หนังสือ Inbound Marketing การตลาดแบบแรงดึงดูด ถือเป็นก้าวสำคัญของ Content Shifu ที่เราจะไม่ได้แค่เผยแพร่ความรู้บนโลกออนไลน์เท่านั้น แต่ยังเผยแพร่ความรู้ออกไปยังคนหมู่กว้างบนโลกออฟไลน์ ซึ่งนี่ถือเป็นความท้าทายหนึ่งของ Content Shifu เพราะไม่เคยผลิตคอนเทนต์ออฟไลน์มาก่อน หนึ่งในความท้าทายสำคัญที่ นุชได้ร่วม คือ การออกแบบปกหนังสือเล่มนี้

สวัสดีค่ะ นุช เป็นกราฟฟิกดีไซเนอร์ ที่อยู่เบื้องหลังการออกแบบปกหนังสือเล่มนี้ค่ะ

นี่คือบทความแรกที่นุชได้ถ่ายทอดลงบน Content Shifu และการออกแบบปกหนังสือครั้งนี้ก็ถือเป็นก้าวแรกของนุชเช่นกัน

ก่อนหน้านี้ นุชเคยมีส่วนร่วมดูและงานดีไซน์ในคอร์สออฟไลน์ของ Content Shifu อย่างคอร์ส Content Marketing Blueprint for B2B และ Design for Business Communication ทำให้นุชคุ้นเคยกับ Branding และ CI ของ Content Shifu เป็นอย่างดี

จุดเริ่มต้นของปก ประตูสู่เนื้อหา Inbound Marketing

หน้าปกหนังสือ ถือเป็นประตูด่านแรกของหนังสือทุกเล่ม เมื่อเรามีเนื้อหาที่อยากจะนำเสนอ อยากถ่ายทอด แต่หากขาดปกที่สามารถสื่อสารสิ่งเหล่านั้นออกมา ก็อาจทำให้ความตั้งใจของเรานั้นไม่เป็นไปอย่างที่คิด

แม้จะมีคำพูดที่ว่า “Don’t Judge The Book by Its Cover” แต่เมื่อหนังสือของเราถูกนำไปวางบนชั้น รวมกับหนังสือหลากหลายรูปแบบในร้านหนังสือแล้ว สิ่งแรกที่จะทำให้คนหยุดและสนใจหนังสือของเราได้ ก็คือหน้าปกนั่นเอง

เพราะในโลกแห่งความเป็นจริง ผู้คนก็ยังคงซื้อหนังสือจากหน้าปกอยู่เสมอ

โจทย์ของการออกแบบปกหนังสือ Inbound Marketing

ก่อนจะเริ่มการออกแบบได้ ก็จะต้องได้โจทย์มาก่อน ซึ่งโจทย์ที่ได้มานี้จะเป็นตัวกำหนดทิศทางทั้งหมดของการออกแบบ ว่าปกหนังสือนี้ต้องการอะไร และมีข้อจำกัดของการออกแบบอะไรบ้าง

  • ปกหนังสือ: “Inbound Marketing การตลาดแบบแรงดึงดูด”
  • Mood & Tone: Smart, Minimal
  • สไตล์การออกแบบที่อยากได้: เรียบแต่ไม่ง่าย เน้นสื่อสารโดยไม่ฟุ่มเฟือย และต้องสะท้อนอัตลักษณ์ของ Content Shifu ด้วย

“ความท้าทายคือเวลา”

เนื่องจากทีม Content Shifu ตัดสินใจว่าจะออกแบบปกในครั้งนี้ด้วยตัวเองอย่างกระทันหัน เหล่าดีไซเนอร์จึงแทบจะไม่ได้มีเวลาเตรียมตัว เพื่อจะต้องส่งดราฟแรกของปกนี้ให้ทันต่อกระบวนการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วัน ทำให้เราเหลือเวลาในการออกแบบจนถึง ‘เที่ยงของวันถัดไปเท่านั้น’

หากย้อนดูเวลาในตอนนั้น ก็บ่ายแก่ๆ ใกล้จะเย็นแล้ว ด้วยตารางงานของนักออกแบบที่แน่นขนัดอยู่นั้น ซึ่งหมายความว่า จากโจทย์ที่ได้รับและเวลาที่กระชั้นชิด นักออกแบบทุกคนจึงไม่มีเวลามากพอที่จะตกผลึกไอเดีย จึงต้องใช้เทคนิคการรีดไอเดียในแบบที่ “ใช้เวลาน้อยแต่ได้ผลมาก” ของตัวเองออกมาให้ได้

“การแข่งขัน นำมาสู่ความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่หยุดนิ่ง”

เมื่อนักออกแบบได้รับโจทย์มา นักออกแบบแต่ละคนย่อมมีเทคนิคในการรีดไอเดียที่แตกต่างกัน ดังเช่นนักออกแบบผู้เข้าร่วมประกวดในครั้งนี้ที่มี 3 คน ก็ 3 สไตล์ แม้จะเป็นโจทย์เดียวกัน ก็มีการออกแบบปกออกมาแตกต่างกัน แต่สังเกตไหมคะว่า ทั้ง 3 แบบนี้ก็มีแนวคิดหลักที่เหมือนกันอยู่ นั่นคือ “แรงดึงดูด”

ถึงแม้ว่าเราจะมีเวลาจำกัด แต่ก็ไม่สามารถจำกัดไอเดียของนักออกแบบเราได้ ไม่มีใครยอมศิโรราบต่อเวลาอันน้อยนิด ทุกคนสามารถนำเสนอไอเดียออกมาได้ คนละ 2 – 3 รูปแบบในเวลาเพียง 3 ช.ม. โดยยังคงไว้ซึ่ง แนวคิดและอัตลักษณ์ ของ Content Shifu (อ่านเบื้องหลังการ Redesign ได้ที่ “เปิดเผยเบื้องหลังการออกแบบโลโก้และเว็บ Content Shifu ใหม่ใน 37 วัน” )

เจาะลึกกระบวนการคิด “เส้น สี สามเหลี่ยม” ของปกที่ได้รับการโหวตมากที่สุด

จากปกของ 3 นักออกแบบที่เข้าแข่งขันก็ได้ปกที่ตรงตาม Brand Character ของพวกเรา และได้รับคะแนนโหวตมากที่สุด ซึ่งเป็นปกที่ถูกนำไปตีพิมพ์เป็นหนังสือ Inbound Marketing การตลาดแบบแรงดึงดูด ที่วางแผนอยู่ในร้านหนังสือ นุช ในฐานะผู้ออกแบบปกหนังสือเล่มนี้ เลยอยากจะมาแชร์กระบวนการคิดไอเดียของปกนี้ว่ามีที่มาและมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง

วิธีการรีดไอเดียแบบเร่งด่วน

วิธีที่นุชชอบใช้เป็นประจำคือ “การคิดจากคำ” โดยลิสต์ Keyword ที่เกี่ยวข้องออกมาให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เห็นภาพชัดยิ่งขึ้น ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่นักออกแบบ และนักเขียนของเรานิยมใช้ ทำให้ได้ไอเดียออกมาปริมาณมากอย่างรวดเร็ว โดย Keyword ที่เป็นไปได้นุชก็เอามาร่างออกมาเป็นภาพแบบเร็วๆ

หากนึกถึงเนื้อหาในหนังสือ Inbound Marketing ซึ่งคือ การตลาดแบบแรงดึงดูดให้ลูกค้า ข้ามาหาเราเอง เหมาะกับธุรกิจประเภท B2B หรือ Business to Business การแก้ปัญหาให้คน…

จากการกลั่นกรองเนื้อหาแบบไวๆ ไม่กี่อึดใจ นุชก็เริ่มได้คีย์เวิร์ดต่างๆ ที่อาจจะนำมาต่อยอดได้ ไม่ว่าจะเป็น “แรงดึงดูด” จากคำๆ นี้ ก็สามารถแตกย่อยออกมาได้อีก ภาพแรกที่นึกถึงก็คงหนีไม่พ้น แม่เหล็ก เริ่มนึกถึงแรงดึงดูดของโลก วงโคจร

ที่มาภาพ

คีย์เวิร์ดต่อมา อย่าง “B2B” และ “การแก้ปัญหาให้คน” จากคำนี้ เริ่มเกิดภาพขึ้นในหัว เกิดการประมวลเดต้า ว่า เมื่อเราเจอปัญหา ก็ไม่ต่างอะไรกับการที่เราตกอยู่ในความมืดที่มองไม่เห็นทางออก สิ่งที่เราจะมองหาคือ ‘แสงสว่าง’ ในตอนนี้เองที่เราเห็นภาพ ‘แสงสว่างปลายอุโมงค์ที่จะดึงดูดเราไปสู่ทางออกของปัญหา’

จากนั้นก็นำ Perception ต่างๆ มาประสานกัน จากการเชื่อมโยงคีย์เวิร์ดทั้งหมด อย่างแรงดึงดูด หรือแม่เหล็ก ก็มักมีภาพจำเป็นรูปตัว U เส้นวงของแรงดึงดูด ก็เกิดภาพคลื่นที่ถูกส่งออกไปเป็นวงๆ นำไปสู่ภาพ ‘ทางเดิน’ ดึงดูดให้เข้าหาผ่านเส้นประตูโค้งรูปตัวยู นั่นเอง

การเตรียมวัตถุดิบ จาก Simple to Subtle

เมื่อไอเดียมาแล้ว ก็ถึงขั้นตอนการลงมือร่างภาพในหัวออกมาในกระดาษ โดยใช้ Element พื้นฐานการออกแบบที่ง่ายที่สุด เพื่อให้ได้ภาพที่ตรงใจที่สุดออกมาก่อน

ซึ่ง Element พื้นฐานที่นุชเลือกใช้ได้แก่ ‘เส้น สี สามเหลี่ยม’ โดยแต่ละอย่างก็ให้ความรู้สึกและมีความหมายดังนี้

1. เส้นโค้ง สื่อถึงประตู เกิดจากการนึกถึงแม่เหล็กและแรงดึงดูด และภาพแม่เหล็กที่คุ้นชินจะเป็นรูปทรงตัวยู โดยตัดทอนลงให้เหลือเพียงแค่เส้น

ที่มาภาพ

ลักษณะเส้นโค้งวงแคบนั้นจะให้ความรู้สึกถึงพลังความเคลื่อนไหวที่รุนแรง การเปลี่ยนทิศทาง ที่รวดเร็ว ไม่หยุดนิ่ง

2. สี เรามีหลักการใช้สี ที่เป็นการใช้อัตลักษณ์ที่มีอยู่แล้วของ Content Shifu มาออกแบบ ทั้งสีน้ำเงิน สีแดง และสีขาว ตามทฤษฎี 60-30-10 โดยใช้ น้ำเงิน 60 ขาว 30 แดง 10 โดยไม่ใช้สีแดงกับน้ำเงินในปริมาณเท่ากัน เพื่อไม่ให้ดูฉูดฉาด รุนแรง เกินไป

3. สามเหลี่ยม เป็นการใช้รูปทรงเพื่อสร้างการเคลื่อนไหวและนำสายตา โดยธรรมชาติของคนจะมองไปตามปลายที่ทิศทางลูกศรชี้ ซึ่งนำสายตาของผู้อ่านไปที่ชื่อหนังสือ และสื่อถึงการดึงดูดทุกทิศทาง

ขั้นตอนการปรุงส่วนผสมให้ลงตัว

หลังจากที่ได้ภาพร่างแล้วก็เป็นขั้นตอนการจัดวางกราฟฟิกทั้งหมดบนคอมพิวเตอร์ ในส่วนนี้เราจะเริ่มเห็นภาพร่างในหัวชัดมากขึ้น และต้องใช้หลักการในการออกแบบ ผสมผสานส่วนผสมที่มี ให้ลงตัว 

มีเคล็ดลับคือ หากคุณใช้ความเข้มของสีที่ตรงข้ามกัน (เข้ม-อ่อน) จะช่วยสร้างความโดดเด่นและดึงดูดสายตาคนอ่านได้

Shifu แนะนำ
ทำไมเราถึงต้องคิดเยอะก่อนจะเริ่มออกแบบหนังสือเล่มนี้ ทำตามใจอยากไม่ได้หรือ? เหตุเพราะ “ดีไซน์ไม่ดี มีราคาแพงกว่าที่คุณคิด” ยอมคิดเยอะ เพื่อให้งานออกมาดูดี ดีกว่าปล่อยให้เป็นปัญหาในภายหลังมากๆ เลยค่ะ

สิ่งที่ได้เรียนรู้และเติบโตไปด้วยกันจากการออกแบบปกเล่มนี้

อย่าลืมตั้งค่าสี RGB /CMYK

การออกแบบสิ่งพิมพ์นั้นแน่นอนว่า เราจะต้องตั้งค่าสีเป็น CMYK ซึ่งความแตกต่างระหว่างสี RGB กับ CMYK ก็คือ

  • RGB คือ การกำหนดค่าสี Red Green Blue ให้แสดงผลสำหรับจอมอนิเตอร์ เหมาะกับสื่อที่ใช้ระแบบแสงหรือหน้าจอต่างๆ
  • CMYK คือ การกำหนดค่าสี Cyan Magenta Yellow Black จะเป็นค่าสีสำหรับงานพิมพ์ต่างๆ แสดงผลบนวัตถุทึบแสง ค่าแสงจึงหม่นลงเล็กน้อย ไม่สดใสเท่า RGB

ทำให้ Content shifu มีการบัญญัติค่าสี CMYK เพิ่มขึ้น

จากที่กล่าวมาในตอนแรก Content Shifu เป็นเว็บไซต์ เน้นการผลิตคอนเทนส์ลงบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เราจึงไม่เคยมี Brand CI ที่เป็นค่าสีแบบ CMYK สำหรับงานพิมพ์อย่างจริงจังมาก่อน

ปัญหาที่เราเจอ คือ สีที่เราใช้บนเว็บไซต์ ค่อนข้างจะ Digital มาก ถึงมากที่สุด เมื่อเราตั้งค่า CMYK ทำให้สีผิดเพี้ยนไปอย่างเห็นได้ชัด แม้เราจะนำค่าสี CMYK มาจาก Code สีนั้นๆ มาใช้ก็ตาม หากเราทู่ซี้อยากใช้จริงๆ ก็มีนวัตกรรมค่าสีแบบพิเศษที่สามารถพิมพ์ได้ใกล้เคียง RGB มาก แต่ก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงมากตามไปด้วย

สิ่งที่เราทำก็คือ ใช้การเทียบสีที่รู้สึกว่าใกล้เคียงที่สุด ขึ้นมาใหม่ เพื่อให้รองรับกับระบบการพิมพ์ทั้ง Digital printing หรือ Offset มากขึ้น และถึงแม้เราจะตั้งค่าสีเป็น CMYK แล้ว แต่ในความจริงต้องเผื่อใจว่าสีที่พิมพ์ออกมาก็จะมีโอกาสดรอปลงอีกระดับหนึ่ง

การส่งต่อไฟล์ยังไงให้คนอื่นทำงานได้ง่าย

เมื่อกระบวนการทำงานดำเนินมาถึงขั้นตอนสุดท้าย แต่ไม่ท้ายสุด เพื่อให้งานดำเนินไปอย่างราบรื่น เราควรจะคำนึงถึงผู้รับไฟล์ และต้องทำงานต่อจากเราด้วย การเคลียร์เลเยอร์และจัดกลุ่มของไฟล์ให้ดูง่าย ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม

การ Save file ก็เช่นกัน การส่งต่อไฟล์ให้ผู้อื่นทำงานต่อนั้น เราอาจจะไม่สามารถ Create outline ฟอนต์ได้ เผื่อผู้ที่รับไฟล์ต่อจะต้องนำไปปรับแก้ในอนาคต หากเราลืมแนบฟอนต์ไป อาจจะเกิดความผิดพลาดได้ สำนักพิมพ์จึงแนะนำให้เรากด Save แบบ Package เพื่อให้ Design asset ต่างๆ ที่เราใช้ สามารถเข้าถึงได้ไม่มีตกหล่น

สรุป

ทุกโจทย์คือความท้าทาย ข้อจำกัดต่างๆ ไม่ได้มีเพื่อตีกรอบการทำงานของเรา แต่มันช่วยให้เราเกิด Solution ใหม่ๆ ในการแก้ปัญหา

การดีไซน์นั้น ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องความสวยงามเพียงอย่างเดียว แต่เราจะต้องเริ่มดีไซน์ตั้งแต่กระบวนการคิด รูปแบบการทำงาน และวิธีที่จะทำให้ได้งานออกมาเร็วที่สุด ยิ่งเราใส่ใจกับกระบวนการคิดมากเท่าไหร่ ขั้นตอนของการลงมือก็จะยิ่งง่ายขึ้นเท่านั้น

และทุกครั้งที่เจอความผิดพลาดความผิดพลาด ทำให้เราได้เรียนรู้ และแข็งแกร่งขึ้นในบททดสอบต่อๆ ไป

ตาคุณแล้ว

คุณคิดว่าปกหนังสือ Inbound Marketing การตลาดแบบแรงดึงดูด ของนุชเป็นอย่างไรบ้างคะ? คอมเมนต์บอกกันให้รู้ เพราะ Feedback คือ สิ่งจำเป็นที่ทำให้เราพัฒนา เผื่อว่าเราจะเจอกันในงานหน้านะคะ 😉

แค่ปกหนังสือก็มีเรื่องราวมากมายขนาดนี้ แล้วเนื้อหาในเล่มจะผ่านการตกตะกอนมามากมายขนาดไหน มาร่วมพิสูจน์ได้ในหนังสือ Inbound Marketing นะคะ

Coverbook_inbound-marketing_mockup2 copy