เราเห็นสิ่งนี้มาหลายเดือนแล้ว ตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม 2018 ไม่ทราบว่ามีใครสังเกตเห็นเหมือนกันหรือเปล่า

ถ้าคุณแปะลิงก์เว็บใดๆ ลงไปบน Facebook พอเราคลิกเพื่อกดดูลิงก์นั้น จะมีพารามิเตอร์บางอย่างแทรกเข้ามาอยู่ที่ท้ายลิงก์

เช่น อย่างในภาพนี้

fbclid facebook click identifier appear in post

ตัวลิงก์ต้นฉบับที่แปะลงไปนั้น เดิมทีคือ https://bit.ly/2To1qF0 แต่ปรากฏว่ามี ?fbclid= และตามด้วย String หรือชุดตัวอักษรยาวเหยียด ที่ถูก Facebook เพิ่มเข้ามาให้เอง

ลองดูอีกภาพกันบ้าง ครั้งนี้เปลี่ยนมาใช้ลิงก์แบบชื่อเต็ม มีการทดลองทั้งเว็บไซต์ภายในของเราเองและการแชร์ลิงก์เว็บอื่น ก็พบ ?fbclid=… ตามมาเช่นเดียวกัน

fbclid facebook click identifier appear in post 2

เอาล่ะ ที่นี้ลองแชร์ลิงก์บางอย่างบน Facebook ของคุณ แล้วดูสิคะว่าเห็นเหมือนกันหรือเปล่า

ถ้าคุณใช้ Facebook ผ่านเว็บเบราเซอร์ คุณน่าจะเห็นเหมือนกัน แต่ถ้าคุณใช้ผ่านแอป คุณอาจจะไม่เห็น (แม้ว่าตอนโพสต์จะโพสต์ผ่านเว็บ แต่ถ้ามาดูผ่านแอปอีกที ก็ไม่เห็นแล้วเหมือนกัน)

ว่าแต่ว่าเจ้าสิ่งนี้คืออะไรกันนะ ทำไมมันโผล่มาตอนอยู่บนเว็บเบราเซอร์ แต่บนแอปไม่โผล่

Facebook Click Identifier (fbclid) คืออะไร

FBCLID หรือ Facebook Click Identifier คือ Tracking parameter ที่ต่อท้ายลิงก์เพื่อให้ Facebook สามารถเก็บข้อมูลเกี่ยวกับลิงก์และนำไปใช้ติดตามวัดผลได้ดีขึ้น

ความจริงแล้วค่าย Google เองก็มีใช้งานพารามิเตอร์ที่มีตัวย่อว่า GCLID (Google Click Identifier) มาก่อนแล้วเช่นกัน ซึ่ง Google เขาใช้เพื่อการเก็บข้อมูลระหว่างกัน ระหว่าง Google Ads กับ Google Analytics

“คิดว่า Facebook ก็คงทำอย่างเดียวกัน เพื่อให้ Analytics ของพวกเราสามารถเก็บข้อมูลและวัดผลได้ดีขึ้น” ผู้ใช้ใน Stackoverflow กล่าว

เป็นที่เปิดเผยว่า Ad Blocker และเว็บเบราเซอร์บางตัวก็มีการขัดขวางการทำงานของพวก Pixel หรือ Third-party Cookies ต่างๆ ทำให้การติดตามวัดผลเป็นไปได้ยากขึ้น นั่นทำให้ตุลาคม 2018 Facebook ได้มีการเปิดเผยเรื่องการใช้ “First-party Cookies for Facebook Pixel” เพื่อช่วยให้เก็บข้อมูลได้ดียิ่งขึ้น โดยมีการระบุไว้ในโพสต์นี้

Shifu แนะนำ
ถ้าคุณยังไม่รู้ว่า Facebook Pixel คืออะไร สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ Facebook Retargeting ของคุณป้อง และ Facebook Remarketing ของคุณแบงค์ค่ะ

แม้ว่าในโพสต์จะอ้างอิงถึง Facebook Ads เป็นหลัก แต่ก็มีความเชื่อกันว่า fclid ที่ปรากฏมาในเวลาใกล้ๆ กันนั้น น่าจะเกี่ยวข้องกับ First-party Cookies ด้วย (ที่ขอใช้คำว่า ‘น่าจะ' เพราะยังไม่มี Official Announcement จาก Facebook ออกมาโดยตรง)

Shifu แนะนำ

ถ้าคุณสนใจศึกษาต่อเรื่อง First-party Cookies for Facebook Pixel เราได้เลือกบทความที่เขียนอธิบายเรื่องนี้ได้ดีมาให้แล้ว 4 บทความ ลองตามไปอ่านกันดูนะคะ
Medium article from Jody Milward, MarketingLand, Digi Day, gtm4wp

ผลกระทบของ fbclid

มาถึงตรงนี้ คุณอาจมีคำถามว่า “So what? แล้วเราควรต้องรู้อะไร?” เราเลยขอเขียนถึงผลกระทบเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดจากสิ่งนี้ให้ทราบกันซักหน่อย

ผลกระทบที่เกิดจากการมาของ fbclid ที่เราพบ ได้แก่

1. ความสวยงามของ URL

อันนี้เป็นข้อเสียด้วยตาเปล่าอันดับแรกที่นึกถึงเลย คือถ้า User คลิกไปอ่านอย่างเดียวเฉยๆ ก็คงไม่ได้ส่งผลอะไร แต่ถ้าเกิดว่าคอนเทนต์เราดี (แหม่) แล้วเกิดมีคนอยาก Copy URL ไปกดแชร์ต่อหรือส่งต่อ มันก็จะมีไอ้เจ้าพารามิเตอร์ยาวๆ นี่พ่วงติดไปด้วย ซึ่งข้อเสียก็คือ URL ดูยาวและรก ไม่ค่อยสวยงาม ยิ่งถ้าเว็บไหนตั้งชื่อ URL เป็นภาษาไทย ซึ่งบางทีจะถูก Encode ให้เป็น String ที่ยาวอยู่แล้ว ก็ยิ่งยาวกันเข้าไปใหญ่

ภาพสถานการณ์สมมติ

2. ถูกมองว่าเป็นคนละเว็บเพจ เมื่อดูใน Google Analytics

อันนี้สาระเพิ่มเติมอีกนิดค่ะ สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อลิงก์มันถูกต่อเติมว่าไม่เหมือนเดิม เวลา Google Analytics มองก็จะมองว่ามันเป็นคนละลิงก์กัน

ตัวอย่างเช่น Google Analytics ก่อนหน้านี้ของ Content Shifu ก็พบกับหน้าจอในลักษณะนี้

facebook pixel parameter in google analytics

เมื่อสังเกตดูจะพบว่าบาง URL นั้นจริงๆ แล้วเป็น URL เดียวกัน เช่น /inbound-marketing-book/ ในข้อ 2. ข้อ 3. และข้อ 9. แต่ว่าการมี fbclid ตามหลัง ทำให้มันมองเหมือนเป็นคนละลิงก์กัน

นอกจากนี้ในเว็บต่างประเทศยังมีคนออกมาแชร์ถึงผลกระทบต่างๆ ที่ตัวเองเจอ เช่น การนับยอด Shares, Google Map API, ผลกระทบต่อ Cloudflare หรือกระทั่งเว็บเพจที่ถูก Indexed ติดอันดับบน Google มันดันไป Indexed เพจที่มี fbclid เป็นต้น ลองอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบที่คนอื่นๆ ได้รับ ได้ที่คอมเมนต์ของบทความในเว็บ thisinterestsme และบทความนี้ในเว็บ fbclid.com

ไม่รู้ว่ามีอะไรอื่นๆ อีกรึเปล่า ใครมีอะไรเพิ่มเติมเล่าสู่กันฟังกันในคอมเมนต์ใต้บทความนี้ได้นะคะ

ข้อสังเกต

อย่างที่ได้เกริ่นไว้ตอนต้นว่า fbclid นี้ไม่ได้ปรากฏในทุกสถานการณ์ ผู้เขียนบล็อก thisinterestsme ได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า…

  • ตอนที่เปิด Facebook ผ่านเบราเซอร์แบบ Incognito mode บน PC เขาไม่เห็นพารามิเตอร์ fbclid ที่ลิงก์
  • ตอนล็อกอินเข้า Facebook ตามปกติอีกครั้ง มองเห็น fbclid parameter ที่ลิงก์
  • เมื่อกดที่ลิงก์โดยเล่นผ่าน Facebook App ในมือถือ จะไม่เห็น fbclid
  • แต่ถ้าเล่นบนมือถือโดยไม่ผ่านแอป จะเห็น fbclid อยู่

เราลองทำตามที่เขาเขียนไว้ก็เห็นอย่างเดียวกันเช่นกันค่ะ ใครมีข้อสังเกตอะไรอื่นๆ อีกก็แชร์กันได้นะคะ

วิธีเอาเจ้า fbclid ออก

ความสนุกของการติดตามข่าวสารต่างประเทศก็คือ คนไม่ได้เพียงรับรู้อย่างเดียวแต่มีทำ Action อะไรบางอย่างด้วย ในเคสนี้ก็คือมีหลายๆ คนพยายามหาทางเอาเจ้า fbclid นี้ออก ตัวอย่างวิธีที่มีการแชร์กันมาก็อย่างเช่น

เอาออกจาก View ใน Google Analytics

อย่างที่ได้เกริ่นในช่วงผลกระทบกับ Google Analytics กันไปแล้ว สิ่งที่เราควรทำคือการ Exclude หรือเอา fbclid parameter ออกจาก Report ของ Google Analytics

ทำยังไงให้ Report เป็นเหมือนเดิม?

คุณสามารถทำได้โดยการเข้าไปที่ Admin > View Settings แล้วมองหาช่อง Exclude URL Query Parameters ในช่องนี้คุณสามารถใส่ Parameter ที่คุณต้องการนำออกจาก Report ซึ่งคุณสามารถใส่ fbclid ลงไปได้

google analytics view setting remove fbclid

ตั้งค่า Canonical URL

เว็บเพจที่มีหลายเวอร์ชัน แต่คอนเทนต์เดียวกัน คุณสามารถเลือกเวอร์ชันใดเวอร์ชันนึงเป็น “Canonical” เวลาที่ Search engine ต้องการเข้ามา Index ก็จะเลือก Index อันที่เป็น Canonical เป็นหลัก

ส่วนใหญ่แล้ว Canonical URL จะนำมาใช้ในการแก้ Duplicate content ถ้าคุณใช้ Yoast SEO ใน WordPress คุณสามารถตั้งค่าเช่นนี้ได้

canonical url yoast seo

ฉะนั้นจากเดิมที่คุณใส่ URL นี้ลงไปในช่อง Address bar

contentshifu.com/how-to-make-inbound-marketing-work/?fbclid=IwAR30WpJQjeaQ6UxFtVSQMJxgDbfaajEnCXjM5TfAY_qn7hByP0cl3QhyHFo

เมื่อมีการตั้ง Canonical URL ตัวเวอร์ชันอื่นๆ ใดๆ ที่เกิดขึ้นมานั้น จะถูกพาไปยังเวอร์ชันหลักที่ทำเป็น Canonical เอาไว้ ซึ่งในที่นี้ก็คือใช้ Slug ปกติของเรานั่นเอง

contentshifu.com/how-to-make-inbound-marketing-work

วิธีนี้เป็นการแก้ไขไม่ให้ Search engine สับสนเวอร์ชันต่างๆ แล้วเข้ามา Index เพจผิดเวอร์ชัน แต่ก็ยังไม่ได้แก้ไขเรื่องลิงก์ยาวๆ ที่ปรากฏบน Address bar หากจะมีคนก็อปปี้ไปใช้ต่อ

เอาพารามิเตอร์ออกไปจาก URL

ในเรื่องการแก้ไขระดับ Address bar สำหรับสาย Geek หน่อย ก็เห็นมีหลายคนที่พยายามทำให้มีการตัดพารามิเตอร์ออกจาก URL ใน Address bar เช่น การใส่โค้ดเพิ่มใน .htaccess file ถ้าเป็นเว็บ WordPress หรือใส่ใน Javascript …โดยส่วนตัวยังไม่เคยลองใช้วิธีเหล่านี้ค่ะ

สรุป

ถึงตรงนี้ถ้ายังไม่แน่ใจว่าจะเริ่มต้นจากอะไรดี เริ่มต้นจากลองทดสอบดูว่าคุณเห็น Facebook Click Identifier หรือ fbclid เหมือนกันไหม จากนั้นลองตั้งค่า View settings ใน Google Analytics ก่อนก็ได้ค่ะ

fbclid เป็นเพียงตัวอย่างของผลกระทบเล็กๆ ที่เกิดขึ้นจากการอัปเดตเปลี่ยนแปลงของแพลตฟอร์มต่างๆ สิ่งที่เป็น Key takeaways ที่อยากฝากไว้สำหรับบทความนี้ยังคงเป็นเรื่องการแนะนำให้นักการตลาด เฝ้าสังเกตและอัปเดตความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ นอกจากการสังเกตแล้ว ยังอยากให้มีการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม และลงมือปฏิบัติตามอัปเดตต่างๆ ด้วยนะ

ตาคุณแล้ว

คุณได้รับผลกระทบจาก fbclid แล้วหรือไม่ อย่างไร มาเล่าสู่กันฟังได้เลยนะคะ

ถ้าสถานการณ์ต่างๆ ที่ได้แชร์ไว้ในบทความนี้เกิดขึ้นกับคุณเช่นเดียวกัน หวังว่าคำแนะนำต่างๆ ที่หยิบยกมาให้จะเป็นประโยชน์กับการทำงานของคุณค่ะ

New call-to-action