อยากปั้นแบรนด์ให้สำเร็จ แค่ ‘สินค้า’ ดีอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ต้องรู้จักทำการตลาดด้วย

ซึ่งในยุคนี้คงจะไม่พ้นการเลือกใช้ช่องทางออนไลน์ที่เรามักจะใช้เป็นประจำทุกวันอย่าง Facebook, Instagram หรือ Google ที่ไม่ว่าจะเลื่อนผ่านหน้าจอกี่ครั้ง ก็มักจะเจอโฆษณาสินค้า และบริการให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง จนอยากซื้อใช้ขึ้นมาทันที 

และนอกจากช่องทางออนไลน์แล้วนั้น เรายังคงพบเจอช่องทางการโฆษณาสินค้า และบริการชนิดเดียวกันตามสื่อแบบดั้งเดิม เช่น ใบปลิวที่มักจะได้รับพร้อมไปรษณีย์ หรือแม้แต่ป้าย Billboard ขนาดยักษ์ใหญ่ที่เรามักจะขับรถผ่านไปมา ช่วยให้สามารถจดจำแบรนด์ ให้ดียิ่งขึ้นในช่วงที่เราละสายตาออกจาก Smart Phone หรือ Computer  

เห็นได้ชัดว่าไม่ว่าจะเป็นการทำการตลาดแบบออนไลน์ หรือแบบดั้งเดิมเองก็ยังคงสำคัญกับแบรนด์ ในการสื่อสารสินค้า และบริการของพวกเขาออกไปถึงผู้ฟัง 

บทความนี้จะพาคุณมารู้จักกับการตลาดแบบปูพื้นฐาน ความแตกต่างของการตลาดแบบ Online Marketing vs Traditional Marketing รวมไปถึงข้อดี-ข้อเสียของแต่ละประเภท

การตลาด (Marketing) คืออะไร

การตลาด (Marketing) คือวิธีการ หรือกลยุทธ์ที่แบรนด์ใช้ดึงดูดกลุ่มเป้าหมายให้ มายังสินค้า และบริการของพวกเขาผ่านการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้กลุ่มผู้ที่มีแนวโน้มจะเป็นลูกค้าเริ่มรู้จัก ตัดสินใจ และผันตัวเป็นลูกค้าของแบรนด์ และเลี้ยงดูพวกเขาให้กลายเป็นลูกค้าระยะยาวของแบรนด์ในอนาคต 

อธิบายแบบนี้อาจจะงง แต่ถ้าอธิบายเป็นกระบวนการอาจจะเข้าใจง่ายขึ้น 

โดยการตลาดไม่ว่าจะทั้งในไทย หรือต่างประเทศล้วนอ้างอิงตามสิ่งที่เรียกว่า Customer’s Journey หรือเส้นทางของผู้บริโภค 

ตัวอย่าง Customer journey
ตัวอย่าง Customer's Journey

ถ้าสังเกตุดูจะเห็นว่าเส้นทางของผู้บริโภคนั้นมีประมาณ 5 ระยะ (ใช้คำว่าประมาณเพราะว่าแต่ละที่ก็จะ มีการอธิบายขั้นตอนที่เยอะ หรือน้อยกว่านี้) ได้แก่ 

  • ระยะ Awareness หรือระยะที่กลุ่มเป้าหมายจะเริ่มรู้จักสินค้า หรือบริการ 
  • ระยะ Consideration หรือระยะที่กลุ่มเป้าหมายเริ่มตัดสินใจ 
  • ระยะ Purchase หรือระยะที่กลุ่มเป้าหมายผันตัวมาเป็นลูกค้า 
  • ระยะ Retention หรือระยะรักษาลูกค้า
  • ระยะ Advocacy หรือระยะที่ลูกค้าผันตัวมาช่วยเป็นกระบอกเสียงให้เรา

ซึ่งแต่ละขั้นตอนนั้นการตลาดออนไลน์จะเข้ามามีผลกับทุกช่วงเวลาของผู้บริโภคเลย โดยเลือกใช้วิธีการสื่อสาร และช่องทางออนไลน์ที่แตกต่างกันไป 

เรียกได้ว่า การตลาดคือวิธีที่ช่วยให้แบรนด์สามารถส่ง ‘สาร’ ไปยังผู้รับสารผ่านช่องทางออนไลน์ที่ใช่ และในช่วงระยะที่ใช่เพื่อได้ผลลัพธ์ที่แบรนด์ต้องการ 

ความแตกต่างระหว่าง Traditional Marketing และ Online Marketing คืออะไร

ก็การตลาดเหมือนกัน ต่างกันด้วยเหรอ? ต่างสิ ต่างมากเลยด้วย 

การตลาดแบบ Online Marketing หรือการตลาดแบบออนไลน์ คือการทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์โดยจำเป็นต้องพึ่งพาสื่อ Digital ในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย และในการสร้างฐานลูกค้า 

โดยสื่อ Digital ที่เรามักจะพบเห็นการตลาดแบบ Online Marketing อยู่บ่อยครั้งคือ เว็บไซต์ และแอปพลิชันที่ทุกคนกำลังใช้งานกันทุกวันผ่านเครื่องมือสื่อสารอย่าง Smart Devices ต่างๆ รับรองว่าถ้าคุณเป็นสายออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นนักอ่านออนไลน์ นักช็อปออนไลน์ หรืออะไรออนไลน์ก็ตาม ต้องเคยผ่านตาโฆษณาแบบต่างๆ มาอย่างแน่นอน และนั่นเป็นประเภทการทำการตลาด Online Marketing รูปแบบหนึ่ง 

การตลาดแบบ Traditional Marketing คือการทำการตลาดผ่านช่องทางที่ไม่ใช่ออนไลน์ หรืออย่างง่าย คือช่องทางที่เป็นการสื่อสารทางเดียว เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ หรือป้ายบิลบอร์ดตามทางด่วนที่มักจะดึงดูดกลุ่มเป้าหมายผ่านสารที่สื่อออกไป 

ความแตกต่างระหว่าง Traditional Marketing และ Online marketing คือการเลือกใช้ ‘ช่องทาง’ ในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสมกับธุรกิจ หรือแบรนด์ของคุณ เพราะไม่ใช่ธุรกิจที่เหมาะกับการทำการตลาดแบบ Online เพียงอย่างเดียว และไม่ใช่ธุรกิจที่ควรจะอยู่บนช่องทางแบบ Traditional 

เรามาดูคำจำกัดความของการตลาดทั้ง 2 แบบ พร้อมตัวอย่างช่องทางการทำการตลาดกันเลย 

ประเภทของการตลาดแบบ Online Marketing

การตลาดออนไลน์คืออะไร

แล้วแบบนี้ประเภทของการทำ Online Marketing มีอะไรบ้าง? 

ประเภทของการทำการตลาดแบบ Online Marketing สามารถแบ่งออกเป็น 7 ส่วนหลักได้แก่:

  1. Search Engine Marketing หรือ SEM 
  2. Search Engine Optimization หรือ SEO 
  3. Social Media Marketing หรือ SMM 
  4. Content Marketing
  5. Email Marketing 
  6. Influencer Marketing 
  7. Online Advertising หรือ Digital Advertising

Search Engine Marketing หรือ SEM คือการทำการตลาดออนไลน์ผ่านเครื่องมืออย่าง Search Engine มักจะทำการตลาดผ่านการเลือกซื้อ Keyword ที่มีผู้ค้นหาเป็นจำนวนมาก และดันสินค้า หรือบริการของคุณให้ผู้ค้นหาพบเห็นเป็นเว็บไซต์แรกๆ บนหน้าค้นหาของ Keyword นั้นๆ โดย Search Engine เจ้าใหญ่ที่คนมักจะทำการตลาดก็คือ Google เป็นต้น

 

ตัวอย่าง SEM
ตัวอย่าง SEM หรือ Search Engine Optimization ที่ขึ้นของ Traveloka และ Agoda เป็นต้น

Search Engine Optimization หรือ SEO เป็นการตลาดที่เป็นสับเซตของ Search Engine Marketing อีกที แต่จะแตกต่างตรงที่ Search Engine Optimization จะไม่ใช้เงินในการดันเว็บไซต์ให้ติดหน้าแรกของการค้นหา Keyword แต่จะวัดจากคุณภาพของเว็บไซต์ และเนื้อหาภายในเว็บไซต์โดยรวมว่ามีความเกี่ยวข้อง มีคุณภาพมากพอให้ผู้อ่านหรือหรือไม่  

ตัวอย่าง SEO
ตัวอย่าง SEO หรือ Search Engine Optimization ที่ขึ้นคอร์สเรียนของ Content Shifu

Social Media Marketing หรือ SMM คือการตลาดออนไลน์อีกรูปแบบที่พึ่งเข้ามาเป็นที่นิยมในยุค Digital เพราะว่าเป็นการทำการตลาดบน Social Media ไม่ว่าจะเป็น Facebook Instagram YouTube หรือช่องทางอื่นๆ อีกมากมาย ในแต่ละ Social Media ก็จะมีวิธีการทำการตลาดที่แตกต่างกันออกไป สามารถทำความเข้าใจกับ Social Media Marketing ได้ที่บทความนี้เลย 

Content Marketing คือการทำการตลาดรูปแบบหนึ่งโดยเลือกใช้ Content มาเป็นสารที่สื่อกับกลุ่มเป้าหมายโดย Content Marketing จะช่วยบรรลุการทำการตลาดในวัตถุประสงค์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งมอบความรู้ การดึงดูดกลุ่มเป้าหมาย การกระตุ้นกลุ่มเป้าหมายให้ตัดสินใจ หรือแม้แต่การสร้างยอดขายก็นับว่าเป็น Content Marketing ทั้งนั้น 

Email Marketing คือการทำการตลาดผ่านช่องทางอย่างอีเมล อาจจะฟังดูโบราณแต่การทำการตลาดผ่านอีเมลนั้นก็ยังคงสําคัญสำหรับการติดต่อสื่อสารด้านธุรกิจเป็นอย่างมาก สำหรับธุรกิจที่เน้นกลุ่มลูกค้าประเภท Business to Business ยังจำเป็นต้องพึ่งพา Online Platform รูปแบบนี้อยู่ 

รูปแบบการตลาดออนไลน์อีกประเภทที่ใหม่เอี่ยมมากคือ Influencer Marketing หรือการทำการตลาดผ่านผู้ทรงอิทธิพลหรืออีกชื่อคือ Influencer โดยส่วนใหญ่มักจะทำการตลาดผ่านแคมเปญ หรือการเลือกให้ Influencer ผลิตคอนเทนต์ และส่งสารผ่านช่องทางของพวกเขา 

สุดท้ายคือ Digital Advertising หรือการทำโฆษณาออนไลน์ เป็นการตลาดที่แบรนด์จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนซื้อพื้นที่บนโลกออนไลน์ที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายในการโปรโมทสินค้า และบริการ โดยการทำการตลาดประเภทนี้มักจะเป็นที่นิยมเพราะสามารถเลือกได้ว่าจะทำการตลาดตั้งแต่ช่วงระยะ Awareness, Consideration หรือ Conversion ก็เลือกแคมเปญโฆษณาได้ตามใจเลย 

ตัวอย่าง Digital Advertising อย่าง Facebook Ads จาก Grab

ข้อดี – ข้อเสียของการทำการตลาดแบบ Online Marketing

ข้อดี – ข้อเสียของการทำการตลาดแบบ Online Marketing

สำหรับแบรนด์ หรือธุรกิจที่กำลังมองหาวิธีการทำการตลาดแบบ Online Marketing แต่ยังไม่รู้ว่าควรทำดีไหม มาดูข้อดี และข้อเสียของ Online Marketing ดีกว่า 

ข้อดีของการทำ Online Marketing คือ 

  1. ค่าใช้จ่ายควบคุมได้จากมือเรา เพราะการทำการตลาดส่วนใหญ่บน Online Platform นั้นแบรนด์สามารถเข้าไปควบคุมเงินได้จากเครื่องมือบริหาร Ads ของแต่ละ Platform เพื่อยิงตามวัตถุประสงค์ไปหาลูกค้าแบบเจาะจง ไม่เสียเงินกับกลุ่มที่ไม่ใช่ 
  2. มี Tech คอยช่วย ไม่ต้องเดาสุ่ม เพราะการทำการแบบ Online Marketing สามารถช่วยคุณวิเคราะห์ข้อมูลก่อน ระหว่าง หรือหลังทำการตลาดได้นาทีต่อนาที สามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาตัดสินใจ และปรับปรุงกลยุทธ์ของธุรกิจได้ทันที
  3. ทำการตลาดได้ทุกที่ ทุกเวลา เพราะการทำการตลาดบน Online platform ไม่ได้จำกัดแค่พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เพราะโลกของอินเตอร์เน็ตนั้นไร้พรมแดนทำให้แบรนด์สามารถยิงโฆษณาไปยังจังหวัดอื่น หรือต่างประเทศก็ยังได้ 

ข้อเสียของการทำ Online Marketing คือ 

  1. การแข่งขันสูง เพราะการทำการตลาดแบบ Online Marketing นั้นสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายให้ไม่สูงได้ ดังนั้นไม่ว่าจะแบรนด์เล็ก หรือใหญ่ก็สามารถเข้ามาทำการตลาดบน Online Platform ได้เช่นเดียวกัน 
  2. มี Learning Curve ที่สูง การตลาดแบบ Online Marketing นั้นเป็นเรื่องใหม่ ที่ต้องการทักษะใหม่ และกลยุทธ์แบบใหม่ในการทำการตลาดดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ทักษะด้าน Digital อย่างครอบคลุม และรอบด้าน
  3. ได้รับ Feedback อย่างเปิดเผย Online platform เป็น Two Way Communication ที่ไม่ใช่แค่แบรนด์สามารถสื่อสาร แต่ลูกค้าเองก็สามารถสื่อสารได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นถ้าเกิดกระแสด้านลบเกี่ยวกับแบรนด์ ลูกค้าก็สามารถให้ feedback ด้านลบได้อย่างเปิดเผยซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์ได้ จำเป็นต้องวางกลยุทธ์ในการแก้ไขสิ่งเหล่านี้

หรือเข้าไปอ่านบทความ ข้อดี – ข้อเสียของการทำ Online / Digital Marketing ได้เพิ่มเติม 

ประเภทของการตลาดแบบ Traditional Marketing

การตลาดแบบดั้งเดิมคืออะไร

สำหรับการตลาดแบบดั้งเดิม หรือ Traditional Marketing จะสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภท:

  1. Billboard 
  2. Printed Media 
  3. Broadcasts
  4. Direct Mail 
  5. Telemarketing 

Billboard หรือที่มักจะคุ้นหน้าคุ้นตากับป้ายขนาดใหญ่ริมถนน หรือบนทางด่วนที่มักจะดึงดูดความสนใจ ของคนที่ผ่านไปผ่านมา โดยแบรนด์มักจะเน้นสื่อสารด้วยข้อความ หรือรูปภาพขนาดใหญ่บนพื้นที่ที่กลุ่มเป้าหมายของพวกเขาอาศัยอยู่ หรือพื้นที่ที่มีผู้คนสัญจรผ่านไปมาเยอะ 

ตัวอย่าง Billboard Advertising ของ Mcdonald จาก Marketing Birds

Printed Media หรือการตลาดที่แบรนด์ต้องพึ่งพาสื่ออย่างหนังสือพิมพ์ หรือนิตยสารในการสื่อสารข้อมูลไปยังกลุ่มเป้าหมาย นอกเหนือจากนี้การทำใบปลิวแจกตามงานอีเวนท์ หรือตามสถานที่ต่างๆ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของ Printed Media

อีกหนึ่งประเภทการตลาดที่ยังพบเห็นได้บ่อยในปัจจุบันคือ การตลาดผ่านการ Broadcast เช่นวิทยุ หรือโทรทัศน์ซึ่งสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย เป็นจำนวนมากในช่วงเวลาเดียวกัน 

Direct Mail หรือการตลาดที่อยู่ในรูปแบบของการส่งจดหมายไปยังที่อยู่ของกลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มลูกค้าของแบรนด์ โดยส่วนใหญ่แล้วยังคงพบเห็นได้บ่อยในปัจจุบันโดยเฉพาะกับธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมด้านการเงินเป็นต้น 

ประเภทของการตลาดแบบ Traditional Marketing ลำดับสุดท้ายคือ Telemarketing หรือการตลาดที่เน้นการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และลูกค้าผ่านเบอร์โทรศัพท์ ไม่ว่าจะเป็นการโทรหา หรือการส่งข้อความแบบ SMS ก็นับเป็นการตลาดประเภทนี้เหมือนกัน 

ข้อดี – ข้อเสียของการทำการตลาดแบบ Traditional Marketing

ข้อดี – ข้อเสียของการทำการตลาดแบบ Traditional Marketing

แล้วแบบนี้แบรนด์ หรือธุรกิจยังต้องเลือกลงทุนในการทำการตลาดแบบดั้งเดิมอยู่ไหม มันจะเหมาะ หรือคุ้มค่ามากน้อยขนาดไหน มาดูข้อดี – ข้อเสียเอาไว้เผื่อตัดสินใจกัน 

ข้อดีของการทำการตลาดแบบ Traditional Marketing 

  1. มองข้ามยาก การตลาดแบบดั้งเดิมนั้นยากที่จะมองข้าม หรือเพิกเฉย โดยเฉพาะการโฆษณาบน Billboard ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่มีผู้คนสัญจรหลากหลาย หรือในเวลาที่รถติดยิ่งมองข้ามยากกว่าเดิม
  2. น่าจดจำ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าระหว่างที่คุณเดินทางไปข้างนอก สายตาของคุณจะต้องเห็นโฆษณาที่อยู่บนตึก หรืออยู่บนบิลบอร์ด หรือแม้แต่บนรถเมล์ที่ขับผ่านตาไปบ่อยครั้ง  
  3. เข้าถึงลูกค้าได้หลากหลาย เพราะ Traditional Marketing นั้นอยู่แทบทุกช่องทางที่ไม่ใช่โลกออนไลน์ ไม่ว่าจะที่บ้าน ที่ทำงาน บนทางเท้า หรือทางด่วนก็มีเต็มไปหมด จึงเหมือนเป็นอีกแต้มต่อสำหรับแบรนด์ที่อยากสร้าง Awareness ให้กับกลุ่มคนที่หลากหลาย 

ข้อเสียของการทำการตลาดแบบ Traditional Marketing 

  1. วัดผลยาก เพราะการทำการตลาดรูปแบบนี้ไม่มีเครื่องมืออย่าง Martech เข้ามาช่วยติดตามข้อมูลว่ามีคนเห็นกี่คน มีคนเข้าเว็บจากโฆษณานี้กี่คน มีคนซื้อจากโฆษณากี่คน เน้นสร้าง Awareness อย่างเดียว
  2. กำหนดขอบเขตยาก คุณไม่สามารถเลือกตั้งค่าโฆษณาได้อย่างใจนึก รวมถึงไม่สามาระระบุกลุ่มเป้าหมายแบบเฉพาะได้ด้วยว่าอยากให้ คนเพศไหน อายุเท่าไหร่ รายได้เท่าไหร่เห็นโฆษณา
  3. ลงทุนเยอะ เพราะการลงทุนทำการตลาดแบบ Traditional Marketing หนึ่งครั้งนั้นต้องลงทุนทีเดียวทั้งก้อน ไม่สามารถแบ่งงบ และทดลอง Test โฆษณาได้อย่างที่ Online Marketing ทำได้ 

สรุป

การตลาดทั้งแบบ Online Marketing และ Traditional Marketing นั้นมีความแตกต่างกันค่อนข้างชัด โดยเฉพาะ ‘พื้นที่’ ในการโปรโมทแบรนด์ หรือสินค้า และบริการของแบรนด์ แต่ไม่ได้หมายความว่าช่องทางไหนจะดีกว่ากัน เพราะสุดท้ายการตลาดทั้งสองแบบก็ยังมีความสำคัญ และยังสามารถช่วยเป็นกระบอกเสียงที่ดีให้กับแบรนด์ได้ ขึ้นอยู่กับว่าแบรนด์นั้นมีวัตถุประสงค์ทางการตลาดแบบไหน เพื่อสื่อสารกับใคร และต้องการบรรลุเป้าหมายอะไร เพราะบางแบรนด์ก็สามารถอยู่ได้จากแค่ช่องทางเดียว แต่บางแบรนด์ก็จำเป็นต้องพึ่งพาทั้งแบบ ‘ดั้งเดิม’ และแบบ ‘ออนไลน์’ นั่นเอง