เมื่อเร็วๆ นี้ เรามีโอกาสเข้าร่วมการสนทนาที่น่าสนใจกับคุณ Brian Klaas นักรัฐศาสตร์ชื่อดัง ผู้เขียนหนังสือ Fluke: Chance, Chaos, and Why Everything We Do Matters ที่สำนักงานใหม่ของ LINE MAN Wongnai ที่ One Bangkok ซึ่งงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์ “In Conversation” ที่ LINE MAN Wongnai ชวนพูดคุย เปิดมุมมองอันลึกซึ้งเกี่ยวกับความคิด หลักการ และการใช้ชีวิต

คุณ Brian ชวนพวกเราคิดว่า การกระทำเล็กๆ ของทุกคน จะส่งผลต่อโลกใบนี้อย่างไรบ้าง ท่ามกลางความบังเอิญ ความโกลาหล และความสำคัญของการกระทำในชีวิตประจำวันของเรา สิ่งที่คุณ Brian พูดถึงคือวิธีที่เหตุการณ์ที่ดูเหมือนไม่มีเหตุผล และความบังเอิญเล็กน้อย สามารถเปลี่ยนเส้นทางของประวัติศาสตร์ได้ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในสงครามโลกครั้งที่สอง

คนส่วนใหญ่อาจเคยได้ยินเรื่องการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ที่เมืองฮิโรชิม่าและเมืองนางาซากิ ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดของสงครามโลกครั้งที่สอง วันที่ 6 สิงหาคม 1945 ระเบิด “Little Boy” ถูกปล่อยลงที่เมืองฮิโรชิมา มีผู้เสียชีวิต 140,000 ราย ตามมาด้วยวันที่ 9 สิงหาคม 1945 เมื่อระเบิด “Fat Man” ถูกทิ้งลงที่เมืองนางาซากิ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 80,000 ราย 

แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่า เป้าหมายแรกของการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรกไม่ใช่เมืองฮิโรชิมา แต่เป็นเมืองเกียวโต และเมืองนางาซากิก็ไม่ใช่เป้าหมายหลักของระเบิดลูกที่สอง

ทุกอย่างเริ่มต้นจากการท่องเที่ยวของท่าน Henry L. Stimson และภรรยาในปี 1926 พวกเขาเดินทางมายังเกียวโตและหลงใหลในความงดงามของเมืองหลวงเก่าแห่งนี้เป็นอย่างมาก เวลาผ่านไป 19 ปี ในขณะที่เขาดำรงตำแหน่งเป็น Secretary of War ของสหรัฐ เขาได้คัดค้านการทิ้งระเบิดในเกียวโตกับประธานาธิบดี Harry S. Truman ถึงสองครั้ง ส่งผลให้เกียวโตถูกถอดออกจากรายชื่อ และนำฮิโรชิมากับโคคุระขึ้นมาเป็นเป้าหมายแทน 

ส่วนการที่ระเบิดลูกที่สองไปลงที่เมืองนางาซากินั้น เป็นผลมาจากความบังเอิญที่เมืองโคคุระที่เป็นเป้าหมายหลักในวันนั้น มีเมฆปกคลุมหนาในวันที่ต้องทิ้งระเบิดพอดี ทำให้เครื่องบินทิ้งระเบิดต้องเปลี่ยนเป้าหมายไปยังเมืองนางาซากิที่เป็นเป้าหมายรอง

การที่เมืองโคคุระรอดจากระเบิดในครั้งนั้น กลายเป็นที่มาของคำพูดแทนความโชคดีสุดๆ ว่า “โชคของโคคุระ” (Kokura's Luck)

เหตุการณ์นี้ทำให้เราตั้งคำถามว่า ชีวิตของคนนับแสนถูกแขวนอยู่บนเส้นด้ายแห่งความบังเอิญ ที่เกิดจากทริปพักผ่อนของคนสองคน หรือเมฆเพียงไม่กี่ก้อนได้อย่างไร? หรือผลลัพธ์จากการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยนี้ จะส่งผลต่อประวัติศาสตร์มากขนาดไหน?

หลักการของ Fluke และโลกที่เชื่อมโยงกัน

หนังสือ Fluke ของคุณ Brian แสดงให้เห็นว่า เรื่องราวที่เราเชื่อเกี่ยวกับโลกมักจะไม่ตรงกับความจริง ชีวิตของเราถูกกำหนดด้วยความบังเอิญ โอกาส และความโกลาหลมากกว่าที่เราคาดคิด ซึ่งส่งผลให้เราพยายามสร้างเรื่องราวมาอธิบายกับตัวเอง เพื่อหาเหตุผล และทำความเข้าใจความเป็นจริงที่ไม่แน่นอนนี้ คุณ Brian ใช้ทฤษฎีความโกลาหล (Chaos Theory) ในการอธิบายว่า แม้แต่การกระทำเล็กๆ ก็สามารถก่อให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องมากมาย การเชื่อมโยงกันนี้อาจดูน่ากลัว แต่ก็เปิดโอกาสให้เราได้เห็นว่า ทุกสิ่งที่เราทำนั้นมีความหมาย แม้ว่าเราอาจไม่สามารถคาดเดาผลลัพธ์ได้

ไม่ต่างจากวิธีที่คอนเทนต์และกลยุทธ์ของนักการตลาดสามารถเปลี่ยนทิศทางของแบรนด์ได้ในโลกดิจิทัล การเข้าใจและยอมรับความซับซ้อนเหล่านี้ คือ หัวใจสำคัญที่ช่วยให้นักการตลาดสามารถรับมือกับความไม่แน่นอน และสร้างคอนเทนต์ที่มีความหมายสำหรับโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

สำหรับนักการตลาดและ Content Creator หลักการนี้คือการเตือนสติว่าในโลกที่ถูกขับเคลื่อนด้วยคลื่นกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลง แคมเปญ กลยุทธ์ และเนื้อหาของเราสามารถสร้างผลกระทบทั้งทางบวกและลบได้ ความเข้าใจในเรื่องนี้ช่วยให้เราสามารถรับมือกับความไม่แน่นอน และใช้พลังของการเล่าเรื่องได้ดียิ่งขึ้น

บทเรียนจาก Fluke ในมุมมองของนักการตลาด

1. ค้นหาสิ่งที่สำคัญจากสัญญาณและเสียงรบกวน (Signal and Noise)

คุณ Brian ชี้ให้เห็นว่าทุกอย่างไม่ใช่เรื่องบังเอิญ บางสิ่งเกิดจากการเชื่อมโยงของระบบที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ท่ามกลางกระแสข้อมูลและแนวโน้มที่ท่วมท้น ความท้าทายอยู่ที่การค้นหาสัญญาณที่แท้จริง สิ่งที่สำคัญจริงๆ ต่อกลุ่มเป้าหมายของเรา ซึ่งบางครั้งอาจจะซ่อนตัวอยู่ในเสียงรบกวน มากกว่าสัญญาณหลัก

สำหรับนักการตลาด เราต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความเชื่อมโยง มากกว่าการวิ่งไล่ตามทุกกระแสที่เปลี่ยนแปลง การรับฟังอย่างใกล้ชิดและทำความเข้าใจ สามารถทำให้เราออกแบบคอนเทนต์ที่ตรงกับความต้องการได้มากขึ้น

2. กับดักของการ Optimize ในยุคสมัยใหม่

คุณ Brian เตือนเราถึงอันตรายของการพยายามทำให้ทุกสิ่งสมบูรณ์แบบเกินไป (Optimization) เพราะอาจทำให้เราติดขัด และไม่สามารถปรับตัวกับความโกลาหล หรือเหตุการณ์ที่เหมือนจะเกิดขึ้นโดยไม่มีที่มาที่ไป นี่เป็นบทเรียนสำคัญสำหรับนักการตลาด ที่มักจะรู้สึกกดดันเพื่อทำทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบ 

แทนที่จะมุ่งทำสิ่งเดียวให้ดีที่สุด เราควรทดลอง เรียนรู้ และพัฒนาความยืดหยุ่น ในโลกที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์สำคัญกว่าการ Optimize เพื่อความสมบูรณ์แบบในมุมเดียว

3. การใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงในกลยุทธ์ของเรา

คุณ Brian กล่าวถึงความเชื่อมโยงนี้ เป็นมุมมองที่เห็นได้ชัดเจนในวัฒนธรรมของชาวเอเชีย และในการตลาดดิจิทัลก็เช่นเดียวกัน

นักการตลาดต้องมองภาพใหญ่ที่ทุกอย่างเชื่อมโยงกัน ทุกแคมเปญ ทุกแพลตฟอร์ม และ ทุก Touchpoint ต่างเชื่อมโยงกับทุกการโพสต์ ทุกบทความ และทุกแคมเปญ ซึ่งสามารถกระตุ้นให้เกิดเหตุการณ์ต่อเนื่อง เพื่อสร้างเรื่องราวของแบรนด์ที่ไปไกลกว่าที่เราคาดหวัง 

ความเข้าใจในธรรมชาติที่เชื่อมโยงนี้ จะช่วยให้นักการตลาดสามารถสร้างเรื่องราวที่มีความหมายและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น

4. ใช้ AI ด้วยความระมัดระวัง

คุณ Brian ยังได้กล่าวถึงบทบาทและข้อจำกัดของ AI ว่า เมื่อเราใช้ AI สำหรับการทำงานอัตโนมัติและการวิเคราะห์ข้อมูลมากขึ้น เราต้องระลึกไว้เสมอว่า AI ได้รับการฝึกและเรียนรู้จากข้อมูลในอดีต และอาจไม่พร้อมรับมือกับอนาคตมากเท่าที่เราหวัง

คุณ Brian เตือนว่าเราไม่ควรพึ่งพา AI ทั้งหมด โดยปราศจากการดูแลจากมนุษย์ เพราะ AI ทำงานในระบบปิด ซึ่งมีความซับซ้อนน้อยกว่าโลกของเรามาก เราต้องพัฒนาและใช้นวัตกรรมอย่างมีความรับผิดชอบ โดยไม่ละเลยความคิดสร้างสรรค์และจริยธรรมของมนุษย์

อย่าหยุดเดิน เพราะทุกการกระทำของคุณมีความหมาย

ใจความสำคัญที่คุณ Brian ต้องการสื่อ คือ ทุกการกระทำ แม้เพียงเล็กน้อย สามารถสร้างผลกระทบได้อย่างกว้างขวาง สำหรับเราแล้ว คำพูดนี้ไม่เพียงมองพลังในการทำงาน แต่ยังเป็นการเตือนให้เราเดินไปข้างหน้าอย่างมีสติ พยายามควบคุมสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้ โดยที่ระลึกอยู่เสมอว่า แม้ความสำเร็จจะตั้งอยู่บนความไม่แน่นอน แต่การทำงานที่มีความหมาย และการก้าวไปข้างหน้าด้วยความตั้งใจ มันก็คุ้มค่าที่จะเสี่ยงเพื่อโลกและสังคมที่ดีกว่า

ขอขอบคุณคุณ Brian Klaas สำหรับแนวคิดและแรงบันดาลใจ และขอขอบคุณ LINE MAN Wongnai ที่จัดงานดีๆ นี้ขึ้น หวังว่านักการตลาดทุกคนจะพร้อมก้าวสู่ความโกลาหล และลองสิ่งใหม่ด้วยความตั้งใจ เพราะในโลกที่ความโกลาหลและความบังเอิญเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ทุกการกระทำของเรามีความหมายเสมอ