ทุกวันนี้มีธุรกิจเกิดขึ้นให้เห็นมากมาย โดยเฉพาะธุรกิจบนโลกออนไลน์ที่ผุดขึ้นมาเยอะแยะ จนผู้บริโภคเลือกซื้อกันไม่ถูก บางแบรนด์ก็เติบโตขึ้นมาอย่างก้าวกระโดด มีคนรู้จักมากมาย สร้างยอดขายได้อย่างมหาศาล แต่บางแบรนด์กลับได้ผลลัพธ์ตรงกันข้าม ไม่รู้ว่าต้องเลือกช่องทางไหน เลือกใช้ภาษา หรือข้อความในการสื่อสารอย่างไร หรือแม้แต่ไม่รู้ว่าควรเลือกยิงโฆษณาไปหากลุ่มเป้าหมายแบบไหน

ซึ่งสาเหตุนั้นอาจมาจากการที่ไม่มีเป้าหมายทางธุรกิจที่ชัดเจน ส่งผลให้มองไม่เห็นเส้นทางที่ควรเดินนั่นเอง ดังนั้นการที่จะช่วยให้เส้นทางสู่เป้าหมายของธุรกิจออนไลน์นั้นชัดเจนต้องพึ่งพาเครื่องมือสำคัญคือ ‘แผนการตลาดออนไลน์’ นั่นเอง 

เพื่อยกระดับธุรกิจของคุณในโลกออนไลน์ให้มีแผนชัดเจน และเดินไปได้อย่างมั่นใจมากขึ้น บทความนี้จะมาช่วยคุณให้รู้จักกับแผนการตลาดออนไลน์ พร้อมตัวอย่าง และขั้นตอนการวางแผนการตลาดแบบละเอียดทีละขั้นตอน

ถ้าพร้อมแล้ว ไปเรียนรู้กันเลย 

ยาวไปอยากเลือกอ่าน

แผนการตลาดออนไลน์คืออะไร?

แผนการตลาดออนไลน์ คืออะไร
แผนการตลาดออนไลน์คืออะไร

ขอเริ่มจากการพูดถึงความหมายของเครื่องมือสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของทุกแบรนด์ดังในโลกธุรกิจกันก่อน 

แผนการตลาดออนไลน์ (Online Marketing Plan) คือ กลยุทธ์ หรือแผนที่ทุกธุรกิจคิดค้น และเขียนขึ้นมาเพื่อกำหนดเป้าหมาย ลงมือสร้างผลงาน และสรุปผลลัพธ์ที่เกิดจากการทำการตลาดภายใน ช่วงระยะเวลาที่กำหนดไว้บนช่องทางออนไลน์ต่างๆ 

หรือสามารถเรียกอีกอย่างว่า “แผนการทำ Digital Marketing” ก็ได้เหมือนกัน 

ถ้าอธิบายอย่างง่าย แผนการตลาดออนไลน์ คือ แผนที่ถูกเขียนขึ้นมาให้ทั้งทีมมองเห็นเป้าหมาย รู้ว่าควรทำอะไรตอนไหน อย่างไร และเอาไว้ดูว่าสิ่งที่ทำลงไปนั้นประสบความสำเร็จมากน้อยขนาดไหนนั่นเอง เรียกได้ว่าเป็น Roadmap ที่จะพาธุรกิจก้าวสู่เป้าหมายได้อย่างไม่หลงทาง 

เอ๋ แล้วแบบนี้ “แผนการตลาด” แบบปกติกับ “แผนการตลาดออนไลน์” มันต่างกันที่ตรงไหน?

คำตอบคือ ต่างกันที่ช่องทางการทำการตลาด (Marketing Channels) เพราะแผนการตลาดโดยทั่วไปนั้นจะ หมายถึงกลยุทธ์การทำการตลาดทั้งแบบ Offline เช่น Event หรือ Billboard เป็นต้น และแบบ Online ควบคู่ไปด้วยกัน แต่แผนการตลาดออนไลน์นั้นจะเน้นวางกลยุทธ์การทำการตลาดบนช่องทาง Online ทั้งหมด

เรียกว่าทั้งคู่มีจุดประสงค์เดียวกัน แต่มีจุดโฟกัสต่างกันนั่นเอง

แผนการตลาดออนไลน์สำคัญกับธุรกิจอย่างไร? จำเป็นต้องทำขนาดไหน

ความสำคัญของการทำการตลาดออนไลน์
ความสำคัญของการทำการตลาดออนไลน์

สำหรับคนที่เคยทำธุรกิจมานานแล้วอาจจะรู้กันดีกว่าการมีอยู่ของแผนการตลาดนั้นมีข้อดีอย่างไร แต่สำหรับคนที่พึ่งเริ่มทำธุรกิจ หรือคนที่ไม่เคยผ่านการทำธุรกิจมาก่อนอาจจะยังมองไม่เห็นว่าสิ่งนี้สำคัญ หรือมีข้อดีต่อธุรกิจอย่างไร 

ข้อดีของแผนการตลาดออนไลน์สำหรับธุรกิจนั้นประกอบด้วย 

  • ช่วยให้ธุรกิจรู้จักตัวเองมากขึ้น
  • ช่วยให้ธุรกิจรู้จักลูกค้าดีกว่าเดิม
  • ช่วยกระตุ้นการทำงานของทีมมากขึ้น
  • ช่วยให้การทำการตัดสินใจเฉียบขาดขึ้น 
  • ช่วยติดตามผลลัพธ์ได้อย่างดี 

มาดูกันดีกว่า ว่าทำไมแต่ละข้อดีของแผนการตลาดออนไลน์ถึงมีประโยชน์ต่อการทำธุรกิจ 

แผนการตลาดออนไลน์ช่วยให้ธุรกิจรู้จักตัวเองมากขึ้น 

เริ่มที่ข้อแรกเลยนั่นคือ แผนการตลาดออนไลน์มีส่วนช่วยให้ธุรกิจรู้จักตัวเองมากขึ้นผ่านการตกตะกอนด้วย Business Canvas และ SWOT Analysis 

คำถามคือทำไมต้องรู้จักตัวเองมากขึ้น? 

สาเหตุที่ทุกธุรกิจต้องรู้จักตัวเองก่อนก็เพราะว่า การทำธุรกิจจำเป็นที่ต้องใช้โอกาสจากข้อดีที่ตัวเองมีออกมาใช้ เพื่อดึงดูดลูกค้า และสร้างยอดขายเหนือคู่แข่งนั่นเอง ดังนั้นการที่ทำแผนการตลาดออนไลน์จะช่วยให้คุณกลับมานั่ง ทบทวนว่า ธุรกิจที่คุณกำลังจะทำ หรือทำอยู่คือธุรกิจอะไร ขายอะไร อยู่ในอุตสาหกรรมแบบไหน มีจุดแข็ง-จุดอ่อนอะไรบ้าง เพื่อนำสิ่งเหล่านี้มาจัดวางกลยุทธ์การสื่อสารที่ดี และสร้างโอกาสให้กับธุรกิจของคุณในตลาด 

แผนการตลาดออนไลน์ช่วยให้ธุรกิจรู้จักลูกค้าดีกว่าเดิม 

รองลงมาจากการรู้จักตัวเองแล้วนั้น แผนการตลาดออนไลน์จะช่วยให้คุณรู้จักกลุ่มเป้าหมาย หรือลูกค้าของคุณมากขึ้น

ข้อนี้ถือว่าสำคัญอย่างมาก เพราะถ้าธุรกิจไม่มีกลุ่มเป้าหมาย ไม่รู้จะขายให้ใคร ทุกอย่างจะหลงทางไปหมด 

แผนการตลาดออนไลน์จะช่วยให้คุณกลับมาพิจารณาว่าใครกันแน่คือ กลุ่มเป้าหมาย (Target Audience)  ที่แท้จริงของธุรกิจผ่านการทำ Persona เพื่อให้ธุรกิจสามารถออกแบบวิธีการสื่อสาร เลือกใช้ช่องทางที่เหมาะสม และวางกลยุทธ์ในการเข้าถึงคนเหล่านี้ได้ 

ยิ่งรู้จักพวกเขาดีเท่าไหร่ แนวทางการเลือกสื่อสารของแบรนด์จะชัดเจนยิ่งขึ้น 

แผนการตลาดออนไลน์กระตุ้นการทำงานของทีมมากขึ้น 

เพราะแผนการตลาดออนไลน์คือการตั้งเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ทางการตลาดขึ้นมา และวางแผนการลงมือทำให้พิชิตเป้าหมายนี้ 

ดังนั้นการสร้างแผนการตลาดขึ้นมามีส่วนช่วยกระตุ้นการทำงานของทีมให้ไปในทิศทางเดียวกัน และไม่หลงทางนั่นเอง เพราะทุกคนมองเห็นเป้าหมายสุดท้ายเดียวกันว่าคืออะไร และการจะเข้าไปถึงเป้าหมายนั้นต้องลงมือสร้างผลงานอะไรออกมาบ้าง ตามหน้าที่ และความรับผิดชอบของตัวเอง 

แผนการตลาดออนไลน์ช่วยการตัดสินใจให้เฉียบขาดขึ้น

การลังเลว่าขั้นตอนต่อไปควรลงมือทำอะไรดี หรือควรเดินไปทางไหนดีอาจไม่ดีต่อการทำธุรกิจ โดยเฉพาะการทำธุรกิจออนไลน์ที่ทุกอย่างเดินไปอย่างรวดเร็ว 

การสร้างแผนการตลาดออนไลน์นั้นช่วยให้เจ้าของธุรกิจ หรือทีมสามารถตัดสินใจได้อย่างมั่นใจ และเฉียบขาดมากขึ้น ลดความเสี่ยงที่จะเกิดจากการตัดสินใจพลาดเพราะความลังเล เพราะว่าแผนการตลาดออนไลน์ที่ทำไว้ได้กำหนดไว้แล้วว่าควรอะไรก่อน และหลัง ละใช้ระยะเวลาในการสร้างผลงานเหล่านั้นนานแค่ไหน 

ซึ่งเป็นประโยชน์ที่ไม่ต้องเสียเวลาตัดสินใจนาน และสามารถลงมือทำงานได้ทันทีตาม Time Frame ที่กำหนดเอาไว้ 

แผนการตลาดออนไลน์ช่วยให้ธุรกิจรู้ว่าสิ่งที่ทำสำเร็จหรือไม่

ข้อดีอีกอย่างของการทำแผนการตลาดออนไลน์คือ ทุกผลงานที่ลงมือทำลงไปนั้นสามารถติดตามผลลัพธ์ได้

เพราะการวางแผนการตลาดออนไลน์นั้นจำเป็นต้องกำหนดเป้าหมาย และเพื่อให้ธุรกิจรู้ว่าสิ่งที่ทำลงไปนั้นได้ผล หรือไม่ได้ผลจำเป็นต้องวัดผลว่าพิชิตเป้าหมายหรือไม่ โดยวิธีการวัดผลนั้นก็ขึ้นอยู่กับเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ 

ตัวอย่าง เช่น ธุรกิจ A ตั้งเป้าหมายว่าจะต้องขายสินค้าให้ได้ 5 ล้านบาทบนช่องทาง Facebook ดังนั้นการวัดผลก็ควรไปดูที่ยอดขายที่สร้างได้จาก Facebook ว่าถึง 5 ล้านบาทจริงไหม? หรือธุรกิจ B ตั้งเป้าหมายว่าเดือนนี้จะต้องได้ผู้ติดตามร้านค้าบน Instagram เป็นจำนวน 20,000 บัญชี ดังนั้นการวัดผลลัพธ์ก็ควรไปดูว่าจำนวน Followers ที่เพิ่มขึ้นนั้นมีถึง 20,000 อย่างที่คาดหวังไว้ไหม เป็นต้น 

ซึ่งแผนการตลาดออนไลน์มีส่วนช่วยให้ธุรกิจรู้ว่าอะไรดี และไม่ดี และช่วยประหยัดแรงในการหลีกเลี่ยงสร้างผลงาน ที่ไม่ประสบสำเร็จในครั้งต่อๆ ไปนั่นเอง

ตัวอย่างแผนการตลาดออนไลน์ พร้อมเว็บดาวน์โหลด Template

มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะอยากลองวางแผนการตลาดออนไลน์กันแล้ว แต่ยังเห็นภาพไม่ชัดพอว่าหน้าตาของแผนการตลาดออนไลน์จะเป็นอย่างไร 

มาดูตัวอย่างแผนการตลาดออนไลน์กันว่ามีรูปร่างหน้าตาอย่างไร 

ตัวอย่าง แผนการตลาดออนไลน์แบบตาราง จาก Mayple.com

ซึ่งการทำแผนการตลาดออนไลน์นั้นไม่จำกัดรูปแบบว่าต้องเป็นการทำใส่ตารางอย่างเดียว ขึ้นอยู่กับความถนัด และการตกลงร่วมกันของทีมว่ารูปแบบไหนจะสร้างความเข้าใจได้ง่ายกว่ากัน แต่โดยปกติมันจะเลือกทำแบบตารางมากกว่าเพราะสามารถจัดการงานได้เป็นระบบ และเห็นภาพชัดสุด

โดยที่ธุรกิจสามารถเลือกใช้เครื่องมือมาช่วยสร้างสรรค์แผนการตลาดออนไลน์ของตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องมือ Spreadsheet ชื่อดังอย่าง Excel และ Google Sheet ที่สามารถปรับแต่งข้อมูลได้อย่างอิสระ 

หรือสำหรับธุรกิจที่ไม่ถนัดการใช้งาน Spredsheet นั้นก็มีตัวช่วยที่เรียกว่า Marketing Plan Template ที่เปิดให้ดาวน์โหลด หรือล็อคอินไว้ใช้งานเยอะแยะมากมายบนอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็น HubSpot, Mayple, Instagantt เป็นต้น

ตัวอย่าง แผนการตลาดออนไลน์ตาม Marketing Funnels จาก Clickminded

5 ขั้นตอนการวางแผนการตลาดออนไลน์ พร้อม Tools ช่วยทำงานแต่ละขั้นตอน

อ่านมาถึงตรงนี้ คิดว่าทุกคนคงพร้อมสร้างแผนการตลาดออนไลน์ของตัวเองกันแล้ว ซึ่งบอกเลยขั้นตอนการทำของแต่ละคนไม่จำเป็นต้องตามขั้นตอนเหล่านี้เป๊ะๆ เพราะขั้นตอนเหล่านี้เป็นเพียงวิธีที่ผู้เขียนใช้วางแผนการตลาดออนไลน์ของตัวเอง ซึ่งทุกคนอาจมีวิธีที่ถนัดแตกต่างกันออกไป 🙂 

มาดูกันว่าแต่ละขั้นตอนของการวางแผนการตลาดออนไลน์นั้นประกอบด้วยอะไรบ้าง 

  • การรู้จักแบรนด์และกลุ่มเป้าหมายของตัวเอง
  • กำหนดจุดแข็ง จุดอ่อนของธุรกิจ 
  • กำหนดเป้าหมายทางธุรกิจ 
  • ลงมือสร้างผลงานให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย
  • วัดผลลัพธ์ของผลงานทั้งหมด 

เอาล่ะ มาเริ่มกันเลย!

รู้จักแบรนด์ และกลุ่มเป้าหมายของตัวเอง 

ก่อนที่จะลงมือสร้างแผนทำคอนเทนต์ตีตลาด สิ่งแรกที่ทุกธุรกิจต้องรู้ และเข้าใจอย่างละเอียดมากกว่าเรื่องไหนเลยก็คือ การรู้จักแบรนด์ของตัวเอง ว่าแบรนด์ของคุณขายอะไร มีภาพรวมอย่างไร และขั้นตอนถัดไปคือการนำความเข้าใจมาสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ และสุดท้ายถึงเริ่มทำความเข้าใจกับกลุ่มเป้าหมายนั่นเอง 

โดยเครื่องมือที่จะมาช่วยคุณรู้จักตัวเอง และกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้นคือ Business Model Canvas, Corporate Identity (CI), และ Customer Persona 

business model canvas ตัวอย่าง
ตัวอย่าง Business Model Canvas จาก strategyzer.com

เครื่องมือตัวแรกคือ Business Model Canvas หรือเครื่องมือที่ประกอบไปด้วยปปัจจัย 9 อย่างที่จำเป็นต่อธุรกิจ ได้แก่ 

  • Key Partners หรือพันธมิตรทางธุรกิจ
  • Key Activities หรือกิจกรรมทางธุรกิจ
  • Key Resources หรือทรัพยากรหลักที่ธุรกิจจำเป็น
  • Value Propositions หรือจุดขายของธุรกิจ
  • Customer Relationship หรือความสัมพันธ์กับผู้บริโภค
  • Customer Segment หรือกลุ่มผู้บริโภคของธุรกิจ
  • Channels หรือช่องทางการสื่อสารกับกลุ่มผู้บริโภค
  • Cost Structure หรือต้นทุนทั้งหมดของธุรกิจ
  • Revenue Streams หรือรายได้ของธุรกิจ 

ต่อไปคือเครื่องมือที่เรียกว่า Corporate Identity หรือ CI ที่ทำหน้าที่เป็น ‘ภาพจำของแบรนด์’ ให้กับกลุ่มเป้าหมาย เพราะสิ่งนี้คือการผสมผสานระหว่าง Branding และ Design เข้าไว้ด้วยกัน 

ตัวอย่างเช่น เวลาคุณเห็นสัญลักษณ์ตัว M สีเหลือง แบรนด์แรกที่เข้ามาในหัวคือ Mcdonald’s ใช่ไหมละ? ซึ่งนั่นคืออีกหนึ่งวิธีการสร้างตัวตนให้แบรนด์ให้เป็นที่จดจำในท้องตลาดนั่นเอง 

และเครื่องมือถัดไปที่จะช่วยให้คุณมองเห็นชัดว่าเดิมว่าเริ่มต้นทำธุรกิจไปเพื่อใคร นั่นคือ Customer Persona หรือเครื่องมือจำลองกลุ่มเป้าหมาย 

ตัวอย่าง Customer Persona
ตัวอย่าง Customer Persona จาก Content Shifu

เครื่องมือนี้จะช่วยให้คุณวิเคราะห์ว่าคนที่จะเข้ามาเป็นกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจมีพฤจิกรรมการใช้ชีวิต อย่างไร โดยข้อมูลที่จะช่วยให้เครื่องมือนี้สมบูรณ์ขึ้นนั้นประกอบไปด้วย 

  • ข้อมูลพื้นฐาน เช่น อายุ, อาชีพ, รายได้, ครอบครัวและการศึกษา เป็นต้น
  • เป้าหมาย / ปัญหาที่พบเจอ / รูปแบบการใช้ชีวิต
  • พฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้า
  • ปัจจัยในการเลือกซื้อสินค้า
  • ช่องทางที่ใช้งานเป็นประจำ
  • แบรนด์หรือคนดังที่ชื่นชอบ เป็นต้น 

ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้ทั้งทีมมองเห็นภาพชัดเจนว่าควรเลือกช่องทาง ภาษา และวิธีการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายอย่างไร

กำหนดจุดแข็ง จุดอ่อนของธุรกิจ 

ขั้นตอนต่อไปคือการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อนของธุรกิจของตัวเอง เพราะการที่รู้ว่าเรามีดี และขาดในเรื่องอะไรนับว่าเป็นแต้มต่อในการทำธุรกิจ นับว่าเป็นการมองหาโอกาสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจของคุณ 

ตัวอย่าง SWOT Analysis
ตัวอย่าง SWOT Analysis จาก Wordstream

โดยเครื่องมือที่จะมาช่วยคุณวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อนของธุรกิจคือ SWOT Analysis หรือเครื่องมือที่ช่วยคุณมองเห็นปัจจัยต่างๆ ที่สามารถเกิดขึ้นทั้งภายใน และภายนอกธุรกิจได้ 

ประกอบไปด้วย 

  • Strength หรือจุดแข็งของธุรกิจ 
  • Weakness หรือจุดอ่อนของธุรกิจ 
  • Opportunity หรือโอกาสที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจ 
  • Threat หรือความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจ 

กำหนดเป้าหมายทางธุรกิจ

เมื่อคุณรู้จุดยืนของตัวเองแล้วว่าสร้างธุรกิจอะไร และทำออกมาเพื่อขายให้ใคร ขั้นตอนต่อไปก่อนเริ่มต้นทำแผนการตลาดออนไลน์ก็คือ การกำหนดเป้าหมายทางธุรกิจ เพื่อให้ทีมสามารถสร้างแผนที่สอดคล้องกับเป้าหมายได้นั่นเอง 

เครื่องมือที่หลายธุรกิจมักนำมาใช้ในการกำหนดเป้าหมายคือ SMART Goal หรือเป้าหมายที่ประกอบไปด้วยปัจจัย 4 อย่างได้แก่ 

  • Specific เป้าหมายต้องเฉพาะเจาะจง 
  • Measurable เป้าหมายต้องวัดผลได้ 
  • Attainable เป้าหมายต้องอยู่บนความเป็นจริง และสามารถจับต้องได้ 
  • Relevant เป้าหมายต้องเกี่ยวข้องกับธุรกิจที่กำลังทำ
  • Time Bound เป้าหมายต้องมีขอบเขตเวลาที่แน่นอน 

ตัวอย่าง เช่น ธุรกิจ A ที่ทำร้านเสื้อผ้า ต้องการสร้างยอดขายเสื้อผ้าจาก Social Media อย่าง Facebook เป็นเงินทั้งหมด 200,000 บาท ภายในระยะเวลา 1 เดือน 

เมื่อมีเป้าหมายขึ้นมาแล้วจะทำอย่างไรให้พิชิตเป้าหมายเหล่านั้น? 

คำตอบคือ การวางแผนการตลาดออนไลน์ให้ดี และลงมือทำตามแผนที่วางไว้นั่นเอง 

ลงมือวางแผน และสร้างผลงานให้ตอบโจทย์

ขั้นตอนถัดมาก็คือลงมือวางแผนการตลาดออนไลน์ของคุณเองได้เลย โดยตั้งเป้าหมายทางธุรกิจไว้ เป็นโจทย์ที่ต้องทำให้ได้ และวางแผน ผลิตคอนเทนต์ออกมาให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายของคุณได้เลย

แต่ถ้าไม่รู้ว่าควรเริ่มวางแผนการผลิตคอนเทนต์อย่างไรให้ตอบโจทย์ และดึงกลุ่มเป้าหมายเหล่านั้นมาเป็นลูกค้าจริงๆ ในอนาคต ขอแนะนำให้รู้จักกับ Framework ที่เรียกว่า Marketing Funnel หรือใครจะเรียกว่า Sales Funnel ก็ย่อมได้

Marketing Funnel หรือ Sale Funnel คือระบบการจัดการการขาย หรือการทำการตลาดตามช่วงเวลาของกลุ่มเป้าหมาย ที่แบ่งออกเป็น 3 ช่วงได้แก่ 

  • ช่วงตามหากลุ่มลูกค้าที่มุ่งหวัง หรือ Lead (Awareness Stage)
  • ช่วง Lead กำลังลังเล หรือกำลังตัดสินใจ (Consideration Stage)
  • ช่วงที่ Lead เปลี่ยนผันมาเป็นลูกค้าอย่างแท้จริง (Conversion Stage)

แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าควรทำคอนเทนต์ออกมายังไง? ผู้คนต้องการรับสารแบบไหนกัน?

ไม่ยากเลย! เพราะว่าก็มีตัวช่วยอีกเช่นเดียวกันซึ่งเจ้าเครื่องมือนี้จะเรียกว่า ‘Search Listening Tools’ และ Social Listening Tools นั่นเอง โดยที่ทั้งสองมีหน้าที่เหมือนกันคือ ดักฟัง Keyword ที่ผู้คนบนโลกออนไลน์เคยค้นหา หรือให้คนสนใจ เช่น Google Trend, KWFinder, DOMและอื่นๆ อีกมากมาย

หรือสามารถอ่านบทความนี้ เพื่อค้นหาไอเดียคอนเทนต์เพิ่มเติมก็ได้เหมือนกัน

ซึ่งในแต่ละช่วงจะมีวิธีการเลือกทำคอนเทนต์ และวิธีการสื่อสารที่แตกต่างกันออกไปตามช่วงเวลา 

เพียงเท่านี้คุณก็สามารถวางแผนการตลาดออนไลน์ของตัวเองได้แล้ว โดยคำนึงจาก Keyword ที่ผู้คนกำลังตามหา และ Marketing Funnel ในแต่ละช่วง

วัดผลลัพธ์ของผลงานทั้งหมด 

เมื่อทุกผลงานได้เผยแพร่ออกสู่สายตาของผู้คนแล้ว ก็ถึงคิวของขั้นตอนสุดท้ายที่จะเป็นตัววัดว่าสิ่งที่ คุณและทีมลงแรงไปนั้นคุ้มกับที่ทำไปหรือไม่ และนั่นคือขั้นตอนของการวิเคราะห์ผลลัพธ์ หรือประสิทธิภาพของคอนเทนต์ที่ได้ทำลงไป 

โดยการวัดผลลัพธ์ว่าแผนการตลาดออนไลน์นั้นสำเร็จหรือไม่ ต้องดูว่า SMART Goal ที่ตั้งเอาไว้สำเร็จไหม คุณสามารถพิชิตเป้าหมายเหล่านั้นในระยะเวลาที่กำหนดหรือไม่ ซึ่งการทำการตลาดแต่ละประเภทก็จะมีตัวชี้วัดที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับเป้าหมายในตอนแรก 

สามารถดูตัวอย่าง ตัวชี้วัดโฆษณาออนไลน์ ได้จากที่บทความนี้ได้เลย 

และตัวชี้วัดนี้จะบอกเองว่าจุดไหนของแผนการตลาดที่คุณ และทีมทำได้ดี ทำพลาดไป และควรนำสิ่งไหนไปต่อยอดในการวางแผนการตลาดออนไลน์ครั้งใหม่ในอนาคต

สรุป

การวางแผนการตลาดออนไลน์นั้นไม่มีวิธีที่ตายตัวว่าควรทำแบบไหน มีขั้นตอนอะไรบ้าง แต่หัวใจหลักของการวางแผนการตลาดออนไลน์คือต้องรู้จักแบรนด์ รู้จักจุดแข็ง จุดอ่อน รู้จักลูกค้าเพื่อนำข้อมูลไปต่อยอดกับการกำหนดเป้าหมายทางธุรกิจ และจัดการวางแผนวิธีการ สื่อสารความเป็นแบรนด์ สินค้าและบริการของคุณออกไปให้ถึงกลุ่มเป้าหมายที่ใช่ บนช่องทางที่ใช่ และในช่วงเวลาที่ใช่