ธุรกิจ SME เป็นกลุ่มธุรกิจส่วนใหญ่ที่ขับเคลื่อนประเทศไทยของเรา ซึ่งถ้าพูดถึงเรื่องการตลาดออนไลน์ที่เรียกได้ว่าเป็นกระแสหลักในปัจจุบัน SME แทบจะทุกเจ้านั้นก็พยายามที่จะปรับตัว และใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และพฤติกรรมของผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด (ถ้าพูดถึงเรื่องความคิดสร้างสรรค์ เช่นการ Live ขายของ เปิดคอร์สบน Facebook กรุ๊ปลับ และอื่นๆ อีกหลายอย่าง คนไทยไม่แพ้ชาติไหนในโลกเลย ?)

ในฐานะที่บริษัทของผมเป็น SME เหมือนกัน แต่เป็น SME แบบ B2B ที่โฟกัสในการให้บริการทำการตลาดออนไลน์ ผมขออนุญาตมาแชร์ 7 แนวคิดการทำการตลาดออนไลน์สำหรับ SME ให้ได้อ่านกันนะครับ ไม่ว่าคุณจะเป็นมือใหม่ หรือมือเก่า รับรองว่าอ่านได้ครับ

ป.ล. เช่นเคย สิ่งที่ผมเขียนเป็นความคิดส่วนตัวของผม ถ้าคุณไม่เห็นด้วย หรือมีอะไรเสริมเพิ่มเติม มาคุยกันต่อได้ในคอมเมนต์นะครับ 🙂

ปัจจัยที่ SME ต้องคำนึงถึงอยู่เสมอ

ก่อนที่จะเข้าเรื่องแนวคิดทั้ง 7 ข้อ ผมขออนุญาตเขียนถึงปัจจัย 3 ข้อก่อน

1. ข้อแรกคือสำหรับ SME แล้วสภาพคล่องเป็นสิ่งสำคัญ เพราะ SME ไม่ได้มีเงินถุงเงินถังที่จะสามารถใช้จ่าย หรือทดลองทำแคมเปญใหม่ๆ ได้อย่างไม่จบสิ้น

2. ข้อสองคือ SME ไม่ได้มีกำลังคนเยอะ หลายๆ ที่อาจจะมีเพียงแค่หนึ่งสมอง และสองมือด้วยซ้ำ

3. ข้อสุดท้ายคือเรื่องของ Branding ที่ SME ส่วนมากแล้วอาจจะไม่ได้ดัง และไม่ได้มีภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่แข็งแรง

ปัจจัยทั้ง 3 ข้อที่ผมเขียนถึงด้านบนนี้ เป็นข้อจำกัดที่ผมคิดถึงอยู่ตลอดเวลาก่อนที่จะเขียนคำแนะนำข้างล่างนะครับ

7 แนวคิดการทำการตลาดออนไลน์สำหรับธุรกิจ SME

1. Be Everywhere: แทรกซึมไปอยู่ในทุกที่

บนโลกออฟไลน์ ไม่ว่าของคุณจะเจ๋งแค่ไหน คุณสามารถมีหน้าร้านอยู่แค่เพียงทำเลใดทำเลหนึ่งเท่านั้น (หรืออย่างมากก็ขยายสาขา) แต่ในโลกออนไลน์นั้นคุณสามารถอยู่ และขายของได้ทุกที่ที่มีลูกค้า

การเริ่มต้นด้วยการเปิดเพจ Facebook ขายของนั้นทำได้ง่าย แต่ลูกค้าของคุณนั้นไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่บน Facebook ตลอดเวลา (โดยเฉพาะตอนที่พวกเขากำลังจะตัดสินใจซื้อของ) นอกจาก Social Media แล้ว Market Place เช่น Lazada ก็เป็นที่ที่สำคัญที่คุณควรจะไปเพราะพวกเขาได้สร้างฐานลูกค้าไว้ให้คุณแล้ว และคุณก็ไม่ควรมองข้ามอสังหาริมทรัพย์บนโลกออนไลน์ที่แท้จริงอย่าง Website เช่นเดียวกัน

ในความเห็นของผม ถ้าคุณทำธุรกิจแบบ B2C คุณควรที่จะโฟกัสที่ Social Media และ Market Place มากหน่อย (ผมแนะนำให้คุณไปศึกษาเนื้อหาจากบทความเหล่านี้เพิ่มเติม สรุป 6 เทรนด์ Social Media กับทิศทางที่ต้องตามให้ทัน และ จับตาเทรนด์ E-Commerce ไทย ทำอย่างไรให้ธุรกิจอยู่รอดในยุคไร้พรมแดน) แต่ถ้าคุณทำธุรกิจแบบ B2B Website จะเป็นพนักงานขายบนโลกออนไลน์ที่ดีที่สุดของคุณเพราะการมีเว็บไซต์ที่ช่วยตอบคำถามหรือปัญหาให้กับลูกค้าจะช่วยให้พวกเขาเข้ามาเจอคุณผ่าน Search Engine (ซึ่งคุณต้องทำ SEO ให้กับเว็บไซต์ของคุณด้วย)

Shifu แนะนำ
สำหรับธุรกิจ B2B เรามี Presentation ที่คุณสามารถดาวน์โหลดไปศึกษาเพิ่มเติมได้ ธุรกิจ B2B ทำ Digital Marketing อย่างไรให้ประสบความสำเร็จ

2. But don’t be everything for everyone: อย่าเป็นทุกสิ่งสำหรับทุกคน

เพราะถ้าคุณเป็นทุกสิ่งให้กับทุกคน สุดท้ายแล้วคุณจะไม่ได้เป็นอะไรสำหรับใครเลย

ผมเชื่อว่าคุณน่าจะเคยได้อ่านประโยคที่ผมเขียนทางด้านบนแน่ๆ

ตัวอย่างง่ายๆ เลยคือถ้าคุณขายเสื้อผ้าให้ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง ทั้งเด็ก และคนแก่ ทั้งคนแต่งตัวแบบ Minimal ทั้งคนแต่งตัวแบบ Hipster สุดท้ายแล้วคุณจะโดนคนที่โฟกัสด้านในด้านหนึ่ง หรือเก่งด้านใดด้านหนึ่ง แย่งลูกค้าไปหมด (เพราะเด็กก็จะคิดว่าเสื้อผ้าของคุณสำหรับคนสูงวัย และคนที่ Hip ก็จะรู้สึกว่าคุณไม่ Hip พอ)

จำไว่าว่า Mass is bad และ Niche is bliss ครับ

ถ้าคุณยังไม่แน่ใจหรือยังไม่เห็นภาพว่า Niche ของคุณจะเป็นคนแบบไหน ผมแนะนำให้คุณลองสร้าง Buyer Persona ขึ้นมาครับ Buyer Persona  คือแผนภาพตัวแทนลูกค้าในอุดมคติของคุณที่บอกว่าเขาเป็นใคร มีปัญหา มีความต้องการอะไร และคุณสามารถช่วยเหลือเขาได้อย่างไร คุณสามารถเข้าไปดูวิธีการสร้าง Buyer Persona เพิ่มเติมได้ที่นี่

3. Design matters (a lot!): การออกแบบเป็นเรื่องสำคัญ

“ขายของแพงอย่าริอาจดูถูก ขายของถูกอย่ายิ่งดูด้อยค่า”

ผมคิดว่าเรื่องการออกแบบนั้นเป็นหนึ่งในเรื่องที่ธุรกิจ SME หลายๆ ที่ให้ความสำคัญน้อยมากๆ ทั้งที่มันสำคัญมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณต้องการสร้างแบรนด์ หรือขายของมีราคา การออกแบบ ทั้งในแง่ของประสบการณ์การใช้งานของลูกค้า (UX) และรูปร่างหน้าตาของสิ่งที่คุณออกแบบ (UI) นั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น

สิ่งที่ผมแนะนำให้คุณสร้างขึ้นมาคือ Corporate Identity ที่จะช่วยให้ทุกๆ การใช้งานทางด้านการออกแบบของคุณคงเส้นคงวาในทุกๆ ครั้ง

ถ้าคุณเป็นคนที่ออกแบบไม่เก่ง หรือขาดคนช่วยออกแบบ ลองดาวน์โหลด Template Design Brief Canvas ที่ช่วยให้คุณบรีฟงานได้ดีขึ้น ไปศึกษาดูได้ครับ รับรองว่าช่วยได้

4. Outbound first, Inbound Second: ผลักก่อน แล้วค่อยดึง

ถึงแม้ว่าเราจะเป็นบล็อกที่เน้นแชร์เกี่ยวกับเรื่อง Inbound Marketing แต่เราก็ไม่ได้เชียร์ Inbound Marketing ซึ่งเป็นการลงทุนแบบระยะยาวแบบไม่ลืมหูลืมตา

เพราะในโลกแห่งความเป็นจริงสำหรับธุรกิจ SME คำว่าระยะยาว คำว่าอนาคต คำว่ามองให้ไกล มันไม่มีคุณค่า และไม่มีความหมายใดๆ ทั้งนั้นถ้าธุรกิจไม่สามารถอยู่รอดได้วันนี้ หรือในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

เพราะฉะนั้นถ้าบริษัทของคุณพึ่งเริ่มต้น หรือยังเล็กมากๆ ผมคิดว่ามันโอเคนะที่จะทำการตลาดแบบผลักอย่างเช่นการซื้อโฆษณา การทำ Cold Call หรือการตระเวนหาลูกค้าในช่วงแรกๆ แต่เมื่อธุรกิจของคุณเริ่มไปได้ พอมีเงินมาหมุนแล้ว การกลับมาคิดถึงสิ่งที่จะทำให้คุณไปต่อได้ในระยะยาวก็เป็นสิ่งจำเป็น

ผมมีบทความ 2 บทความที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ และอยากจะให้คุณลองไปอ่านต่อดูนะครับ

บทความแรก เป็นบทความเปรียบเทียบ Inbound Marketing vs Outbound Marketing แบบหมัดต่อหมัด ปอนด์ต่อปอนด์

บทความที่สอง เป็นบทความที่เขียนอธิบายว่าทำไมการมุ่งซื้อโฆษณาออนไลน์ถึงเป็นการทำร้ายธุรกิจในระยะยาว

5. It’s fine being a jack of all trades: มันโอเคนะที่จะทำเป็นหลายๆ อย่าง

“Don’t be a jack of all trades, master of none – อย่าเป็นคนที่ทำได้ทุกอย่าง แต่ไม่เก่งสักอย่าง”

ผมเชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะเคยได้ยินสุภาษิตนี้มาบ้างแน่ๆ ซึ่งผมก็เห็นด้วย แต่ก็แค่ในบางบริบทครับ

สำหรับการทำธุรกิจออนไลน์ของธุรกิจ SME ผมคิดว่ามันโอเคนะที่เจ้าของกิจการ หรือทีมงานจะเป็น “Jack of all trades” หรือมีความสามารถในการเขียน ทำรูป ยิงโฆษณา หรืออื่นๆ รวมอยู่ภายในตัวคนเดียว สาเหตุก็เป็นเพราะธุรกิจ SME นั้นไม่ได้มีงบประมาณสูงมาก จึงไม่สามารถแยกหน้าที่ของทีมงานกันได้อย่างชัดเจน (เช่นตำแหน่ง SEO Specialist, Media Buying หรือ Content Writer เป็นต้น)

นอกจากนั้นแล้ว การที่คุณได้ลองทำอะไรหลายๆ อย่างในหลายๆ บทบาท จะทำให้คุณรู้ และเข้าใจการตลาดออนไลน์มากยิ่งขึ้น เมื่อถึงเวลาที่คุณมีงานล้นมือ หรือทำไม่ไหว ค่อยจ้างคนมาช่วยแบ่งเบาภาระเป็นส่วนๆ ไป ผมคิดว่าน่าจะเป็นวิธีที่ดีสำหรับธุรกิจ SME ครับ

“ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ถ้าไม่อยากจน ต้องพึ่งตัวเองให้ได้”

6. Payment isn’t always expenses: เงินที่จ่ายออกไปอาจจะไม่ใช่รายจ่ายเสมอไป

จริงๆ แล้วมันไม่ผิดนะครับที่จะคิดว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เงินไหลออกจากกระเป๋าของคุณเพื่อเลือกกับอะไรบางอย่างมา อะไรบางอย่างนั้นถือว่าเป็นรายจ่าย

แต่ผมอยากให้คุณลองมองมุมกลับ ปรับมุมมองดูสักนิดนะครับ เพราะว่าหลายๆ ครั้งเงินทีจ่ายออกไปมันไม่ใช่รายจ่ายแต่เป็นการลงทุน เช่นการลงทุนในคน หรือการลงทุนในซอฟต์แวร์ เป็นต้น

วิธีการดูว่าอะไรเป็นค่าใช้จ่าย และอะไรเป็นการลงทุนนั้นไม่ยากเลยครับ คุณแค่ต้องลองคิดดูว่าสิ่งที่คุณใช้เงินจ่ายเพื่อให้ได้มานั้น ในอนาคตมันมีโอกาสที่จะให้ผลตอบแทนมากกว่าเงินที่คุณจ่ายออกไปรึเปล่า

ซึ่งถ้าคำตอบออกมาเป็นมากกว่า สิ่งนั้นก็ถือว่าเป็นการลงทุนได้ครับ

Shifu แนะนำ
ผมไม่ได้แนะนำให้คุณลงทุนในทุกสิ่งที่ขวางหน้าที่จะมีโอกาสทำให้คุณได้รับผลตอบแทนที่มากกว่าเดิมนะครับ คุณต้องลองดูความจำเป็น และสภาพคล่องทางการเงินของคุณด้วย เช่นถ้าคุณจ่ายค่าซอฟต์แวร์เป็นเงิน 1,000 บาทต่อเดือน ซึ่งซอฟต์แวร์นั้นทำให้ทีมงาน 10 คนของคุณทำงานได้เร็วขึ้นเดือนละ 5 ชั่วโมง ก็เท่ากับว่าคุณจ่ายแค่ 1,000 บาท ในการทำให้คุณได้งานเพิ่มขึ้นคิดเป็นเวลา 50 ชั่วโมง (ซึ่งแน่นอนว่ามันคุ้มที่จะลงทุน)

แต่ถ้าเป็นการจ่ายเงินในเรื่องอื่นที่มีจำนวนมาก และไม่ได้มีผลลัพธ์ทางตรง หรือผลลัพธ์ให้เห็นทันที เช่นการเช่าออฟฟิศใหม่ หรือการซื้อรถมาใช้ภายในบริษัท คุณคงต้องคิดให้ดีๆ ก่อนนะครับ

7. Invest in knowledge: ลงทุนในความรู้

ขอเอาข้อที่สำคัญที่สุดมาไว้ท้ายสุดนะครับ

บนโลกอินเทอร์เน็ต คุณสามารถหาความรู้เกี่ยวกับการตลาดออนไลน์ได้ทุกที่ ซึ่งจริงๆ แล้วแหล่งความรู้ที่ดี และฟรีนั้นหาไม่ยากเลย (เช่นของ Content Shifu 🙂 ) หรือถ้าคุณอ่านภาษาอังกฤษได้ เว็บไซต์ของต่างประเทศก็มีบทความ หรือคอร์สดีๆ สอนมากมาย ซึ่งถ้าให้ผมเขียนตรงๆ ผมคงต้องยอมรับว่าพวกเขาเหล่านั้นทำได้ดีกว่า Content Shifu เยอะ (หลายๆ เว็บไซต์ก็เป็นเป้าหมายของเราเช่นกัน) เพราะว่า Case Study เขาเยอะกว่า และเทคโนโลยีต่างๆ ก็มีความ Advance กว่า

เรื่องเกี่ยวกับการตลาดออนไลน์เป็นเรื่องค่อนข้างกว้าง ถ้าจะให้ผมแนะนำให้ครบคงจะเป็นไปได้ยาก วิธีการที่ผมอยากจะแนะนำคุณก็คือถ้าคุณมีคำถาม หรือข้อสงสัยอะไรก็แล้วแต่เกี่ยวกับการตลาดออนไลน์ ลองค้นหาใน Google เป็นภาษาอังกฤษดูครับ ซึ่งเว็บไซต์ที่อยู่อันดับต้นๆ ใน Google นั่นแหละครับคือเว็บไซต์ที่คุณควรจะเข้าไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม

เพราะการลงทุนที่ดีที่สุดคือการลงทุนในความรู้ 🙂

Shifu แนะนำ
ถ้าคุณต้องการศึกษาเกี่ยวกับเรื่อง Digital Marketing ด้วยตัวเองเพิ่มเติมลองเข้าไปอ่านบทความ แนะนำ 18 เว็บเรียนออนไลน์ อยู่บ้านพัฒนาทักษะ Business & Digital สำหรับคนวัยทำงาน ดูนะครับ

สรุป

และนี่ก็คือ 7 วิธีที่ผมอยากจะแนะนำธุรกิจ SME ในการทำการตลาดออนไลน์นะครับ ซึ่งวิธีการทั้ง 7 วิธีการนี้เป็นสิ่งที่ผมตกผลึกมาจากความรู้ และประสบการณ์ที่ผมพบเจอมา ซึ่งหมายความว่ามันอาจจะไม่สามารถประยุกต์ใช้กับคุณได้ทุกข้อ เพราะฉะนั้นผมอยากให้คุณลองศึกษาเพิ่มเติมก่อน และถ้าคุณคิดว่าข้อไหนเหมาะกับคุณก็เอาไปใช้ แต่ถ้าข้อไหนคิดว่าไม่เหมาะก็ทิ้งมันไปนะครับ

ขอให้โชคดีครับ

ตาคุณแล้ว

คุณเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับ 7 วิธีทางด้านบน หรือคุณมีวิธีอื่นแนะนำเพิ่มเติมอีกรึเปล่า? มาคุยกันต่อในคอมเมนต์เลยครับ