“ใครยิ่งมีข้อมูลเยอะ ยิ่งได้เปรียบ”

การทำการตลาดดิจิทัลจะทำให้นักการตลาดมีข้อมูลอยู่ในมือเยอะแยะมากมาย ใครยิ่งมีเยอะก็ยิ่งได้เปรียบ การทำการตลาดบน Facebook โดยเฉพาะการทำโฆษณาด้วย Facebook Ads ก็เช่นกันครับ ใครยิ่งใช้ข้อมูลเชิงลึกที่มีอยู่ในมือให้เป็นประโยชน์ได้มาก ก็จะยิ่งทำให้โฆษณามีประสิทธิภาพขึ้นชัดเจน 

ถึงแม้จะขึ้นชื่อว่า Facebook แต่อย่างที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันยังมี Touchpoint ที่จำเป็นสำหรับธุรกิจยังมีอีกหลายส่วนครับ โดยเฉพาะเว็บไซต์ 

ในบทความนี้ผมจะพาทุกท่านไปรู้จักกับเครื่องมือใน Facebook ที่เหมาะสำหรับทำ Data Analytics เพื่อให้เราได้ข้อมูลเชิงลึกที่มากกว่า Facebook Insight ทั่วไป และผมจะเล่าว่ามันช่วยให้เราวิเคราะห์ Data และนำไปใช้ในการทำ Facebook Ads ต่ออย่างไร รวมทั้งการนำไปช่วยในการทำการตลาดส่วนอื่นๆ ได้อย่างไรอีกด้วยครับ

เครื่องมือ Data Analytics ใน Facebook ที่คุณควรรู้จัก

เพื่อให้ Facebook เก็บข้อมูลบนเว็บไซต์ เราจะต้องมีการติดตั้ง Facebook Pixel ก่อน Facebook Pixel คือโค้ดเล็กๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ในการไปวางบนหน้าเว็บเพจของเว็บไซต์ เพื่อคอยจับ Traffic ต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนหน้าเว็บเพจเหล่านั้นครับ ซึ่งสามารถวางให้ทำงานได้ 2 แบบคือ การให้ Pixel เริ่มทำงานตั้งแต่หน้าเว็บเพจถูกโหลดขึ้นมา หรือการให้ Pixel ทำงานเมื่อมีการคลิกปุ่มใดปุ่มหนึ่งบนหน้าเว็บเพจ 

เมื่อมีการให้ Facebook Pixel เก็บรวบรวมข้อมูลไปได้ระยะเวลาหนึ่ง เราจะสามารถใช้เครื่องมือบนระบบ Facebook ดูข้อมูลเชิงลึกได้ เครื่องมือที่ว่านี้ หลักๆ ก็มี 2 ตัวครับ ที่ผมมองแล้วว่าสามารถใช้กันได้ทุกคน และไม่ยากเกินไปในการใช้งาน นั่นคือ Events Manager และ Facebook Analytics ซึ่งทั้งสองตัวนี้เป็นเครื่องมือที่อยู่บนระบบโฆษณา Facebook Ads อยู่แล้วครับ 

การใช้ Facebook Events Manager ดูข้อมูล Event ต่างๆ ของ Facebook Pixel

Facebook Events Manager (ตัวจัดการเหตุการณ์) คืออะไร

Facebook Events Manager คือ เครื่องมือสำหรับการจัดการเหตุการณ์ที่เราต้องการให้ Facebook ติดตาม เครื่องมือนี้นอกจากจะเอาไว้จัดการและตั้งค่าต่างๆ ของ Facebook Pixel แล้ว เรายังสามารถใช้ดูข้อมูลเชิงลึกของจำนวน Traffic ที่ Facebook Pixel จับมาได้ โดยใช้ Event ที่ฝังอยู่ในโค้ดนั้นเป็นตัวแบ่งประเภทข้อมูลครับ รวมทั้งสามารถ Breakdown ข้อมูลเพิ่มเติมออกมาได้อีกหลายแบบ เช่น แยกตาม URL หรือแยกตามอุปกรณ์ เป็นต้น

ฟีเจอร์ Event Manager ใน Facebook

Shifu แนะนำ
ชื่อ Event Managers เป็นชื่อเมนูเครื่องมือหลักที่ครอบคลุมการใช้งาน Facebook Pixel อยู่ในตัวด้วยครับ ซึ่งเวอร์ชันใหม่ของ Facebook Ads จะเอาเมนู Pixel ออกไปแล้ว ทำให้ต้องเข้าไปจัดการผ่านเครื่องมือตัวนี้แทน เมื่อเข้ามาที่เครื่องมือนี้แล้ว เราจะต้องเลือก Data Source ทางซ้ายให้เป็น Pixel ที่เราต้องการทำงานด้วยก่อนครับ 

การใช้ Event เพื่อเก็บข้อมูลเหตุการณ์

ในโค้ดของ Facebook Pixel ของเราทุกคน จะมี Event สอดแทรกอยู่ด้วย ซึ่ง Event ตัวหลักที่เป็นพื้นฐานอยู่ใน Pixel ของทุกคนมีชื่อว่า PageView ครับ ซึ่งเป็น Event หลักที่ใช้จับ Traffic คนเข้าเว็บไซต์นั่นเอง นอกจากนี้เรายังสามารถเพิ่มเติม Event ที่เราต้องการลงไปได้อีก โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ Standard Event และ Custom Event

Standard Event เป็นเหตุการณ์มาตรฐานที่ระบบ Facebook กำหนดมาให้เรา ซึ่งสามารถตั้งค่าได้จากเครื่องมือ Events Manager นี้ได้เลยครับ มีตัวเลือกให้เลือกเยอะแยะมากมาย แบ่งออกเป็นหลายประเภทธุรกิจ เช่นตัวอย่างด้านล่าง จะเป็นการตั้งค่า Standard Event ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ครับ โดยเลือก Event เป็น Lead และสั่งให้เก็บพารามิเตอร์มูลค่าของ Lead แต่ละครั้งด้วย โดยมีมูลค่า 500 บาทต่อ Lead

การติดตั้ง Facebook Pixel

เมื่อเราตั้งค่าเสร็จแล้ว Facebook จะสร้างโค้ดเพิ่มเติมมาให้เราสามารถนำไปฝังลงในหน้าเว็บเพจที่เหมาะสมได้ เช่น หน้าลงทะเบียนเสร็จสมบูรณ์ เมื่อมีใครลงทะเบียนเสร็จเรียบร้อย ก็จะถูกเก็บรวบรวมเข้าไปใน Standard Event ตัวนี้ หรืออาจจะเป็นการฝังโค้ดลงไปตรงปุ่ม “ลงทะเบียน” ก็ได้ครับ เมื่อมีใครคลิกปุ่มนี้ ก็จะถูกเก็บเข้าไปใน Standard Event ได้เช่นกัน โดยแต่ละ Lead จะมีมูลค่าทางการตลาด 500 บาทนั่นเอง ซึ่งข้อดีของมูลค่าทางการตลาดที่ว่านี้คือ มันจะช่วยให้เราสามารถคำนวณหาค่า Return on Ad Spend (RoAS) ต่อได้นั่นเอง (คุณสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมและวิธีการติดตั้ง Standard Event ได้ที่นี่)

นอกจาก Standard Events แล้ว เรายังสามารถเพิ่มชื่อ Event ที่เราตั้งเองลงไปได้อีกด้วยครับ ซึ่งเราจะเรียกมันว่า Custom Events ในกรณีที่เราต้องการแบ่ง Event แยกย่อยออกเป็นหลายตัวเพื่อจะได้ดูข้อมูลได้สะดวกขึ้น เช่น สมมติว่าเราเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และกำลังเปิดขายคอนโด 2 โครงการอยู่ที่สุขุมวิทที่หนึ่ง และทองหล่ออีกที่หนึ่ง เราอาจมีหน้าเว็บลงทะเบียนเสร็จสมบูรณ์ 2 หน้าแยกตามโครงการ ในการใช้งาน Pixel ให้สะดวกขึ้น เราอาจสร้าง Custom Events ชื่อ Lead_Sukhumvit และ Lead_Thonglor ก็ได้ครับ และนำไปฝังลงในหน้าเว็บเพจให้ถูกต้อง

หลังจากที่เราใส่ Event ต่างๆ ที่เราต้องการลงใน Pixel และนำไปฝังลงในเว็บไซต์แล้ว เมื่อเวลาผ่านไป Pixel ของเราก็จะรวบรวมข้อมูล Traffic การใช้งานเว็บเพจแต่ละหน้าของเรา และแสดงผลออกมาเป็นข้อมูลตัวเลขและกราฟผ่านเครื่องมือ Events Manager นี้ครับ โดยเมื่อเข้าไปที่เครื่องมือตัวนี้แล้ว เราจะสามารถเลือก Pixel ที่เราต้องการดูได้จาก Data Source ด้านบนซ้ายของหน้าจอ

Event Manager Dashboard

การดูข้อมูลเชิงลึกผ่านเครื่องมือตัวนี้จะดูย้อนหลังได้สูงสุด 28 วันนะครับ ซึ่งจะทำให้เราพอเห็นภาพ Traffic ของการใช้งานเว็บไซต์ของเรา โดยบริเวณตรงกลางหน้าจอจะโชว์กราฟแบ่งสีออกตาม Event ทำให้เราเห็นแนวโน้มการเกิด Traffic ของ Event แต่ละตัวเทียบกันได้ชัดเจน ส่วนด้านล่างจะแสดงข้อมูลตัวเลขจำนวน Traffic ที่เกิดขึ้นของแต่ละ Event 

จากภาพด้านบน จะเห็นได้ว่าข้อมูลจะถูกแสดงหมดทั้ง Standard Event คือ PageView และ ViewContent รวมทั้ง Custom Event ที่ผมตั้งขึ้นเองคือ PongEvent ด้วยครับ ทำให้เราเห็นปริมาณการเกิด Traffic ของแต่ละ Event เพื่อนำไปใช้งานในส่วนอื่นๆ ต่อได้ เช่น หากเราต้องการสร้าง Website Custom Audience ที่มีคุณภาพ เราอาจต้องมาดูข้อมูลที่เครื่องมือนี้ ซึ่งจะบอกได้ว่าเราควรจะจับ Traffic ย้อนหลังกี่วันในการสร้าง Audience เพื่อให้มีขนาดที่เหมาะสมและยังเป็นกลุ่มเป้าใหม่ที่มีความสดใหม่ที่สุด เป็นต้น

หากการดูจำนวนตัวเลขรวมของแต่ละ Event ยังไม่เพียงพอในการนำไปวิเคราะห์ได้ เรายังสามารถกดคำว่า View Details ที่อยู่ใต้ชื่อ Event เพื่อเข้าไปดูข้อมูลแยกย่อยของแต่ละ Event ได้ครับ โดยข้อมูลจะสามารถแสดงจำนวน Traffic ที่เกิดขึ้นแบ่งแยกเป็น URL ได้ โดยมีรายการ URL ที่ Event ตัวนี้ถูกไปวางไว้และมี Traffic เกิดขึ้นครับ หากเราต้องการดูว่าเว็บเพจไหนมีการเกิด Traffic เยอะกว่ากัน หรือปริมาณการลดทอนของหน้าเว็บเพจจากหน้าหนึ่งไปอีกหน้าหนึ่ง ก็พอจะดูคร่าวๆ จากข้อมูลในหน้านี้ได้ โดยสามารถดูแบบกราฟและแบบตัวเลขได้ ดังรูปด้านล่างนี้

Event Manager Dashboard แยกดูข้อมูลตาม URL

นอกจากการดูข้อมูลแยกย่อยแบ่งเป็น URL แล้ว เรายังสามารถดูข้อมูลแยกย่อยแบ่งตาม Devices ได้อีกด้วยครับ ซึ่งจะสามารถใช้ในการวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ใช้งานเว็บของเราว่า ส่วนใหญ่แล้วเปิดดูเว็บเราจากอุปกรณ์อะไร ทำให้เราสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลช่วยในการออกแบบเว็บไซต์ได้ 

Event Manager Dashboard แยกดูข้อมูลตามอุปกรณ์ที่เข้าถึง

Shifu แนะนำ

ในการสร้าง Website Custom Audience เราสามารถเลือกสร้างจากชื่อ Event และคัดกรองให้เหลือ Traffic เฉพาะ URL บางหน้าได้ โดยก่อนที่จะสร้าง Audience เราสามารถมาเช็คปริมาณ Traffic ของหน้าเว็บเพจแต่ละหน้าก่อนได้ จะได้ไปเลือกกรองให้เกิดขนาด Custom Audience ที่เหมาะสมที่สุดครับ

นอกจากการกรองด้วย URL แล้ว เรายังสามารถกรองด้วย Device ได้อีกด้วยครับ ทำให้การทำ Website Custom Audience มีการเลือกกลุ่มเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงขึ้นได้อย่างชัดเจน

การสร้าง Website Custom Audience

Facebook Analytics ใช้ในการทำ Data-Driven Marketing ได้อย่างไร

นอกจากการดูข้อมูลเชิงลึกเบื้องต้นของ Facebook Pixel บน Events Manager แล้ว เรายังสามารถต่อยอดการดูข้อมูลให้ลึกขึ้นได้อีกด้วยเครื่องมือ Facebook Analytics ครับ เครื่องมือนี้จะแสดงข้อมูลเชิงลึกที่เป็นประโยชน์ และละเอียดกว่าเครื่องมือแรกอยู่มาก ซึ่งเครื่องมือตัวนี้สามารถเข้าได้โดยตรงจากเครื่องมือ Events Manager ได้เลย โดยกดตรงคำว่า View Analytics ในคอลัมน์ทางซ้าย

Facebook Analytics คืออะไร

Facebook Analytics คือ

Facebook Analytics คือ เครื่องมือติดตามข้อมูลพฤติกรรมบนเว็บไซต์ โดยสามารถดูข้อมูล Activity ต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนเว็บไซต์ของเรา และข้อมูลประชากรศาสตร์ (Demographic) รวมถึงพฤติกรรม (Behavior) ของคนที่เข้ามาใช้งานเว็บไซต์เราได้ และนำไปวิเคราะห์แสดงออกมาเป็นกราฟข้อมูลรูปแบบต่างๆ เช่น Funnel หรือ Retention ได้ครับ 

เครื่องมือนี้มีความคล้ายคลึงกับ Google Analytics อยู่มากพอสมควร แต่เป็นของ Facebook ซึ่งหากเรานำเอาข้อมูลที่เหมาะสมไปวิเคราะห์ได้อย่างถูกต้อง จะช่วยให้เราทำการตลาดต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้นมาก โดยเฉพาะการทำ Facebook Marketing เนื่องจากเป็นเครื่องมือบนระบบ Facebook โดยตรง 

การดูข้อมูลเชิงลึกของ Facebook Pixel เพิ่มเติมบน Facebook Analytics

นอกจากการดูข้อมูลเชิงลึกเบื้องต้นของ Facebook Pixel บน Event Manager แล้ว เรายังสามารถต่อยอดการดูข้อมูลให้ลึกขึ้นได้อีกด้วยเครื่องมือ Facebook Analytics ครับ ซึ่งเครื่องมือตัวนี้สามารถเข้าได้โดยตรงจากเครื่องมือ Events Manager ได้เลย โดยกดตรงคำว่า View Analytics ในคอลัมน์ทางซ้าย

การดูข้อมูลเชิงลึกของ Facebook Pixel บน Facebook Analytics

ในเครื่องมือ Facebook Analytics นี้ จะแสดงข้อมูลเชิงลึกให้เราดูจาก Data Source หลากหลายประเภทที่เราได้สร้างขึ้นมา ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ Facebook Pixel ที่เรานำไปฝังไว้ในเว็บไซต์ของเรา ทำให้เราสามารถดูกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนเว็บไซต์เราได้ และวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ใช้งานเว็บไซต์ของเรา เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการขับเคลื่อนในการทำการตลาดต่อไปได้หลากหลายรูปแบบครับ 

การดูข้อมูลเชิงลึกของ Facebook Pixel บน Facebook Analytics 2
หน้าแรกของเครื่องมือตัวนี้คือหน้า Overview ที่จะให้เห็นภาพรวมของ Traffic ที่เกิดขึ้นบนเว็บไซต์ของเรา

ข้อดีของ Facebook Analytics มีอยู่เยอะมากนะครับ เช่น เราสามารถดูข้อมูลของ Pixel ย้อนหลังได้ถึง 2 ปี ซึ่งแตกต่างจาก Events Manager ที่ดูได้แค่ 28 วัน หรือการ Segment คนที่เราต้องการดูตามเงื่อนไขต่างๆ ได้ เพื่อทำให้วิเคราะห์ข้อมูลได้แม่นยำและละเอียดขึ้นครับ เช่นในรูปด้านล่างนี้ ผมกำลังจะขอดูข้อมูลเชิงลึกของ Traffic ที่เกิดขึ้นจากคนที่มีอายุตามที่ผมต้องการเท่านั้นครับ

การดูข้อมูลเชิงลึกของ Facebook Pixel บน Facebook Analytics 3

ผมจะขอชี้ให้เห็นข้อมูลเชิงลึกของ Facebook Pixel ที่น่าสนใจที่เครื่องมือ Facebook Analytics นี้แสดงให้เราดูนะครับ ส่วนแรกคือการแสดงจำนวน Traffic Source และ Traffic Location ทำให้เราพอจะมองภาพได้ว่า ช่องทางไหนเป็นช่องทางที่ช่วยจูงมือคนมาที่เว็บไซต์ของเรา เราก็อาจจะไปทำการตลาดเพิ่มเติมในช่องทางนั้น หรือปรับจูนให้ช่องทางนั้นมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นได้ 

ข้อมูลเชิงลึกของ Facebook Pixel ที่น่าสนใจ

ข้อมูลเชิงลึกในส่วนของ People จะบอกให้เราทราบ Demographic ของคนที่เข้าเว็บไซต์ของเราในช่วงเวลาที่เลือก โดยจะแบ่งเป็นข้อมูลเพศและอายุครับ ซึ่งเป็นตัวที่ทำให้เราทราบกลุ่มเป้าหมายได้ละเอียดขึ้น เพื่อจะนำได้ทำ Content บนเว็บไซต์ให้ตรงใจกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

People Metrics ข้อมูลเชิงลึกใน Facebook

Shifu แนะนำ

ในอดีต เครื่องมือ Audience Insights จะให้เราดูข้อมูลเชิงลึกของคนที่อยู่ใน Custom Audience ได้ครับ แต่ในปัจจุบันฟีเจอร์นี้ได้ถูกถอดออกไปแล้ว หากใครที่ยังอยากดูข้อมูลเชิงลึกของคนที่อยู่ใน Website Custom Audience เรายังสามารถดูได้ด้วยเครื่องมือ Facebook Analytics นี้ครับ โดยการเลือก Segment คนด้วย Event ที่ต้องการ เช่นจากภาพด้านล่าง ผมได้ Segment คนให้เหลือแค่คนที่ทำให้เกิด Event ชื่อ ViewContent เท่านั้น

ดูข้อมูล Website Custom Audience ด้วย Facebook Analytics

ในบรรดาข้อมูลเชิงลึกที่ Analytics แสดงนั้น มีการแสดงข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของเราในรูปแบบของ Heat Map ซึ่งจะทำให้เราทราบได้ชัดเจนว่า ช่วงเวลาไหนเป็นช่วงเวลาที่มีคนเข้ามาใช้งานเว็บไซต์มากที่สุด เราจะสามารถส่งมอบคอนเทนต์ให้ถูกเวลา หรือจัดทำกิจกรรมอะไรที่จะทำให้มีคนเข้าร่วมผ่านเว็บไซต์ได้มากที่สุดนั่นเองครับ

นอกจากนี้ยังมีการบอก Traffic แยกเป็น URL เหมือนกับที่ Events Manager แสดงให้เราดู รวมทั้งค่า Bounce Rate ที่เป็นการบอกอัตราของการเข้ามาดูเว็บไซต์เราเพียงหน้าเดียวแล้วก็ออกจากเว็บไซต์ไป หากพบว่าค่า Bounce Rate สูง มีความเป็นไปได้ที่เว็บเราอาจมีปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งครับ

Heat map: Active Users

เรายังสามารถดู Funnel ของการเกิด Event ต่างๆ บนเว็บไซต์เราว่ามีจำนวนลดลงอย่างไรบ้าง เพื่อจะได้เห็นอัตราส่วนการลดทอนจาก Event หนึ่งไปยังอีก Event หนึ่ง ซึ่งข้อมูลเชิงลึกนี้มีประโยชน์มากครับ สามารถนำไปวิเคราะห์ได้หลากหลายรูปแบบ เช่น การดูปัญหา Navigation ของเว็บไซต์ หรืออาจจะใช้สรุปเป้าหมาย Cost per Result ของโฆษณา Facebook Ads ได้ครับ ในภาพด้านล่างเป็นตัวอย่าง Funnel ของ 3 Events คือ จำนวน ViewContent ไปยัง AddToCart และจบที่ Purchase ครับ

การตั้ง Event ตาม Funnel ใน Facebook

อีก Activity หนึ่งที่น่าสนใจคือ Retention ครับ เราสามารถดูจำนวนเปอร์เซนต์การกลับมาใช้งานเว็บไซต์เราได้ เพื่อจะได้ดูคุณภาพของเว็บไซต์เราว่าทำให้คนอยากกลับมาใช้งานอีกหรือไม่ ซึ่งถ้าเกิด Retention น้อย อาจแปลได้ว่า คอนเทนต์บนเว็บไซต์เรายังน่าสนใจไม่พอ หรืออาจมีปัญหาเรื่องการใช้งานเว็บไซต์ก็เป็นได้ครับ

Retention ใน Facebook Analytics

hbspt.cta.load(3944609, ‘ee7ffbdf-1903-43c2-ac44-d1cd813a3741', {});

ตัวอย่างการทำ Data-Driven Marketing ด้วย Facebook Pixel

จากที่อธิบายไปแล้วนั้น เราจะเห็นได้ว่าข้อมูล Facebook Pixel ที่ได้มาจากเครื่องมือ Events Manager และ Facebook Analytics นี้จะถูกนำไปใช้ในการทำ Data-Driven Marketing ได้หลากหลายรูปแบบครับ ซึ่งสามารถนำไปใช้งานในการทำ Facebook Marketing หรือการตลาดบนช่องทางอื่นๆ ต่อครับ ผมจะขอยกตัวอย่างซัก 3 เคสนะครับ

  • การทำรีทาร์เก็ตติ้ง (Retargeting) โดยการนำเอาข้อมูลเชิงลึกที่ได้ไปเลือกสร้าง Custom Audience ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อนำกลับมาใช้ในการกำหนดกลุ่มเป้าหมายของ Facebook Ads ให้แม่นยำยิ่งขึ้น หากเราทราบได้ว่าข้อมูลบนเว็บเพจเราหน้าไหนที่มีความเกี่ยวข้องกับแคมเปญโฆษณา Facebook Ads ที่กำลังจะสร้างขึ้น เราสามารถสร้าง Custom Audience โดยจับ Traffic ของหน้าเว็บเพจที่เกี่ยวข้องเหล่านั้นได้ และยังสามารถนำหน้าเว็บเพจหลายๆ เว็บเพจมาใช้ร่วมกันได้ เพื่อทำให้กลุ่มเป้าหมายมีความชัดเจนยิ่งขึ้นครับ เรายังสามารถดูปริมาณ Traffic ของ Event ที่เกิดขึ้นได้ เพื่อทำให้เราสามารถเลือกสร้าง Event  ด้วยจำนวนวันย้อนหลังที่เหมาะสมได้อีกด้วยครับ
  • การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกของ Facebook Pixel เพื่อนำไปใช้ในการทำการตลาดดิจิทัลบนช่องทางอื่นๆ ต่อ โดยข้อมูลเชิงลึกที่จะนำมาวิเคราะห์ เช่น จำนวน Traffic ของหน้าเว็บเพจ อัตรา Bounce Rate อัตราการเกิด Retention การดูข้อมูล Funnel หรือข้อมูล Demographic ของคนที่เข้ามาใช้งานเว็บ เพื่อนำไปใช้ในการออกแบบเว็บไซต์ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น การนำเสนอคอนเทนต์ที่โดนใจกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เป็นต้น 
  • การนำเอาข้อมูลเชิงลึกของ Facebook Pixel ไปรวมกับข้อมูลเชิงลึกจากส่วนอื่นๆ เช่น ข้อมูลการใช้งาน Facebook Page ข้อมูลการใช้งานแอปพลิเคชัน ข้อมูลการซื้อสินค้าจากหน้าร้าน เป็นต้น เพื่อนำไปวิเคราะห์หาพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย และปรับ Customer Journey ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้นได้ รวมทั้งอาจเป็นตัวช่วยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือการต่อยอดธุรกิจได้อีกด้วยครับ
Shifu แนะนำ
อ่านเกี่ยวกับวิธีการทำ Facebook Retargeting ด้วย Facebook Pixel หรือวิธีการสร้าง Custom Audience แบบต่างๆ เพื่อใช้ในการยิงแอดเพิ่มเติม

สรุป

เราจะเห็นได้ชัดเจนครับว่าการได้ข้อมูลเชิงลึกมาอยู่ในมือเยอะๆ มีความจำเป็นมากในการทำการตลาดยุคปัจจุบัน ซึ่งข้อมูลเชิงลึกหนึ่งที่เป็นประโยชน์ และสามารถดูได้ฟรีบนระบบ Facebook ก็คือข้อมูลเชิงลึกของ Facebook Pixel ครับ ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่บอกการใช้งานเว็บไซต์ของเราได้อย่างละเอียดหลากหลายรูปแบบ ผ่านเครื่องมือ 2 ตัวคือ Events Manager และ Facebook Analytics

หากว่าคุณรู้จักการใช้งานเครื่องมือ 2 ตัวนี้ได้เป็นอย่างดี และรู้ว่ามันสามารถแสดงข้อมูลเชิงลึกอะไรให้กับคุณได้บ้าง คุณก็สามารถมีข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ดีๆ อยู่ในมือมากมายในการทำการตลาดต่อไปในอนาคต  เพื่อทำตลาดด้วยข้อมูล หรือ Data-Driven Marketing ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะนำพาผลลัพธ์ทางการตลาดที่ดีขึ้นอย่างชัดเจนกลับมาสู่ธุรกิจคุณได้อย่างแน่นอนครับ

ตาคุณแล้ว

ตอนนี้คุณก็ได้รู้จักข้อดีของการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ด้วย Facebook Pixel ไปแล้ว หากคุณได้มีการวาง Pixel ลงบนเว็บไซต์คุณเรียบร้อยแล้ว ผมอยากให้คุณลองใช้เครื่องมือ Events Manager และ Facebook Analytics เพื่อดูข้อมูลเชิงลึกต่างๆ และอยากรู้ว่าคุณจะใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการวางแผนการทำ Data-Driven Marketing ต่อไปอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้าครับ

New call-to-action