ทุกวันนี้ธุรกิจต่างๆ มีการแข่งขันกันค่อนข้างสูง ยิ่งสินค้าบางประเภทมีเป็นร้อย เป็นพันแบรนด์ที่ทำหน้าตาสินค้าออกมาคล้ายๆ กัน ทำให้เจ้าของแบรนด์ต่างต้องแย่งชิงลูกค้าเพื่อให้ได้ส่วนแบ่งทางการตลาดมากๆ ยอดขายและกำไร ก็จะได้มีมากขึ้นตามไปด้วย 

หนึ่งในกลยุทธ์ที่มีความสำคัญและส่งผลในระยะยาวให้กับแบรนด์ คือ การสร้างความน่าเชื่อถือ และความไว้วางใจให้แก่ผู้บริโภค การทำ ‘Testimonials’ หรือ ‘รีวิว’ ก็เป็นส่วนที่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ได้เป็นอย่างดี ยิ่งคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่าย ก็ไม่ใช้เรื่องยากที่จะค้นหารีวิว เช็คราคา คุณสมบัติ ข้อดี-ข้อเสีย ของแต่ละแบรนด์เพื่อหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง จริงไหม?

เอาล่ะ แล้วเราจะทำ Testimonials อย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุดกับองค์กร วันนี้เรามีเทคนิคดีๆ มาฝากมาให้คุณอ่านค่ะ

Testimonials คืออะไร? 

ก่อนอื่นเลย เราเชื่อว่าหลายคนอาจจะยังสับสนระหว่าง ‘Testimonials’ กับ ‘Reviews’ ว่ามันต่างกันยังไงนะ เพราะฉะนั้นเราขออธิบายความแตกต่างของทั้ง 2 คำนี้ให้เข้าใจตรงกันก่อน

ตัวอย่าง Testimonial ของ Content Shifu Academy

Testimonials คือ คำรับรองต่างๆ ที่ถูกรวบรวมโดยเจ้าของหรือบุคลากรแบรนด์นั้นๆ ซึ่งส่วนมากจะรวบรวมจากคนที่ดีสัมพันธ์ที่ดีกับแบรนด์ เราจึงมักจะเห็นข้อความเป็นเชิง Positive เสมอ

ส่วน Reviews คือการวิจารณ์โดยบุคคลที่สาม ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการรวบรวมความคิดเห็นจากเจ้าของแบรนด์ ซึ่งเราก็จะเห็นทั้งที่ดีและไม่ดีปนๆ กันไปค่ะ

เลือกใช้ให้ถูก 3 จุดประสงค์ทำ Testimonials 

มาดูกัน ว่าแบรนด์ของคุณต้องการทำ Testimonials แบบไหน และสอบถามจากใครได้บ้าง

1. ต้องการเพิ่มยอดขาย: กลุ่มนี้จะต้องสอบถามจาก ‘ลูกค้า’ เพื่อขอคำรับรองจากประสบการณ์ที่ลูกค้าได้ใช้สินค้าหรือบริการ แล้วเกิดความประทับใจ ซึ่งส่วนนี้สามารถนำไปใช้โฆษณาเพื่อดึงดูดลูกค้าใหม่ๆ หรือช่วยให้กลุ่มเป้าหมายตัดสินใจเป็นลูกค้าของคุณได้

2. หาคนเก่งเข้าองค์กร: กลุ่มนี้จะต้องสอบสอบถามจาก ‘บุคลากรหรือพนักงาน’ เพื่อประชาสัมพันธ์สิ่งดีๆ ที่พบเจอภายในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบรรยากาศการทำงาน สวัสดิการดี เงินเดือนเยอะ ซึ่งจะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดี และดึงดูดคนที่เก่ง มีความสามารถ ให้สนใจเข้าร่วมงานกับคุณได้

3. เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ: กลุ่มนี้จะต้องสอบถามจาก ‘พาร์ทเนอร์’ ที่ร่วมงานกับแบรนด์ของเรา แล้วเกิดความประทับใจ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อใจให้กับองค์กรอื่นๆ ที่สนใจร่วมงานกับคุณ ให้ตัดสินใจเข้าร่วมธุรกิจกับคุณได้

ถ้าพร้อมที่จะทำ Testimonials แล้ว แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไงดี ไปดูวิธีหากันได้เลยค่ะ

วิธีหา Testimonials ได้อย่างมีคุณภาพ

การทำ Testimonial ที่ดี ต้องรู้ก่อนว่าเราจะใช้เพื่อให้เกิดผลลัพธ์อะไร ด้านไหนบ้าง จึงจะสื่อสารกับลูกค้าให้เข้าใจตรงกันได้ มิฉะนั้น เราอาจจะได้คำตอบที่ไม่ตรงจุด หรืออาจได้คำตอบที่ไม่เป็นความจริง

1. สอบถามในเวลาที่เหมาะสม

การเลือกเวลาที่ใช้สอบถามมีความสำคัญ ซึ่งจะส่งผลต่อคำตอบที่คุณจะได้ด้วย ให้คุณลองนึกภาพตามนะ หากคุณขายสกินแคร์ยี่ห้อหนึ่ง แล้วมีลูกค้าซื้อไปทดลองใช้ ถัดมา 2 วันคุณสอบถามถึงผลลัพธ์ที่ได้ ก็คงจะเร็วเกินไปยังไม่เห็นผลด้วยซ้ำจริงไหม ลูกค้าคนนั้นคงตอบคุณไม่ได้ หรืออาจจะได้คำตอบที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงมา ในทางกลับกัน หากคุณรอเวลานานเกินไป ผ่านไปหลายปี จนลูกค้าของคุณอาจจะเปลี่ยนไปใช้ของแบรนด์อื่นแล้วคุณค่อยสอบถาม เขาก็คงลืมรายละเอียดหรือผลลัพธ์ต่างๆ ไปแล้ว ดังนั้น คุณจะต้องวิเคราะห์ว่าแบรนด์คุณเหมาะสมที่จะสอบถามในเวลาไหน จึงจะได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด  

2. ถามให้เรียบง่าย ไม่กดดันลูกค้า

ปัญหาที่มักจะเจอเวลาสอบถามคำรับรองจากลูกค้า คือการที่เรากดดันเขามากเกินไป เร่งจะเอาคำตอบมากเกินไป หรือบอกเขาตรงๆว่าจะใช้ทำคำรับรอง บางคนอาจจะกังวล พยายามที่จะคิดคำพูดดีๆ จนสุดท้ายเขาก็จะเกร็งและไม่อยากตอบเราในที่สุด ในทางกลับกัน ถ้าคุณค่อยๆ ถามความคิดเห็นไปเรื่อยๆ เหมือนชวนคุย สัมภาษณ์ปกติ จะทำให้บรรยากาศผ่อนคลาย เป็นกันเองมากขึ้น ในกรณีที่เขาให้คำตอบคุณในเชิง Positive คุณค่อยถามเขาว่าขอใช้เป็นคำรับรองให้คุณได้หรือเปล่า แต่ถ้าคุณได้คำตอบในเชิง Negative คุณจะได้นำมาปรับปรุง และขอโอกาสแก้ไขปัญหาที่พวกเขาเจอ

3. มี Guidelines แนวคำตอบ

ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเคยเขียนหรือเคยตอบ Testimonial มาก่อน พวกเขาอาจจะยังไม่รู้ว่าต้องตอบคำถามแบบไหน Mood&Tone เป็นอย่างไร ดังนั้นคุณเองควรจะมีตัวอย่างคำถามง่ายๆ เพื่อไกด์ให้ลูกค้าของคุณ เช่น

  • ทำไมถึงเลือกซื้อสินค้าหรือบริการของเรา?
  • คุณชอบซื้อสินค้าหรือบริการของเราตรงไหน?
  • คุณได้ประโยชน์อะไรจากสินค้าหรือบริการของเราบ้าง?

ซึ่งถ้าส่วนไกด์ของเราเป็นคำถามเชิง Positive โอกาสที่เราจะได้คำตอบแบบ Positive กลับมาก็มีมากขึ้นด้วย

4. ใช้คำถามให้ถูก

ข้อนี้สำคัญมากๆ คุณจะต้องลิสต์คำถามที่คิดว่าจะส่งผลดีต่อองค์กรมากที่สุด และสามารถนำมาใช้ต่อได้ ไม่ใช่หว่านถามไปทั่ว จะทำให้มีคำถามมากเกินความจำเป็น และก็คงไม่มีใครอยากจะตอบคำถามเยอะแยะขนาดนั้นหรอก หรือถ้าถามคำถามน้อยเกินไป ก็อาจจะได้ไม่ครบทุกประเด็นที่ต้องการ ถ้าใครยังคิดไม่ออกว่าจะใช้คำถามอะไรบ้าง เรามีตัวอย่างคำถามแชร์ให้บางส่วน เผื่อว่าจะนำไปปรับใช้กันนะคะ

  • คุณเจอแบรนด์เราได้อย่างไร?
  • คุณคาดหวังให้แบรนด์เราช่วยแก้ปัญหาอะไรบ้าง?
  • ทำไมถึงเลือกแบรนด์เรา?
  • คุณชอบแบรนด์เราตรงไหน?
  • คุณได้ประโยชน์อะไรจากแบรนด์ของเราบ้าง?
  • คุณคิดว่าจะแนะนำเราให้คนที่คุณรู้จักหรือไม่? เพราะอะไร?

เราได้ให้ตัวอย่างส่วนหนึ่งไปแล้ว ได้เวลาที่คุณจะต้องเพิ่มคำถามของตัวเองแล้วล่ะ

เทคนิคเขียน Testimonials อย่างไรให้ลูกค้าเข้าหา

1. อย่าปลอมขึ้นมา!!

ข้อแรกเลย คุณต้องมีความจริงใจกับลูกค้าของคุณ เพราะคุณเองก็คงไม่อยากให้ใครหลอกเช่นเดียวกัน การเฟคคำรับรองดีๆขึ้นมา อาจจะส่งผลดีระยะหนึ่ง แต่อย่าลืมว่ามันผิดจรรยาบรรณ ยิ่งถ้าถูกจับได้แล้วล่ะก็ มันจะทำลายความรู้สึกดีๆของลูกค้าคุณไม่น้อยเลย

2. เขียนให้สั้นเข้าไว้

Testimonial ที่ดีไม่ควรยาวมากเกินไป โดยปกติเขียนประมาณ 30-50 คำก็พอแล้ว จับใจความแค่ประเด็นสำคัญ จุดที่คิดว่าจะ Impact ต่อกลุ่มเป้าหมายได้ การที่เขียนยาวมากๆ ผู้อ่านอาจจะแค่กวาดสายตาผ่านๆ ซึ่งอาจจะพลาดใจความหลักที่เราต้องการที่จะสื่อ 

แต่ถ้าในกรณีที่อยากจะเขียนยาวในระดับหนึ่ง อาจจะใช้วิธี ทำตัวหนา ทำตัวเอียง หรือ ‘ใส่เครื่องหมายคำพูด’ เพื่อเน้นเฉพาะคำนั้นๆ ก็ได้

3. สร้างความน่าเชื่อถือ

บางครั้งแค่ใส่คำพูด หรือพิมพ์ประโยคไม่กี่ประโยคอาจจะไม่พอ ควรใส่ข้อมูลส่วนอื่นที่สามารถสร้างความไว้วางใจให้กับผู้อ่านด้วย เช่น ใส่รูป ใส่ชื่อ-สกุลจริง ตำแหน่งงาน ของผู้ที่ให้คำตอบเพื่อแสดงว่าผู้ให้คำตอบมีตัวตนจริงๆ ไม่ได้เมคข้อมูลขึ้นมา (แต่ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของคำตอบด้วยนะ)

แนะนำ 6 ไอเดีย จดไว้ดีไซน์ Testimonials ให้กับแบรนด์

การทำ Testimonial มีรูปแบบการทำหลากหลาย และในหนึ่งแบรนด์สามารถทำหลายรูปแบบก็ได้ จะมีแบบไหนที่น่าทำบ้าง ตามไปดูกันเลยค่ะ

1. Quotes Testimonial

รูปแบบ Quotes เป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นก่อนแบบอื่นๆ และทำง่ายกว่าแบบอื่นๆด้วย ทำให้เราเห็น Testimonial ในรูปแบบนี้มากที่สุด รูปแบบนี้เป็นรูปแบบที่มีความสั้นและกระชับ สามารถนำไปใส่ตามคอนเทนต์ต่างๆ หรือแทรกตามหน้าเว็บไซต์ต่างๆได้ง่าย ยิ่งถ้าคุณใช้คำพูดเชิง Positive และน่าดึงดูดมากพอ มันจะช่วยเพิ่ม Conversion ให้กับคุณได้มากพอสมควรเลย

รูปภาพจาก Dribbble

เคล็ดลับสำหรับทำ Quotes Testimonial

  • ควรกระจายไปยังหน้า Page ต่างๆ บนเว็บไซต์ ไม่ว่าจะเป็น Sales Page, Landing Page หรือตามหน้าคอนเทนต์
  • เลือกคำพูดที่แสดงให้เห็นผลลัพธ์ที่ได้ เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ไม่ไช่บอกเพียงรายละเอียดสินค้า/บริการของแบรนด์
  • ใส่รูปภาพและชื่อของผู้ที่ให้คำตอบคุณด้วย

2. Video Testimonial

การทำในรูปแบบวิดีโอ เป็นรูปแบบที่ใช้สร้างความน่าเชื่อถือได้ดีที่สุด เพราะว่าวิดีโอสามารถปลอมแปลงได้ยาก และผู้ชมสามารถเข้าถึงอารมณ์ที่ต้องการจะสื่อได้สมจริงกว่าแบบอื่นๆ

รูปภาพจาก sleep.marketing

เคล็ดลับสำหรับทำ Video Testimonial

  • ควรทำวิดีโอแบบมืออาชีพ ตั้งแต่กระบวนการถ่ายทำ การพูด การตัดต่อวิดีโอ ให้มีความน่าสนใจ จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับคนดูได้มาก ลองคิดกลับกัน ถ้าวิดีโอไม่มีคุณภาพ ทำออกมาไม่ดี ก็ไม่มีใครอยากที่จะดูต่อเช่นกัน

3. Social Media Testimonial

การใช้ Social Media ถือว่าเป็นการทำ Social Proof ได้หลายแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นทาง Twitter, Instagram, Facebook หรือแม้กระทั่งใน Youtube ซึ่งการสื่อสารผ่านทาง Social Media จะมีความเป็นธรรมชาติมากกว่ารูปแบบอื่นๆ การที่มีผู้ที่ชื่นชอบแบรนด์ของเราแล้วนำไปโพสต์ต่อนั้น จะช่วยแนะนำแบรนด์ของคุณให้กับเพื่อนๆ ของเขา ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะชอบแบรนด์ของคุณด้วย

รูปภาพจาก Twitter ของ Burger King

เคล็ดลับสำหรับทำ Social Media Testimonial

  • มองหาว่ากลุ่มเป้าหมายของคุณใช้แพลตฟอร์มไหนเป็นหลัก และตามไปโพสต์ลงแพลตฟอร์มนั้นๆ ในกรณีที่คุณต้องการโพสต์เอง
  • ในกรณีที่ลูกค้าของคุณเป็นคนโพสต์ คุณอาจจะของแคปภาพมา หรือขอ Save/Share ลิงก์โพสต์ของเขาเพื่อใช้ลงสะสมเป็น Testimonial ของคุณเองก็ได้

4. Interview Testimonial

เป็นการสัมภาษณ์ลูกค้าโดยตรงว่ามีความคิดเห็นเกี่ยวกับแบรนด์คุณอย่างไร ซึ่งส่วนมากอาจจะเป็นรูปแบบของวิดีโอ หรือจะเป็นเพียงการอัดเสียงก็ได้ ซึ่งรูปแบบนี้เราสามารถนำไปใช้ต่อได้หลากหลากหลายรูปแบบ เช่น ใช้ลงในเว็ปไซต์ตรงๆเลย โพสต์ลง Social Media หรือ ตัดเฉพาะข้อความสำคัญทำเป็นในรูปแบบ Quotes ก็ได้

รูปภาพจาก sparkhire

เคล็ดลับสำหรับทำ Interview Testimonial

  • ควรบอกให้ลูกค้าทราบก่อนว่าคุณจะถามคำถามอะไรบ้าง หรือมีประเด็นสำคัญอะไรบ้าง เพื่อให้พวกเขาได้เตรียมตัวก่อนที่คุณจะเข้าไปสัมภาษณ์ จะทำให้การพูดราบรื่นมากขึ้น ลูกค้าจะได้ไม่เสียเวลาคิดนาน
  • อย่าใช้คำพูดเชิงบังคับทิศทางคำตอบของลูกค้ามากเกินไป เช่น ‘สินค้า A มันดีมากๆเลย ใช่ไหมคะ?’ ซึ่งบางครั้งมันจะทำให้ลูกค้าไม่มีอิสระทางความคิด และอาจจะทำให้ตอบไม่ตรงกับความเป็นจริง

5. Influencer Testimonial

การใช้ Influencer เป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่ได้ประสิทธิภาพดี เนื่องจากเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลต่อกลุ่มคนทั่วไปสูง เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับในสังคม ไม่ว่า Influencer จะพูด โพสต์รูป หรือ Stories ต่างๆ ก็จะมีคนเห็นเป็นจำนวนมาก และมีความเป็นไปได้สูงที่แฟนคลับหรือผู้ติดตามจะซื้อของใช้ตาม Influencer ที่ตนเองชื่นชอบ หรือมั่นใจในแบรนด์ที่ Influencer แนะนำว่าดี

เคล็ดลับสำหรับทำ Influencer Testimonial

  • การเลือก Influencer ที่ดีจะต้องประกอบด้วย 2 ปัจจัยหลักๆ คือ 1.เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และมีฐานผู้ติดตามมากในระดับหนึ่ง จะช่วยให้คนเห็น Testimonial ของคุณมากขึ้น และ 2.Influencer ที่เลือกจะต้องมีภาพลักษณ์ที่เข้ากับแบรนด์ของคุณได้ด้วย จะช่วยให้เข้าถึงคนได้อย่างเป็นธรรมชาติ ดูไม่ปลอมหรือขัดแย้งกัน
  • เลือก Influencer มากกว่า 1 คน เพราะมันจะทำให้เราได้ฐานลูกค้าของ Influencer ที่แตกต่างกันของแต่ละคน

6. Case Studies 

การทำ Case Studies เป็นโอกาสที่แบรนด์จะโชว์ให้ผู้อ่านเห็นว่าลูกค้าคนก่อนๆ มีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ซึ่งมันเป็นการพิสูจน์ว่าแบรนด์ของเราสามารถแก้ไขปัญหา หรือพัฒนาในสิ่งที่ลูกค้าต้องการได้

เคล็ดลับสำหรับทำ Case Studies Testimonial

  • การเขียนในรูปแบบของ Case Studies ควรเรียบเรียงเรื่องราว นำเสนอปัญหาหาในตอนต้น สิ่งที่แบรนด์ได้ช่วยหรือแก้ไข และปิดท้ายว่าผลลัพธ์เป็นอย่างไร
  • เขียนให้กระชับ และอาจจะใช้ย่อหน้าสั้นๆเพื่อช่วยจัดระเบียบเนื้อหาในแต่ละช่วง
  • ปิดท้ายด้วย CTA โยงไปหาบริการของคุณ หรือทำความรู้จักกับแบรนด์คุณมากขึ้น

สรุป

การทำ Testimonial เป็นการทำ Social Proof รูปแบบหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการของแบรนด์คุณ ถ้าแบรนด์ไหนมี Testimonial หรือ มีรีวิว ก็ย่อมมีความน่าเชื่อถือ และมีโอกาสที่จะได้ลูกค้าเพิ่ม มากกว่าแบรนด์ที่ไม่ได้ทำ (สถิติจาก Statuslabs บอกว่ามีผู้ใช้ถึง 15% ที่ไม่เชื่อใจธุรกิจที่ไม่มีรีวิว) แล้วคุณล่ะ ทำ Testimonial ให้กับแบรนด์ตัวเองแล้วหรือยัง?