คุณจะรู้สึกอย่างไรหากมีคนสะกดรอยตามคุณตลอดเวลา? ไม่ว่าคุณจะไปไหนเขาก็ตามคุณไปทุกที่ทุกย่างก้าวทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า หรือแม้กระทั่งยามคุณหลับเขาก็ยังติดตามคุณอยู่ไม่ห่าง…น่าขนลุกจริงไหม? แต่ที่น่าขนลุกกว่าคือนี่คือเรื่องจริง คุณกำลังถูกสะกดรอยตามโดยใครบางคนโดยไม่รู้ตัว

และ ‘ใครบางคน’ ที่ว่าก็คือ Smartphone ในมือของคุณนั่นเอง!

คุณคงไม่เคยเอะใจว่า Smartphone รู้เรื่องเกี่ยวกับคุณมากมายขนาดไหน เชื่อหรือไม่ว่าแอปพลิเคชันอย่าง Facebook, Google หรือ Instagram อาจจะรู้จักคุณมากกว่าที่คุณรู้จักตัวเองเสียด้วยซ้ำ

บทความนี้จะพูดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับ Social Media ในมุมมองที่มันกำลังแทรกซึมชีวิตเราหลายๆ ด้านโดยไม่รู้ตัว ซึ่งมีทั้งด้านดี…และด้านที่น่าขนลุก บางเรื่องผู้ใช้หลายๆ คนอาจจะไม่เคยรู้ ในขณะเดียวกันก็เป็นประเด็นน่าคิดสำหรับนักการตลาดด้วยเช่นกัน

เรื่องที่ 1 เราไปไหน…Google ไปด้วย : เมื่อ Location History แอบตามคุณทุกฝีก้าว

google แอบสะกดรอยฉันหรือเปล่า

เดี๋ยวนี้ถ้าคุณอยากไปที่ไหนก็แค่หยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมา เปิด Google Maps ค้นหาเส้นทาง แอปพลิเคชันก็จะให้คุณกด Allow Access เพื่อดึงข้อมูลสถานที่จากคุณ หลังจากนั้น Google ก็จะบันทึกสถานที่ที่คุณไปแล้วเก็บเป็น Timeline ใส่ใน Google Location History ซึ่งเจ้าฟีเจอร์แสนฉลาดนี้สามารถแสดงสถานที่ที่คุณเคยไปได้ทั้งหมด เส้นทางที่คุณเคยใช้ แถมคาดคะเนเวลาการเดินทางให้อัตโนมัติ คุณใช้เสร็จปุ๊บก็แค่ปิดการใช้งาน ทุกอย่างก็จบ

แต่ปัญหาคือมันไม่ได้จบอย่างที่เราคิดน่ะสิ

เรื่องของเรื่องคือ AP News เริ่มได้กลิ่นแปลกๆ เมื่อมีนักวิจัยเกี่ยวกับ Privacy จาก Princeton คนหนึ่งเดินทางท่องเที่ยวเป็นเวลา 2-3 วันแล้วมาค้นพบว่า Google Account ของเขากลับมีบันทึกข้อมูลสถานที่ที่เขาไปตลอดเวลาแม้ว่า Location History ปิดการใช้งานอยู่

อีกเหตุการณ์หนึ่งคือ นักวิจัยจาก UC Berkeley สังเกตว่ามือถือ Android ของเธอแจ้งเตือนเรทราคาทริปช้อปปิ้งที่ Kohl’s (ซึ่งเป็นที่ๆ เธออยู่ ณ ขณะนั้น) ทั้งที่เธอปิด Location History แล้วเช่นกัน เกิดเป็นคำถามขึ้นมาว่า “Google รู้ได้อย่างไรว่าฉันอยู่ที่นี่?”

กลายเป็นว่าต่อให้คุณปิด Location History แล้ว Google ก็ยังรู้ความเคลื่อนไหวของคุณทุกย่างก้าวอยู่ดี ข้อมูลของคุณยังถูกเก็บอัตโนมัติแม้ว่าคุณจะไม่อนุญาตก็ตาม ซึ่งไม่ตรงกับข้อความในหน้า Support ของ Google ที่บอกว่า “คุณสามารถปิดประวัติตำแหน่งได้ตลอดเวลา เมื่อปิดประวัติตำแหน่งสถานที่ที่คุณไปจะไม่ถูกจัดเก็บอีกต่อไป”

ปัญหานี้ส่งผลกระทบอย่างไร?

อย่างแรก ‘Privacy issue' กระทบต่อผู้ใช้ Android และ iPhone กว่าหลายพันล้านคนทั่วโลก

อย่างที่สอง การละเมิดข้อมูลของผู้ใช้เป็นสิ่งที่ผิด (แม้ Google จะแย้งว่าเว็บไซต์และแอปพลิเคชันอธิบายชัดเจนแล้ว) ทำให้ Google ถูกฟ้องร้องในเวลาต่อมา และสุดท้ายก็ได้เปลี่ยนข้อความในหน้า Support เป็น “ระบบอาจบันทึกข้อมูลตำแหน่งบางอย่างเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในบริการอื่น เช่น การค้นหาและแผนที่ เมื่อคุณปิดประวัติตำแหน่ง”

อันที่จริงการบันทึกข้อมูลสถานที่แบบนาทีต่อนาทีแบบนี้สามารถดึงเอาไปใช้ประโยชน์ได้มากทีเดียว อย่างเช่นการค้นหาผู้ต้องหาในเมือง Raleigh รัฐ North Carolina ซึ่ง Location History จาก Google ถูกใช้เพื่อค้นหาอุปกรณ์ในบริเวณที่เกิดเหตุฆาตกรรม, การพยากรณ์สภาพอากาศในที่ๆ คุณอยู่ หรือแม้แต่ใช้ข้อมูลเพื่อพัฒนาเว็บและแอปพลิเคชันอื่นๆ

แต่สิ่งที่ทำให้เกิดปัญหาและเป็นบทเรียนให้กับนักการตลาดรวมถึงผู้ประกอบการคือ ประเด็นที่ Google “บอกไม่หมด” ซึ่งกลายเป็นการละเมิดข้อมูลผู้ใช้ ทำให้เหมือนเราถูกติดตามตัวตลอดเวลาแม้แต่ในเวลาที่เราต้องการความเป็นส่วนตัว (และโดยที่เราไม่รู้) ดังนั้นจึงเป็นการดีกว่าถ้าผู้ใช้ได้รับทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการใช้ฟีเจอร์นี้

ดังสุภาษิตจีนที่กล่าวไว้ว่า “กิจการทั้งมวล ความซื่อสัตย์สำคัญสุด”

เรื่องที่ 2 แค่กระซิบเบาๆ Facebook ก็ได้ยิน

ที่มารูป Digitaltrends.com

หากคุณกำลังคุยงานอยู่ แล้วสังเกตว่ามีใครบางคนแอบเงี่ยหูฟังคุณตลอดเวลาคงจะน่ารำคาญไม่ใช่น้อยจริงมั้ย? ลองอ่านเรื่องนี้ แล้วจะรู้เลยว่าคนที่ได้ยินทุกเรื่องที่คุณพูด หรือกุมความลับของคุณมากที่สุดนั้นไม่ใช่ทั้งเพื่อนสนิทหรือพ่อแม่ แต่อาจจะเป็น Facebook ก็เป็นได้

ผู้เขียนบทความนี้เล่าให้ฟังว่าขณะที่เขากำลังนั่งอยู่ในบาร์กับเพื่อน โดยที่มี iPhone ใส่อยู่ในกระเป๋ากางเกง คุยกันเรื่องทริปญี่ปุ่นที่พึ่งไปเที่ยวมาล่าสุดและอยากจะกลับไปอีกครั้ง ปรากฏว่าในเช้าวันต่อมาทั้งสองคนได้รับโฆษณา pop-up เหมือนกันจาก Facebook ซึ่งเกี่ยวกับไฟลท์บินราคาถูกไปโตเกียวแบบพอดิบพอดี

ไม่เพียงแค่นี้ ยังมีอีกหลายๆ เหตุการณ์ออกมาในทำนองเดียวกัน “ฉันพูดถึงเรื่องนี้แล้วต่อมาก็มีโฆษณาโผล่ขึ้นมาบน News Feed เต็มเลย” จนเกิดเป็นข้อสงสัยว่า Facebook แอบดักฟังเราหรือเปล่า?

หรือจะเป็นแค่เรื่องบังเอิญ? Mark Zuckerberg ออกมาปฏิเสธข่าวลือหนาหูนี้ มันเป็นเรื่องของเราคิดอะไรเราก็เห็นสิ่งนั้นต่างหาก เช่น ถ้าคุณอยากกินพิซซ่าก็จะมีแนวโน้มเห็นโฆษณาเกี่ยวกับพิซซ่ามากกว่าเรื่องอื่น

แต่ก็ใช่ว่าจะถูกต้องทั้งหมด เพราะไม่ใช่แค่ Facebook แต่ยังมีเกม และหลายๆ แอปพลิเคชันสามารถฟังการสนทนาของเราได้ผ่านไมโครโฟนของโทรศัพท์มือถือนั่นเอง จากการฟังเสียงรอบข้างมันรู้ได้ว่าเรากำลังอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน อยู่คนเดียวหรืออยู่ท่ามกลางผู้คนพลุกพล่าน? รู้แม้กระทั่งเราอยู่ที่ไหนหรือดูหนังเรื่องอะไร ซึ่งนักการตลาดสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลส่วนนี้เพื่อยิงโฆษณาหาผู้ใช้ได้อย่างแม่นยำมากขึ้น

แต่ก็น่าสงสัยว่า สรุปนี่เป็นการตลาดที่ฉลาด หรือจริงๆ แล้วมันคือการรุกล้ำความเป็นส่วนตัวกันแน่?

เรื่องที่ 3 Facebook ข้อมูลรั่วไหล กระทบ 50 ล้านบัญชี

social media privacy

เรื่องนี้เป็นข่าวโด่งดังที่เกิดขึ้นเมื่อสิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมานี่เอง อาจจะมีหลายคนงงไม่ใช่น้อยที่อยู่ๆ ต้อง Log in เข้า Facebook ใหม่ (อ้าว ทั้งที่ก็ไม่ได้ Log out นี่นา) สิ่งที่เกิดขึ้นคือ Facebook ถูกแฮก และกระทบกับคนกว่า 50 ล้านบัญชีรวมไปถึงตัว Mark Zuckerberg ด้วยเช่นกัน

มาดูกันดีกว่าว่ามันเกิดอะไรขึ้น

วิศวกรพบช่องโหว่ของ Facebook นั่นคือฟีเจอร์ “View As” ซึ่งให้เราสามารถดูหน้าโปรไฟล์เราเองในมุมมองของคนอื่นได้ เช่น คนที่ไม่ได้เป็นเพื่อนกับคุณ หรือจะเจาะจงชื่อเพื่อนก็ได้เช่นกัน (เนื่องจากคุณสามารถโพสต์บน News feed แล้วเลือกให้ใครบ้างที่จะมองเห็นโพสต์นี้ ดังนั้นมุมมองของแต่ละคนเวลาดูโปรไฟล์คุณก็อาจจะต่างกัน)

นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่เรียกว่า “Access Token” ทำให้เราเข้าใช้งาน Facebook ได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้อง Log in ใหม่ทุกครั้ง ซึ่งแฮกเกอร์ก็ได้ใช้ฟีเจอร์ View As นี่แหละเข้าไปขโมย Access Token ของผู้ใช้คนไหนก็ได้โดยไม่ต้องมี Password

ปัญหานี้ Facebook แก้โดยรีเซ็ต Token ผู้ใช้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด รวมไปถึงผู้ใช้ที่เคยถูก View As ด้วย ซึ่งคนที่ได้รับผลกระทบรวมๆ แล้วมีจำนวนถึง 90 ล้านคนเลยทีเดียว นอกจากนี้ก็เร่งพัฒนาเครื่องมือใหม่เพื่อป้องกันปัญหาที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคต

ที่น่าตกใจคือช่องโหว่นี่มีมานานกว่า 1 ปี จากการประเมินคร่าวๆ น่าจะมี 50 ล้านบัญชีถูกแฮกไปเรียบร้อยแล้ว จนบัดนี้ก็ยังไม่รู้ว่าการแฮกเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไหร่

รู้แค่ตอนนี้ Facebook กำลังเจอปัญหาใหญ่อยู่ไม่ใช่น้อย…

สรุป

ทั้ง 3 เรื่องนี้กำลังบอกอะไรกับเรา? จะเห็นได้เลยว่า Privacy เป็นประเด็นที่กำลังถูกพูดถึงอย่างร้อนแรง ไม่ว่าจากฝั่งผู้ใช้หรือนักการตลาด

มาดูในฝั่งของผู้ใช้ว่าคิดเห็นกันอย่างไร

  • จากรายงานบอกว่าผู้ใช้โดยทั่วไปไม่ได้คาดหวัง Privacy จาก Facebook หรือ Social Media เจ้าต่างๆ มากมายนัก (เมื่อเทียบกับข้อมูลการเงินในธนาคารหรือสถาบันการเงินต่างๆ) บางคนกลับชอบที่มีโฆษณาสินค้าใหม่ๆ ที่ตัวเองสนใจเสียด้วยซ้ำ
  • แต่ผู้ใช้ถึง 58% จะรู้สึกอึดอัดและมองว่าเป็นเรื่องน่าขนลุกเมื่อมีการ Tracking ข้อมูลส่วนตัวแล้วนำไปใช้นอก Social Media

ทางด้านนักการตลาด แน่นอนว่าข้อดีของการ Monitor ผู้ใช้นั้นทำให้ได้ข้อมูลที่ละเอียดและมีความแม่นยำสูง จึงสามารถส่งโฆษณาได้ถูกต้องกับกลุ่มเป้าหมาย ถูกที่ และถูกเวลา แต่ก็น่าคิดต่อว่า แล้วอะไรล่ะคือเส้นกั้นระหว่างการ Monitor กับการล้ำเส้นความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้?

อย่างไรก็ตามแพลตฟอร์ม Social Media และบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ ได้มีการตื่นตัวเกี่ยวกับเรื่อง Privacy มากขึ้น อย่าง Tim Cook ก็ได้ให้สัมภาษณ์ล่าสุดสดๆ ร้อนๆ ว่า Privacy เป็นหนึ่งในประเด็นที่เขาให้ความสำคัญมากที่สุดในยุคนี้เลยทีเดียว ดังนั้นบริษัท Apple จึงประกาศตั้งแต่เดือนที่แล้วว่าทุกแอปพลิเคชันหลังจากนี้จะต้องมี Privacy Policy แสดงให้ผู้ใช้เห็นอย่างชัดเจน

สุดท้ายนี้แม้คุณจะสามารถใช้ Social Media ได้แบบฟรีๆ แต่ยังไงก็มี ‘ราคา' ที่คุณมองไม่เห็นต้องจ่ายอยู่ดี ข้อมูลของคุณกลายเป็นข้อแลกเปลี่ยน แล้วจะทำอย่างไรให้ผู้ใช้สามารถรักษาความเป็นส่วนตัวได้บนโลกออนไลน์? มาศึกษาวิธีตั้งค่าความเป็นส่วนตัวบน Facebook จากบทความของ Content Shifu

ตาคุณแล้ว

คุณได้บทเรียนอะไรจาก 3 เรื่องนี้? หรือคุณเคยเจอเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกเหมือนโดนติดตามด้วย Social Media บ้างหรือเปล่า? แชร์กับเราในคอมเมนต์เลย

ถ้าคุณรู้สึกใช้เวลากับ Social Media มากเกินไป อยากหยุดแต่ก็หยุดไม่ได้…รู้หรือยังว่าตอนนี้หลายๆ แพลตฟอร์มโซเชียลได้ออกฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่จะกระตุ้นให้เราใช้เวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อ่านต่อในบทความทำไม Facebook ถึงอยากให้คุณติด Facebook น้อยลง?