Content Shifu พูดถึง Inbound Marketing อยู่บ่อยๆ

จากคอนเซปต์แล้วแน่นอนว่าเราอยากได้ช่องทางขาเข้า เราอยากให้คนถูกดึงดูดให้เข้ามาภายในเว็บของเรา

จนเกิดเป็นความสงสัยของหลายๆ คนว่า… ในเมื่อเราอยากให้คนอยู่ในช่องทางของเราเยอะๆ แปลว่าการใส่ลิงก์ออกไปเว็บคนอื่น เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำหรือเปล่า?

แต่ถ้าสังเกตดีๆ พวกเรา Content Shifu ค่อนข้างชอบใส่ลิงก์มาก แม้หลายๆ ลิงก์จะเป็นการลิงก์ในหาบทความก่อนๆ ของเราเองเพื่อช่วยฟื้นคืน traffic ให้บทความเก่า แต่หลายๆ ลิงก์ก็เป็น External Link หรือ Outbound Link ที่พาออกสู่เว็บไซต์ภายนอก แถมบางบทความของพวกเรายังลิงก์ไปเว็บข้างนอกมากกว่าสิบๆ ลิงก์เลย เช่น บทความทำไมเราถึงไม่ควรพึ่งแต่โซเชียลมีเดีย เป็นต้น

“ว่าแต่ การลิงก์ไปหาเว็บข้างนอกนั้นมีประโยชน์อย่างไร?” ผู้เขียนเองก็เคยคาใจกับเรื่องนี้ ได้เคยลองรีเสิร์ชเพิ่มเติม ก็หาคนที่เขียนหัวข้อนี้ได้น้อยจริงๆ จนกระทั่งได้เจอกับบทความนี้ของ moz ที่อธิบายในหัวข้อแบบเดียวกัน ซึ่งผู้เขียนจะขอนำมาใช้อ้างอิง และรีไรท์ในภาษาของตัวเองค่ะ

5 เหตุผล ทำไมคุณถึงควรทำ Outbound Link ออกไปยังเว็บอื่นๆ

1. Outbound Links เป็นส่วนประกอบหนึ่งที่ส่งผลต่อ Ranking ของเว็บไซต์ของคุณด้วย

บทความ Off-page SEO ได้แนะนำไปแล้วว่า การทำ Link Building เพื่อนำพา Inbound Links มาสู่เว็บของคุณนั้น ส่งผลดีต่ออันดับบน Search Engine ของคุณ และจริงๆ แล้ว Outbound Links เองก็เช่นเดียวกัน มันสามารถช่วยส่งผลต่ออันดับเว็บไซต์ของคุณเช่นกัน

Shifu แนะนำ
มีอะไรเป็นส่วนประกอบที่ Google ใช้คำนวณ Ranking ของเว็บไซต์คุณบ้าง? backlinko.com ได้รวบรวม Google Ranking Factors ซึ่งถ้าเลื่อนมาดูข้อที่ 31 จะพบว่าคุณภาพของ Outbound Links นั้นก็เป็นปัจจัยหนึ่งต่อ SEO

หากเว็บของคุณลิงก์ออกไปยังเว็บไซต์ที่ Google เห็นว่าเป็นเว็บที่มีความน่าเชื่อถือ Google ก็จะมองว่าเว็บของคุณก็น่าจะเป็นเว็บที่มีความน่าเชื่อถือเช่นกัน ซึ่งมาจากโลจิกที่ว่า “เว็บไซต์ที่มีคุณภาพ จะเขียนแนะนำเว็บไซต์ที่มีคุณภาพด้วยกัน”

ในทางกลับกัน หากชอบลิงก์ไปหาเว็บไซต์ที่เป็น Spam หรือเป็น Junk เว็บของคุณก็จะถูกมองว่าเป็นเว็บไซต์แบบเดียวกัน

สำหรับคนที่อยากเห็นผลการทดลองจริง rebootonline.com ได้เคยทดสอบเกี่ยวกับสมมติฐานนี้ และเล่าผลลัพธ์เอาไว้ ซึ่งเขาก็เล่าว่า เขายังระบุชัดๆ ไม่ได้ว่าปัจจัยนี้สำคัญมากน้อยขนาดไหน แต่ที่แน่ๆ คือพบว่ามันส่งผลเชิงบวกต่อเว็บไซต์จริง

2. เพิ่มประสิทธิภาพในการย่อยเนื้อหา

บางครั้งในบทความหนึ่งบทความ เราไม่จำเป็นต้องใส่ข้อมูลทุกอย่าง เพราะมันอาจจะหนักเกินไปสำหรับผู้อ่าน หรือรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ต่างๆ ถ้าเข้ามาแทรกกลางครัน อาจทำให้จับประเด็นของบทความยากก็เป็นได้

ดังนั้นในหนึ่งบทความเราไม่จำเป็นต้องพยายามเขียนเองทุกเรื่อง หากมีแหล่งภายนอกที่นำเสนอได้ดีอยู่แล้ว ก็สามารถใส่ลิงก์แนะนำเอาไว้ ถ้าคนอ่านสนใจศึกษาต่อก็ไปดูต่อ หรือถ้าไม่สนใจก็สามารถอ่านบทความของเราต่อได้โดยไม่ติดขัดอะไร

3. ส่งมอบคุณค่าได้มากยิ่งขึ้น

ต่อเนื่องจากข้อที่แล้ว นอกจากจะเป็นการจงใจลิงก์ออกเพื่อลดความหนักของบทความตนเองแล้ว ยังเป็นการจงใจลิงก์ออกเพื่อแนะนำแหล่งข้อมูลดีๆ ที่คนอ่านสามารถศึกษาต่อได้ แน่นอนว่าพวกเราไม่ได้รู้ไปเสียทุกเรื่อง และพวกเราเองก็ต้องคอยศึกษาเว็บไซต์ต่างๆ เพิ่มเติม ถ้าอย่างนั้นทำไมเราจะไม่อยากให้คนอ่านของเราได้ศึกษาต่อบ้างล่ะ

ในบทความ 7 บทเรียนที่พวกเราได้ จากการทำ Content Shifu มาหนึ่งเดือน นั้น มีคอมเมนต์ที่น่าสนใจหลายคอมเมนต์ทีเดียว แต่หนึ่งในนั้นที่เรายังจำได้ไม่ลืม คือคอมเมนต์ของคุณ Jiew (ขออนุญาตมา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ) ที่บอกกับพวกเราว่า เขาใช้เวลากับการอ่านการศึกษา เมื่อมีลิงก์อะไรมาก็จะตามกดไปดูต่อ

สรุปว่าการลิงก์ออก เป็นการส่งมอบคุณค่าได้มากยิ่งขึ้น

4. ปลายทางสามารถติดตามได้ว่าใครส่งลิงก์มา

เวลาที่เว็บของเราได้รับยอด Referral จากเว็บไหนเข้ามาเป็นพิเศษ เราก็จะพบเห็นชื่อของเว็บไซต์นั้น เวลาที่เราดู Analytics ของเรา เช่นเดียวกัน ถ้าเกิดเว็บของเราสามารถ Refer ไปสู่เว็บไหนได้มาก เว็บเหล่านั้นก็จะสังเกตเห็นเราได้

Shifu แนะนำ
สำหรับวิธีการดูว่าใครส่งลิงก์มาหาเราบ้าง คุณสามารถเข้าไปที่ Google Analytics เลือกแท็บ Acquisition แล้วเลือก Referrals ก็จะพบหน้าจออย่างในภาพ ซึ่งสามารถดูได้ว่าใครพาคนมาเข้าเว็บของเราบ้าง

ทีนี้พวกเรา Content Shifu ก็สามารถดูได้แล้วว่าใครพูดถึงเว็บเราบ้าง เรามี Traffic มากจากโซเชียลอย่าง Facebook จาก Email Marketing อย่าง Sendinblue ที่เราเคยใช้ (ปัจจุบันเราเปลี่ยนซอฟต์แวร์แล้ว) ถ้าไม่นับ Techsauce.co ซึ่งเป็นเว็บที่อรเคยเขียน กับบล็อกของอร  ยังต้องยอมรับว่าจริงๆ ยังมีคนที่เคยลิงก์มาหาเราเพียงไม่กี่รายเท่านั้นเอง เช่น

ถามว่าการส่งลิงก์ออกหาคนอื่นแล้วเขาเจอเรา มันมีประโยชน์อย่างไร? กรณีของคุณ Rand Fishkin จาก moz ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการเครื่องมือด้าน SEO เขาเล่าในบทความของเขาว่า เขามีการลิงก์ไปหาเว็บไซต์อื่นๆ ซึ่งเป็นเว็บที่น่าจะสนใจใช้โปรดักส์ SEO สำหรับธุรกิจของพวกเขา บางทีทีมงานของเว็บเหล่านั้น อาจจะพบ Traffic จาก moz และเข้ามาดูว่า moz คืออะไร ซึ่งไม่แน่ว่าเขาอาจจะสนใจใช้บริการของ moz ก็เป็นได้

5. กระตุ้นความสัมพันธ์เชิงบวก (ยิ่งให้ ยิ่งได้รับ)

ถ้าสังเกตหัวข้อที่แล้ว จะเห็นว่าเราเล่าถึงเว็บที่ลิงก์มาหาพวกเรา และใส่ลิงก์เพื่อพาคนอ่านกลับไปหาเว็บของพวกเขาด้วย : )

ถ้าคนเห็นว่า Content Shifu เป็นเว็บที่แนะนำลิงก์ดีๆ สม่ำเสมอ วันนึงอาจจะมีคนนึกถึงสิ่งที่เราทำ และลิงก์เข้ามาหา Content Shifu บ้างก็เป็นได้

ว่ากันว่า ยิ่งคุณเป็นผู้ให้เท่าไร คุณยิ่งจะได้รับ จริงๆ มันใช้ได้กับโลกออนไลน์หรือเปล่า? เรื่องนี้ไม่ชัดเจนนัก สำหรับ Content Shifu ดูจากหัวข้อที่แล้วก็จะเห็นได้ว่า สำหรับบล็อกที่ทำมาครึ่งปีแล้ว เรายังไม่ประสบความสำเร็จกับเรื่อง Referral Traffic เท่าไร

แต่กับเรื่องความสัมพันธ์เชิงบวก อย่างน้อยๆ ก็มีเรื่องที่สามารถหยิบนำมาเล่าได้ อย่างเคสของบทความ วิธีเขียนบทความแบบไล่คนอ่านไปไกลๆ นี้ อย่างน้อยๆ เราก็พบว่า มีบางท่านอย่างเช่น พี่โจ้ จาก Webbastard ก็ได้ช่วยแชร์บทความนี้ของพวกเราต่อ ทันทีที่เราเล่าถึงเขา

ถือเป็นการผูกไมตรีดีๆ ผ่านตัวหนังสือบนโลกออนไลน์ ก็ว่าได้

Outbound Link มีข้อเสียไหม?

พูดถึงข้อดีไปแล้ว ก็เลยอยากขอพูดถึงข้อเสียบ้างซักหน่อย จริงๆ ก็ต้องบอกว่ามันก็อาจส่งผลต่อความเสี่ยงว่าผู้อ่านอาจจะถูกพาออกไป แล้วไม่กลับเข้ามาที่คอนเทนต์คุณ จะว่าไปก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ค่ะ

วิธีเบื้องต้นที่อาจจะพอช่วยป้องกันได้บ้างนิดหน่อย นั่นก็คือการลิงก์ออกไปโดยเลือกออปชันเป็น “Open link in a new tab” ค่ะ แปลว่าเมื่อผู้อ่านคลิกที่ลิงก์ มันจะเปิดขึ้นแท็บใหม่ทุกครั้ง ไม่โหลดทับของเดิม

ข้อเสียอีกข้อคือ การจะทำเช่นนี้มันก็มีความยุ่งยากอยู่บ้าง เหมือนมีขั้นตอนเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งขั้นตอนให้เราต้อง Setting เพราะปกติจะไม่ใช่ค่าโดย Default แม้กระทั่งใน WordPress หรือถ้าคุณเขียนโค้ด HTML มันก็จะต้องเขียนประโยค target=”_blank” เพิ่มเข้ามาในแท็ก <a>

สรุปคือมีความเสี่ยงเพิ่มบ้าง และมีความยุ่งยากเพิ่มขึ้นนิดหน่อยค่ะ ข้อเสียที่เรานึกออกมีเพียงเท่านี้ หากท่านใดมีข้อมูลเพิ่มเติมมาพูดคุยกันได้นะคะ

New call-to-action hbspt.cta.load(3944609, ‘4d1e2a6b-6fa0-4421-beaf-813d82ed9541', {});

สรุป

เราพบว่าปัจจุบันส่วนใหญ่คนจะอ้างอิงถึงเว็บไซต์อื่น ต่อเมื่อมีการนำคอนเทนต์ของเว็บไซต์นั้นมาเป็น Source ของคอนเทนต์เว็บตัวเองเท่านั้น ซึ่งถือเป็นมารยาทพื้นฐานที่ดี แต่ว่านอกจากการอ้างอิงถึงที่มาแล้ว การใส่ลิงก์ที่มีความเกี่ยวข้องกับคอนเทนต์ของตน และเป็นลิงก์ที่มีคุณภาพ ก็ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก สำหรับ Ranking ของเว็บไซต์

…และสำหรับผู้อ่านของคุณด้วย แสดงให้พวกเขาเห็นว่าคุณมีการทำการบ้านมาก่อน และพยายามคัดสรรสิ่งดีๆ ให้กับพวกเขา ทำให้พวกเขาเพลิดเพลิน (เหมือนคุณ Jiew ของพวกเรา) กับคอนเทนต์พิเศษที่คุณ Add on ให้

“Sharing is Caring” ยิ่งคุณแชร์ คนยิ่งเห็นว่าคุณแคร์
ถ้าหากจำห้าเหตุผลด้านบนไม่ได้ อย่างน้อยที่สุด ยึดประโยคนี้ไว้ประโยคเดียวก็ได้ค่ะ (เป็นประโยคที่อรชอบมาก)

ตาคุณแล้ว

ลองสังเกตตัวเองว่าเวลาที่คุณเขียน คุณมีการอ้างอิงถึงเว็บไซต์อื่นๆ นอกจาก Source ที่คุณใช้อ้างอิงข้อมูลของคุณแล้วหรือไม่ ถ้านึกไม่ออกว่าจะลิงก์ออกไปหาใครดี ก็นึกถึง Content Shifu ได้เสมอนะคะ : D (ฮ่า)

บทความนี้อาจจะดูโลกสวยมากมาย แต่เราว่ามันก็มีน้ำหนักจริงๆ นะ คิดเห็นอย่างไรกับห้าเหตุผลนี้บ้าง? มาคุยกันได้เลยค่ะ