1 กันยายน 2021 นี้ มีความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับภาษีที่ผู้ประกอบการ มืออาชีพในองค์กร และฟรีแลนซ์ที่ทำงานในสาย Digital ต้องรู้ โดยเฉพาะบริษัทหรือคนที่มีการซื้อโฆษณาผ่านแพลตฟอร์มต่างประเทศอย่างเช่น Facebook และ Google

รู้จักกับพ.ร.บ. อี-เซอร์วิส

พ.ร.บ. อี-เซอร์วิส เป็นพ.ร.บ. ที่จะถูกประกาศใช้ในวันที่ 1 กันยายน 2021 ที่ให้อำนาจกรมสรรพากรในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในอัตรา 7% จากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการต่างประเทศ แต่ไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทขึ้นในประเทศไทย และมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ตัวอย่างเช่น Facebook, Google, Amazon, Agoda, Airbnb หรือ Netflix เป็นต้น

รูปจาก Facebook

Content Shifu เองก็เริ่มได้รับข้อมูลจากผู้ให้บริการที่ส่งมาแจ้งเตือนถึงความเปลี่ยนแปลงนี้แล้วเหมือนกัน

ใครกระทบอย่างไรบ้าง?

สำหรับนิติบุคคลที่จดภาษีมูลค่าเพิ่ม

ตัวอย่างภ.พ. 20 จากกรมสรรพากร

ถ้าคุณเป็นนิติบุคคลที่จดภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 20) ที่มีการซื้อโฆษณา (หรือทำธุรกรรม) ผ่านแพลตฟอร์มต่างประเทศ และมีการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มจากธุรกรรมเหล่านี้อยู่แล้ว จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะต้องจ่ายและนำส่ง VAT 7% ในทุกๆ เดือน และเอาไปเคลม Tax Credit ในเดือนถัดไปอยู่แล้ว

แต่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคุณน่าจะเป็นปัจจัยภายนอกมากกว่า ซึ่งถ้าคุณมีคู่แข่งที่ไม่ได้มีการจดภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่มาก การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะทำให้คุณแข่งขันได้มากขึ้น เพราะคู่แข่งของคุณต้องแบกรับต้นทุนทางด้านภาษีมากขึ้น

สำหรับนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาที่ไม่มีการจดภาษีมูลค่าเพิ่ม

ถ้าคุณเป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาที่ไม่มีการจดภาษีมูลค่าเพิ่ม คุณจะเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% นี้อยู่ดี ซึ่งวิธีการเสียภาษีคือแพลตฟอร์มต่างๆ จะบวกค่าใช้จ่ายเพิ่ม 7% โดยอันโนมัติเลย

สมมติว่าเมื่อก่อนคุณจ่ายค่าโฆษณาผ่าน Facebook/Google อยู่ 10,000 บาทต่อเดือน หลังจากวันที่ 1 กันยายนเป็นต้นไป คุณจะต้องจ่าย 10,700 ต่อเดือน (ต้นทุนจะเพิ่มขึ้นมาอีก 700 บาท)

นิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาที่ไม่มีการจดภาษีมูลค่าเพิ่มควรปรับตัวอย่างไร?

อย่างแรกคือต้องยอมรับความจริงว่าพ.ร.บ. กำลังจะถูกประกาศใช้แล้ว ซึ่งไม่ว่าอย่างไรก็เลี่ยงไม่ได้ และเราเองก็ไม่แนะนำให้หลบเลื่ยงด้วย

อย่างที่สองคือต้องปรับตัวและพัฒนา คำแนะนำจาก Content Shifu คือนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาที่ทำธุรกิจด้วยการพึ่งพาแพลตฟอร์มจากต่างชาติ จะต้องหาสินค้าหรือบริการที่แตกต่าง เร่งสร้างแบรนด์และที่สำคัญเร่งหา Unique Selling Points / Competitive Advantages ของตัวเองที่ทำให้เหนือกว่ารายอื่นๆ

สรุป

และนี่คือความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากพ.ร.บ. อี-เซอร์วิส ที่จะถูกประกาศใช้ในวันที่ 1 กันยายน 2021 ซึ่งธุรกิจต่างๆ ในประเทศไทยที่มีการทำธุรกรรมกับบริการจากต่างประเทศควรจะต้องรู้ไว้และปรับตัว

ถ้าคุณอยากศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำ Digital Marketing หรือการใช้งานแพลตฟอร์มต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น คุณสามารถเข้าไปอ่านคลังความรู้ของ Content Shifu ได้ที่นี่ หรือไปศึกษาหาความรู้เชิงลึกได้ที่นี่