เมื่อเราลงโฆษณา Google Ads แน่นอนว่าเราก็มีเป้าหมายในการลงโฆษณาของเราต่างๆ กันไปใช่ไหมครับ และเพื่อที่จะรู้ว่า โฆษณาที่เราลงไปมีได้ผลและตอบโจทย์เป้าหมายของเรามากแค่ไหน เราก็สามารถดูได้ที่ “Metrics”

แต่เรื่องไม่ได้ง่ายแบบนั้น…

เพราะ Google Ads Metrics มีหลายข้อมากๆ ซึ่งจะว่าจำเป็นก็จำเป็น จะไม่จำเป็นก็ได้ ทั้งหมดก็จะกลับมาดูกันที่ ‘เป้าหมาย’ ในการลงโฆษณาของเราว่าคืออะไร

ตัวอย่าง Google Ads Metrics
ตัวอย่างการเลือก Modify metric columns เท่าที่จำเป็นของ Content Shifu

เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสียเวลาและสายตา (:D)  บทความนี้จะพาคุณไปดูค่า Metrics ต่างๆ เท่าที่จำเป็น ตามแต่เป้าหมายการทำแอดแต่ละแบบ โดยขอแบ่งเป้าหมายหลักๆ ในการทำ Search Ad เป็น 3 โฟกัสกว้างๆ ดังนี้

  • การเพิ่ม Traffic
  • มุ่งทำอันดับ Competition
  • มุ่งสร้าง Conversion

วิธีอ่านค่า Metrics ของ Google Ads

1. Google Ads Metrics ที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่ม Traffic ให้เว็บไซต์

ถ้าเป้าหมายในการทำ Google Search Ad ของเรา คือ การเพิ่ม Traffic หรือยอดเยี่ยมชมเว็บไซต์ เราควรโฟกัสที่ Ad text หรือถ้อยคำบนแอดของเรา ตั้งแต่เรื่องคีเวิร์ดและ Copywriting ที่ดึงดูดและเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ผู้ค้นหาต้องการจริงๆ 

Metrics ต่อไปนี้ จะช่วยให้เราเห็น Performance ว่าแอดของเราดีแล้วหรือควรปรับปรุง 

Click

Click คือ จำนวนครั้งที่มีการคลิกเข้าหน้า Landing page ที่เราติดตั้งไว้ตอนทำ Google Search Ads 

ค่านี้ ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน แปรค่าตามตรง กล่าวคือ จำนวนคลิก = Traffic ที่ได้มากขึ้น (นอกเหนือจากการ Visit ผ่าน Organic Search) โดยจำนวนคลิกที่มากจะช่วยบอกเรากลายๆ แอดของเราสามารถดึงดูดให้คนคลิกได้มาก ซึ่งอาจเป็นเพราะ Copywriting น่าสนใจ ตรงกับความสนใจที่ผู้ค้นหาเสิร์ชเข้ามา และอาจเกี่ยวข้องกับการเลือกยิงแอดได้ถูกกลุ่ม (Target Audience) 

CTR (Click Through Rate)

CTR หรือ Click Through Rate คือ จำนวนคลิกต่อจำนวนครั้งที่ Ad ถูกเห็น (Impression) ซึ่งถ้ายิ่งค่านี้มากเท่าไหร่จะยิ่งถือว่าดี เพราะมีคนเห็นแล้วและไม่ผ่านเลยไป แต่ถ้าค่านี้ต่ำแสดงว่าแอดของเรายังไม่ดึงดูดผู้ค้นหาให้มาคลิกได้ แม้ว่าเราจะสามารถทำให้แอดขึ้นอันดับสูงๆ ทำ Impression ได้สูง มีคนเห็นแอดจำนวนมากก็ตาม (ดูควบคู่กับหัวข้อ Impression)

Impr. (Impression)

ดูต่อเนื่องจากค่า CTR ค่า Impression คือ จำนวนครั้งที่มีคนเห็นแอดของเรา ซึ่งถ้าค่านี้ยิ่งสูงแสดงว่าเรารู้จักการเลือกใช้คีเวิร์ดและเลือกยิงแอดได้ถูกกลุ่ม (Target Audience) 

ค่านี้จะสัมพันธ์กับ Click และ CTR เพราะคนจะต้องเห็นก่อน ยิ่ง Impression เยอะ โอกาสที่คนจะคลิกก็ยิ่งเยอะตาม 

Shifu แนะนำ
นอกจากการดูค่า Impression ธรรมดาๆ แล้ว Google Ads ก็ออก Metrics อีก 2 ตัวที่เกี่ยวข้องมาได้สักพัก แต่ยังไม่ค่อยมีใครนำมาพูดถึงเท่าไหร่ ได้แก่

  • Impr. abs. top คือ เปอร์เซ็นต์ที่แอดของเราแสดงเป็นอันดับที่ 1 บนหน้าเสิร์ช
  • Impr. top หรือ เปอร์เซ็นต์ที่แอดของเราแสดงเป็นอันดับต้นๆ (เหนือ Organic Search) บนหน้าเสิร์ช

ยิ่งเราได้ Impression ในตำแหน่งต้นๆ มากเท่าไหร่ แน่นอนว่าโอกาสที่ผู้คนจะเข้ามายังเว็บไซต์ของเราก็น่าจะมากขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ ค่านี้ยังเหมาะสำหรับสายที่ชอบมุ่งเน้นการทำอันดับอีกด้วย

Avg. CPC

Avg. CPC (Average cost per click) คือ ค่าเฉลี่ยของราคาที่เราจ่ายต่อคลิกของแอด เป็นเรื่องที่ต้องดูกันอีกที่ว่าราคาที่คีเวิร์ดที่เรา Bid ได้นั้น คุ้มค่าหรือเปล่า สำหรับบางเจ้า 50 บาทอาจแพง แต่อีกเจ้าอาจมองว่าถูก ซึ่งก็เป็นเรื่องของการแข่งขันกันในแต่ละอุตสาหกรรมครับ

Quality Score

เราสามารถซื้อแอดเพื่อคนเห็นเว็บไซต์ของเราได้ แต่เราไม่สามารถ ‘ซื้ออันดับ’ ได้

สิ่งที่ Google จะนำมาใช้พิจารณาว่าแอดของใครควรจะขึ้นอันดับเหนือกว่าแอดอื่นๆ Google จะดูจาก “Quality Score” โดย Quality Score จะดูจากหมวด Keywords ซึ่งหมายความว่า Ad Set เดียวกัน แต่คนละ Keyword ก็อาจมี Quality Score ไม่เท่ากัน

คะแนนส่วนนี้จะมีตั้งแต่ 1 – 10 ซึ่งจำนวนที่จะทำอันดับได้ดีๆ ควรอยู่ที่ 7 – 10 โดย Google จะพิจารณาจากปัจจัยหลัก 3 อย่าง ได้แก่

  • Expected clickthrough rate – ซึ่งค่านี้ Google จะไม่วัดจาก CTR ของคีเวิร์ดที่ใช้ เปรียบเทียบประสิทธิภาพกับทั้ง CTR ตัวอื่นในบัญชีของเราและแอดของบัญชีผู้อื่นในระบบด้วย ดังนั้น สิ่งที่เราต้องทำก็คือการเพิ่ม CTR และให้ค่านี้ของเรา “average” หรือ “above average”
  • Ad relevance – เป็นเรื่องของความเกี่ยวข้องระหว่าง “แอดของเรา” กับ “ผู้เสิร์ช” ถ้าแอดของเราตอบโจทย์เขา มีคนคลิก และไม่ออกจากหน้าเพจทันที นั่นก็ช่วยการันตีให้ Google ได้ว่า ผู้เสิร์ชพอใจกับผลลัพธ์การค้นหา
  • Landing page experience – ต่อเนื่อง Ad relevance หลังจากที่เขาเข้าหน้าเพจของเราแล้ว เขาได้รับประสบการณ์ที่ดี ซึ่งอาจหมายถึง Bounced rate ต่ำ (ไม่เข้าแล้วออกเลย แต่ยังไปหน้าอื่นๆ ในเว็บไซต์เราต่อ) หรือใช้เวลาบนหน้าเพจอย่างพอดี Google จะมองว่าเว็บเราตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้ดี Score ก็ขึ้น
Shifu แนะนำ
เราสามารถดูคุณภาพของปัจจัยต่างๆ ได้จากการ “ติ๊ก” ปัจจัยที่ส่งผลต่อ Quality Score ทั้ง 3 ได้ โดยจะแสดงค่าเป็น “under average” “average” และ “above average”

Metrics Google Ads วัด Quality Score

2. Google Ads Metrics เพื่อมุ่งทำอันดับบนหน้าเสิร์ช

ถ้าจะมุ่งมั่นในการทำอันดับโฆษณา Google Search Ads ก็มี Metrics ประเภทที่ออกมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ

Avg. pos. (Average Position)

แน่นอนว่า Metric ตัวนี้ เป็นตัวแรกเลยที่คนจะนึกถึงเวลาที่ต้องการรู้ว่าแอดของเราอยู่ในอันดับที่เท่าไหร่ โดยอันดับจะเรียงตามตัวเลข คือ ยิ่งน้อยแสดงว่าอันดับยิ่งดี (อันดับ 1 คืออันดับที่ดีกว่าอันดับที่ 2 และ 3)

แต่ก็มีกรณีที่ชวนงงเหมือนกัน นั่นคือ กรณีที่ Avg. pos. ของเราอาจมีทศนิยม เช่น 1.7 เป็นต้น… จริงๆ แล้วไม่มีอะไรต้องสงสัย ตัวเลขที่ได้คือค่าเฉลี่ยของอันดับที่แอดเราทำได้จากคีเวิร์ดต่างๆ ที่มีผู้ค้นหาเสิร์ชเข้ามา 

Search impr. share 

Search impr. share (Search impression share) คือ Metrics ที่บอกสัดส่วนจำนวนครั้งที่ถูกเห็นในตลาดที่คนค้นหา

Metrics ตัวนี้ ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก อาจเพราะหลักๆ แล้วเรานิยมดู Impression ปกติกัน แต่การที่เราดู Search impr. share (แสดงค่าเป็นเปอร์เซ็นต์) จะทำให้เรารู้ว่า เรากินพื้นที่สื่อไปมากน้อยแค่ไหน ซึ่งก็คือเรื่องของ ‘โอกาส’

Shifu แนะนำ
นอกจากจะดู Search impr. Share แล้ว แนะนำให้ดู Search lost IS ด้วย

ค่า Search lost IS จะเป็นค่าที่บอก โอกาสที่เราสูญเสียไป หลังจากที่แอดของเราใช้งบประมาณของวันนั้นจนหมด และแอดของเจ้าอื่นได้ Impression จากผู้ใช้ไป

Click share

เช่นเดียวกับข้อที่แล้ว Click share คือ สัดส่วนจำนวนคลิกที่แอดของเราได้ เปรียบเทียบกับแอดของเจ้าอื่นๆ หากเราได้ 100% เต็ม ก็แสดงว่าแอดของเราได้ผลสุดๆ ไม่มีใครคลิกของเจ้าอื่น –อาจหมายความว่า Ad Content ของเราน่าสนใจ (ซึ่งมาจากหลายองค์ประกอบมากๆ เช่น Copywriting ของ Ad text การใช้ Ad extension ลึกไปถึงการเลือกคีเวิร์ด และ Audience targeting)

Shifu แนะนำ
กว่าจะได้แอดคุณภาพๆ ที่สร้างผลลัพธ์ได้เจ๋งๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะครับ เราต้องทำ A/b Testing ลองสร้างแคมเปญโฆษณาและปล่อยเปรียบเทียบกันกว่าจะรู้ 

แต่ตอนนี้ Google Ads มีฟีเจอร์ที่ช่วยเรารันดอมสร้างแอดถึง 40 แบบในครั้งเดียว คือ เจ้าฟีเจอร์ Responsive Search Ads ลองอ่านดูในบทความ “รู้จัก 3 ตัวช่วยการสร้างโฆษณาบน Google แบบอัตโนมัติ” ที่แนะนำฟีเจอร์นี้ไว้ด้วยดูนะครับ

3. Metrics สำหรับดู Conversion ในการทำโฆษณา Google

แอดแอดหนึ่งมีจุดประสงค์ต่างกันไปใช่ไหมครับ ถ้าเราต้องการมุ่งเน้นวัดผลที่การ ‘ผลลัพธ์’ เราสามารถเลือกวัด  Metrics แบบ Conversion ได้

Conversion

Conversion คือ หนึ่งใน Metrics ที่นิยมเลือกใช้ เพื่อที่จะวัดว่าแอดที่ลงไปได้ผลจริงๆ ประสบความสำเร็จอย่างที่ต้องการ ซึ่งอาจเป็นการสั่งซื้อสินค้าของผู้เข้าเว็บไซต์ การ Subscribe รับอีเมล การกดโทร.จาก Ad extension การดาวน์โหลด หรือกรอกฟอร์ม ฯลฯ ไม่ใช่แค่ยอดคลิก นั่นหมายความว่า เราสามารถใช้ค่า Conversion เป็นหนึ่งในเครื่องมือวัดผลการตลาดหรือเป็นหนึ่งในแผนการตลาดได้ด้วย 

หมายเหตุ: ก่อนที่เราจะรู้ว่า Action ที่เราเลือก (เช่นตัวอย่างข้างต้น) ของผู้ใช้ถือเป็น Conversion ที่เราจะโฟกัส เราก็ต้องทำการติดตั้ง Conversion tracking เสียก่อน ซึ่งบทความนี้จะเป็นเพียงการอธิบายศัพท์และวิธีอ่านค่า Metrics เท่านั้น  

Cost / conv.

Cost / conv. หรือ Cost per conversion คือ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อ Conversion ที่เกิดขึ้นทั้งหมดจากแคมเปญนั้นๆ ว่าเป็นเงินเท่าไหร่

ตัวเลขที่ได้มาจะช่วยให้เรานำไปวิเคราะห์ต่อได้ ว่าผลลัพธ์ที่ได้มานั้น คุ้มค่าหรือเปล่า

Cost / conv. เป็นอีก Metrics สำคัญที่เราต้องศึกษาเพื่อดูความคุ้มค่าของแอดที่เราซื้อ (ROI: Return of investment) ซึ่งการจะทำแอดให้คุ้มค่าและได้ผลนั้น เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้และศึกษากันต่อไป

โดยตอนนี้ Content Shifu ก็ได้ผู้เชี่ยวชาญในสาย Bidding โฆษณา Google มาเป็นวิทยากรในคอร์สด้วย ใครสนใจลองเข้าไปดูเนื้อหาคอร์สก่อนได้ครับ 

Conv. rate

Conv. rate หรือ Conversion rate คือ อัตราเฉลี่ยที่เกิด Conversion ต่อจำนวนคนที่เห็นแอด ยิ่งค่านี้ได้เปอร์เซ็นต์สูงเท่าไร แสดงว่าแอดของเรามีประสิทธิภาพทำให้คน Interact และลงมือทำ Action บางอย่างซึ่งถูกนับเป็น Conversion ที่เราต้องการได้

เรื่องของ Conversion ที่ได้มา ไม่ใช่เรื่องของการทำแอดเพียงเท่านั้น แต่นั่นรวมถึง Context อื่นๆ ที่ผู้ค้นหาได้ประสบตั้งแต่การเลือกคีเวิร์ด, Ad content, Web content, Web performance, สินค้า หรือกลยุทธ์การวาง Customer journey ก็สำคัญ (ลองดู 9 ข้อที่คุณอาจพลาดทำ Conversion ไม่ขึ้นไว้ระวังหลังกันนะครับ)

Shifu แนะนำ

นอกจากนี้ ผมก็มีอีก 2 Google Ads Metrics ที่อยากนำมาให้รู้จักกันเล็กน้อยครับ ซึ่งเป็น Metrics ที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงหรือใช้จริงๆ (และจริงๆ มันอาจเป็นประโยชน์ที่ทำให้เห็นประสิทธิภาพของแอดมากกว่าที่คิด) ได้แก่

  1. Cross-device conv. คือ ค่าที่บอกเราว่าเราได้ Conversion นะ แต่ไม่ใช่ Conversion ที่เขา Interact กับแอดที่เขาเห็นผ่าน Device แรก แต่เป็นการกระทำของเขาที่สร้าง Conversion ผ่าน Device เครื่องอื่นหลังจากนั้น (ตัวนี้ช่วยบอกว่าแอดของเราก็มีอิทธิพลกับเขาอยู่นะ)
  2. View-through conv. คือ ค่าที่คล้ายๆ ข้อแรกเลยครับ ตัวนี้จะบอก Conversion หลังจากที่ผู้ค้นหาเห็นแอดของเราแล้ว แต่ไม่ได้ Interact ผ่านแอด แต่กลับสร้าง Conversion ให้เราผ่าน Organic search หรือผ่านช่องทางอื่น (ซึ่งอาจตีความได้ว่าแอดของเราก็ยังอาจได้ผลเป็นการกระตุ้นเขาอยู่)

สรุป

จะทำโฆษณา Google Search Ads ให้ได้ผล ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลยใช่ไหมครับ เป็นง่ายที่ต้องใส่ใจจริงๆ จังๆ เลยทีเดียว เพื่อที่จะทำแอดให้ได้ผลลัพธ์อย่างที่ตั้งใจ ต้องคอย Monitor ดู Metrics ต่างๆ อยู่เสมอ

…แต่อย่างที่บอกใช่ไหมล่ะครับ ว่าถ้าจะดูทั้งหมดก็คงใช้เวลามากโข แถมปวดสายตาอีกต่างหาก 

ลองโฟกัสแค่เป้าหมายของแคมเปญ และดูว่า Metrics ตัวใดสำคัญและส่งผลต่อ Performance ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการตลาดของคุณจริงๆ เท่านั้นก่อน น่าจะช่วยให้คุณปรับแผนการทำแอด เร่งผลลัพธ์ได้ดีกว่าเดิม

Shifu แนะนำ

บทความนี้ เป็นยังเป็นเรื่องพื้นฐานสำหรับการทำโฆษณา Google Ads ซึ่งหวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคุณผู้อ่านนะครับ แต่ถ้าสนใจศึกษาการทำ Google Ads เพิ่มเติมเช่น การวางกลยุทธ์คีย์เวิร์ด การวางกลยุทธ์ Keyword bidding แบบคุ้มค่า และการอ่านค่าและสร้าง Report แบบมืออาชีพ…

Content Shifu มีคอร์สอบรม Google Ads Certification จากวิทยากรที่มีประสบการณ์การทำโฆษณาโดยเฉพาะ Adwords หรือ Google Ads มากกว่า 10 ปี ลองอ่านรายละเอียดคอร์สดูนะครับ เผื่อเป็นประโยชน์สำหรับคุณ  

New call-to-action

ตาคุณแล้ว

Metrics ตัวไหนในบทความนี้ ที่คุณยังไม่เคยลองดู ลองดู ดูนะครับ Metrics เหล่านั้นช่วยให้คุณวิเคราะห์และปรับปรุงแอดได้ดีขึ้นไหม บอกเราที่คอมเมนต์ข้างล่าง 

หรือถ้าหากคุณมี Metrics ตัวไหนที่น่าเข้าไปดู แชร์ให้พวกเรารู้ด้วยนะครับ พวกเราจะรู้สึกขอบคุณมากๆ เลยครับ 🙂