การอัปเดตข่าวสารให้ทันเหตุการณ์มีความสำคัญมากในการทำธุรกิจ ถ้าใครมีข้อมูลที่มากกว่า ใหม่กว่า ก็ยิ่งได้เปรียบกว่า และวันนี้เราจะมาแนะนำเครื่องมือดีๆ อีกหนึ่งตัวที่ชื่อว่า ‘Google Alerts’ เป็นเครื่องมือที่เปรียบเสมือนกับนาฬิกาปลุกแห่งวงการ Digital

บอกเลยว่านาฬิกานี้จะคอย กริ๊ง! แจ้งเตือนข่าวหรือคอนเทนต์ใหม่ๆ ที่คุณสนใจ คุณจะได้ไม่พลาดทุกการอัปเดต แต่เครื่องมือนี้ทำได้มากกว่าติดตามเรื่องที่คุณสนใจ แล้วสามารถทำอะไรได้บ้างล่ะ ลองอ่านต่อกันเลย

ยาวไปอยากเลือกอ่าน

Google Alerts คืออะไร 

Google Alerts คือ บริการหนึ่งจาก Google ที่จะช่วยแจ้งเตือนข่าวสารใหม่ๆ ให้กับเราผ่านทางอีเมลโดยตรง ทั้งในรูปแบบของ ข่าว, บล็อก, เว็บไซต์, หรือวิดีโอ ตามที่เรากำหนดไว้ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จะมาจากผลการค้นหาล่าสุดของ Google โดยอ้างอิงจาก Keywords ที่เราใส่ลงไป

สำหรับใครที่ยังไม่เคยใช้เครื่องมือนี้มาก่อน เราจะพาไปเปิดใช้งานเครื่องมือนี้กัน สมัครได้ง่ายมากๆ เลยค่ะ ^^

วิธีเปิดใช้งาน Google Alerts

1. ไปที่ google.com/alerts > เลือก Google Account ที่ต้องการ Logged in

2. เมื่อเลือก Account แล้ว Account ที่เลือกจะปรากฏอยู่ที่ My alerts

3. สัญลักษณ์ฟันเฟือง จะเป็นการตั้งค่าการรับแจ้งเตือนจาก Google Alerts คุณสามารถตั้งค่าเวลารับการแจ้งเตือน ความถี่ในการรับข่าวสาร และช่องทางในการรับข่าวสารได้ที่นี่

4. สัญลักษณ์รูปดินสอ หรือ ปุ่ม Edit มีไว้เพื่อตั้งค่าการแจ้งเตือนต่างๆ

ช่องทางด้านบนสุดสำหรับพิมพ์ Keyword ที่เราต้องการ

How often:  เป็นเมนูที่ให้คุณเลือกความถี่ที่ต้องการรับการแจ้งเตือน

Sources : เป็นเมนูให้เลือกแหล่งข้อมูลที่เราต้องการข้อมูล

Language : เป็นเมนูสำหรับเลือกภาษาที่ต้องการ

How many : เมนูที่ใช้เลือกปริมาณข่าวสารที่ต้องการ มีให้เลือกได้ 2 แบบ คือ ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด และ ผลลัพธ์ทั้งหมด

Deliver to : เป็นเมนูสำหรับเลือกช่องทางรับข่าวสาร โดนสามารถเลือกได้ 2 แบบ คือ ทางอีเมลของเรา และ RSS feed

เมื่อตั้งค่าเรียบร้อยแล้ว กดที่ “Update alert” ได้เลย เพียงเท่านี้คุณก็เปิดใช้งาน Google Alerts ได้แล้ว

Google Alerts ช่วยได้มากกว่าติดตามเรื่องที่สนใจ (พร้อมตัวอย่างการใช้)

1. ช่วยสอดส่องหาเว็บที่พูดถึงคุณแต่ไม่ใส่ Link คุณ

ทำไมถึงควรใส่ Link มาหาเว็บของคุณ มีเหตุผลหลักๆ อยู่ 2 ข้อ คือ

  • Links สามารถช่วยคุณไต่อันดับของ Google ได้
  • Links จะช่วยให้ผู้อ่านเว็บนั้นๆ คลิกเข้ามาอ่านเว็บของคุณด้วย

ซึ่งเราเองก็สามารถหา Unlinked ที่กล่าวถึงเราได้จาก Google Alerts วิธีการเช็ค

  1. ให้พิมพ์ชื่อแบรนด์ของคุณ และชื่อแบรนด์อื่นที่เกี่ยวข้องหรืออาจกล่าวถึงคุณใน Google Alerts 
  2. เมื่อได้รับการแจ้งเตือนแล้ว ไห้ไปที่หน้าเพจนั้นแล้วดู Source code (คลิกขวา > View Page Source)
  3. ค้นหา ชื่อเว็บไซต์ของคุณ.com โดยใช้ CTRL (Windows) /CMD+F (Mac)
  4. ถ้าไม่ขึ้นผลลัพธ์แสดงว่าผู้เขียนเพจนั้นไม่ได้ใส่ Link มาที่เว็บของคุณ 

2. ช่วยจับตาดู Link ที่ไม่ดี

ถ้าคุณเจอลิงก์ 2 แบบด้านล่างนี้ มั่นใจได้เลยว่า คุณโดนแฮ็กเข้ามาแน่นอน

  • Spam: ใส่คำที่ไม่เกี่ยวข้องพร้อมกับลิงก์ที่ไม่เกี่ยวข้องมาในเว็บไซต์คุณ 
  • Link ที่ผิดบริบท: เมื่ออ่านข้อความจากที่ลิงก์ไปนั้น เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องหรือไม่เชื่องโยงกับข้อความที่ลิงก์มา

ถ้ามี Links ประเภทนี้ เว็บไซต์ของคุณอาจอันดับตกได้ คุณสามารถเช็ค Links เหล่านี้ได้โดยการพิมพ์ใน Google Alerts ว่า

site:Yourwebsite.com + “คำที่เจอ1” OR “คำที่เจอ2”  OR “คำที่เจอ3” 

ซึ่งคุณสามารถพิมกี่คำก็ได้โดยใช้ OR เป็นคำคั่น

3. ช่วยค้นหาโอกาสในการหา Guest Post ใหม่ๆ

Guest Post คืออะไร? Guest Post คือ การที่เราขอให้เว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเรา มีความน่าเชื่อถือ และมี Traffic มาพอสมควร มาเขียนเนื้อหาที่เกี่ยวกับเรา ดังนั้น การทำ Guest Post เราก็จะได้ Traffic เพิ่มด้วยเช่นกัน

หากเราไม่มี Guest Post สามารถหา Guest Post จากเรื่องที่คุณต้องการ โดยการพิมพ์

หัวข้อที่ต้องการ + “guest post by”

หากเรามี Guest Post ที่สนใจแล้วให้พิมพ์ใน Google Alerts ว่า

“guest post by” + “ชื่อ/นามปากกาคนที่ต้องการ” -site:ชื่อเว็บไซต์คนที่ต้องการ.com

4. ช่วยตรวจสอบคู่แข่งของคุณเพื่ออ้างอิง NAP ในพื้นที่ใหม่

NAP คือการที่ธุรกิจของเราถูกกล่าวถึงเรื่อง (Name, Address, Phone number) ในเว็บไซต์อื่นๆ เช่น ร้านโอมากาเสะ ในเว็บไซต์ Wongnai ดังรูปด้านล่างนี้

รูปภาพจาก Wongnai

วิธีดูว่าข้อมูลคู่แข่งของคุณอยู่ในเว็บไซต์ไหนบ้าง ให้พิมพ์ว่า

“ชื่อแบรนด์คู่แข่ง” + “ที่อยู่ของคู่แข่ง” + “เบอร์ของคู่แข่ง”

เมื่อเจอแล้ว เราก็สามารถติดต่อเพื่อนำข้อมูลของเราใส่ในเว็บไซต์นั้นเพื่อแข่งกับคู่แข่งได้

5. ช่วยหาคำถามในสิ่งที่คุณเชี่ยวชาญ

ช่วยค้นหาคำถามที่มีคนสงสัยซึ่งเกี่ยวข้องกับธุรกิจของคุณ เพื่อให้คุณเข้าไปตอบคำถามเหล่านั้น และช่วยเพิ่มความไว้ใจให้กับคนที่มีโอกาสมาเป็นลูกค้าของคุณได้ โดยพิมพ์ว่า

[ชื่อเรื่อง] + site:[forumname.com] + intitle: (ใคร|อะไร|เมื่อไหร่|ที่ไหน|อย่างไร)

เมื่อคุณเจอคำถามที่ต้องการแล้ว คุณก็สามารถเข้าไปตอบได้เลย

6. ช่วยจับตาดูสิ่งที่คู่แข่งโพสต์

การดูว่าคู่แข่งเราโพสต์อะไรบ้าง จะเป็นการช่วยเพิ่มไอเดียในการเขียนบทความใหม่ๆ ให้กับเรา และทำให้รู้ว่าคอนเทนต์ไหนของเขาที่มาแข่งกับของเรา

วิธีการดูว่าคู่แข่งของเราโพสต์อะไรบ้าง ให้พิมพ์ใน Google Alerts ว่า

site:ชื่อเว็บไซต์คนที่ต้องการ.com/blog 

ถ้ามีหลายเว็บไซต์ ให้ใช้ OR เชื่อมในแต่ละเว็บไซต์ได้ หรือถ้าอยากดูหัวข้อที่เฉพาะเจาะจง ให้พิมพ์คำที่ต้องการตามด้วย + ไว้ด้านหน้า เช่น

หัวข้อที่ต้องการ + site:ชื่อเว็บไซต์คนที่ต้องการ.com/blog  เป็นต้น

7. ช่วยเช็คข้อผิดพลาดของ URL

เคยเป็นไหม ที่อยู่ๆ ลิงก์ URL ของเราก็มีอักษรอะไรต่อท้ายมากมาย เช่น ?tid1234&page=7… ซึ่ง Google Alerts สามารถช่วยเราในเรื่องนี้ได้เช่นกัน

ให้เราสังเกตดูว่าตัวอักษรที่ต่อท้ายมามีคำไหนที่เหมือนกันบ้าง เช่น

www.ชื่อเว็บไซต์.com/marketing/?tid1234&page=6…  

กับ 

www.ชื่อเว็บไซต์.com/creative/?tid5284&page=57…

คำที่เหมือนกัน คือ ‘tid’ และ ‘page’ เพราะฉะนั้น ถ้าลิงก์ไหนที่มี 2 คำนี้อยู่แสดงว่า URL นั้นมีข้อผิดพลาด

วิธีการค้นหาลิงก์เหล่านี้ ให้พิมพ์ใน Google Alerts ว่า

site:ชื่อเว็บไซต์.com + inurl:tid + inurl:page

เมื่อมี Links ที่ประกอบด้วย 2 คำนั้น คุณก็จะได้รับแจ้งเตือน เพื่อนำไปแก้ไขต่อไป

8. ช่วยสอดส่องหาคนที่ขโมยผลงานคุณไปใช้

ถ้าคุณขาย Digital Product เช่น คอร์ส หรือ E-book อาจมีเว็บไซต์ที่นำเนื้อหาของคุณไปปล่อยให้คนดาวน์โหลดแบบผิดกฎหมาย แต่เราสามารถที่จะตรวจสอบว่า Digital Product ถูกปล่อยในเว็บไซต์อื่นหรือเปล่า วิธีการค้นหาให้พิมพ์ว่า

[ชื่อแบรนด์ของคุณ] + “ชื่อ Digital Product ” + (download | torrent) -site:ชื่อเว็บไซต์.com

คุณก็จะได้รับการแจ้งเตือนเมื่อมีคนขโมยผลงานของคุณไปปล่อย

3 เทคนิคใช้  Google Alerts ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

1. หลีกเลี่ยงการใช้คำทั่วๆ ไป

ควรใช้คำที่เฉพาะเจาะจง อย่างเช่น ชื่อแบรนด์ หรือใช้ Keywords ระบุสิ่งที่ตรงกับความต้องกันมากที่สุด ใช้รวมหลายๆ คำก็ได้ เพราะถ้าคุณพิมพ์หาโดยใช้คำค้นหาทั่วๆ ไป เช่น รองเท้า หรือ โทรศัพท์มือถือ คุณคงจะได้รับการแจ้งเตือนล้นอีเมลของคุณ จนสุดท้ายคุณก็จะเลื่อนผ่านการแจ้งเตือนเหล่านั้น หรือลบทิ้งโดยที่ยังไม่ได้อ่าน  

2. สร้าง Alerts มากกว่าหนึ่งตัว

ถ้าคุณใช้ Gmail คุณสามารถสร้างได้ถึง 1,000 alerts เลยทีเดียว แต่จริงๆ แล้วคุณอาจจะไม่ได้ต้องการที่จะรับการแจ้งเตือนขนาดนั้น ลองทดสอบดูว่าคุณโอเคกับปริมาณไหน ถ้าคุณสร้าง 10 คำ อาจจะได้ 100 alerts ก็ได้ เช่น การหาคอมเมนต์ด้านลบของแบรนด์คุณ คุณอาจจะไช้คำว่า

“ชื่อแบรนด์คุณ” + ไม่ชอบ

“ชื่อแบรนด์คุณ” + ไม่ได้ผล

“ชื่อแบรนด์คุณ” + ไม่ดี

คุณก็จะได้ปัญหาของแบรนด์คุณโดยเฉพาะ เพื่อนำไปปรับปรุงต่อไป

หรือถ้าคุณอยากรู้รีวิวแบบรวมๆ ทั้งส่วนที่ดีและไม่ดี ให้คุณใช้คำว่า

[ชื่อแบรนด์คุณ] + intitle:รีวิว

3. รวม Keywords เข้าด้วยกัน

เวลาเราจะหาข้อมูลอะไร เราไม่ได้พิมพ์หาเพียงคำเดียว ในนี้ก็เช่นกัน เราสามารถนำคำต่างๆ มารวมกัน เพื่อให้ตรงกับความต้องการเรามากที่สุด เช่น

“Inbound marketing” tips

“Inbound marketing” ideas

ข้อจำกัดของ Google Alerts

  • Google Alerts ไม่แสดงผลลัพธ์ของ Social Media
  • Google Alerts ไม่มี Analytics และ Reports ต่างๆ

สรุป

จริงๆ แล้ว Google Alerts ก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้เราติดตามข่าวสารที่ต้องการ และช่วยเช็ก ตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ให้กับเรา แต่ในทางกลับกันในเรื่องของคู่แข่งทางธุรกิจ ในเมื่อเราใช้เครื่องมือนี้สอดส่องเขาได้ เขาก็ใช้เครื่องมือนี้สอดส่องเราได้เช่นกันนะคะ 😉

ตาคุณแล้ว

Google Alerts เป็นบริการของ Google ที่สามารถช่วยให้เราทำ SEO หรือ SEM ได้อีกอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะตามเทรนด์ วิเคราะห์แบรนด์ตัวเอง หรือสอดส่องคู่แข่ง เพื่อนำมาปรับใช้ให้เว็บไซต์ของเราเอง ตอนนี้เราได้แชร์วิธีเริ่มต้นใช้งาน Tips และ Techniques ต่างๆ ไปแล้ว หวังว่าเพื่อนๆ จะนำไปประยุกต์ใช้กันได้นะคะ ถ้าใครมีเทคนิคอื่นๆ เพิ่มเติม สามารถพิมพ์บอกได้ทางช่องคอมเมนต์ได้เลยค่ะ ????