โลกดิจิทัลกำลังหมุนไปสู่โลกที่ชื่อว่า Cookie-less World ที่จะทำให้การติดตามข้อมูลผ่าน Third-party Data จะทำได้อย่างจำกัด นอกจากนั้นแล้วในทางกฏหมายเอง ข้อมูลส่วนบุคคลของคนแต่ละคนนั้นก็จะถูกคุ้มครองมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากกฏหมาย GDPR ในยุโรป CCPA ของรัฐแคลิฟอร์เนีย และ PDPA ของประเทศไทยที่กำลังจะถูกประกาศใช้ในอีกไม่นาน

หนึ่งในทางรอด (ไม่ใช่ทางเลือก) ที่จะทำให้ธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับโลกดิจิทัล (ซึ่งก็แทบจะทุกธุรกิจ) อยู่รอดได้คือการมี First-party Data ของลูกค้า เช่นอีเมล บริษัท ตำแหน่ง ความชอบ ความสนใจเฉพาะของคนแต่ละคน เป็นของตัวเอง

ดังที่ผมเคยเขียนเอาไว้ในหลายๆ บทความของ Content Shifu ว่า “ข้อมูลคือพลัง ข้อมูลคืออำนาจ ใครที่เป็นเจ้าของข้อมูลจะเป็นเจ้าของพลังและอำนาจ” ซึ่งถ้าจะให้เสริมเพิ่มเติมสำหรับบริบทของบทความนี้คือ แค่เป็นเจ้าของข้อมูลนั้นไม่เพียงพอ แต่จะต้องเป็นเจ้าของข้อมูลที่เป็นแบบ First-party ด้วย

ในบทความนี้ผมจะมาแนะนำ 10 ไอเดียในการเก็บ First-party Data ให้กับธุรกิจของคุณ มีทั้งอันที่เป็นแบบพื้นฐาน ทำตามได้ง่ายๆ และแบบล้ำๆ ที่อาจจะทำยากสักนิด แต่ถ้าทำได้จะทำให้คุณเก็บข้อมูลของลูกค้ามาได้มากขึ้นอีกเยอะ

ถ้าพร้อมแล้ว ไปดูไอเดียเหล่านี้กันเลยครับ

10 ไอเดียในการเก็บ First-party Data

1. แลกเปลี่ยนข้อมูลด้วยความรู้

“อยากได้ ต้องยื่นหมูยื่นแมว”

การยื่นข้อเสนอเป็นความรู้หรือข้อมูลไปให้ User เพื่อที่จะขอข้อมูล User กลับมาเป็นหนึ่งในวิธีที่ได้ผลดี

ซึ่งความรู้หรือข้อมูลที่คุณสามารถส่งมอบให้กับ User ก่อนนั้นเป็นได้ตั้งแต่ eBook, Checklist, Template, Presentation หรือแม้กระทั่งคอร์สเรียน

ตัวอย่างที่ผมคิดว่าคุณน่าจะเคยเห็นอยู่บ่อยๆ จาก Content Shifu คือการที่เรามี Lead Generation Offers มอบให้คุณหลากหลายผ่านหน้า Resources ของเรา

นอกจากนั้นแล้ว เรายังมีคอร์สเรียนที่ให้คุณสามารถเข้าไปเริ่มต้นเรียนได้ฟรีๆ เช่นเดียวกัน

ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ สิ่งที่คุณต้องส่งมอบกลับมาให้เราไม่ใช่ตัว “เงิน” แต่เป็น “ข้อมูล”

2. Gated Content

“จะเข้าประตูมา ต้องผ่านยามที่เฝ้าก่อน”

ไอเดียนี้จะมีความคล้ายกับไอเดียก่อนหน้านี้ แต่วิธีการต่างกันเล็กน้อยตรงที่ คุณสามารถปล่อยให้คนอ่านเนื้อหาของคุณไปในระดับหนึ่งก่อน แล้วพอถึงจุดที่น่าสนใจหรือมีความสำคัญคุณอาจจะขอให้คนอ่านสมัครสมาชิกหรือให้ข้อมูลอะไรบางอย่างก่อนที่จะอ่านต่อ

ตัวอย่างเช่น HBR ที่จะให้คุณอ่านบทความบนเว็บไซต์ของพวกเขาฟรีๆ เดือนละ 2 บทความ ถ้าคุณอยากอ่านเพิ่มอีก เขาจะให้คุณสมัครสมาชิก (เพื่อเก็บข้อมูล) เพื่ออ่านอีก 2 บทความ

* ในเคสต์นี้ ถ้าคุณอยากอ่านแบบ Unlimit คุณก็สามารถจ่ายเงินค่าสมาชิกรายเดือนได้

Shifu แนะนำ

การจะทำเหมือน HBR ที่มีการจำกัดจำนวนครั้งอาจจะทำได้ยาก แต่ถ้าคุณอยากจะเลือกกันไม่ให้ผู้อ่านอ่านบางส่วนจนกว่าเขาจะให้ข้อมูลคุณมา คุณสามารถทำได้ไม่ยากครับ เครื่องมือที่ช่วยทำ Lead Generation หลายๆ ตัวเช่น Convertful ที่ผมเคยรีวิวไว้ก็สามารถทำได้

3. เก็บข้อมูลด้วยวิดีโอ

“ถ้าอยากดูคลิปต่อ ก็ขอให้กรอกข้อมูล”

หนึ่งในไอเดียที่อาจจะเห็นไม่บ่อยคือการเก็บข้อมูล “บน” วิดีโอที่ User กำลังดูอยู่ เพราะมันดูทำยาก แต่จริงๆ แล้วทำได้ไม่ยากเลย

ฟีเจอร์พรีเมียมของ Video Hosting Software หลายๆ ตัวอย่างเช่น Vimeo นั้นสามารถทำ Lead Generation ผ่านวีดีโอได้

4. ให้ส่วนลด สิทธิพิเศษ หรือเครดิตเงิน

“ของที่พิเศษ จะมอบให้กับคนที่พิเศษ (ที่ให้ข้อมูล)”

นอกจากการใช้ข้อมูลหรือความรู้ในการแลกเปลี่ยนกับข้อมูลแล้ว การใช้ส่วนลด สิทธิพิเศษ หรือเครดิตเงินก็ให้ผลลัพธ์ที่ดีเช่นเดียวกัน (โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจที่ขายสินค้าหรือบริการประเภทอุปโภค บริโภค)

วิธีการเก็บ First-party Data แบบนี้สามารถทำได้ง่ายๆ โดยการขอให้ User ให้ข้อมูลมาก่อนเพื่อแลกกับส่วนลดหรือเครดิตเงิน

ตัวอย่างเช่นถ้าคุณสมัครสมาชิก Fan of M.O. (ให้ข้อมูล) ของโรงแรม Mandarin Oriental พวกเขาจะให้สิทธิพิเศษหลากหลายอย่างกับคุณเมื่อคุณเข้าไปพัก ไล่ไปตั้งตั้งสิทธิพิเศษอย่างการ Early Check-in/Late Check-out ไปจนกระทั่งได้เครดิตอาหาร/สปา

5. Referral

“แนะนำสิ่งดีๆ ให้เพื่อน คุณเองก็จะได้รับประโยชน์ด้วย”

ถ้าคุณมีฐานลูกค้าที่เหนียวแน่นที่ชอบพอในสินค้าหรือบริการของคุณอยู่แล้ว การเชิญชวนให้พวกเขาไปเชิญชวนคนอื่นมาใช้สินค้าหรือบริการของคุณต่อโดยให้ผลประโยชน์อะไรบางอย่างกับพวกเขา (หรือกับคนที่พวกเขาเชิญชวนมาด้วย) ก็จะทำให้คุณได้ทั้งลูกค้าที่มากขึ้นและ First-party Data ที่มากขึ้น

ตัวอย่างเช่น Dropbox (บริการ File Storage ที่คล้ายๆ กับ Google Drive/One Drive) ที่เคยเชิญชวนให้ผู้ใช้บริการของพวกเขาไปชวนเพื่อนมาใช้บริการ โดยที่ถ้าชวนมา 1 คน ก็จะได้พื้นที่เก็บไฟล์เพิ่ม 500 MB (สูงสุด 16 GB) ยิ่งชวนมาก ยิ่งได้พื้นที่มาก

ซึ่งจากการทำแบบนี้ทำให้พวกเขาเพิ่มจำนวนคนใช้งานจากแค่ 100,000 คนในปี 2008 มาเป็น 4,000,000 คนในปี 2009 หรือภายในระยะเวลาแค่ 15 เดือนเท่านั้นเอง

วิธีนี้ช่วยให้ได้ทั้งข้อมูล ได้ทั้งลูกค้า

Note: การทำ Referral Marketing เป็นหนึ่งในแผนการทำการตลาดที่ได้ผลดี นอกเหนือจาก Referral Marketing แล้ว ผมยังเคยเขียนถึง 20 กลยุทธ์การตลาดที่ใช้ได้จริง ช่วยให้คุณเข้าถึงลูกค้าได้ดีกว่าเดิม ลองเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ครับ

6. Quiz

“มาเล่นกันเถอะ มาเล่นกันเถอะ”

การใช้ Quiz ในการเก็บข้อมูลเป็นอีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจเพราะ Quiz ถือเป็นเครื่องมือที่ Interactive – ความหมายคือมีการโต้ตอบกันระหว่างคนสร้าง Quiz และคนเล่น

ถ้าคุณออกแบบคำถามออกมาได้น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับธุรกิจของคุณ มันจะทำให้คุณได้ First-party Data มาอีกเยอะเลย

ตัวอย่างเช่นแอป Calcula'te (แคลคูลาเต้) ที่ Content Shifu เคยสร้างขึ้นมา ซึ่งแอปตัวนี้เป็นแอปที่ช่วยให้คนที่ต้องการคำนวณราคาค่าทำเว็บไซต์มาประเมินราคาในการทำเว็บไซต์เบื้องต้นก่อนได้

ซึ่งหลังจากที่ทำการคำนวณและประเมินราคาเสร็จ เราก็จะมี E-book “10 เรื่องต้องรู้ก่อนมีเว็บไซต์” ให้ดาวน์โหลด โดยที่เราจะขอแลกกับข้อมูลอย่าง First Name, Email, Job Function & Business Category

Note: จริงๆ ท่าที่ผมเคยลองทำอีกท่าที่น่าสนใจก็คือใช้ Quiz ในการเก็บข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับคนที่มาเล่น และเมื่อถึงหน้าที่ดูผลลัพธ์ ก็จะมีการแจก E-book เพื่อทำ Lead Generation และ เมื่อคนเล่นทำการดาวน์โหลด Resource ไป ข้อมูลที่ถูกเก็บมาก่อนหน้านั้นก็จะถูกส่งไปยังถังข้อมูลด้วย

ซึ่งการทำแบบนี้นั้น คุณอาจจะใช้เครื่องมืออย่าง Typeform ในการทำ Quiz และเก็บ Lead ได้

7. Progressive Profiling

“ค่อยๆ ขอข้อมูลทีละนิด ดีกว่าขอข้อมูลทั้งหมดทีเดียว (เพราะมีโอกาสสูงที่จะขอแล้วไม่ได้)”

จริงๆ แล้ววิธีการในข้อนี้เป็นวิธีการต่อยอดจากข้ออื่นๆ คือต้องเริ่มเก็บข้อมูลก่อนถึงจะทำข้อนี้ได้

ซึ่งการทำ Progressive Profiling คือการค่อยๆ ทยอยเก็บข้อมูล ในการขอครั้งแรก คุณอาจจะขอแค่ชื่อ อีเมล ความสนใจ และถ้าคนคนนั้นเข้ามากรอกข้อมูลครั้งที่สอง คุณก็ไม่จำเป็นต้องขอข้อมูลที่เคยได้มาในครั้งแรกแล้ว คุณอาจจะขอข้อมูลอื่นที่คุณยังไม่มีเพิ่มเติมเช่นชื่อบริษัท ตำแหน่ง เป็นต้น

ซึ่งการจะทำ Progressive Profiling นั้น สิ่งสำคัญคือคุณต้องมีเทคโนโลยีที่ใช่ (เอาจริงๆ ไม่ได้ยาก พวกเครื่องมือต่างๆ ที่มีฟีเจอร์การสร้าง Form หลายตัวนั้นสามารถทำได้) และต้องมีแผนการเก็บข้อมูลที่เป็นระบบ

ตัวอย่างเช่น Content Shifu ก็มีการทำ Progressive Profiling อยู่

โดยที่ในรอบแรกที่คนเข้ามาดาวน์โหลด E-book ของเรา เราจะทำการขอ First Name, Email, Job Function & Business Category

ซึ่งถ้า User เคยดาวน์โหลด E-book ไปเล่มนึงแล้ว เมื่อเขากลับมา (เพื่อที่จะดาวน์โหลด E-book เล่มอื่นๆ) ข้อมูลที่เราจะขอก็จะหน้าตาเปลี่ยนไป โดยที่ขอข้อมูลอย่าง Job Position, Company Name & Company Size แทน

8. Social Leads Ads

“ใช้ฐานข้อมูลที่ Social Media มีให้เป็นประโยชน์”

ตัวอย่าง Facebook Lead Ads จาก AdEspresso

Social Media อย่าง Facebook หรือ LinkedIn มีฟีเจอร์นึงที่เป็นประโยชน์มากกับการทำ Lead Generation ซึ่งก็คือ “Leads Ads”

หลักการคือคุณไม่จำเป็นต้องส่งคนที่เห็นโฆษณาของคุณบน Platform นั้นๆ ไปที่อื่น (เช่น Landing Page) เพื่อทำการเก็บข้อมูล แต่คุณสามารถเก็บข้อมูลของคนที่เห็นโฆษณาบน Platform เหล่านั้นได้เลย (ซึ่งโดยปกติแล้ว Platform เหล่านั้นจะ Prefill ข้อมูลเช่นชื่อ อีเมล เบอร์โทรไว้ให้ล่วงหน้าแล้ว)

ซึ่งข้อดีของการเก็บข้อมูลด้วยวิธีนี้คือคุณจะได้ข้อมูลมาในปริมาณที่เยอะเมื่อเทียบกับเงินที่ลงทุนไป แต่ข้อด้อยคือข้อมูลที่คุณได้มาอาจจะไม่มีประสิทธิภาพมากนัก (ความหมายคือคนที่ให้ข้อมูลมานั้นอาจจะไม่ได้สนใจสินค้าหรือบริการของคุณจริงๆ ที่เขาให้ข้อมูลนั้นเป็นเพราะว่าโฆษณาที่พวกเขาเห็นนั้นทำให้เขาให้ข้อมูลง่ายเหลือเกิน เพียงแค่กดคลิกเดียว ข้อมูลก็จะถูกส่งมาให้คุณแล้ว)

9. Event

“อีกรูปแบบของการให้ข้อมูลและความรู้ เน้นการรวมกลุ่มและเข้าร่วม”

การจัดอีเวนต์ ไม่ว่าจะเป็น Offline หรือ Online จะช่วยให้คุณสามารถเก็บข้อมูลคนที่สนใจจากการที่พวกเขามาลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมงานได้

สิ่งสำคัญของการจัดงานอีเวนต์ Offline นอกจากตัวหัวข้อและเนื้อหาแล้วก็คือวันเวลา และสถานที่

Audience แต่ละกลุ่มก็มีความต้องการไม่เหมือนกัน เช่น ถ้า Audience เป็นพนักงานประจำ เวลาที่ดีคือวันธรรมดาในช่วงเวลาทำงาน แต่ถ้า Audience เป็นเจ้าของกิจการ การจัดอีเวนต์วันเสาร์อาทิตย์ หรือตอนเย็นอาจจะทำให้คนมาเข้าร่วมได้มากกว่า (ทั้งนี้ก็ไม่เสนอไป) ส่วนสถานที่ถ้าใกล้รถไฟฟ้าหรือที่ที่เดินทางสะดวกก็จะดี

สำหรับงานอีเวนต์ Online สิ่งสำคัญคือการออกแบบเนื้อหาให้เหมาะสมกับเวลา คำแนะนำของผมคือถ้าจะจัดอีเวนต์ไม่ควรจะจัดนานเกินไป อาจจะแค่ 1-1.30 ชั่วโมง หรือนานที่สุดไม่ควรเกิน 2 ชั่วโมง เพราะการที่จะให้คนนั่งโฟกัสอยู่หน้าคอมเป็นระยะเวลานานๆ เป็นเรื่องยากจริงๆ

ตัวอย่างเช่น Content Shifu เคยจัดงาน Online Event (Webinar) กับ Zendesk ในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับ Customer Experience (CX) ผ่าน Zoom ซึ่งอีเวนต์นี้ก็ได้รับความสนใจจากคนหลายกลุ่ม ทำให้เราทำ Lead Generation ได้ข้อมูลผู้เข้างานเยอะอยู่พอสมควร

10. Sponsorship (Sponsor Media ทีมี First-party Data)

“ไปสปอนเซอร์สื่อที่มี First-party Data อยู่”

ถ้าคุณคิดว่าการเก็บ First-party Data ด้วยตัวเองนั้นทำได้ยากและใช้เวลานาน (อาจจะเป็นเพราะข้อจำกัดหรือ Process ภายในของบริษัทของคุณ) การไปสปอนเซอร์สื่อที่มี First-party Data อยู่ก็จะทำให้คุณเป็นเจ้าของ First-party Data ได้ง่ายและเร็วมากยิ่งขึ้น

ตัวอย่างเช่นการที่ Brand ต่างๆ มาสปอนเซอร์ E-book กับ Content Shifu (ดูได้จาก E-book เล่มที่มี Content Shifu x ชื่อแบรนด์) ซึ่ง Content Shifu เองนั้นมี First-party Data ของผู้ติดตามในจำนวนหลายหมื่นอยู่แล้ว การที่แบรนด์เหล่านี้เลือกมาสปอนเซอร์ Content Shifu ก็จะทำให้พวกเขาเก็บ First-party Data ที่เอาไปต่อยอดทางธุรกิจต่อได้


ขายของ 2 (หรืออาจจะ 3-4) บรรทัด 🙂 ถ้าคุณเป็นบริษัท Consult, Agency, SaaS แล้วอยากได้ First-party หรือ Second-party Data ของคน/บริษัทที่มีโอกาสเป็นลูกค้าของคุณได้มากและเร็วยิ่งขึ้น ติดต่อ Content Shifu มาได้ครับ

 

สรุป

และนี่คือ 10 ไอเดียในการเก็บ First-party Data ของธุรกิจของคุณนะครับ

ก่อนจะปิดท้ายผมมีเรื่องที่อยากจะฝากไว้ 2 เรื่องครับ

1. คุณต้องทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ดี ถูกยอมรับว่าเป็นบริษัทที่มีการใช้ข้อมูลอย่างมีจริยธรรม – การจะขอข้อมูลลูกค้าเพื่อมาจัดเก็บไว้เพื่อเอาไปทำการตลาดหรือวิเคราะห์ต่อนั้น ความน่าเชื่อถือของแบรนด์ของคุณเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าแบรนด์ของคุณชื่อว่าเป็นแบรนด์ที่นำเอาข้อมูลของลูกค้าไปใช้โดยไม่ระวัง (เช่นโทรขายของลูกค้าบ่อยเกินไป หรือส่งอีเมลสแปมเยอะเกินไป) ลูกค้าก็จะไม่อยากให้ข้อมูลกับคุณ แต่ถ้าคุณปกป้องความเป็นส่วนตัวของลูกค้าอย่างดี ใช้ข้อมูลของลูกค้าได้อย่างเหมาะสม ชื่อเสียงของคุณก็จะดี ซึ่งจะส่งผลให้ลูกค้าไม่ตะขิดตะขวงใจในการให้ข้อมูลกับคุณ

2. ลงทุนในระบบ CDP (Customer Data Platform) หรือ CRM (Customer Relationship Management) – เพราะถ้าคุณรู้จักแต่การขอข้อมูลมา แต่ไม่รู้จักจัดเก็บให้เป็นระบบ คุณก็จะไม่สามารถเอาข้อมูลที่คุณได้มาไปวิเคราะห์ ไปใช้ทำการตลาด ไปใช้ในการขาย หรือไปใช้ในส่วนอื่นๆ ของธุรกิจต่อได้

สุดท้าย ผมอยากจะเชิญชวนให้คุณกับบริษัทของคุณรีบเก็บ First-party Data เอาไว้นะครับ จำไว้ว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ การเป็นเจ้าของข้อมูลของตัวเอง คือทางรอด ไม่ใช่แค่ทางเลือกครับ

ตาคุณแล้ว

คุณมีวิธีการเก็บ First-party Data อื่นที่อยากแนะนำผมกับผู้อ่านของ Content Shifu รึเปล่า? มาพูดคุยกันต่อได้ในคอมเมนต์เลยครับ!