลูกค้าต้องการ (หรือในบางครั้ง… สิ่งที่พวกเขาคิดว่าพวกเขาต้องการ)

สิ่งที่ผมอยากจะสื่อคือ ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน เทรนด์ใหม่ๆ จะมาอีกกี่เทรนด์ ความรู้ความเข้าใจพื้นฐานก็ยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็น

เทรนด์เป็นสิ่งที่อ่านให้รู้ เอาไว้เป็นวัตถุดิบเพิ่มเติมใส่หัวสมอง ใช้เป็นข้อมูลเพื่อส่งเสริมการทำการตลาด ไม่ใช่เป็นวัตถุดิบหลักในการทำการตลาด เพราะไม่อย่างนั้น เมื่อไหร่ที่เทรนด์นั้นๆ หมดกระแสไป คุณเองก็อาจจะตกกระแสตาม

สิ่งที่ผมจะแชร์ในบทความนี้ บางเรื่องก็เป็นเรื่องใหม่ล่าสุดที่ได้ข้อมูลมาจากปี 2022 บางเรื่องเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงกันมาหลายปีแล้ว แต่ก็ยังคงเป็นเรื่องที่มีเทรนด์ขาขึ้นอยู่

ผมขอหยิบเอาเทรนด์มาเล่าผ่านหัวข้อสำคัญ 6 หัวข้อที่ทุกคนที่ทำการตลาดออนไลน์ควรรู้นะครับ เทรนด์ต่างๆ ที่เอามาเล่า ไม่ได้เรียงตามอันดับหรือเป็นขั้นเป็นตอนเพราะทุกอย่างล้วนแล้วแต่เชื่อมโยงกันหมด

เทรนด์ 6 อย่างนี้ได้แก่ Digital Strategy, Martech, Digital Advertising, Data, Content Marketing และ Social Media นะครับ

เนื้อหาที่เอามาแชร์ มีทั้งอันที่เอา Data มา Backup และมีทั้งอันที่เป็นความเห็นของผม เพราะฉะนั้นอ่านแล้วอย่าเชื่อทั้งหมด ต้องเอาไปศึกษา และเอาไปคิดวิเคราะห์ต่อนะครับ

เอาล่ะ ถ้าพร้อมแล้ว มาดูเทรนด์การตลาดออนไลน์สำหรับปี 2023 กันเลยครับ!

ยาวไปอยากเลือกอ่าน

1. เทรนด์เกี่ยวกับ Digital Strategy

Leaders ในองค์กรให้ความสำคัญเรื่องอะไร?

Gartner ซึ่งเป็นบริษัท Research และบริษัท Consult เรื่อง Technology ชั้นนำของโลกได้ทำ Survey Chief Marketing Offers จำนวนกว่า 400 คน แล้วจัดทำรีพอร์ตชื่อว่า “The State of Marketing Budget and Strategy 2022” ขึ้นมา ซึ่งมีเรื่องน่าสนใจหลายอย่าง

* สถิตินี้เป็นสถิติแบบ Global (ทั้งนี้ผมคิดว่าคนทำ Survey น่าจะ Base ที่ US เป็นหลัก) ข้อมูลส่วนนี้ดูเป็น Guideline ได้ แต่อาจจะไม่ตรงกับของบ้านเรา 100% ครับ

1. งบประมาณสำหรับการทำการตลาดต่อรายได้ขององค์กรต่างๆ ต่างปรับตัวขึ้นมาในปี 2022

ถึงแม้ว่างบประมาณจะไม่ได้ไต่ขึ้นไปสูงเท่ากับช่วงก่อน COVID-19 แต่จากรูปก็เห็นได้ชัดเจนว่าการทำการตลาดต่างๆ เริ่มจะกลับมา ซึ่งผมคิดว่าเรื่องนี้ก็สื่อถึงความมั่นใจของธุรกิจต่างๆ ด้วยเช่นเดียวกันว่าโลกของเรากำลังจะก้าวข้าม COVID-19 ไปแล้ว

2. งบประมาณส่วนใหญ่ถูกโยกไปให้กับ Paid Channels มากกว่า โดยที่ Social Advertising (เช่น Facebook Ads) รั้งอันดับ 1 และ Search Advertising (เช่น Google Ads) มาเป็นอันดับ 2 สำหรับ Unpaid Channels คนให้ความสำคัญกับ SEO มากที่สุด รองลงมาก็จะเป็น Email Marketing และ Content & Messaging

3. ถ้าพูดถึงเรื่อง Campaign/Program บริษัทต่างๆ มุ่งโฟกัสไปที่ Campaign Creation & Management และ Brand Strategy & Activation ซึ่งในความเห็นของผม เรื่องการให้ความสำคัญกับ Campaign Creation & Management นั้นเป็นเรื่องปกติ

แต่ในส่วนของ Brand Strategy & Activation ที่ตามมาเป็นอันดับ 2 นั้นเป็นสิ่งที่น่าสนใจที่แสดงให้เห็นว่าบริษัทต่างๆ เริ่มให้ความสำคัญกับการลงทุนในแบรนด์มากขึ้น ซึ่งการลงทุนในลักษณะนี้อาจจะจับต้องได้ยากในระยะเวลาอันสั้น แต่หลายๆ บริษัท หลายๆ ธุรกิจก็พิสูจน์มาแล้วว่าเป็นการลงทุนที่ดีในระยะยาว

2. เทรนด์เกี่ยวกับ Martech

ผมได้มีโอกาสไปแชร์เกี่ยวกับอนาคตของ Martech ที่งาน DAAT Day 2022 (Digital Advertising Association Thailand) ในช่วง Q4 ของปี 2022 ซึ่งผมขอเอาเรื่องที่ผมคิดว่าสำคัญสำหรับปี 2023 มาแชร์ในนี้นะครับ

หมวดหมู่ของ Martech ที่ได้รับความสนใจมากที่สุด

รูปภาพจาก MarTech Alliance’s Martech Stats and Trends for 2022

จาก Martech Stats & Trends for 2022 ของ MarTech Alliance ที่ได้ทำการ Survey CMO & Management Level ในเอเจนซี่ แบรนด์ที่กำลังเติบโต และแบรนด์ขนาดใหญ่ กว่า 200 คน พบว่าหมวดหมู่ของ Martech ที่คนเหล่านี้สนใจที่จะใช้ในปีหน้ามากที่สุดคือเรื่องของ Data (เช่นพวก CDP, DMP หรือ CRM) และรองลงมาคือหมวดหมู่ Management เช่นพวก Project Management (อย่าง Asana) หรือ Collaboration Tools (อย่าง Slack)

Martech Tools ต่างๆ จะมีความกระจัดกระจายมากขึ้น

รูปทางด้านบนจาก Chiefmartec เป็นรูป Martech ประเภทต่างๆ ที่แบ่งออกเป็นหมวดหมู่ย่อยอีกมากมาย จนผมต้องพูดแบบติดตลกทุกคร้ังที่มีโอกาสไปแชร์เรื่อง Martech ว่า “จักรวาล Marvel ว่ากว้างแล้ว จักรวาล Martech กว้างกว่ามาก”

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อน Martech Provider นั้นมีให้เลือกเพียงแค่หลักร้อยตัว แต่ข้อมูลในปัจจุบันจาก Statista ได้บอกไว้ว่ามี Martech Provider เกือบๆ 10,000 ราย (ซึ่งในความคิดเห็นของผม ถ้านับรวมรายที่ไม่ได้ถูก Track ด้วย น่าจะมีเกิน 10,000 รายไปมาก)

เพราะฉะนั้นภายใต้หมวดหมู่ย่อยๆ ของ Martech ก็จะถูกแตกย่อยลงไปอีก ตัวอย่างเช่นเวลาจะหา Solution เรื่อง CRM (Customer Relationship Management) ผู้หา Martech Solutions ก็ต้องเจาะลึกลงไปอีกว่าอยากได้แบบ B2B หรือ B2C หรือต้องการหา Martech เฉพาะสำหรับอุตสาหกรรมไหน

มันไม่มี One-size-fits-all Solution อีกแล้ว


Essential Martech : รู้ก่อน รุ่งก่อน ติดปีกให้ธุรกิจด้วยความรู้ Martech

ตะลุยจักรวาล Martech แบบเจาะลึกพร้อมรู้จักกลยุทธ์ 4P Framework ในการเลือกใช้เครื่องมือ Martech ให้เหมาะกับธุรกิจของคุณแบบจัดเต็ม

คลิกเลย 👇👇👇

 

Martech กับการทำ Marketing Transformation

ในความเห็นของผม การจะทำ Marketing หรือ Digital Transformation นั้นประกอบไปด้วย 1. แผนที่ดี 2. คนที่ใช่ และ 3. เทคโนโลยีที่เหมาะสม

ซึ่ง Martech ตกอยู่ในหมวดหมู่ “เทคโนโลยีที่เหมาะสม” ครับ

การจะทำ Transformation ให้เกิดขึ้นได้สำเร็จนั้น หนึ่งในเรื่องแรกๆ เกี่ยวกับ Martech ที่องค์กรต้องทำให้ได้คือทำให้การส่งต่อข้อมูลไร้รอยต่อมากที่สุด

Solution ที่จะมีความสำคัญมากขึ้นได้แก่ Solution ประเภท Business Automation ซึ่งผมขอแบ่งเป็น 1. One-way push และ 2. Two-way sync

ตัวอย่าง Solution ที่เป็น One-way Push เช่น Zapier ที่ช่วยให้คุณสามารถส่งข้อมูลจาก Martech ตัวหนึ่งไปยังอีกตัวหนึ่งได้แบบอัตโนมัติ โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องเขียน Code เพื่อเชื่อมต่อ เช่น มีคนกรอกฟอร์มผ่านหน้าเว็บไซต์แล้ว ข้อมูลจะถูกส่งไปยัง CRM ทันที (ถ้าต้อง Export/Import เป็นรายวัน ก็ไม่ทันใช้พอดี)

ตัวอย่าง Solution ที่เป็น Two-way Sync เช่น HubSpot Operations Hub ที่ช่วยให้คุณเชี่อมฐานข้อมูล Martech ต่างๆ เข้าด้วยกันได้ และเหมือนกับ Zapier คือ คุณไม่จำเป็นต้องเขียน Code เช่นมีคนทำการยื่นคำขอแก้ไขอีเมลผ่านเว็บไซต์ อีเมลใหม่ก็จะถูกอัปเดตในที่อื่นๆ ของแบรนด์ด้วย (เช่นในระบบ Financial, ระบบ App, ระบบ CRM และที่อื่นๆ)


ในปีนี้ทาง Content Shifu ได้ร่วมมือกับทาง Hummingbirds Consulting ได้ร่วมมือกันเพื่อจัดทำ Martech Report 2023 อยู่ และได้มีการทำแบบสำรวจกับ Marketers และ Decision Makers หลายๆ ท่าน เดี๋ยวผลจะออกมาช่วงประมาณ Q1/2023 เดี๋ยวผมจะเอาเนื้อหามาอัปเดตให้นะครับ

 

3. เทรนด์เกี่ยวกับ Digital Advertising

ข้อมูลตรงส่วนนี้เป็นข้อมูลที่ผมได้มาจาก Thailand Digital Advertising Spend 2022 จากทาง DAAT นะครับ ผมต้องขอบคุณทางสมาคมสำหรับข้อมูลส่วนนี้ด้วยครับ

Digital Spending ของประเทศไทยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สถิติจาก DAAT (ในตอนที่ประกาศสถิตินี้คือช่วงตุลาคม 2022) ได้คาดการณ์ไว้ว่า Digital Spending ในปี 2022 ประเทศไทยจะขึ้นไปแตะ 26 ล้านบาท ซึ่งถึงแม้ว่าการเติบโตของปี 2022 (เมื่อเทียบกับปี 2021) จะไม่เท่ากับการเติบโตของปี 2021 (เมื่อเทียบกับปี 2020) ซึ่งอาจจะมาจากภาวะเงินเฟ้อ แต่ก็ถือว่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์

จากรูปทางด้านบน ผมพอจะสรุปได้ว่า ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น Digital Spending ก็ยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะตอนนี้ทั้งอุตสาหกรรมกำลังอยู่ในช่วงที่เติบโต

หมวดหมู่ที่มีการเติบโตในการซื้อโฆษณาเยอะที่สุด

หมวดหมู่ที่มีการซื้อโฆษณาเยอะที่สุดตลอดระยะเวลา 3 ปี ที่ผ่านมายังคงเป็น Motor Vehicles, Non-Alcoholic Beverages ตามลำดับ

สำหรับอุตสาหกรรมที่มียอดการใช้จ่ายที่เติบโตสูงที่สุดในปีที่ผ่านมาคือ Real Estate & Vitamins & Supplementary Foods

Emerging Ads Platforms

ในปี 2021 Facebook ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Meta พร้อมกับปรับโฟกัสของตัวเองให้ไปโฟกัสที่ Metaverse (โลกเสมือน) มากขึ้น ซึ่งนี่อาจจะเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเดิมของพวกเขาที่เกี่ยวข้องกับโฆษณาทำยอดได้ไม่ดีเท่าเคย จนส่งผลให้เกิดการ Layoff จำนวนมหาศาลขึ้นในปลายปีที่ผ่านมา

ในขณะที่ Meta (Facebook) สะดุด แพลตฟอร์มน้องใหม่อย่าง TikTok และแพลตฟอร์มสื่อสารหลักของคนไทยอย่าง LINE ต่างวิ่งไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก DAAT ที่ผมอยากเอามาโชว์ให้ดูคือเอเจนซี่ต่างๆ ในไทยต่างบอกไว้ว่า TikTok เป็น Media อันแรกที่พวกเขาวางแผนว่าจะใช้ (กับลูกค้า) ในอนาคต (ถ้าเทียบกับปี 2021 ที่ TikTok เป็นอันดับ 7 แล้ว ถือว่า TikTok เป็น Platform ที่มาแรงมากๆ) ซึ่งในความคิดเห็นของผม เอเจนซี่เองก็ถือเป็นกระบอกเสียงให้กับแบรนด์และธุรกิจต่างๆ เหมือนกัน

4. เทรนด์เกี่ยวกับ Data

ยุคแห่งความเป็นส่วนตัวของข้อมูล

กลางปี 2022 เป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data Protection Act หรือที่รู้จักกันในชื่อ PDPA) นอกจากนั้นแล้วเทรนด์ของโลกเองก็มุ่งมาสู่ทางนี้เช่นเดียวกัน ดังที่จะเห็นได้จาก Research ของ Gartner ที่บอกว่า ภายในปี 2023 ข้อมูลส่วนตัวของคน 65% ของคนบนโลกใบนี้จะถูกกำกับภายใต้กฏเกณฑ์เกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวที่ทันกับสมัย ทันกับสถานการณ์

ซึ่งเรื่องนี้ ส่งผลโดยตรงกับธุรกิจในเรื่องการเอาข้อมูลของลูกค้ามาใช้

ที่ส่งผลกระทบที่สุดก็คงจะเป็นการใช้งาน Third Party Data เช่นข้อมูล Facebook Pixels ที่จะมีความแม่นยำน้อยลง (เพราะ Facebook เองก็เก็บและแชร์ Data ได้น้อยลง)

เพราะฉะนั้น ในปีถัดๆ ไป First-party Data (เช่นข้อมูลอีเมล หรือเบอร์โทร) จะยิ่งมีความสำคัญ (อ่านเพิ่มเติม: เก็บก่อน รอดก่อน! 10 ไอเดียในการเก็บ First-party Data จากลูกค้า)

Data จะทำให้การทำ Personalization ดีขึ้น

ต่อมาจากหัวข้อที่แล้ว คือใครที่มี First-party Data รวมไปถึง Zero-party Data (ข้อมูลเกี่ยวกับความชอบหรือความสนใจที่ลูกค้าตั้งใจแชร์มาให้) จะสามารถทำการตลาดแบบเฉพาะบุคคล (Personalization) ได้ดียิ่งขึ้น ผ่านการทำการตลาดแบบอัตโนมัติ (Marketing Automation)


ดาวน์โหลด eBook Marketing Automation เพื่อศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่

 

ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของ GA

Google Analytics (Universal Analytics) ที่นักการตลาดแสนจะคุ้นหน้าค่าตามานานกำลังจะถูกยกเลิกและถูกแทนที่ด้วย Google Analytics 4 (GA4) ในวันที่ 1 กรกฏาคม 2023

ซึ่งตัว GA4 กับ GA เวอร์ชันก่อนนั้นมีวิธีการประมวลผลของข้อมูลแตกต่างกัน รวมไปถึงหน้าตาการใช้งาน (User Interface) ก็ต่างกันด้วย

การเรียนรู้ GA4 ซึ่งเป็นระบบ Analytics ตัวใหม่ของ Google อาจจะมี Learning Curve ที่สูงเหมือนตอนที่คุณเริ่มต้นศึกษา Google Analytics ใหม่ๆ แต่ถ้าเว็บไซต์คือส่วนสำคัญในการทำการตลาดของคุณ GA4 ก็เหมือนกับ Thanos ในหนังของ Marvel ที่เป็นชะตากรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จะช้าเร็วยังไงก็ต้องศึกษาครับ

อ่านเพิ่มเติม: Google Analytics คืออะไร? พาอ่านเมนูต่างๆ ใน GA4 ตัวใหม่ที่ต้องรู้

ใครที่ไม่มีข้อมูล และไม่รู้จักทำการตลาดแบบ Personalized จะทำการตลาดให้โดนใจลูกค้าได้ยาก และมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

5. เทรนด์เกี่ยวกับ Content Marketing

เทรนด์การทำคอนเทนต์ที่มาแรง

HubSpot ได้ทำการสำรวจนักการตลาดทั่วโลกมากกว่า 1,600 คน และเผยแพร่ State of Inbound Marketing Trends 2022 ออกมา ซึ่งหนึ่งในหัวข้อหลักที่มีการพูดถึงคือ Content Marketing Trends

จากแบบสำรวจพบว่าเทรนด์การทำคอนเทนต์ที่นักการตลาดคิดว่ามาแรงคือ

1. Interactive Content เช่นพวกแบบสอบถาม ควิซ เกม หรือการใช้ AR/VR (Augmented Reality/Virtual Reality) เข้ามาช่วย

* ดูข้อมูลเกี่ยวกับ AR/VR ได้ในบทความ Metaverse บทความนี้

2. Authentic/”Behind the scenes” content เช่นพวกคอนเทนต์เบื้องหลังของการทำงานต่างๆ

ตัวอย่าง เช่น การที่เว็บไซต์ต่างๆ เอาเรื่องที่เป็นกระแสอย่างเรื่อง “คนธรรมดา” ของห่านคู่ เอามาตีประเด็นต่อ (ลองไป Search คำว่า คนธรรมดา ห่านคู่ จะเห็นคอนเทนต์ที่แบรนด์และสื่อต่างๆ มากมาย)

ฟอร์แมตการทำคอนเทนต์ที่มาแรง

Report ของ HubSpot ชุดเดิมได้บอกว่า Video จะเป็นฟอร์แมตของคอนเทนต์ที่นักการตลาดจะนิยมใช้มากที่สุด

ในช่วง Q3/2022 ผมได้มีโอกาสไปงาน YouTube Brandcast มา ในงานมีการแชร์ตัวเลขต่างๆ ที่น่าสนใจที่ YouTube ทำการสำรวจมา เช่น ผลสำรวจที่ให้ข้อมูลว่าคนไทยกว่า 75% บอกว่า YouTube = TV ไปแล้วเมื่อพวกเขาดู YouTube ผ่าน TV

ในตัวงานยังมีการแชร์เทรนด์ของการทำ Creative Content 3 แบบด้วยซึ่งคือ

1. Community Creativity: คอนเทนต์ที่ตรงกับความสนใจเฉพาะกลุ่ม ยิ่ง Niche ยิ่งดี

2. Responsive Creativity: คอนเทนต์พักใจ มาเสพในวันที่เหนื่อยล้า ทำให้คนรู้สึกเหมือนเพื่อน

3. Multi-format Creativity: คอนเทนต์ที่ผสมผสานหลากหลายฟอร์แมต

มาในฝั่งของ TikTok ที่จัดงาน TikTok Talk 2022 Outlook ไปในช่วง Q1/2022 ที่ผ่านมา ซึ่งทาง TikTok เองก็ได้บอกว่าเทรนด์การทำคอนเทนต์มาแรงจะมีอยู่ 3 อย่างคือ

1. Authentic and Positive Vibe: เป็นตัวของตัวเองและให้พลังงานบวก

2. Sound-on: ใช้เสียงมามีส่วนร่วมในคอนเทนต์

3. Live-streaming: การไลฟ์สด

โดยสรุปตรงส่วนนี้คือ ในปี 2023 คอนเทนต์แบบวิดีโอ โดยเฉพาะวิดีโอสั้น ก็ยังคงอยู่ในช่วงขาขึ้นอยู่ ถ้าแบรนด์ไหนหรือ Creator คนไหน ไม่ได้มาขี่กระแสนี้ ก็อาจจะพลาดโอกาสดีๆ หลายๆ อย่างไป

อีเวนต์กลับมาแล้ว

ข้อมูลจาก Gartner เองได้บอกว่าการทำอีเวนต์กลับมาแล้ว เพราะงบการตลาดต่างๆ นั้นถูกจัดสรรมาให้กับการทำ Event Marketing เยอะกว่าเรื่องอื่นๆ

ทั้งนี้ จากที่ผมได้มีโอกาสไปร่วมงาน Conference รวมไปถึงจัดงาน Seminar & Webinar เองในหลายๆ อัน ผมพบว่าการใช้คำว่า “กลับมา” ก็อาจจะไม่ถูกเท่าไหร่ เพราะการจัดงานอีเวนต์ไม่ได้กลับไปเหมือนในยุคก่อน COVID อีกแล้ว

โดยที่ผมพบว่าเทรนด์การทำ Event Marketing ที่มาแรงคือการจัดงานแบบ Hybrid คือมีทั้งออนไลน์และออฟไลน์ผสมกัน

ดังจะเห็นได้จากงาน Conference ดังๆ ในไทยเช่น Creative Talk Conference 2022 หรือ Digital SME Conference 2022 ที่มีทั้งงานแบบ On Ground & Online รวมไปถึงมีวิดีโอให้ไปรับชมย้อนหลังต่อ

รวมไปถึง Platform การขายตั๋วต่างๆ อย่างเช่น Eventpop หรือ Zipevent ก็เริ่มเปิดให้บริการเกี่ยวกับการทำ Virtual Event & Live Streaming แล้วด้วยเช่นเดียวกัน

6. Social Media Marketing

ยุคทองของ Creators/Influencers

ในปีหน้า การแข่งขันของ Social Media Platform ต่างๆ ในการแย่งเวลาคนดูและ Creators/Influencers จะยิ่งทวีความดุเดือดมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตัว TikTok เองที่เป็น Rising Star แบบสุดๆ ตัว YouTube ที่ขยันปล่อยฟีเจอร์และแนวทางใหม่ๆ ในการร่วมมือกับ Creators หรือตัว Facebook เองที่ก็ต้องหาวิธีการมาแก้เกม

อำนาจในมือเลยตกอยู่ในมือของ Creators/Influencers มากๆ

icreator con 2022

ผมพึ่งได้มีโอกาสพูดคุยกับพี่เอ็ม ผู้จัดงาน iCreator Conference 2022 ไป ซึ่งพี่เขาก็ได้ให้ทรรศนะไว้อย่างน่าสนใจว่าปีหน้า จะเป็นปีทองของ Creators ต่างๆ อย่างแท้จริง

นอกจากการได้นั่งคุยกันผ่าน Live แล้ว ผมเองก็ยังได้มีโอกาสไปงาน iCreator Conference 2022 และงาน Thailand Influencer Awards 2022 ที่จัดโดย Tellscore แล้วก็พบว่าวงการ Creators/Influencers มีความคึกคักเป็นอย่างมาก

ใครที่อยากเป็น Creators/Influencers ไม่มีช่วงเวลาไหนที่จะเหมาะสมไปกว่านี้แล้ว

ในมุมของแบรนด์เองเช่นกัน ถ้าร่วมมือกับ Creators/Influencers ดีๆ ผลลัพธ์ทางธุรกิจที่จะตามมาก็จะมหาศาลเช่นเดียวกัน

คนจะหันมาทำ Shoppable Livestreaming มากขึ้น

Shoppable Livestreaming หรืออธิบายเป็นภาษาไทยง่ายๆ ว่า “ไลฟ์สด ขายของ” จะเป็นสิ่งที่คนหันมาทำกันมากขึ้น ไม่ใช่แค่พ่อค้า แม่ค้าออนไลน์ แต่รวมไปถึงดารา และแบรนด์ด้วยเช่นเดียวกัน

ถึงแม้ว่า Platform ยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook จะปิดตัวฟีเจอร์ Live Shopping ไปในวันที่ 1 ตุลาคม 2022 เพราะในภาพรวมระดับ Global ฟีเจอร์นี้อาจจะไม่เวิร์ค

แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้กระแสการ Live สดขายของบน Facebook, TikTok และแพลตฟอร์ม Social Media ต่างๆ ลดลงเลย (ถึงฟีเจอร์จะหายไป แต่คนไทยอย่างเรา ถ้าจะใช้ ก็จะหาวิธีการที่สุดสร้างสรรค์เพื่อทำให้การไลฟ์ขายของมันใช้ได้เอง)

ปัจจุบันมีเครื่องมือต่างๆ ที่ช่วยจัดการเรื่องการไลฟ์ไปด้วย ขายของไปด้วยมากมาย (เช่น Kaojao ที่ Content Shifu เคยรีวิวไว้) แค่คุณมีกล้องและมีสินค้า คุณก็สามารถเริ่มต้นไลฟ์ขายของได้แล้ว

สำหรับการไลฟ์นั้น ตัวอย่างของการขาย Consumer Products เช่นอาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้า นั้นมีที่ดีๆ ค่อนข้างเยอะ นอกจากนั้นแล้วก็เริ่มมีตัวอย่างของสินค้าประเภท High-involvement (สินค้าที่ต้องใช้เวลาในการพิจารณาและตัดสินใจ) เช่นรถยนต์ ที่เริ่มมีการขายผ่าน Live ด้วยเช่นเดียวกัน

สรุป: เทรนด์การตลาดออนไลน์ปี 2023

และนี่คือการวิเคราะห์เทรนด์การทำการตลาดออนไลน์ทั้ง 6 เรื่องนะครับ

หมวดหมู่เหล่านี้ (Digital Strategy, Martech, Digital Advertising, Data, Content Marketing และ Social Media) เป็นหมวดหมู่สำคัญที่ทุกคนควรจะต้องรู้เพื่อที่จะทำการตลาดออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพอยู่แล้ว เรื่องต่างๆ ที่ผมเขียนแชร์เกี่ยวกับเทรนด์ของปี 2023 เป็นสิ่งที่คุณควรรู้ไว้และปรับตัวตาม แต่อย่าลืมทำเรื่องพื้นฐานต่างๆ ให้ดีด้วยนะครับ

สุดท้าย หวังว่าบทความเทรนด์การตลอดออนไลน์ 2023 นี้จะเป็นประโยชน์ และเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้การทำการตลาดออนไลน์ของคุณในปีหน้าสำเร็จตามที่คุณตั้งเป้าไว้นะครับ

ตาคุณแล้ว

คุณมีอะไรที่อยากแนะนำผมและผู้อ่านคนอื่นๆ เพิ่มเติมเกี่ยวกับเทรนด์การตลาดออนไลน์สำหรับปี 2023 บ้างไหมครับ?

มาคุยกันต่อได้ในคอมเมนต์เลยครับ!