คุณรู้จักโฆษณา Viral ครั้งแรกเมื่อไหร่? เมื่อพูดถึง Viral Content หลายคนคงนึกถึงคลิปวิดีโอคล้ายเหตุการณ์จริง ซึ่งมีเนื้อหากระทบอารมณ์ความรู้สึกและกลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงแพร่หลาย โดยคลิปเหล่านั้นมักปิดท้ายด้วยการขายของ เชื่อว่าหลายคนคงเห็นว่างานคอนเทนต์ประเภทนี้เน้นโหนกระแสแรงๆ เล่นกับความรู้สึกเชิงลบเสียมากกว่า แต่ถ้าประยุกต์สูตร Viral Content เข้ากับการทำคอนเทนต์ในงานการตลาดออนไลน์ให้เป็น ก็สามารถสร้างสรรค์คอนเทนต์ของคุณให้เด่น ดัง และดีได้เหมือนกัน

บทความนี้จะพาคุณไปรู้จัก Viral Content ทุกแง่มุม รวมทั้งแกะสูตรสำเร็จการสร้างไวรัล เพื่อนำไปประยุกต์ใช้สำหรับทำคอนเทนต์ในแบบตัวเอง

ทำความรู้จัก Viral Content

ถ้าดูตามความหมายโดยตรงของศัพท์นี้ ก็หมายถึงการแพร่กระจาย ซึ่งมีที่มาจาก Viral Infection หรือการแพร่เชื้อไวรัส เมื่อนำมาใช้ในทางการตลาด Viral Content จึงหมายถึงงานโฆษณาที่ได้รับการพูดถึงหรือเป็นกระแสในวงกว้าง นอกจากคลิปวิดีโอไวรัลที่เราคุ้นเคยกันดีแล้ว Viral Content ยังปรากฏในรูปแบบอื่น ทั้งโพสต์เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ รูปภาพ ไปจนถึงบทความขนาดยาว หรือแม้กระทั่ง Meme ที่เราส่งเล่นกับเพื่อนในแชทส่วนตัว ก็ยังเป็นไวรัลได้หากคอนเทนต์นั้นถูกแชร์หรือส่งต่อกันเป็นจำนวนมาก

ที่สำคัญ Viral Content ไม่ได้ถูกส่งต่อเพียงเพราะมีเนื้อหาสนุก ตลกขบขัน หรือเอาไว้สร้างความบันเทิง แต่ถ้าคอนเทนต์ที่ทำมีเนื้อหาดี เป็นประโยชน์ต่อผู้คน จรรโลงจิตใจ หรือถึงขั้นสร้างคุณค่าทางสุนทรียภาพแล้ว ก็ไม่แปลกที่ผู้คนจะแชร์คอนเทนต์เหล่านั้นกันอย่างมากมาย

Viral Content ความโดดเด่นและสีสันในงานโฆษณา

เมื่อพูดถึงการสร้างคอนเทนต์สำหรับทำการตลาดออนไลน์ เรามักได้ยินผู้คนพูดถึง Content Marketing ที่เน้นเนื้อหาสาระหรือให้ประโยชน์แก่ผู้เสพสื่อ หรือการทำ Influencer Marketing ที่กำลังเป็นที่น่าจับตามองในปี 2019 แต่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าคอนเทนต์ที่มีลักษณะ Viral ก็กระตุ้นความสนใจของผู้เสพสื่อและทำให้เกิดกระแสได้เสมอ เพราะ Viral Content…

เล่าความรู้สึกมนุษย์

กระแสไวรัลจะเล่นกับอารมณ์ของผู้คน เน้นให้เกิดความคิดหรือความรู้สึกร่วมกัน แน่นอนว่าการสร้างคอนเทนต์ให้เป็นกระแสก็ต้องฮุคคนเสพสื่อด้วยอารมณ์เช่นกัน คลิปไวรัลหรือหนังโฆษณาหลายเรื่องมักเริ่มต้นด้วยฉากหรือบทสนทนาที่ดึงคนดูไว้ได้ภายในไม่กี่วินาที เพื่อให้ติดตามเรื่องราวต่อไปจนจบ ที่สำคัญ การผลิตงานไวรัลให้ตอบโจทย์นั้นยังอาศัยหลักจิตวิทยาเล็กๆ น้อยๆ เสริมเข้าไป เพื่อให้ถ่ายทอดและกระตุ้นความรู้สึกของมนุษย์ด้วย

Mark Hughes อดีตรองผู้บริหารเว็บไซต์ Half.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ในเครือของ eBay ได้เขียนหนังสือชื่อ Buzz Marketing ว่าด้วยกรณีศึกษาของบริษัทต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จในการทำการตลาดแบบ Word-of-Mouth (WOM) รวมทั้งแจกแจงลักษณะคอนเทนต์แบบ Buzz Marketing ที่ทำให้ผู้คนสนใจและบอกต่อกันอย่างแพร่หลาย ออกเป็น 6 แบบ ได้แก่ เรื่องต้องห้ามหรือฝ่าฝืนกติกาของสังคม เรื่องที่หาดูไม่ได้ทั่วไป เรื่องไม่คาดฝัน เรื่องบันเทิงสร้างเสียงหัวเราะ เรื่องโดดเด่น และความลับหรือการค้นพบใหม่

พูดเรื่องที่คนสนใจ

ก่อนจะฮุคให้คนสนใจ การสร้างคอนเทนต์ให้เป็นกระแสมักเลือกนำเสนอเรื่องที่คนอยากรู้ อยากเห็น อยากฟัง ยิ่งเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวหรือผู้คนคุ้นเคยมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งได้รับความสนใจและถูกพูดถึงได้ไม่ยาก เพราะการนำเรื่องทั่วไปใกล้ตัวมาทำให้เกิดประเด็น ถือว่าช่วยกระตุ้นให้ผู้ชมฉุกคิด ตั้งคำถาม เกิดความรู้สึกร่วม หรือคิดเห็นคล้อยตาม จนต้องส่งต่อเรื่องราวเหล่านั้นออกไปภายในแวดวงสังคมของตัวเอง

เชิญชวนให้มีส่วนร่วม

Viral Content หลายชิ้น ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียง ถ่ายทอดเรื่องราวว่าเกิด ‘อะไร’ ขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือในการปลุกผู้คนให้ลุกขึ้นมาทำบางสิ่งบางอย่างอีกด้วย หากจะยกตัวอย่างจากเรื่องใกล้ตัวที่สุด หลายคนคงเคยโพสต์หรือเห็นโพสต์ของเพื่อนในเฟซบุ๊กตัวเอง ที่ตั้งสเตตัสรีวิวภาพยนตร์ในดวงใจแล้วแท็กเพื่อนคนอื่นให้ทำบ้าง ส่งต่ออย่างนี้กันไปเรื่อยๆ นอกจากจะได้เสพคอนเทนต์แล้ว ก็ยังเป็นผู้สร้างและส่งต่อการสร้างคอนเทนต์แบบเดียวกันอีกด้วย

แกะสูตรสำเร็จสร้าง Viral Content

ครีเอต Positive Content

เมื่อพูดถึงกระแสไวรัล หลายคนมักคิดว่าต้องมีเนื้อหาร้ายๆ แรงๆ ถึงจะขายได้ จริงอยู่ว่าคอนเทนต์ลักษณะนั้นดึงดูดให้ผู้คนหันมาสนใจได้ในตอนแรก แต่ไม่ได้หมายว่าช่วยให้เป้าหมายแคมเปญประสบความสำเร็จ เพราะปฏิกิริยาสะท้อนกลับของผู้คนที่มีต่อคอนเทนต์นั้นๆ จะเป็นตัวบ่งชี้ผลลัพธ์

แน่นอนว่าคนเราชอบกดไลก์ กดแชร์โพสต์ที่มีเนื้อหาสร้างสรรค์ ประเภทเสพแล้วได้แง่คิดเชิงบวกหรือรู้สึกดี เพราะนอกจากช่วยเสริมภาพลักษณ์หรือสร้างตัวตนตามลักษณะคอนเทนต์นั้นๆ แล้ว ยังกระตุ้นให้เพื่อนหรือคนที่อยู่ในเครือข่ายร่วมทำกิจกรรมทางการตลาดได้ด้วย

รายได้จากแคมเปญไวรัล ALS Ice Bucket Challenge

ที่มา: Thenextweb

เมื่อสี่ปีที่แล้ว เชื่อว่าหลายคนต้องเคยเห็น (หรืออาจร่วมเป็นส่วนหนึ่ง) แคมเปญ ALS Ice Bucket Challenge ที่ท้าให้นำน้ำใส่น้ำแข็งเย็นเฉียบถังใหญ่ๆ มาเทราดหัว สัมผัสความชาขั้นสุดถึงสมอง แล้วปิดท้ายด้วยการส่งต่อคำท้าไปยังเพื่อนๆ ของตัวเอง แคมเปญนี้จัดทำขึ้น เพื่อให้ผู้คนตระหนักรู้ถึงโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงรวมทั้งส่งเสริมการบริจาคเงินให้หน่วยงานที่ทำวิจัยโรคดังกล่าว ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จพอตัว เพราะนอกจากจะมีผู้บริจาคล้นหลามแล้ว ยังช่วยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงโดยไม่ต้องมาบอกกล่าวแบบเดิมๆ อีกด้วย

สั้นๆ แต่สะเทือน

เมื่อชีวิตก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัล ใครๆ ก็สร้างคอนเทนต์ได้ง่ายๆ ข้อมูลข่าวสารบนสื่อออนไลน์เกิดขึ้นมากมาย วันนึงเราต้องเจอกับคอนเทนต์นับไม่ถ้วน แต่มีไม่กี่งานที่จะโดนใจและเป็นที่จดจำ การสร้างคอนเทนต์ให้เป็นกระแสต้องเริ่มต้นจากการนำเสนอจุดที่ Touch คนอ่านให้ได้ ก่อนอื่นต้องเข้าใจธรรมชาติการเสพสื่อของมนุษย์ออนไลน์ที่ไปไว ภาพนิ่ง วิดีโอ หรือแม้แต่ข้อความบนแบนเนอร์ต้องสั้น กระชับ โดนใจ ฟังแล้วติดหู ดูแล้วติดตา ชวนติดตามเนื้อหาข้างในต่อไป

Shifu แนะนำ
หากทำคอนเทนต์ประเภทวิดีโอ ควรนำเสนอเรื่องราวสั้นๆ ประมาณ 30 วินาที – 1 นาที และ Hook คนให้หยุดดูภายใน 3 วินาทีแรกของคลิปวิดีโอ หากเป็นบทความ บล็อก หรือแบนเนอร์โฆษณาออนไลน์ ควรเน้น Headline ที่อ่านง่าย สะดุดตา เพื่อจับคนที่เลื่อนฟีดส์อ่านผ่านๆ ให้หยุดและกดอ่านต่อ

เข้าถึงชีวิตผู้คน

อยากสื่อสารกับคนแบบไหน ก็ต้องพูดภาษาเดียวกับเขา การรู้จักกลุ่มเป้าหมายจะช่วยให้เราสร้างคอนเทนต์ไวรัลได้ง่ายขึ้น มากกว่ารู้ว่ากลุ่มเป้าหมายคือ ‘ใคร’ ต้องทำความรู้จักให้ลึกลงไปว่าพวกเขาเป็น ‘ยังไง’ กินอะไร ไปไหน ชอบทำอะไร สนใจสิ่งไหนเป็นพิเศษ เพื่อนำสิ่งเหล่านั้นมาเป็นวัตถุดิบในการสร้างงานให้สมจริงและน่าติดตามมากขึ้น

กว่าจะมาเป็นภาพยนตร์โฆษณาได้ชิ้นหนึ่ง จึงไม่ใช่แค่วางโครงเรื่องว่าต้องการสื่อสารเรื่องราวอะไร แต่ยังรวมไปถึงการออกแบบ Character ของตัวละครในเรื่องให้แนบเนียนและสมเหตุสมผลกับทิศทางการดำเนินเรื่อง ส่วนคอนเทนต์ที่เน้น Design หรืองานเขียนต่างๆ ควรเลือกภาพหรือถ้อยคำที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้เกิดความเข้าใจและคล้อยตามสิ่งที่ต้องการนำเสนอ

หากงานโฆษณาหนังสั้นมันทำยากและไกลตัวไปหน่อย ลองขยับมาใช้สื่อโซเชียลมีเดียแทนก็ได้ แบรนด์หลายแบรนด์เลือกทำการตลาดแบบ Peer-to-Peer หรือบอกปากต่อปาก เพราะไม่ว่าจะซื้ออะไร เราก็ต้องร้องหารีวิวจากกระทู้เว็บชื่อดังหรือถามคนที่ใช้จริง ซึ่งได้ผลมากกว่าจ้าง Brand Ambassador หรือแม้แต่จุดกระแสแปลกๆ ให้เป็นประเด็น อย่างแบรนด์เครื่องดื่มสีฟ้าที่เล่นประเด็นกินแล้วทำให้ขำ เกิดเป็นไวรัลดังอยู่ช่วงหนึ่ง จนต้องซื้อมาพิสูจน์ว่าดื่มแล้วขำจริงหรือไม่ หรือประเด็นทีมลวกไม่ลวกหมี่หยกที่ถกเถียงกันสดๆ ร้อนๆ จนทำเอาคนที่เข้ามาอ่านความคิดเห็นในทวิตเตอร์นั้นอยากสั่งมากินเสียเฉยๆ

จะเห็นได้ว่าการสร้าง Story ประหลาดให้กับสิ่งที่พบเจอทั่วไปในชีวิตประจำวัน ก็สามารถจูงใจคนให้หันมามองและเกิดอยากทดลองใช้สินค้าหรือบริการของแบรนด์ที่พวกเขาอาจมองข้ามไปได้เช่นกัน

มีกระแสโต้กลับ

คอนเทนต์เน้นสาระก็เป็นกระแสได้ หากเลือกวิธีเล่าให้เหมาะสม การนำข้อมูลและ Visual Arts มาสร้างเป็นคอนเทนต์รูปแบบต่าง ๆ อย่าง Meme GIFs หรือ Infographics ก็ฟีดแบ็กดีไม่น้อย ทั้งไลก์ ทั้งแชร์ กระจาย หรือหากทำคอนเทนต์ประเภทงานเขียน บทความ Blog หรือ Post บนสื่อโซเชียลมีเดีย ลองเปลี่ยนแนวจากเขียนธรรมดา เป็นเล่นเกมจำพวก Quiz ก็กระตุ้นให้คนมีส่วนร่วมได้มากขึ้น

Shifu แนะนำ
มือใหม่หัดทำคอนเทนต์อาจลองทำแบบทดสอบว่าเป็น Content Creator สายไหน ดูก่อน นอกจากจะได้เห็นแนวทางการเขียนบทความหรือ Blog Post แบบ Quiz แล้ว อาจค้นพบสไตล์การสร้างงานของตัวเองชัดเจนกว่าเดิมด้วย

ภาษาน่าดึงดูด

จุดกระแสคอนเทนต์ให้ไวรัลไม่ใช่แค่สื่อสารภาษาเดียวกันกับคนเสพสื่อ แต่ต้องรู้จักเลือกคำพูดมาใช้สื่อสารให้ถูกคนและโอกาสด้วย ตามกระแสให้ทัน หมั่นอัปเดตว่าตอนนี้อะไรกำลังมาแรง ดูง่ายๆ ว่าคนส่วนใหญ่สนใจ ‘อะไร’ แล้วจับกระแสนั้นมาสร้างงานของเราบ้าง ไม่ว่าจะเป็นวลีหรือคำพูดฮิตอย่าง …ต่อไม่รอแล้วนะ ที่ Copywriter เอามาเขียนแคปชั่นขายของกันหลายต่อหลายเจ้า หรือภาพ Meme ยอดฮิตจากฉากเด็ดในซีรีส์ ‘เลือดข้นคนจาง’ ที่มีแบรนด์เครื่องปรับอากาศแบรนด์หนึ่งนำมาทำคอนเทนต์ลงช่องทางการสื่อสารของตัวเองจนมีคนแชร์มากมาย

จะเห็นได้ว่าลูกเล่นของภาษามีมากกว่าการประดิษฐ์คำให้ดูแปลกติดหู แต่ยังแฝงคาแร็กเตอร์ น้ำเสียง และเรื่องราวเบื้องหลังถ้อยคำนั้นๆ ที่ผู้คนส่วนใหญ่รับรู้และเกิดความรู้สึกร่วมกัน เมื่อทำคอนเทนต์เกาะกระแสภาษาฮิตเหล่านั้นออกมา แน่นอนว่าต้องได้รับความสนใจจากผู้เสพสื่อในโลกดิจิทัลได้ไม่ยาก

กับดักต้องระวัง ที่มากับ Viral Content!

ไหนๆ ก็พูดถึง Viral Content แล้ว นาทีนี้จะไม่พูดถึง Netflix คงไม่ได้ เพราะเจ้านี้จุดกระแสไวรัลแบบจัดเต็มทั้งสื่อใหม่และสื่อเก่า ไล่มาตั้งแต่แคมเปญ #ไม่ไปไหนไปNetflix ที่เชิญชวนผู้คนอยู่บ้านดูซีรีส์จาก Netflix แทนที่จะไปเที่ยวไกลๆ ช่วงปีใหม่ โดยซื้อพื้นที่ป้ายบิลบอร์ดขนาดใหญ่ หรือแคมเปญล่าสุดโปรโมทซีรีส์ ‘Black Mirror’ เล่นประเด็นลักพาตัวเจ้าหญิงซูซานน่า ซึ่งประโคมลงหน้าสื่อไทยหลายหัว และดึงตัวพิธีกรรายการข่าวชื่อดัง มานั่งรายงานข่าวแบบเสมือนจริง ก่อนจะปิดท้ายด้วยการโฆษณาซีรีส์กันไปตามระเบียบ

Viral Content ที่ไม่เหมาะสม

ที่มา: Andrew Mcgregor

แน่นอนว่าแคมเปญนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากในโลกออนไลน์ ไม่เพียงเนื้อหาของแคมเปญ แต่ยังรวมไปถึงแนวทางทำการตลาดที่หวังโกยกระแส เรียก Awareness จากผู้คน จนอาจละเลยผลลัพธ์ที่ตามมามากกว่านั้น หลายคนต่างตั้งข้อกังขาและถกเถียงเกี่ยวกับจรรณยาบรรณสื่อ โดยมองว่าจะเน้นขายของจนเกินเลยขอบเขตหรือไม่ การใช้พื้นที่สื่อประเภทข่าวเพื่อการตลาดเช่นนี้ดูไม่เหมาะสมเท่าไร อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องจริงก็ได้

หลายปีที่ผ่านมาก็เคยเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์แคมเปญไวรัลที่ทำการตลาดแบบคลิปหลุด ทั้งคลิปครูปาโทรศัพท์มือถือนักเรียนของเบอร์เกอร์แบรนด์หนึ่ง หรือคลิปดาราสาววัยรุ่นเหวี่ยงแฟนคลับจากขนมยี่ห้อดัง แม้จะมาเฉลยตอนท้ายว่าเป็นการจัดฉาก ก่อนจะปิดเรื่องด้วยการโฆษณาสินค้าตัวเองจนกลายเป็นที่รู้จักของผู้คน แต่ผลตอบรับกลับเป็นไปในเชิงลบ จริงอยู่ที่เนื้อหาของคลิปไวรัลอาจเร้าอารมณ์คนเสพให้ติดตามต่อ ในขณะเดียวกันคนเสพสื่อก็รู้สึกแย่เมื่อดูมาถึงจุดหักมุมของเรื่องและรู้ว่าทุกอย่างเป็นเรื่องสมมติ

จากกรณีศึกษาทั้ง 3 ตัวอย่างนี้ อาจบอกได้ว่ากฎเหล็กของการสร้างคอนเทนต์ให้เป็นกระแสไม่ใช่แค่สร้างเรื่องราวที่ก่อให้เกิดความรู้สึกร่วมกัน แต่สารที่สื่อออกมานั้นต้องไม่ทำให้คนดูรู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกหลอกหรือกลายเป็น ‘ตัวตลก’ กระแสไวรัลเป็นสารตั้งต้นจุดประกายแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก แต่การทำคอนเทนต์สร้างแบรนด์ที่ดีต้องมี ‘แก่น’ ของเนื้อหาซ่อนไว้อยู่ด้วย หากจะเน้นสร้างกระแสอย่างเดียว คอนเทนต์ของเราก็คงได้แค่กระแสฉาบฉวย

สร้างงานให้ดีต้องมี Value Content ประกบ

‘คุณค่า’ ของงานคอนเทนต์คืออะไร อยู่ที่ตรงไหน ดูตรงที่ว่าคนได้อะไรจากการเสพคอนเทนต์นั้นๆ พูดง่ายๆ ก็คือ Value Content คือคอนเทนต์ที่มีประโยชน์ต่อผู้เสพสื่อ รวมทั้งอาจนำไปต่อยอดในทางสร้างสรรค์ได้มากขึ้น ตรงนี้เองที่ทำให้คอนเทนต์มีคุณค่า ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ยังใช้ได้ไม่ตกยุคสมัยเหมือน Evergreen Content ที่เน้นงานตอบโจทย์คนอ่าน อัดแน่นด้วยสาระ คุณภาพครบครัน นำเสนอสิ่งที่ผู้คนอยากรู้อย่างตรงไปตรงมา โดยปราศจากข้อคิดเห็นส่วนตัว

Viral Content ที่มีคุณค่าย่อมได้รับความนิยมและผลตอบรับเชิงบวก เพราะเนื้อหาสาระมีประโยชน์ ทำให้ผู้คนอยากส่งต่อเรื่องราวนั้นไปเรื่อยๆ ถือเป็นการสร้างโอกาสให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ใช่ ‘ใครก็ได้’ แต่อาจกลายมาเป็น Brand Loyalist ที่สนับสนุนแบรนด์ของคุณไปตลอด ที่สำคัญ ยังเป็นการสร้างมูลค่าระยะยาวให้คอนเทนต์ของคุณไม่ตายไปจากโลกดิจิทัลอีกด้วย

Shifu แนะนำ
อยากทำคอนเทนต์น้ำดีที่มีแต่คนบอกต่อ แชร์วนไป ซ้ำแล้วซ้ำอีก ต้องไม่ลืมหัวใจสำคัญของงานคอนเทนต์คือตั้งใจและจริงใจในการนำเสนอคอนเทนต์ให้กับคนเสพสื่อ พร้อมฝึกฝีมือการทำคอนเทนต์สร้างสรรค์อยู่เสมอ บทความที่ดีที่สุดของ Content Shifu ในปี 2018ที่กองบรรณาธิการคัดสรรมาให้ ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการสร้างคอนเทนต์คุณภาพที่คุณสามารถลองอ่านกันดูได้

สรุป

โลกดิจิทัลคือพื้นที่เปิดในการนำเสนอคอนเทนต์อย่างกว้างขวาง การทำการตลาดออนไลน์จึงเป็นมากกว่าโฆษณาขายของ แต่หมายถึงสร้างสรรค์งานให้เป็นที่จดจำของผู้คน Viral Content คือหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสร้างสีสันและจุดประกายแบรนด์ของคุณให้น่าสนใจยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี Viral Content ที่มีมูลค่าและขายได้จริง ต้องใช้หลัก Value Content ควบคู่กัน เพื่อให้เป็นที่ยอมรับระยะยาวต่อไป

ตาคุณแล้ว

เนื้อหาภายในบทความทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการทำคอนเทนต์ให้เป็นกระแส ลองมาสร้าง Viral Content ในแบบของคุณกันดีกว่า ใครมีเทคนิคแบบไหนเอามาประยุกต์ใช้กันดู ไม่แน่คอนเทนต์ที่ผู้คนแห่กันกดไลก์กดแชร์ชิ้นต่อไป อาจเป็นงานของคุณก็ได้