หลายครั้งที่เราดูซีรีส์เกาหลีแล้วมีความรู้สึกอยากกดสั่งอาหารเกาหลีอย่างรามยอน หรือไก่กับเบียร์ที่เป็นเมนูสุดฮิตของตัวเอกในซีรีส์ หรือแม้แต่กดเอฟเครื่องสำอางแบรนด์เกาหลีที่นางเอกใช้ในซีรีส์ทั้งๆ ที่ไม่ได้โดนขายทางตรงด้วยซ้ำ นั่นเพราะว่าในซีรีส์เรื่องนั้นใช้กลยุทธ์ PPL หรือที่เราเคยได้ยินกันว่า Tie-in นั่นเอง ทำให้เมื่อเราเห็นซีนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในซีรีส์พร้อมกับเนียนขายสินค้าแบบเบาๆ เกิดอารมณ์ร่วมไปกับตัวละครรวมถึงให้ความสนใจในสินค้านั้นมากขึ้น ต่างจากการเห็นโฆษณาขายสินค้าทางตรงที่ไร้อารมณ์อยากซื้อสินค้ามาใช้ตาม
แล้ว PPL ย่อมาจากอะไร? มีประโยชน์กับแบรนด์และพ่อค้า แม่ค้าออนไลน์อย่างไร? และสามารถนำมาปรับใช้ในการขายของออนไลน์เพื่อเพิ่มยอดขายได้อย่างไร? มาหาคำตอบพร้อมๆ กันได้ในบทความนี้เลย!
ยาวไปอยากเลือกอ่าน
PPL ย่อมาจากอะไร
PPL ย่อมาจาก Product Placement ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งในการโฆษณาสินค้าหรือบริการ แต่จะต่างจากโฆษณาทั่วไปตรงที่ Product Placement คือการโฆษณาแบบแฝง หรือการโฆษณาทางอ้อมที่มักอยู่ใน Music Video คอนเสิร์ต ภาพยนตร์ ละคร วาไรตี้ ซีรีส์ หรือแม้กระทั่งคอนเทนต์ต่างๆ ตามโซเชียลมีเดียอย่าง TikTok, YouTube และ Instagram Reels โดยการโฆษณาสินค้าทางอ้อมจะต้องเนียนที่สุดเพื่อไม่ให้เสียอรรถรสในการรับชมของผู้ชมนั่นเอง
PPL มีกี่ประเภท
Brand Placement
คือการวางสินค้าในฉากเพื่อให้ผู้ชมเห็นเพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์ โดยไม่ต้องมีบทพูดที่อ้างถึงประโยชน์ของสินค้านั้นๆ เช่น การวางสินค้าไว้บนโต๊ะอาหาร ห้างสรรพสินค้า หรือร้านสะดวกซื้อ
Brand Integration
คือการนำสินค้านั้นมาเป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์ ละคร หนัง หรือรายการ โดยมีการทำให้สินค้านั้นมีบทบาทในเนื้อเรื่อง นักแสดงมีการหยิบ จับ ใช้สินค้านั้น หรือบอกเล่าถึงประโยชน์ของสินค้าดังกล่าวแบบแนบเนียนไปกับเนื้อหา
Branded Entertainment
คือการชูให้สินค้านั้นโดดเด่นในเนื้อหา ไม่ว่าจะเป็นการพูดชื่อสินค้า และบอกเล่าถึงประโยชน์ของสินค้าโดยตรง ซึ่งจำเป็นต้องเหมาะสมกับเนื้อหาในซีรีส์ ละคร หรือรายการ เช่นในรายการอาหาร อาจมีการโฆษณาถึงผลิตภัณฑ์ที่ใช้เพื่อปรุงรสอาหาร หรือวัตถุดิบต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องไปกับเนื้อหารวมถึงไม่ขัดต่อความบันเทิงของผู้ชม
PPL มีประโยชน์อย่างไร
เพิ่มการรับรู้แบรนด์
การโฆษณาแฝง (PPL) ช่วยสร้างการรับรู้แบรนด์ต่อกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและยังสามารถเพิ่มโอกาสในกลุ่มลูกค้าใหม่เมื่อพวกเขาพบสินค้าและบริการจากในละคร รายการ ซีรีส์ วิดีโอเกม หรือโพสต์บนโซเชียลมีเดียที่มีเนื้อหาไปในทางเดียวกับสิ่งที่พวกเขาสนใจทำให้รู้จักแบรนด์มากยิ่งขึ้น
ระยะเวลาการสื่อสารไม่จำกัด
เนื่องจากการโฆษณาแฝง (PPL) มักจะอยู่ในละคร หนัง ซีรีส์ รายการที่สามาถดูได้หลากหลายช่องทางไม่ว่าจะเป็นการดูสด หรือการดูย้อนหลังซึ่งไม่จำกัดจำนวนครั้งและระยะเวลาในการดูทำให้กลุ่มเป้าหมายทั้งเก่าและใหม่สามารถเห็นสินค้าได้อย่างไม่จำกัด อีกทั้งระยะเวลาในการสื่อสารเพื่อโฆษณาสินค้าในช่องทางนั้นๆ ยังไม่จำกัดอีกด้วย ต่างจากการโฆษณาผ่านการซื้อโฆษณาในช่องทางโซเชียลมีเดียที่จำกัดระยะเวลาการโฆษณา
เสียค่าธรรมเนียมเพียงครั้งเดียว
นอกจากการโฆษณาแฝง (PPL) จะมีะยะเวลาที่ไม่จำกัดแล้ว ยังเสียค่าธรรมเนียมเพียงรอบเดียวเท่านั้นเพื่อให้สินค้าได้เข้าไปอยู่ในเนื้อหาของช่องทางที่แบรนด์เลือกไว้ ต่างจากการซื้อโฆษณาในสื่อโซเชียลมีเดียที่ต้องซื้อหลายครั้งเนื่องจากมีระยะเวลาที่จำกัด แต่ค่าธรรมเนียมของโฆษณาแฝง (PPL) มักจะมีราคาที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากในรายการ ละคร ซีรีส์ต่างๆ มักจะมีผู้ชมจำนวนมากที่ให้ความสนใจ อีกทั้งยังไม่จำกัดจำนวนครั้งที่ชม
กลุ่มเป้าหมายซึมซับแบรนด์ได้อย่างกลมกลืน ไม่ขัดจังหวะการดู
หลักของการโฆษณาแฝง (PPL) คือการสอดแทรกสินค้าหรือบริการเข้าไปในเนื้อหาอย่างแนบเนียนเพื่อให้ผู้ชมคล้อยตามกับเนื้อเรื่อง เพราะฉะนั้นจึงไม่ขัดต่ออรรถรสของผู้ชม อีกทั้งกลุ่มเป้าหมายยังค่อยๆ ซึมซับแบรนด์อย่างกลมกลืนอีกด้วย ซึ่งต่างจากการโฆษณาทางตรงที่อยู่ๆ แทรกขึ้นมาระหว่างผู้ชมกำลังดูละครทีวี หรือวิดีโอบน YouTube ทำให้ผู้ชมรู้สึกไม่พอใจและกดข้ามโฆษณาเพื่อที่จะรีบกลับมาดูวิดีโอที่กำลังดูค้างไว้
โอกาสที่ลูกค้าให้ความสนใจสินค้ามีสูงกว่าโฆษณาทั่วไป
อย่างที่ทราบกันว่าการโฆษณาแฝง (PPL) ไม่ได้ขัดต่ออรรถรสของผู้ชมทำให้สามารถเนียนขายได้อย่างแนบเนียน อีกทั้งการที่สินค้าอยู่ในซีนที่มีเนื้อหาเชื่อมโยงกันกับในซีรีย์และวัฒนธรรมของเกาหลี เช่นตัวเอกรับประทานปิ้งย่างเกาหลีในมื้อเย็น โดยมีการโฆษณาโซจูแฝง ทำให้ผู้ชมหันมาสนใจโซจูแบรนด์นั้นเนื่องจากเห็นผ่านตาบ่อยครั้งในซีรีย์และค่อยๆ ซึมซับ เพิ่มโอกาสในการขายมากกว่าการโฆษณาทั่วไป
สื่อสารได้ตรงกลุ่มเป้าหมายชัดเจน
แบรนด์อาจมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน และศึกษาพฤติกรรมของพวกเขามาบ้างแล้ว เพราะฉะนั้นการที่นำสินค้ามาโฆษณาอย่างแนบเนียนในช่องทางต่างๆ ที่กลุ่มเป้าหมายชอบ เช่น YouTube, Instagram หรือในซีรีส์ที่มีพระ-นางชื่อดังที่กลุ่มเป้าหมายชื่นชอบทำให้แบรนด์สามารถสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายได้อย่างชัดเจนและตรงจุด ต่างจากการโฆษณาทั่วไปที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ยากกว่าเนื่องขัดจังหวะการรับชมเนื้อหาของผู้ชมซึ่งรวมไปถึงกลุ่มเป้าหมายเองด้วย
กรณีศึกษาสินค้าและแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จจาก PPL ในซีรีส์
เมื่อพูดถึงโฆษณาแฝง(PPL) แน่นอนว่าโฆษณาแฝง(PPL) ในซีรีส์เกาหลีนั้นมักเตะตาใครหลายๆ คนจนกระทั่งกลายเป็นลูกค้าของแบรนด์เหล่านั้นกันมาบ้างแล้ว ด้วยความที่โฆษณาได้อย่างแนบเนียนจนหลายคนเห็นแล้วอยากลองไปตามๆ กันทำให้หลายแบรนด์ประสบความสำเร็จจากโฆษณาแฝงในซีรีส์เกาหลี เช่น
Subway
เรียกได้ว่าถ้าพูดถึง PPL ในซีรีส์เกาหลี ทุกคนคงนึกถึง Subway ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดสัญชาติอเมริกัน ที่มีสาขากว่า 45,000 แห่ง ใน 112 ประเทศทั่วโลก ถ้าใครเป็นแฟนๆ ของซีรีส์เกาหลีมักจะเห็นร้าน Subway ในซีรีส์เกาหลีบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาแฝงแบบ Brand Placement ฉายภาพร้านแบบผ่านๆ เพื่อให้ผู้ชมเห็น หรือแม้กระทั่งการโฆษณาแฝงแบบ Branded Entertainment อย่างการที่ตัวเอกนั่งทานอาหารในมื้อเร่งรีบ แล้วบอกเล่าถึงความเอร็ดอร่อยหลังได้ทาน ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์เรื่อง Goblin, The K2, Descendants of the Sun, Record of Youth และอีกมากมายทำให้ Subway ได้กลายเป็นร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดที่ขยายสาขามากที่สุดในโลกเนื่องจากสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ อายุ 15-25 ปีซึ่งมักจะดูซีรีส์เกาหลีเพื่อความบันเทิง
Chimaek- chicken and beer
คำว่า Chimaek ที่เราได้ยินกันในซีรีส์เกาหลีมาจากคำว่า chicken ที่คนเกาหลีออกเสียงว่า “chikin” และ beer ที่คนเกาหลีออกเสียงว่า “maekju”รวมกัน โดยมักจะได้ยินกันในหมู่คนหนุ่มสาวในเกาหลี เป็นคำศัพท์ย่อที่เอาไว้เรียกไก่กับเบียร์ โดยเป็นอาหารที่เห็นกันได้บ่อยครั้งในซีรีส์ เนื่องจากเป็นมื้ออาหารที่คนเกาหลีนิยมกัน ไม่ว่าจะเป็นตอนเลี้ยงฉลอง หรือเชียร์บอล จากในซีรีส์เรื่อง My Love From the Star, Weightlifting Fairy Kim BokJoo, Crash Landing on You, The King: Eternal Monarch ทำเอาแฟนๆ หิวไปตามๆ กันเลยทีเดียว
Swarovski
เครื่องประดับที่ตัวละครเอกหญิงในซีรีส์เกาหลียอดนิยมมักจะได้รับความสนใจจากผู้ชมมาก จนแฟนๆ หลายคนต้องกดเอฟตาม อย่างเครื่องประดับจากแบรนด์ Swarovski ที่ตัวเอกจากซีรีส์เกาหลีเรื่อง Crash Landing on You, Start-Up,True Beauty และซีรีส์อื่นๆ สวมใส่ก็ได้กลายเป็นที่นิยมมากมายในกลุ่มของแฟนๆ บางคนไปหาซื้อตามถึงที่ ทำให้แบรนด์ได้รับความนิยมมากขึ้นในกลุ่มลูกค้าเก่าและใหม่
Laneige
Laneige หนึ่งในแบรนด์เครื่องสำอางสุดฮิตที่โด่งดังจากกลยุทธ์ PPL ในซีรีส์เกาหลีจนยอดขายถล่มทลาย นับเป็นแบรนด์เครื่องสำอางที่แฟนๆ ต่างก็พากันไปซื้อตามนางเอกซีรีส์จนฮิตติดกระแสอยู่ช่วงหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเช่น คุชชั่น และลิปสติกทูโทนที่นางเอกซีรีส์ Descendants of the Sun และ Weightlifting Fairy Kim BokJoo
ปรับใช้กลยุทธ์ PPL อย่างไรให้แบบเนียน
กลุ่มเป้าหมายชัดเจน
สำหรับแบรนด์ การมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนเป็นเรื่องที่สำคัญตั้งแต่การเริ่มคิดไอเดียในการสร้างแบรนด์รวมถึงการประชาสัมพันธ์ โฆษณาแบรนด์ให้คนรู้จักอีกด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งแรกที่จะช่วยให้สามารถโฆษณาแฝงได้อย่างแนบเนียนคือการรู้จักกลุ่มเป้าหมาย ช่วงอายุ พฤติกรรม รวมถึงช่องทางที่จะเข้าถึงกลุ่มคนเหล่านั้น เพื่อนำสินค้าเข้าไปอยู่ในคอนเทนต์ที่กลุ่มเป้าหมายสนใจ เช่น โฆษณาเครื่องสำอางในช่อง YouTube แนว Beauty หรือการโฆษณาสินค้าที่ใช้ประกอบการทำอาหารในรายการอาหาร เป็นต้น
คอนเทนต์ต้องแนบเนียน
หัวใจสำคัญของการโฆษณาแฝงในซีรีส์เกาหลีคือการทำอย่างแนบเนียนโดยแทรกสินค้าไปกับเนื้อเรื่องและสถานการณ์ในซีรีส์ดูแล้วไหลลื่นไปตามบททำให้รู้สึกอิน เพราะฉะนั้นในการขายสินค้าในคลิปวิดีโอต่างๆ จำเป็นต้องเลือกสถานการณ์ที่ทำให้ขายสินค้าได้อย่างเนียนที่สุด ไม่โป๊ะ เช่น YouTube ช่องทำอาหารมีกลุ่มผู้ติดตามเป็นคนที่ชอบทำอาหาร หรือกำลังฝึกทำอาหารอยู่ อาจจะใช้กลยุทธ์ PPL ในการโฆษณาวัตถุดิบแบบเนียนๆ ในขณะที่กำลังสร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ
ช่องทางที่ใช่
แน่นอนว่าช่องทางของการโฆษณาแฝงไม่ได้มีเพียงแค่ในซีรีส์เกาหลีอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะฉะนั้นการเลือกแพลตฟอร์มรวมถึงช่องทางที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญสำหรับแบรนด์ และพ่อค้า แม่ค้า เพราะการเลือกช่องทางที่ใช่ทำให้มีชัยไปมากกว่าครึ่ง เช่น
- TikTok และ Instagram Reels เหมาะกับคอนเทนต์วิดีโอสั้น ๆ ไม่เกิน 3 นาที
- YouTube เหมาะกับวิดีโอยาว
- Facebook เหมาะกับวิดีโอทั้งสั้นและยาว ข้อความสั้นๆ พร้อมรูปภาพประกอบ
- Twitter เหมาะกับข้อความสั้นๆ พร้อมรูปภาพประกอบ
- Blog เหมาะกับบทความยาว
สรุป
กลยุทธ์ PPL หรือการทำโฆษณาแฝงนั้นไม่จำเป็นว่าต้องเป็นแบรนด์ยักษ์ใหญ่เท่านั้นถึงจะสามารถทำได้ แต่สำหรับคนที่มีแบรนด์แล้วรู้แน่ชัดว่ากลุ่มเป้าหมายของแบรนด์คือใคร สามารถเลือกใช้ช่องทางในการทำ PPL ได้อย่างเหมาะสมเพื่อช่วยให้แบรนด์สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้หลากหลายและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ตาคุณแล้ว
เพื่อนๆ ที่อ่านบทความจบแล้วมีเทคนิคอื่นที่น่าสนใจสำหรับการนำกลยุทธ์ PPL ไปปรับใช้กับแบรนด์ของตัวเอง อย่าลืมมาแชร์กันนะคะ