เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2566 Mission To The Moon ได้จัดงานอีเวนต์ใหญ่ครั้งแรกกับงาน ‘Mission To The Moon Forum 2023 : Work-Life Improvement พัฒนาทักษะชีวิตและการทำงานในวันนี้ให้ดีกว่าเดิม‘ ณ Samyan Mitrtown Hall
นอกจาก Session สัมมนาที่เต็มอิ่มจาก Speakers ชั้นนำของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น คุณแท็บ รวิศ หาญอุตสาหะ, คุณเล้ง ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร, นิ้วกลม คุณสราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ และ ผู้บริหารชั้นนำของประเทศไทยอีกมากมาย ที่มามอบแนวคิด แชร์ประสบการณ์จากคนเคยทำงาน สู่วันที่สำเร็จ ทำให้ได้รับความรู้อัดแน่นอย่างเต็มเปี่ยม
ไม่ได้มีเพียงแค่ Session ที่จัดเต็มเท่านั้น แต่บูธกิจกรรมภายในงานก็น่าสนใจไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นบูธของคนเป็ดๆ จาก Liberator ที่ให้มนุษย์เป็ดให้กำลังใจกัน หรือ บูธ Blind Date with Books จากทาง Mission To The Moon ให้คอหนังสือได้มาแลกเปลี่ยนหนังสือที่ชอบ (แน่นอนว่าทีม Content Shifu ไม่พลาดจะไปแลกด้วย)
นับว่าเป็นงานอีเวนต์ที่สนุกสนาน ได้ความรู้ ได้แนวคิด และ ได้กำลังใจในการพัฒนาตัวเองจากทั้ง Speakers และผู้เข้าร่วมงานทุกคนที่ต่างเขียนข้อความให้กำลังใจกันและกัน เป็นงานที่ฮีลใจ #มนุษย์เงินเดือน จริงๆ
แต่ความพิเศษยังไม่หมดเพียงเท่านี้…
เพราะ Content Shifu ยังได้มีโอกาสสัมภาษณ์ส่วนตัวกับ คุณรวิศ หาญอุตสาหะ เจ้าของแบรนด์ Srichand และ Mission To The Moon
เราเลยไม่พลาดโอกาสที่จะพูดคุยถึงโลกการทำงานที่ คุณรวิศ หาญอุตสาหะ หรือ พี่แท็บ มองเห็นผ่านเลนส์ของผู้บริหาร โดยคำถามที่รวบรวมมาวันนี้ ล้วนเป็นคำถามที่มนุษย์เงินเดือนสงสัยและติดอยู่ในใจ เราจะลองมาให้ผู้บริหารตอบกันดูค่ะ!
อยากให้แนะนำตัวหน่อยค่ะ
สวัสดีครับ ผมรวิศ หาญอุตสาหะ เป็น CEO ของ Srichand และ Mission To The Moon Media ครับ
ขอเข้าเรื่องด้วยคำว่า Work – Life Balance กับ Workflow พี่แท็บมีความคิดเห็นอย่างไรกับสองคำนี้คะ
จริงๆ เรื่องนี้อยู่ที่เวลาของงาน โดยเฉพาะพนักงานที่ทำงานแข่งกับเวลา อย่างพวกสื่อมีเดียต่างๆ เวลามันก็จะไม่ค่อยแบบ เป๊ะๆ แบ่งเป็นสัดส่วนอยู่แล้ว เพราะงั้น มันก็อยู่ที่ว่าเราจะช่วยเขาจัดสรรเวลาอย่างไร โดยการให้เดดไลน์ ให้วันประชุมติดตามงาน หรือ กำหนดส่งโดยคำนึงถึงเวลาที่เขาต้องใช้อยู่แล้ว การทำแบบนี้ ก็จะช่วยให้เขาได้จัดสรรเวลาทำงานด้วยตัวเองในขอบเขตเวลาที่เรากำหนด การจะบาลานซ์ยังไงก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนครับ
ถ้าเวลาสามารถจัดสรรได้ งั้นแสดงว่าการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ในไทยจะเป็นไปได้ไหมคะ เพราะในต่างประเทศก็เริ่มกันแล้ว
เป็นอะไรที่น่าสนใจมาก ตัวผมเองก็กำลังศึกษาและทดลองวิธีการนี้อยู่ เพราะว่าถ้าเราสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพใน 4 วันได้ ก็สามารถทำงานแค่ 4 วัน แล้วเอาวันที่เหลือไปเพิ่มพลัง พักผ่อนให้เต็มที่คงดีกว่า ผมได้ยินมาว่าในไทยมีบางบริษัทที่เริ่มปรับแล้วเหมือนกัน และเชื่อว่าในอนาคตเอง ประเทศไทยก็จะค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไปสู่การทำงานแบบนี้ได้
ขอมาที่เทรนด์ยอดฮิตอย่าง ‘การลาออกของเด็กจบใหม่' กันบ้าง ในฐานะ CEO คิดยังไงกับเรื่องนี้คะ
เราต้องยอมรับว่าเรื่องการลาออกของเด็กจบใหม่ เป็นเรื่องที่ทุกบริษัทเข้าใจและรับรู้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่ควรอยู่ในแผนที่เราจะสามารถควบคุมได้ เพราะงั้นสิ่งที่ควรโฟกัส คือ จะทำยังไงให้ตอนอยู่อยู่กันอย่างมีความสุข และ จากกันด้วยดีมากกว่าครับ อย่างสวัสดิการที่ดี สังคมที่พร้อมซัพพอร์ตการเรียนรู้ของเขาครับ
ว้าว เพราะอย่างนั้นสวัสดิการที่ Mission To The Moon ถึงมีเรื่องการเรียนรู้และหนังสือด้วยใช่ไหมคะ
เรื่องความรู้เรามองว่าเป็นโอกาสที่จะให้พนักงานได้พัฒนาในสิ่งที่เขาสนใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราอยากส่งเสริม ส่วนเรื่องสวัสดิการหนังสือเนี่ย ผมเป็นคนเชื่อในพลังของหนังสือนะ ผมเลยอยากสนับสนุนให้มีคนชอบและอ่านหนังสือมากขึ้นครับ
เป็นอะไรที่ดีมากๆ เลยค่ะ คราวนี้ขอมาเรื่องการปรับตัวในยุคนี้กันบ้าง พี่แท็บเคยบอกว่า ‘เราต้องปรับตัวเหมือนน้ำ เมื่อภาชนะเปลี่ยนก็เปลี่ยนตาม' แต่ถ้ามีคนบางรุ่นที่เขาปรับตัวไม่ทัน หรือ อาจไม่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงตามเทคโนโลยี องค์กรจะทำอย่างไรคะ
ผมคิดถึงประโยคหนึ่งที่พี่โจ้ ธนา เคยพูดไว้ว่า “คนเก่าก็ให้ทำส่วนเก่า คนใหม่ก็ให้ทำส่วนใหม่” คำพูดนี้มันทรงพลังและชัดเจนมากๆ ครับ ถึงแม้เราจะบอกว่าต้องปรับตัว แต่แน่นอนว่า มีคนที่เขาอาจไม่พร้อมจะปรับตัวตามกระแสความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลด้านแนวคิด อายุ หรือ ประสบการณ์ แต่เราจะไปบังคับเขาไม่ได้
สิ่งที่ควรทำ คือ คนเก่าก็ให้เขาทำงานในพาร์ทเก่าที่เขาถนัดและเชี่ยวชาญ ส่วนคนใหม่ๆ ที่มาพร้อมเทรนด์ ก็ให้รับผิดชอบเรื่องใหม่ๆ เราไม่จำเป็นจะต้องมีนักวิ่งอยู่ในบริษัททุกคน เราอาจจะมีนักวิ่งมาราธอน หรือ นักจ็อกกิ้งอยู่ในเส้นทางเดียวกันก็ได้
ชอบประโยคนี้จัง มาที่อีกประเด็นหนึ่งที่ถูกพูดถึงไม่แพ้กันบ้างค่ะ นั่นคือ เรื่องที่ประเทศไทยไม่ค่อยเปิดโอกาสให้คนอายุมากกว่า 30
ยังไงเหรอครับ?
เรื่องการเปิดรับสมัครงานน่ะค่ะ บริษัทไม่ค่อยรับคนอายุมากกว่า 30 ใช่ไหมล่ะคะ ทั้งที่บางคนอาจเพิ่งค้นพบตัวเอง หรือ เริ่มทำงานช้าก็ได้ แต่กลับหมดโอกาสทำงานที่ชอบซะแล้วแค่เพราะอายุเกิน
จริงครับ ผมมองว่าอายุเป็นเพียงตัวเลข และความสามารถไม่ได้ถูกกำหนดโดยอายุ ต้องบอกว่านี่เป็นเรื่องของความหลากหลายเนอะ ทั้งความหลากหลายด้านเจเนอเรชั่นและอายุ บริษัทที่เข้าใจในเรื่องนี้ก็ดีครับ แต่ก็ยังมีบางบริษัทที่อาจจะยังไม่ได้เปิดรับในแง่นี้
เราก็ต้องค่อยๆ ปรับกันไปครับ ไม่ว่าจะอายุเท่าไร ความรู้ก็ไม่สิ้นสุดหรอกครับ ค่อยๆ สร้างค่านิยมที่ดี เพื่อเปลี่ยนให้สังคมการทำงานในไทยเปิดกว้างและดียิ่งขึ้นครับ
วันนี้สนุกมากเลยค่ะ แต่เวลาใกล้จะหมดแล้ว ก่อนจากกันอยากถามเรื่องที่กำลังเป็นกระแสในทวิตเตอร์ กับการที่พี่แท็บลงไปช่วยแจกของด้วยตัวเองในงานอีเวนต์หนึ่ง…
อ้อ ครับ (หัวเราะ)
ได้รับเสียงชื่นชมมากเลยนะคะ ว่าทำไม CEO ระดับสูงของแบรนด์ใหญ่อย่าง Srichand ถึงลงไปแจกของด้วยตัวเอง แต่นี่ก็ทำให้เห็นว่าคนไทยยังติดกับภาพลักษณ์ CEO ที่เข้าถึงยาก พี่แท็บคิดว่าในยุคนี้ CEO ควรจะเข้าไปดูแลลูกค้าด้วยตัวเองดีกว่าไหมคะ
ผมว่าควรนะ ก็เหมือนกับการสื่อสารแหละครับ การที่ลูกค้าได้รู้จักแบรนด์ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ที่มีนิสัยใจคอ พูดคุย ปฏิสัมพันธ์ด้วย ก็ทำให้รู้สึกเป็นมิตรกับแบรนด์นั้น เหมือนรู้จักเพื่อนใหม่คนหนึ่งที่เราอยากจะคบเขาไปนานๆ เหมือนคุยกันถูกคอ จริงๆ มี CEO หลายคนเลยนะครับที่ทำแบบเดียวกัน
ทิ้งท้ายก่อนจากกัน
เป็นการสัมภาษณ์ที่สนุกและได้แง่คิดต่อการทำงานกลับมาเต็มเปี่ยม ไม่แปลกใจเลยที่ทำไม Mission to the moon ถึงเป็นอีกหนึ่งสื่อเพื่อมนุษย์เงินเดือนทุกคน เพราะ ทัศนคติที่เปิดกว้างและความตั้งใจที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับใครหลายๆ คนของคุณรวิศ หาญอุตสาหะ นี่เอง
หวังว่าบทสัมภาษณ์นี้จะช่วยตอบคำถามที่สงสัย และ เป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนได้นะคะ 😉
ติดตามคอนเทนต์พัฒนาตัวเองเพื่อคนทำงานได้ที่ Mission To The Moon และพบกับในบทสัมภาษณ์หน้าค่ะ
ติดตาม Mission to the moon morning report ทุกเช้าเลยค่ะ เป็นรายการข่าวที่ดีมากๆ นำเสนอข่าวที่มีประโยชน์และสามารถสร้างแรงบรรดาลใจในตอนเช้าได้ดี ขอบคุณสำหรับบทสัมภาษณ์นะคะ