ในการทำธุรกิจ มีหลายเหตุและปัจจัยที่จะบอกได้ว่าธุรกิจนั้นจะรุ่ง หรือจะรอด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสินค้าหรือบริการที่ตอบโจทย์ การเลือกตลาดที่น่าสนใจ การบริหารงบประมาณ การบริหารคน ฯลฯ

ในโลกยุคที่คนมีทางเลือก มีสินค้าบริการที่เพิ่มความสะดวกสบายให้กับเราตั้งแต่ตื่นเช้ายันเข้านอน “การออกแบบ” คืออีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการทำธุรกิจที่บริษัทระดับโลกให้ความสำคัญ

ในบทความนี้ชวนมาดูกันว่า จะเกิดอะไรขึ้น หากธุรกิจหลงลืมให้ความสำคัญกับการออกแบบ หรือมีดีไซน์ที่ไม่ดีออกมาจากบริษัท

การออกแบบคืออะไร?

ก่อนที่จะชี้ให้เห็นว่าถ้าดีไซน์ไม่ดีจะเกิดอะไรขึ้น เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่าคำว่าดีไซน์นั้นหมายถึงอะไร

คำว่า ดีไซน์ ในมุมมองของคนทั่วไป ดูเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก จับต้องไม่ได้ ดูไม่มีหลักการใดๆ แถมยังดูเป็นเรื่องของความสวยงามเพียงอย่างเดียว

“ดีไซน์” เท่ากับ “ความสวย” จริงหรือ?

ที่จริงแล้ว “ดีไซน์” หรือ “การออกแบบ” คือ การค้นคว้าหาข้อมูล การวางแผน การกำหนดกระบวนการ เพื่อแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่ง (ที่มา: Design – Wikipedia)

ซึ่งการทำของออกมาให้สวย น่าดึงดูด นับว่าเป็นหนึ่งในกระบวนการออกแบบที่ถูกทำขึ้นเพื่อช่วยแก้ปัญหาที่สำคัญ เพียงแต่กว่าจะมาถึงขั้นตอนที่เราต้องทำของให้สวย จะต้องผ่านกระบวนอื่นมาก่อน หากอยู่ๆ เราเริ่มจากทำสวยๆ ขึ้นมา ทุ่มเทงบประมาณมากมาย แต่สุดท้ายพบว่า “ผิดโจทย์” ดีไซน์สวยแต่ไม่มีประโยชน์ คือไม่ตอบโจทย์ทั้งกับธุรกิจและลูกค้าก็เป็นได้

อันที่จริงแล้ว เราไม่สามารถตัดสินได้เลยว่าอะไรสวย หรือไม่สวย เพราะคนที่ตัดสินนั้นไม่ใช่เราเสมอไป บางทีเราคิดว่าดีไซน์นี้สวยสำหรับเรา แต่อาจจะไม่สวยสำหรับกลุ่มเป้าหมายก็ได้ เพราะฉะนั้น ดีไซน์ที่สวยอาจจะไม่ใช่ดีไซน์ที่ดีเสมอไป

ดีไซน์ที่ดี ดีไซน์ที่ไม่ดี ต่างกันที่ตรงไหน?

ดีไซน์นั้นไม่ใช่ศิลปะ สิ่งที่แยกดีไซน์ออกจากศิลปะคือ ดีไซน์เริ่มจาก “โจทย์” และมี “คน” เป็นหนึ่งในโจทย์ที่สำคัญเสมอ

ก่อนที่จะดีไซน์อะไรก็ตาม เราต้องเริ่มจากโจทย์เสมอ ทั้งโจทย์ของธุรกิจ และโจทย์ของลูกค้า หากไม่มีโจทย์ที่ชัดเจนในทั้งสองฝั่ง ก็ยากที่จะทำงานดีไซน์ออกมาได้ เพราะไม่มีทิศทาง ไม่รู้ว่าจะทำไปเพื่ออะไร

ฉะนั้น ดีไซน์ที่ดีคือดีไซน์ที่ตอบโจทย์ ส่วนที่ดีไซน์ที่แย่ คือดีไซน์ที่ไม่ตอบโจทย์อะไรเลย เรียกว่าไม่รู้จะทำไปทำไมนั่นแหละ

ด้านล่างนี้คือ 7 ความผิดพลาดที่เกิดจากการมีดีไซน์ที่ไม่ดี หรือการหลงลืมให้ความสำคัญกับดีไซน์

7 ความผิดพลาดที่เกิดจากการมีการออกแบบที่ไม่ดี

1. ลูกค้าไม่เข้าใจว่าขายอะไร

นี่คือความผิดพลาดที่ร้ายแรงเป็นอันดับต้นๆ ที่เกิดขึ้นจากดีไซน์ที่สื่อสารออกมาได้ไม่ตรงประเด็น ไม่ชัดเจน จนทำให้ลูกค้าเกิดความสับสน ไม่เข้าใจว่าสินค้าที่กำลังจะซื้อ หรือบริการที่กำลังจะใช้นั้นมีคุณสมบัติอย่างไรกันแน่

การออกแบบที่ชวนสับสน การดีไซน์ที่ชวนสับสน
PennyJuice.com บริษัทขายน้ำผลไม้สำหรับเด็ก แต่เลือกใช้รูปเด็กเป็นรูปหลัก ทำให้สับสนว่าขายอะไรกันแน่

ตัวอย่างดีไซน์ที่ทำให้ลูกค้าสับสน

  • การเลือกภาพที่ไม่ตรงกับสินค้าและบริการ
  • ขาดการใช้การออกแบบเพื่อเน้นสิ่งที่สำคัญ หรือที่เป็นหัวใจของผลิตภัณฑ์
  • ขาดการสื่อสารด้วยภาพที่ทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น

การแก้ไขเบื้องต้น

  • หากสินค้าหรือบริการของคุณเข้าใจยาก การอธิบายด้วยข้อความอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ ควรจะต้องหาวิธีในการสื่อสารแบบอื่น เช่น  การทำเป็น Infographic การทำ Video เป็นต้น
  • ทดลองเอาสิ่งที่ออกแบบไปให้กลุ่มเป้าหมายทดสอบดูก่อนที่จะผลิตหรือใช้งานจริง

2. ลูกค้าจดจำไม่ได้

หลายคนอาจเคยเจอปัญหาว่าลงเงินทำโฆษณาสินค้าหรือบริการไปแล้ว แต่ลูกค้าก็ยังจำแบรนด์ไม่ได้

นั่นเป็นเพราะมูลค่าของเม็ดเงินในงบการตลาดนั้นไม่ได้แปรผันตรงกับการจดจำแบรนด์หรือสินค้าหรือบริการได้เสมอไป หากดีไซน์ของแบรนด์ หรือบริการของคุณไม่มีความแตกต่าง หรือไม่มี Identity ที่ชัดเจน

การทุ่มงบทำโฆษณามากมายเพื่อให้เกิดกระแสไวรัลไปทั่วในโลกโซเชียล ในขณะที่แบรนด์ยังไม่แข็งแรง ยังไม่มี Brand Identity โดยมากจึงได้ไม่คุ้มเสีย

ทำอย่างไรให้ไม่พลาด?

  • ให้ความสำคัญกับ Brand Identity ในเชิงของ Visual และพยายามรักษารูปแบบให้เป็นไปตามที่วางเอาไว้  ให้ทุกช่องสื่อสารมีภาพลักษณ์เดียวกัน เพื่อให้คนสามารถจดจำได้
  • วางรากฐานแบรนด์ให้แข็งแรงเสียก่อนที่จะทุ่มงบไปกับการตลาดอื่นๆ

3. ทำลายประสบการณ์ที่ดีของลูกค้าที่มีต่อแบรนด์

ดีไซน์ที่ดี ต้องไม่ใช่แค่สวย แต่ต้องตรงประเด็น ดีไซน์ที่แย่สามารถสร้างความสับสนงงงวย ซึ่งสุดท้ายแล้วจะทำให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกและประสบการณ์ที่ไม่ดีกับแบรนด์ได้อย่างไม่น่าเชื่อ

ยกตัวอย่าง เช่น ร้านอาหารที่ออกแบบเมนูอาหารไม่ดี อ่านยาก ลูกค้าต้องใช้ความพยายามในการทำความเข้าใจ หากคุณคิดว่านี่เป็นปัญหาพื้นๆ ที่ไม่ส่งผลต่อธุรกิจ คุณอาจจะคิดผิด

การออกแบบที่ไม่ดี ดีไซน์ที่ไม่ดี
ตัวอย่างเมนูอาหารในร้านขายอาหารจีนแห่งหนึ่ง

เพราะการใช้งานเมนูอาหารที่ดีไซน์ไม่ดี ทำให้สมองต้องใช้พลังงานมากขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ (สมองเป็นหนึ่งในอวัยวะที่ใช้พลังงานมากที่สุดเมื่อเทียบกับขนาด คนเราจึงดำเนินชีวิตโดยเลือกวิธีการที่ใช้สมองน้อยที่สุด เพราะต้องการประหยัดพลังงานนั่นเอง) เมื่อต้องใช้พลังงานในเรื่องที่ไม่จำเป็น ก็ทำให้ภาพรวมของประสบการณ์ในการมาทานอาหารที่ร้านคุณที่ไม่ดีอย่างช่วยไม่ได้

ทำอย่างไรให้ไม่พลาดอย่างเขา?

  • การออกแบบคือการแก้ปัญหา อย่างน้อยของที่เราทำขึ้นมาต้องใช้งานได้ก่อน ถ้าใช้งานไม่ได้ถือว่าล้มเหลว Forms follow functions
  • สำหรับการสื่อสารข้อมูลที่เน้นข้อความ ลองศึกษาเรื่องจัดกลุ่มของข้อมูล ซึ่งจะช่วยลดภาระของสมองและทำให้ประสบการณ์ของลูกค้าดีขึ้น เพราะเหนื่อยน้อยลง

4. ดึงดูดลูกค้าผิดกลุ่ม

ในโลกของธุรกิจ การวาง Positioning สินค้าหรือบริการ เป็นสิ่งที่ธุรกิจมักจะทำกัน

ผลิตภัณฑ์บางอย่าง ถูกวาง Positioning เอาไว้เป็นอย่างดีให้เป็นของพรีเมียม มีการกำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย มีการแบ่ง Segment อย่างละเอียดว่าต้องเป็นกลุ่ม B+ ขึ้นไปเท่านั้น แต่กลับกลายเป็นว่าดีไซน์ที่ออกมา ไม่ว่าจะเป็น Brand Identity หรือ Artwork นั้นไปดึงดูดลูกค้าคนละกลุ่ม ที่สุดท้ายแล้วไม่สามารถจะเป็นลูกค้าที่แท้จริงได้

วิธีปรับปรุง

  • ศึกษากลุ่มเป้าหมายให้ลึกขึ้น ไม่ใช่แค่สิ่งที่เห็นภายนอก แต่ต้องรู้ลึกไปถึงสิ่งที่เขาชอบทำ ของที่เขาใช้ ร้านที่ชอบไป เพื่อให้เข้าใจถึง Preference ของเขาและนำมาออกแบบของให้ไม่หลุดไปจากนี้มากนัก (อ่านเพิ่มเติม เกี่ยวกับการทำ Buyer Persona)
  • ทำความเข้าใจว่าดีไซน์แต่ละแบบนั้นส่งผลต่อความรู้สึกอย่างไร เพื่อให้เลือกได้ว่าจะออกแบบให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างไร

5. ขาดความน่าเชื่อถือ

จะมีประโยชน์อะไรหากคุณมีสินค้าราคาสูง คุณภาพเยี่ยม ที่ผ่านงานวิจัยของห้องทดลองจากสหรัฐอเมริกา แต่ภาพลักษณ์ที่ออกมากลับดูแล้วทำให้คนสงสัยว่า “ของชิ้นนี้เชื่อถือได้จริงหรือ?”

การออกแบบที่ไม่น่าเชื่อถือ การดีไซน์ที่ไม่น่าเชื่อถือ
ตัวอย่างบรรจุภัณฑ์และการออกแบบกราฟฟิกของยารักษาโรคผิวหนังที่ทำออกมาแล้วดูไม่ค่อยน่าเชื่อถือ
Credit:
 http://facefair.blogspot.com/p/blog-page.html

ส่วนประกอบของดีไซน์ที่ส่งผลลบต่อความน่าเชื่อถือ

  • การเลือกใช้สี และ ฟอนต์ ที่ดูแล้วให้ความรู้สึกเล่นๆ ไม่จริงจัง ทำให้เกิดความรู้สึกไม่น่าเชื่อถือ เหมือนเป็นของเด็กเล่น
  • การใช้ภาพจากเว็บ Stock Photo ที่ขาดการคัดเลือกที่ดี ทำคนดูรู้สึกว่าเหมือนเว็บไซต์ Spam
  • การออกแบบที่ทำออกมาแล้วไปละม้ายคล้ายคลึงกับแบรนด์ที่ดูไม่ดี หรือหลอกลวง ฉุดเราให้แย่ไปด้วย

ความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งที่สร้างได้ยาก คุณจึงไม่ควรเริ่มด้วยกันติดลบแต่แรกเพราะลืมให้ความสำคัญกับดีไซน์

6. เสียโอกาส

“First impression is the last impression”

การจะสร้างสินค้า บริการ หรือเปิดบริษัทเพื่อทำธุรกิจอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นต้องลงทุนไม่ใช่น้อย ทั้งเงิน ทั้งหยาดเหงื่อแรงงาน แต่สิ่งที่คุณทุ่มเทมาอาจจะเสียไปได้อย่างง่ายดาย หากคุณลืมให้ความสำคัญกับดีไซน์

คนเราตัดสินว่าสิ่งๆ หนึ่งเป็นอย่างไรจากการพบกันครั้งแรก และก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทุกวันนี้ ลูกค้าเจอธุรกิจครั้งแรกบนโลกออนไลน์ บนเว็บไซต์ ไม่ใช่หน้าร้านอีกต่อไป

จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อลูกค้าของคุณเข้าไปเว็บไซต์แล้วพบว่าเว็บไซต์บริษัทคุณนั้นอัปเดตครั้งล่าสุดเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ดีไซน์ดูย้อนยุคไปเมื่อสิบปีก่อน เว็บไซต์ที่เห็นตรงหน้าช่างแตกต่างกับสิ่งที่ลูกค้าคาดหวังเอาไว้ เรียกว่าเหมือนเป็นคนละบริษัทกันเลยทีเดียว


เว็บไซต์ของบริษัท FOS Furniture ที่อาจจะไม่สร้างความประทับใจให้กับลูกค้าที่เข้ามาเว็บไซต์เท่าไหร่นัก Credit
https://www.sweor.com/firstimpressions

คุณคิดว่า ลูกค้าคนนี้จะเกิด First Impression ที่ดีกับบริษัทคุณหรือไม่?

อย่าให้ดีไซน์ทำให้คุณเสียโอกาส เพราะโอกาสที่ลูกค้ามีใหักับคุณนั้น ส่วนมากมีแค่ไม่เกิน 1-2 ครั้งหรอก

7. ดึงดูดพนักงานมาทำงานด้วยยาก

การดูแลภาพลักษณ์ของธุรกิจในแง่ต่างๆ ให้ดูดี ดูน่าทำงาน เพื่อดึงดูดพนักงานนั้นสำคัญไม่แพ้ตัวเลขเงินเดือน

หากบริษัทลืมให้ความสำคัญดีไซน์ เช่น เว็บไซต์เก่าล้าสมัย รูปบน Social ที่ดูแล้วไม่ได้มีการกำหนด Guideline ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (ไม่แน่ใจว่าเข้าผิดบริษัทหรือเปล่า) หรือแม้แต่การออกแบบตกแต่งออฟฟิศที่ไม่ได้ส่งเสริมให้เกิด Productivity ในการทำงาน

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการขาดความใส่ใจต่อรายละเอียดต่างๆ ในธุรกิจ แทนที่ภาพลักษณ์จะช่วยส่งเสริมให้คนอยากร่วมงานด้วย ก็อาจจะกลายเป็นอีกต้นเหตุของปัญหาที่ทำให้ไม่มีคนอยากมาสมัครทำงานด้วย

เพราะฉะนั้นอย่าลืมให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์และดีไซน์ เพราะไม่ใช่แค่ลูกค้าที่จะมองเราจากสิ่งเหล่านี้ แต่ทีมงานในอนาคตของคุณก็เช่นกัน

สรุป

“ดีไซน์ที่แย่ มีราคาแพงกว่าที่คุณคิด”

ในยุคนี้ที่ลูกค้ามีทางเลือกมากมาย ดีไซน์กลายเป็นหนึ่งในอาวุธลับที่จะตัดสินว่าธุรกิจไหนจะอยู่หรือจะไป การประหยัดต้นทุนธุรกิจโดยไม่ให้ความสำคัญกับดีไซน์ หรือการทำดีไซน์ที่ไม่ดีเพื่อประหยัดงบประมาณ มักจะได้ผลลัพธ์ออกมาไม่คุ้มเสียอย่างกรณีศึกษาที่เราได้ยกตัวอย่างมาในบทความนี้