ไม่มีใครไม่เคยทำผิด จริงมั้ยคะ? และบางครั้งความผิดเพียงเล็กๆ บางอย่างกลับส่งผลกระทบไม่น้อยเลยทีเดียว บทความนี้จะพาไปดู 3 ตัวอย่างความผิดพลาดของนักการตลาดที่เกิดจากตัวอักษรแค่คำเดียว แต่กว่าจะรู้ต้นตอสาเหตุก็ใช้เวลานานหลายชั่วโมง บางเคสเป็นวันจนถึงสัปดาห์เลย  

รวมเคส ‘เส้นผมบังภูเขา’ ผิดนิดเดียวแต่สร้างความวุ่นวายใหญ่โต

เคสที่หนึ่ง: สะกดชื่อแพลตฟอร์มหรือชื่อแบรนด์ ควรสะกดให้ถูกต้อง 100%

ใครทำการตลาด Facebook Ads ต้องจับตาดูเคสนี้ดีๆ คุณอาจจะเคยเจอปัญหา ทำไมโฆษณา Facebook ไม่ผ่านการอนุมัติซักที!? คุณรู้หรือไม่ว่า Facebook Ads มีระบบตรวจสอบทั้งรูปภาพและ Caption โฆษณาของคุณอาจไม่ได้รับอนุมัติให้ลงเสียทีด้วยเรื่องการสะกดผิดเพียงแค่นิดเดียว

คุณ Rewadee Tanan แชร์บน Facebook ว่าไม่สามารถกด Boost post โฆษณาใน Facebook ได้เพราะติดปัญหาเกี่ยวกับ Trademark! นั่นคือมีการใช้เครื่องหมายการค้า (หรือมีสัญลักษณ์ที่ลักษณะคล้ายกัน) โดยไม่ได้รับอนุญาต

เดือดร้อนถึงทีมกราฟิกต้องลองเปลี่ยนโลโก้บน Artwork ใหม่ หลังจากพยายามหาสาเหตุและเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา 18 รอบถ้วนถึงได้ ‘บรรลุ’ ในรอบที่ 19 ว่า ในแคปชันเธอไปพิมพ์คำว่า ‘facebook’ แทนที่จะเป็น ‘Facebook’ (F ตัวใหญ่) เท่านั้นเองโฆษณาก็เลยไม่ผ่านการตรวจสอบ

แค่ ‘F’ ตัวเดียวป่วนทั้งทีมเสียเวลาถึง 2 สัปดาห์เลยทีเดียว

ไม่อยากปวดหัวว่าทำไม Facebook Ads ไม่ผ่านอนุมัติ? คุณ @wongmjane ได้รวบรวมสาเหตุที่โฆษณาจะไม่ผ่านอนุมัติมาให้แล้วในภาพนี้ เช่น Spy Camera หมายถึงการแอบถ่ายโดยไม่ได้ขออนุญาต หรือ Play Button ซึ่งหมายถึงการใส่ไอคอน Play Video ลงไปในชิ้นโฆษณาซึ่งทางจิตวิทยามักจะกระตุ้นให้คนกดมากขึ้น เป็นต้น (อ่านเรื่องที่ Facebook ไม่ค่อยชอบได้ที่บทความสรุป Facebook Algorithm)

เคสที่สอง: AdBlock ก็ป่วนคุณได้ 

AdBlock เป็นซอฟต์แวร์ที่จะปิดกั้นโฆษณาบน Web Browser สำหรับคนที่เหนื่อยหน่ายกับโฆษณาบนโลกอินเทอร์เน็ตที่ไหลทะลักมาทุกวินาที ซึ่ง PageFair ได้รายงานว่าในปี 2016 มีอุปกรณ์มากกว่า 615 ล้านเครื่องใช้งานซอฟต์แวร์นี้ และ 62% ของอุปกรณ์ทั้งหมดเป็นมือถือ มาทำความรู้จักกับเทคโนโลยีนี้ได้เพิ่มเติมจากบทความนี้

หลายคนอาจจะใช้ AdBlock เพื่อลดความรำคาญใจ แต่สำหรับนักการตลาดแล้วรู้ไหมว่าโปรแกรม AdBlock สามารถป่วนเว็บไซต์ของคุณมากกว่าที่คุณคิด เคสนี้พวกเรา Content Shifu เจอเองกับตัว

นี่เป็นภาพหน้าตาเว็บไซต์ Content Shifu ของเราซึ่งทุกอย่างก็ดูปกติดี แต่…พอเปิดเว็บไซต์ในคอมอีกเครื่องหนึ่งกลับมีหน้าตาแบบรูปด้านล่าง

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือ Featured image ของ 2 บทความในบล็อกหายไปดื้อๆซะอย่างนั้น ทำยังไง๊…ยังไงรูปก็ไม่ขึ้น Developer ของเราก็พยายามสืบหาสาเหตุแก้ไขอย่างสุดความสามารถแต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ

อ้าว…แล้วมันเกี่ยวยังไงกับ AdBlock? และที่สำคัญคือเรารู้ได้อย่างไรว่า AdBlock เป็นตัวปัญหา?

เราเริ่มต้นจากการตรวจสอบว่าสาเหตุที่รูปไม่ขึ้นเพราะปัญหาที่รูปหรือเปล่า?

วิธีตรวจสอบคือการใช้ฟังก์ชัน ‘Inspect’ (สำหรับ Google Chrome) โดยการคลิกขวาบริเวณที่ต้องการตรวจสอบแล้วเลือก Inspect จากนั้นเราจึงเลื่อนไปดูตรงส่วน Thumbnail ซึ่งเป็นส่วนแสดง Featured image เจ้าตัวปัญหา  

จะเห็นได้ว่ามี URL รูปแสดงอยู่ (https://contentshifu.com/wp-content/uploads/2018/07/Google-Ads-Rebranding_CoverMin2-1024×685.jpg) และเมื่อคลิกเข้าไปก็พบรูปภาพตามปกติ

ซึ่งสิ่งที่เราสรุปได้ก็คือตัวรูปภาพไม่ได้มีปัญหา รวมถึงตัวโค้ดของเว็บไซต์ก็ยังมีการเรียกใช้งานที่ถูกต้อง ดังนั้นเราจึงหาปัญหาที่สาเหตุอื่น

วิธีการตรวจสอบเพิ่มเติม คือไปยังแท็บ Network ซึ่งจะแสดงสเตตัสของไฟล์ประเภทต่างๆ ในที่นี้เราต้องการตรวจสอบไฟล์รูปภาพ จึงคลิกต่อไปที่เมนูย่อย Img (กรอบสีน้ำเงินตามภาพ)

เมื่อดูข้อมูลไฟล์รูปภาพ ปรากฏว่ามี 2 รูปที่ขึ้นสถานะ “ERR_BLOCKED_BY_CLIENT” ซึ่งเป็น Error ที่เกิดจากคอมผู้ใช้เอง ไม่เกี่ยวกับโฮสที่อัปโหลดรูปแต่อย่างใด สุดท้ายจึงได้รู้ว่าสาเหตุเกิดจากไฟล์รูปภาพประกอบนั้นมีคำว่า ‘Ads’ อยู่ในชื่อ (เพราะใช้ประกอบบทความเกี่ยวกับ Google AdWords) ส่วนใครที่ติดตั้ง AdBlock บนเบราเซอร์มันก็จะจัดการบล็อกคำนี้ และรูปก็ถูกบล็อกไปด้วยเช่นกัน ซึ่งรูปจะไม่ปรากฏจนกว่าคุณจะปิดการใช้งานส่วนเสริมก่อน

กว่าเราจะเจอต้นตอเวลาก็หมดไปหลายวัน…เฮ้อ

ข้อคิดที่ได้จากเคสนี้คือ อย่าตั้งชื่อรูปมีคำว่า ‘Ads’ หรือ ‘Ad’ ไม่อย่างนั้นระวังจะถูก AdBlock ป่วนได้นะจ้ะ

เคสที่สาม: เปลี่ยนคำบน URL เหนื่อยเพิ่มนิดนึงนะ

เพจทุกเพจนั้นเราสามารถตั้ง ‘Slug’ หรือชื่อ URL ได้

ในบางครั้งก็มีเคสที่เราตั้งชื่อ Slug ไม่ตรงกับที่คิดไว้ เช่น อยากตั้งชื่อว่า contentshifu.com/inbound-marketing-vs-outbound-marketing แต่เผลอสะกดผิดแบบไม่รู้ตัวออกมาเป็น contentshifu.com/inbound-marketing-vs-outcome-marketing เป็นต้น

เคสพิมพ์ผิดต่างๆ นั้นยังสามารถกลับมาแก้ไขได้โดยง่าย แต่หากตั้งชื่อ URL ผิดแล้วเผลอ Publish ไปเรียบร้อยแล้ว อันนี้จะเริ่มยุ่งยาก เพราะหากเราไปเปลี่ยนชื่อ URL กะทันหัน จะทำให้คนที่เข้ามา URL เดิมเห็นหน้า “Error 404: Page Not Found” แจ้งว่าหน้าถูกลบไปแล้ว

ลองคิดดูว่าหากมีคนเอาลิงก์ของคุณไปแชร์ต่อเรียบร้อยแล้ว หรือถ้าทำไว้จนติด SEO เรียบร้อยแล้ว คุณอาจสูญเสียคนที่สนใจคอนเทนต์ของคนไปฟรีๆ รวมถึงเสียเรื่องภาพลักษณ์แบรนด์ด้วย

สำหรับวิธีการแก้ไขคือต้องทำ Redirection เพื่อให้ลิงก์ URL เก่าสามารถถูก Redirect โยงกลับมา URL ใหม่ได้ ซึ่งการทำ Redirection คุณสามารถขอให้โปรแกรมเมอร์ของคุณช่วยได้ หรือ หากเว็บของคุณเป็น WordPress คุณสามารถติดต้ังปลั๊กอินที่ช่วยในการทำได้ เช่น ปลั๊กอิน Redirection เป็นต้น

แม้การแก้ปัญหาจะไม่ได้ยากอะไร แต่การทำ Redirect ก็ทำให้หน้าเว็บของคุณโหลดช้าลงเล็กน้อยจากการต้องเปลี่ยนจุดหมายปลายทางนั่นเอง

สรุป

เป็นยังไงกันบ้างคะ? แค่ตัวอักษรไม่กี่ตัวแต่กลับป่วนนักการตลาดอย่างเราจนปวดหัวกันไปเป็นแถว สุดท้ายนี้แม้เคสข้างต้นจะเป็นตัวอย่างความผิดพลาดเล็กน้อยดูตลกๆ (ซึ่งในสถานการณ์จริงก็ขำไม่ออกเลยทีเดียว) แต่ก็เป็นครูสอนเราได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นอย่ากลัวที่จะผิดพลาดแต่จงเรียนรู้จากมันนะคะ 🙂

ตาคุณแล้ว

แล้วคุณล่ะเคยเจอเคสป่วนๆอีกบ้างไหมเอ่ย? แชร์กับเราได้ในคอมเม้นเลย