เชื่อว่าในหมู่คนไทยที่ติดตามความรู้ด้านธุรกิจ การบริหารงาน การพัฒนาตัวเอง หากถามว่าติดตามคอนเทนต์จากไหนกัน “8 บรรทัดครึ่ง” คงเป็นหนึ่งในคำตอบของใครหลายคน

เพจและพอดแคสต์ของ 8 บรรทัดครึ่ง ก่อตั้งโดย คุณต้อง กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร จากการที่ชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับธุรกิจ การพัฒนาตัวเอง รวมไปถึงเรื่องนวัตกรรมซึ่งเป็นความรู้ในสายงาน (หมวกอีกใบของคุณต้องในตอนนี้ คือ หัวหน้าทีมนวัตกรรม SCB 10X) แล้วนำมาสรุปแบ่งปันง่ายๆ บนเพจ 

เอกลักษณ์สำคัญของเพจ คือ การเล่าทุกอย่างง่ายๆ เป็นกันเอง แต่ว่าคอนเทนต์ที่ทำกลับให้ประโยชน์ ให้แง่คิดที่ชวนติดตามกับผู้อ่าน จากเมื่อ 5 ปีที่แล้วที่เพจก่อตั้ง จนวันนี้ที่เริ่มมีพอดแคสต์ มี Live สัมภาษณ์ โปรดักชั่นที่เรียบง่าย เน้นทำเอง แต่ให้คุณค่ากับผู้เสพ ยังคงเป็นเอกลักษณ์​ที่ทำให้ผู้คนติดตาม จนวันนี้มี Follower กว่า 1 แสนคนแล้ว

คุณต้อง กวีวุฒิ มีวิธีคิดและแนวทางในการทำเพจและคอนเทนต์อย่างไร (ทั้งๆ ที่มีงานประจำล้นมือ) ถึงทำให้เพจเติบโตจนเรียกได้ว่าเป็น Key Opinion Leader ในด้านการทำงานได้

เรามาหาคำตอบกันกับบทสัมภาษณ์คุณต้อง กวีวุฒิ ใน Meet the Shifu Episode 2 กันค่ะ

Disclaimer: บทความและรายการ MEET THE SHIFU EP.2 ได้รับการสนับสนุนจาก TOT ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและระบบโทรคมนาคมของประเทศไทย

เริ่มต้นจาก ‘ความชอบ’ และเติบโตด้วย ‘ความสม่ำเสมอ’

เชื่อว่าหลายๆ คนทั้งที่รู้จักหรือไม่รู้จัก แต่ตามมาอ่านคอนเทนต์นี้เพราะอยากเรียนรู้การทำเพจ + คอนเทนต์ หนึ่งข้อสงสัย คือ เริ่มต้นจากอะไร?

คุณต้อง กวีวุฒิได้แชร์กับเราว่า จุดเริ่มต้นการทำเพจนั้น เกิดขึ้นจาก ‘ความชอบ’

“เป็นคนชอบอ่านหนังสืออยู่แล้ว และอยากลองเล่าดูว่ามันจะเป็นยังไง เริ่มแรกเพียงอยากสรุปให้ตัวเองอ่านเพื่อเอามาใช้กับงาน เอามาใช้กับการสอน อยากลองเล่าดูว่ามันจะเป็นยังไง และ Facebook page ก็เป็นอะไรที่ง่ายดี” คุณต้องแชร์ถึงจุดเริ่มต้นการเปิดเพจ พร้อมแชร์ต่อไปว่า

“การทำเพจเพจหนึ่งให้เติบโตได้ ก็ต้องอาศัยการสนับสนุนจากคนหลายคนเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นคนที่อ่าน อ่านไปเรื่อยๆ กับเพื่อนๆ ซึ่งบางทีการทำคอนเทนต์ไปเรื่อยๆ ก็จะมีคนเห็นเอง” และสิ่งที่ทำให้เพจเติบโตขึ้นมาได้จริงๆ คือ ‘ความสม่ำเสมอ’

คุณต้องเล่าให้เราฟังว่าตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นเพจ คุณต้องทำคอนเทนต์ออกมาทุกวันวันละตอนโดยดูเองหมด ส่วนในปัจจุบัน จะมีช่วยเขียนบ้าง แต่ก็จะมีพอดแคสต์มีสัมภาษณ์ออกมาทุกวัน

ทั้งนี้ คุณต้องเสริมว่า จริงๆ เพจไม่ได้มีจุดเปลี่ยนที่ทำให้คนรู้จักมากมายในทันที ค่อยๆ เติบโตขึ้นแบบ Organic มากกว่า ไม่ได้ก้าวกระโดด ส่วนจุดเปลี่ยนที่ทำให้ 8 บรรทัดครึ่งเป็นที่รู้จัก ก็คือ คุณต้องรู้จักกับ “พี่ตุ้ม” หนุ่มเมืองจันทร์ คอลัมนิสต์ที่มีฐานแฟนในแวดวงเดียวกันช่วยแชร์บ้างก็ทำให้เพจเป็นที่รู้จักขึ้นมามากขึ้น 

ช่วยลงรายละเอียดเพิ่มเติมได้ไหม ว่าทำเมื่อไหร่ บริหารอย่างไรเพื่อให้ทำคอนเทนต์ได้สม่ำเสมอ?

“จริงๆ ไม่ได้มี Process ชัดเจน ไม่ได้มีสูตรสำเร็จ” ปกติถ้าเป็นช่วงแรกๆ จะเขียนช่วงเสาร์-อาทิตย์เขียนเก็บไว้ และ Schedule (ตั้งเวลาโพสต์) เอาวันธรรมดา ส่วนพอดแคสต์ก็ทำทุกวันตอนกลางคืน ..จริงๆ แล้วไม่ได้มี Process อะไรมากเลย เราแต่อ่านหนังสือแล้วจับใจความ ก็ต้องรู้ว่าเมจเซจที่เราจะสื่อคืออะไร

และเอกลักษณ์ของ 8 บรรทัดครึ่ง ก็คือ ความสั้น พอสั้นแล้วก็ต้องมีประเด็นที่ชัดเจน สกิลจับใจความค่อนข้างสำคัญ อ่านแล้วเข้าใจแบบไหน จะสื่อสารอย่างไร

“สิ่งที่สำคัญ คือ คอนเทนต์ เราชอบพูดว่าเราจะหาเวลาทำตอนไหน
ซึ่งมันเป็น Output แต่เราควรมีนิสัยที่มี Input อยู่ตลอดเวลา”

การที่เรามี Input อยู่แล้ว การที่เราเอามาเขียนก็ง่ายขึ้น แต่ถ้าไม่ชอบอ่าน พอจะมานั่งเขียน Output มันก็นึกไม่ออกจะเขียนอะไร เพราะไม่มีประเด็น ..เราอยากจะทำแต่เราไม่ชอบสิ่งนั้น มันก็จะมีปัญหา “ให้เริ่มต้นจากสิ่งที่เราชอบก่อน สื่อสารเรื่องที่เราชอบ มันก็จะมีพลัง”

อยากรู้ว่า 8 บรรทัดครึ่ง มีทีมงานอยู่กี่คน และมีวิธีการบริหารทีมอย่างไร?

หนึ่งในคำถามที่ฐานแฟนหลายคนน่าจะสงสัย เราเองก็สงสัยเช่นกัน ซึ่งคำตอบที่ได้ ค่อนข้างน่าสนใจค่ะ

“ทีมจริงๆ มี 2 คน และเป็นฟรีแลนซ์” หนึ่งคนมาช่วยเขียนคอนเทนต์บางส่วนบน Facebook ส่วนอีกคนมาช่วยเรื่องการทำกราฟิก และหลักๆ คุณต้องเองจะรับผิดชอบการทำพอดแคสต์เป็นหลัก และน้องๆ ที่ช่วยงานจะเป็นคนเอาพอดแคสต์ไปกระจาย ดูแลงานกันเองแค่นี้ ไม่ได้จริงจังเป็นบริษัท

แล้วถ้าคนที่อยากเริ่มทำบ้างล่ะ ควรจะเริ่มต้นจากทีมเล็กๆ ก่อนแบบนี้เลยดีไหม?

“ถามพี่ (คุณต้อง) จุดเริ่มต้นอย่าเพิ่งคิดถึงเรื่องทีม คิดเรื่องตัวเองทำให้ได้ต่อเนื่องก่อน อย่าเพิ่งคิดที่จะโตอะไรมากมาย ทำในสิ่งที่เราชอบ ทำในสิ่งที่เราไม่เหนื่อย”

ดูเหมือนว่าทีมจะค่อนข้างมีอิสระในการทำงาน อยากถามต่อว่า ถ้าทีมเริ่มออกนอกทิศนอกทาง ควรจัดการกับเรื่องนี้ยังไง?

คุณต้องให้ความเห็นว่า “จะเลือกคน ต้องไว้ใจ …มันไม่ได้หมายความว่า เขาทำแบบเราแล้วมันจะดีนะ มันขึ้นกับว่าเราบริหารคนแบบไหน เราไม่สามารถหาคนมาช่วยเรา แล้วให้เขาทำเหมือนเราทุกอย่างได้ ก็ปล่อยไปก่อน แต่ถ้ามันมีอะไรที่ออกนอกทิศทางเยอะๆ ก็คุยกันว่า แบบไหนดี ก็ทดลองไป …สำหรับบทความ ลูกค้า ผู้อ่าน และ User เป็นคนบอก ชอบ-ไม่ชอบ ดูไลก์ ดูแชร์ได้หมด”

คำตอบสุดท้ายจึงอาจไม่ได้อยู่ที่ใครในทีม แต่อยู่ที่ผู้เสพที่จะให้คำตอบได้ว่าทิศทางน่าจะเป็นไปอย่างไร

เมื่อชีวิตคือการเริ่มลงมือทำและการทดลอง.. Design Thinking กับการทำคอนเทนต์และการทำงานในมุมของ ต้อง กวีวุฒิ

เป็นที่รู้จักกันว่า คุณต้อง กวีวุฒิ เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้าน Design Thinking ของเมืองไทย จากการที่ศึกษาด้านนี้มาโดยเฉพาะจาก Standford d.school และด้วยหมวกอีกใบที่เป็นนักสร้างนวัตกรรม..​เราอยากรู้ว่า คุณต้อง ได้นำหลักคิด Design Thinking มาใช้กับการทำคอนเทนต์และงานอย่างไรบ้าง

“สำหรับพี่ Design Thinking เป็น Philosophy”

เราสามารถประยุกต์ใช้หลักการ Design Thinking ได้เหมือนกับการคิดนวัตกรรมเลย โดยกระบวนการทำได้ ก็คือ

  1. เราต้องเข้าใจปัญหาก่อน (Empathize & Define)
  2. คิดหา Solution หรือไอเดีย คิดนอกกรอบ จะคิดออกไปไกลๆ ก็ได้ (Ideate)
  3. จากนั้นก็ลงมือทำ เมื่อทำแล้วก็จะล้มเหลว (Prototype & Test)

ภายหลังการล้มเหลว เราก็จะมาปรับและรับฟีดแบกดู ได้ฟีดแบกมาแล้วจึงเริ่มทำใหม่ เราสามารถประยุกต์ใช้กับการคิดและทำคอนเทนต์ขึ้นมาได้

“ในการทำงานก็เหมือนกัน ถ้าเราอยากทำอะไรเราก็ไปทำ เราเข้าใจว่าเราชอบอะไร เราก็คิดนิดหน่อย แล้วเราก็ไปลองทำ เราก็จะรู้ว่า มันเหมาะหรือไม่เหมาะกับเรา ตกลงเราชอบไหม”

พี่ต้องสะท้อนความคิดอีกว่า “ชีวิตมันคือการทดลอง” เริ่มจากคอนเซปต์หรือโจทย์ก่อน ลงมือทำ ทดลอง และค่อยๆ ปรับไป

กลับมาที่เรื่องการทำคอนเทนต์และเพจ พี่ต้องแนะนำว่า ให้ลงมือทำเลย สุดท้ายฟีดแบกจะมาหาเราเอง ฟีดแบกจะบอกเราว่า ควรปรับอย่างไร ควรไปต่อทิศทางไหน ยิ่งยุคนี้ แพลตฟอร์มก็มีพร้อมให้ทดลองแบบไม่ต้องเสียเงิน และแพลตฟอร์มก็มี Feedback Loop จาก User “ไลก์” “แชร์” “คอมเมนต์” สามารถบอกเราได้หมด …ถ้าเราเข้าใจเรื่องนี้ เราก็จะทำคอนเทนต์ได้

แล้วถ้าเป็นคนที่เริ่มต้นล่ะ ที่ Follower ไม่ได้เยอะ จะหาฟีดแบกจากไหน?

จริงๆ ฟีดแบกมันมีอยู่แล้ว บางทีเราอาจจะไม่จำเป็นต้องรอให้มีฟีดแบกเข้ามา ถ้า Follower น้อย เราอาจเข้าไปถามตรงๆ ทำ Survey พูดคุย ขอฟีดแบกในเชิงคุณภาพได้เลย สรุปคือ อย่าเป็นฝ่ายรอฟีดแบกเท่านั้น เราสามารถหาเองได้เลย


ก็คงจะพอหอมปากหอมคอนะคะ สำหรับใครที่อยากเริ่มต้นทำคอนเทนต์และเริ่มต้นอยากทำเพจเป็นของตัวเอง สิ่งสำคัญเราอาจจะเริ่มจากสิ่งที่ชอบและลงมือต่ออย่างสม่ำเสมอ 

ส่วนเกร็ดมุมมองอื่นๆ จากคุณต้อง กวีวุฒิ ยังคงมีที่น่าสนใจอีก ตามเข้าไปฟังพอดแคสต์เต็มๆ ได้ในช่องของ Content Shifu นะคะ