สำหรับคนที่อยากให้เว็บตัวเองมีคอนเทนต์ แต่เริ่มต้นไม่ถูก บางครั้งก็เลือกที่จะ ‘อ้างอิง' ของผู้อื่นมาก่อน แต่การมีคอนเทนต์ที่เอามาจากผู้อื่นมากๆ ใช่ว่าจะดี บทความนี้จะมาพูดคุยกันว่าเพราะอะไร และมีแนวทางอะไรบ้างที่ควรปฏิบัติ พร้อมสาธิตวิธีการทำ Original content  ง่ายๆ ด้วยตัวเอง

จริงอยู่ที่การมีคอนเทนต์เป็นเรื่องสำคัญ

ในบทความเหตุผลว่าทำไมบริษัทควรสร้างบล็อก พวกเราได้เล่าถึงความสำคัญของการมีคอนเทนต์ไปแล้ว แต่ดูเหมือนว่าก็ยังมีหลายๆ คนที่ตีความผิดไป ว่าขอแค่มีคอนเทนต์ก็พอแล้ว

ก็อปคอนเทนต์ ไม่ใช่ทางเลือกที่ดี

ตัวอย่างการก็อปงานคอนเทนต์

ภาพจากเว็บแห่งหนึ่งที่เอาบทความกรณีศึกษา Startup กับ Corporate Partnership ของ Techsauce ทั้งบทความมาลง (แต่ปราศจากเครดิตใดๆ)

ไม่ทราบจุดประสงค์ของคนที่ทำเหมือนกันค่ะ บางทีเขาอาจจะแค่ปรารถนาดี อยากแชร์บทความดีๆ ก็ได้มั้ง แต่ก็อปปี้แบบไม่ใส่เครดิต นอกจากคนๆ อย่างเราจะมองว่าไม่น่ารักแล้ว ในเชิงเทคนิค Google ก็มองว่าไม่น่ารักเหมือนกัน คอนเทนต์แบบนี้ Google เรียกว่า “Duplicate content” หรือ “Copycat content”

Duplicate content คืออะไร

Duplicate content หรือ Copycat content ทาง Google เขาได้ให้คำนิยามไว้ว่า…

Duplicate content generally refers to substantive blocks of content within or across domains that either completely match other content or are appreciably similar. Mostly, this is not deceptive in origin…..

ช่วยแปลให้ก็คือว่า Duplicate content หมายถึงคอนเทนต์ที่เหมือนเป๊ะ หรือคล้ายมากๆ กับคอนเทนต์ซึ่งมีจุดเริ่มต้น (Origin) จากที่อื่น (ทั้งในโดเมนเดียวกัน และต่างโดเมน)

หมายเหตุ: จากคำนิยามนี้จะเห็นได้ว่า กระทั่งคอนเทนต์ในเว็บเดียวกันก็ไม่ควรซ้ำซ้อน เดี๋ยวจะสอนเพิ่มในบทความหน้า บทความนี้ขอเน้นเรื่องการ Duplicate จากคนอื่นก่อน

ก็อปงานมาแล้วจะเกิดอะไรขึ้น?

ในสายตาของ Google

Google ให้ความสำคัญมากๆ ในการตรวจจับ และคัดกรอง Duplicate content มีวีดีโอจาก Google ที่ออกมาพูดเรื่อง Duplicate content มากมายหลายคลิปเหมือนกัน

ปัจจุบันพวกเขาไม่ใช้คำว่า ‘ลงโทษ’ แต่ใช้คำว่าไม่สนับสนุนการมี Duplicate content อาจจะไม่ได้ทำให้โดนเกลียด แต่ไม่ทำให้เป็นที่รักแน่นอน

พฤติกรรมการก็อปเอง ก็เป็นพฤติกรรมที่เว็บไซต์แนว Spam ชอบทำเสียด้วย ถ้าเว็บของคุณไม่ใช่สแปม ก็อย่าไปส่งสัญญาณว่าตัวเองเป็นแบบนั้นสิ

สรุป: อย่าคาดหวังว่าจะได้ Search Rank ที่ดีขึ้น ถ้างานนั้นเคยมีแล้วในเว็บอื่นมาก่อน (โดยเฉพาะเว็บดังที่มีความน่าเชื่อถือมากกว่า)

ในสายตาของสังคม

ตะกี้นี่เราพูดกันเรื่อง Google อย่างเดียว ยังไม่ได้พูดถึงเรื่องของลิขสิทธิ์นะ จริงๆ แล้วนี่ก็เป็นอีกประเด็นสำคัญ ที่เราจะหยิบมาพูดในบทความต่อๆ ไป

ไหนจะยังมีเรื่องของภาพลักษณ์ความเป็นมืออาชีพอีก อันที่จริง นอกจากเว็บที่เราแปะรูปเอาไว้ในภาพแรก ก็ยังมีเว็บอื่นๆ ที่เคยก็อปคอนเทนต์ไป บางเว็บก็เป็นบริษัทที่ดูมีหน้ามีตาเสียด้วย แต่พอทำอย่างนี้ (อาจจะด้วยความที่ไม่ทราบ หรืออาจจะด้วยความที่จ้างคนที่ไม่โอเค ชอบก็อปงานส่ง) สำหรับเราแล้ว เขาสูญเสียความน่าเชื่อถือไปเลย

Original content คือหนึ่งในหัวใจของเว็บคุณภาพ

ช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ Google ให้ความสำคัญกับคอนเทนต์คุณภาพเป็นอย่างมาก กล่าวคือคอนเทนต์ที่มีคุณลักษณะต่อไปนี้

  • Rich: ไม่ใช่ว่าต้องรวยหรือทำมาแพงนะ แต่ Rich หมายถึงความอุดมสมบูรณ์หลากหลาย มีทั้งข้อความ ภาพ วีดีโอ เป็นต้น
  • Unique (Original): คอนเทนต์ที่ไม่เหมือนใคร หรือเป็นต้นฉบับ
  • Relevant: เนื้อหาสอดคล้องกับคีย์เวิร์ด
  • Informative: ให้ข้อมูลละเอียด (ความยาวก็เป็นหนึ่งในปัจจัย)
  • Remarkable: หมายถึงมีสัญญาณทางโซเชียลที่ดี ได้รับผลตอบรับดี เป็นที่สนใจ

และถ้าพบคอนเทนต์ที่มีคุณสมบัติแบบนี้ก็จะอยากเก็บไว้ในลิสต์

คำแนะนำคือ ถ้าอยากได้รับ Rank ที่ดีในระยะยาว ตั้งแต่วันที่เริ่มต้นก็ควรเริ่มด้วย Original คอนเทนต์เอาไว้มากๆ

บางคอนเทนต์ อาจไม่ Unique แต่ไม่เป็นไร

**เนื้อหาส่วนนี้เขียนอัปเดตเพิ่มเติมในวันที่ 26 พ.ย. 59

Orginal content เอง ก็สามารถมองได้หลายมุมมอง เช่น ถ้าจะเขียนนิยาย (หรือเรื่องราวที่ใช้จินตนาการเยอะๆ) ทุกสิ่งที่ออกมานั้นควรจะเกิดจากจินตนาการ ความคิด ของผู้เขียนเองทุกอย่าง หรือถ้าอยากจะเอาอะไรจากคนอื่นๆ มา สิ่งที่ควรจะเอามาน่าจะเป็นแค่ “แรงบันดาลใจ” เท่านั้น

ในขณะที่ถ้าจะเขียนคอนเทนต์สำหรับจุดประสงค์ทางการตลาด / แนววิทยาศาสตร์ คำว่า Original content น่าจะเป็นการเรียบเรียงคำพูด และ Flow ของคอนเทนต์ด้วยตัวเอง ในส่วนของเนื้อหานั้นอาจจะมีการ “อ้างอิง” แนวคิด หรือผลการค้นคว้าวิจัย จากคนอื่นๆ ด้วย

และถ้าจะเขียนคอนเทนต์แนวข่าว ด้วยตัวเนื้อหาแล้วมันจะบิด หรือเพิ่มเติมอะไรได้ไม่ค่อยมาก เพราะการรายงานข่าวควรจะรายงานตามข้อเท็จจริง คำว่า Original content ของเนื้อหาแบบข่าวนั้นน่าจะเป็นการ “เรียบเรียง” ด้วยภาษาของตัวเอง โดยไม่ต้องไปกังวลว่าตัวใจความของเนื้อหาจะซ้ำกับคนอื่นๆ รึเปล่า (เพราะมันซ้ำแน่ๆ อยู่แล้ว)

ดังนั้นสังเกตได้ว่าเนื้อหาสไตล์ข่าว หรือเนื้อหาที่ต้องอ้างอิงจาก Facts เยอะๆ เช่น Product description ของสินค้าอะไรบางอย่าง ซึ่งมันมี Spec ชัดเจน เขียนออกมาก็เหมือนๆ กัน ดังนั้นมันคงจะไม่ใช่ Original 100% แน่ๆ

 

แต่อีกอย่างคือ หากเรารู้จักการ Add value ลงไป แม้จะไม่ใช่ Original content 100% แต่ก็สามารถเพิ่มคุณค่าได้ ถ้าใส่ส่วนผสมอื่นๆ เช่น เพิ่มความ Unique, เพิ่มความ Informative, เพิ่มความ Rich เป็นต้น

เกร็ดวิธีการ Add value ลงไป

ไม่ใช่เพียง Copy แต่ต้อง “Transform” และ “Combine” คอนเทนต์ได้

copy-transform-combine

ภาพจาก Wikipedia

การ Transform

ตัวอย่างการเขียนที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเนื้อหามาก เพียงแต่ Add value ลงไปเพิ่มเติม เช่น

  • การแปลบทความต่างประเทศ ที่เลือกมาแล้วว่าเหมาะกับกลุ่ม Audience และเหมาะกับช่วงเวลาดังกล่าว

หากเป็นข่าวก็สามารถสร้างเป็น Unique content ได้ ถ้าเขียนนำเสนอไม่เหมือนใคร เช่น

  • การเรียบเรียงใหม่ นำเสนอในแบบตัวเอง ไม่เหมือนกับ Press Release: ตัวอย่างข่าวการระดมทุนของ ShopSpot
  • การบิดมุม เปลี่ยนจากข่าว เป็นบทวิเคราะห์ เช่น Fictionlog, AirPay Card, SkillLaneClaim Di ทั้งหมดนี้จริงๆ แล้วล้วนแต่เป็นข่าวการเปิดตัวผลิตภัณฑ์

การ Combine

ลองผสมผสานหลายๆ งาน มาสู่คอนเทนต์ใหม่ เช่น

  • เอาคอนเทนต์ต่างๆ ที่เคยเขียน มาผสมผสานเขียนในรูปแบบแชร์ประสบการณ์ชีวิต เพิ่มการ Add value ใหม่ๆ ลงไป

how-to-refer-to-your-posts-2

  • อีกตัวอย่างที่ชัดเจนมากคือบทความนี้ คือการเอาข่าวทั้งหมดที่เคยทำมาอยู่แล้วตลอดครึ่งปี มาเรียบเรียงสรุปใหม่ ถือเป็นการ Combine หลายๆ อย่าง จนเกิดเป็นของชิ้นใหม่ที่มี Value

3e-first-half-2016-big-news

การ Combine อาจจะเรียกว่าการทำ Curation ก็เป็นได้ ซึ่งก็คือกระบวนการคัดสรรคอนเทนต์ดีๆ ที่เคยมีมาแล้ว มาเรียบเรียง และนำเสนอใหม่ในมุมมองของตนเอง เช่น การเขียน “รวมภาพยนตร์ 10 เรื่องที่ต้องดูให้ได้ก่อนตาย” เป็นต้น

คุยกันนิดนึง

ที่มาของบทความนี้เกิดจากแนวคิดว่า ถ้าเราอยากเปลี่ยนให้คนหันมาออกกำลังกายมากขึ้น เราจะเริ่มต้นด้วยการบอกโทษของการไม่ออกกำลังกาย/โทษของโรคอ้วนก่อน แล้วเราก็ให้คำแนะนำในการปรับตัวเบื้องต้น เช่น เปลี่ยนจากดูทีวีหน้าโซฟา เป็นแกว่งแขนหน้าทีวีแทน

แม้ว่าการแกว่งแขนจะยังไม่ใช่การออกกำลังกายอย่างแท้จริง (หรือในบทความคือการทำ original content) แต่มันคือคำแนะนำเบื้องต้นในการปรับตัว คือยังไม่เร่งเร้าให้เปลี่ยนพฤติกรรมมากจนคนทำไม่ได้

การ Transform, Combine หรือทำ Curation เป็นวิธีการเบื้องต้นอย่างหนึ่ง แต่สุดท้ายแล้วอยากให้คนทำคอนเทนต์ลองฝึกเริ่มต้นเขียนจากศูนย์ด้วยตัวเองจะดีที่สุดค่ะ

สรุป

จงสร้างสัดส่วนคอนเทนต์ในเว็บใหม่ พยายามให้ Unique/Original content มีมากกว่าครึ่งหนึ่งของคอนเทนต์อื่นๆ ให้ได้ ควรนำคอนเทนต์เดิมมา Rewrite ใหม่ให้กลายเป็น Original content ใหม่ๆ จงบาลานซ์ระหว่าง Evergreen & Topical รวมถึงบาลานซ์ระหว่าง Duplicate content และ Original content ให้ดี

ตาคุณแล้ว

บทความนี้ว่าด้วยความสำคัญของการสร้าง Unique/Original content ของคุณขึ้นมาเอง แน่นอนว่าถ้าคิดไม่ออก นำของเดิมมา Reuse ใหม่ด้วยเทคนิคที่นำเสนอไป ก็ถือว่าโอเค แต่ก็ไม่ใช่ว่าทำได้ง่ายๆ ต้องอาศัยการฝึกเหมือนกัน อยากฝากไว้ว่า

  • อย่ามอง Copy เป็นเรื่องปกติ อย่ามองงานคอนเทนต์ว่าต้องเน้นง่ายและเร็วเท่านั้น
  • หากเป็น Creator จงสร้างสรรค์ให้เยอะ เขียนเองให้มาก (ถ้าสนใจฝึก ลองคุยกับเรา)
  • หากเป็นผู้จ้าง จงให้ความสำคัญกับ Content creator เพราะ Original content creator ไม่ได้หาได้ง่ายๆ ถ้าหาได้แล้ว ก็อย่าให้ราคาเขาถูก จนเสียคุณค่าไป

บทความที่แนะนำให้อ่านเพิ่มเติม: Topical vs Evergreen content และ On-page SEO for writers

และอย่าลืมศึกษาเรื่อง Duplicate content, SEO และเทคนิคการทำคอนเทนต์เพิ่มเติมกับพวกเราในบทความต่อๆ ไปด้วยนะ : )