“สร้างสรรค์ Creative Content อย่างไรให้แตกต่างจนต้องบอกต่อ” เป็นชื่อหัวข้อการบรรยาย โดย พี่เก่ง สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม จากบริษัท RGB72 และเป็นผู้จัดงาน Creative Talk ที่ทีม Content Shifu เคยได้ไปบรรยายด้วย

เรื่องของเรื่องคือ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อรมีโอกาสได้รับเชิญไปบรรยายใน งานสัมมนา “Digibox แกะกล่องความคิดสู่ชีวิตดิจิตอล” ที่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ค่ะ ในวันนั้นนอกจากจะไปเป็นผู้บรรยายในหัวข้อ “การทำ Content ที่มีคุณค่า” แล้ว ยังไปเป็นผู้ฟังซะเองด้วย เราเห็นว่าเกร็ดเคล็ดลับ และตัวอย่างที่พี่เก่งได้นำเสนอในวันนั้น น่าสนใจทีเดียว

ว่าแล้ว เรามาดู เคล็ดลับเรื่องการสร้างสรรค์ Content อย่างไรให้แตกต่างจนต้องบอกต่อ กันเถอะ!

Content ที่แตกต่าง: เกิดจาก Character ที่ชัดเจนของแบรนด์

“ถ้าแบรนด์นั้นๆ มีคาแรคเตอร์ที่ชัด คอนเทนต์ก็จะแตกต่างเอง”

พี่เก่งไม่เพียงแค่พูดลอยๆ แต่ได้ยกตัวอย่างให้เราเห็นภาพ

 

ภาพนี้เป็นภาพเพื่อการโปรโมทสินค้า “Silver Bullet” Drink ซึ่งเป็นเครื่องดื่มของร้าน KICKS cafe

ภาพนี้เป็นตัวอย่างของการที่ครีเอทีฟ เข้าใจคาแรกเตอร์ความโดดเด่นของสินค้า และสามารถชูมันออกมาได้อย่างเท่ๆ แทนที่จะใช้สินค้าเป็นพระเอกหลักของภาพแบบโต้งๆ แบบที่คนทั่วไปทำกัน ก็เลือกหยิบบางอย่างที่ดูสะดุดตา (รองเท้า Nike) ที่สามารถสื่อสารคาแรกเตอร์ของสินค้านั้นๆ ได้ ออกมาแทน

แบรนด์ของ KICKS cafe คือ คาเฟ่ที่มีเครื่องดื่มที่มีแรงบันดาลใจมาจากรองเท้าเท่ๆ

นอกจากรองเท้าจะโปรโมทเครื่องดื่มแล้ว เครื่องดื่มก็โปรโมทรองเท้าด้วย (พบว่าเป็นเจ้าของเดียวกันทั้งร้านรองเท้า และร้านคาเฟ่)

ด้านบนคือ ตัวอย่าง Content ที่ ดูแตกต่าง ทีนี้เรามาดูต่อถึง ตัวอย่าง Content ที่น่าแชร์ หรือน่าบอกต่อ กัน

คุณสมบัติของ Content ที่น่าแชร์ น่าบอกต่อ พร้อมตัวอย่าง

ต้นฉบับของพี่เก่งนั้น ได้พูดถึงลักษณะของคอนเทนต์ที่น่าแชร์ทั้งหมด 8 ลักษณะ ได้แก่

  1. มีความเกี่ยวข้องกับคนอ่าน (Think about Them)
  2. มีความเกี่ยวข้องกับแบรนด์ / ตัวตนของคุณ (Think about You)
  3. คนที่แชร์ แชร์แล้วรู้สึกว่าตนดูดี (Make Them Look Good)
  4. ข้อมูลน่าเชื่อถือ (Must be Trustable)
  5. Emotional สร้างอารมณ์ร่วม หรือเข้าถึงคน (Human Touch & Emotional)
  6. ทันสมัย ทันเหตุการณ์ (Up-to-Date and In-Trend)
  7. เป็นสิ่งที่ดึงดูดสายตาให้หยุดมองได้
  8. ส่งคอนเทนต์ได้ถูกต้องกับจังหวะเวลา (Right contents, right time)

ในที่นี้จะขอหยิบเฉพาะบางข้อมาอธิบายเพิ่มเติม โดยเฉพาะข้อที่เรามองว่า ตัวอย่างประกอบนั้นน่าสนใจ และชาว Shifu น่าจะชอบ : )

ความเกี่ยวข้องกับคนอ่าน

ตัวอย่าง Content ที่ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับคนอ่าน

ในเคสนี้ พี่เก่งได้ยกตัวอย่างถึงคอนเทนต์ข่าวๆ หนึ่ง ที่พี่เค้าเห็นโผล่ขึ้นมาบนหน้า News Feed

ข่าวนั้นระบุในทำนองว่า “ในช่วง 26 ปี ที่ผ่านมา คนทำงานวงการสื่อมวลชนทั่วโลกตาย (ระหว่างปฏิบัติหน้าที่) 2,419 คน”

สิ่งที่รู้สึกก็คือ… ตัวเลขนี้ เป็นตัวเลขที่น่าตกใจจริงๆ หรือเปล่า? 2 พันกว่าคน ในกรอบเวลา 26 ปี จากทั่วทั้งโลก?

เป็นคอนเทนต์ที่ฟังดูน่าเศร้า แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่มั่นใจว่าน่าเศร้ามากระดับไหน นั่นทำให้คอนเทนต์นี้ ไม่ค่อยมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนอ่านอื่นๆ

ตัวอย่าง Content ที่สร้างความเกี่ยวข้องกับคนอ่าน

สำหรับตัวอย่างเมื่อซักครู่ ในความคิดของเรา ถ้าจะปรับให้มีความเกี่ยวข้องกับคนอ่านเพิ่มขึ้นอีกนิด อาจจะต้องระบุเพิ่มเติมว่า “มากกว่าค่าเฉลี่ยอาชีพอื่นๆ ถึง xx เท่า” อะไรแบบนี้เป็นต้น

พูดถึงเรื่องอาชีพ พี่เก่งเองก็ได้ยกตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งพูดถึงเรื่องอาชีพเหมือนกันนี่แหละ แต่เขียนให้สร้างความเกี่ยวข้องกับคนอ่านได้ง่ายกว่า เช่น บทความ “6 อาชีพที่มีสัญญาณว่าจะตกงานในอีก 10 ปีข้างหน้า” สามารถกระตุ้นการบอกต่อได้ จากกลุ่มคนที่มีความเกี่ยวข้องกับ 6 อาชีพนี้ (พร้อมๆ กับกลุ่มคนที่อาจจะไม่ได้ทำอาชีพดังกล่าว แต่รู้สึกเห็นด้วยกับทิศทางดังกล่าว)

สร้าง Human Touch

ตลก เศร้า เหงา โกรธ

คงเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า คอนเทนต์ที่สร้างอารมณ์มากๆ มักจะมีโอกาสเป็นคอนเทนต์ที่ไวรัลได้

แต่ถ้าไม่ใช่ทุกครั้ง ที่ทุกๆ คอนเทนต์ จะสามารถลงทุนสร้าง Storytelling มากมายได้ล่ะ?

เคล็ดลับเรื่องการ Connect ให้เข้าถึงคน จริงๆ แล้ว อาจจะสามารถมองเป็นประเด็นปลีกย่อยเล็กๆ น้อยๆ ได้

พี่เก่งได้ยกตัวอย่างที่น่าสนใจมากเรื่องหนึ่ง ว่าด้วย การออกแบบหน้าตากล่องของอาหารเช้าซีเรียล

บนนั้นมักจะมีตัวการ์ตูน ……ข้อนี้ไม่น่าแปลกใจ เพราะเป็นตัวละครที่น่าจะ Connect กับเด็กๆ ได้ดี

แต่จุดสังเกตที่น่าสนใจคือ ตัวการ์ตูนบนกล่องนั้น มักจะก้มหน้าลง หรือมองลงเสมอ

“เอ๊ะ จริงหรอ” ตัวเราเองยังไม่เคยสังเกตเรื่องนี้อย่างจริงจังมาก่อน จนกระทั่งได้ฟังที่พี่เก่งพูด และได้มองที่ภาพกล่องอาหารเช้าบนสไลด์ของพี่เก่ง

ภาพนี้ถ่ายจากมุมเสยขึ้น พอถ่ายเสยขึ้น ก็พบว่าตัวละครต่างๆ ที่อยู่สูงกว่าเรานั้น กำลังก้มหน้ามามองเราอยู่จริงๆ ด้วย

นี่เป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เรื่องการสร้าง Human Touch / สัมผัสได้กับบุคคล สำหรับเคสนี้ บุคคลนั้นก็คือเด็กน้อยที่มาซื้อของกับพ่อแม่

ส่วนผสมทั้งสาม ของ Creative Content

ขออนุญาตวนกลับมาพูดเรื่อง Creative Content อีกครั้ง ในมุมมองของพี่เก่งผู้บรรยายนั้น Creative Content ประกอบไปด้วยส่วนประกอบ 3 อย่าง คือ Knowledge (ความรู้), Courage (ความกล้าที่จะแตกต่าง) และ Imagination (จินตนาการ)

Creative Content จะต้องมีครบทั้ง 3 องค์ประกอบ เพราะ

  • ถ้ามีความรู้ และมีความกล้า แต่ไม่มีจินตนาการอะไรใหม่ๆ มันก็ไม่ถือเป็นคอนเทนต์ที่แตกต่าง มีความสร้างสรรค์
  • ถ้ามีจินตนาการ และความกล้า แต่ไม่มีความรู้เลย คอนเทนต์นั้น ก็ไม่ต่างจากคอนเทนต์แนว Click-bait (ล่อให้คลิก) แต่ข้างในไม่มีเนื้อหาสาระ หรือไม่ก็เป็นคอนเทนต์ที่เป็นเรื่องผิดๆ และไม่สมควรต่อการแชร์ต่อ
  • ถ้ามีความรู้ และมีจินตนาการ แต่ไม่มีความกล้า สุดท้ายคุณก็จะไม่ได้ปลดปล่อย Creativity ของคุณออกมาอย่างสมบูรณ์

อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องของความกล้า จินตนาการ สามารถจะโลดแล่นไปได้สุดมากขึ้น เมื่อคุณมีความกล้าที่จะแตกต่าง

ในช่วงที่หนัง Fast & Furious ภาค 8 กำลังบูมอยู่ในโรงหนัง มีคนเขียนรีวิวหนัง วิจารณ์หนัง วิเคราะห์หนังต่างๆ อยู่มากมาย เนื้อหาของแต่ละที่อาจจะไม่ต่างกันมาก แต่มีบางรายที่กล้าคิด Copywrite ที่แตกต่างออกมาเล่น แทนที่จะพาดหัวว่า “วิเคราะห์ Fast & Furious ภาคต่อไปจะเป็นอย่างไร” แต่เขาเลือกจะพาดหัว “ภาคต่อ Fast & Furious จะไม่ออกอวกาศ ผู้เขียนบทบอก” แบบนี้แทน

ถึงแม้ว่าภาค 8 นี้นะเว่อร์มาก แต่เรื่องจะออกอวกาศก็ไม่ใช่เรื่องที่คนส่วนใหญ่คิดถึงเหมือนกัน ถือเป็นการเลือกหยิบประเด็นพาดหัวได้สร้างสรรค์จนแตกต่าง (แน่นอนว่ากล้าเล่นด้วย)

สรุป

คอนเทนต์ที่น่าแชร์ ในมุมมองของพี่เก่งมีอยู่ 8 คุณสมบัติ ในที่นี้ได้ยกตัวอย่างเรื่อง การสร้างความเกี่ยวข้องกับคนอ่าน (บทความด้านอาชีพ) กับการสร้าง Human Touch ไป

ส่วน Creative Content นั้น พี่เก่งมองว่ามีอยู่ 3 ส่วนผสม คือ ความรู้ จินตนาการ และความกล้า

แต่ก็อย่าลืมด้วยว่า อีกปัจจัยสำคัญของ Creative Content ยังเกิดจากการสร้างแบรนด์หรือตัวตนให้ชัดเจน จนเกิดความแตกต่างที่ระดับแบรนด์ก่อน

คุณควรจะยังคงเป็นตัวของตัวเอง ไม่ใช่ตามกระแสอย่างเดียว เช่น อย่ามองว่าการเขียนที่ใช้คำหยาบ จะโดนใจกว่า ดึงดูดคนได้มากกว่า (ประเด็นเรื่องที่ว่าคอนเทนต์ทุกวันนี้ มักมีคำหยาบคายเยอะมาก เป็นคำถามยอดฮิตในวันสัมมนา) แต่ให้มองด้วยว่าตัวตนคุณเป็นแบบนั้นหรือเปล่า และฐานแฟนที่คุณต้องการเป็นคนที่ชอบแนวนั้นด้วยจริงหรือเปล่า

ลองมองดูคุณ กับกลุ่มเพื่อนของคุณ ก็จะเห็นว่ามักจะเป็นคนที่มีสิ่งที่คล้ายกัน เช่นเดียวกันกับการทำคอนเทนต์ คุณโพสอย่างไรไป ก็จะได้เพื่อนแบบนั้น 

ตาคุณแล้ว

ประเด็นต่างๆ ตัวอย่างต่างๆ ที่ได้หยิบยกมา คุณเห็นด้วยไหมเอ่ย

เชื่อว่านักอ่าน นักเสพย์คอนเทนต์แต่ละคน ก็คงเคยเห็นตัวอย่างคอนเทนต์เจ๋งๆ (หรือแป้กๆ) กันมาทั้งนั้นแล้ว ใครนึกตัวอย่างอะไรออกเพิ่มเติม มาคอมเมนต์พูดคุยกับพวกเราได้เลยนะ : )

Digital Content Writer hbspt.cta.load(3944609, ‘0594cf2a-25fd-4a59-a653-25a01034c6d2', {});