หน้า “เกี่ยวกับเรา” เป็นหน้าที่หลายๆ คนมักมองข้าม และให้ความสำคัญกับมันน้อยกว่าหน้าอื่นๆ บนเว็บไซต์ หลายๆ เว็บไซต์นั้นทำหน้าเกี่ยวกับเราขึ้นมาเพื่อให้ครบตามความต้องการพื้นฐานของการสร้างเว็บไซต์ (โดยปกติก็จะมี หน้าแรก, เกี่ยวกับเรา, สินค้า และติดต่อเรา)

สำหรับผมแล้ว ผมคิดว่าหน้าเกี่ยวกับเรานั้นเป็นหน้าที่มีสำคัญไม่แพ้หน้าอื่นเลยล่ะ เพราะหลายๆ ครั้ง หลังจากที่ผมเข้าไปดูว่าเว็บนั้นๆ ทำอะไรแล้ว หน้าที่ผมมักจะเข้าเป็นหน้าต่อไปก็คือหน้าเกี่ยวกับเรา เพื่อดูว่าใครเป็นเจ้าของเว็บไซต์ และสามารถเชื่อถือได้ไหม

ถ้าเว็บไซต์นั้นๆ ไม่มีหน้าเกี่ยวกับเรา หรือเขียนมันออกมาไม่ดี ความรู้สึกของผมที่มีต่อเว็บไซต์นั้นๆ จะเป็นลบ ไม่ว่าหน้าแรก หรือหน้าสินค้าจะทำการโปรโมตไว้อย่างดีแค่ไหนก็ตาม

และผมคิดว่าหลายๆ คนก็น่าจะคิดคล้ายๆ ผมเหมือนกัน เพราะความน่าเชื่อถือ หรือ Trust นั้นเป็นหนึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำธุรกิจบนโลกออนไลน์ที่ไม่เห็นหน้าค่าตากัน

ยิ่งถ้าบริษัทคุณมีขนาดเล็ก หรือยังไม่ค่อยมีชื่อเสียง หน้าเกี่ยวกับเราของคุณจะต้องยิ่งดีเพราะมันถือเป็นช่องทางที่ง่าย และเร็วที่สุดในการสร้างความน่าเชื่อถือ และการสร้างความประทับใจครั้งแรกให้กับคนที่เข้ามายังเว็บไซต์ของคุณ

หลังจากที่คุณอ่านบทความนี้จบ ผมรับรองว่าคุณจะเขียนหน้าเกี่ยวกับเราได้ดียิ่งขึ้น และถ้าคุณเขียนได้ดียิ่งขึ้น ผมรับรองว่าคุณจะได้ใจคนเข้าเว็บไซต์ของคุณขึ้นอีกเยอะเลยล่ะ!

7 วิธีในการเขียนหน้า “เกี่ยวกับเรา” ให้ดูน่าเชื่อถือ

1. เขียนแบบเสนอไอเดียในลิฟท์

การเสนอไอเดียในลิฟท์ หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Elevator Pitch นั้นคือการอธิบายเกี่ยวกับสิ่งที่คุณทำอยู่ให้คนอ่าน หรือคนฟังเข้าใจภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 นาที ซึ่งเวลา 2 นาทีนี้นั้นเทียบได้กับช่วงเวลาที่คุณขึ้นลงลิฟท์นั่นเอง

ใน Evelator Pitch ของคุณนั้น นอกจากการที่คุณพูดถึงตัวคุณ หรือบริษัทของคุณเองแล้ว คุณควรจะต้องบอกด้วยว่าคุณจะส่งมอบคุณค่าอะไรให้กับคนอ่านบ้าง

Shifu แนะนำ
ตัวอย่างที่ผมอยากยกมาในหัวข้อนี้เป็นของ Tech in Asia เว็บไซต์ชื่อดังที่เขียนข่าวเกี่ยวกับเทคโนโลยีในเอเชีย

tech-in-asia-about-page

ช่วงเริ่มต้นของ Elevator Pitch ของพวกเขาคือ Tech in Asia is a media, events, and jobs platform for Asia’s tech communities. ซึ่งถือว่าสั้นๆ แต่ว่าได้ใจความ

และนอกเหนือจากการที่พวกเขาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพวกเขาแล้ว พวกเขายังบอกอีกด้วยว่าเขาจะสามารถมอบคุณค่าอะไรให้กับคนอ่านได้บ้างผ่านประโยคที่ว่า “At Tech in Asia, you can keep abreast of the latest news, share your own thoughts, and find talent or jobs best suited to your needs. Connect with startups, investors, corporates and more, at our annual conferences held in Singapore, Bangalore, Tokyo, and Jakarta”

ซึ่งจาก Elevetor Pitch ของ Tech in Asia นั้น พวกเขาทำให้ผมรู้ว่าพวกเขาทำอะไรภายในเวลาไม่ถึง 1 นาที และทำให้ผมรู้อีกว่าถ้าผมเสพคอนเทนต์ หรือเข้าร่วมชุมชนของ Tech in Asia แล้ว ผมจะได้อะไร

2. คุณคือใคร?

อย่างที่เกริ่นไปในตอนแรกๆ ว่าการทำธุรกิจบนโลกออนไลน์นั้น คนซื้อ กับคนขายนั้นไม่ได้เจอกันแบบต่อหน้าเหมือนกับการค้าขายบนโลกออฟไลน์ เพราะฉะนั้นการบอกให้คนที่เข้าเว็บไซต์ของคุณรู้ว่าคุณเป็นใครนั้นจะช่วยให้ธุรกิจของคุณดูน่าเชื่อถือขึ้นอีกมาก

นอกจากการบอกว่าคุณชื่ออะไร มีเทือกเขาเหล่ากอเป็นยังไงแล้ว สิ่งที่สำคัญมากๆ ไม่แพ้กันเลยคือ “รูป” การใส่รูปของคุณลงไปด้วย มันเป็นเหมือนการบอกว่า “ถ้าสินค้า หรือการบริการมีปัญหา เราอยากให้คุณรู้ไว้ว่า คนที่อยู่ในรูปเหล่านี้ หน้าตาแบบนี้ ท่าทางแบบนี้ จะเป็นคนให้บริการคุณ”

Shifu แนะนำ
ตัวอย่างสำหรับวิธีนี้คือบริษัทสร้างเครื่องมือสำหรับจัดการโซเชียลมีเดียอย่าง Buffer (บริษัทนี้เป็นหนึ่งในบริษัทที่ผมชอบมากที่สุดเลยครับ)

buffer-about-page

Buffer เริ่มจากการใช้ Elevator Pitch เพื่ออธิบายว่าพวกเขาทำอะไรก่อน หลังจากนั้นเขาจะพูดถึงคนในบริษัทแต่ละคน โดยเรียงลำดับจากวันที่เข้าร่วมบริษัท นอกจากนั้นแล้วคุณยังสามารถกด Learn more ถ้าคุณอยากรู้จักคนนั้นๆ เพิ่มเติม แค่นั้นยังไม่พอ เมื่อคุณกด Learn more แล้ว คุณเกิดอยากรู้จักคนคนนั้นขึ้นมา คุณสามารถใช้ Twitter เพื่อพูดคุยกับพวกเขาได้อีกด้วย

ในบรรดาทุกวิธีที่ผมเขียนถึงในนี้ ผมคิดว่าวิธีการใส่ชื่อ และใส่รูปของเจ้าของเว็บไซต์แบบนี้เป็นวิธีที่ทำได้ง่าย และเป็นวิธีในการสร้างความน่าเชื่อถือได้ดีที่สุดครับ

3. คลุกเรื่องเล่า เคล้าเรื่องราว

ผมคิดว่ามันมีความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างการที่คุณบอกว่าคุณทำอะไร กับการที่คุณเล่าว่าคุณทำอะไร

การเขียนหน้า “เกี่ยวกับเรา” ให้เหมือนเรื่องเล่านั้นจะทำให้เว็บไซต์ของคุณดูน่าติดตาม คนอ่านอยากจะอ่าน และอยากรู้จักคุณต่อ วิธีนี้อาจจะดูเวิ่นเว้อ และดูขัดแย้งกับวิธีแรก (Elevator Pitch) ที่เน้นความฉับไว และตรงประเด็น แต่ผมคิดว่าถ้าคุณทำออกมาได้ดี มันจะดูทรงพลังไม่แพ้กับวิธีแรกที่ผมเขียนถึงเลย

Shifu แนะนำ
ตัวอย่างของเว็บไซต์ที่คลุกเรื่องเล่า เคล้าเรื่องราวได้อย่างกลมกล่อมที่ผมอยากจะเอามาเป็นตัวอย่างคือ Moz ที่เป็นเว็บไซต์สร้างเครื่องมือที่ช่วยในการทำ SEO ชั้นนำในตลาด

moz-timeline

Moz ใช้วิธีเขียนหน้า “เกี่ยวกับเรา” ผ่าน Timeline ตั้งแต่สมัยปี 2004 ที่ Rand Fishkin ก่อตั้งบริษัทของ Moz ขึ้นมากับแม่ของเขา จนกระทั่งถึงปี 2016 ที่บริษัทของเขาได้รับเงินลงทุน 10 ล้านเหรียญสหรัฐ

moz-tagfee

นอกจากนั้นแล้ว Moz ยังแชร์ Core Value ของบริษัทอย่าง TAGFEE (Transparency & Authentic, Generous, Fun, Emphathetic และ Exceptional) ผ่านหุ่นยนต์ที่มีชื่อว่า Roger อีกด้วย

เอาจริงๆ เลยคือผมอ่านหน้า “เกี่ยวกับเรา” ของ Moz จบแล้ว ผมยังจับใจความไม่ได้เลยว่า Moz ทำอะไร แต่การเล่าเรื่องของพวกเขานั้น ทำให้ผมอยากจะเปิดเข้าไปหน้าอื่นๆ เพื่อศึกษาต่อ

4. โม้ได้ โม้เลย!

การโม้นั้นไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดี ตราบใดที่การโม้นั้นๆ เป็นเรื่องจริง

การโม้อย่างพอเหมาะ และพอดีลงในหน้า “เกี่ยวกับเรา” (อาจจะเป็นหลังจากที่อธิบายเกี่ยวกับสินค้า, บริการ หรือตัวคุณ) นอกจากจะไม่ทำให้คนหมั่นไส้แล้ว ยังจะทำให้คนรู้สึก ว้าว อีกด้วยนะ

Shifu แนะนำ
ตัวอย่างเว็บไซต์ที่ผมเห็นเขาโม้แล้วรู้สึก ว้าว ก็คือ Twitter

หน้าเกี่ยวกับเราของ Twitter นั้นขึ้นต้นด้วยคำว่า “It’s happening” และจากนั้นก็ต่อด้วย Mission ของบริษัทว่า “To give everyone the power to create and share ideas and information instantly, without barriers.”

twitter-companys-fact

จากนั้น Twitter ก็ได้โม้ถึงตัวเลข (ที่เป็นข้อเท็จจริง) เกี่ยวกับจำนวนผู้ใช้งาน, จำนวนพนักงาน และจำนวนภาษาที่ซัพพอร์ต

อีกบริษัทที่โม้ได้เจ๋งมากๆ เลยก็คือ Canva ที่เป็นโปรแกรมสำหรับออกแบบรูปภาพโดยไม่ต้องมีความรู้ด้านการออกแบบ ซึ่งในหน้าเกี่ยวกับเราของ Canva นั้นจะโชว์จำนวนผลงานที่ออกแบบผ่าน Canva แบบ Real Time

5. วาจาลูกค้ามีค่าดั่งทองคำ

ถึงแม้ว่าคุณจะเล่าเรื่องได้อย่างยอดเยี่ยม หรือโม้ได้อย่างยอดยุทธ์เพียงใด ในบางครั้ง มันก็อาจจะยังไม่เพียงพอที่จะทำให้คนที่เข้าเว็บไซต์ของคุณนั้นเชื่อถือคุณได้

คำชื่นชมของลูกค้าปัจจุบันที่พอใจ หรือชื่นชอบในตัวคุณ/บริษัทของคุณ (Customer Testimonial) นั้นสามารถช่วยคุณได้

Shifu แนะนำ
หน้าเกี่ยวกับเราของ Elegant Themes นั้นเป็นตัวอย่างของการใช้ประโยชน์จาก Customer Testimonial ได้อย่างน่าสนใจ

elegantthemes-about-page-meet-customers

โดยที่หลังจากพวกเขาได้ “โม้”, “เขียน Elevator Pitch” และ “โชว์หน้าตาทุกคนในทีม” เสร็จแล้ว พวกเขาก็ใส่ Customer Testimonial จากลูกค้ากว่า 10 คนลงไป ซึ่ง Testimonial ของลูกค้าแต่ละคนนั้นก็ไม่ใช่แค่ประโยคเพียงแค่ 2-3 บรรทัดที่บอกว่า “โอ้! สินค้าของ Elegant Themes เขาดีมาก คุณควรจะซื้อมันนะ”

ถ้าคุณลองกดเข้าไปดู Read His/Her Story คุณจะเห็นได้ว่ารีวิวของลูกค้าแต่ละคนนั้นมาเป็นบทความย่อยๆ เลยล่ะ

6. วีดีโอบอกเล่าเรื่องราว

VP ของ Facebook เคยกล่าวว่าในปี 2020-2021 คอนเทนต์บน Facebook อาจจะเป็นวีดีโอทั้งหมด

ถึงแม้คอนเทนต์บน Facebook จะไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับหน้าเกี่ยวกับเราบนเว็บไซต์ แต่มันก็แสดงให้เห็นว่าวีดีโอนั้นมีอิทธิพลขนาดไหน ถ้าวีดีโอแนะนำตัวคุณ/บริษัท นั้นทำออกมาได้ดี พลังของมันจะมีมากกว่าคอนเทนต์รูปแบบอื่นๆ เยอะเลยล่ะ

Shifu แนะนำ

neil-patel-about-page

ตัวอย่างของการใช้วีดีโอบอกเล่าเรื่องราวที่ผมชอบนั้นเป็นของป๋า Neil Patel โดยที่ในหน้าเกี่ยวกับเราของป๋าแกนั้นเริ่มด้วยคำโปรยใหญ่ๆ ที่เขียนว่า “Who is Neil Patel?” จากนั้นก็ใส่วีดีโอแนะนำตัวเองสั้นๆ ที่ได้ใจความ

แล้วก็จบด้วยส่วนที่ทรงพลังที่สุดโดยการเปิดโอกาสให้ลูกค้า (คนอ่านบล็อก) นั้นมาคอมเมนต์ใต้วีดีโอ (วิธีที่ 5: วาจาลูกค้ามีค่าดั่งทองคำ)

7. ใส่ Call to action

ไม่ว่าคุณจะใช้วิธีที่ผมเขียนถึงก่อนหน้านี้ไปกี่วิธี ถ้าในหน้าเกี่ยวกับเราของคุณนั้นขาด Call to action หน้าเกี่ยวกับเราของคุณมันก็เหมือนกับการที่นักเต้นบัลเลต์ที่เต้นมาดีตลอด แต่ดันมีท่าจบที่ไม่สวยงาม

หากคุณต้องการให้คนอ่านบล๊อก ก็ใส่ลิงก์ว่า “อ่านบล็อก” เพื่อดึงให้คนไปที่บล็อก

หากคุณต้องการเก็บอีเมล ก็ใส่ Subscription Form เพื่อให้คนกรอกอีเมล

หากคุณต้องการขายของ ก็ใส่ปุ่ม “ดูสินค้า” เพื่อให้คนไปเลือกซื้อของ

ถามตัวเองว่าคุณต้องการให้คนที่เข้ามาดูหน้าเกี่ยวกับเราของคุณทำอะไรต่อ จากนั้นก็ใส่ Call to action ให้ตรงกับสิ่งนั้น แล้วหน้าเกี่ยวกับเราของคุณจะไม่สูญเปล่า

Shifu แนะนำ
สำหรับตัวอย่างของเว็บไซต์ที่ใส่ Call to action ไว้ในหน้าเกี่ยวกับเราได้ดีก็คือ Social Media Examiner ครับ

social-media-examiner-about

หลังจากที่พวกเขา Elevator Pitch เกี่ยวกับเว็บไซต์ของตัวเองจบแล้ว พวกเขาก็พยายามที่จะส่งคนอ่านไปยังฟอร์มให้กรอกอีเมล, ฟัง Podcast และดูวีดีโอ

ผมเชื่อว่าใครก็ตามที่ได้คลิ๊กเข้าไปถึงหน้าเกี่ยวกับเราของ Social Media Examiner นั้นจะต้องคลิ๊กไปดูหน้าอื่นๆ ต่อแน่ๆ

สรุป

และนี่ก็คือ 7 วิธีในการสร้างหน้า “เกี่ยวกับเรา” ให้ดูหน้าเชื่อถือนะครับ

แน่นอนว่ามันคงไม่สามารถเอาไปใช้ได้ทั้ง 7 วิธี เพราะว่าถ้าเอาไปใช้ทั้งหมดหน้าเกี่ยวกับเราของคุณน่าจะรกมากเกินความจำเป็น

ถ้าคุณไม่แน่ใจว่าจะเอาวิธีไหนไปใช้ ผมแนะนำให้คุณลองมองเว็บไซต์ของคุณจากมุมของคนนอกดูว่ามันดูน่าเชื่อถือรึเปล่า? แล้วถ้ามันไม่น่าเชื่อถือ มันไม่น่าเชื่อถือเพราะว่าอะไร?

การเอาใจเขามาใส่ใจเราจะเป็นตัวบอกทุกอย่างว่าคุณควรจะใส่อะไรลงไปในหน้าเกี่ยวกับเราของคุณบ้าง

ตาคุณแล้ว

หลังจากอ่านบทความนี้แล้ว คุณได้ไอเดียสำหรับการทำหน้าเกี่ยวกับเราบนเว็บไซต์ของคุณเพิ่มเติมบ้างรึเปล่า? มาคุยกันต่อได้ในคอมเมนต์เลยครับ 🙂

New call-to-action