ปฏิเสธไม่ได้ว่าการขายเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการทำให้ธุรกิจเติบโต

ไม่ว่าคุณจะสามารถทำแบรนดิ้งหรือทำการตลาดออกมาได้ดีแค่ไหน ถ้าทีมขายของคุณทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ หรือไม่สามารถปิดการขายได้ ธุรกิจของคุณก็จะขาดสิ่งที่สำคัญที่สุด ซึ่งก็คือ “รายได้”

ในบทความนี้ผมจะไม่ได้มาสอนคุณขาย (เพราะผมคิดว่าคุณน่าจะขายเก่งกว่าผมเยอะ) แต่ผมจะมาเขียนถึงการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีมาช่วยจัดการชีวิตหรือแก้ไขปัญหา เพื่อช่วยให้คุณขายหรือบริหารจัดการทีมขายได้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยที่ทุกสิ่งที่แชร์นั้นผมอ้างอิงจากการทดลองส่วนตัวและประสบการณ์ที่ทำมาจริงๆ

ถ้าคุณอยากที่จะยกระดับการขายของคุณหรือทีมขายของคุณขึ้นไปอีกขั้น ผมคิดว่าบทความนี้ช่วยได้ครับ

ถ้าพร้อมแล้ว มาเป็นเรียนรู้เทคนิคการขายที่ช่วยให้ขายได้ขายดีกันนะครับ

ป.ล. ผมไม่ใช่นักขายมืออาชีพและงานหลักจริง ๆ ของผมก็ไม่ใช่การขาย เพราะฉะนั้นถ้ามีนักขายมือโปรผ่านมาและอยากแนะนำผมและผู้อ่านคนอื่น ๆ เพิ่มเติม ผมจะยินดีมากๆ ครับ 🙂

8 เทคนิคการขาย ช่วยให้คุณขายได้ขายดีกว่าเดิม

เทคนิคการขายที่ 1: สร้างความประทับใจแรกให้ดี

“The first impression is the last impression” – คุณมีโอกาสเพียงแค่ครั้งเดียวสำหรับความประทับใจแรก …เพราะฉะนั้นต้องทำมันให้ดี

สำหรับโลกออฟไลน์ การสร้างความประทับใจนั้นทำได้โดยการแต่งตัวให้เหมาะสม ส่วนโลกออนไลน์นั้น ผมคิดว่ามันเริ่มจาก “Email”

ผมคิดว่าเครื่องมือพื้นฐานที่เป็นความประทับใจแรกของนักขายทุกคนอย่าง Email ที่ว่านี้ ไม่ควรจะลงท้ายด้วย @gmail.com @hotmail.com หรือ @icloud.com เพราะมันดูไม่เป็นมืออาชีพสักเท่าไหร่

คุณควรที่จะใช้ Business Email ที่ลงท้ายด้วย @yourcompanyname.com มากกว่า (เช่น ถ้าของ Content Shifu ก็จะลงท้ายด้วย @contentshifu.com)

ถ้าเป็นบริษัทใหญ่ ๆ เขาจะมีระบบ Business Email ให้คุณใช้อยู่แล้ว แต่ถ้าคุณต้องหาระบบ Business Email ให้กับทีม ตัวที่ผมแนะนำที่สุดคือ Google Workspace (ของ Google) โดยราคาเริ่มที่ $6 ต่อคนต่อเดือน  ถ้าคุณอยากลองดูทางเลือกอื่นเพิ่มเติม ลองไปดู Office 365 Business (ของ Microsoft) ซึ่งราคาเริ่มต้นที่ $3 ต่อคนต่อเดือน เช่นเดียวกัน หรือถ้าอยากเริ่มต้นใช้งานฟรี (สำหรับบริษัทที่มีไม่เกิน 5 อีเมล) ลองไปดูของ Zoho Mail ได้ครับ

นอกเหนือจาก Business Email แล้ว บริการเหล่านี้ยังครอบคลุมไปถึงเครื่องมืออื่นที่ช่วยให้คุณคาดเดาชีวิตของคุณได้ง่ายขึ้นอีก อย่างเช่น Calendar (ใช้เพื่อยิงนัดหรือดูนัดต่างๆ) ระบบ Chat ระบบ Video Call รวมไปถึงการจัดการข้อมูลและเอกสารออนไลน์ (ถ้าเป็นของ Google ก็จะเป็น Google Drive และ Doc/Sheet/Note ถ้าของ Microsoft ก็จะ One Drive และ Word/Excel/Powerpoint)

ใครมืออาชีพกว่าก็จะสร้างความประทับใจได้มากกว่า และใครที่สร้างความประทับใจได้มากกว่า ก็จะมีแต้มต่อในการขายมากกว่า

การใช้ Business Email เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นและเป็นพื้นฐานนะครับ นอกจากอีเมลแล้ว ยังมีอีกหลายเรื่องที่ช่วยทำให้คุณดูมืออาชีพขึ้น เช่น การใส่รูปภาพหรือการใส่ลายเซ็นรายละเอียดข้อมูลและการติดต่อของคุณลงไปด้วย

อย่างรูปทางด้านบนนี้เป็นตัวอย่างลายเซ็นของผมซึ่งคุณสามารถเอา Template แบบนี้ไปใช้ได้ครับ

เทคนิคการขายที่ 2: เตรียมของจำเป็นสำหรับการขายให้พร้อม

เคยไหมครับที่คุณมีนัดพรีเซนต์งานสำคัญและคุณพกความมั่นใจไปอย่างเต็มเปี่ยม แต่พอคุณไปถึงเวลานัดจริง ๆ คุณกลับลืมของที่ควรเอาไปด้วยตอนพรีเซนต์งาน?

เมื่อก่อน ตอนจะไปพรีเซนต์งาน ผมจะลืมนู่นนี่นั่นหลายครั้งมาก ไม่ว่าจะเป็นนามบัตร Clicker หรือตัวต่อเข้ากับจอ Projector หรือ TV

จริง ๆ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรลืมเอาไป ซึ่งถ้าคุณเป็นเหมือนกันกับผม ลืมนู่นนี่นั่นอยู่บ่อย ๆ ผมมีคำแนะนำง่าย ๆ มาให้ครับ

วิธีการแก้ไขการลืมที่ดีที่สุดคือการที่คุณไม่ต้องจำ

สิ่งที่ผมทำนั้นไม่ได้มีอะไรยากเลยแต่ช่วยแก้ไขปัญหาให้ผมไปได้มาก อย่างตัวนามบัตรผมก็จะใส่ 2-3 ใบไว้ในกระเป๋าสตางค์พกติดตัวตลอด ส่วน Clicker ก็ใส่ไว้ในกระเป๋าถือไม่หยิบออกไปไหน และตัวต่อเข้ากับจอ Projector หรือ TV ผมก็ใช้วิธีการซื้อเพิ่ม (ผมจะมีไว้อยู่ที่บ้านอันนึงและพกไว้อีกอันนึง) จ่ายเพิ่มแค่ไม่เท่าไหร่แต่ป้องกันการลืมได้ ผมคิดว่าหลักการมันก็คล้าย ๆ กับการซื้อประกันครับ

Shifu แนะนำ
จุดสำคัญตรงนี้อีกอย่างคือกระเป๋าด้วยครับ ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ผมแนะนำให้ใช้กระเป๋าแค่ใบเดียวครับ อย่ามีใบเล็กใบน้อยใบสำรอง เพราะคุณอาจลืมของจำเป็นไว้ในใบหลักในวันที่คุณใช้ใบสำรองก็เป็นได้

เทคนิคการขายที่ 3: รู้เขา เพื่อเราจะได้เข้าใจ

โลกปัจจุบันเป็นโลกแห่งข้อมูล

ถ้าสิ่งไหนเป็นสิ่งที่เปิดสาธารณะ ไม่ได้ถูกปกปิดไว้ คุณจะสามารถค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งนั้น ๆ ได้ไม่ยากเลย

ถ้าคุณกำลังจะไปพบเจอลูกค้าใหม่ ๆ ผมคิดว่ามันสำคัญมาก ๆ ที่คุณจะรู้จักบริษัทของพวกเขา หรือถ้าจะให้ดีรู้จักคนที่คุณกำลังจะไปคุยด้วยก่อน เพราะคุณจะได้รู้เบื้องต้นว่าพวกเราเป็นใคร และถ้าคุณค้นคว้าหาข้อมูลได้มากกว่า คุณอาจจะรู้เพิ่มเติมก็ได้ว่าพวกเขามีปัญหาอะไรอยู่หรือมีความต้องการอะไรบ้าง

แน่นอนว่าเวลาพูดถึง “ข้อมูล” และ “การค้นหา” คุณก็คงเห็นด้วยกับผมว่า Google คือเครื่องมืออันดับแรกที่จะโผล่ขึ้นมาในหัว

Shifu แนะนำ
ผมแนะนำว่าเวลาค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับคนหรือบริษัทที่คุณติดต่อด้วยอยู่ ให้ลองค้นหาทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ หลายครั้งที่ผมค้นหาภาษาไทย หาเท่าไหร่ก็ไม่เจอ แต่ตอนค้นหาภาษาอังกฤษ กลับเจอ (ตัวอย่างชัดๆ ก็คือชื่อคน ที่ค้นหาภาษาไทยแล้วไม่เจอ แต่พอค้นหาเป็นภาษาอังกฤษแล้วไปเจอ Facebook หรือ LinkedIn ของคนนั้น ๆ)

เครื่องมืออย่าง Google จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คุณได้ภาพกว้างทั้งสำหรับการค้นหาคน (ไม่ว่าจะเป็นชื่อ สกุล หรือประสบการณ์ทำงานในปัจจุบันและอดีต) และบริษัท (ตำแหน่งที่ตั้งและลักษณะธุรกิจของบริษัท)

ตัวอย่างงบกำไร-ขาดทุนของกูเกิลที่ได้มาจาก Creden

แต่ถ้าคุณอยากได้ข้อมูลเชิงลึกของบริษัทเพิ่มเติม ผมแนะนำให้คุณลองไปดู Database ของ DBD (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า) หรือ Credit Scoring ของ Creden ที่จะช่วยให้คุณได้มาซึ่งข้อมูลเชิงลึกของบริษัทที่คุณกำลังติดต่องานอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของงบการเงิน กำไรขาดทุน หรือผู้มีอำนาจในบริษัท

เพราะการ “รู้เขา” เมื่อเอามาบวกกับการที่คุณ “รู้เรา” จะทำให้คุณได้เปรียบในสนามแข่งขัน

เทคนิคการขายที่ 4: เตรียมคอนเทนต์ให้พร้อม

ผมคิดว่าสำหรับนักขายที่ดีนั้น นอกจากคารมและความคมคายแล้ว สิ่งที่นักขายควรจะให้ความสำคัญคือ Resource ต่าง ๆ ที่จะทำให้ลูกค้าเข้าใจและตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

ใน Buyer's Journey นั้นประกอบไปด้วย Awareness, Consideration และ Decision

โดยปกติแล้ว ฝ่ายการตลาดของคุณมักจะโฟกัสการทำคอนเทนต์ในส่วน Awareness (พร้อมรู้จัก) ​และ Consideration (พร้อมถูกทำการตลาด) เป็นหลัก แต่อาจจะไม่ได้ทำคอนเทนต์ในส่วน Decision (พร้อมถูกขาย) มากนัก เพราะฉะนั้นทีมขายอาจจะต้องเริ่มต้นทำคอนเทนต์ในส่วนนี้ขึ้นมาเอง หรือร่วมมือกับฝ่ายการตลาดทำคอนเทนต์ส่วนนี้ขึ้นมา

Shifu แนะนำ
ตัวอย่างคอนเทนต์ประเภท Consideration เช่น คอนเทนต์ที่ช่วยเปรียบเทียบสินค้า/บริการของคุณ กับสินค้า/บริการที่ใกล้เคียงกัน เช่น ถ้าคุณขายบริการเทรนเนอร์ฟิตเนสส่วนตัว คอนเทนต์ในขั้นนี้อาจจะเป็น เล่นฟิตเนสแบบมีเทรนเนอร์ช่วย vs เล่นฟิตเนสด้วยตัวเอง ส่วนตัวอย่างคอนเทนต์ประเภท Decision เช่น ใบเสนอราคา รายละเอียดงาน (Scope of Work) เอกสารสัญญาต่างๆ

คอนเทนต์ที่ดีจะช่วยให้นักขายหรือฝ่ายขายทำงานง่ายขึ้น เพราะฉะนั้นคำแนะนำของผม คือ…

1. ลองใช้ทรัพยากรและเวลาที่มากขึ้นในการสร้างคอนเทนต์ที่ช่วยให้คุณทำงานขายได้ดีขึ้น โดยคุณอาจใช้เครื่องมืออย่าง Powerpoint Keynote Canva หรือ VistaCreate ในการช่วยเนรมิตคอนเทนต์ขึ้นมาก็ได้ นอกจากนั้นแล้ว อีกอย่างที่สำคัญคือ ถ้าคุณต้องส่งคอนเทนต์ผ่านช่องทางออนไลน์ด้วยการแชร์ไฟล์ โดยไฟล์ของคุณใหญ่มาก บางครั้งอาจทำให้ลูกค้าไม่ได้รับไฟล์ของคุณก็ได้ เพราะฉะนั้นถ้าคุณต้องแชร์ไฟล์ที่มีขนาดใหญ่ (เกิน 10MB ขึ้นไป) ผมแนะนำว่าคุณควรจะอัปโหลดไฟล์ขึ้น Google Drive หรือ WeTransfer แล้วค่อยแชร์ให้ลูกค้าของคุณ

2. รูปแบบและพฤติกรรมการเสพสื่อของคนบนโลกออฟไลน์และโลกออนไลน์นั้นไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นคอนเทนต์ที่คุณจะทำขึ้นมาให้กับคนทั้ง 2 กลุ่มนั้นก็ไม่ควรเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าสำหรับโลกออฟไลน์ การส่งโบรชัวร์ที่มีรายละเอียดมากมายให้ลูกค้าก็เป็นวิธีที่ดี แต่ถ้าเป็นโลกออนไลน์ คุณไม่ควรจะส่งโบรชัวร์​ที่มีข้อมูลมากมายให้กับลูกค้า เพราะลูกค้าจะดูข้อมูลยาก (โดยเฉพาะถ้าดูผ่านมือถือ) แต่คุณควรจะส่งเป็นไฟล์ Presentation ที่มีข้อมูลหลายหน้า โดยที่แต่ละหน้ามีข้อมูลไม่เยอะมากแทน เป็นต้น

เทคนิคการขายที่ 5: ทำ CRM ให้ดีต้องเริ่มจากรากฐาน

ถ้าคุณกำลังใช้กระดาษ หรือ Spreadsheet เก็บข้อมูลลูกค้าของคุณอยู่ ผมแนะนำว่าคุณควรจะเลิกได้แล้วครับ

สาเหตุที่ผมแนะนำให้คุณเลิกเพราะมันจะทำให้คุณทำ 4 สิ่งต่อไปนี้ได้ยากครับ

1. การติดตามงาน

การกลับไปเช็คข้อมูลในอดีตว่าคุณเคยคุยกับใครไปแล้วบ้าง คุยอะไรกันไปบ้าง หรือติดตามสถานะต่าง ๆ เช่น ถ้าคุณจดลงไปในสมุด มีโอกาสค่อนข้างสูงที่คุณจะหาสิ่งที่คุณคุยหรือตกลงกับลูกค้าไว้ไม่เจอ

2. การเชื่อมต่อข้อมูล

การเชื่อมต่อชื่อผู้ติดต่อ ชื่อบริษัท และชื่อดีลธุรกิจ (Opportunity) เข้าด้วยกันทำได้ลำบาก เพราะต้องอาศัยซอฟต์แวร์อื่นเข้ามาช่วยเชื่อมต่อข้อมูล

3. การทำความเข้าใจสถานการณ์

การเช็คยอดขายที่คาดว่าน่าจะได้ หรือการวิเคราะห์ข้อมูลว่าดีลธุรกิจไหนมีความสุ่มเสี่ยง (ที่จะวืด) ทำได้ยาก เพราะจะไม่เห็นภาพรวม และขาดระบบ Analytics

4. การจัดการสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูล

การจัดการสิทธิ์ในการเห็นหรือดาวน์โหลดข้อมูลของคนแต่ละคน/แต่ละตำแหน่ง (เช่น Sales Manager ควรจะข้าถึงข้อมูลลูกค้าได้ทุกคน แต่ Junior Sales Executive ควรจะเข้าถึงได้เฉพาะลูกค้าที่เขา/เธอดูแล เป็นต้น) ซึ่ง Spreadsheet ไม่มีระบบจัดการสิทธิ์การเข้าถึง

ถ้าคุณไม่อยากเจอปัญหาที่ผมเขียนถึง (หรืออยากเจอให้น้อยลง) ซอฟต์แวร์ CRM เป็นสิ่งที่จำเป็น

สำหรับ B2B ซอฟต์แวร์ CRM จะช่วยให้คุณสามารถบริหาร Pipeline และเคลื่อนย้ายลูกค้าจากโอกาสทางธุรกิจ (Opportunity) ไปสู่การปิดการขาย (Close Won) ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และสำหรับ B2C ซอฟต์แวร์ CRM จะช่วยให้คุณมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าที่ใช่ได้ด้วยข้อเสนอที่ใช่ในเวลาที่เหมาะสม

pipedrive

ส่วนซอฟต์แวร์ CRM สำหรับ B2B ที่ผมคิดว่าน่าสนใจและคุณน่าจะไปลองใช้งานดูก็คือ Pipedrive และ HubSpot CRM

ส่วนซอฟต์แวร์ CRM สำหรับ B2C ผมขออนุญาตไม่แนะนำในบทความนี้นะครับ เพราะผมคิดว่า คำว่า “CRM” สำหรับ B2C เป็นคำที่ค่อนข้างกว้าง มักรวมไปถึงการทำ Personalization, Loyalty Program, Social Media Management, Ticketing และอื่น ๆ อีกหลายอย่าง ตัวผมเองก็ไม่ค่อยถนัดเรื่อง CRM สำหรับ B2C สักเท่าไหร่ ถ้ามีโอกาส ผมจะหาคนที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้มาเขียนลง Content Shifu ให้นะครับ 🙂

ไม่ว่าจะเป็น B2B หรือ B2C สำหรับการทำ CRM แล้ว การเก็บข้อมูลให้ถูกต้องเป็นเรื่องสำคัญครับ (ดูข้อมูลเกี่ยวกับระบบ CRM 4 อย่างได้ที่นี่)

Shifu แนะนำ
นอกจากระบบ CRM แล้ว ระบบบัญชีต่างๆ ก็สำคัญเช่นกันเพราะต้องเอาไว้ใช้ออกใบเสนอราคา ออกใบวางบิล และออกใบกำกับภาษีให้กับลูกค้าอย่างเป็นระบบครับ ระบบบัญชีที่ช่วยให้การทำงานต่างๆ ง่ายขึ้นมีอยู่หลายตัว เช่น Flowaccount (Content Shifu ก็ใช้งานตัวนี้อยู่) คุณสามารถไปศึกษาข้อมูลต่อได้นะครับ

เทคนิคการขายที่ 6: ทำสิ่งต่าง ๆ ไว้ล่วงหน้า

เคยเจอเหตุการณ์ประมาณนี้ไหมครับ… คุณหมกมุ่นอยู่กับเตรียมใบเสนอราคาหรือข้อเสนอ จนทำให้เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว ดึกดื่น และลูกค้าของคุณเลิกงานแล้ว

ถ้าคุณส่งใบเสนอราคาของคุณทันทีในตอนนี้ มีความเป็นไปได้สูงว่าลูกค้าของคุณจะยังไม่อ่าน แถมเขาอาจมองว่าคุณไปรบกวนเวลาหลังเลิกงานของเขาอีกด้วย

เมื่อคิดได้ดังนั้น คุณเลยตั้งเวลาปลุกให้เตือนคุณตอน 9 โมงเช้า เพื่อเตือนตัวเองว่าอย่าลืมส่งใบเสนอราคาให้กับลูกค้า

วันรุ่งขึ้น นาฬิกาปลุกของคุณดังขึ้นตอน 9 โมงเช้า แต่ตอนนั้นคุณมัวแต่วุ่นทำเรื่องอื่น ๆ อยู่จนเผลอลืมไป…

ถ้าคุณเคยเจอเหตุการณ์อะไรแบบนี้หรือเจอเหตุการณ์อะไรแบบนี้อยู่ มาตั้งเวลาส่งงานล่วงหน้ากันดีกว่าครับ

ปัจจุบันระบบอีเมลต่างๆ ก็มีฟีเจอร์ที่ช่วยให้คุณตั้งเวลาในการส่งอีเมลหาผู้รับได้อย่างง่ายๆ อย่างรูปด้านบนก็เป็นรูปจาก Gmail ที่สามารถเลือกตั้งเวลาส่งได้ตามที่คุณอยากส่งครับ

ในเรื่องของงานขาย คุณมีกิจกรรมยิบย่อยต่าง ๆ ที่ต้องทำมากมาย เพราะฉะนั้นอะไรที่สามารถทำให้เสร็จล่วงหน้าได้ก็ทำมันซะ ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวคุณอาจจะลืมหรือไม่มีเวลาก็เป็นได้

เทคนิคการขายที่ 7: ทำ Cold Outreach ให้มีประสิทธิภาพ

Cold Outreach คืออะไร?

Cold Outreach คือ การติดต่อไปหาคนที่ไม่รู้จักเพื่อทำการขออะไรบางอย่างจากคนเหล่านั้น (เช่น ขอให้ซื้อของ)

แน่นอนว่าถ้าคุณติดต่อไปหาคนที่ไม่รู้จัก อัตราความสำคัญของคุณจะค่อนข้างต่ำ เพราะถึงแม้คนจะชอบซื้อ แต่คนนั้นไม่ชอบที่จะถูกขายสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะจากคนไม่รู้จัก

ถ้าคุณเน้นทำ Cold Outreach ด้วยการโทรศัพท์ เทคนิคนี้คงจะช่วยอะไรคุณไม่ได้ แต่ถ้าคุณทำ Cold Outreach ด้วยอีเมล เทคนิคนี้ช่วยให้คุณขายของได้มากขึ้นแน่ ๆ

เทคนิคนี้เป็นเทคนิคการขายที่ต่อเนื่องมาจากข้อที่แล้วครับ

เทคนิคนี้เรียกว่าการติดตามผลการขายแบบอัตโนมัติ (Sales Automation) คือ คุณสามารถติดตามผลได้ว่าใครเปิด/ไม่เปิด ตอบ/ไม่ตอบ คลิก/ไม่คลิก อีเมล แล้วสามารถส่งอีเมลหาพวกเขาตามพฤติกรรมของพวกเขาได้แบบอัตโนมัติ

เช่น ถ้าคนที่คุณส่งอีเมลไปหาเปิดเมลแต่ไม่ตอบคุณ คุณสามารถตั้งค่าได้ว่าอีก 3 วันให้ส่งอีเมลไปติตตามผลอีกรอบ แล้วถ้าเขายังไม่ตอบอีก อีก 7 วันค่อยส่งอีเมลไปตามตื๊อครั้งสุดท้าย

เครื่องมือที่ช่วยให้คุณทำอย่างนี้ได้ที่ผมอยากแนะนำมีอยู่ 2 ตัว คือ Mailshake และ Gmail Auto Follow Up

เทคนิคการขายด้วยอีเมล

ผมเคยใช้ Mailshake ในการขายของมาแล้ว ซึ่งได้ผลดีมากเพราะมันเหมือนกับการที่ผมมานั่งพิมพ์อีเมลส่งให้คนแต่ละคนด้วยตัวเองจริง ๆ โดยที่รูปทางด้านบนเป็นตัวอย่างของ Report และตัวอย่างของอีเมลที่สร้างใน Mailshake

Shifu แนะนำ
ผมเคยเขียนเรื่อง Email Marketing และ Marketing Automation ไปแล้ว ซึ่งการทำ Automated Cold Outreach หรือ Sales Automation นั้นจะมีความต่างกับ Email Marketing และ Marketing Automation อยู่ตรงที่การทำ Sales Automation นั้นเน้น Personalization กว่ามาก ๆ (ถ้าดูเผิน ๆ อีเมลที่ส่งออกจากระบบ Sales Automation จะเหมือนกับส่งมาจากคนจริงๆ) และมันก็สามารถใช้ส่งในปริมาณที่น้อยกว่ามาก (เพราะมันจะส่งจากระบบ Email Client อย่างเช่น Gmail โดยตรงเลย)

เทคนิคการขายที่ 8: เสียงจากลูกค้า มีคุณค่ามากกว่าเสียงไหน ๆ

การพูดที่เงียบเหงาที่สุดคือการพูดคนเดียวโดยที่ไม่มีใครตอบกลับมา

เช่นเดียวกันกับการขาย ถ้าคุณเอาแต่ขาย ขาย ขาย โดยที่ไม่มีการติดตามหรือวิเคราะห์ผลลัพธ์ว่าสินค้าของคุณตอบโจทย์หรือไม่ตอบโจทย์ ลูกค้าชอบหรือไม่ชอบสินค้าของคุณ คุณก็จะไม่สามารถปรับปรุงหรือพัฒนาการขายของคุณให้ดีขึ้นได้

ถ้าเป็นโลกออฟไลน์ การถามหา Feedback จากลูกค้าก็คงจะเป็นการนั่งคุยกันหรือการเอาแบบประเมินไปแจกให้ลูกค้า

สำหรับโลกออนไลน์แล้ว มันก็มีวิธีที่คล้าย ๆ กันอยู่ แต่อาจจะทำให้คุณใช้แรงน้อยกว่า

วิธีแรกคือการส่ง Survey ในรูปแบบออนไลน์แทน ซึ่งเครื่องมือที่ผมชอบใช้ก็คือ Typeform และ Google Form (ตัว Typeform จะหน้าตาสวยกว่า Google Form แต่ตัวฟรีจะจำกัดผู้ตอบแบบสอบถามให้มีได้แค่ 10 ครั้งต่อเดือน)

ถ้าคุณเอาวิธีการจากเทคนิคการขายที่ 7 มาใช้ช่วยส่ง Survey คุณก็จะได้คนตอบมากขึ้นไปอีก

วิธีที่สองเหมาะสำหรับคนที่ใช้เว็บไซต์ในการขาย (คำว่าขายในที่นี้คือจะปิดการขายบนโลกออนไลน์ไปเลยหรือใช้ช่องทางออนไลน์ในการทำให้ลูกค้าติดต่อมาแล้วค่อยปิดการขายบนโลกออฟไลน์ก็ได้)

ง่ายๆ เลยก็คือแค่คุณทำการติดตั้ง Software ที่ชื่อว่า Hotjar ลงไปในเว็บไซต์ของคุณ นอกจากที่ Hotjar จะเอาไว้ใช้ดู Heatmap ของการปฏิสัมพันธ์ของคนที่มีกับเว็บไซต์ได้แล้ว Hotjar ยังช่วยให้คุณสามารถทำ Poll ง่าย ๆ ได้อีกด้วย

รูปด้านบนเป็นตัวอย่างของผลลัพธ์การใช้ Poll ของ Hotjar กับหน้าขายคอร์สของ Content Shifu จะเห็นได้ว่ามี Feedback ดี ๆ มากมายที่ช่วยให้เราเอาไปปรับปรุงหน้าขายของของเราต่อ

“Feedback คือของขวัญและเสียงสวรรค์จากลูกค้า”

สรุป

เทคโนโลยีต่าง ๆ ช่วยให้นักขายสามารถทำในสิ่งที่ได้แต่ฝันในอดีตได้ ไม่ว่าจะเป็นระบบการขายแบบอัตโนมัติ ระบบ CRM ระบบตั้งค่าการส่งอีเมลอัตโนมัติ และอื่น ๆ อีกมากมาย ถ้าคุณลองเอาเทคนิคและเครื่องมือที่ผมแชร์ไปทั้ง 8 ข้อไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจของคุณ ผสานเข้ากับประสบการณ์ ความรู้และเทคนิคการขายของคุณ ผมเชื่อว่ามันจะช่วยให้คุณยกระดับการขายของคุณไปได้อีกขั้นแน่ ๆ ครับ

ตาคุณแล้ว

คุณเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเทคนิคการขายที่ผมเพิ่งแชร์ไป หรือคุณมีเทคนิคการขายอื่น ๆ ที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์มาแนะนำผมกับผู้อ่านของ Content Shifu เพิ่มเติมบ้างรึเปล่า? มาคุยกันต่อได้ในคอมเมนต์เลยนะครับ 🙂