ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าผู้คนยุคนี้มักใช้ชีวิตในโลกออนไลน์มากขึ้น เพราะพฤติกรรมการบริโภค เสพสื่อต่าง ๆ หรือแม้แต่การทำธุรกรรมสำคัญก็มีแอปพลิเคชันหรือสื่อโซเชียลมีเดียที่คอยอำนวยความสะดวกพร้อมสรรพ แน่นอนว่าหนึ่งในเครื่องมือออนไลน์ที่ช่วยให้ใช้ชีวิตกันง่ายขึ้นคงหนีไม่พ้น Search Engines อย่าง Google ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นคลังรวบรวม Solutions ของปัญหาสารพัดอย่าง
นอกจากจะช่วยค้นหาคำตอบเรื่องที่สงสัย หรือทำให้พบสิ่งที่ตอบโจทย์ความต้องการแล้ว Google นับเป็นช่องทางสำคัญในการทำการตลาดออนไลน์ด้วย พ่อค้าแม่ค้ายุคปัจจุบันไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน ก็มีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าผ่านเว็บไซต์หรือเพจโซเชียลมีเดีย ส่วนเจ้าของธุรกิจที่มีหน้าร้านหรือผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมระดับใหญ่ก็สามารถสร้างฐานกลุ่มเป้าหมายใหม่และเพิ่มยอดขายได้จากการทำ Google Ads
หลายคนอาจเกิดคำถามว่า…จำเป็นต้องลงทุนทำโฆษณากับ Google Ads หรือไม่ จะไม่เสียเงินเปล่าโดยใช่เหตุหรือ แล้วมันต่างจากการเสียเงินลงโฆษณาในสื่อประเภท Traditional Advertisement อย่างไร และอีกสารพัดข้อกังขาในการทำ Google Ads มือใหม่ ถึงอย่างนั้น หากคุณเป็นคนหนึ่งที่วางแผนทำธุรกิจออนไลน์ Google Ads ถือเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่คุณไม่ควรมองข้าม
ยาวไปอยากเลือกอ่าน
ทำความรู้จัก Google Ads
หากลองเสิร์ชคำหรือวลีบางอย่างในกูเกิ้ล เรามักพบว่าผลลัพธ์แรก ๆ ที่ขึ้นมาจะมีเครื่องหมาย Ad กำกับอยู่ บางคนอาจเจอแบนเนอร์โฆษณาของสินค้าหรือบริการที่เราเคยเข้าไปในเว็บไซต์เหล่านั้นตามไปปรากฏทุกที่ที่เราเล่นอินเทอร์เน็ตและเข้าเว็บไซต์อื่น ๆ หรือแม้แต่วิดีโอโฆษณาที่แสดงขึ้นมาทุกครั้งใน YouTube ทั้งหมดนี้ต่างเป็นโฆษณาที่มาจาก Google Ads จะเห็นได้ว่าเครื่องมือการตลาดออนไลน์ชิ้นนี้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคและกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ ได้ทุกที่ ทุกเวลา
Google Ads คืออะไร ใช้ทำอะไร?
Google Ads เป็นเครื่องมือการตลาดออนไลน์อย่างหนึ่ง ซึ่งช่วยลงโฆษณาสินค้าและบริการให้แสดงผลใน Search Engine เว็บไซต์ และเครือข่ายต่าง ๆ ที่เป็นพาร์ทเนอร์กับกูเกิ้ล
การทำ Ads จะใช้ระบบ Bid หรือการเสนอราคาซื้อ Keywords ที่มีแนวโน้มได้รับการเสิร์ชและถูกคลิกเข้าเว็บไซต์ของผู้ลงโฆษณา โดยพื้นที่โฆษณาในกูเกิ้ลนั้น เรียกว่า Ad Rank ถ้าเทียบกับการลงโฆษณาในสื่อสิ่งพิมพ์ แน่นอนว่าพื้นที่ปกหน้าและปกหลังเป็นตำแหน่งพื้นที่โฆษณาที่ดีที่สุด สปอนเซอร์ย่อมต้องจ่ายในราคาสูง เพื่อให้ได้ทำเลทองหน้าโฆษณาเหล่านั้น แต่การทำ Google Ads มือใหม่ ให้ได้อันดับหรือ Ad rank ต้น ๆ นั้น ประกอบด้วย Maximum Bid และ Quality score
Maximum Bid คือจำนวนเงินมากที่สุดที่ยอมจ่ายเมื่อมีผู้คลิกเข้าเว็บไซต์ของผู้ลงโฆษณาในแต่ละครั้ง ส่วน Quality Score คือคะแนนคุณภาพ วัดจากคุณภาพเนื้องานโฆษณาที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายและตอบสนองการใช้งานของระบบ กล่าวคือ โฆษณาต้องมีเนื้อหาตรงตามจุดประสงค์หรือความต้องการที่กลุ่มเป้าหมายเสิร์ช ดีไซน์และระบบเว็บไซต์ทั้งแบบ Desktop-Version และ Mobile-Version ต้องทำงานดี รองรับการใช้งานของอุปกรณ์การสื่อสารทุกรุ่น
หากเว็บไซต์ของผู้ลงโฆษณามีคุณสมบัติครบถ้วน ก็จะได้รับ Quality Score ที่ดี โดย Google จะนำ Maximum Bid รวมกับ Quality Score ซึ่งโฆษณาที่ได้ผลลัพธ์รวมสูงจะได้ Ad rank อันดับต้น ๆ
Google Ads มีกี่ประเภท มีอะไรบ้าง
เมื่อพูดถึง Google Ads มือใหม่หลายคนมักนึกถึงโฆษณาที่แสดงผลขึ้นมาใน Ad Rank หลังจากที่เสิร์ชหาคำหรือวลีใด ๆ ก็ตามใน Google ซึ่งนั่นเป็นเพียง Ads ประเภทหนึ่งเท่านั้น เพราะ Google Ads มีรูปแบบโฆษณาหลายประเภท เพื่อให้ลงโฆษณาสินค้าและบริการของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเหมาะสมกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ มาดูกันว่า Google Ads แต่ละประเภทมีอะไรบ้าง และหน้าตาเป็นอย่างไร
Search Ads คือโฆษณาที่แสดงผลขึ้นมาเมื่อมีผู้เสิร์ช Keywords ที่ตรงกับโฆษณานั้น ๆ (หรือที่หลายๆคน คุ้นเคยกันในชื่อการทำ SEM: Search Engine Marketing) โดยคอนเทนต์ของโฆษณามีเพียง Text ประกอบด้วย Headline และ Description สั้น ๆ ซึ่งระบุข้อมูลและรายละเอียดสำคัญของแบรนด์ การทำ Search Ads จึงต้องเลือก Keywords ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการของตน เพื่อให้ได้ Ad Rank ต้น ๆ และเพิ่มโอกาสเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย โดยจะต้องจ่ายเงินตามจำนวนคลิกเข้าเว็บไซต์
Display Ads คือโฆษณาที่ปรากฏตาม Gmail YouTube เว็บไซต์ และแอปพลิเคชันที่เป็นพาร์ทเนอร์กับ Google โดยเว็บไซต์พาร์ทเนอร์มีจำนวนสองล้านกว่าเว็บไซต์ และแอปพลิเคชันพาร์ทเนอร์อีก 650,000 กว่าแอปพลิเคชั่น ทำให้โฆษณา AdWords ประเภทนี้เข้าถึงผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตทั่วโลกมากถึงร้อยละ 90 Display Ads มีทั้งแบบ Text ธรรมดา และแบบแบนเนอร์โฆษณา ซึ่งมีทั้งแบนเนอร์ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว หรือ GIF หลากหลายไซส์ เพื่อรองรับขนาดพื้นที่ที่แสดงแบนเนอร์ โดยสามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการให้เห็น Ads ได้ จากเพศ อายุ หรือความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย
Video Ads คือวิดีโอโฆษณาที่เล่นก่อนหรือคั่นระหว่างการเล่นคลิปวิดีโอบนเว็บไซต์ YouTube นอกจากนี้ Video Ads จะแสดงผลขึ้นมาในกรณีที่มีการเสิร์ช Keywords บน YouTube ด้วย ผู้ที่ต้องการทำ Video Ads จะกำหนดได้ว่าต้องการแสดงผลโฆษณากับกลุ่มเป้าหมายลักษณะไหน โดยเลือกจากสถานที่ อายุ เพศ หรือความสนใจของกลุ่มเป้าหมายเหมือนการยิง Display Ads ผู้ลงโฆษณาต้องจ่ายเงินหากมีผู้ชม Video Ads เป็นเวลา 30 วินาที หรือมีผู้คลิกไปยังเว็บไซต์จาก Video Ads นั้น
App Ads ถือเป็น Ads ประเภทใหม่ ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตแอปพลิเคชั่นสำหรับโทรศัพท์มือถือระบบ iOS และ Android ได้ขยายตลาดมากขึ้น เพียงใส่ข้อมูลแอปพลิเคชั่น รวมทั้งอาจอัพโหลดภาพหรือวิดีโอสำหรับทำ App Ads ลงไปด้วย โดยโฆษณาเหล่านี้จะแสดงผลใน Google Search YouTube Gmail และเว็บไซต์อื่น ๆ อีกมากมาย
Shopping Ads คือการทำ AdWords สำหรับโฆษณาขายสินค้า โดยจะแสดงผลเป็นการ์ดรายการสินค้า ประกอบด้วยรูปภาพสินค้า ชื่อสินค้า ราคา และลิงก์เว็บไซต์ Shopping Ads จะแสดงผลเมื่อมีผู้เสิร์ช Keywords ในเว็บไซต์ Google หรือปรากฏบนเว็บไซต์ YouTube ลูกค้าสามารถเลือกดูรายการสินค้าที่แสดงผลขึ้นมาได้ทันที ส่วนการเก็บค่าโฆษณาจะนับจากจำนวนคลิกเข้าชมเว็บไซต์หรือสั่งซื้อสินค้า ทั้งนี้คุณต้องสมัคร Google Merchant Center ก่อนลง Ads ประเภทนี้
ทำไมต้องใช้ Google Ads?
หากสังเกตคนรอบตัวหรือแม้แต่ตัวคุณเอง สิ่งแรกที่คุณทำเมื่อต้องการหาร้านนั่งชิว ช็อปปิง ถอย Gadget ตัวใหม่ คงหนีไม่พ้นเสิร์ช Google แน่นอนว่าลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายของคุณก็วนเวียนอยู่ในวงจรนี้เช่นกัน การทำแคมเปญ AdWords หรือ Google Ads จึงเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้คุณประสบความสำเร็จในการทำการตลาดออนไลน์ได้ไม่ยาก เพราะ…
- เจาะกลุ่มลูกค้าชัดเจน
คุณสามารถเลือกยิงโฆษณา Ads ให้แสดงผลกับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างครอบคลุม โดยระบุพื้นที่ อายุ เพศ ความสนใจ หรือแม้แต่กระทั่งสิ่งที่พวกเขากำลังต้องการและค้นหาอยู่ จึงมั่นใจได้ว่าโฆษณาของคุณจะเป็นประโยชน์และสามารถเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายให้กลายมาเป็นลูกค้าได้ในที่สุด
- ตามติดทุกที่ทุกเวลา
พาร์ทเนอร์ของ Google ครอบคลุมทั้งเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่นทั่วโลก รวมทั้งพร้อมรองรับการแสดงผลโฆษณารูปแบบต่าง ๆ ในอุปกรณ์การสื่อสารทุกรุ่น ทุกประเภท ทั้งคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก และโทรศัพท์มือถือ
- รองรับแผนการตลาดทุกรูปแบบ
ไม่ว่าเป้าหมายแคมเปญของคุณคืออะไร Google Ads ก็มีแพลตฟอร์มโฆษณาหลากหลายประเภทและลูกเล่นมากมายที่สอดคล้องและตอบสนองการใช้งาน เพื่อให้แคมเปญของคุณบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
- วัดผลได้จริง
คุณสามารถติดตั้งระบบ Tracking สำหรับควบคุมและวัดผลแคมเปญได้เสมอ ทำให้ไม่พลาดการจัดการและปรับเปลี่ยนแผนการตลาด ที่สำคัญ คุณจะไม่เสียเงินเปล่ากับการลงทุนโฆษณาที่ไม่คุ้มทุน เพราะคุณจะจ่ายเฉพาะเมื่อมีผู้คลิกเข้าเว็บไซต์หรือสร้าง Conversions จากโฆษณาของคุณเท่านั้น
การสร้างแคมเปญให้ตอบโจทย์เป้าหมายด้วย Google Search Ads มือใหม่
เพราะทิศทางการเสพสื่อยุคปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว เทคโนโลยีทำให้ลูกค้าไม่ใช่ ‘ผู้รับ' สาร แต่ยังเป็นฝ่าย ‘เลือก' ว่าจะรับหรือไม่รับสารแบบใดด้วย การทำการตลาดและโฆษณาออนไลน์จึงไม่ได้เน้นการนำเสนอคอนเทนต์ที่โดดเด่นเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงการคิด วิเคราะห์ วางแผน และวัดผล อันนำไปสู่ผลลัพธ์ที่จับต้องได้จริง มาดูกันว่าการทำแคมเปญด้วย Google AdWords ให้มีประสิทธิภาพ ควรทำอย่างไร
1. ตีโจทย์แคมเปญให้แตก
เมื่อตัดสินใจก้าวลงสนามการตลาดออนไลน์ สิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อเริ่มแคมเปญด้วย Google Ads มือใหม่ควรตอบคำถามให้ได้ว่าเป้าหมายของแคมเปญคืออะไร การกำหนดเป้าหมายแคมเปญจะช่วยให้วางแผนกลยุทธ์และเห็นภาพรวมทั้งหมดของแคมเปญได้ชัดเจน ทำให้เลือกใช้ประเภท Keywords ในการโฆษณาสินค้าและบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงตามวัตถุประสงค์ของแคมเปญ โดยทั่วไปแล้ว เป้าหมายในการทำแคมเปญ Google Ads แบ่งออกได้ ดังนี้
- Sales
ผู้ที่ต้องการเพิ่มยอดขาย สร้าง Conversions ผ่านช่องทางออนไลน์อยางแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ เว็บสโตร์ หรือต้องการกระตุ้นกลุ่มเป้าหมายที่เคยเข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ให้ตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการจากตนเอง ควรเลือกทำแคมเปญ ประเภท Search Ads หรือ Display Ads ซึ่งมีฟังก์ชั่นสำหรับเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายให้กลายมาเป็นลูกค้า เช่น ยิงโฆษณาตามเว็บไซต์ วิดีโอ หรือแอปพลิเคชั่นพาร์ทเนอร์ของ Google ไปยังกลุ่มเป้าหมายโดยตรง
- Leads
เจ้าของธุรกิจบางรายต้องการเก็บฐานข้อมูลลูกค้าหรือ ‘ล่ารายชื่อ' โดยให้เข้ามาลงทะเบียนหรือกรอกข้อมูลสำคัญสำหรับติดต่อกลับไปและปิดการขายภายหลัง เป้าหมายการทำการตลาดออนไลน์ลักษณะนี้คือการทำแคมเปญ Ads สำหรับเก็บ Leads ซึ่งทำได้ด้วยการใช้ Search Ads หรือ Display Ads สำหรับยิงโฆษณาไปยังกลุ่มเป้าหมายให้คลิกเข้าเว็บไซต์และลงทะเบียนเพื่อรับ News Letter รายละเอียดสินค้าหรือบริการ หรือรอรับการติดต่อจากฝ่ายขาย นอกจากนี้ ผู้ประกอบธุรกิจ e-commerce ที่ต้องการเก็บข้อมูลกลุ่มเป้าหมายสำหรับติดต่อกลับและปิดยอดขาย ก็สามารถใช้ Google AdWords ประเภท Shopping Ads ในการเก็บ Leads ได้เช่นกัน
- Website Traffic
พ่อค้าแม่ค้าที่มีเว็บไซต์เป็นหน้าร้านออนไลน์ จำเป็นต้องสร้างฐานลูกค้าหรือดึงกลุ่มเป้าหมายจำนวนมากให้เข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ของตน ซึ่งในภาษานักการตลาดออนไลน์เรียกจำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์ว่า Traffic แม้ปัจจุบันการทำธุรกิจออนไลน์สามารถสร้างหน้าร้านได้ง่าย ๆ ในสื่อโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook หรือ Instagram ที่พร้อมให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เสมอ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้คนมักพึ่งพา Search Engines อย่าง Google ในการค้นหาสินค้าหรือบริการที่ตอบสนองความต้องการตนเองอยู่ การทำเว็บไซต์จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายขึ้นและสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ควรทำเว็บไซต์เป็นของตัวเอง การทำแคมเปญ Ads สำหรับสร้างยอด Traffic นั้นมักยิงโฆษณาแบบ Seach Ads หรือ Display Ads รวมทั้ง Shopping Ads ในกรณีที่คุณทำธุรกิจ e-commerce
- Product & Brand Consideration
หากคุณต้องการประชาสัมพันธ์โปรโมชั่น รายละเอียดเกี่ยวกับแบรนด์ หรือนำเสนอคอนเทนต์ที่เป็นประโยชน์ การทำ Display Ads หรือ Video Ads จะช่วยให้คุณบรรลุวัตถุประสงค์ของแคมเปญได้ไม่ยาก เพราะ AdWords ทั้งสองประเภทนี้มีลูกเล่นที่เอื้อต่อการถ่ายทอดคอนเทนต์ให้น่าสนใจ และดึงดูดกลุ่มเป้าหมายได้ ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบและกลวิธีการนำเสนอคอนเทนต์ให้ชัดเจน ตรงประเด็น และสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย
- Brand Awareness & Reach
เมื่อเกิดแบรนด์หน้าใหม่ ไม่ว่าจะอยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมใดก็ตาม การเปิดตัวถือเป็นกฎเหล็กข้อหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม แต่จะทำอย่างไรให้ผู้คนจดจำแบรนด์ของคุณได้ขึ้นใจ การทำโฆษณาด้วย Display Ads หรือ Video Ads จึงเป็นวิธีที่ช่วยสร้าง Brand Awareness ได้ไม่ยาก เพราะสามารถใส่องค์ประกอบคอนเทนต์อย่างภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหวสำหรับถ่ายทอดสารที่ต้องการสื่อลงไปได้ นอกจากนี้ เจ้าของแบรนด์ที่ติดตลาดหรือมีฐานลูกค้าอยู่แล้วแต่ต้องการขยายกลุ่มผู้บริโภคหรือนำเสนอความแปลกใหม่ของแบรนด์ ก็อาจทำ Display Ads หรือ Video Ads ที่นำเสนอจุดขายหรือความโดดเด่นของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ ได้มากขึ้น
2. เจาะลึกกลุ่มเป้าหมาย (Target)
คำถามต่อมาก็คือ ‘ใคร' คือผู้รับสารหรือ ‘กลุ่มเป้าหมาย' ของคุณ ซึ่งในที่นี้เรียกว่า Target นักการตลาดควรวิเคราะห์ว่ากลุ่มเป้าหมายของตนอยู่ที่ไหน เพื่อวางแผนยิงโฆษณาไปยังผู้บริโภคในละแวกนั้นโดยตรง การกำหนด Target จากสถานที่ หรือ Location Targeting จะยิงโฆษณาไปยังกลุ่มเป้าหมายได้หลายระดับ ตั้งแต่กลุ่มเป้าหมายในประเทศต่าง ๆ ระดับภายในประเทศ หรือเฉพาะพื้นที่ที่กำหนดจากสถานที่ใดที่หนึ่งหรือที่ตั้งของธุรกิจตัวเอง หากเลือกยิงโฆษณาไปยังบริเวณที่ไม่ใช่ที่ตั้งของธุรกิจตัวเอง โฆษณาจะไม่ปรากฏขึ้นมาเมื่อเสิร์ชใน Google คุณสามารถใช้เครื่องมือ Ad Preview and Diagnosis Tool เพื่อค้นหาโฆษณาของตัวเองได้ นอกจากนี้ การตั้งค่าภาษาให้สอดคล้องกับภาษาที่กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่นั้น ๆ ใช้ ก็ช่วยให้โฆษณาแสดงผลกับกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น
การเจาะลึกกลุ่มเป้าหมายด้วยวิธี Custom Audience ก็เป็นอีกหนึ่งลูกเล่นที่ช่วยทำให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ โดยสามารถเลือกทำ Custom Audience ได้จาก Feature ที่ชื่อว่า Audience Maneger ซึ่งมีให้เลือกทำทั้งแบบ Custom Affinity และ Custom Intent
การทำ Custom Affinity จะเน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายจากความสนใจ สถานที่ URL และแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้อง เช่น หากคุณเปิดร้านขายรองเท้าวิ่ง คุณอาจสร้าง Custom Affinity โดยระบุความสนใจของกลุ่มเป้าหมายว่า ‘วิ่งมาราธอน' เป็นต้น ส่วนการทำ Custom Intent จะเน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายจากสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายเสิร์ช เช่น ใส่ลิงก์เว็บไซต์หรือบทความรีวิวรองเท้าวิ่งแบรนด์ดังในการทำ Custom Intent เพื่อให้โฆษณาร้านขายรองเท้าของคุณไปปรากฏแก่ผู้ที่เข้ามาอ่านบทความนั้น วิธีนี้จะเพิ่มโอกาสให้กลุ่มเป้าหมายคลิกเข้าเว็บไซต์จากโฆษณาได้มากขึ้น เพราะผู้ที่เข้ามาอ่านบทความดังกล่าวย่อมสนใจและตั้งใจจะซื้อรองเท้าวิ่งอยู่แล้ว จึงมีแนวโน้มที่จะเข้ามาเลือกซื้อรองเท้าวิ่งจากโฆษณาที่ปรากฏอยู่ได้ไม่ยาก
3. บริหาร Budget ให้คุ้มค่า
วิธีจัดสรร Budget สำหรับทำแคมเปญ Ads ให้คุ้มค่าและได้ผลที่สุด อยู่ที่การเลือก Bid Strategy หลักการเลือกกลยุทธ์บริหาร Budget นั้นดูจากผลลัพธ์ที่คุณต้องการจากการทำแคมเปญ ประกอบด้วย Conversions, Clicks, Impressions และ Views ซึ่งมีกลยุทธ์สำหรับบริหาร Budget แตกต่างกันไป ดังนี้
- Conversions
เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเก็บ Leads กระตุ้นให้เกิดการซื้อ หรือโทรศัพท์มาสอบถามข้อมูล นักการตลาดควรเลือกกลยุทธ์แบบ Smart Bidding ซึ่งจะช่วยจัดการ Budget สำหรับทำแคมเปญอย่างอัตโนมัติ และมีแผนจัดการย่อยให้เลือกถึง 4 แบบ
- Clicks
เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการสร้าง Traffic เว็บไซต์ ควรเลือกการจัดการ Budget แบบ Cost-Per-Click หรือจ่ายตามจำนวนที่มีผู้คลิกเข้ามา โดยสามารถตั้งค่าบริหาร Budget แบบอัตโนมัต (Maximize Clicks) หรือกำหนดการบริหารและปรับ Budget ตามความเหมาะสมด้วยตัวเอง (Mannual Clicks)
- Impressions
เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการสร้าง Brand Awareness การบริหาร Budget สำหรับ Impressions มีหลายวิธี ซึ่งช่วยยิงโฆษณาของคุณให้ปรากฏตามเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม
- Views
เหมาะสำหรับผู้ที่ทำ Video Ads และต้องการเพิ่มยอดวิว กระตุ้นกลุ่มเป้าหมายให้คลิกเข้าชมเว็บไซต์จาก Video Ads หรือพิจารณาแบรนด์ของคุณประกอบการตัดสินใจซื้อ ควรเลือกบริหาร Budget แบบ Cost-Per-View ซึ่งสามารถกำหนดราคาสูงสุดสำหรับจ่ายในการเก็บยอด View แต่ละครั้งได้ตามต้องการ
4. คิด Keywords ให้ตรงจุด
ขั้นตอนสำคัญในการทำ Ads คือเลือก Keywords ให้เป็น สิ่งแรกที่ต้องพิจารณาก็คือเป้าหมายแคมเปญและกลุ่มเป้าหมาย หากต้องการเก็บ Leads เพิ่มยอดขาย หรือสร้าง Conversions แน่นอนว่ากลุ่มเป้าหมายต้องเสิร์ชหาสินค้าหรือบริการด้วย Keywords ที่ระบุคุณสมบัติเฉพาะ ราคา หรือโปรโมชั่นของสินค้าหรือบริการที่ตรงตามความต้องการตนเอง การวิเคราะห์เป้าหมายแคมเปญและความต้องการของผู้บริโภคจะช่วยกำหนด Keywords ที่เกี่ยวข้องและทำให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น
การจัดหมวดหมู่ Keywords หรือ Ad Group จะช่วยให้กำหนด Keywords ได้อย่างแม่นยำ ซึ่งแต่ละแคมเปญควรมี Ad group อย่างน้อย 3 หมวดหมู่ Keywords ของแต่ละ Ad Group ต้องเกี่ยวข้องกัน รวมทั้งสื่อถึงใจความหลักของ Ad Group อย่างชัดเจน เช่น หากทำธุรกิจค้าส่งผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับกาแฟ คุณอาจทำ Ad Group ออกมา 3 Ad Group แบ่งเป็น เมล็ดกาแฟสด กาแฟสำเร็จรูป และเครื่องดื่มกาแฟ โดยใส่ Keywords ใน Ad Group เมล็ดกาแฟสด 3 คำ คือ กาแฟแท้ อาราบิก้า โรบัสต้า ส่วน Ad Group กาแฟสำเร็จรูป อาจเลือกคำว่า กาแฟผง กาแฟชงพร้อมดื่ม เป็นต้น
นอกจากนี้ การตั้งค่า Keywords Match Types จะช่วยกำหนดการแสดงผลโฆษณาไปยังกลุ่มเป้าหมายได้อย่างครอบคลุม ดังนี้
- Broad Match
โฆษณาจะแสดงผลเมื่อกลุ่มเป้าหมายเสิร์ชคำที่มีความหมายเดียวกัน สะกดคล้ายกัน หรือเกี่ยวข้องกับ Keywords เช่น หาก Bid คำว่า ‘ชุดชั้นในผู้หญิง' โฆษณาของคุณก็จะแสดงผลเมื่อมีผู้เสิร์ชคำดังกล่าวหรือเสิร์ชคำที่มีความหมายแบบเดียวกันอย่าง ‘ชุดชั้นในสุภาพสตรี'
- Broad Match Modifier
โฆษณาจะแสดงผลเมื่อมีผู้เสิร์ชคำที่ตรงกับ Keywords ของคุณ การตั้งค่า Keywords จะต้องใส่เครื่องหมาย + ตามด้วย Keywords เช่น หากตั้งค่าคีย์เวิร์ดคำว่า +ชุดชั้นใน, +ผู้หญิง โฆษณาของคุณจะแสดงผลเมื่อมีผู้เสิร์ชว่า ‘ชุดชั้นในสำหรับผู้หญิง' หรือ ‘ชุดชั้นใน ลดราคา ผู้หญิง'
- Phrase Match
คือการตั้งค่า Keywords แบบวลีหรือกลุ่มคำ โดยใส่เครื่องหมายคำพูด (“”) คร่อมกลุ่มคำ Keywords ไว้ โฆษณาจะแสดงผลเมื่อมีผู้เสิร์ชกลุ่มคำนั้นโดยตรง เช่น หากตั้งค่า Keywords ว่า ‘ชุดชั้นในผู้หญิง' โฆษณาจะแสดงผลเมื่อมีผู้เสิร์ชว่า ‘ชุดชั้นในผู้หญิง' หรือ ‘จำหน่ายชุดชั้นในผู้หญิง' แต่จะไม่แสดงผลหากเสิร์ชว่า ‘ชุดชั้นใน สำหรับ ผู้หญิง' เพราะลำดับกลุ่มคำไม่ตรงกับ Keywords
- Exact Match
โฆษณาจะแสดงผลเมื่อมีผู้เสิร์ชคำที่ตรงกับ Keywords หรือมีความหมายตรงกับ Keywords โดยที่รูปคำไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับเหมือน Keywords ที่เลือกไว้ การตั้งค่าจะใส่วงเล็บเหลี่ยม [ ] คร่อม Keywords เช่น หากตั้งค่าคีย์เวิร์ดคำว่า [ชุดชั้นในผู้หญิง] โฆษณาจะแสดงผลเมื่อมีผู้เสิร์ชว่า ‘ชุดชั้นในผู้หญิง' ‘ชุดชั้นในสำหรับผู้หญิง' ‘จำหน่ายชุดชั้นในผู้หญิง' หรือ ‘ชุดชั้นในผู้หญิง ราคา'
- Negative Match
คือการตั้งค่า Keywords ที่ไม่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันโฆษณาไม่ให้แสดงผลเมื่อมีผู้เสิร์ชคำดังกล่าว โดยจะใส่เครื่องหมาย – ตามด้วย Keywords เช่น หากคุณเปิดร้านขายชุดชั้นในผู้หญิงเพียงอย่างเดียว คุณสามารถตั้งค่า Negative Match ของคำว่า -ชุดชั้นในผู้ชาย เพื่อกำหนดการแสดงผลโฆษณาของคุณไม่ให้ปรากฏบน Google Search ในกรณีที่มีผู้เสิร์ชคำดังกล่าว นับเป็นทางเลือกหนึ่งในการกรองกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งไม่ทำให้คุณจ่ายเงินไปกับจำนวนคลิกที่ไม่ก่อให้เกิด Conversions โดยเปล่าประโยชน์
5. สร้าง Ads ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย
ข้อความหรือ Text Ads ถือเป็นองค์ประกอบพื้นฐานในการสร้างคอนเทนต์โฆษณา โดยวิธีเขียน Text Ads ให้ดึงดูดกลุ่มเป้าหมายและมีคุณภาพต้องมีลักษณะ ดังนี้
- ชัดเจน
ต้องการนำเสนออะไร ก็สื่อสารให้ชัดเจน ตรงไปตรงมา ข้อความสั้น กระชับ ได้ใจความ ผู้รับสารต้องเข้าใจว่าแบรนด์ขายหรือให้บริการอะไร มีข้อเสนอหรือโปรโมชั่นพิเศษอย่างไร และตอบสนองความต้องการหรือไม่ โดยอาจแทรก Keywords เข้าไปใน Text Ads อย่างน้อย 1 Keywords เพื่อดึงดูดผู้ที่พบเห็นให้คลิกเข้าเว็บไซต์สำหรับอ่านรายละเอียดต่อไป
- ตรงประเด็น
การเขียน Text Ads ประกอบด้วย Headline Display URL และ Description โดยควรเลือกใส่เฉพาะข้อมูลและรายละเอียดที่สำคัญเท่านั้น Headline มี 2 ส่วน คั่นกลางด้วยเครื่องหมายขีด Headline แต่ละส่วนจะใส่ตัวอักษรได้ประมาณ 30 ตัวอักษร บรรทัดต่อมาคือ Display URL สำหรับใส่ที่อยู่หรือโดเมนเนมของเว็บไซต์ ส่วนบรรทัดสุดท้ายจะเป็น Description ควรอธิบายจุดเด่นหรือโปรโมชั่นของผลิตภัณฑ์ โดย Text Ads ส่วนนี้จำกัดจำนวนตัวอักษรไม่เกิน 80 ตัวอักษร
- มีสัมพันธภาพ
Text Ads ในส่วนของ Headline กับ Description ต้องมีเนื้อหาไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะช่วยให้ถ่ายทอดสารไปยังกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจนและตรงประเด็น นอกจากนี้ การใส่ Call-to-Action (CTA) ในส่วนของ Description จะช่วยกระตุ้นให้ผู้พบเห็นคลิกเข้าเว็บไซต์ เพื่อซื้อสินค้า กรอกข้อมูล หรือลงทะเบียนตามเป้าหมายได้มากขึ้น
- ได้มาตรฐาน
การเขียน Text Ads ต้องถูกต้องตามหลักการใช้ภาษาทั้งในเรื่องตัวสะกดและไวยากรณ์ ชัดเจน เข้าใจง่าย ใจความครบถ้วน มีประโยชน์และเกี่ยวข้องกับ Keywords ที่กลุ่มเป้าหมายค้นหา ชื่อภาษาอังกฤษต้องขึ้นต้นตัวพิมพ์เล็กและพิมพ์ใหญ่ให้ถูกต้อง มีชื่อและรายละเอียดเบื้องต้นของสินค้าหรือบริการครบถ้วน เคาะวรรคคำหรือข้อความตามความเหมาะสม ควรเลี่ยงใส่เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ใน Text Ads รวมทั้งไม่ใช้คำหรือวลีเดิมในโฆษณาซ้ำกันหลายครั้ง
หากต้องการใส่เครื่องหมายการค้าหรือชื่อแบรนด์ที่ใช้เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์อันขัดต่อนโยบายการเขียน Text Ads ของ Ads เจ้าของแบรนด์จำเป็นต้องยื่นเรื่องแจ้งกับ Google ตามนโยบายเครื่องหมายการค้าสำหรับทำ Google Ads มือใหม่
นอกจากนี้ ข้อความโฆษณาต้องไม่สื่อเนื้อหาไปในทางที่ก่อให้เกิดความรู้สึกหวาดกลัว ต่อต้าน สร้างความเกลียดชัง หรือเหยียดความเป็นมนุษย์ รวมทั้งไม่ควรนำเสนอโฆษณาที่มีเนื้อหายั่วยุทางเพศ เรื่องราวละเอียดอ่อนสะเทือนอารมณ์ หรือการทารุณกรรมสัตว์ เช่น ล่าสัตว์ หรือซื้อขายสัตว์สงวน
ภาพนับเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญสำหรับ Display Ads ภาพประกอบโฆษณาต้องชัด ไม่เบลอ ภาพไม่แตก ขนาดภาพได้มาตรฐาน ไม่ล้นเฟรมเมื่อแสดงผลบนหน้าเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่น ส่วนการทำ Video Ads ต้องใช้วิดีโอที่ภาพและเสียงคมชัด ความยาวของคลิปไม่ควรเกิน 3 นาที หากตั้งค่า Video Ads แบบกดข้ามไม่ได้ ก็ควรให้มีความยาวน้อยกว่า 15 วินาที ที่สำคัญ ควรใส่ชื่อและโลโก้ของแบรนด์ไว้อย่างชัดเจน
6. ติดตามผลอย่างใกล้ชิด
การทำแคมเปญออนไลน์จะประสบความสำเร็จไม่ได้เลยหากขาดการติดตามผลของแคมเปญ หลังจากที่อ่านค่า Metrics เพื่อวิเคราะห์ผลแล้ว นักการตลาดควรปรับแผนกลยุทธ์การตลาด โดยอิงจากผลลัพธ์ที่ได้ในการทำแคมเปญแต่ละครั้ง เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของแคมเปญ และแก้ไขจุดบกพร่องในการทำแคมเปญครั้งต่อไป
การติดตั้ง Conversions Tracking จะช่วยเก็บข้อมูลพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายเมื่อพบโฆษณา AdWords ที่ยิงไปตามแหล่งต่าง ๆ ว่าเป็นอย่างไรหลังจากได้รับข้อมูลโฆษณาเหล่านั้น เช่น คลิกเข้าเว็บไซต์ต่อไป กดสั่งซื้อสินค้าหรือบริการทันที โทรติดต่อฝ่ายขาย ลงทะเบียนสำหรับรับข้อมูลหรือรอการติดต่อกลับ เป็นต้น โดยวิธีนี้จะช่วยให้เห็นว่าประเภท Ads ที่ยิงไปหรือคอนเทนต์โฆษณาลักษณะไหนที่ทำให้เกิดการสร้าง Conversions ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ การติดตั้ง Conversions Tracking จะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าคุณต้องการ Track ข้อมูลการสร้าง Conversions จากเว็บไซต์ แอปพลิเคชั่น เบอร์โทรศัพท์บนหน้าเว็บไซต์ หรือจากโฆษณาที่ลิงก์กลุ่มเป้าหมายให้ติดต่อฝ่ายขายโดยตรง
นอกจากนี้ ควรติดตามการวัดผลอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของ Performance อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งวิเคราะห์และปรับแผนการตลาด เพื่อเพิ่มการสร้าง Conversions ให้ดีขึ้น
สรุป
การทำการตลาดออนไลน์ด้วย Google Ads นับเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น แต่ก็อาจมีข้อผิดพลาดในการซื้อโฆษณาทำให้ Conversion ไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้น นักการตลาดควรวิเคราะห์เป้าหมาย วางแผนการตลาด สร้างสรรค์คอนเทนต์ รวมทั้งติดตามวัดผลแคมเปญอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประมวลผลลัพธ์ที่ได้จากการทำแคมเปญแต่ละครั้ง เพื่อนำไปปรับใช้ในการทำแคมเปญครั้งต่อไป ที่สำคัญ ต้องอัปเดตเทรนด์ใหม่ ๆ ในโลกออนไลน์อยู่เสมอ
ตาคุณแล้ว
เทคนิคการทำ Google Ads ยังมีให้เรียนรู้กันแบบเจาะลึกอีกมากมาย แต่หัวใจสำคัญที่สุดในการทำ Google Ads มือใหม่นั้น คือลงมือทำ ก่อนจะเสิร์ชหาข้อมูล Ads ขั้นต่อไป หรือจะใช้ตัวช่วยสร้างโฆษณาแบบอัติโนมัติดูก็ได้ ลองสวมบทบาทนักการตลาดออนไลน์ แล้วเริ่มแคมเปญแรกของคุณกันเถอะ