เนื้อหาเหล่านี้เปรียบได้กับบทสัมภาษณ์แบงค์และอร สองผู้ก่อตั้ง ถึงประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้จากการลองทำบล็อกนี้มาหนึ่งเดือน
(ผู้สัมภาษณ์ในตอนนั้นก็ยังคงเป็นพวกเรากันเอง)
เนื่องจากข้อมูลความรู้ยังคงใช้งานได้อยู่ จึงยังขอเก็บบทความนี้ไว้ในลักษณะเดิม

 

เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก เผลอแปบเดียว พวกเราก็เริ่มทำ Content Shifu มาได้ 1 เดือนแล้ว!

ขอบคุณที่ติดตามอ่านกันนะ : )

เพื่อเป็นการรีวิวสิ่งที่พวกเราได้ทำกันตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา และเพื่อที่จะเอา Insight ต่างๆ เรียบเรียงมาให้ได้อ่านกัน พวกเราก็เลยเขียนบล็อกสั้นๆ บล็อกนี้ขึ้นมา (บอกว่าสั้นๆ แต่เอาเข้าจริง น่าจะยาวอยู่เหมือนกัน ฮ่าๆ)

ลองมาดูกันดีกว่าว่า 1 เดือนที่ผ่านมานั้นเราเรียนรู้เรื่องอะไรกับการทำ Content Shifu บ้าง

รับรองว่ามีประโยชน์แน่ๆ

7 บทเรียนที่พวกเราได้เรียนรู้จากการทำ Content Shifu มา 1 เดือน

1. คอนเทนต์แบบ Long form เป็นสิ่งที่เข้าท่า

พวกเราเริ่มสร้างบล็อกนี้ด้วยคอนเซปท์ที่ว่า ทุกครั้งที่คุณคลิ๊กเข้ามาอ่านบล็อกของเรา และอ่านจนจบ คุณจะได้ แนวคิดที่เอาไปใช้ได้จริงทันที อย่างน้อย 1 แนวคิด ซึ่งการที่จะทำแบบนั้นได้ พวกเราต้องลงรายละเอียดเชิงลึกพอสมควร

ตัวอย่างเช่น บล็อกของพวกเราจะไม่ได้แค่บอกให้คุณบริหารเวลาให้มีประสิทธิภาพ แต่จะเจาะลึกไปถึงขั้นที่ว่า การบริหารเวลาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นนั้นทำได้อย่างไร (ดูตัวอย่างได้ที่ เทคนิคแบบ Pomodoro)

และจากสถิติใน Google Analytics Traffic ที่เข้าเว็บไซต์ของพวกเรามีประมาณ 3,400 คน และจำนวน Page View อยู่ที่ประมาณ 8,000 ครั้ง ถึงแม้มันยังไม่ได้เยอะเท่าไหร่ แต่พวกเราก็ค่อนข้างพอใจกับตัวเลขนี้นะ เพราะคนที่เข้ามาอ่านบล็อกของพวกเราจะใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 4-6 นาทีต่อบล็อก และมีคนมาคอมเมนต์ในเว็บ 6 คน (อร: ซึ่งเราชอบมากค่ะที่มีคนมาคอมเมนต์ในบล็อกบ้าง เพราะเว็บคอนเทนต์ส่วนใหญ่มักได้คอมเมนต์จากเฟสบุ๊คมากกว่า) (แบงค์: ขอบคุณพี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆ ที่มาคอมเมนต์ด้วยนะครับ เห็นคอมเมนต์ทีไร ชื่นใจทุกที ฮ่าๆ)

ตัวเลขทั้งหมดนี้ก็เป็นตัวชี้วัดได้อย่างหนึ่งเลยแหละว่าคนอ่านเห็นคุณค่าของ Long form Content ถึงแม้จะมีเพื่อนๆ บางคนบอกพวกเราว่า ยาวไป ขี้เกียจอ่าน แต่อย่างน้อยพวกเขาก็คิดว่าสิ่งที่เราทำนั้นมีคุณภาพ (อร: เราเคยเขียนมาหลายที่ แต่บอกเลยว่าใน Content Shifu แต่ละบทความ เราใช้เวลากับมันมากจริงๆ)

เพราะฉะนั้นพวกเราจะเดินหน้าผลิต Long form Content ที่มีประโยชน์ให้ได้อ่านกันต่อไปเรื่อยๆ นะ : )

2. คนส่วนใหญ่อ่านบล็อกผ่านมือถือ

“คนที่เข้ามาอ่านบล็อกของ Content Shifu กว่า 80% เข้ามาอ่านผ่านมือถือ”

จริงๆ ข้อมูลตรงส่วนนี้ไม่ได้ Insight สักเท่าไหร่ และน่าจะเป็นข้อมูลที่ทุกคนน่าจะพอรู้อยู่แล้ว แต่ก็อยากจะเอามาเตือนคนที่เว็บไซต์ยังไม่ Responsive อีกครั้งว่า เทรนด์มือถือมาแล้ว ถ้าไม่อยากโดน Google ปรับลดอันดับในการค้นหา คุณควรจะเปลี่ยนก่อนที่มันจะสายเกินไป

3. “อีเมล” ยังคงเป็นช่องทางที่น่าสนใจ

คุณน่าจะพอสังเกตเห็นแล้วว่าสิ่งที่พวกเราเน้นกันมากๆ เลยก็คือการกระตุ้นให้คนติดตามพวกเราผ่านทางช่องทางอีเมล สาเหตุที่เราเลือกช่องทางนี้เป็นช่องทางหลักแทนที่จะเป็นช่องทางบนโซเชียลมีเดียก็เพราะว่ามันคาดการณ์ได้ง่ายกว่า

เราไม่สามารถรู้ได้ว่าในปีหน้า หรือแม้แต่ในเดือนหน้า โซเชียลมีเดียจะมีการปรับอัลกอริทึ่ม หรือสร้างฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่ทำให้พวกเราติดต่อสื่อสารกับคุณได้ยากขึ้นกว่าเดิมรึเปล่า แต่สำหรับโลกของอีเมลแล้ว มันหมุนช้ากว่ามาก

บอกตามตรงว่าในตอนแรกพวกเราก็ไม่แน่ใจว่ามันจะดีกว่าไหม แต่พอได้ลองจริงมาประมาณ 1 เดือน พวกเราคิดว่าช่องทางการสื่อสารด้วยอีเมลนั้นยังเป็นช่องทางที่ไม่ควรมองข้ามเลยล่ะ

มาลองดูสถิติคร่าวๆ กันดีกว่า

ใน 1 เดือนที่ผ่านมา Conversion Rate (จำนวนคนที่ Subscribe หารด้วยจำนวนคนที่เห็นฟอร์ม) ของพวกเราอยู่ที่ 3.8%

ดูแล้วเหมือนจะน้อยนะ แต่พวกเราค่อนข้างพอใจกับมันพอสมควร เพราะว่าเราใส่ฟอร์มไว้ในทุกหน้า และบางหน้าก็มีฟอร์มถึง 3 ที่ด้วยกัน

ส่วนของการส่งอีเมล พวกเราได้ส่งอีเมลแคมเปญไปทั้งหมด 5 แคมเปญ จำนวนคนที่เปิดอีเมลนั้นอยู่ประมาณที่ 25% และจำนวนคนที่คลิ๊กเข้าไปอ่านอยู่ที่ประมาณ 15%

สถิตินี้ถือว่าดีกว่ามาตรฐานของการส่งอีเมล (ดูตัวเลขเพิ่มเติมได้จาก Mailchimp) ค่อนข้างเยอะ พวกเราค่อนข้างพอใจกับตัวเลขคนคลิ๊กเข้าไปอ่าน แต่เรายังไม่ค่อยพอใจกับตัวเลขคนเปิดอีเมลสักเท่าไหร่

ป.ล. สาเหตุที่ผลตอบรับจากอีเมลของพวกเราค่อนข้างดี น่าจะเป็นเพราะว่าพวกเราไม่เน้นขายของ (เพราะไม่มีของให้ขาย ฮา) แต่เน้นการส่งมอบคุณค่าให้กับคนที่ติดตามพวกเรา

ป.ล. 2 ถ้าคุณเป็นหนึ่งในคนที่ Subscribe ผ่านอีเมล แต่ไม่ค่อยได้เปิดเมลของพวกเรา เราอยากรู้มากๆ เลยว่าทำไมคุณถึงไม่ค่อยได้เปิดอีเมลของพวกเรา เพื่อที่ว่าเราจะได้เอาไปปรับปรุงให้มันดีขึ้น พิมพ์มาคุยกับพวกเราในส่วนของคอมเมนต์ได้เลยนะ : )

4. Content Upgrade เป็นกลยุทธ์ที่น่าสนใจมากๆcontent-upgrade-ebook-example

ถ้าคุณยังไม่ได้ Subscribe พวกเราผ่านอีเมล และถ้าคุณเข้าบล็อกผ่าน Desktop คุณจะเห็นข้อความ “ฟรี eBook! 36 เครื่องมือ + 6 เว็บไซต์ที่จะช่วยติดปีกให้กับ Social Media ของคุณ” ซึ่งพวกเราทำ eBook ขึ้นมาเพื่อให้คุณดาวน์โหลด โดยมีข้อแลกเปลี่ยนเล็กๆ ที่พวกเราต้องการนั่นก็คือชื่อ กับอีเมลของคุณ (ส่วนใครที่ Subscribe แล้วก็ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่ได้ เพราะพวกเราจะส่งอีเมลไปให้คุณดาวน์โหลด eBook หลังจากที่คุณ Subscribe พวกเราไปแล้ว 2 วัน)

เมื่อคุณกดปุ่ม โหลด eBook ฟรี คุณจะถูกส่งไปที่หน้า Landing Page ซึ่งในหน้านี้คุณจะไม่เห็นอะไรอย่างอื่นทั้งสิ้น ยกเว้นคำอธิบาย และช่องให้กรอกชื่อ และอีเมลของคุณ (อัปเดตล่าสุด พวกเราเพิ่มเติมในส่วนของชื่อบริษัท และตำแหน่งเข้าไปด้วย)

ผลปรากฏว่า Conversion Rate (จำนวนคนที่กรอกชื่อ และอีเมล หารด้วยจำนวนคนที่คลิ๊กเข้ามาดู) คือ 77%! ซึ่งกลยุทธ์นี้เป็นกลยุทธ์ที่ได้ผลเกิดคาดของพวกเราสุดๆ

กว่าจะได้ eBook มาซักเล่ม ก็ไม่ใช่งานหมูๆ เลย แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็น่าชื่นใจมาก

ถ้าคุณยังไม่เคยใช้วิธีนี้ในการเพิ่มจำนวนผู้ติดตาม พวกเราแนะนำให้ลองใช้ดูนะ : )

5. ปุ่มแชร์ LINE นั้นให้ผลดีพอๆ กับปุ่มแชร์ Facebook

ก่อนหน้านี้พวกเราคิดมาเสมอว่า ช่องทางในการที่จะทำให้คนแชร์มากที่สุดนั้นคือ Facebook

แต่เมื่อพวกเราลองเอาปุ่มแชร์ Facebook, LINE และ Twitter บนเว็บ และบนมือถือของพวกเรามาวิเคราะห์ ผลที่ได้นั้นมันบอกว่า LINE นั้นก้าวขึ้นมาท้าชิง Facebook แล้ว (คนแชร์ผ่าน Facebook 45%, แชร์ผ่าน LINE 45% และแชร์ผ่าน Twitter 10%)

เพราะฉะนั้น ถ้าคุณยังไม่ติดปุ่มแชร์ LINE บนเว็บไซต์ของคุณ คุณกำลังพลาดโอกาสสำคัญเลยล่ะ

ป.ล. ถ้าคุณใช้ WordPress อยู่ พวกเราแนะนำให้ลองไปดู Plugin Seed Social และ Easy Social Sharing Button เพราะ Plugin 2 ตัวนี้มีฟีเจอร์แชร์ผ่าน LINE ด้วย

6. คอนเทนต์แบบ Mass มีคนอ่านมากกว่าคอนเทนต์แบบ Niche

อันนี้เป็นเรื่องจริงที่น่าเศร้าของพวกเรา ฮ่าๆ

บทความอย่าง 11 วิธีทำให้เว็บโหลดเร็วขึ้นราวกับติดจรวด (สำหรับ WordPress) และ รีวิว AI Chatbot เทรนด์ใหม่ กับความท้าทายของสาย Content Marketing ที่พวกเราหมายมั่นปั้นมือว่าจะมีคนเข้ามาดูกันอย่างล้นหลามนั้นไม่สามารถสู้บทความอย่าง 7 วิธีตั้งชื่อบทความให้น่าสนใจจนคนต้องกดอ่าน ได้เลย (แพ้ไปในอัตราส่วน 7 ต่อ 1)

นั่นคงเป็นเพราะว่าเรื่องเกี่ยวกับการทำ WordPress ให้เร็วขึ้น และเรื่อง AI Chatbot เป็นเรื่องที่ค่อนข้างเฉพาะทาง ในขณะที่บทความเรื่องการตั้งชื่อหัวข้อนั้นเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็อ่านได้

7. อย่ากลัวที่จะบอกต่อสิ่งดีๆ

ถ้าสังเกตดีๆ แต่ละบทความที่เราเขียน เราจะมีแนะนำบทความอื่นๆ เว็บอื่นๆ คอยลิงก์ออกไปหาคนอื่นเขาเสมอ บางคนอาจจะมองว่าทำไมถึงต้องแนะนำคนอื่นล่ะ ทำไมต้องดึงให้ออกนอกเว็บตัวเอง เดี๋ยวเขาก็ติดใจเว็บอื่นหรอก ไม่อยากให้เขาติดอยู่กับเว็บเราหรือ?

พวกเรากลับมองว่าบทความที่ลิงก์ออกหาคนอื่น มันบ่งบอกถึงการทำการบ้านมาก่อน ซึ่งพวกเราก็ทำการบ้านมาก่อนเขียนจริงๆ นี่นา ไม่จำเป็นต้องกลัวที่จะเราว่าเราทำการบ้านอะไรมาบ้าง ของคนอื่นถ้าเขาดีก็แนะนำไปเถอะ เราทำบทความของเราดีๆ ไม่แน่บางทีต่อไป เว็บอื่นๆ ก็อาจจะอยากพูดถึงเว็บ Content Shifu ของเราบ้างก็ได้

สรุป

lessons-from-1-month-with-content-shifu_r2

และนี่ก็คือ 7 บทเรียนที่พวกเราได้มาหลังจากเริ่มทำ Content Shifu มาครบ 1 เดือนนะ พวกเราหวังว่ามันจะมีประโยชน์กับคุณบ้างไม่มากก็น้อย

และถ้าคุณมีคำแนะนำ ข้อเสนอแนะหรือคำติชม พิมพ์มาคุยกับพวกเราได้ในคอมเมนต์ 🙂

หมายเหตุ บทความนี้ถูกเขียนโดยแบงค์ และอร