ยาวไปอยากเลือกอ่าน
เวลาได้ยินคำว่า Content Creator บางคนอาจจะคิดว่าอาชีพนี้ต้องนั่งเขียนบทความลงเว็บ ลงโซเชียลมีเดียตลอดเลยใช่ไหม หรือต้องเป็นมือตัดต่อรูปภาพหรือวิดีโอใช่ไหม หรือบางคนอาจจะนึกไม่ออกเลยว่าอาชีพ Content Creator คืออะไร หรือมีหน้าที่ทำอะไรบ้างในหนึ่งวัน
บทความนี้จะพาคุณมาตอบคำถามกันว่าอาชีพ Content Creator มีที่มาที่ไปอย่างไร ต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง และสำหรับคนที่สนใจอยากสานต่อในอาชีพนี้หรืออยากย้ายสายมาทำ Content จะต้องเตรียมพร้อมและต้องเริ่มต้นอย่างไรบ้าง
มารู้จักกับสายผลิตอย่าง Content Creator กันเลย
อาชีพ Content Creator คืออะไร
อาชีพนักสร้างคอนเทนต์ (Content Creator) คือ ผู้สร้างสรรค์และผลิตเนื้อหาบนสื่อต่างๆ ทั้งสื่อออฟไลน์ และ ออนไลน์ โดยมีจุดประสงค์ในการ สื่อสารเนื้อหาเหล่านั้นกับกลุ่มผู้ติดตามลูกค้า (Target Audience) บนช่องทางของพวกเขา
หรืออีกมุมก็คือ Content Creator จะเป็นผู้เล่าเรื่องผ่านการเขียน การทำวิดีโอ หรือการทำรูปภาพกราฟิคต่างๆ ในหัวข้อที่พวกเขาเชี่ยวชาญและใช้เรื่องราวเหล่านั้นพูดคุยกับกลุ่ม ผู้ติดตามหรือแม้แต่ดึงดูดผู้ติดตามใหม่ๆ ซึ่งคุณอาจจะเห็นพวกเขาในรูปแบบของ
- Influencer ที่ไม่ว่าจะเป็น Blogger หรือ Vlogger
- Freelance
- นักผลิตคอนเทนต์ในองค์กร (In-House)
ไม่ว่าจะเป็นรายการที่คุณชื่นชอบบน YouTube หรือเพจที่คุณติดตามบน Instagram สิ่งล้วนเป็นผลงาน ของเหล่า Content Creator ทั้งนั้นเลย
แล้วแบบนี้ Content Creator ต้องทำเป็นทั้งเขียน ทั้งทำวิดีโอและกราฟิกด้วยเหรอ? คำตอบคือ ไม่จำเป็นเลย เพราะคำว่า Content Creator เหมือนเป็นวงกลมวงใหญ่ที่แบ่งความเชี่ยวชาญ ออกมาซับเซต 3 อย่างนั่นคือ
- การทำคอนเทนต์ประเภทการเขียน (Text Based)
- การเขียนบทความลงเว็บไซต์หรือบล็อก
- การเขียน Copy Writing หรือ Caption
- การเขียนรีวิว
- การผลิต E-book เป็นต้น
- การทำคอนเทนต์ประเภทรูปภาพ (Image Based)
- การทำ Infographic
- การทำ 3D
- การทำ Illustrator
- หรือแม้แต่ Meme เป็นต้น
- การทำคอนเทนต์ประเภทวิดีโอ (Video Based)
- การอัด Vlog
- การทำวิดีโอ How-to
- การทำ Live Stream
- การจัดทำ Webinar เป็นต้น
แบบนี้พอจะเห็นภาพรวมของอาชีพ Content Creator แล้วใช่ไหมว่าอาชีพนี้คืออะไร และแบ่งประเภทความเชี่ยวชาญอย่างไร ซึ่งในความเป็นจริงต่อให้ไม่ต้องมีทุกความเชี่ยวชาญ แต่การที่คุณมีความรู้หรือความเข้าใจในแขนงอื่นๆ จะเป็นประโยชน์ในอาชีพนี้อย่างมาก เพราะในการทำงานนั้นนักเขียนอาจต้องร่วมงานกับ Graphic Designer หรือ Video Editor ด้วยก็ได้ ยิ่งโดยเฉพาะการทำงานแบบ In-House
แล้วแบบนี้ในหนึ่งวันของการทำอาชีพ Content Creator ต้องทำอะไรบ้าง เปิดคอมพิวเตอร์แล้วทำงานจนเลิกงานเลยหรือเปล่า? ถ้าอยากรู้มาดูกันดีกว่า
Content Creator มีหน้าที่ทำอะไรบ้าง
หลายๆ คนอาจจะสงสัยว่า หน้าที่ของ Content Creator นั้น หนึ่งวันต้องทำอะไรบ้าง ถ้ามาสายนักเขียนต้องเขียนอย่างเดียวเลยไหม หรือสายวิดีโอต้องตัดต่ออย่างเดียวเลยหรือเปล่า?
โดยหน้าที่ในแต่ละวันนั้นอาจจะแตกต่างกันออกไปบ้างสำหรับ Content Creator แต่ละประเภท ซึ่งที่เราได้รวบรวมมานั้นจะเป็นภาพรวมในวงกว้าง ช่วยให้คุณมองภาพในหนึ่งวันของพวกเขาได้ ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ประกอบไปด้วย
- การวิเคราะห์แบรนด์หรือธุรกิจก่อนผลิตคอนเทนต์
- การค้นคว้าหาไอเดียใหม่ๆ ให้ตัวเอง
- การผลิตผลงาน
- การตรวจสอบผลงาน
- การติดตามความคืบหน้าของผลงาน
มาดูหน้าที่แต่ละอย่างกันเลยดีกว่า
วิเคราะห์แบรนด์เพื่อการสื่อสาร (Brand Communication Analysis)
มาถึงหน้าที่แรกก็อาจจะมีคนสงสัยบ้างว่า Content Creator มีหน้าที่นี้ด้วยเหรอ ไม่ใช่หน้าที่ของ นักการตลาดหรอกเหรอที่ต้องวิเคราะห์แบรนด์ ความจริงแล้วนั้นหน้าที่ของนักการตลาดที่การวิเคราะห์ ธุรกิจแบบองค์รวม ทั้งตัวธุรกิจเอง ลูกค้า รวมไปถึงกลยุทธ์ต่างๆ เช่น Business Canvas, SWOT หรือ Customer Persona เป็นต้น และข้อมูลเหล่านี้นั่นเองที่เหล่า Content Creator จะนำมาวิเคราะห์ต่อ
เมื่อเหล่า Content Creator รู้ว่าธุรกิจนั้นมีกลุ่มเป้าหมายเป็นใคร อายุเท่าไหร่ ก็จะสามารถนำมาวิเคราะห์ได้ว่าควรวางแผนสื่อสารผ่านคอนเทนต์อะไรและรูปแบบไหน สื่อสารผ่านช่องทางอะไร สื่อสารในช่วงเวลาไหนและที่สำคัญคือต้องสื่อสารอย่างไรให้ถึงใจ
รวมถึงร่วมมือกับทาง Marketer ในการตั้งเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการทำ Content Marketing ให้ชัดเจนเพื่อเป็นการปูทางให้กับชิ้นงานที่จะผลิตในอนาคต
คิดค้นไอเดียใหม่ๆ (Ideation & Research)
อีกหน้าที่ของ Content Creator ที่สำคัญคือ การแสวงหาข้อมูลหรือไอเดียใหม่ๆ ตลอดเวลา เพราะการผลิตคอนเทนต์นั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือการผลิตผลงานเพื่อให้มีคนมาติดตามอ่าน หรือติดตามรับชมและได้รู้จักกับแบรนด์ผ่านเนื้อหาเหล่านี้
พูดกันตามตรงคือคิดไอเดียออกมาให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้รับสาร ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบ เนื้อหาที่มาไวไปไวแบบ Tropical Content หรือเนื้อหาที่จะคงอยู่ได้ตลอดแบบ Evergreen ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถทำการ Research ผ่านการใช้ Tools ต่างๆ เช่น Google Trends, Answer The Public, Google Keyword Planner, KWFinder หรือแม้แต่เครื่องมืออย่าง Social Listening Tools อื่นๆ ก็ได้เช่นเดียวกัน เปรียบเสมือนตัวช่วยที่คอยฟังว่าคนกำลังสนใจหรือให้ความสำคัญกับอะไรอยู่
วางแผนและสร้างสรรค์คอนเทนต์ออกมา (Content Planning & Creation)
เมื่อ Brainstorming กันเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลาที่เหล่า Content Creator จะได้ลงมือทำกันจริงจัง แต่ก่อนที่จะไปถึงขั้นตอนผลิตผลงานออกมาต้องมีการ วางแผนคอนเทนต์ก่อน เผื่อที่จะได้จัดตาราง การทำงานถูกว่าวันไหนควรเริ่มทำชิ้นงานไหน เพื่อให้ส่งทัน Deadline ในวันที่เท่าไหร่
โดยส่วนใหญ่เหล่า Content Creator มักจะวางแผนลงชิ้นงานผ่าน Content Calendar ที่มีรูปร่างเหมือนปฏิทินเพื่อลงว่าในหนึ่งเดือน มีคอนเทนต์แนวไหนที่ต้องทำบ้างและต้องเผยแพร่ลงใน Platfrom อะไร
เมื่อจัดการ Content Calendar เสร็จเรียบร้อยก็ถึงเวลาลงมือสร้างคอนเทนต์ ซึ่งสำหรับสายนักเขียนนั้นมักจะทำงานบน Google Doc เพราะเป็น Platfrom ที่ทีมหรือผู้ว่าจ้างสามารถเข้ามาตรวจสอบงานและให้คำแนะนำผ่านชิ้นงานได้เลยทันที แถมเป็นเครื่องมือที่ใช้งานง่ายอีกด้วย
ตรวจสอบความเรียบร้อยของผลงาน (Editorial & Approval)
หน้าที่ต่อไปเมื่อชิ้นงานออกมาเป็นรูปเป็นร่างแล้วนั้นคือกระบวนการตรวจสอบความเรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบคำผิด การตรวจสอบเนื้อหา รวมไปถึง Key Message อย่างตรงตามที่ วิเคราะห์และวางแผนไว้ตั้งแต่แรกไหม
ถ้าเป็น Content Creator แบบ In-House ก็อาจจะมีฝ่าย Editor หรือสมาชิกในทีมคอยช่วยเหลือ ตรวจสอบชิ้นงานของกันและกัน แต่ถ้าเป็นสาย Freelance หรือ Influencer ที่ต้องส่งมอบงานให้ ผู้ว่าจ้างนั้นอาจจะต้องพึ่งพาการ Proofreading ของตัวเองหรือจ้างวานผู้เชี่ยวชาญ หรืออาจจะใช้งาน Tools ในการตรวจทานคำผิดสำหรับสายเขียน เช่น Grammarly (สำหรับสายบทความภาษาอังกฤษ) หรือ Read a write (สำหรับบทความภาษาไทย) เป็นต้น เพียงเท่านี้ก็สามารถอัพโหลดชิ้นงานและ เผยแพร่ได้เลย
ติดตามผลลัพธ์ของผลงาน (Tracking Performance)
หลังจาก Content เหล่านั้นได้เผยแพร่ออกไปสักระยะแล้วก็ถึงเวลาที่ต้องมาตามดูผลลัพธ์ว่า ประสิทธิภาพของผลงานนั้นไปได้ดีไหม และนำมาวิเคราะห์ผลว่าเป้าหมายที่วางไว้แต่แรกนั้น สามารถบรรลุได้ไหม
โดยขั้นตอนนี้จำเป็นต้องใช้ Tools ในการช่วยติดตามผลลัพธ์ เช่น หลังบ้านของ Social Media Tools อย่าง Facebook Creator Studio หรือ Twitter For Business เป็นต้น หรือใช้ Social Media Marketing Tools อย่าง Fanpage Karma, Mention, หรือ Keyhole เป็นต้น
หรือถ้าต้องการติดตาม Performance บนเว็บไซต์ก็สามารถเช็คผ่าน Google Analytics หรือ Google Search Console ก็ได้เช่นเดียวกัน โดยข้อมูลทั้งหมดนี้นั้นจะมาช่วย Content Creator ในการปรับใช้และพัฒนากับคอนเทนต์ในอนาคตได้
Shifu แนะนำ
เครื่องมือที่เหล่า Content Creator ไม่ควรพลาด! กับ Social Listening Tools ตัวช่วยจับกระแสโซเชียล ที่จะทำให้การเขียนคอนเทนต์ตรงใจ ถูกจุดกลุ่มเป้าหมายจนฮิตติดเทรนด์
แต่เราจะควรใช้ตัวไหนดี ตามไปอ่านในบทความ รีวิวรวมฮิต 9 Social Listening Tools ทั้งแบบฟรีและเสียเงิน
Content Creator ต้องมีคุณสมบัติ ทักษะอะไรบ้าง
ถ้าคุณอ่านแล้วรู้สึกว่านี่แหละใช่เลย! อยากลองเป็น Content Creator ดูบ้าง แต่ยังไม่มั่นใจว่า ทักษะที่มีอยู่ตอนนี้นั้นเพียงพอแล้วหรือยัง หรือต้องสั่งสมประสบการณ์ด้านไหนเพิ่มบ้าง
มาเช็คลิสต์กันเลยดีกว่าว่า Content Creator ควรมีคุณสมบัติอย่างไร ต้องมี Hard และ Soft Skills อะไรบ้าง
ทักษะด้าน Hard Skills
Hard Skills เป็นทักษะทางวิชาชีพที่สามารถวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งสำหรับทักษะที่ Content Creator นำมาใช้ในการทำงานบนสายอาชีพนี้นั้นควรจะประกอบไปด้วย
- Social Media Skill หรือทักษะในการใช้งานและเข้าใจ Social Media ในแต่ละแพลตฟอร์ม ซึ่งจำเป็นกับสายอาชีพนี้ เพราะต้องคลุกคลีอยู่กับช่องทางเหล่านี้ในทุกวันเนื่องจากเป็นสื่อที่ ต้องใช้ลงคอนเทนต์
- Search Engine Optimization Skill หรือทักษะความเข้าใจในการทำงานของ Search Engine ได้เป็นอย่างดี เพราะว่าการทำคอนเทนต์อย่างบทความ วิดีโอหรือแม้แต่รูปภาพ จำเป็นต้องพึ่งพา Search Engine เพื่อให้คอนเทนต์ขึ้นหน้าแรกจากการเสิร์ชหานั่นเอง
Shifu แนะนำ
การรู้วิธีทำให้คอนเทนต์ขึ้นสู่หน้าแรกของ Search Engine หรือที่เรียกว่า การทำ SEO จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้อาชีพ Content Creator อย่างมาก เรียนรู้วิธีทำตั้งแต่พื้นฐาน (มือใหม่ก็ทำได้) ที่
- Content Creation Skill หรือทักษะการสร้างและผลิตคอนเทนต์ ซึ่งจำเป็นอย่างมากในการ ทำงานในสายอาชีพนี้ ไม่ว่าจะเป็นทักษะการเขียน ทักษะการตัดต่อหรือทำกราฟิกต่างๆ
- Programs and Tools Skill หรือทักษะในการใช้โปรแกรมและเครื่องมือในการทำงาน โดยทักษะนี้จะขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญสายต่างๆ เช่น ทักษะการใช้โปรแกรมตัดต่อ อย่าง Adobe Premiere Pro หรือ Final Cut Pro หรือทักษะในการใช้โปรแกรมทำกราฟิก อย่าง Photoshop หรือ Illustrator เป็นต้น ซึ่งตรงนี้รวมไปถึงการใช้เครื่องมืออื่นๆ ที่ช่วยในการทำ Content Marketing ด้วยนะ
- Research Skill หรือทักษะในการค้นคว้าหาข้อมูลและเข้าใจที่มาที่ไปของข้อมูลเป็นอย่างดี รู้ว่าควรหา Resource จากไหนที่น่าเชื่อถือและนำมาประยุกต์ใช้ได้ เพราะไม่ใช่ว่าทุกข้อมูล จะสามารถนำมาใช้ได้หรืออ้างอิงในการทำคอนเทนต์ได้ ดังนั้น Content Creator จำเป็นต้อง มีวิจารณญาณในการเลือกสรรแหล่งข้อมูลนั่นเอง
ทักษะด้าน Soft Skills
Soft Skills เป็นทักษะความสามารถในทางจิตวิทยาและสังคมที่มีผลต่ออาชีพการงาน ซึ่งแตกต่างจาก Hard Skills ตรงที่ไม่สามารถวิเคราะห์ผลออกมาเป็นรูปธรรมได้อย่างชัดเจน แต่สามารถรับรู้ได้จาก สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
ซึ่ง Soft Skills สำหรับสายผลิตอย่าง Content Creator จะประกอบไปด้วย
- Interpersonal Skill หรือทักษะด้านการสื่อสารระหว่างบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารแบบตัว ต่อตัวหรือการสื่อสารในกลุ่มการทำงาน เหตุผลที่ Soft Skill นี้สำคัญเพราะว่าการทำงานนั้น สำคัญที่สุดคือ Teamwork ซึ่งการที่สมาชิกทีมมีทักษะการสื่อสารที่ดี จะช่วยให้การทำงานราบรื่นขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการร่วมกันวางแผนหรือช่วยกันแก้ไขปัญหา
- Creativity Skill หรือทักษาะด้านความคิดสร้างสรรค์ รวมไปถึงการคิดริเร่ิมอะไรใหม่ๆ แน่นอนว่าเป็นทักษะที่ไม่มีไม่ได้ สำหรับอาชีพที่ผลิตชิ้นงานใหม่ๆ ในทุกวัน
- Organizing Skill หรือทักษะด้านการจัดการ ทั้งการจัดการตัวเองและทีม เพราะว่าการผลิตชิ้นงานนั้นมีเวลาจำกัด ดังนั้นการที่ Content Creator สามารถจัดการเวลาได้นั้นย่อมส่งผลดีต่อตัวพวกเขาเองและทีมก็ด้วยเช่นกัน
- Lifelong Learning Skill หรือทักษะในการเรียนรู้อย่างยืนยาว ซึ่งสิ่งนี้ถือว่าเป็นทักษะที่สำคัญอย่างมากในการทำงานรวมถึงใช้ชีวิตในปัจจุบัน เพราะการเรียนรู้นั้นไม่มีสิ้นสุด และทักษะนี้จำเป็นสำหรับ Content Creator ที่ต้องคอยตามการเปลี่ยนแปลงทั้งกระแส หรือพฤติกรรมผู้บริโภคให้ทันอยู่ตลอดเวลา
- Detail-Oriented Skill หรือทักษะในการใส่ใจรายละเอียด เพราะคอนเทนต์นั้นเป็นสาร ที่มีหน้าที่สื่อกับผู้รับ ถ้า Content Creator ไม่ใส่ใจในรายละเอียดของสารที่จะสื่อ อาจจะเกิดการสื่อสารที่ผิดพลาดซึ่งมีผลกระทบเป็นวงกว้าง ทั้งตัวเอง ทั้งลูกค้ารวมถึงแบรนด์ด้วยเช่นกัน
และทักษะเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็น Hard หรือ Soft Skills นั้นล้วนประกอบกันเพื่อส่งเสริมการทำงานและ โอกาสในสายอาชีพของ Content Creator ได้อย่างดี ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลาและประสบการณ์ ในการสั่งสมทักษะเหล่านี้
ถ้าคุณคือคนหนึ่งที่อยากลองหันมาจับด้านนี้ อย่าลืมหาโอกาสในการพัฒนาทักษะเหล่านี้ด้วยนะ!
อยากเป็น Content Creator ต้องจบอะไร เรียนสาขาไหน
หากคุณสนใจทำอาชีพ Content Creator และอยู่ในวัยหนุ่มสาวที่กำลังเข้ามหาลัย คณะและสาขาดังข้างล่าง จะช่วยเพิ่มความรู้ทางทฤษฎีและทักษะการปฏิบัติ เพื่อช่วยคุณบรรลุฝันในการเป็นนักสร้างคอนเทนต์ได้
- คณะนิเทศศาสตร์
- สาขาวารสารศาสตร์
- สาขาการภาพยนต์และภาพนิ่ง
- สาขาโฆษณา
- คณะอักษรศาสตร์
- คณะวิทยาการคอมพิวเตอร์
- สาขากราฟฟิค ดีไซน์
- สาขาดิจิตอลอาร์ทและมัลติมิเดีย
อย่างไรก็ตาม แม้คุณไม่ได้เรียนจบสาขาข้างต้น ก็สามารถเป็น Content Creator ได้ ซึ่งความจริง นักสร้างคอนเทนต์ในไทยซึ่งประสบความสำเร็จหลายคน ก็ไม่ได้สำเร็จการศึกษาในเรื่องเกี่ยวกับการสร้างสื่อเลย ดังนั้น ขอแค่คุณมีความหลงใหลในการสร้างคอนเทนต์ ฝึกฝนทักษะการสร้างสื่อ (งานเขียน รูปภาพ วีดีโอ) อย่างสม่ำเสมอ หมั่นพัฒนาคุณภาพและนำเสนอผลงานบนโซเซียลมิเดียอย่างต่อเนื่อง คุณก็มีโอกาสเป็น Content Creator ได้เช่นกัน
4 ขั้นตอนเริ่มต้นประกอบอาชีพ Content Creator ต้องทำอย่างไร
ถ้าคุณเห็นภาพแล้วว่า Content Creator ต้องทำหน้าที่อะไรบ้างต่อวัน รวมถึงทักษะที่จำเป็นในสาย อาชีพก็ถือว่าน่าสนใจและน่าลองเรียนรู้ แสดงว่าคุณเริ่มสนใจอยากลองจริงๆจังๆ แล้วใช่ไหม
ถ้าคุณยังไม่เคยมีประสบการณ์ แต่อยากรู้ว่าการเริ่มเป็น Content Creator ควรเริ่มที่ตรงไหนเพื่อ ต่อยอดประสบการณ์ให้ตัวเองนั้น เราได้รวบรวมขั้นตอน 4 ขั้นตอนในการเริ่มประกอบอาชีพนี้ รวมไปถึงวิธีพัฒนาและต่อยอดด้วยเช่นกัน ประกอบไปด้วย
- การหมั่นศึกษาหาความรู้และแสวงหาช่องทางในการเรียนรู้อยู่เสมอ
- การฝึกใช้งานและรู้จักกับ Tools ต่างๆ อย่างคล่องแคล่ว
- การทดลองผลิตชิ้นงานของตัวเอง
- การพัฒนาและต่อยอดจากประสบการณ์
มาดูกันแต่ละขั้นตอนเลยดีกว่า
การศึกษาหาความรู้ให้ตัวเอง
ในแต่ละอาชีพนั้นไม่อาจทำได้โดยปราศจากความรู้ ความเข้าใจและประสบการณ์ เราเลยอยากแนะนำขั้นตอนแรกเริ่มให้เป็น การศึกษาหาความรู้ให้ตัวเองก่อน โดยการศึกษาหาความรู้นี้อาจจะมาจากหลายวิธี เช่น
การศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย โดยวิธีนี้เหมาะสำหรับคนที่ชื่นชอบการสื่อสารหรือการสร้างสรรค์ผลงาน มาแต่เดิมอยู่แล้ว เพราะการได้เข้าเรียนในคณะที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารนั้นจะทำให้ผู้เรียนได้คลุกคลี อยู่กับความรู้เฉพาะทางอยู่ตลอดเวลา และได้เรียนรู้กับอาจารย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้โดยตรง รวมไปถึงยังได้โอกาสในการประยุกต์ใช้ทักษะและความรู้เหล่านี้ในกิจกรรมนอกเวลา เช่น ชุมนุมต่างๆ ในมหาวิทยาลัย ในการเก็บสะสมผลงานลง Poftfolio ได้อีกต่างหาก
การฝึกทักษะผ่าน Online Course หรือ Workshop เป็นวิธีที่เหมาะสมกับทักษะ Lifelong Learning อย่างมาก เพราะในตอนนี้มีช่องทางในการศึกษาหาความรู้นอกรั้วมหาลัยเยอะแยะมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกซื้อคอร์สออนไลน์ หรือการเข้าร่วม Workshop กับวิทยากรมากความสามารถ เหมาะมากกับผู้ที่สนใจแต่ไม่ได้เรียนในคณะที่เกี่ยวข้อง หรือผู้ที่สำเร็จการศึกษาออกมาแล้ว
ถ้าคุณสนใจที่จะเรียนรู้ทักษะเหล่านี้ สามารถเรียนรู้กับเราได้ผ่านคอร์ส Content Marketing ได้เลย
การเข้าไปเป็นเด็กฝึกงานหรือ Internship อีกวิธีที่เหมาะมากสำหรับการฝึกทั้งทักษะ Hard Skills และ Soft Skills ในครั้งเดียวเพราะการได้เข้าไปร่วมงานกับบริษัทในฐานะเด็กฝึกงานนั้น นอกจากจะได้ทดลองทำชิ้นงานจริง ลองใช้เครื่องมือจริง ยังได้ลองใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมการ ทำงานเช่นเดียวกัน เป็นอีกวิธีที่เป็นประโยชน์มากสำหรับน้องๆ นักศึกษาในช่วงชั้นปีที่ 3-4 หรือผู้ที่พึ่ง สำเร็จการศึกษา
ฝึกใช้งานเครื่องมือที่จำเป็น
หลังจากได้เรียนรู้เชิง Theory กันเรียบร้อยก็ถึงเวลาเรียนรู้เชิง Practical กันบ้างแล้ว เพราะอาชีพนี้นั้นจำเป็นที่จะต้องรู้จักกับแอปพลิเคชันหรือเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวก ในการทำงานนั่นเอง โดยจะแบ่งออกเป็น Social Media, Design, และ SEO
สำหรับ Social Media นั้นเหล่า Content Creator ควรรู้จักการทำงานและใช้งานทุกแพลตฟอร์มให้ ชำนาญ รู้จักข้อดีข้อเสียของแต่ละช่องทาง Social Media และสามารถใช้งานได้อย่างมีประโยชน์ และมีประสิทธิภาพต่อธุรกิจที่สุด
สายคอนเทนต์จะพลาดการฝึกฝนเครื่องชื่อช่วยการสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างไร เพราะเป็นเครื่องมือ ที่เรียกได้ว่าเป็นแขนขาของอาชีพนี้เลยโดยเฉพาะด้านกราฟิกและตัดต่อ ซึ่งคุณจำเป็นต้องหัดใช้งาน โปรแกรมทำกราฟิกอย่าง Adobe Photoshop หรือ Illustrator รวมถึงโปรแกรมตัดต่ออย่าง Adobe Premiere Pro หรือ Final Cut Pro เป็นต้น
เครื่องมือต่อไปที่สำคัญในการทำคอนเทนต์บนโลกออนไลน์ทุกวันนี้คือ SEO หรือ Search Engine Optimization สำหรับการวางแผนคอนเทนต์และวิเคราะห์ผลลัพธ์ของตัวคอนเทนต์ที่ได้ เผยแพร่ออกไปบน Platform อย่าง Google หรือ Youtube เช่น Google Keyword Planner, KWFinder, Google Search Console, Google Data Studio, และ Google Analytics เป็นต้น
เริ่มต้นผลิตชิ้นงานออกมา
เมื่อความรู้ทั้งด้าน Theory และ Pratical พร้อมแล้วก็ถึงเวลาประยุกต์ใช้! ซึ่งการที่จะเริ่มต้นสร้าง ผลงานนั้นอาจจะต้องเริ่มจากการทดลองผลิตงานออกมาเองก่อน เพราะว่าการจะเริ่มเป็น Influencer หรือเริ่มทำจาก In-House แต่ไม่มีฐานผู้ติดตามหรือประสบการณ์ที่มากพออาจจะยาก
ดังนั้นการเริ่มต้นผลิตผลงานโดยการสร้างช่องทางของตัวเองขึ้นมาก่อนนั้นเป็นไอเดียที่ดี อาจเริ่มจาก Social Media page อย่าง Facebook, Youtube, Twitter เป็นต้น หรือเขียนลงบนเว็บไซต์ที่ออกแบบ มาให้ผู้ใช้งานสามารถสร้างงานของตัวเองได้อย่าง WordPress, Blogger เป็นต้น
พัฒนาและต่อยอดจากประสบการณ์
ขั้นตอนหลังจากเริ่มก็คือการต่อยอดนั้นเอง ถ้าผลงานที่เคยทำนั้นมีผู้ติดตามหรือมีคนสนใจมากขึ้น ก็สามารถผันตัวไปเป็น Freelance เพื่อรับงานจากผู้ว่าจ้างได้ หรือถ้าได้รับเสียงตอบรับที่เยอะมากๆ และช่องทางก็มีแต่ผู้คนที่สนใจในคอนเทนต์ของคุณก็ผันตัวไปเป็น Influencer บนแพลตฟอร์มที่ คุณเชี่ยวชาญได้
และมากกว่านั้นถ้าสั่งสมประสบการณ์มากพอแล้วก็สามารถย้ายตัวเองไปทำ In-House ร่วมงานกับ คนเก่งๆ ในบริษัทได้ด้วยเช่นเดียวกัน ผ่านการหางานเกี่ยวกับ Digital Marketing บน Jobboard ออนไลน์ได้
ซึ่งข้อดีของการทำ Freelance หรือเป็น Influencer นั้นคือการได้ทำงานอย่างอิสระ และพยายามเรียนรู้ Feedback จากผู้ติดตามหรือผู้ว่าจ้าง ในขณะเดียวกันการทำ In-House นั้นจะได้ ทำงานร่วมไปกับทีม พร้อมรับ Feedback ของการทำงานได้ตลอดเวลาที่ทำ ซึ่งจะช่วยให้คุณได้พัฒนาและต่อยอดประสบการณ์ได้ดีขึ้นกว่าเดิม
สรุป
อาชีพ Content Creator หรืออาชีพนักสร้างสรรค์คอนเทนต์ในโลก Digital Marketing ไม่ได้ มีหน้าที่แค่เขียนหรือนั่งตัดต่อเพียงเท่านั้น แต่ยังได้ร่วมคิด วางแผนและวิเคราะห์ผลงานอีกด้วย โดยมีทักษะจำเพาะที่ต้องฝึกหัดไม่ว่าจะเป็นทักษะทางวิชาชีพ (Hard Skills) หรือทักษะด้านสังคมและการประยุกต์ใช้ (Soft Skills) เพื่อส่งเสริมการทำงานในสายอาชีพ และแน่นอนว่าการจะเริ่มเป็น Content Creator นั้นจำเป็นต้องพึ่งพาความรู้และความสามารถด้าน ต่างๆ เพื่อเริ่มสร้างโปรไฟล์ให้ตัวเอง และค่อยต่อยอดสายอาชีพในหารหารายได้ในอนาคต
ตาคุณแล้ว
สำหรับผู้ที่สนใจและมีทักษะมาอยู่แล้ว สามารถค้นหางาน Content Creator ที่ชอบ ร่วมถึงยังได้ทำงานร่วมกับบริษัท Digital Marketing ชั้นนำในไทย ผ่าน Jobs Board ของทางเราได้เลย