สำหรับภาคธุรกิจและแบรนด์ นอกจากการมีสินค้าและบริการตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ตรงกลุ่มและสื่อสารคุณค่าของแบรนด์อย่างมีประสิทธิภาพนับเป็นอีกส่วนสำคัญที่จะช่วยให้แบรนด์และธุรกิจสามารถเติบโตไปได้อย่างก้าวกระโดด ซึ่งในยุคที่พฤติกรรมของผู้คนเปลี่ยนไป การทำการตลาดเพียงแค่แบบออฟไลน์นั้นไม่เพียงพออีกต่อไป แต่ต้องให้ความสำคัญกับช่องทางดิจิทัลด้วย Digital Marketing Analyst จึงมีบทบาทสำคัญในการพาธุรกิจเติบโตไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แล้วอาชีพ Digital Marketing Analyst คืออะไร มีส่วนช่วยให้องค์กรเติบโตได้อย่างไร เหมาะกับคนแบบไหน ต้องเรียนจบสาขาอะไร และมีทักษะอะไรบ้างที่จำเป็นต่อการเป็นตัวท็อปในวงการนี้ ตามมาอ่านกันได้เลย!

ยาวไปอยากเลือกอ่าน

อาชีพ Digital Marketing Analyst คืออะไร

นักวิเคราะห์การตลาดดิจิทัล หรือ Data Marketing Analyst คือ ผู้มีบทบาทสำคัญในการทำให้ธุรกิจและแบรนด์มั่นใจว่าจะสามารถประสบความสำเร็จในการทำการตลาดออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยรับผิดชอบในการวิเคราะห์สถิติและมองหาวิธีที่ธุรกิจสามารถปรับปรุงการตลาดออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น การหา Insight ที่เกี่ยวข้องกับการตลาด และการทำแคมเปญเพื่อสร้างแบรนด์ นับเป็นอาชีพที่รวม 2 ศาสตร์ ได้แก่ศาสตร์ด้าน Digital Marketing และ Data Analytics เข้าด้วยกันอย่างลงตัว

Digital Marketing Analyst มีหน้าที่อะไรบ้าง

หา insight ของกลุ่มเป้าหมาย

นักวิเคราะห์การตลาดดิจิทัลต้องหา Insight ของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรม, pain point, ความสนใจ, ช่องทางที่จะเจอกลุ่มเป้าหมาย และสิ่งที่เขามองหาเพื่อมาวิเคราะห์ว่าจริงๆแล้วสินค้าและบริการของธุรกิจนั้นตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายจริงหรือไม่ และสามารถสื่อสารคุณค่าของธุรกิจอย่างไรให้โดนใจและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ

ทำ Market Research 

การทำ Market Research สามารถทำได้หลายวิธีไม่ว่าจะเป็นการสำรวจ, สอบถามผู้ใช้งาน, สัมภาษณ์, สังเกตการณ์ และการรับฟังความเห็นของผู้บริโภคจากสื่อออนไลน์ โดยข้อมูลที่ควรให้ความสำคัญคือ ข้อมูลของคู่แข่ง เช่น ยอดขาย ส่วนแบ่งทางการตลาด ต้นทุน กำไร, ข้อมูลการขาย, ข้อมูลสถิติ เช่น ข้อมูลประชากร แนวโน้มของธุรกิจ ยอดขาย ยอดผลิต ยอดส่งออก และการคาดการณ์เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในการสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดที่ใช่สำหรับผู้บริโภค และปรับปรุงกลยุทธ์ที่มีอยู่ให้โดดเด่น แตกต่างจากคู่แข่ง 

ยิงโฆษณา ทำ A/B Testing

หลังจากทำ Market Research และหา Insight ของกลุ่มเป้าหมายแล้ว นัการตลาดดิจิทัลต้องจัดตั้งแคมเปญโฆษณาบนช่องทางออนไลน์ที่กลุ่มเป้าหมายใช้งานเยอะ เช่น Facebook Instagram YouTube TikTok เพื่อโปรโมตธุรกิจและแบรนด์ โดยต้องยิงโฆษณาผ่านช่องทางนั้นๆ ด้วยการใช้วิธี A/B Testing เป็นการทดสอบทางการตลาดโดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายเป็น 2 กลุ่มเพื่อทดสอบกลยุทธ์การตลาดแคมเปญ เช่น คอนเทนต์ รูปภาพ และโปรโมชัน เพื่อพิจารณาว่ารูปแบบการตลาดแบบไหนทำงานได้ดีกว่ากัน และรูปแบบไหนเหมาะกับกลุ่มเป้าหมายไหน

วิเคราะห์ Performance ของแคมเปญต่างๆ 

หลังจากปล่อยโฆษณาออนไลน์ออกไปแล้ว แบรนด์จะต้องวัดผลเพื่อที่จะได้รู้ว่าโฆษณาที่แผนแพร่ออกไปมีประสิทธิภาพและช่วยให้บรรลุจุดประสงค์ของแบรนด์หรือไม่ โดยมีตัวชี้วัด (Metrics) ที่สามารถนำมาใช้วิเคราะห์ได้ 3 ระดับ ได้แก่ ระดับ Awareness Stage (การรับรู้) ระดับ Consideration (ช่วงระหว่างตัดสินใจ) และ ระดับ Decision (ช่วงตัดสินใจ) ซึ่งทั้ง 3 ระดับนี้มีตัวชี้วัดย่อยอีก 18 ชนิดด้วยกัน สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ 18 ตัวชี้วัดโฆษณาออนไลน์ (Digital Advertising Metrics)

ทำ Report สรุปผลของแคมเปญ

เมื่อได้ผลสรุปของ Performance 1 ในแคมเปญเรียบร้อยแล้ว นักวิเคราะห์การตลาดดิจิทัลจะต้องสรุปผลดังกล่าวออกมาเป็น Report แล้วนำเสนอให้ธุรกิจและแบรนด์ฟังเพื่อดูว่าแคมเปญปมีประสิทธิภาพเท่ากับเป้าหมายที่ตั้งไว้ไหม และนำข้อมูลไปใช้ในการปรับปรุงกลยุทธ์การตลาดและการทำแคมเปญในครั้งต่อไปให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

คนแบบไหนที่ใช่สำหรับอาชีพ Digital Marketing Analyst 

ขี้สงสัย

ความขี้สงสัย หรือการ Start with why เป็นลักษณะสำคัญสำหรับนักวิเคราะห์การตลาดดิจิทัลและช่วยทำให้สามารถก้าวสู่การเป็นตัวท็อปในวงการได้ เนื่องจากในการวิเคราะห์ข้อมูล นักวิเคราะห์การตลาดจะต้องตอบให้ได้ว่าผลลัพธ์ที่ได้มาจากไหน ทำไมถึงได้ผลลัพธ์ตามนี้ ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อปฏิกิริยาที่ผู้คนมีต่อแคมเปญโฆษณาคืออะไร และจะสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้อย่างไร

ชอบการนำเสนอ

ในฐานะนักวิเคราะห์การตลาดดิจิทัล การนำเสนอเป็นสิ่งที่นักวิเคราะห์การตลาดทุกคนจำเป็นต้องทำ ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอต่อคนในทีม พาร์ทเนอร์ หรือผู้บริหารระดับสูง ซึ่งถ้าเป็นคนที่ไม่ถนัดและไม่ชอบในเรื่องการนำเสนออาจทำให้บางคนรู้สึกไม่สบายใจ

สนใจด้านการตลาด

แน่นอนว่าการเป็นนักวิเคราะห์การตลาดดิจิทัลจะต้องคลุกคลีกับเรื่องการตลาดทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นการทำ Market Research, หา Insight, ทำแคมเปญ และ A/B Testing เพราะฉะนั้นถ้าไม่ชอบการตลาดอาจจะเบื่อและไม่สามารถทำอาชีพนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ชอบการวิเคราะห์ข้อมูล

นอกจากต้องคลุกคลีกับการตลาด อีกศาสตร์ที่นักวิเคราะห์การตลาดดิจิทัลต้องให้ความสนใจคือการวิเคราะห์ข้อมูล เนื่องจาจกมักจะใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการวิเคราะห์ข้อมูลและการสร้าง report เพื่อนำเสนอต่อคนที่เกี่ยวข้อง

ทักษะที่ควรมีเพื่อก้าวสู่การเป็น Digital Marketing Analyst ตัวท็อป

ทักษะด้าน Hard Skills

  • Marketing Skill มีความเข้าใจเรื่องการตลาดโดยสามารถหา Customer Insight, Market Research และ ข้อมูลที่เกี่ยวพันกับแคมเปญโฆษณา หรือ สินค้าของบริษัท เพื่อนำข้อมูลมายิงโฆษณา ตั้ง A/B Testing
  • Program and Tool Skill ใช้เครื่องมือและโปรแกรมต่างๆ เพื่อช่วยในการทำการตลาดออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมทำสื่อเพื่อนำเสนอผลลัพธ์ของแคมเปญอย่าง Canva, Microsoft PowerPoint หรือโปรแกรมวิเคราะห์ข้อมูลตัวเลขอย่าง Microsoft Excel
  • Data Visualization สามารถแปลงข้อมูลเชิงลึกที่มีความซับซ้อนออกมาในรูปแบบของกราฟ หรือแผนภูมิที่ทุกคนสามารถเข้าใจได้อย่างง่ายดาย

ทักษะด้าน Soft Skills

  • Analytical Thinking Skill วิเคราะห์ ประเมินแคมเปญการตลาด และจัดการข้อมูลเชิงลึกเพื่อหารูปแบบกลยุทธ์ที่จะช่วยให้แคมเปญออกมาประสบความสำเร็จตามเป้าหมายของธุรกิจและแบรนด์และพัฒนาไปสู่ประสิทธิภาพที่ดีขึ้น
  • Communication Skill มีทักษะการนำเสนอรายงานและคำแนะนำแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยความสะดวกใจ และสามารถอธิบายข้อมูลสถิติ รวมถึงผลลัพธ์ของแคมเปญให้เข้าใจง่าย 
  • Lifelong Learning Skill ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และพร้อมที่จะเรียนรู้ตลอดเวลา เนื่องจากต้องอัปเดตข้อมูลเรื่องการใช้งานโซเชียลมีเดียและเครื่องมือที่ช่วยทำการตลาดดิจิทัลอยู่เสมอ
  • Strategic Approach Skill (think big picture) คิดถึงเป้าหมายภาพรวมและวิธีที่ดีที่สุดในการบรรลุเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพแคมเปญการตลาดให้มีผลลัพธ์ที่ยั่งยืน 

คู่มือเริ่มต้นสายงานด้าน Digital Marketing ที่รวมทักษะสำคัญ แหล่งเรียนรู้ เพื่อก้าวสู่เส้นทางสายงาน Digital Marketing สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่

 

อยากเป็น Digital Marketing Analyst  ต้องจบอะไร เรียนสาขาไหน

คณะบริหาร

  • สาขาการตลาดดิจิทัล

คณะนิเทศศาสตร์

  • สาขาการสื่อสารการตลาดดิจิทัล

คณะวิทยาศาสตร์

  • สาขาวิทยาการข้อมูลและการวิเคราะห์

สำหรับอาชีพนักวิเคราะห์การตลาดออนไลน์นั้น ความรู้ในเรื่อง Digital Marketing  และ Data Analytics นั้นเป็น 2 ศาสตร์ที่สำคัญมาก เพราะฉะนั้นการจบจากคณะที่เน้นเรื่องของการตลาด และการวิเคราะห์ข้อมูลถือเป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับการก้าวเข้าสู่อาชีพนี้ แต่กรณีที่ไม่ได้จบตรงสายมา แนะนำให้เสริมความเชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งโดยการหาประสบการณ์จากการฝึกงาน แล้วเน้นเพิ่มทักษะที่กำลังขาด

อยากเป็น Digital Marketing Analyst ต้องทำอย่างไร

ศึกษาด้าน Digital Marketing และ Data Analytics

การเป็นนักวิเคราะห์การตลาดดิจิทัลจะต้องมีพื้นฐานความรู้ทั้งด้าน Digital Marketing และ Data Analytics และสามารถนำความรู้ทั้ง 2 ด้านมาใช้ควบคู่กันได้อย่างลงตัว เพราะฉะนั้นจะต้องศึกษาและเรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อให้มีพื้นฐานที่แข็งแรงและสามารถพัฒนาต่อไปได้

หมั่นเรียนรู้

นอกจากการเรียนรู้จากในมหาวิทยาลัยโดยตรง ผู้ที่จบไม่ตรงสายสามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับศาสตร์ด้าน Digital Marketing ได้จากการเรียนคอร์สเรียนระยะสั้นเพื่อเสริมสร้างทักษะและความมั่นใจในการเป็นนักวิเคราะห์การตลาดดิจิทัลที่ดีได้


คอร์สเรียนเพิ่มทักษะ Digital Marketing ครบวงจรจาก Content Shifu 

อัปเดตคอร์สทันกระแสโลกดิจิทัล พร้อมสิทธิประโยชน์เรียนฟรีตลอดชีพ

 

ฝึกฝนทักษะอย่างสม่ำเสมอ

ประสบการณ์เป็นสิ่งสำคัญอย่างมากในการก้าวเข้าสู่การเป็นนักวิเคราะห์การตลาดดิจิทัล เพราะฉะนั้นการลองเข้าไปฝึกงานระหว่างที่กำลังเรียนอยู่นั้นนับเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้เรียนรู้การเป็นนักวิเคราะห์การตลาดดิจิทัล และเป็นอีกตัวช่วยในการสำรวจตนเองว่าตนเองเหมาะกับอาชีพนี้หรือไม่ มีทักษะอะไรที่จะต้องฝึกฝนและพัฒนาอีกบ้าง โดยสามารถหาตำแหน่งงานได้ที่นี่

สรุป

อาชีพนักวิเคราะห์การตลาดดิจิทัลมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ และแบรนด์ผ่านการใช้กลยุทธ์การตลาดดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นลูกผสมของ Digital Marketing และ Data Analytics เพราะฉะนั้นผู้ที่สนใจจำเป็นต้องมีพื้นฐานทั้ง 2 ด้านนี้ และมีทักษะในการสื่อสารที่ดี สามารถวิเคราะห์จัดการข้อมูลเชิงลึก มองภาพใหญ่ และต้องหมั่นฝึกฝนหาประสบการณ์เพื่อก้าวไปสู่ตัวท็อปในวงการนี้ 

ตาคุณแล้ว

สำหรับการก้าวเข้าสู่อาชีพนักวิเคราะห์การตลาดดิจิทัล การหาประสบการณ์ทำงานในด้านนี้สำคัญมาก เพราะฉะนั้นผู้ที่สนใจควรค่อยๆเก็บสั่งสมประสบการณ์ในสายงาน Digital Marketing หรือ Data Analytics ผ่านการฝึกงาน หรือทำงานจริง โดยสามารถหาตำแหน่งงานได้ที่นี่ หากใครมีเทคนิคดีๆ ในการเริ่มต้นอาชีพนี้สามารถคอมเมนต์กันเข้ามาได้เลยค่ะ