อย่างที่คนหลายๆ คนน่าจะรู้กันว่าเว็บไซต์ Content Shifu ของพวกเรานั้นสร้างโดยใช้ WordPress และถ้าใครที่รู้เรื่องเทคนิคัลขึ้นมามากหน่อยก็จะรู้ว่า Content Shifu Academy ซึ่งเป็น Online Academy ที่พวกเราสอนเกี่ยวกับ Inbound Marketing / Online Marketing นั้นก็ถูกสร้างผ่าน WordPress เหมือนกัน เพียงแต่ว่ามันจะถูกแยกออกมาเป็นอีกเว็บไซต์นึงดังจะเห็นได้จากการที่มันเป็น Subdomain (academy.contentshifu.com)

แต่นับจากวันนี้ Content Shifu Academy จะไม่ได้อยู่ที่ WordPress อีกต่อไป

ในบทความผมจะมาแชร์ประสบการณ์ ปัญหา และก็การตัดสินใจอะไรบางอย่างของพวกเราเกี่ยวกับ Content Shifu Academy ไม่ว่าคุณจะเป็นสายเทคนิคัลรึเปล่า ไม่ว่าคุณจะมีเว็บไซต์ของตัวเองหรือไม่ ผมมั่นใจว่าคุณอ่านบทความนี้จบ คุณจะได้ประโยชน์แน่นอน : )

เกริ่นให้ได้เข้าใจก่อน

Themeforest

Content Shifu นั้นถูกสร้างขึ้นโดยใช้ธีม Eduma ที่ซื้อมาจาก Themeforest (ราคา $64) และก่อนหน้านี้ Content Shifu Academy นั้นก็ถูกสร้างขึ้นมาโดยใช้ธีมเดียวกัน

ตอนทำ Content Shifu ตัวหลักนั้น ผมใช้เวลาในการทำเว็บไซต์ไม่นานมาก ถ้าคิดเป็นจำนวนวันคร่าวๆ ก็น่าจะสักประมาณ 3-4 วัน เพราะมันถูกสร้างผ่านธีม และผมใช้ WordPress มาเป็นระยะเวลานานพอสมควรแล้ว การที่จะสร้างเว็บที่มันดูไม่แย่ขึ้นมาสักเว็บมันก็ไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป อีกทั้ง Content Shifu เป็นแค่บล็อก ไม่ได้มีระบบอะไรซับซ้อน

แต่สำหรับ Content Shifu Academy นั้นมันต่างออกไป สาเหตุก็คงเป็นเพราะ Content Shifu Academy นั้นไม่ใช่แค่บล็อก แต่มันเป็นคลาสเรียนที่ต้องไปยุ่งกับพวก Video Hosting, ระบบ Payment และระบบ Registration ต่างๆ

ปัญหาที่เจอคือ

1. บั๊กเพียบ

ตัวธีมที่ผมซื้อมานั้นมีฟีเจอร์ค่อนข้างเยอะ (เอาจริงๆ ไม่ใช่แค่ค่อนข้างเยอะ แต่เป็นเยอะมากๆ เลยแหละ) ซึ่งพอผม (หรือเจ้าของธีม) แก้ปัญหาที่จุดหนึ่งไปได้ ปัญหาจุดอื่นๆ ก็ตามมาไม่รู้จักจบ ไม่รู้จักสิ้น

การใช้ธีมนี้มันทำให้ผมบรรลุสัจธรรมที่ว่า “ที่ใดมีบั๊ก ทีนั่นมีทุกข์ ใจขื่นขม ระทมชั่วนิรันดร์” จริงๆ 

2. ธีมหนัก

การใช้ธีมที่พยายามจะใส่หลายๆ เข้ามาในที่เดียวนั้นส่งผลให้เว็บไซต์นั้นค่อนข้างหนัก และเมื่อผสมกับ Plugin ที่ติดเพิ่มเข้าไป มันทำให้ผมไม่มั่นใจว่า ด้วยความสามารถที่ผมมีอยู่ (ผมไม่เขียน Code) ผมจะสามารถใช้ WordPress ในการจัดการกับ Content Shifu Academy ได้ในระยะยาวรึเปล่า

3. ความเป็น Professional ของเจ้าของธีม

ข้อดีของการซื้อสินค้าผ่านตลาดกลาง หรือ Marketplace บนโลกออนไลน์ก็คือสินค้าจะมีความหลากหลาย และส่วนมากแล้วมันมักจะมีราคาถูกกว่าปกติ แต่นั่นก็ต้องแลกมาด้วยอะไรหลายๆ อย่าง เช่นคุณภาพของสินค้า/บริการ หรือการ Support

ซึ่งในเคสนี้ที่ผมเจอก็คือ ถึงแม้ว่าตัวเจ้าของธีมนั้นจะมีความ Friendly เวลาคุยกัน แต่เมื่อถึงเวลาแก้ปัญหานั้น พวกเขาทำให้ผมรู้สึกว่า พวกเขาไม่ “Professional” เลยแม้แต่นิดเดียว

Shifu แนะนำ
ใครที่กำลังหาธีมจาก Themeforest อยู่ ผมแนะนำให้อยู่ห่างจาก Author ที่ชื่อว่า “Thimpress” นะครับ

เบ็ดเสร็จแล้วผมคิดว่าผมใช้เวลาไปไม่น้อยกว่า 50-70 ชั่วโมงในการทำให้ Content Shifu Academy มันพอใช้งานได้จริง ซึ่งเวลาตรงส่วนนี้ ยังไม่รวมการแก้ไขบั๊ก และการแก้ไขปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างใช้งานอีกด้วย

ซึ่งหลังจากที่ทดลองใช้ WordPress ทำ Online Course มาได้ 4-5 เดือน ผม และน้องอรก็คุยกันว่าถ้าพวกเรายังใช้ธีมนี้ และใช้ WordPress ในการทำ Online Couse ต่อไป เราจะต้องเจอปัญหาไม่จบไม่สิ้นแน่นอน

และนอกจากพวกเราจะต้องเจอปัญหาแล้ว ผู้เรียนก็อาจจะต้องเจอปัญหาเยอะเหมือนกัน ซึ่งตรงจุดนี้พวกเรายิ่งยอมไม่ได้เลย

เดี๋ยวมาลองดูทางแก้ที่พวกเราเลือกกันนะครับ : )

วิธีแก้

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าเว็บไซต์หลักของ Content Shifu ยังคงเป็น WordPress อยู่ เพราะผมเชื่อมั่นว่า WordPress เป็นหนึ่งใน CMS (Content Management System) ที่ดีที่สุดในแง่การใช้งาน ฟีเจอร์ ฟังก์ชั่น และความง่าย ถ้าตัวเว็บไซต์ไม่ได้มีความซับซ้อนมาก ผมคิดว่า WordPress นั้นเรียกได้ว่า “ดีเกินพอ” เลย  

ส่วน Content Shifu Academy นั้น พวกเราได้ Outsource ไปให้ “ผู้เชี่ยวชาญ” ดูแลระบบให้แทน

ถ้าพิจารณาจากความต้องการ (ฟังก์ชั่น ฟีเจอร์ที่อยากได้ และการที่สิ่งที่สำคัญนั้นอยู่บน Platform ที่พวกเราสามารถจัดการอะไรต่างๆ ได้เอง) บวกกับงบประมาณที่พวกเรามี ตัวเลือกของพวกเรานั้นมีอยู่ 2 ตัวเลือกก็คือ Teachable และ Thinkific

ซึ่งสุดท้ายพวกเราตัดสินใจเลือก Teachable สาเหตุหลักนั้นก็เป็นเพราะ  Teachable นั้นตอบโจทย์การใช้งานของพวกเรามากกว่า โดยที่ราคาของเครื่องมือตัวนี้นั้นเริ่มต้นที่เดือนละ $39

สิ่งที่เรียนรู้

1. ถูก เร็ว ดี ไม่มีอยู่จริง

ถ้าอยากได้ของถูก เร็ว มันก็มักจะไม่ดี ถ้าอยากได้ของเร็ว ดี มันก็มักจะไม่ถูก และถ้าอยากได้ของถูก ดี มันก็มักจะไม่เร็ว

จากประสบการณ์ที่ใช้เครื่องมือออนไลน์มาหลายตัว (และเจ็บมาหลายครั้ง) ผมมีคติประจำใจดังนี้ครับ

1. อย่าติดกับดักคำว่า “ราคาถูก” ถ้ามันถูกจนน่าเหลือเชื่อ อย่าซื้อ เพราะสุดท้ายแล้ว “ของถูก” จะกลายเป็น “ของแพง”

2. การที่ของบางอย่างมีราคาแพง มันมีเหตุผลของมัน สิ่งที่คุณต้องทำก็คือ “พิจารณา” ดูว่าของสิ่งนั้นมันคุ้มค่ากับการลงทุนรึเปล่า

3. ถ้าของที่คุณใช้เป็นของฟรี แล้วดี อย่าพึ่งดีใจไป คุณไม่ใช่ “ลูกค้า” แต่คุณอาจจะเป็น “สินค้า”

2. อะไรที่ไม่ถนัด อย่าทำ

จริงๆ แล้วเรื่องการเขียนโปรแกรม หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมนี่เป็นเรื่องที่ไม่ถูกกับผมมาตั้งแต่ตอนผมเรียนปี 1 (ได้ D)

ในการสร้าง Content Shifu Academy ในครั้งนี้นั้น ผมได้กลับไปลองยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเขียนโปรแกรมอีกครั้ง แต่หลังจากที่ปล้ำกับมันมาได้มาได้ 4-5 เดือน มันทำให้ผมรู้ว่า “เออ จริงๆ แล้ว ผมไม่ได้เกิดมาเพื่อเขียนโปรแกรมจริงๆ นั่นแหละ ฮา”

สิ่งที่ผมเรียนรู้ก็คือการที่ Outsource หรือการส่งงานต่อไปให้กลุ่มคน หรือบริการที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องที่เราไม่ถนัด แล้วเราหันกลับมาโฟกัสเรื่องที่เราถนัด และเรื่องที่สำคัญกับเราจริงๆ น่าจะทำให้ผลลัพธ์ออกมาดีกว่า

3. ทรัพย์สินที่มีค่าที่สุดคือ “เวลา”

เงินหมด หาใหม่ได้ แต่เวลาหมดหาใหม่ไม่ได้

ในเคสต์นี้ของ Content Shifu การที่ผมต้องมาแก้ไขปัญหาที่เกิดจากธีมอยู่เรื่อยๆ นั้นมันทำให้ผมเสียทรัพย์สินที่มีค่าที่สุดของผมก็คือ “เวลา” ไปเยอะมาก

การที่ Content Shifu จะต้องเสียเงินเดือนละ $39 แทนที่จะเสีย $64 ให้กับธีม WordPress แค่ครั้งเดียว เพื่อแลกกับการที่ผมไม่ต้องไปวุ่นวายกับเรื่องบั๊ก และเรื่องระบบ ผมคิดว่ามันน่าจะคุ้มกว่ากันเยอะครับ

ป.ล. ผมไม่ได้บอกว่าคุณควรที่จะต้องใช้เงินซื้อทุกอย่างที่สามารถซื้อได้นะครับ ถ้าของมันมีราคาแพงเกินไป หรือถ้าคุณลงแรง ลงเวลาเอง แล้วมันคุ้มกว่า คุณก็ควรจะเลือกการลงแรง ลงเวลาแทน

ช่วงขายของ : )

เร็วนี้ๆ Content Shifu จะเพิ่มคอร์สออนไลน์ลงไปใน Academy ซึ่งจะเน้นเนื้อหาแบบค่อนข้างเจาะลึกลงไปในแต่ละศาสตร์ นอกจากเรื่องคอนเซปต์แล้ว เราจะมาสอนวิธีการทำ และวิธีการใช้เครื่องมือที่เรียนจบแล้วสามารถเอาไปใช้งานได้จริงทันทีด้วยครับ

แต่ตอนนี้คอร์สแรกที่เราอยากจะแนะนำให้ไปเรียนก่อนคือคอร์ส Inbound Marketing 101 ซึ่งเป็นคอร์สประมาณ 2 ชั่วโมงที่ทุกคนสามารถเข้าไปลองเรียนได้ฟรีครับ จะได้เห็นภาพรวมก่อนว่า Inbound Marketing คืออะไร และเนื้อหาที่เราจะมาแชร์จะเป็นรูปแบบไหน

ถ้าคุณเคยเข้าไปเรียนคอร์สนี้ผ่านระบบเก่ามาก่อนแล้ว เรารับรองว่า Experience ในระบบใหม่จะไฉไลขึ้นกว่าเดิมแน่นอน

หรือถ้าคุณยังไม่เคยเข้าไปเรียนคอร์ส Inbound Marketing 101 มาก่อนเลย วันนี้ได้เวลาแล้วครับ ลุย! : )