เชื่อว่าทุกคนที่กำลังอ่านบทความนี้ของเราอยู่ อาจจะมีร้อง ‘อ๋อ’ กันบ้างกับชื่อบทความ หรืออาจจะมีบ้างที่ยังไม่รู้จักหรือยังไม่แม่นว่า SWOT คืออะไร ทำไมการทำธุรกิจไม่ว่าเล็ก กลาง ใหญ่ก็ควรที่จะทำการวิเคราะห์สิ่งนี้ 

บทความนี้ จะพาคุณไปรู้จักกับความหมายที่แท้จริงของการวิเคราะห์ SWOT ว่าทำไปทำไม ธุรกิจจะมีผลกระทบด้านบวกหรือลบจากการทำสิ่งนี้ รวมถึงตัวอย่างการวิเคราะห์ SWOT สำหรับนักธุรกิจมือใหม่ ที่สามารถทำตามได้แบบ Steps by Steps มาเริ่มกันเลย

SWOT คืออะไร
รูปภาพจาก Wordstream.com

SWOT Analysis คืออะไร ประกอบด้วยอะไรบ้าง

SWOT Analysis คือ การวิเคราะห์ปัจจัย 4 อย่างของธุรกิจ คือ จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และ อุปสรรค โดยมีเป้าหมายให้บริษัทนำจุดแข็งไปปรับใช้ให้เหมาะกับสภาวะทางการตลาด แก้ไขปัญหาและลดความเสี่ยงที่ส่งผลเสียต่อองค์กร อันส่งผลให้สามารถทำธุรกิจต่อไปได้อย่างราบรื่น

SWOT ประกอบด้วยปัจจัย 4 อย่าง

จุดแข็ง (Strength)

จุดแข็ง (Strength) คือ ความสามารถในการสร้างสินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพสูง ลูกค้าชอบ ซึ่งเป็นสิ่งที่โดดเด่นหรือแตกต่างจากคู่แข่ง ตัวอย่างเช่น หากคุณเป็นบริษัทออกแบบเว็บไซต์ จุดแข็งคือ ความสามารถออกแบบเว็บไซต์ให้สวยงามโดดเด่น มีประสบการณ์ออกแบบเว็บไซต์แบร์ดสินค้าระดับพรีเมี่ยมมากกว่า 10 แบรนด์

จุดอ่อน (Weakness)

จุดอ่อน คือ ทรัพยากรที่องค์กรขาดแคลน หรือ กิจกรรมทางธุรกิจที่คู่แข่งทำได้ดีกว่า ตัวอย่างเช่น การขาดแคลนเงินทุน หรือ การอบรมเรื่อง Service Mind ให้เจ้าหน้าที่บริการยังไม่มีประสิทธิภาพพอ ส่งผลให้คุณภาพงานบริการสู้คู่แข่งไม่ได้


Shifu แนะนำ

จุดแข็งและจุดอ่อน ถือเป็นปัจจัยภายใน (Internal Factor) หมายถึง องค์กรสามารถควบคุมให้เกิดขึ้น หรือ แก้ไขจุดอ่อนให้หมดไป ได้ด้วยการบริหารจัดการขององค์กรเอง

 

โอกาส (Opportunities)

โอกาส คือ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วส่งผลดีต่อองค์กร ตัวอย่างเช่น นโยบายลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบ หรือ พฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าที่คุณขายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

อุปสรรค (Threats)

ความเสี่ยง คือ สถานการณ์หรือภาวะที่เกิดขึ้นแล้วส่งผลเสียต่อการทำธุรกิจ ตัวอย่างเช่น ภาวะโรคระบาดทำให้คนซื้อของน้อยลง หรือ สงครามที่ทำให้อะไหล่สินค้าขาดแคลน


Shifu แนะนำ

โอกาสและความเสี่ยง ถือเป็นปัจจัยภายนอก (External Factor) หมายถึง องค์กรไม่สามารถควบคุมให้เกิดหรือไม่เกิดได้ แต่เกิดขึ้นเองจากเหตุและปัจจัยต่างๆ

 

ทำไม SWOT Analysis จึงสำคัญต่อธุรกิจทุกประเภท

SWOT คือ กุญแจสำคัญในการพาบริษัทของคุณก้าวไปในอนาคตได้อย่างมีแบบแผน เพราะการที่จะเติบโตได้นั้น นอกจากจะต้องรู้จักสภาพแวดล้อมโดยรอบแล้ว การรู้จักตัวเองดีนั้นย่อมสำคัญไม่แพ้กัน หรืออาจจะคิดว่ารู้จักดีแล้ว แต่การที่ได้มาทำ SWOT ก็เท่ากับได้ทบทวนธุรกิจของคุณอีกครั้ง เพื่อปูทางใหม่เพื่อแก้ไขปัจจัยที่ควบคุมได้ พร้อมอ้าแขนรับโอกาสและหลีกเลี่ยงภัยคุกคามที่จะต้องเจอ 

อีกอย่างที่ SWOT สำคัญกับธุรกิจทุกรูปแบบนั้นก็เพราะว่า เป็นการที่แทบทุกตำแหน่งในบริษัทได้มาทำ Brainstorming ร่วมกันเพื่อวิเคราะห์ เพราะแน่นอนว่าแค่เจ้าของกิจการคนเดียวอาจจะรู้จักบริษัทในภาพกว้าง แต่ถ้าทุกคนทุกตำแหน่งที่รู้ลึกรู้จริงในตำแหน่งที่ตัวเองจัดการ รวมถึงมีมุมมองที่แตกต่างกันมาช่วยกันทำ SWOT ก็จะได้พ้อยที่ลึกและมิติมากยิ่งขึ้นนั่นเอง 

ประโยชน์ของ SWOT มีอะไรบ้าง

ถึงแม้ว่าเราจะพูดถึงความสำคัญของ SWOT ที่มีต่อธุรกิจไปแล้วนั้น ก็ยังอยากจะมาขยายความต่อถึงประโยชน์ที่ธุรกิจจะได้รับจากการเริ่มต้นทำการวิเคราะห์ SWOT อย่างแรกเลยก็คือการที่ทีมมานั่งประชุมทำ SWOT ไม่ต้องเสียเงินเลย เพราะว่าทุกคนมีมุมมองในธุรกิจที่หลากหลาย อาจไม่จำเป็นต้องเสียเงินพึ่งพา Consultant  

นอกจากนี้ ประโยชน์ของการทำ SWOT จะยังช่วยให้คุณโฟกัสกับปัจจัยที่จะช่วยพัฒนาธุรกิจของคุณเติบโตและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ได้แก่

  1. ได้ทบทวนและทำความเข้าใจกับธุรกิจของคุณอีกครั้ง 
  2. จำแนกจุดอ่อนและหาทางกำจัดหรือป้องกันได้ 
  3. หลีกเลี่ยงภัยคุกคามต่อธุรกิจ
  4. การลงทุนในโอกาสเพื่อสร้างประโยชน์ต่อธุรกิจ
  5. ใช้โอกาสจาก Strength ของตัวเอง 
  6. พัฒนากลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อบรรลุเป้าหมาย 

ข้อจำกัดของ SWOT มีอะไรบ้าง

เห็นประโยชน์กันไปแล้ว แต่ว่า… สำหรับการทำธุรกิจนั้น SWOT ไม่ใช่ทุกอย่างเสมอไป เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของเส้นทางธุรกิจเท่านั้น ไม่สามารถจำแนกข้อมูลหรือปัจจัยเชิงลึกได้ มาดูกันว่าข้อจำกัดของการทำ SWOT มีอะไรอีกบ้าง

  1.  ปัญหาที่สำคัญก่อนหลังจะไม่ได้ถูกจัดลำดับ 
  2.  ไม่ได้เสนอวิธีการแก้ปัญหาหรือตัวช่วยอะไรเลย
  3.  อาจจะช่วยให้คุณมีไอเดียเยอะขึ้น แต่ไม่รู้ว่าอันไหนสำคัญที่สุด
  4. ให้ข้อมูลเยอะ แต่อาจจะเป็นแค่ในเชิงปริมาณ ไม่ใช่คุณภาพ

เห็นไหมว่าข้อดีก็มี ข้อจำกัดก็มีเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นการเริ่มต้นวางแผนกลยุทธ์ด้วยการทำ SWOT เพื่อวิเคราะห์ธุรกิจ ตลาดและสถานการณ์อาจจะเป็นการเริ่มต้นจากจุดปล่อยตัวที่ดี แต่อย่าลืมว่าการทำ Research หาข้อมูล เก็บข้อมูลเชิงลึกในเรื่องอื่นๆ ระหว่างทาง อาจจะพาธุรกิจคุณเข้าเส้นชัยได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น (เพราะปัจจัยและสถานการณ์สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา)

ขั้นตอนการวิเคราะห์ SWOT เริ่มต้นทำยังไง

พูดกันถึงที่มา ความสำคัญ รวมถึงประโยชน์และข้อจำกัดกันไปแล้ว นักธุรกิจมือใหม่หรือคนที่กำลังมองหาวิธีการเริ่มต้นทำการวิเคราะห์ SWOT อาจจะตั้งตารอคอยหัวข้อนี้ เพราะเราจะมาอธิบายวิธีการเริ่มต้นกระบวนการทำ SWOT แบบเป็นขั้นเป็นตอน และแน่นอนว่าการทำงานเป็นทีมคือหัวใจหลักของเจ้าตัววิเคราะห์ธุรกิจอันนี้ 

  1. รวบรวมคนในแต่ละตำแหน่ง 

เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดก่อนการเก็บตกไอเดียก็คือ การสรรหาคนที่เหมาะสมที่สุดจากทุกตำแหน่งในบริษัทหรือจากทุกทีมมาร่วมประชุม เพราะอย่างที่พูดไปว่าไม่มีใครที่จะมีมุมมองต่อธุรกิจในรูปแบบเดียวกัน ดังนั้นการรวบรวมคนที่มีความรู้เชิงลึกในด้านนั้นย่อมสามารถจำแนกไอเดียจากมุมมองที่เขาถนัด ดังนั้นประสบการณ์และความรู้ในแต่ละตำแหน่งคือข้อได้เปรียบในการทำ SWOT นั่นเอง

  1. รวบรวมไอเดียออกมา 

ขั้นตอนนี้คล้ายคลึงกับการเรียกประชุมหรือทำ Brainstorming Session มาก โดยที่วิธีการเก็บไอเดียของแต่ละคนก็ขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละบริษัท แต่อยากแนะนำว่าควรให้ทุกคนลิสต์ไอเดียออกมาแล้วเขียนหรือแปะไว้ในที่ที่ทุกคนมองเห็นได้ เผื่อว่าจะมีใครสามารถต่อยอดไอเดียนั้นๆ เพิ่มได้อีก

  1. เรียงลำดับไอเดียทั้งหมด

หลังจากรวบรวมไอเดียครบหมดแล้วนั้น ก็ถึงเวลาให้คะแนนว่าไอเดียไหนมีคนเห็นด้วยที่จะเอาไปเขียน SWOT มากที่สุด โดยที่ทุกคนควรจะมีสิทธิโหวตและหลังจาก Finalize ไอเดียแล้วก็ควรจะมีคนสรุปไอเดียในแต่ละปัจจัยทั้งหมดเพื่อเอาไปวางกลยุทธ์ต่อไป

แต่ว่าเราจะตั้งคำถามเพื่อสร้างไอเดียในแต่ละปัจจัยยังไงดีนะ? มาดูไอเดียตั้งคำถามกันเลย 

SWOT Analysis 2
รูปภาพจาก Dailytech.in.th

ตัวอย่างการวิเคราะห์ SWOT ขององค์กร

Strength

เริ่มจากตัวแรกจุดแข็งที่เป็นปัจจัย Internal ที่เราควบคุมได้ ควรจะเริ่มต้นด้วยคำถามประมาณว่า 

  • บริษัทของเรามีทรัพยากรทางกายภาพอะไรบ้าง? ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน อุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ หรือแม้แต่ทุนเองก็ตาม 
  • บริษัทเรามีทรัพยากรอะไรภายในทีมบ้าง? ความสามารถหรือสกิลที่จำเป็น การศึกษา ความรู้และประสบการณ์ หรือแม้แต่ความกว้างขวางในแวดวงสังคม 
  • กระบวนการดำเนินงานตัวไหนของบริษัท (ที่เคยทำมา) สำเร็จผล? เป็นต้น 
  • จุดแข็งที่เอาชนะคู่แข่งได้ 

ตัวอย่าง สมมติว่าบริษัทของคุณคือบริการ Delivery เจ้าหนึ่งในประเทศไทยที่นับว่าเป็นแบรนด์บุกเบิกเลยก็ว่าได้ โดยที่ลูกค้าสามารถใช้งานผ่าน Application มือถือได้แถมมีบริการอื่นๆ แตกหน่อขยายไลน์บริการออกมาเยอะแยะมากมาย โดยที่คุณจะต้องคิด Strength ของธุรกิจคุณขึ้นมา ได้แก่

  1. ภาพจำของแบรนด์แข็งแกร่งมาก เป็นที่รู้จักในวงกว้าง 
  2. เป็นการบริการแบบ One Stop Service ที่ครบ จบ ในแอปเดียว 
  3. การให้บริการค่อนข้างรวดเร็ว (ภายในระยะเวลาเฉลี่ย 20 นาที)
  4. มีบริการขนส่งผู้โดยสารที่หลากหลาย เช่น รถยนต์ และมอเตอร์ไซต์พร้อมคำนวนระยะทางออกมาเสร็จสรรพ 
  5. ค่าบริการถูก และมีโปรโมชั่นส่วนลดหรือส่งฟรีทุกเดือน 
  6. มีบริการเพิ่มเข้ามาสำหรับการซื้อของสดตาม Supermarket ช่วยเหลือด้านความสะดวกสบาย

Weakness

อีกหนึ่ง Internal Factor ที่ไม่ค่อยมีใครอยากพูดถึงเพราะดูเป็นสิ่งที่ค่อนข้างลบ แต่จริงๆ การที่คุณรู้ข้อเสียของธุรกิจมากและละเอียดเท่าไหร่ คุณจะยิ่งสามารถอุดช่องโหว่ได้มากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นตัวอย่างคำถามที่ควรถามก็คือ 

  • มีอะไรที่บริษัทหรือธุรกิจคุณต้องทำเพิ่มเพื่อให้สู้กับตลาดไหม?
  • กระบวนการดำเนินงานตัวไหนของบริษัท (ที่เคยทำมา) ต้องการแก้ไข?
  • มีทรัพยการในทีมหรือทรัพยากรทางกายภาพที่ขาดแคลนไหม? 
  • ปัญหาที่แต่ละทีมเจอมีไหม?

ตัวอย่าง จุดอ่อนของธุรกิจ Delivery ของคุณที่กำลังเผชิญอยู่ 

  1. ค่าโฆษณามหาโหดเพื่อแลกมากับ Brand Recognition ทั้งแบบ Online และ Offline
  2. ค่าคอมมิชชั่นของ Driver ที่อาจจะน้อยกว่ามาตรฐานตลาด 
  3. จำนวนร้านค้าแบบ Local ที่เป็นพาร์ทเนอร์อาจจะไม่เยอะเท่ากับความต้องการของ User
  4. โปรโมชั่นส่วนลดที่ไม่เพียงพอต่อผู้ใช้งาน (Limited Use)
  5. Driver ส่วนใหญ่อยู่ไม่นาน ทำเพียงแค่ชั่วคราว

Opportunities

มาถึง ตัวอย่างการวิเคราะห์ SWOT ที่เป็นปัจจัยแบบ External ตัวแรก นั่นคือ โอกาส ที่เป็นประโยชน์ต่อการวางแผนธุรกิจและควรต่อยอดให้เติบโต คำถามที่ควรตั้งเวลาคิดปัจจัยตัวนี้ มีดังนั้น

  • ธุรกิจแบบนี้กำลังเป็นกระแสหรือเป็นที่ต้องการของตลาดหรือไม่?
  • จะมีเทรนหรืออีเวนต์อะไรที่ธุรกิจเราสามารถจับตลาดได้อีกไหม?
  • จะมีกฎระเบียบอะไรที่จะส่งผลด้านดีต่อบริษัทอีกหรือเปล่า?
  • ลูกค้าจะคิดถึงแบรนด์คุณเป็นอันดับแรกไหม?

ตัวอย่าง โอกาสสำหรับธุรกิจ Delivery ของคุณ ที่สามารถนำไปต่อยอดได้ 

  1. ความต้องการของลูกค้ามากขึ้นในช่วงเวลา Lockdown เรามี Driver ที่พร้อมทำหน้าที่
  2. ความต้องการของบริการในส่วนพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น เรากำลังขยายบริการไปในจังหวัดใหญ่ๆ ในประเทศ 
  3. ราคาของ Taxi หรือมอเจอไซต์รับจ้างมีราคาค่อนข้างสูง แถมไม่มีส่วนลดและไม่ค่อยปลอดภัย แต่เรามีบริการที่สามารถบันทึก Map พร้อมข้อมูลของคนขับอย่างละเอียด 
  4. โลกแบบไร้พรมแดนทำให้เรามีการให้บริการบน Application ที่พร้อมให้บริการลูกค้าตลอด 24 ชั่วโมงด้วยความรวดเร็ว สร้าง User Experience ที่ดีกับลูกค้าทาง Online ของเรา 

Threats

ปัจจัยตัวสุดท้ายที่เป็นภัยคุกคามที่เราไม่สามารถควบคุมให้ไม่เกิดขึ้น แต่สามารถหลีกเลี่ยงได้ถ้ารู้จักการมองสถานการณ์และตั้งคำถามกับสภาพแวดล้อมรอบตัว เช่น 

  • ธุรกิจคุณมีคู่แข่งมากน้อยขนาดไหนในตลาด?
  • การพัฒนาด้านต่างๆ ของโลก เช่น เทคโนโลยี จะส่งผลอะไรกับธุรกิจไหม?
  • พฤติกรรมของลูกค้าจะเปลี่ยนแปลงไปและส่งผลลบต่อธุรกิจมากน้อยแค่ไหน?
  • เหล่า Supplier จะเปลี่ยนกฏกติกาหรือขึ้นราคาทรัพยการมากน้อยเพียงใด?
  • พิษเศรษฐกิจหรือผลกระทบจากปัจจัยระดับประเทศจะเกิดขึ้นอีกไหม?

ตัวอย่าง ภัยคุกคามต่อธุรกิจ Delivery ของคุณในยุคสมัยปัจจุบัน 

  1. ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทำให้บริษัทคู่แข่งอื่นๆ สร้าง Application ที่ดีออกมาได้เช่นกัน 
  2. บริษัทคู่แข่งอาจมีการสร้าง Contact กับร้านค้าในราคาที่ถูกกว่า และอาจจะมีโปรโมชั่นบ่อย
  3. Driver อาจไปร่วมงานหรือรับงานเพิ่มกับบริษัทอื่นที่ให้ข้อสัญญาที่น่าสนใจมากกว่า 
  4. ถ้าเกิดปัญหาระดับประเทศที่ไม่สามารถใช้งานท้องถนนได้ อัตราการอยู่รอดของธุรกิจจะมีเยอะหรือน้อยขนาดไหน 

สรุป

การวิเคราะห์ SWOT เป็นอีกกระบวนการทำวางแผนกลยุทธ์ใหม่หรือต่อยอดจากเดิมให้ดีขึ้น ส่งผลในทางบวกต่อธุรกิจเป็นอย่างมาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าการทำเพียงแค่ SWOT จะสามารถแก้ไขทุกปัญหาทั้งภายในและภายนอกได้ อย่าลืมว่าการทำธุรกิจคือการวิ่งมาราธอน ดังนั้นระหว่างทางคุณจำเป็นต้องศึกษาและเก็บข้อมูลการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอเพื่อพาทีมเข้าถึงเส้นชัยแบบที่บาดเจ็บน้อยที่สุด รวมไปถึงการมั่นสังเกตุสภาพแวดล้อมและสถานการณ์โดยรอบย่อมส่งผลดีต่อการวางกลยุทธ์ธุรกิจของคุณแน่นอน