เวลานึกถึงการแบ่งลักษณะของคอนเทนต์ รูปแบบหนึ่งที่นิยมมากๆ และเห็นได้ชัดเจน คือการแบ่งแบบเป็นหมวดหมู่ (Category) เช่น ถ้าเว็บข่าวทั่วๆ ไปอย่าง Thairath ก็จะแบ่งหมวดหมู่เป็นกีฬา บังเทิง เศรษฐกิจ การเมือง และอื่นๆ ถ้าเป็นเว็บที่เจาะลึกลงมาหน่อยอย่างเว็บ Thumbsup ที่เป็นเว็บไซต์สำหรับนักการตลาด หมวดหมู่ของคอนเทนต์ก็จะแบ่งเป็น Business, Branding และ Social Media เป็นต้น

วิธีการแบ่งหมวดหมู่แบบนี้เป็นวิธีพื้นฐานที่สามารถทำได้ง่ายๆ และทำให้คนเสพคอนเทนต์นั้นเข้าใจโครงสร้างของเว็บไซต์ได้เร็ว (CMS อย่าง WordPress เองก็เอื้อกับการแบ่งหมวดหมู่แบบนี้มากๆ)

นอกจากการแบ่งเป็นหมวดหมู่แล้ว การแบ่งลักษณะของคอนเทนต์ยังมีอีกหนึ่งรูปแบบที่คนมักจะไม่ค่อยรู้ หรือไม่ค่อยสังเกต เพราะว่ามันไม่ได้มีการเขียนบอกโต้งๆ เหมือนการแบ่งหมวดหมู่ ซึ่งการแบ่งแบบนี้นั้นคือการแบ่งว่าคอนเทนต์นั้นๆ เป็น Evergreen Content หรือว่าเป็น Topical Content

ถ้าคุณอ่านบทความนี้จบ ผมรับรองว่าคุณจะเข้าใจคอนเทนต์ทั้ง 2 รูปแบบนี้ และคุณจะสามารถเลือกใช้คอนเทนต์แต่ละแบบให้เหมาะสมกับธุรกิจของคุณได้อย่างเหมาะสมขึ้นอย่างแน่นอน : )

Evergreen Content กับ Topical Content คืออะไร?

เรามาเริ่มต้นจากการเข้าใจคำจำกัดความของคอนเทนต์ทั้ง 2 รูปแบบนี้กันก่อนเลยดีกว่า

Evergreen Content คือ

คำว่า Evergreen สื่อความหมายถึงสิ่งที่อุดมสมบูรณ์ ไม่เสื่อมค่า หรือไม่เสื่อมถอยไปตามกาลเวลา เพราะฉะนั้นคำว่า Evergreen Content ก็จะหมายถึงคอนเทนต์ที่ยังคงจะมีคุณค่า ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน คอนเทนต์นั้นๆ ก็ยังคงเป็นคอนเทนต์ที่ดูเหมือนสดใหม่ และน่าสนใจอยู่ตลอดเวลา โดยปกติแล้ว Evergreen Content จะเป็นคอนเทนต์แนวปรัชญา, How-to, ให้ความรู้ หรือเป็นเรื่องอะไรก็ตามที่เวลาจะผ่านไป 1 วัน, 1 เดือน หรือ 1 ปี คนก็ยังคงจะสนใจคอนเทนต์นั้นๆ อยู่

ตัวอย่างของ Evergreen Content ของ Content Shifu ที่ผมอยากจะยกมาให้ได้เห็นกันก็คือบทความเกี่ยวกับ “7 วิธีการตั้งชื่อบทความให้คนสนใจจนต้องกดอ่าน” ซึ่งตราบใดที่คนยังสนใจเขียนบทความอยู่ คอนเทนต์นี้ก็ยังจะคงมีคนสนใจ (แต่ผมยังไม่มีตัวเลข หรือกราฟของบทความนี้ให้ดูนะ เพราะว่ามันต้องใช้เวลาสักพักถึงจะติด SEO)

blockchain-evergreen_r1

ตัวอย่างที่สองที่อยากยกมาก็คือคอนเทนต์ “ทำความเข้าใจ Blockchain ใน 5 นาที สำคัญอย่างไร และเกี่ยวข้องอย่างไรกับ FinTech” ที่น้องอรเคยเขียนไว้บน Techsauce

น้องอรเริ่มเขียนบทความนี้ในเดือนพฤษภาคม 2016 จากกราฟจะเห็นได้ว่า Traffic พุ่งขึ้นในตอนแรกๆ เยอะ จากนั้นก็หายไป แต่หลังจากผ่านไป 3-4 เดือน Traffic ก็เริ่มเข้ามายังบทความนั้นอีกครั้ง และเข้ามาเรื่อยๆ ซึ่งสาเหตุที่กราฟเป็นแบบนี้ก็เพราะว่า เรื่องเกี่ยวกับ Blockchain เป็นเรื่องราวที่คนอยากรู้ (และมีคนอยากรู้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ) คนก็เลยค้นหาบน Google แล้วมาเจอบทความของ Techsauce ที่ติดอยู่ในหน้าแรกครับ

ข้อมูลตรงส่วนนี้ยังเป็นตัวที่บอกอีกว่า Blockchain เป็นเรื่องที่คนไทยเริ่มให้ความสนใจอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่เรื่องราวไวรัล ที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป

Shifu แนะนำ
การทำ Evergreen Content นั้น สิ่งที่คุณจำเป็นต้องมีก็คือเว็บไซต์ คุณไม่ควรที่จะปล่อย Evergreen Content ของคุณลงบน Social Media เพียงอย่างเดียว เพราะมันจะทำให้คุณสูญเสียแหล่งการสร้าง Traffic ที่ใหญ่ และมีคุณภาพที่สุดอย่าง Google ไป (อ่านเพิ่มเติม: เหตุผลที่คุณไม่ควรพึ่งแต่โซเชียลมีเดียในการทำธุรกิจ)

ข้อดีของ Evergreen Content

  • เอื้อประโยชน์ต่อ SEO – ประโยชน์ข้อแรกที่เห็นได้ชัดก็คือประโยชน์ต่อ SEO ถ้าเรื่องที่คุณเขียนเป็นเรื่องที่คนสนใจอยู่ตลอด และคุณเลือกคีย์เวิร์ด และทำคอนเทนต์ดีๆ โอกาสที่คอนเทนต์ของคุณจะติดหน้าแรกบน Search Engine นั้นก็จะมีมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้คนเข้ามายังเว็บไซต์ของคุณมากขึ้นตามไปด้วย
  • คุณค่าที่สร้างต่อคอนเทนต์นั้นมีมาก – ถ้าคุณสามารถสร้าง Evengreen Content ได้อย่างสม่ำเสมอ และได้มากพอ คุณจะถูกมองเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ
  • ไม่ต้องตามกระแส – การผลิตคอนเทนต์แบบ Evergreen นั้นทำให้คุณไม่ต้องทำตามกระแสไวรัล หรือเทรนด์สั้นๆ ที่ต้องใช้ความเร็วสูง ตราบใดที่คอนเทนต์คุณเจ๋ง คอนเทนต์ของคุณจะไม่เสื่อมค่าไปตามกาลเวลา

ข้อด้อยของ Evergreen Content

  • ใช้เวลานาน – การจะทำคอนเทนต์แบบ Evergreen ขึ้นมาชิ้นนึงนั้นใช้เวลาค่อนข้างนาน เพราะมันต้องลงลึกถึงรายละเอียด และต้องครอบคลุมหัวข้อที่เขียนในระดับหนึ่ง
  • ทำยาก – นอกจากใช้เวลานานแล้ว การทำคอนเทนต์แบบนี้นั้นค่อนข้างทำได้ยาก เพราะคนทำต้องมีประสบการณ์การลงมือทำ หรือการค้นคว้า (ฟัง ดู อ่าน วิเคราะห์) ค่อนข้างเยอะ
  • ไม่ได้พลังหนุนของมวลชน – เนื่องจากว่าคอนเทนต์แบบ Evergreen นั้นอยู่เหนือกาลเวลา เพราะฉะนั้นมันอาจจะไม่ได้เป็นกระแส หรือเรื่องราวที่คนจำนวนมากกำลังสนใจอยู่
Shifu แนะนำ
ถึงตรงนี้แล้ว คุณคงเข้าใจความสำคัญของคอนเทนต์ประเภทนี้แล้ว ถ้าอยากศึกษาเพิ่มเติมถึงวิธีทำและตัวอย่าง Evergreen Content ในบทความนี้ ได้อธิบายและรวมไอเดียไว้แบบแน่นๆ แล้วครับ 🙂

Topical Content คือ

Topical Content จะต่างกับ Evergreen Content เพราะว่าคอนเทนต์แบบนี้นั้นจะเป็นคอนเทนต์ที่เป็น Breaking News หรือ Talk of the Town ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่ๆ หรือเป็นเหตุการณ์ที่กำลังฮิตเป็นกระแสไวรัล ซึ่งปกติแล้วคอนเทนต์แบบนี้จะถูกนำเสนอในรูปแบบของ ข่าว

blockchain-topical

ตัวอย่างของ Topical Content ที่อยากจะยกมาให้อ่านก็คือคอนเทนต์ของ Techsauce ที่ว่าด้วยเรื่องของ Blockchain เช่นกัน แต่คอนเทนต์นี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับ “Standard Chartered อิมพลีเมนท์ระบบการโอนเงินบน Blockchain เป็นที่เรียบร้อยโดยใช้เวลาโอนภายใน 10 วินาที” จากกราฟข้างบนจะเห็นได้ว่าตัวเลขคนอ่านของบทความนี้นั้นพุ่งขึ้นแค่ 2-3 วัน หลังจากนั้นคนอ่านก็น้อยลงมาก นั่นก็เป็นเพราะว่าคอนเทนต์แบบนี้เป็นคอนเทนต์สไตล์ข่าว ซึ่งกระตุ้นให้คนอยากรู้แค่ในช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ เท่านั้น

ข้อดีของ Topical Content

  • ผลิตง่าย ผลิตได้เร็ว – Topical Content นั้นสามารถผลิตได้อย่างรวดเร็ว และผลิตได้เป็นจำนวนมาก เพราะในหลายๆ ครั้ง มันอาจจะไม่ต้องใช้การวิเคราะห์ หรือการค้นคว้าอะไรมาก
  • ไม่ต้องใช้ความรู้เชิงเทคนิคัลเยอะ – การหา Keyword, การปรับแต่ง SEO และเรื่องทางเทคนิคต่างๆ อาจจะไม่สำคัญเท่ากับการเขียนเกี่ยวกับเรื่องราวที่คนสนใจ และเป็นกระแสอยู่ได้อย่างรวดเร็ว
  • ได้พลังมวลชน – ถ้าคอนเทนต์ที่คุณทำนั้นเป็นกระแสอยู่ คอนเทนต์นั้นๆ จะมีคุณค่ามากๆ ในช่วงเวลาหนึ่ง และคุณจะได้พลังจากมวลชนที่อยู่บน Social Media ต่างๆ ค่อนข้างเยอะ ซึ่งบางครั้งมันอาจจะเป็นคอนเทนต์ไวรัลที่สร้าง Traffic ให้คุณมหาศาลจนคุณอาจจะคาดไม่ถึงเลยล่ะ

ข้อด้อยของ Topical Content

  • ไม่ได้พลังหนุนของ SEO – เมื่อคอนเทนต์นั้นๆ ไม่ได้เป็นคอนเทนต์ที่คนจะสนใจในระยะยาว คนก็จะไม่ค้นหาผ่าน Google หรือ Search Engine อื่นๆ
  • มาไว ไปไว – คอนเทนต์แบบ Topical นั้นจะมีช่วงพีคอยู่แค่ไม่กี่วัน หรืออย่างมากก็ไม่กี่สัปดาห์ หลังจากที่่มันตกกระแส หรือคนเริ่มให้ความสนใจน้อยลงแล้ว คอนเทนต์นั้นๆ ก็จะเสื่อมค่าลง (ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างบทความของ Techsauce ทางด้านบน)
  • ต้องเร็ว ต้องไว ต้องอยู่ในกระแส – การทำ Topical Content นั้นคุณจะต้องติดตามข่าวสารอยู่แทบจะตลอดเวลา ถ้าคุณปล่อย คอนเทนต์ออกมาช้ากว่าคนอื่น คอนเทนต์นั้นๆ ก็จะเสื่อมค่าลงอย่างมากทันที

รู้จักคอนเทนต์ทั้ง 2 แบบแล้ว มาดูวิธีการหาไอเดียในการทำคอนเทนต์แต่ละแบบกันดีกว่า!

วิธีการหาไอเดียในการทำ Evergreen Content

1. ใช้ Google

คอนเทนต์ที่มีคุณค่าอยู่เหนือกาลเวลานั้นจะเป็นคอนเทนต์ที่คนอยากรู้อยู่เสมอ ซึ่งเมื่อคนอยากรู้ คนก็จะทำการค้นหา และเมื่อคนจะทำการค้นหา สถานที่แรกที่คนไทย (และคนอื่นๆ ทั่วโลก) นึกถึงเป็นอันดับแรกก็คืออากู๋รุ่นใหญ่อย่าง Googlegoogle-keyword-planner-for-how-to-write-a-good-article

สิ่งแรกที่คุณควรทำก็คือการเข้าไปที่ Google Keyword Planner (ต้องมี account Google Adword ก่อน) จากนั้นลองพิมพ์ Keyword ของคอนเทนต์ที่คุณอยากทำลงไปดู เช่นในตัวอย่างข้างบน ผมมีไอเดียอยากเขียนเกี่ยวกับ “วิธีการเขียนบทความ” ผมก็ลองใส่ Keyword ลงไป ผลปรากฏว่า Keyword ตัวนี้นั้นมีคนค้นหาต่อเดือนประมาณ 1,000 – 10,000 ครั้ง ซึ่งถ้าคุณทำคอนเทนต์เกี่ยวกับ วิธีการเขียนบทความ ดีๆ คุณก็จะได้ Traffic ที่ส่งมาจาก Google อยู่ตลอด

google-trend-for-content-marketing

นอกจาก Google Keyword Planner แล้ว Google Trend ก็เป็นเครื่องมือที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะมันจะช่วยให้คุณสามารถตรวจสอบความน่าสนใจของ Keyword ได้ เช่นจากตัวอย่างข้างบน ผมลองตรวจสอบคำว่า Content Marketing ในช่วง 5 ปีล่าสุด ซึ่งเทรนด์มันยังคงเป็นขาขึ้นอยู่ เพราะฉะนั้นหัวข้อเกี่ยวกับ Content Marketing นั้นน่าจะเป็นหัวข้อที่เหมาะกับการเอามาทำ Evergreen Content

2. ใช้ Pantip

Pantip นั้นเปรียบได้กับ Reddit และ Quora ของต่างประเทศ

คนไทยใช้ Pantip ในการหาแรงบันดาลใจ ถามคำถาม และค้นหาคำตอบ เพราะฉะนั้น Pantip เองนั้นก็เป็นเหมือน Search Engine ย่อมๆ ตัวนึงเลยล่ะ

คุณสามารถเข้าไปใน Pantip แล้วลองเข้าไปค้นหากระทู้ต่างๆ ที่มีคนมาโพสต์ใน Pantip แล้วลองเอามาวิเคราะห์ดูว่ากระทู้ไหนที่มีคนตอบเยอะ หรือคำถามไหนที่มีคำถามซ้ำบ่อยๆ คุณก็จะได้ไอเดียในการทำคอนเทนต์

pantip-notebook-in-search

ตัวอย่างเช่น ถ้าค้นหาคำว่า notebook จะเห็นว่ามีอยู่ 2-3 กระทู้ที่คนถามว่า ถ้ามีงบ xxxxx บาท ควรซื้อ notebook รุ่นไหนดี คอนเทนต์ที่จะเอาไปเขียนก็อาจจะเป็น “งบน้อย แต่อยากสอยของแรง แนะนำโน้ตบุ๊คเทพๆ ราคาไม่เกิน 20,000 บาท” เป็นต้น

วิธีการหาไอเดียในการทำ Topical Content

1. ตั้ง Facebook See First

facebook-page-see-first

วิธีการนี้เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด และเหมาะสำหรับคนที่ใช้ Facebook เป็นประจำ

โดยปกติแล้วในประเทศไทย Topical Content น้ันจะถูกปล่อยผ่าน Facebook เป็นหลัก เพราะฉะนั้นสิ่งที่คุณควรทำก็คือใช้ Account Facebook ส่วนตัวของคุณไปกดไลก์เพจที่สร้าง Topical Content ในสายงานที่คุณเกี่ยวข้อง ซึ่งการทำแบบนี้จะทำให้คุณไม่พลาดคอนเทนต์สำคัญๆ จากเพจนั้นๆ เวลาคุณเล่น Facebook

เช่นตัวผมเองนั้นก็กด See First เพจ Facebook ในสาย Marketing อยู่หลายเพจไม่ว่าจะเป็น Buffer, Marketing Land, Marketing Oops, Thumbsup และ Marketeer เป็นต้น

2. ใช้แอพพลิเคชั่น Feedly

feedly-homepage

Feedly เป็นแอพพลิเคชั่น RSS Feed หรือถ้าให้ใช้ศัพท์แบบเข้าใจง่ายๆ ก็คือมันเป็นแอพพลิเคชั่นที่รวมเว็บไซต์ที่ผลิตคอนเทนต์ที่คุณอยากเสพมาไว้ในที่เดียว ซึ่งถ้าเว็บไซต์ที่คุณจับมาใส่ไว้ใน Feedly โพสต์คอนเทนต์ใหม่เมื่อไหร่ คอนเทนต์นั้นๆ ก็จะถูกส่งเข้ามาใน Feedly ของคุณ

แอพพลิเคชันนี้สามารถใช้งานได้ฟรี (มีเวอร์ชั่นเสียเงิน ที่ทำให้คุณเชื่อมต่อกับแอพพลิเคชันอื่นๆ ได้มากขึ้น)

3. ใช้ Social.gg

Socialgg Homepage

Social.gg เป็นเว็บไซต์ที่กวาดเอาข้อมูลบน Facebook ในประเทศไทยเข้ามารวมไว้ในที่เดียว แล้วเอามาวิเคราะห์ว่าเรื่องไหนที่กำลังเป็นข่าว หรือเป็นกระแสอยู่ ซึ่งคุณสามารถเลือกดูได้ตามหมวดหมู่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเงิน, บันเทิง, การศึกษา และอื่นๆ อีกมากมาย

4. ใช้ Pantip

pantip-trend

ใช่แล้วครับ Pantip เดียวกับที่ใช้หาไอเดียสำหรับ Evergreen Content นั่นแหละครับ แต่ครั้งนี้ไม่ต้องไปในส่วนของการค้นหา แต่ให้ไปดูในส่วนของ Pantip Trend แทน ซึ่งในส่วนนี้ คุณจะเห็นว่าหัวข้อไหนที่เป็นเรื่องฮอตฮิตใน Pantip บ้าง และอะไรที่เป็นที่ฮอตฮิตบน Pantip ก็มีโอกาสที่จะฮอตฮิตบนโลก Social Media เหมือนกัน ซึ่งถ้าคุณเอาคอนเทนต์นั้นๆ มาทำ คุณอาจจะสามารถดึงดูดคนให้มาเสพคอนเทนต์ของคุณได้เป็นจำนวนมากด้วยครับ

สรุป

ถ้าถามว่าคอนเทนต์แบบ Evergreen หรือแบบ Topical น่าทำกว่ากัน ในความคิดของผม ผมคิดว่าน่าทำทั้งคู่ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับว่าธุรกิจของคุณเป็นแบบไหนด้วย

ถ้าธุรกิจของคุณเป็นการขายสินค้า หรือบริการ คุณควรจะให้น้ำหนักกับ Evergreen Content มากกว่า (ตามหลัก Inbound Marketing คือ ถ้าคุณส่งมอบคุณค่าที่ดี และสม่ำเสมอ เมื่อถึงเวลาขายของ ลูกค้าจะอยากซื้อของของคุณ)

แต่ถ้าธุรกิจของคุณเป็นแนวสื่อ แนวข่าว ที่เน้นเรื่องการรับรู้ของคนให้มากที่สุด การเน้นทำ Topical Content ก็อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

จากทั้งหมดที่เขียนมา ผมคิดว่าการผสมผสานให้เหมาะกับบริบท (ผู้เสพคอนเทนต์ สถานที่ และเวลา) จะทำให้คอนเทนต์ของคุณมอบคุณค่าให้กับผู้ติดตามได้ดีที่สุดครับ : )

ตาคุณแล้ว

คุณพอจะดูออกรึยังว่าคุณกำลังผลิตคอนเทนต์แบบไหนอยู่? แล้วคอนเทนต์ที่คุณทำออกมานั้นได้รับผลตอบรับดีหรือไม่ดี? มาคุยกันต่อได้ในส่วนของคอมเมนต์กันครับ

New call-to-action hbspt.cta.load(3944609, '46ad8de0-da24-44f0-a0dc-4261f76df884′, {“useNewLoader”:”true”,”region”:”na1″});