นับตั้งแต่ Facebook เปิดตัวเมื่อปี 2004 ตัว Facebook เองก็มีวิวัฒนาการและขยายจักรวาลการให้บริการของตัวเองอย่างต่อเนื่อง จากจุดเริ่มต้นในฐานะหนังสือรุ่นออนไลน์ ไปสู่การเป็นโซเชียลมีเดียอันดับหนึ่ง จนกลายเป็นเครื่องมือการตลาดที่สำคัญบนโลกออนไลน์ และพัฒนาการล่าสุดคือการเป็นช่องทาง E-commerce ด้วยฟังก์ชั่น Facebook Marketplace 

สำหรับบทความนี้เราจะพาไปดูความสามารถของ Facebook Marketplace วิธีการขายผ่าน Facebook Marketplace รวมไปถึงทิปส์เล็กๆ น้อยที่อาจจะช่วยให้คุณเริ่มต้นธุรกิจบน Facebook Marketplace ได้ในทันที

Facebook Marketplace คืออะไร

Facebook ให้นิยามของ Marketplace เมื่อครั้งที่เปิดตัวเอาไว้ว่า a convenient destination to discover, buy and sell items with people in your community” หรือ “สถานที่ที่จะทำให้คุณค้นพบ ซื้อ หรือขายสินค้ากับคนในชุมชนของคุณ (ทั้งออนไลน์และออฟไลน์) ได้อย่างง่ายดาย” หรือหากจะสรุปกับแบบง่ายๆ ที่สุด Facebook Marketplace ก็คือ ประกาศซื้อ-ขาย (Classifies) ที่ใช้ Facebook เป็นแพลตฟอร์มในการลงประกาศนั่นเอง

จุดเริ่มต้นของสิ่งที่เรียกว่า Facebook Marketplace ต้องย้อนกลับไปถึงปี 2007 เมื่อ Facebook เปิดตัว Marketplace ในเวอร์ชั่นที่หนึ่ง ซึ่งเน้นไปที่การซื้อขายระหว่างกลุ่มเพื่อนใน Facebook ของแต่ละผู้ใช้ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก จนต้องเรียกเว็บ Classified คู่แข่งอย่าง Oodle มาช่วยพัฒนาอัลกอริทึมให้ใหม่ในปี 2009 ถึงอย่างนั้น Facebook Marketplace ก็ยังไม่สามารถสู้คู่แข่งอย่างเว็บประกาศขายตรงแบบดังเดิมได้ และท้ายที่สุด Facebook Marketplace เวอร์ชั่นแรกก็ปิดตัวลงไปในปี 2014

ตัวอย่าง Facebook Marketplace ก่อนปี 2013
[หน้าตาของ Facebook Marketplace เวอร์ชั่นแรก กับ UI ที่คนใช้ Facebook ก่อนปี 2013 น่าจะคุ้นเคยกันดี]

แต่ Facebook ก็ไม่ละพยายามและแอบซุ่มทำ Facebook Marketplace เวอร์ชั่นสองซึ่งเป็นเวอร์ชั่นปัจจุบัน เริ่มจากจากการทำ beta test ในวงแคบๆ เมื่อกลางปี 2015 และเปิดตัวอย่างเต็มรูปแบบในสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2016 และทยอยขยายการให้บริการไปในแต่ละประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่ได้ใช้กันในปี 2017

ตัวอย่าง Facebook Marketplace ในปัจจุบัน
[หน้าตาของ Facebook Marketplace เวอร์ชั่นปัจจุบัน ที่ใช้ได้บนทั้งคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน]

Facebook Marketplace ทำงานอย่างไร?

อัลกอริทึมของ Facebook Marketplace ทำงานผ่านตัวแปรสองอย่าง คือ ตำแหน่ง (Location) ที่อยู่ของผู้ซื้อและผู้ขาย อีกส่วนหนึ่งคือความชอบและความสนใจ (Likes and Interest) ของผู้ซื้อ ที่ Facebook จะรู้ได้จากพฤติกรรมในการใช้ Facebook ในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงบรรดาเพจที่คุณไปกด Like หรือมี Engagement บ่อยๆ ข้อมูลทั้งนี้จะถูกคำนวนโดยอัลกอริทึมของ Facebook Marketplace และพยายามแสดงสินค้าหมวดที่คุณสนใจที่สุด ที่ประกาศขายในบริเวณที่ใกล้ที่สุดเป็นลำดับแรก 

FaceBook Marketplace ของการขาย Apartment
ตัวอย่างหน้า Facebook Marketplace ของตัวผู้เขียนเอง ที่แสดงสินค้าที่ผู้เขียนสนใจก่อนอย่างอพาร์ทเมนต์ให้เช่าหรืออะไหล่คอมพิวเตอร์ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนประกาศขายในละแวกใกล้บ้านทั้งสิ้น

ส่วนขั้นตอนต่อจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นการขอข้อมูลเพิ่มเติม หรือการปิดการขายจะย้ายไปทำกันใน Facebook Messenger ที่เชื่อมต่อระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายโดยตรง ในขณะที่การชำระเงินและการส่งสินค้าจะไปเกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มอื่นแล้วแต่ผู้ชื้อผู้ขายจะตกลงกัน

Facebook Marketplace มันดีอย่างไร?

ข้อได้เปรียบที่สุดของ Facebook Marketplace คือข้อได้เปรียบว่าด้วย “ความง่ายและเร็ว” ทั้งในฝั่งคนซื้อและคนขาย สำหรับฝั่งคนซื้อ จุดแข็งที่สำคัญที่สุดคือการที่สินค้าเข้ามาหาเราเอง หรือถ้าจะเข้าไปหาสินค้าที่ต้องการก็สามารถทำได้เช่นกัน ด้วยการจัดหมวดหมู่ตามประเภท (Categories) และระยะทาง (Distance) โดยละเอียด ผ่านอินเทอร์เฟซที่ใช้งานได้ง่าย

สำหรับฝั่งคนขายเอง ก็ขึ้นประกาศขายได้อย่างง่ายดายเพียงสี่ห้าคลิก (ข้ามไปยังวิธีการขายบน Facebook Marketplace ที่นี่) ซึ่งอัลกอริทึมของ Facebook Marketplace ก็จะพยายามยิงประกาศขายผ่านลูกค้าที่มีแนวโน้มจะซื้อโดยตรง โดยที่ไม่จำเป็นต้องเปิดเพจเป็นของตัวเอง หรือหากว่ามีเพจอยู่แล้ว สิ่งที่เข้ามาช่วยคือการ Synergy กันระหว่างแอพพลิเคชั่นในเครืออย่าง Whatsapp หรือ Instagram ที่เราสามารถมีหน้าร้านได้หลายช่องทาง แต่บริหารจัดการได้พร้อมกันจากที่เดียว

โดยกิจกรรมที่กล่าวมาทั้งหมดข้างบน ล้วนเกิดขึ้นบน Facebook ที่เราใช้กันอยู่ปกติทุกวันตั้งแต่ตื่นนอนจนเราหลับกันเลยทีเดียว และด้วยระบบการสร้างแอคเคานท์ของ Facebook เองที่จำเป็นต้องยืนยันตัวตน (Human Verification) ที่ทำให้ผู้ซื้อ-ผู้ขายมั่นใจได้ว่าทั้งสองฝ่ายกำลังดีลกับคนตัวเป็นๆ อยู่จริง

สำหรับการวิเคราะห์แบบละเอียด คุณ Kunal K ได้วิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนของ Facebook Marketplace ด้วย SWOT Analysis ไว้ที่นี่

แล้วถ้าเทียบกับช่องทางแบบอื่นๆ ล่ะ?

คู่แข่งโดยตรงของ Facebook Marketplace ในที่นี้มีอยู่สามช่องทางด้วยกัน ซึ่งก็คือ

กลุ่มซื้อขายแลกเปลี่ยน (Buy-and-sell Groups)

คู่แข่งตัวแรกของ Facebook Marketplace ก็คือกลุ่มซื้อขายแลกเปลี่ยน (Buy-and-sell groups) ซึ่งอาจจะนับได้ว่าเป็นญาติห่างๆ กับ Facebook Marketplace  เพราะกลุ่มซื้อขายแลกเปลี่ยนถูกตั้งขึ้นมาเพื่อทดลองระหว่างที่ Facebook Marketplace เวอร์ชั่นแรกปิดตัวไปและกำลังจะเปิดตัวเวอร์ชั่นสองนั่นเอง

ตัวอย่าง Buy and Sell Group
ตัวอย่างของ Buy-and-sell Group เช่นกลุ่มขายของแพง (เฉพาะเครื่องดนตรี) ที่เหล่านักดนตรีใช้เป็นที่ปล่อยของรักของหวงของตัวเองโดยเฉพาะ

โดยที่กลุ่มซื้อขายแลกเปลี่ยนนั้นก็แทบจะเหมือนกับ Facebook Marketplace ในยุคแรกที่เน้นการซื้อขายในกลุ่มเพื่อน แต่เปลี่ยนจากเพื่อนร่วม Friend List เป็นเหล่าบรรดาสมาชิกในกลุ่มแทน 

จุดแข็งของกลุ่มซื้อขายคือการเป็น “ตลาดเฉพาะทาง” ที่เป็นสินค้าประเภทใดประเภทหนึ่งโดยเฉพาะ อย่างเสื้อผ้า เครื่องสำอาง หนังสือ กล้องถ่ายรูป ของเล่น หรือแม้แต่ของกินที่มีกลุ่มเฉพาะเป็นของตนเอง ส่วนจุดอ่อนก็คือว่าสินค้าของเราจะเห็นแค่ในกลุ่มเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ากลุ่มซื้อขายนั้นไม่ได้เปิดเป็นสาธารณะ

แต่ในปัจจุบันที่กลุ่มซื้อขายสามารถแชร์ประกาศจากใน Facebook Marketplace ลงในกลุ่มได้ด้วยเช่นกัน กลุ่มซื้อขายจึงกลายเป็นตัวช่วยในการเจาะตลาดที่ต้องการควบคู่กันไปอีกทางหนึ่ง 

เว็บประกาศซื้อขาย (Classified Web)

เว็บประกาศซื้อขายอย่าง Craiglist ถือเป็นคู่แข่งของ Facebook Marketplace โดยตรงตั้งแต่แรกเริ่ม ซึ่งเว็บประเภทนี้ในไทยเช่น tarad.com, kaidee.com, pantipmarket.com หรือเหล่าบรรดาตลาดซื้อขายที่เป็นเว็บเฉพาะทางอย่าง one2car, mac2hand หรือ noom-hifi

ตัวอย่างของหน้าประกาศขายในเว็บไซต์ mac2hand
ตัวอย่างของหน้าประกาศขายในเว็บไซต์ mac2hand

ข้อได้เปรียบของการประกาศบนเว็บตลาดซื้อขายเหล่านี้คือการมองเห็นประกาศผ่าน Search Engine เช่น Google ที่เพิ่มการมองเห็นและอาจจะทำให้ได้ลูกค้าขาจรเข้ามาซื้อสินค้าของคุณ แลกมากับขั้นตอนการสมัครที่ยุ่งยากมากกว่า Facebook Marketplace ในระดับหนึ่ง

แพลตฟอร์ม E-commerce

ช่องทางสุดท้ายคือแพลตฟอร์ม E-commerce โดยตรงอย่าง Shopee, Lazada และ JD Central ซึ่งข้อได้เปรียบในที่นี้คือการที่แพลตฟอร์มเหล่านี้มีการทำโปรโมชั่นและมาร์เก็ตติ้งให้คุณ ฐานลูกค้าที่กว้างกว่า Facebook Marketplace รวมถึงการมีระบบชำระเงินและระบบส่งสินค้าบนแพลตฟอร์มของตัวเอง แลกกับการเปิดร้านค้าที่ยุ่งยากกว่า รวมไปถึงค่าธรรมเนียมที่ต้องเสียให้แพลตฟอร์มเหล่านี้เป็น “ค่าบริการ” ด้วยเช่นกัน

หากเปรียบเทียบกันแล้ว Facebook Marketplace จะเหมาะกับการขายสินค้าเป็นครั้งคราว เช่นสินค้ามือสองหรือของทำมือ สินค้าอีกรูปแบบที่เหมาะกับการขายผ่าน Marketplace คือสินค้าที่ผู้ซื้อตัดสินใจซื้อเร็ว เช่นอาหาร เสื้อผ้า หรือของใช้เล็กๆ น้อยๆ 

แต่หากต้องการที่จะขายอย่างจริงจังหรือเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน  แพลตฟอร์ม E-commerce เป็นทางเลือกที่ดีกว่า ส่วนการทำการตลาดบน Facebook นั้นก็ยังคงจำเป็นอยู่เช่นกัน

ความแตกต่างระหว่าง Marketplace สำหรับคนทั่วไป และ Marketplace สำหรับธุรกิจ

ด้วยเหตุที่ Facebook มีบัญชี 2 รูปแบบ คือ บัญชีสำหรับบุคคลทั่วไป (personal account) และบัญชีสำหรับธุรกิจ (business account)

สำหรับ Facebook Marketplace for Business จะได้ฟังก์ชั่นที่เพิ่มจาก Facebook Marketplace สำหรับบุคคลธรรมดามาสามอย่าง คือ

  • โชว์สินค้าคงคลังที่เหลืออยู่ เฉพาะสินค้าขายปลีก ที่อยู่อาศัยให้เช่า ยานพาหนะและตั๋วเข้าร่วมงานอีเวนต์โดยทำงานร่วมกับ Marketplace listing partner 
  • โฆษณาร้านค้าหรือสินค้าของคุณบน Facebook Marketplace แม้ว่าจะไม่ได้โพสต์โดยตรงบน Marketplace ก็ตาม
  • แสดงสินค้าใหม่จากร้านค้าบนหน้า Facebook ของคุณบน Facebook Marketplace ฟรีและให้ลูกค้าซื้อโดยไม่ต้องออกจาก Facebook แต่อย่างใด

อีกส่วนหนึ่งที่บัญชีสำหรับธุรกิจสามารถทำได้มากกว่าคือการทำงานกับเครื่องมืออื่นๆ อย่าง Pages Manager หรือ Ads Manager ได้ละเอียดกว่าบัญชีสำหรับบุคคลทั่วไป

วิธีการขายของบน Facebook Marketplace ฉบับรวบรัดตัดตอน

ก่อนอื่นเลยคือการอ่าน Guidelines สำหรับการซื้อขายสินค้าบน Facebook Marketplace ได้ที่นี่ โดยที่ทาง Facebook กำหนดประเภทสินค้าที่ห้ามลงประกาศผ่าน Facebook Marketplace เอาไว้ ประกอบไปด้วย

  • สินค้าที่ขัดกับมาตรฐานชุมชนของ Facebook (Community Standard) อย่างสิ่งผิดกฎหมาย สุรา ยาสูบ หรืออาวุธปืน
  • สินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพ อย่างยา วิตามิน เครื่องมือทางการแพทย์และอื่นๆ 
  • สัตว์เลี้ยงและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ รวมไปถึงประกาศเพื่อรับสัตว์ไปอุปการะ
  • การให้บริการ (Services) เช่นการล้างรถหรือทำความสะอาดบ้าน
  • การใช้รูปภาพเปรียบเทียบก่อน-หลัง (Before and After) ในการขายสินค้า
  • การใช้รูปภาพที่ไม่สัมพันธ์กันกับชื่อสินค้าและ/หรือคำอธิบายสินค้า
  • สิ่งอื่นๆ ใดๆ ที่ไม่ใช่สินค้ากายภาพ (physical product) ที่ซื้อขายได้

สินค้าใดๆ ที่ไม่ขัดกับข้อห้าม สามารถลงประกาศได้ตามปกติทั้งในกลุ่มซื้อขาย และ Facebook Marketplace ซึ่งมีวิธีการดังต่อไปนี้

  • ไปที่หน้า Marketplace โดยการกดที่ไอคอนรูปหน้าร้านด้านบน แล้วสังเกตแถบทาส์กบาร์ด้านซ้าย กดไปที่ Create New Listing (ในกรอบสีแดงซ้ายมือ)
วิธีใช้ Facebook Marketplace
  • เลือกประเภทของประกาศที่จะลงโพสต์ โดยมีให้เลือกสี่รูปแบบ คือ สินค้าทั่วไป (Items) ยานพาหนะ (Vehicles) อสังหาริมทรัพย์ (Properties) และประกาศรับสมัครงาน (Job Opening) โดยในที่นี้จะเลือกเป็นสินค้าทั่วไป
ประเภทของประกาศที่จะโพสต์ลง Facebook
  • หน้าในการสร้างประกาศขายจะขึ้นมา โดยสิ่งที่จะต้องเติมเข้าไปประกอบไปด้วย
  1. Photo: ภาพสินค้าที่จะขาย
  2. Title: ชื่อสินค้าที่จะขาย
  3. Price: ราคาที่จะขาย
  4. Category: ประเภทของสินค้าที่จะขาย
  5. Condition: สภาพของสินค้าที่จะขาย
  6. Description: รายละเอียดของสินค้าที่จะขาย
หน้าประกาศขายของ Facebook Marketplace

เมื่อกรอกข้อมูลครบแล้ว จะมี Preview ของประกาศขึ้นมาตามภาพด้านล่าง หากแน่ใจว่าประกาศไม่มีผิดพลาดก็สามารถกด Publish เพื่อขึ้นประกาศได้ทันที เท่านี้ประกาศของคุณก็จะพร้อมขายโดยสามารถเข้าไปจัดการได้ในหน้า Your Listings

Preview Item for Sale

4. อีกหนึ่งออปชั่นเสริมคือการ Boost Listing เพื่อให้ประกาศของเราเป็นที่เห็นแบบเดียวกับการ Boost Post ทั่วไป ซึ่งใครที่ยังงงกับการสร้าง Ads บน Facebook สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่นี่

Boost Listing เพื่อให้เห็นได้เยอะขึ้น

นอกจากนี้ Listing บน Facebook Marketplace สามารถนำไปทำอย่างอื่นเช่น Local Audience หรือ Remarketing Ads ใน Facebook Pixel ได้อีกด้วย สำหรับวิธีการทำมาร์เก็ตติ้งผ่าน Facebook Pixel สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่นี่

วิธีการขายให้ปังด้วย Facebook marketplace

  • อยู่ให้ถูกที่ ไม่กี่นาทีเดี๋ยวก็มีคนเห็น

เพราะระบบจัดหมวดหมู่ของ Facebook Marketplace นั้นค่อนข้างที่จะ “ฉลาด” กว่าแพลตฟอร์มอื่นๆ ในการแยกแยะประกาศที่เป็น “สแปม” โดยเฉพาะประกาศที่ไม่ตรงกับหมวดหมู่ (อย่างประกาศขายรถกระบะในหมวดรถเก๋ง) และพยายามแบนประกาศกลุ่มนี้ออกจากระบบ 

การตั้งหมวดหมู่ขอสินค้าให้ถูกต้องแต่แรก นอกจากลดความเสี่ยงที่แอคเคานท์จะถูกแบนแล้ว ยังช่วยให้ลูกค้าสามารถหาคุณเจอได้ไวขึ้น รวมไปถึงอัลกอริทึมของ Facebook Marketplace ที่จะเอาสินค้าของคุณไปเสนอให้ลูกค้าเห็นเร็วกว่าเดิม

  • ยิ่งละเอียดยิ่งดี

ไม่ว่าจะเป็นคำบรรยายที่ชัดเจน หรือรูปภาพที่ทำให้เห็นเหมือนได้สัมผัสสินค้านั้นจริงๆ ล้วนทำให้คนซื้อตัดสินใจจ่ายเงินได้ง่ายกว่าเดิม หากประกาศนั้นมีรายละเอียดที่เพียงพอ การตัดสินใจซื้อของลูกค้าก็จะว่องไวยิ่งขึ้น

  • ชัดเจนเรื่องราคา

สิ่งหนึ่งที่ขัดใจบรรดานักช็อปออนไลน์คือการที่ร้านค้าไม่ยอมบอกราคาสินค้าของตัวเอง ซึ่งนอกจากจะไม่ดึงดูดลูกค้าแล้ว ยังทำให้อินบ็อกซ์ของคุณเต็มไปด้วยการสอบถามราคา ที่ส่วนใหญ่แล้วเป็นการถามเพื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งหรือเก็บข้อมูลไว้เฉยๆ

การโพสต์ราคาให้ชัดเจนตั้งแต่แรกก็ให้ประโยชน์เช่นเดียวกับการบอกรายละเอียด ที่นอกจะให้ลูกค้าตัดสินใจง่ายแล้ว การทำแบบนี้ยังช่วยเคลียร์อินบ็อกซ์ของคุณให้เหลือเฉพาะลูกค้าที่ต้องการซื้อจริงๆ เท่านั้น

  • ถามไว-ตอบไว-โอนไว

ความไวไม่ได้เป็นเรื่องของปีศาจ แต่ถือเป็นเรื่องปกติของ Facebook Marketplace โดยเฉพาะกับความคาดหวังของบรรดาผู้ซื้อที่สามารถติดต่อผู้ขายได้โดยตรงผ่าน Facebook Messenger ที่หลายครั้งเป็นคำถามเล็กๆ น้อยๆ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นข้อเสนอซื้อที่อาจหลุดมือไปได้เสมอ

ทั้งนี้ ไม่ต้องถึงขนาดที่ว่าต้องเฝ้ารอลูกค้าตลอด 24 ชั่วโมง แต่พยายามเช็กกล่องข้อความอยู่เรื่อยๆ และตอบข้อสงสัยของลูกค้าอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยเร่งการตัดสินใจซื้อในทางอ้อมได้อีก

สรุป

หากคุณเริ่มสนใจที่จะค้าขายด้วยอี-คอมเมิร์ซ Facebook Marketplace ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีด้วยความง่ายในการใช้งานและบริหารจัดการ รวมไปถึงความสะดวกที่คุณสามารถใช้ร่วมกับเครื่องมืออื่นๆ อย่าง Pages, Ads และ Messenger เพื่อทำการตลาดแบบครบวงจรได้ในที่เดียว