ดังที่ Lee Bolman เคยกล่าวไว้ว่า “A vision without a strategy remains an illusion.” หรือแปลเป็นไทยง่ายๆ ว่า “วิสัยทัศน์ที่ไร้กลยุทธ์คือภาพลวงตา”

ในการทำการตลาด ไม่ว่าคุณจะมีความฝันที่สวยหรู แนวคิดที่ดีเลิศ หรือแสดงวิสัยทัศน์ได้เยี่ยมขนาดไหน ถ้าคุณไม่มีกลยุทธ์ที่ดี สิ่งที่คุณวาดไว้มันคงจะเกิดขึ้นจริงไม่ได้ง่ายๆ

เช่นเดียวกัน ถ้าคุณมีแต่แทคติกหรือเทคนิคเชิงลึกในการทำอะไรบางอย่างโดยไม่มีกลยุทธ์ คุณก็จะขาดการมองเห็นภาพที่กว้างกว่าและขาดความเข้าใจเหตุและผลของการลงมือทำของคุณ

ในบทความนี้ ผมจะมาแชร์กลยุทธ์ทางการตลาดเท่าที่คิดออก (ณ ตอนที่เขียน) ซึ่งกลยุทธ์ที่ผมจะเอามาแชร์นั้น ไม่มีตัวไหนดีที่สุด นอกจากนั้นแล้วในเกือบทุกสถานการณ์ การใช้กลยุทธ์มากกว่า 1 อย่างก็เป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะฉะนั้นหลังจากที่อ่านจบแล้ว ผมแนะนำให้ลองเอาไปคิดและลองผสานมันเข้ากับแผนการตลาดของคุณดูนะครับ


Shifu แนะนำ

ลิงก์บางลิงก์ในบทความนี้เป็นลิงก์แบบ Affiliate ซึ่งหมายความว่า ถ้าคุณคลิกและซื้อสินค้าหรือบริการที่อยู่ในหน้านี้ Content Shifu อาจจะได้รับค่าแนะนำ โดยที่คุณไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เพิ่มเติมทั้งสิ้น 🙂 อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อมูลเรื่อง Affiliate ได้ที่นี่

 

ยาวไปอยากเลือกอ่าน

กลยุทธ์การตลาด คืออะไร

กลยุทธ์การตลาด (Marketing Strategy) คือ สิ่งที่อยู่ระหว่างกลางและเป็นตัวเชื่อมวิสัยทัศน์และแทคติก/เทคนิค ทำให้การตลาดของคุณเกิดขึ้นจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

20 กลยุทธ์การตลาดที่ใช้ได้จริง

1. กลยุทธ์การตลาดแบบขาดแคลน (Scarcity Marketing)

Scarcity Marketing แปลเป็นไทยง่ายๆ ว่าการตลาดแบบขาดแคลนตั้งอยู่บนแนวคิดที่ว่าคนเรามักจะไม่สนใจสิ่งที่อยู่มากมายเหลือเฟือ แต่มักจะโหยหาสิ่งที่ขาดแคลน

ตัวอย่างเช่นถ้าคุณเดินเข้าไปในห้าง แล้วคุณเจอเสื้อผ้า 3 ร้านขายเสื้อผ้าแบบเดียวกัน แต่ป้ายราคาที่เขาติดไม่เหมือนกันได้แก่

  1. เสื้อตัวนี้ราคา 500 บาท
  2. เสื้อตัวนี้ราคา 1,000 บาท พิเศษ! ลดราคาเหลือ 500 บาท
  3. เสื้อตัวนี้ราคา 1,000 บาท พิเศษ! ลดราคาเหลือ 500 บาท โปรโมชั่นนี้ใช้ได้แค่วันนี้เท่านั้น!

เป็นคุณ คุณจะเลือกซื้อเสื้อร้านไหนครับ?

ตัวอย่าง กลยุทธ์การตลาด แบบขาดแคลน (Scarcity Marketing)

ตัวอย่างจากของจริงที่ผมชอบคือของ Booking.com ครับ ถ้าคุณลองเข้าไปค้นหาโรงแรมใน Booking ดู จะเห็นได้ว่า Booking จะใช้ Scarcity Marketing กับหลายๆ ส่วนในเว็บไซต์ของเขาครับเช่นเขาจะบอกจำนวนห้องที่เหลือ หรือบอกว่ามีกี่คนกำลังดูโรงแรมเดียวกับที่คุณดูอยู่

ทุกครั้งที่ผมเข้าไปหาโรงแรมใน Booking ใจหนึ่งก็จะบอกตัวเองว่าใจเย็นๆ ค่อยเลือก อีกใจก็บอกตัวเองว่าต้องจองเลย เดี๋ยวมันจะเต็มแล้วอดไปนะ สุดท้ายใจแบบหลังมักจะชนะใจแบบแรกอยู่ตลอดครับ ฮา

Shifu แนะนำ
ทั้งนี้การทำ Scarcity Marketing ควรจะเป็น Scarcity Marketing จริงๆ ถ้าคุณติดป้ายราคาลดเหลือ 500 บาท​โดยที่บอกว่าโปรโมชั่นใช้ได้แค่วันนี้ แต่ 2 วันถัดมา คนมายังร้านคุณแล้วยังเห็นโปรโมชั่นแบบเดิมมันก็คงจะเป็นการตลาดที่ไม่ซื่อสัตย์นัก จริงไหมครับ?

2. กลยุทธ์การตลาดแบบลองฟรีก่อน จ่ายทีหลัง

การเปิดโอกาสให้ลูกค้าของคุณได้ทดลองสินค้าหรือบริการของคุณก่อน เป็น Give ก่อน Take ยิ่งคุณให้ก่อนได้มากเท่าไหร่ โอกาสที่คุณจะได้รับกลับมายิ่งมากเท่านั้น

ถ้าเป็นโลกดิจิทัล ตัวอย่างที่จะเห็นอยู่บ่อยๆ ก็จะเป็นธุรกิจประเภทซอฟต์แวร์ (SaaS) ที่มาในรูปแบบ Freemium Model คือใช้ฟรีตลอดกาล (แต่จำกัดฟีเจอร์) ถ้าอยากได้ฟีเจอร์แบบพรีเมียมต้องจ่ายเงิน

ตัวอย่างที่คุณเข้าไปศึกษาเพิ่มเติมได้เช่น Google Drive, Clickup และ Monday เป็นต้น

หรือถ้าเป็นโลกออฟไลน์ ตัวอย่างที่จะเห็นบ่อยก็จะเป็นการแจก Sample ของสินค้าในห้างให้คนทดลองกินหรือลองเอากลับบ้านไปใช้ก่อน ถ้าใช้แล้วชอบก็ค่อยซื้อครับ ผมเคยอยู่ครั้งนึงที่ไปงานอีเวนต์ที่ปตท. และเขาเอา Texas Chicken (ผมยังไม่เคยกิน) มาแจก ซึ่งหลังจากครั้งนั้น ผมก็เป็นแฟนพันธุ์แท้ของ Texas Chicken เลยครับ

ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะให้ลูกค้าไปทดลองใช้ฟรีๆ ก่อนได้ (เช่นของที่มีราคาแพงหรือมีความซับซ้อนสูง) ผมแนะนำว่าถ้าสินค้าหรือบริการที่คุณขายเป็นในรูปแบบนี้ สิ่งที่คุณสามารถให้ออกไปฟรีๆ ก่อนได้เลยคือ “ความรู้” ครับ อย่างของ Content Shifu เองก็มีบทความให้คุณได้อ่านได้ฟรีๆ โดยที่ไม่เสียเงินอยู่ครับ

ให้คุณค่าก่อนรับคุณค่าและคุณจะกลายเป็นคนที่มีคุณค่าครับ

3. กลยุทธ์งานอีเวนต์ (Event Marketing) แบบจัดเอง

ไม่ว่าโลกออนไลน์จะมาแรงสักแค่ไหน แต่มนุษย์ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสัตว์สังคมก็ยังคงต้องการปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่นแบบตัวเป็นๆ อยู่ดี

การจัดอีเวนต์เป็นอีกหนึ่งในกลยุทธ์การตลาดที่จะวางตำแหน่งให้คุณเป็นผู้นำหรือเป็นผู้ที่รู้ในเรื่องนั้นๆ

Event Marketing -Priceza

ตัวอย่างเช่นการที่ Priceza (เว็บไซต์เปรียบเทียบราคาชื่อดังของไทย) จัดงาน Priceza E-Commerce Summit ขึ้นมาเพื่อบอกเขาพวกเขาเป็นผู้นำทางด้าน E-Commerce

Event Marketing - Thailand Zocial Award

หรือการที่ Wisesight (แพล็ตฟอร์ม Social Listening ชื่อดังของไทย) จัดงาน Thailand Zocial Award ขึ้นมาเพื่อบอกเขาพวกเขาเป็นผู้นำทางด้าน Social Media Marketing

นอกเหนือจากงาน Event หรือ Conference ขนาดใหญ่แล้ว การจัดงานสัมมนาเพื่อเชิญชวนคนมาฟังในเรื่องที่คุณเชี่ยวชาญ (ไม่ว่าจะเป็นฟรีหรือมีค่าใช้จ่าย) ก็เป็นสิ่งที่ทำได้เช่นกัน เช่นถ้าคุณให้บริการเรื่องบัญชี คุณก็อาจจะจัดสัมมนาเรื่องบัญชีขึ้นมา หรือถ้าคุณขายชา คุณก็อาจจะจัดสัมมนาเรื่องวิธีการชงชาขึ้นมา เป็นต้น

Shifu แนะนำ

ถ้าคุณไม่สะดวกที่จะจัดอีเวนต์แบบออฟไลน์ การจัดอีเวนต์แบบออนไลน์ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน สิ่งที่ผมแนะนำให้คุณลองไปศึกษาเพิ่มเติมคือการทำ Live และ Webinar ครับ

สำหรับเครื่องมือในการทำ Live ผมแนะนำให้ไปดูของ Thailivestream หรือ Livetube ส่วนเครื่องมือในการทำ Webinar ผมแนะนำให้ไปดูของ Zoom หรือ Google Meet ครับ

4. กลยุทธ์งานอีเวนต์ (Event Marketing) แบบเข้าร่วม

ถ้าการจัดอีเวนต์ด้วยตัวเองเป็นเรื่องใหญ่และไกลเกินตัวของคุณไป มีอีกวิธีที่ง่ายกว่านั้นแต่ถ้าทำดีๆ ก็ได้ผลลัพธ์เช่นเดียวกัน นั่นก็คือเปลี่ยนจากการที่เป็นคนจัดมาเป็นคนที่เข้าร่วมงานอีเวนต์แทน

การที่คุณเข้าร่วมอีเวนต์ที่เกี่ยวข้องกับงานหรือธุรกิจที่คุณทำอยู่จะทำให้คุณได้พบเจอคนกลุ่มใหม่ๆ ที่คุณอาจจะไม่ได้เจอพวกเขาบนโลกออนไลน์ และคุณจะเจอโอกาสที่ช่วยให้คุณสามารถทำการตลาดให้กับตัวคุณหรือสินค้า/บริการของคุณได้เพิ่มเติม

คำแนะนำของผมคือนอกเหนือจากที่คุณไปเข้าร่วมงานอีเวนต์ที่เกี่ยวข้องกับคุณตรงๆ แล้ว อาจจะลองหาอีเวนต์ที่เกี่ยวกับคุณในทางอ้อมๆ บ้าง

เช่นถ้าคุณให้บริการปรึกษาทำบัญชี งานอีเวนต์ที่เกี่ยวข้องกับคุณตรงๆ ก็จะเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับบัญชี แต่งานอีเวนต์แบบอ้อมๆ ที่จะช่วยคุณได้ประโยชน์ก็อาจจะเป็นอีเวนต์เกี่ยวกับธุรกิจหรืออีเวนต์เกี่ยวกับ Startup (เพราะคนเหล่านี้ต้องการบริการทางด้านบัญชีแน่ๆ ไม่มากก็น้อย)

หรือไม่คุณก็อาจจะหาโอกาสเข้าร่วมงานอีเวนต์ที่ช่วยสร้างเครือข่ายเพิ่มเติมก็ได้ ที่ดังๆ ที่ผมพอจะรู้จักก็อย่างเช่น BNI, ABC หรือ DEF เป็นต้น

หลายครั้งในเวลาทำการตลาด Know How อย่างเดียวไม่พอ จะต้อง Know Who ด้วย

5. ทำ Public Speaking

การไปพูด (หรือได้รับเชิญ) ไปพูดในงานต่างๆ ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีในการทำการตลาดที่ได้ผลลัพธ์ในวงกว้าง ถ้าทำดีๆ คุณจะได้ลูกค้าหรือได้พื้นที่สื่อโดยที่คุณไม่ต้องเสียเงินค่าโฆษณาเลยแม้แต่บาทเดียว

ฟังเหมือนจะดีทุกอย่างและดูทำไม่ยาก แต่ตอนทำ Public Speaking จริงๆ ทำออกมาให้ดี ไม่ง่ายเลย เพราะถ้าจะทำ Public Speaking ให้ดีโดยที่ให้วกกลับมาเรื่องการทำการตลาดให้กับตัวคุณหรือธุรกิจของคุณแล้ว การเตรียมตัวเป็นเรื่องสำคัญ โดยสิ่งที่คุณต้องเตรียมคือ

  1. เนื้อหา

สิ่งสำคัญในส่วนนี้คือเนื้อหาของคุณต้อง “เกี่ยวข้อง” กับผู้ฟัง และต้องไม่เน้นขาย

คนที่ทำตรงส่วนนี้ไม่เป็นจะเน้นขายตรงๆ แบบไม่เนียน แต่คนที่ทำเนื้อหาเก่งจะเน้นให้คุณค่าแล้วค่อยขายแบบเนียนๆ ซึ่งวิธีการทำตรงส่วนนี้ให้ดีคือจะต้องเน้นทำเนื้อหาที่คุณมั่นใจว่าเป็นสิ่งที่ผู้ฟังอยากฟังก่อน จากนั้นค่อยเติมสิ่งที่คุณอยากจะพูดเข้าไป

Shifu แนะนำ
การทำ Public Speaking นั้น สิ่งสำคัญอีกอย่างคือการทำ Public Speaking ให้กับ Audience ที่เกี่ยวข้อง ประโยชน์มันคงจะน้อยลงถ้าคุณทำ Public Speaking เรื่องการขาย แต่คนฟังเป็นฝ่าย IT Support จริงไหมครับ?
  1. การถ่ายทอดเนื้อหา

“Practice doesn't make perfect but better”

การฝึกซ้อมไม่ได้ช่วยทำให้คุณสามารถส่งต่อเนื้อหาได้อย่างเพอร์เฟคต์แต่จะทำให้คุณถ่ายทอดเนื้อหาได้ดีขึ้น (กว่าการที่คุณไม่เตรียม)

ถ้าคุณต้องทำ Public Speaking ให้กับคนเป็นจำนวนมากหรือทำ Public Speaking ในหัวข้อที่คุณยังไม่เคยพูดมาก่อน การฝึกซ้อมเป็นสิ่งที่สำคัญครับ

ซึ่งคำแนะนำของผมเกี่ยวกับการฝึกซ้อมที่สามารถเริ่มต้นทำได้ง่ายๆ คือการลองซ้อมพูดหน้ากระจกหรือไม่ก็ซ้อมพูดให้เพื่อนสนิทหรือคนในครอบครัวฟังครับ

ยิ่งซ้อมมากเท่าไหร่ การร้อยเรียงเรื่องราวจะยิ่งไหลลื่นขึ้นครับ

6. กลยุทธ์การตลาดแบบบอกต่อ (Referral Marketing)

กลยุทธ์การตลาดแบบบอกต่อ (Referral Marketing) มีแนวคิดที่ว่า “ถ้าคุณคิดว่าสินค้าหรือบริการของเราดี เอาไปแนะนำเพื่อนต่อสิ นอกจากเพื่อนของคุณจะได้ประโยชน์แล้ว เรายังมีประโยชน์เพิ่มเติมให้กับคุณด้วย”

Referral Marketing การตลาดแบบบอกต่อ (Dropbox)

ตัวอย่างที่ผมชอบที่สุดตัวอย่างนึงเป็นของ Dropbox ซึ่งเป็นบริการฝากไฟล์ครับ (เหมือนๆ กับ Google Drive และ One Drive)

สิ่งที่ Dropbox ทำคือการบอกคนที่ใช้บริการของเขาว่าถ้าคุณสามารถชวนเพื่อนมาใช้บริการได้ 1 คน คุณจะได้พื้นที่เก็บไฟล์เพิ่มขึ้น 500 MB (สูงสุด 16 GB) ยิ่งชวนมาก ยิ่งได้พื้นที่มาก

ซึ่งจากการทำแบบนี้ทำให้พวกเขาเพิ่มจำนวนคนใช้งานจากแค่ 100,000 คนในปี 2008 มาเป็น 4,000,000 คนในปี 2009 หรือภายในระยะเวลาแค่ 15 เดือน

ถ้าคุณอยากศึกษาเกี่ยวกับแนวคิด Referral Marketing ของ Dropbox เพิ่มเติม สามารถดูได้จาก Slide ด้านล่างครับ

สรุปกลยุทธ์การตลาด Referral Marketing ก็คือ 1. ใช้ดี 2. บอกต่อ 3. ทุกฝ่ายได้ประโยชน์


Shifu แนะนำ

เรียนรู้วิธีสร้างกลยุทธ์การตลาดเพื่อให้ลูกค้าประทับใจจนบอกต่อ บอกขั้นตอนตั้งแต่แรก แบบ Step – By – Step ดูที่

Customer Journey | คู่มือเพิ่มยอดขายด้วยการสร้างความประทับใจแก่ลูกค้า

 

7. กลยุทธ์การตลาดแบบช่วยขาย (Affiliate Marketing)

กลยุทธ์การตลาดแบบช่วยขาย (Affiliate Marketing) มีความคล้ายกับ Referral Marketing ในเรื่องของการบอกต่อ แต่จุดที่ต่างคือ Affiliate Marketing จะต้องเกิดการซื้อขายจริงๆ คือคนขายต้องการของได้จริงๆ และคนที่นำสินค้าหรือบริการไปโปรโมต ถ้าขายได้จะได้รับก็จะเป็นเงินจริงๆ เช่นกัน

กลยุทธ์การตลาดแบบช่วยขาย (Affiliate Marketing) ของ SiteGround

ตัวอย่างของการทำ Affiliate Marketing ที่ผมอยากจะยกขึ้นมาคือบริษัท SiteGround ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ Hosting (ให้เช่าพื้นที่ในการเว็บไซต์ของคุณ) ซึ่งสิ่งที่เขาทำคือเขาจะสร้างลิงก์พิเศษมาให้เฉพาะสำหรับนักการตลาดแบบช่วยขาย (Affiliate Marketer) (เช่น ลิงก์ของ Content Shifu ก็จะเป็นลิงก์นี้ https://www.siteground.com/index.htm?afcode=987b64107744c10dfdd144ab7f425d06) และถ้าใครคลิกลิงก์นั้นๆ แล้วซื้อบริการ Hosting ของ SiteGround 1. แน่นอนว่า SiteGround จะขายของได้ 2. นักการตลาดแบบช่วยขายก็ได้เงินค่าช่วยขาย

ในความเห็นของผมวิธีการตลาดแบบนี้เป็นหนึ่งในวิธีการทำการตลาดที่ประสิทธิภาพดีมากๆ ครับ นักการตลาดแบบช่วยขายต้องทำงานให้คุณอย่างหนักเพื่อจะได้แน่ใจว่าเขาจะขายของของคุณได้ (และทำให้เขาได้ค่าช่วยขาย)

Shifu แนะนำ

ถึงแม้วิธีการนี้จะดีแต่ก็มีข้อควรระวังเหมือนกันนะครับ

ถ้าคุณพยายามกว้านนักการตลาดแบบช่วยขายเข้ามามากๆ คุณภาพที่คุณได้มาก็อาจจะต่ำ และสิ่งที่ผมมักเห็นเป็นประจำก็คือนักการตลาดแบบช่วยขายจะทำทุกวิธีทางเพื่อให้เขาขายได้ (ไม่ว่าจะเป็นวิธีที่ถูกกฏหมายหรือถูกต้องตามศีลธรรมหรือไม่ก็ตาม) ซึ่งสุดท้ายก็อาจจะส่งผลให้คนมองภาพแบรนด์ของคุณเป็นลบได้ครับ

เพราะฉะนั้นผมแนะนำว่าคุณควรที่จะต้องมีขั้นตอนการกรอกนักการตลาดแบบช่วยขายก่อนที่เขาจะมาช่วยคุณทำงานนะครับ

8. กลยุทธ์การตลาดแบบร่วมมือ (Partnership)

ธุรกิจแต่ละธุรกิจ แบรนด์แต่ละแบรนด์มีฐานผู้ติดตามหรือฐานลูกค้า (เรียกง่ายๆ ว่าฐานแฟนคลับ) ของตัวเอง

ซึ่งการจะขยายฐานแฟนคลับนั้นทำได้ยาก ต้องใช้เวลา เพราะกลุ่มเป้าหมายมักจะเป็นกลุ่มที่ใกล้เคียงกับฐานเดิมอยู่แล้ว

แต่การทำ Partnership จะช่วยย่นระยะเวลาในการสร้างฐานแฟนคลับลงไป เพราะคุณสามารถทำการ “แลกเปลี่ยน” แฟนคลับกับแบรนด์อื่นได้

ตัวอย่างของไทยที่ผมเคยเห็นและจำได้คือการทำ Partnership ระหว่าง Bonchon และ After You สร้างเมนูเด็ดชื่อว่า Chicken Toast ขึ้นมา

การทำ Partner ระหว่าง HubSpot x Canva

ตัวอย่างของเมืองนอกที่ผมอยากยกมาคือการทำ Partnership (Collaboration) ระหว่าง HubSpot (Inbound Marketing Software กับ Canva (Graphic Design Software) ที่ร่วมกันแจก “195+ Visual Marketing Design Templates” ให้คนดาวน์โหลดไปใช้ได้ฟรี ซึ่งการร่วมมือกันครั้งนี้ทำให้ HubSpot ได้ Template ดีๆ มาแจกและได้ Canva (ซึ่ง Mass กว่า) ช่วยขยายฐานผู้ใช้ ส่วน Canva เองก็ได้ฐานลูกค้าที่พรีเมียมมากข้ึน (ซอฟต์แวร์ของ HubSpot มีราคาสูง ใครที่จ่าย HubSpot ไหว ก็จะจ่าย Canva ได้อย่างสบายๆ)

ไปคนเดียวไปได้ไกล ไปด้วยกันไปได้ไกลกว่า

Shifu แนะนำ

เวลาทำ Partnership กับใครควรจะต้องระวังเรื่องการเกิด Conflict of Interest เช่น After You ก็อาจจะไม่ควร Partner กับแบรนด์ขนมและของหวานแบรนด์อื่นที่เน้นขาย Honey Toast หรือ Kakigori เหมือนกัน และ Canva ก็ไม่ควร Partner กับ Video Design Software เพราะรูปแบบธุรกิจใกล้เคียงกันเกินไป

ทั้งนี้ คงต้องพิจารณาเป็นกรณีไป มีหลายเคสต์เหมือนกันที่คนที่ทำธุรกิจที่ใกล้เคียงกันมาร่วมมือกันทำอะไรบางอย่าง เช่นสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย หรือ สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) เป็นต้น (แต่ก็แน่นอนว่าความร่วมมือในเชิงธุรกิจอาจจะไม่ได้เชิงลึกมากนัก)

9. กลยุทธ์การตลาดผ่านผู้มีอิทธิพลทางความคิด (Influencer Marketing)

Influencer Marketing คือ การทำให้ผู้มีอิทธิพลทางความคิดพูดถึง เขียนถึง อ้างถึง สินค้าหรือบริการของคุณ (ในอดีต ผู้มีอิทธิพลทางความคิดอาจะหมายถึงดาราเป็นหลักแต่ปัจจุบันคนธรรมดาที่มีผู้ติดตามก็สามารถเป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิดได้เช่นกัน)

ในความเห็นของผมจุดประสงค์หลักของการทำ Influencer Marketing คือ 1. กระตุ้นแคมเปญการตลาด 2. ซื้อ Audience หรือ Branding ของผู้มีอิทธิพลทางความคิด 3. ให้ผู้มีอิทธิพลทางความคิดพูดเรื่องที่คุณไม่ควรพูดเอง

ข้อ 1 และข้อ 2 น่าจะเป็นข้อปกติที่คุณค่าจะเคยเห็น แต่ข้อ 3 ผมขอยกตัวอย่างเพิ่มเติมครับ

ถ้าสมมุติว่าคุณทำเครื่องสำอางโดยที่คุณมีชื่อเสียงในเรื่องของผู้หญิงสำหรับผู้หญิง แล้วอยู่มาวันนึงคุณเปิดตัวสินค้าใหม่ที่เป็นเครื่องสำอางสำหรับผู้ชาย การที่คุณเล่าว่าคุณสมบัติของเครื่องสำอางแบบใหม่ของคุณดียังไงมันก็คงจะไม่ดีเท่ากับว่าให้ผู้ชาย (ที่มี Audience และ Branding ตรงกับที่คุณต้องการ) พูดให้ จริงไหมครับ?

คุณอาจจะคิดว่าการทำ Influencer Marketing จะต้องใช้งบเป็นจำนวนมาก แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่เสมอไปครับ ปัจจุบันมี Influencer Marketing Platform หลายตัวอย่างเช่น Tellscore และ Revu ที่ช่วยให้คุณเข้าถึง Micro Influencer ในราคาที่จับต้องได้ครับ

Shifu แนะนำ

นอกเหนือจากการทำ Influencer Marketing แบบปกติที่เป็นการซื้อฐานผู้ติดตามและความสามารถในการเล่าเรื่องราวของ Influencer นั้นๆ แล้ว ผมเคยเจอเคสต์อีกแบบที่น่าสนใจและอยากจะเอามาแชร์ครับ 

ผมเคยเจอแบรนด์ที่ซื้อพื้นที่ฝัง Marketing Script เช่น Facebook Pixel (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Facebook Pixel ได้ที่นี่) ของ Influencer เพื่อให้แบรนด์สามารถนำเอา Audience ของ Influencer นั้นๆ มายิงโฆษณาต่อภายใต้บัญชีของแบรนด์ ซึ่งทำให้แบรนด์มีทางเลือกในการยิงโฆษณาที่หลากหลายขึ้นครับ

10. กลยุทธ์การตลาดผ่านการเขียนบทความ (Blogging)

สาเหตุที่ผมยกวิธีการง่ายๆ อย่างการเขียนบทความเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การทำการตลาดเพราะว่าความง่ายของมันครับ ง่ายในที่นี้คือ 1. เริ่มต้นเขียนได้ง่าย 2. เริ่มต้นกระจายและดึงคนให้มาอ่านได้ง่ายโดยเฉพาะการเขียนบทความบนโลกออนไลน์

เพียงแค่อาศัยสมอง สองมือ แล้วเริ่มเขียน จากนั้นเอาสิ่งที่เขียนไปแชร์ในที่ต่างๆ

ซึ่งการเขียนบทความที่ให้ความรู้หรือแก้ไขปัญหาให้คนจะทำให้คนที่อ่านมองคุณในฐานะผู้รู้ในเรื่องที่คุณเขียน เมื่อกลุ่มเป้าหมายของคุณจะพิจารณาซื้อสินค้าหรือซื้อบริการ ถ้าคุณมีส่ิงที่เขาต้องการอยู่ คุณก็จะเป็นหนึ่งในตัวเลือกลำดับแรกๆ ของพวกเขาครับ

Content Shifu เองก็ใช้กลุยทธ์นี้เป็นกลยุทธ์หลักในช่วงที่เริ่มต้นสร้างเว็บไซต์ในปีแรกๆ ครับ

Shifu แนะนำ

กลยุทธ์การสร้าง Branding & Authority ผ่านการเขียนหนังสือ

นอกเหนือจากการเขียนบทความแล้ว ผมคิดว่าการเขียนหนังสือก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ดีในการทำการตลาดให้กับแบรนด์ของคุณ (หรือตัวคุณเอง) ซึ่งจากประสบการณ์การเขียนหนังสือ Inbound Marketing ของผมร่วมกับทีมผู้ก่อตั้ง Content Shifu อีก 2 คน ผมพบว่าประโยชน์หลักจากการเขียนหนังสือคือเรื่องของ Branding & Authority และการเข้าถึงกลุ่มคนใหม่ๆ ครับ

เพิ่มเติมอีกก็คือว่าคอนเทนต์ในรูปแบบอื่นๆ เช่น Video หรือ Audio ก็สามารถนำมาผสานใช้เพื่อทำการตลาดได้เช่นเดียวกันครับ

11. กลยุทธ์การตลาดผ่านการเขียนบทความบนแพล็ตฟอร์มอื่น (Guest Blogging)

กลยุทธ์นี้มีความคล้ายกับกลยุทธ์ก่อนหน้า เพียงแต่ว่าเปลี่ยนจากการที่คุณโปรโมตหรือแชร์บทความที่คุณเขียนลงในพื้นที่ของคุณ (เช่น เว็บของคุณหรือโซเชียลมีเดียของคุณ) มาเป็นการเขียนบทความลงเว็บไซต์ที่มีฐานผู้ติดตามอยู่แล้ว

Guest Blogging - Techsauce

ผมเองก็เคยไปเขียนบทความให้กับ Techsauce ซึ่งเป็นหนึ่งในเว็บไซต์ชั้นนำด้าน Tech Startup ของประเทศไทยเพื่อเป็นการ Leverage ฐานผู้ติดตามที่เขามีครับ

คำแนะนำเพิ่มเติมของผมเวลาคุณจะทำ Guest Blogging ก็คือ 1. โฟกัสที่การให้คุณค่ากับ Audience 2. โฟกัสที่ Evergreen Content ไม่ใช่ Topical Content เพื่อที่จะทำให้คอนเทนต์ที่คุณเขียนมีอายุนาน 3. อย่าโปรโมตตัวเองหรือธุรกิจของตัวเองมากเกินไป 4. อย่าเขียนให้เฉยๆ โดยที่ไม่โปรโมตหรือไม่บอกเลยว่าคุณทำอะไรอยู่บ้าง

ถ้าเลือกสื่อได้ถูกและคอนเทนต์ของคุณดีและตอบโจทย์คนอ่านได้จริง Guest Blogging จะเป็นหนึ่งในช่องทางการตลาดที่ทรงพลังของคุณครับ

12. กลยุทธ์การตลาดแบบเหาฉลาม

โดยธรรมชาติแล้วเหาฉลามจะเกาะอยู่บนตัวของฉลามเพื่อกินเศษอาหารที่หลุดมาจากฉลาม

เหาฉลามนั้นไม่สามารถกลายร่างเป็นฉลามได้ มันจึงเลือกอยู่กับผู้ที่แข็งแกร่งอย่างฉลาม ถ้าเลือกฉลามได้ดี ตัวมันเองจะไม่มีวันอดตาย

เราสามารถใช้หลักการนี้กับการทำการตลาดได้เช่นเดียวกันโดยการพยายามเกาะสิ่งที่กำลังเป็นกระแสอยู่หรือเกาะไปกับ Platform หรือบริษัทขนาดใหญ่แล้วเติบโตไปด้วยกัน (เพราะด้วยแรงและงบประมาณที่คุณมี มันไม่ง่ายเลยที่จะสร้างอะไรขึ้นมาเพื่อแข่งหรือทดแทน Platform นั้นๆ)

เช่นถ้าคุณคิดว่า Tiktok กำลังจะมาและจะเติบโตไปได้อย่างแข็งแรง คุณก็อาจจะเริ่มเข้าไปสร้างแบรนด์ของคุณใน Tiktok เพื่อที่ว่าเมื่อวันที่ Tiktok เติบใหญ่ คุณจะได้เติบโตตามไปด้วย

สิ่งสำคัญของกลยุทธ์นี้คือคุณไม่ควรที่จะเป็นเหาฉลามที่ทำเพียงแค่กินเศษอาหารจากฉลาม แต่คุณควรที่จะช่วยดูแลรักษาและทำให้ฉลามตัวนั้นๆ ที่คุณเกาะอยู่เติบโตไปได้อย่างแข็งแรงด้วย

13. กลยุทธ์การตลาดแบบขายเพิ่ม (Upsell)

เมื่อลูกค้าของคุณตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการของคุณแล้ว นั่นหมายความเขามีความเชื่อมั่นในคุณในระดับนึงเพราะฉะนั้นการที่คุณจะขายสินค้าหรือบริการให้กับเขาเพิ่มนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้และควรทำ

ตัวอย่างของ Content Shifu เช่นถ้ามีคนซื้อหนังสือ Inbound Marketing ของเราไปแล้ว (และเขามาลงทะเบียนออนไลน์เราก็จะพยายาม Upsell คนคนนั้นต่อด้วยคอร์สเรียนหรือ Product ประเภทอื่น)

นอกเหนือจากการ Upsell แล้ว การ Downsell ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างของ Content Shifu เช่น ถ้าเราขายคอร์สราคา 7,900 บาท แล้วคุณพยายาม Upsell บริการ Consultation ราคา 50,000 บาทต่อเดือน แต่ลูกค้าไม่สนใจ เราอาจจะ Downsell เขาด้วยสินค้าที่มีราคาต่ำกว่าแทนเช่นหนังสือ Inbound Marketing ราคา 265 บาทหรือ Template ในการทำ Content Marketing ราคา 1,000 บาท เป็นต้น

ป.ล. ตัวอย่างด้านบนเป็นตัวอย่างสมมุติ ปัจจุบัน Content Shifu ยังไม่มีบริการ Consultation และการขาย Template ต่างๆ

Shifu แนะนำ

up-sell & down-sell strategy

กลยุทธ์ที่ผมเคยเจอและคิดว่าน่าสนใจและอยากเอามาแชร์ให้ได้อ่านกันคือกลยุทธ์ของ Russel Brunson ที่แจกหนังสือให้คุณฟรี (คุณเพียงแค่ต้องจ่ายค่าขนส่งราคา $9.95 หรือ $19.95 ถ้าส่งนอกอเมริกา) ถามว่าเขาได้กำไรจากการทำแบบนี้ไหม? ไม่ได้แน่ๆ แต่เขามอบเกมยาวกว่านั้น สิ่งที่เขาได้คือการทำให้คนตัดสินใจซื้อสินค้าจากเขาแล้ว 1 ครั้ง หลังจากนี้เขาก็จะส่งสินค้าของเขามา Upsell คนที่ซื้อเรื่อยๆ อย่างแน่นอนครับ

14. กลยุทธ์การตลาดแบบภูธร

ปัจจุบันการทำการตลาดมีความลึกล้ำซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ AI, Automation, Programmatic และคำศัพท์ที่ดูเข้าใจยากอีกหลายอย่าง

การตลาดแบบภูธรหมายถึงการทำการตลาดแบบ Personalize ตามแต่ละท้องถิ่นที่อยู่นอกเหนือกรุงเทพ ตัวอย่างการทำการตลาดแบบภูธรเช่นการใช้รถแห่ การจัดคอนเสิร์ต ซึ่งตอนที่ผมได้ยินและเห็นการทำการตลาดแบบภูธรครั้งแรกๆ ที่งาน Money Expo (ที่มีการจัดในหลายๆ จังหวัดในประเทศไทย) ก็มีข้อสงสัยในใจว่าการทำแบบนี้จะยังได้ผลรึเปล่า ปรากฏว่าการตลาดแบบนี้ก็เป็นส่วนสำคัญในการทำการตลาดที่ทำให้คนในพื้นที่นั้นๆ เห็นและสนใจ

ในความเป็นจริงแล้ว ผมคิดว่าการตลาดแบบภูธรก็เป็นการตลาดแบบปกตินี่แหละ เพียงแต่ว่า Keyword ที่สำคัญคือการรู้และเข้าใจกลุ่มลูกค้าเป้าหมายจริงๆ คนแต่ละคน กลุ่มแต่ละกลุ่ม มีความสนใจและมีความต้องการไม่เหมือนกันเพราะฉะนั้นการทำการตลาดก็ควรจะต้องต่างกันด้วย

Shifu แนะนำ
การที่จะรู้ว่ากลุ่มลูกค้าของคุณชอบการตลาดแบบไหน การทำ Buyer Persona ขึ้นมาก็เป็นสิ่งที่ช่วยได้ครับ คุณสามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Buyer Persona ได้ที่นี่ครับ

15. กลยุทธ์การตลาดผ่านทีมงาน (Employee Marketing)

ถ้าถามถึงคนที่รู้จักแบรนด์ของคุณหรือบริษัทของคุณดีไม่แพ้กับลูกค้าหรือเผลอๆ อาจจะดีกว่าก็คงจะเป็นทีมงานของคุณ

เพราะคนในจะมี Insight มากกว่าเนื่องจากว่าพวกเขามีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์อยู่แทบจะทุกวัน เพราะฉะนั้นนอกเหนือจากการพยายามที่จะกระตุ้นให้คนนอก (ไม่ว่าจะเป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิดหรือแพล็ตฟอร์มในการทำการตลาด) ช่วยทำการตลาดให้กับคุณแล้ว อย่าลืมเริ่มต้นทำการตลาดง่ายๆ ด้วยการพูดคุยกับทีมงานของคุณให้เป็นกระบอกเสียง ช่วยทำการตลาดให้กับคุณอีกแรง

ตัวอย่างการทำ Employee Marketing ที่ผมคิดว่าเขาทำได้ดีคือ MK ที่จะมีพนักงานมาเต้นเสริมสร้างความสุขให้ตัวเองและลูกค้า (ไม่แน่ใจว่าปัจจุบันยังมีเต้นอยู่รึเปล่านะครับ) และ Bar B Q Plaza ที่ให้พนักงานหยุดทำงานวันแม่เพื่อไปกินข้าวกับแม่

หรือถ้าเป็นตัวอย่างของบริษัทที่ไฮเทคขึ้นมาหน่อยผมชอบของ Wongnai ที่จะมีส่วน life.wongnai.com ที่เปิดโอกาสให้คนในทีมมาแชร์เรื่องต่างๆ ใน Wongnai ได้

คนในที่มี Insight เมื่อออกมาแชร์หรือมาทำอะไร จะจับใจกว่าการตลาดในรูปแบบอื่นครับ

Note: ถ้าคนในไม่อิน ไม่อยากเป็นกระบอกเสียงให้ ผมคิดว่าเป็นหน้าที่ของทีมผู้บริหารและ HR ที่จะมีแนวคิดหรือวิธีการอะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้คนอินครับ ในบทความนี้ผมขออนุญาตไม่ลงรายละเอียดเรื่องนี้นะครับเพราะเป็นเรื่องของ HR ไม่ใช่เรื่องของ Marketing แล้วครับ

16. กลยุทธ์การตลาดผ่านโซเชียล (Social Media Marketing)

โดยพื้นฐานแล้ว มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ชอบอยู่ร่วมกันและชอบปฏิสัมพันธ์กัน ซึ่ง Social Media เข้ามาตอบโจทย์ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ตรงส่วนนี้

ซึ่งที่ใดก็ตามที่มีคนอยู่ ที่นั่นมีโอกาสทางธุรกิจและทางการตลาด

แพลตฟอร์มอย่าง Facebook Instagram และ LINE นั้นเป็นแพลตฟอร์มที่คนไทยใช้เยอะมากที่สุด แพลตฟอร์มอย่าง Twitter LinkedIn และ Tiktok เองก็อยู่ในช่วงเวลาแห่งการเติบโต ซึ่งเหมาะกับการทำ การตลาดออนไลน์ เป็นอย่างยิ่ง

โดยปกติแล้ว สิ่งที่แพล็ตฟอร์มเหล่านี้ขายให้กับคุณคือ “เวลาและข้อมูลของคน” แพลตฟอร์มไหนที่มีอยู่หนาแน่นต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์และเม็ดเงินสูง

แพลตฟอร์มไหนที่คนยังไม่หนาแน่น สิ่งที่สูงคือความเสี่ยงที่คุณต้องแบกรับ ความเสี่ยงที่เกิดจากการที่คุณลงทุนทั้งแรงและเงินลงไปแล้วอาจจะเสียเวลาเปล่า ถ้าสุดท้ายแล้วคนเข้ามาใช้แพลตฟอร์มไม่มากอย่างที่คาดหวัง

แนวคิดในการเลือกใช้ Social Media ผมมีอยู่ง่ายๆ 2 วิธีครับ

  1. เลือกให้เหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจ (มันคงจะไม่เวิร์กถ้าสิ่งที่คุณขายคือเครื่องจักร แล้วคุณใช้วิธีการถ่ายรูปชู 2 นิ้วกับเครื่องจักรแล้วลงบน Instagram)
  2. เลือกให้เหมาะกับแรงเงินและแรงงาน

คุณสามารถเข้าไปอ่านบทความเกี่ยวกับ Social Media Marketing ได้ที่ลิงก์ด้านล่างครับ

หรือเข้าไปดูบทความเกี่ยวกับ Social Media Marketing ทั้งหมดที่ Content Shifu เคยเขียนได้ที่ลิงก์นี้ครับ

17. กลยุทธ์การตลาดผ่านการค้นหา (Search Marketing)

มนุษย์… นอกจากเป็นสัตว์สังคมแล้วยังเป็นสิ่งทีมีชีวิตที่ขี้สงสัย อยากรู้อยากเห็น

ในปัจจุบันที่ที่ทำให้คนขี้สงสัยและอยากรู้อยากเห็นได้รับคำตอบนั้นก็คือ Search Engine (ในประเทศไทย Search Engine ที่ได้รับความนิยมที่สุดคือ Google)

เพราะฉะนั้น ถ้าคุณสามารถตอบคำถามหรือแก้ไขปัญหาให้กับคนได้ คุณก็จะไปได้ดีกับ Search Marketing

Content Shifu เองก็เน้น Search Marketing เป็นหลักเหมือนกัน โดยเฉพาะ การทำ SEO สายคุณภาพ ซึ่งผมขอบอกกับคุณว่า มันคุ้มค่ามาก เพราะช่วยให้ Shifu มีคนเข้าชมมากกว่า 1,000,000 ครั้งต่อปี โดยที่เสียค่าโฆษณาน้อยมากๆ (ซึ่งคุณก็ทำได้ 🙂 หากรู้วิธีครับ)

โดยคุณสามารถเข้าไปอ่านบทความเกี่ยวกับ Search Marketing ได้ที่ลิงก์ด้านล่างครับ

หรือเข้าไปดูบทความเกี่ยวกับ Seach Marketing ทั้งหมดที่ Content Shifu เคยเขียนได้ที่ลิงก์นี้ (บทความเกี่ยวกับการ Search Marketing แบบไม่ต้องซื้อโฆษณา) และลิงก์นี้ (บทความเกี่ยวกับการ Search Marketing แบบต้องซื้อโฆษณา) ครับ

18. กลยุทธ์การตลาดผ่านอีเมล (Email Marketing)

Email Marketing เป็นกลยุทธ์การตลาดแบบ 1-on-1 แบบสเกลได้ ความหมายคือคุณสามารถส่งสารไปพูดคุยกับลูกค้าหรือผู้ติดตามของคุณแบบคนต่อคนได้ไม่ว่าจะเป็นหนึ่งคนหรือเป็นล้านคน

ซึ่งถ้าคุณทำ Email Marketing ดีๆ คนรับจะรู้สึกว่าอีเมลนั้นๆ สื่อสารกับเขาโดยเฉพาะ

สำหรับตลาดไทยแล้ว ผมคิดว่า Email Marketing เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ถูกมองข้ามเพราะอาจดูล้าสมัยและไม่น่าตื่นเต้นเท่ากับวิธีการอื่น ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว ถ้าทำออกมาได้ดี Email Marketing เป็นอีกช่องทางทำให้คุณได้มาซึ่งลูกค้าด้วยการลงทุนที่เหมาะสม

สำหรับตัวอย่างของ Email Marketing นั้น ผมขอยกของ Content Shifu มาเหมือนเดิมนะครับ

โดยปกติแล้วตอนที่เราเปิดขาย Training วิธีการที่ทำให้เราได้มาซึ่งลูกค้ามากที่สุดมีอยู่ 2 วิธีการ 1. มีคนแนะนำมา 2. ผ่านอีเมล

ถ้าคุณอยากลองทดสอบหรือเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ Email Marketing ผมแนะนำให้ลองไป Subscribe Email Newsletter ของ Content Shifu ดูนะครับ หรือถ้าอยากลองหาเครื่องมือ Email Marketing มาลองใช้ง่ายๆ ผมแนะนำ Mailerlite ครับ ผมใช้ตัวนี้สำหรับ Personal ครับ

19. กลยุทธ์การตลาดผ่านชุมชน (Community Marketing)

คนที่เหมาะสมที่จะเป็นกระบอกเสียงให้กับธุรกิจของคุณมากที่สุดคือคนที่รัก ชื่นชอบ และใช้เวลาของพวกเขาอยู่กับที่ของคุณ

ผมคิดว่า Community Marketing คืออีกระดับของ Referral Marketing ที่ต้องอาศัยความพยายามและเวลาในการฟูมฟักความสัมพันธ์กับลูกค้าหรือผู้ติดตามจนกระทั่งพวกเขากลายมาเป็นเหมือนเพื่อนคู่คิดมิตรคู่ใจให้กับธุรกิจของคุณ

การทำการตลาดผ่านชุมชน (Community) ของ houzz

ตัวอย่างของธุรกิจที่ทำ Community Marketing ได้ดีมีหลายตัวอย่างครับ เช่น Houzz (แพลตฟอร์มรวมสินค้า บริการ และความรู้เกี่ยวกับการตกแต่งบ้าน) ที่รวมคนที่สนใจหรือชอบตกแต่งบ้านมาไว้ด้วยกัน, Teachable (ซอฟต์แวร์บริหารจัดการการเรียนออนไลน์) ที่รวมคนที่สนใจในการแบ่งปันความรู้มาไว้ด้วยกัน หรือถ้าของไทยก็จะมี Builk (ซอฟต์แวร์สำหรับงานรับเหมาก่อสร้าง) ที่รวมคนที่สนใจในเรื่องรับเหมาก่อสร้างมาไว้ด้วยกัน

ถ้าคุณสามารถรวบรวมคนที่ชอบเหมือนกัน คิดเหมือนกัน เข้ามาอยู่กับคุณได้ คุณจะได้กองทัพนักการตลาดมาช่วยคุณทำการตลาดโดยที่คุณไม่จำเป็นต้องใช้งบโฆษณาเลยครับ

20. กลยุทธ์การตลาดกลุ่มเฉพาะ (Niche Marketing)

ผมชอบพูดเสมอว่ายุคปัจจุบัน “Niche is Bliss. Mass is Bad” หรือแปลไทยง่ายๆ ว่ายิ่งเฉพาะยิ่งดี ยิ่งกว้างยิ่งยาก

ในยุคปัจจุบัน ด้วยการเติบโตของเทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของผู้คน มันเป็นไปได้ยากมากๆ ที่สินค้าหรือบริการของคุณจะถูกสร้างขึ้นมาให้เหมาะกับคนทุกคน กลุ่มทุกกลุ่ม (หรือถ้าคุณทำสินค้าหรือบริการแบบนั้นออกมา ลูกค้าก็อาจจะเปลี่ยนใจไปซื้อจากเจ้าอื่นคนอื่นได้อย่างไม่ยาก)

เพราะฉะนั้นกลยุทธ์การตลาดกลุ่มเฉพาะจึงเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่น่าสนใจ

การตลาดกลุ่มเฉพาะเป็นการที่คุณเลือกที่จะทำสินค้าหรือบริการขึ้นมาให้ดีมากๆ หรือดีที่สุดสำหรับคนบางกลุ่มเท่านั้น นอกเหนือจากนั้นไม่ใช่กลุ่มคนที่คุณให้ความสำคัญ

กลยุทธ์การตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Marketing) - Tofusan

ตัวอย่างที่ผมชอบคือ Tofusan ที่ในตอนเริ่มต้นพวกเขาเมินตลาดน้ำเต้าหู้แบบผสมนมผงซึ่งมีราคาถูกกว่าและมีขนาดตลาดใหญ่กว่า แต่เขาโฟกัสที่น้ำเต้าหู้แบบคั้นสด (ที่มีตลาดเล็กกว่า 10 เท่า) แต่เป็นที่ที่เขาสามารถเป็นเจ้าตลาดได้

เมื่อคุณต้องสู้กับยักษ์ การจะเอาชนะยักษ์อาจจะเป็นไปได้ยาก แต่ถ้าคุณรวบรวมพลังและจุดเด่นของคุณทั้งหมด ใช้เพื่อหักนิ้วก้อยของยักษ์ ยังพอเป็นไปได้ เช่นเดียวกับการทำการตลาดที่ควรจะมุ่งเน้นทำแต่เรื่องเฉพาะที่คุณเชี่ยวชาญหรือจับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะที่เขาน่าจะสนใจคุณ เพื่อที่คุณจะได้แตกต่างจากการทำการตลาดของบริษัทน้อยใหญ่ในตลาดครับ

สรุป

และนี่คือกลยุทธ์การตลาดที่ผมเอามาแชร์ให้ได้อ่านในวันนี้นะครับ

ก่อนที่จะจบบทความนี้ไป ผมมีเรื่องฝากไว้สักเล็กน้อยครับ

Peter Drucker หนึ่งในปรมาจารย์ธุรกิจเคยกล่าวไว้ว่า “Strategy is a commodity, execution is an art”

ไม่ว่าจะเป็นคุณหรือคู่แข่งของคุณในตลาด พวกเขาสามารถเข้าถึงกลยุทธ์การตลาดผ่านบทความนี้ได้ทั้งนั้น แต่สิ่งที่จะทำให้คุณแตกต่างจากคนอื่นๆ ก็คือการหยิบเอากลยุทธ์การตลาดที่คุณได้ศึกษาและเรียนรู้มาไปทดลองปรับใช้จริงๆ นะครับ

กลยุทธ์จะดีได้จะต้องถูกเอาไปปฏิบัติจริงจนได้ดี

ตาคุณแล้ว

คุณมีกลยุทธ์อื่นๆ ที่น่าสนใจที่อยากจะแชร์ให้กับผมและผู้อ่านของ Content Shifu ท่านอื่นได้อ่านรึเปล่า มาพูดคุยกันต่อได้ในคอมเมนต์เลยนะครับ