เมื่อวันเสาร์ที่ 27 มกราคม 2018 ที่ผ่านมา ทีมงาน Content Shifu มีโอกาสได้ไปเข้าร่วมในงาน Creative Talk Conference 2018 ทั้งในฐานะผู้เข้าร่วมงาน และในฐานะสปีกเกอร์ ที่นั่นเรายังได้พบกับสปีกเกอร์ที่น่าสนใจมากมาย
Content Shifu เราจึงทำบทความนี้ขึ้นมาเพื่อสรุปเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับ Digital Marketing ในงานนี้ ประกอบไปด้วยหัวข้อเหล่านี้ ได้แก่
- Panel: Digital Marketing บน Main Stage ซึ่งมี
- คุณตูน – สุธีรพันธ์ สักรวัตร, EVP Head of Marketing จาก SCB Thailand
- คุณบอย – อภิศิลป์ ตรุงกานนท์, Co-founder และ CTO จาก Pantip.com
- Panel: What’s Next in Social Contents? กับสปีกเกอร์ 4 ท่าน อย่าง
- คุณเหว่ง – ภูศณัฐ์ การุณวงศ์วัฒน์, เจ้าของเพจ “เทพลีลา”
- คุณอาย – ทิตยา เฮงนุกูล, เจ้าของเพจ “เรียนเหอะ อยากสอน”
- คุณจิ๊บ – สุรศักดิ์ เหลืองอุษากุล, Founder และ Strategic Planning Director จาก BrandBaker
- คุณจ๊อบ – ปิยนันต์ ชวเลขยางกูร, Managing Director จาก DooTV Media (Thai LiveStream)
- Debate ในหัวข้อ Digital Marketing ทำเอง หรือ จ้าง Agency?
- คุณสา – ธมลวรรณ เอกบัณฑิต, เจ้าของเพจ Doctor Diamond
- คุณอาร์ต – ไกรวิน วัฒนะรัตน์, Co-founder และ CEO จาก AHEAD.ASIA และ เจ้าของเพจเกิน 8 บรรทัด
- คุณจิ๊บ – สุรศักดิ์ เหลืองอุษากุล, Founder และ Strategic Planning Director จาก BrandBaker
- คุณเบิ้ล – ณรงค์ยศ มหิทธิวาณิชชา, Co-founder และ Managing Partner จาก The Flight 19
- Keynote: Micro Influencer 2018 Trends
- คุณปู – สุวิตา จรัญวงศ์, CEO จาก Redlab และ Co-founder จาก Tellscore
- Keynote: ทำอย่างไร เมื่อ Facebook ลด Reach โดยแบงค์และอร จาก Content Shifu
รวมเนื้อหาทั้งหมด 5 หัวข้อ จาก 12 สปีกเกอร์ ซึ่งแตกออกเป็นประเด็นน่าสนใจได้ 10 ข้อ สรุปได้ดังนี้
ยาวไปอยากเลือกอ่าน
- การทำ Digital Marketing ในปีนี้ มีอะไรที่น่าสนใจบ้าง
- 1. มี Community เป็นของตัวเอง
- 2. หาแนวทางการทำ Video content
- 3. กระจายสัดส่วนลักษณะคอนเทนต์ที่หลากหลาย
- 4. ข่าวสารอัลกอริทึมคือเรื่องสำคัญ
- 5. “อย่าวางไข่ในตะกร้าใบเดียว”
- 6. ใช้เครื่องมือทำ Marketing Funnel ให้ครบ
- 7. ใช้ Influencer ตามจุดประสงค์
- 8. Digital Marketing ทำเอง หรือ จ้าง Agency?
- 9. เข้าใจลูกค้า และอย่าลืมรักษาตัวตน
- 10. First Principle Thinking
- สรุป
- ตาคุณแล้ว
การทำ Digital Marketing ในปีนี้ มีอะไรที่น่าสนใจบ้าง
1. มี Community เป็นของตัวเอง
ประเด็นที่ Facebook ได้มีประกาศเรื่องเน้นให้ความสำคัญ Friends, Family และ ‘Group’ นั้น ทำให้หลายๆ คน กำลังให้ความสนใจกับ Group เป็นอย่างมาก
Facebook Group เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่ทำได้ คุณตูนระบุว่า ‘แบรนด์ควรมี Community ของตัวเอง’ เพราะใน Community นี้แบรนด์สามารถช่วยรักษาลูกค้าประจำของแบรนด์ได้ เช่น ถ้าแบรนด์มีสินค้าใหม่ อาจจะนำเสนอสินค้าให้กลุ่มผู้ใช้งานกลุ่มนี้ก่อน พร้อมมอบส่วนลด แล้วลูกค้ากลุ่มนี้อาจจะมีการบอกต่อเพื่อนของเขาอีกที
2. หาแนวทางการทำ Video content
บนพาเนล What’s Next for Social Contents สปีกเกอร์ต่างมีความเห็นว่า Format รูปแบบวิดีโอที่เราเคยคุยกัน คือสิ่งที่น่าสนใจและจากประสบการณ์ของพวกเขาพบว่าให้ผลดี
แต่ละท่านต่างฝากคำแนะนำที่แตกต่างกัน อย่างคุณอาย จากเพจ ‘เรียนเหอะ อยากสอน’ มีเทคนิคส่วนตัวคือ ‘ก-ข-ค’ ซึ่งย่อมาจาก ‘กระชับ เข้าถึงง่าย และครอบคลุม’
- กระชับ – คลิปที่ตัดต่อขึ้นมา ต้องกระชับ ทำให้เขาไม่มีเวลาเบื่อ
- เข้าถึงง่าย – โดยตัวคุณอายไม่ได้วาง Position ตัวเองว่าเป็นคุณครู แต่วาง Position ตัวเองว่าเป็นเพียงผู้หญิงคนนึงที่อยากสอน
- ครอบคลุม – ต้องครอบคลุมเนื้อหาในเรื่องนั้นๆ สามารถแก้ปัญหาเรื่องนั้นให้คนดูจบได้ในคลิปเดียว
สำหรับเทพลีลาของคุณเหว่งเอง เน้นคอนเซปต์การเอาเรื่องที่สะกิดใจคนดูมาขยายความให้ใหญ่ขึ้น และอาจจะเน้นในความบันเทิง ซึ่งอาจจะมีสาระหรือไม่มีสาระก็ได้ แต่คนดูต้องได้สิ่งเตือนใจกลับไป
ส่วนของคุณจ๊อบที่อยู่ในฐานะเบื้องหลังทำเกี่ยวกับเรื่อง Live video ก็แนะนำว่าเราอาจจะต้องตั้งเป้าหมายของการทำ Live ว่าต้องการสื่อถึงใคร ต้องการผลลัพธ์ยังไง แล้วต้องมีทริคหรือเทคนิค เพื่อเรียกคนเข้ามาดู Live ในตอนนั้น
สำหรับคนที่อยู่ในฐานะทำ Agency อย่างคุณจิ๊บ ก็มองว่าอาจจะต้องมองจากผู้บริโภคก่อนว่าเราต้องการให้เกิดอะไรขึ้นกับใจเขาเช่น ตื่นตาตื่นใจ ตกใจ ซึ้งใจ เข้าใจ เปลี่ยนใจ แล้วในส่วนของการทำคอนเทนต์ถ้าเราอยากให้ใจของเขารับฟังแบรนด์ของเรา แต่แบรนด์ต้องได้รับประโยชน์ด้วย อาจจะต้องคิดในเรื่องของ
- อยากขายอะไร
- Consumer สนใจอะไร เขาถึงจะฟัง เขาถึงจะสนใจที่สิ่งที่แบรนด์อยากขาย
- สังคมกำลังสนใจอะไร หากดึงความสนใจที่เป็นประเด็นของสังคมได้ จะทำให้เกิดการกระจายเนื้อหาของแบรนด์ได้มากยิ่งขึ้น
3. กระจายสัดส่วนลักษณะคอนเทนต์ที่หลากหลาย
ต่อเนื่องจากข้อสอง สปีกเกอร์ยังคุยกันถึงเรื่องการกระจายลักษณะที่หลากหลาย เช่นหากเป็นวิดีโอ อาจจะสามารถทำเป็นทั้ง Short video, Live video หรือวิดีโอแบบ 3 มิติก็ได้ ในส่วนคำแนะนำที่เพิ่มเติมจากคุณจิ๊บคือ เราอาจจะต้องเลือกคอนเทนต์ที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้บริโภคในช่วงเวลาต่างๆ ซึ่งก็จะมี รูปแบบคอนเทนต์อยู่ 3 ประเภท โดยแบ่งสัดส่วนดังนี้
- On the go ตอนเดินทาง: อาจจะมีเวลาเพียงแค่ 2-3 นาที ซึ่งการเสพคอนเทนต์ต้องเป็นแบบ Short form (โดยคำแนะนำคือ ทำในสัดส่วนอยู่ที่ 70%)
- Lean forward ถ้าระหว่างรอ: อาจจะรอแบบตอนแฟนช็อปปิ้ง ผู้บริโภคอาจจะมีเวลาประมาณ 5-10 นาที (โดยคำแนะนำคือ ทำในสัดส่วนอยู่ที่ 20%)
- Long form เป็นคอนเทนต์ที่สามารถดูได้ยาวๆ เพราะอาจจะอยู่ในช่วงที่อยู่บ้าน (โดยคำแนะนำคือสัดส่วนอยู่ที่ 10%)
4. ข่าวสารอัลกอริทึมคือเรื่องสำคัญ
สำหรับข้อ 4-6 นี้จะเน้นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับ Keynote ของ ‘ทำอย่างไร เมื่อ Facebook ลด Reach’ ซึ่งเป็นหัวข้อของพวกเรา Content Shifu
หนึ่งในเนื้อหาที่เราหยิบไปสนทนาด้วย คือ ‘ความเข้าใจผิดของคนส่วนใหญ่เรื่องเทคนิคการปั้น Engagement’ หากเรามีความเข้าใจแต่เพียงผิวเผินว่า ‘ต้องสร้าง Engagement ให้ได้มากๆ’ เราอาจทำผิดวิธีและเป็นวิธีที่แพลตฟอร์มไม่ได้สนับสนุนให้ทำก็ได้ เช่น ล่าสุด Facebook มีประกาศไม่สนับสนุนการทำ Engagement Bait หากเราไม่ศึกษาประกาศเรื่องการอัปเดตอัลกอริทึม เราอาจไม่ทราบเรื่องนี้ และทำวิธีที่ผิดก็ได้
ใครสนใจอ่านเพิ่มเติมว่า Facebook มีปรับอัลกอริทึมอะไรบ้างที่เจ้าของเพจควรทราบ อ่านต่อได้ที่บทความสรุป 7 อัลกอริทึมเฟสบุ๊ค (Facebook Algorithm) เฟสบุ๊คชอบ หรือลงโทษเพจแบบไหนบ้าง
5. “อย่าวางไข่ในตะกร้าใบเดียว”
บนพาเนล Digital Marketing ช่วงเช้า คุณตูนและคุณบอยมีสิ่งที่ทั้งสองเห็นพ้องต้องกันคือเรื่อง “อย่าวางไข่ในตะกร้าใบเดียว” ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกันกับพวกเรา Content Shifu
ตัวอย่างจาก Pantip เองแม้ Traffic จาก Facebook มีการลดลง แต่ Traffic จากทาง Search ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (เช่นเดียวกับ contentshifu.com) คุณบอยกล่าวว่า สิ่งที่ทางแบรนด์ควรหันมาเริ่มทำคือควรมีแพลตฟอร์มที่เป็น Owned media ของตัวเอง ซึ่งเมื่อแบรนด์มีคอนเทนต์เป็น Asset ของตัวเองนั้น แบรนด์สามารถวางแผนเพื่อเอาคอนเทนต์นี้ไปกระจายอยู่ในช่องทาง Media ไหนก็ได้
ส่วนใน Keynote ของ ‘ทำอย่างไร เมื่อ Facebook ลด Reach’ ของเรา Content Shifu เราได้ลงรายละเอียดเกี่ยวกับทางเลือกต่างๆ นอกจาก Facebook Page ว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง, บริหารจัดการอย่างไร และมีเครื่องมืออะไรน่าสนใจบ้าง
6. ใช้เครื่องมือทำ Marketing Funnel ให้ครบ
ถึงแม้เราจะมองว่าแพลตฟอร์ม Social Media เป็นเพียงบ้านเช่า และค่อนข้างเชียร์ให้มีเว็บไซต์เป็นของตัวเอ อย่างไรก็ตามเรามองว่า Social Media ก็ยังคงเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มากๆ หากเรามองมันเป็น Technology ที่ครบครัน ไม่ใช่เพียงแค่แหล่งปล่อยคอนเทนต์
หากได้ศึกษาฟีเจอร์ต่างๆ โปรดักส์ต่างๆ ของ Facebook เอง ก็จะพบว่ามันมีฟีเจอร์ออกใหม่ และตัวช่วยที่ Advanced ขึ้นเกิดขึ้นมามากมาย เทคนิคที่เคยเท่มากๆ อย่าง Facebook Remarketing ก็จะเริ่มเป็นเรื่อเบสิก และเทคนิคที่ Adcanced กว่าเข้ามา ซึ่งสามารถประกอบร่างเข้ากับ Marketing Funnel ได้ในหลากหลายสเตจ ไม่เพียงแค่ขั้น Awareness อย่างเดียวเท่านั้น
7. ใช้ Influencer ตามจุดประสงค์
คุณตูนเกริ่นบน Panel ไว้ เรื่องการใช้ Influencer เพื่อผลิตคอนเทนต์ให้แบรนด์ โดยมองเทรนด์ในปีนี้ว่าตัวแบรนด์ต้องมองหา Influencer ที่ตรงกับ Product ของแบรนด์จริงๆ หรือ influencer ที่เข้าใจและมีการใช้ Product ของแบรนด์ ไม่ใช่พรีเซ็นเตอร์ที่มาโฆษณาสินค้า
ในส่วนของคุณปู กับ Keynote ในหัวข้อ Micro Influencer Trends 2018 นั้น อธิบายเพิ่มเติมโดยโชว์ภาพจากสไลด์ดังภาพ
Macro influencer (เซเลป) และ Micro influencer อาจจะมีบทบาทต่อแบรนด์ที่ต่างกันออกไป อย่างหน้าที่ของ Macro influencer คือการเข้าถึง (Reach) กลุ่ม Consumer ให้ได้มากที่สุด ส่วนกลุ่ม Micro influencer อาจจะช่วยในเรื่องการเข้าถึงกลุ่มคนที่เล็กกว่า อาจจะมีโอกาสในการ Convert การซื้อของที่สูงกว่า เพราะ Influencer กลุ่มนี้ เองจะพูดถึงใน Facts และสื่อถึงความจริงใจออกมาได้ดีกว่า ซึ่งอาจจะมีอิทธิพลต่อความคิด การตัดสินใจซื้อสินค้าต่อกลุ่ม Consumer ที่ติดตามเขา
8. Digital Marketing ทำเอง หรือ จ้าง Agency?
จากมุมมองของสปีกเกอร์ทั้งสี่ท่านที่ได้มีโอกาสมา Debate บนเวที อย่างคุณอาร์ตและคุณสา ที่อยู่ในฝั่ง “Digital marketing ทำเอง” มีมุมมองที่ว่าบางครั้ง Agency อาจจะไม่ค่อยเข้าใจ Product ได้ดีเท่ากับตัวแบรนด์เอง และฝั่งแบรนด์เองมีงบประมาณจำกัด อีกทั้งแบรนด์ยังสามารถทำ Programmatic มี Content และ Tool รวมถึง ยังเข้าใจ Product ของตัวแบรนด์ของตัวเองได้ดีกว่า Agency
ในส่วนของฝั่งคุณจิ๊บและคุณเบิ้ลที่เป็นฝ่ายค้าน มองว่าการจ้าง Agency ดีกว่า โดยมีมุมมองที่ว่าแบรนด์ควรเอาเวลาไปทำสิ่งที่ถนัด หากไม่ถนัดในการทำ Digital marketing ก็ควรจ้าง Agency เพื่อลดต้นทุน ลดเวลา ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาให้กับแบรนด์ อีกทั้ง Agency ก็ยังมีประสบการณ์และความ Creative ที่มากกว่า “จงใช้เงินของคุณในสิ่งที่เงินสามารถซื้อได้ แต่ใช้เวลาในสิ่งที่เงิน เท่าไหร่ไม่สามารถซื้อได้”
สุดท้ายคุณอาร์ตได้สรุปบทสรุป Debate นี้ได้อย่างน่าประทับใจว่า ตอนนี้โลกกำลังเปลี่ยนไป แต่เราจะทำยังไงให้ธุรกิจของแต่ละฝ่ายอยู่รอด เราต้องหาวิธีทำงานร่วมกัน ไม่ใช่ทำงานเป็นแค่ตัวกลาง เราต้องทำงานในลักษณะเป็น Partner มากกว่านายจ้าง กับลูกจ้าง คำตอบไม่ใช่ควรจ้างหรือไม่จ้าง Agency แต่เมื่อยุคที่ Agency, Publisher และแบรนด์ต้องปรับตัว เราจะเปิดพื้นที่อย่างไร เพื่อทำงานร่วมกันมากกว่า
9. เข้าใจลูกค้า และอย่าลืมรักษาตัวตน
การ Tie-in หรือโฆษณาแบบตรงๆ แบบไหนที่เรียกว่าเวิร์ก?
บทสนทนาในพาเนล What’s Next for Social Contents โดยอันดับแรกอาจจะต้องดูลักษณะของเพจก่อน ว่าเหมาะสม และตรงกับTtarget ของสินค้าไหม อย่างคุณเหว่งเองทำทั้งเพจ Little Monster และ เทพลีลา ซึ่งทั้งสองเพจนี้คุณเหว่งเองมี Position ที่ต่างกันคือ เพจนึงในฐานะพ่อของลูก ส่วนอีกเพจนึงคือเป็นผู้ชาย ขายความสนุก ความเฮฮา
บางครั้งการขายตรงๆ สำหรับ Product บางอัน ก็เวิร์กกว่าการ Tie in แบบเนียนๆ ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่มีสูตรตายตัว ขึ้นอยู่กับว่าลูกค้าตอนนั้นต้องการอะไร สินค้าเป็นอะไร เราอาจจะต้องทำการวัดผลและดูว่าอันไหนเวิร์กหรือไม่เวิร์ก
ก่อนจบ Session นี้สิ่งที่สปีกเกอร์แต่ละคนฝากไว้ทิ้งท้ายคือ ถ้าเป็นในฐานะคนที่ผลิตคอนเทนต์ เราต้องคงคอนเซปต์เพจของเราเอาไว้ และตัวตนของเพจจะต้องไม่เปลี่ยน ส่วนในฐานะ Agency เองก็ต้องรู้ให้รอบและรู้ให้เยอะ ต้องตามให้ทันตลอดเวลา และในฐานะของคนทำ Live คือต้องมีความสม่ำเสมอในการทำงานออกมา
10. First Principle Thinking
โลกเรามีความเปลี่ยนแปลงไวมาก คุณตูนได้ฝากข้อคิดทิ้งท้ายใน Panel ของตน โดยให้คอมเมนต์ว่า การที่เราจะพยายามแก้ไขปัญหาต่างๆ (เช่น Facebook ลด Reach) เราควรเปลี่ยนวิธีคิดที่จะแก้ปัญหาซะก่อน โดยพูดถึงวิธีการคิดแบบ “First Principle Thinking” คือเป็นวิธีคิดแก้ปัญหาที่กลับไปเริ่มคิดจากจุดตั้งต้นใหม่ ซึ่งจะช่วยทำให้เราสามารถคิดแก้ปัญหาได้ดียิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงจุดยืนของตนอย่างเข้มแข็ง
สรุป
บทความนี้สรุปแนวคิด 10 ข้อ ที่คุณควรศึกษาเพิ่มเติมต่อ เพื่อหาแนวทางในการทำ Digital Marketing ในปีนี้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เราได้พูดคุยในเนื้อหาต่างๆ สรุปได้ดังนี้
- มองเรื่องการสร้าง Community กับกลุ่มลูกค้า
- หาจุดแข็งและแนวทางการทำ Video content ของตนเอง (โดยอาจอ้างอิงวิถีของสปีกเกอร์)
- ใช้สูตร 70-20-10 ทำสัดส่วนคอนเทนต์ที่เหมาะแก่การบริโภค
- ข่าวสารเรื่องอัลกอริทึมคือเรื่องสำคัญ
- อย่าวางไข่ในตะกร้าใบเดียว
- ใช้ Facebook เป็นเครื่องมือทำ Marketing Funnel ให้ครบ (ดีกว่า Awareness อย่างเดียว)
- ใช้ Influencer Marketing ให้ตรงเป้าหมาย
- หาสัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างทำเอง จ้างทำ และการสร้างพาร์ทเนอร์ชิปในการทำงาน
- หารายได้แต่ไม่ลืมรักษาตัวตน
- เมื่อเวลาที่หลงทาง ให้นึกถึง “First Principle Thinking”
ตาคุณแล้ว
หวังว่าบทความนี้จะช่วยพาคุณมาค้นหาไอเดียใหม่ๆ และเลือก Action ที่จะทำต่อในปีนี้
สำหรับคนที่สนใจเนื้อหาเพิ่มเติมในหมวดหมู่อื่นๆ นอกจาก Digital Marketing หรือต้องการรับฟังการบรรยายในงานแบบย้อนหลัง สามารถติดตามดูย้อนหลังได้ที่ YouTube Channel ของ Creative Talk Live
ใครมีความคิดเห็นหรือไอเดียอะไร สามารถมาพูดคุยกับเรากันได้เลยค่ะ
บทความนี้เป็น Co-Creation ร่วมกันระหว่าง Content Shifu และคุณวาสิตา รัตนมโนชัย