Chapter 3



Digital Advertising Strategies

สร้างแผนโฆษณาออนไลน์อย่างเป็นขั้นตอน

คุณเคยสงสัยไหมว่าทำไมโฆษณาออนไลน์บางตัวที่ใช้งบประมาณเท่ากัน มีเทคนิคเหมือนกันลงในช่องทางคล้ายๆ กันแต่ผลลัพธ์แตกต่างกัน แคมเปญบางตัวได้ผลลัพธ์ดีเป็นสิบเท่า แต่บางตัวกลับได้ผลลัพธ์ไม่ดีเท่าที่คาดหวัง 

ทำไมถึงเป็นแบบนั้นกัน?

คำตอบก็คือ “Strategy” หรือกลยุทธ์การวางแผนโฆษณาออนไลน์นั่นเองและในบทความนี้จะพาไปรู้จักกับการสร้างแผนโฆษณาออนไลน์ทีละขั้นตอนว่าประกอบไปด้วยอะไรบ้าง

ถ้าคุณสนใจเรียนรู้การทำ Digital Advertising ทาง Content Shifu มีคอร์สเรียน Facebook Ads Certification และ Google Ads Certification ให้คุณไปศึกษาเพิ่มเติม เรียนรู้ตั้งแต่ระดับ Basic จนถึง Intermediate พร้อมรับใบ Certification ของ Content Shifu หลังเรียนจบ

แผนการโฆษณาออนไลน์คืออะไร

แผนการโฆษณาออนไลน์หรือ Digital Advertising Strategies คือการวางแผนหรือวางกลยุทธ์ของแบรนด์ว่าต้องการสื่อสาร สินค้าหรือบริการอะไร กับใคร บนช่องทางออนไลน์ไหน เพื่อวัตถุประสงค์อะไร ภายใต้จำนวนเงินเท่าไหร่ เพื่อให้โฆษณาที่แบรนด์เผยแพร่ออกไปนั้นบรรลุเป้าหมายของแบรนด์

สิ่งสำคัญที่แบรนด์จะต้องรู้จักก่อนการยิงโฆษณานั้นก็คือ ขั้นตอนการวางกลยุทธ์ซึ่งประกอบไปด้วย 

  1. การรู้จักแบรนด์ของตัวเอง (Understand your Business) 
  2. การรู้จักกลุ่มเป้าหมายของตัวเอง (Understand your Customer)
  3. การกำหนดวัตถุประสงค์ (Defined Advertising Goals)
  4. การเลือก Framwork มาช่วยวางแผนในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย (Define Framework)
  5. การกำหนดงบประมาณ (Budget)
  6. การกำหนดช่องทางในการทำโฆษณาออนไลน์ (Select Media Channels)
  7. การวัดผลงานของโฆษณา (Report and Evaluate Performance)

บทความนี้จะพาไปรู้จักกับขั้นตอนที่จะช่วย ให้แบรนด์สามารถซื้อพื้นที่และเผยแพร่โฆษณาบนช่องทางออนไลน์ได้ 


สำหรับคนที่อยากรู้จักการวางกลยุทธ์หรือ Digital Marketing Strategy แบบภาพรวม ทั้งในรูปแบบ Organic และ Paid สามารถไปทำความเข้าใจทีละขั้นตอนอย่างละเอียดได้ในบทความ Digital Marketing Strategy คืออะไร 

 

ขั้นตอนการวางแผนซื้อโฆษณาออนไลน์

สำหรับในบทนี้ จะพูดเรื่องการรู้จักแบรนด์และรู้จักกลุ่มเป้าหมายอย่างรวดเร็ว เพราะว่าจะเจาะลึกกับกลยุทธ์ที่แบรนด์สามารถเลือกใช้เพื่อส่งโฆษณาไปหากลุ่มเป้าหมายได้ มาเริ่มเลย 

การรู้จักแบรนด์และกลุ่มเป้าหมาย (Know Your Business and Customer)

เป็นขั้นตอนแรกเริ่มที่ทุกธุรกิจจำเป็นต้องรู้จักก่อนการวางแผน นั่นก็คือการรู้จักแบรนด์ของตัวเองว่า แบรนด์กำลังขายสินค้าและบริการประเภทไหน ขายให้ลูกค้ากลุ่มไหนบ้าง โดยสามารถวิเคราะห์ธุรกิจผ่านโมเดล 2 ตัวนั่นคือ Business Canvas Model ที่เป็นรูปแบบตาราง 8 ช่องเพื่อวิเคราะห์ธุรกิจโดยภาพรวมและ SWOT Analysis ตาราง 4 ช่องที่ช่วยแบรนด์วิเคราะห์จุดเด่น จุดด้อย รวมไปถึงโอกาสและข้อท้าทายที่แบรนด์อาจจะเจอในอนาคต 

ตัวอย่าง Business Model Convas
ตัวอย่าง Business Model Convas จาก strategyzer.com
ตัวอย่าง SWOT Analysis
ตัวอย่าง SWOT Analysis จาก similarweb.com

หลังจากแบรนด์รู้จักตัวเองอย่างละเอียดแล้วขั้นตอนหลังจากนี้คือ รู้จักและกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่แบรนด์ต้องการสื่อสารผ่านโฆษณาอย่างละเอียดมากยิ่งขึ้น โดยการใช้โมเดลที่เรียกว่า Customer Persona หรือรูปแบบลูกค้าจำลองเพื่อทำความเข้าใจพวกเขามากยิ่งขึ้น

ซึ่งรายละเอียดภายใน Customer Persona จะประกอบไปด้วยสิ่งเหล่านี้ 

  1. ข้อมูลพื้นฐานหรือ Demographic เช่น อายุ เพศ การศึกษา อาชีพ เป็นต้น 
  2. เป้าหมาย / ปัญหา / ความสนใจ เช่น งานอดิเรก สิ่งที่ชอบ/สิ่งที่ไม่ชอบ ความสนใจ เป็นต้น 
  3. พฤติกรรมและช่องทางออนไลน์ของเขา เช่น ช่องทางออนไลน์ที่เขาเลือกใช้หาสินค้าและบริการ เพื่วิเคราะห์ช่องทางที่แบรนด์ควรเลือกใช้ 
  4. สิ่งที่เป็นความสนใจของกลุ่มลูกค้า 
ตัวอย่าง Customer Persona
ตัวอย่าง Customer Persona จาก contentshifu.com

การกำหนดวัตถุประสงค์แผนโฆษณาออนไลน์ (Define Advertising Goals)

หลังจากผ่านพ้นขั้นตอนแรกที่แบรนด์ต้องวิเคราะห์ตัวธุรกิจและกลุ่มเป้าหมายเรียบร้อยแล้ว มาถึงขั้นตอนต่อไปนั่นคือ ขั้นตอนกำหนดวัตถุประสงค์ของธุรกิจว่าต้องการทำเป้าหมายอะไรให้สำเร็จลุล่วงจากการโฆษณาสินค้าและบริการนั้น โดยการกำหนดเป้าหมายผ่านการทำ SMART Goal 

กำหนดวัตถุประสงค์ผ่าน SMART Goal

Fitzhugh Dodson เคยพูดไว้ว่า “ถ้าปราศจากเป้าหมายและกลยุทธ์คุณก็เหมือนเรือที่กางใบออกแบบไม่มีจุดหมาย” 

เช่นเดียวกันกับการซื้อโฆษณาออนไลน์ เพราะว่าสิ่งสำคัญที่แบรนด์ควรกำหนดก็คือ เป้าหมาย ของการจ่ายเงินซื้อโฆษณาเหล่านั้นโดยที่เป้าหมายนั้นจะต้องเป็น เป้าหมายที่ประกอบไปด้วย 5 อย่างที่สำคัญคือ Specific, Measurable, Attainable, Relevant, และ Time-bound 

ตัวอย่าง SMART Goals
ตัวอย่าง SMART Goals จาก Productplan.com

SMART Goal นั้นมีความสำคัญกับการวางแผนซื้อโฆษณาออนไลน์เพราะว่าแบรนด์สามารถติดตามและวิเคราะห์ประสิทธิภาพของโฆษณาได้อย่างละเอียด และเพื่อตรวจสอบว่าโฆษณาที่ซื้อไปสามารถบรรลุจุดประสงค์ได้หรือไม่ โดยที่ 

  1. Specific หรือ เป้าหมายเฉพาะเจาะจง ซึ่งเป้าหมายของการทำโฆษณาออนไลน์นั้นต้องเฉพาะเจาะจง สามารถบอกได้ว่าแบรนด์จะทำอะไร 
  2. Measurable หรือ เป้าหมายที่วัดผลได้ ซึ่งสามารถมีตัวชี้วัดออกมาเป็นรูปธรรมได้ 
  3. Attainable หรือ เป้าหมายที่จับต้องได้และเป็นจริง 
  4. Relevant หรือ เป้าหมายที่เกี่ยวข้องและสอดคล้องไปกับแบรนด์
  5. Time-bound หรือ เป้าหมายที่มีการกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน 

ตัวอย่างการวางแผน SMART Goal

ตัวอย่างที่ 1

สมมติว่า คุณคือเจ้าของแบรนด์ที่มีเว็บไซต์เป็นของตัวเองและต้องการเพิ่มยอด Reach และยอดขายบนโฆษณา คุณสามารถกำหนด SMART Goal ออกมาได้เป็น 

‘มีจำนวนคนเห็นแบรนด์ของคุณผ่านการซื้อโฆษณาบน Instagram Ads เฉลี่ย 9,000 ครั้งต่อเดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 – 31 มีนาคม 2565’

การตั้งเป้าหมายทางด้านบนถือเป็นการตั้งเป้าหมายแบบ SMART Goal จะเห็นได้การลงโฆษณาผ่าน Instagram (Specific & Relevant), การมีคนเห็นแบรนด์ของคุณ (Specific & Relevant) 9,000 ครั้งต่อเดือน (Measurable & Attainable), รวมไปถึงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 – 31 มีนาคม 2565 (Time-bound)

ตัวอย่างที่ 2

หลังจากโฆษณาตัวแรกมีผู้เข้าชมตามเป้าหมายแล้ว ต่อไปคุณต้องการเพิ่มยอดผู้เข้าชมเว็บไซต์ (Traffic) ภายในสิ้นปีนี้ คุณสามารถกำหนด SMART Goal ออกมาได้เป็น 

‘มีจำนวนเข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซต์ของคุณผ่านการซื้อโฆษณาบน Instagram Ads เฉลี่ย 900 ครั้งต่อเดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 – 31 มีนาคม 2565’

การตั้งเป้าหมายทางด้านบนถือเป็นการตั้งเป้าหมายแบบ SMART Goal จะเห็นได้การลงโฆษณาผ่าน Instagram (Specific & Relevant), การมีจำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์ (Specific & Relevant) 900 ครั้งต่อเดือน (Measurable & Attainable), รวมไปถึงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 – 31 มีนาคม 2565 (Time-bound)

ตัวอย่างที่ 3

เป้าหมายต่อไปของคุณคือ คุณต้องการลูกค้าให้เข้ามาซื้อเสื้อผ้าบนหน้าเว็บไซต์ของคุณ (Sales) ภายในระยะเวลา 1 ปี โดยตัว SMART Goal จะออกมาเป็น

‘มีผู้ซื้อสินค้าของคุณผ่านการซื้อโฆษณาบน Instagram Ads เฉลี่ย 30,000 บาทต่อเดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 – 31 มีนาคม 2565’

การตั้งเป้าหมายทางด้านบนถือเป็นการตั้งเป้าหมายแบบ SMART Goal จะเห็นได้การลงโฆษณาผ่าน Instagram (Specific & Relevant), การมียอดขาย (Specific & Relevant) 30,000 บาทต่อเดือน (Measurable & Attainable), รวมไปถึงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 – 31 มีนาคม 2565 (Time-bound)

สรุปตรงส่วนนี้ก็คือ การที่แบรนด์หยิบยก SMART Goal มาช่วยตั้งเป้าหมายจะช่วยให้แบรนด์สามารถรู้ได้ว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้คืออะไร และถ้าแคมเปญไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แบรนด์ก็สามารถเช็คได้ว่าปัจจัยอะไรที่ส่งผลหรือมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพของโฆษณา ซึ่งจะช่วยให้แบรนด์ปรับแก้ไขแผนการได้อย่างถูกต้อง

การเลือก Framework ในการทำแผนโฆษณาออนไลน์ (Define Framework)

ขั้นตอนต่อไปก็คือการนำ Digital Marketing Framework มาช่วยตีกรอบวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโฆษณาให้ชัดเจนและละเอียดมากยิ่งขึ้น ซึ่งในบทความนี้ Framework ที่จะถูกเอามาแนะนำได้แก่ Customer Journey, Traffic Temperature, UPSYD เป็นต้น โดยที่แบรนด์สามารถเลือก Framwork แบบใดแบบหนึ่งมาช่วยตีกรอบแผนโฆษณาให้คมชัด พร้อมส่งสารเหล่านั้นไปยังกลุ่มลูกค้าของแบรนด์ 

Customer Journey Framework

รูปแบบ Framwork ตัวแรกมีชื่อว่า Customer Journey  ซึ่ง Framework ตัวนี้เป็นตัวช่วยนำทางให้แบรนด์สร้าง ความสัมพันธ์กับลูกค้าผ่านการทำการตลาดบนช่องทางออนไลน์ตามลำดับขั้นตอน ตั้งแต่ Awareness, Consideration ไปจนถึง Decision 

ตัวอย่าง Customer Journey Framwork
ตัวอย่าง Customer Journey Framwork จาก launchpadmy.co

โดยที่จะประกอบไปด้วย 6 ช่วงนั่นคือ 

  1. Awareness ช่วงที่กลุ่มเป้าหมายเริ่มมีการรับรู้ถึงแบรนด์ผ่านช่องทางต่างๆ 
  2. Consideration ช่วงที่กลุ่มเป้าหมายเริ่มพิจารณาทางเลือกต่างๆ 
  3. Decision ช่วงที่กลุ่มเป้าหมายตัดสินใจในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ

ดังนั้นการเลือกใช้ Framework ตัวนี้กับการวางแผนโฆษณาออนไลน์ก็ช่วยให้แบรนด์สามารถวิเคราะห์ช่วงเวลาของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างชัดเจนและละเอียด และยังช่วยให้แบรนด์สามารถวางแผนแคมเปญสำหรับช่วงเวลาถัดไปได้อีกเช่นเดียวกัน 

Traffic Temperature 

มาถึง Framwork แบบต่อไปที่เรียกว่า Traffic Temperature โดยการเปรียบเทียบลูกค้ากับอุณหภูมิเพื่อให้แบรนด์ทำความเข้าใจว่าตอนนี้ความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์และลูกค้าอยู่ตรงจุดไหนเพื่อให้ โฆษณาออนไลน์ที่เผยแพร่ออกมานั้นมีความเหมาะสมกับลูกค้ามากที่สุด 

ลูกค้าใน Traffic Temperature Framework จะประกอบไปด้วยลูกค้าที่ไม่รู้จักแบรนด์ลูกค้าที่รู้จักแบรนด์และลูกค้าเต็มตัวของแบรนด์

ตัวอย่าง Traffic Temperature
ตัวอย่าง Traffic Temperature จาก digitalmarketer.com

โดยอุณหภูมิของลูกค้าจะประกอบไปด้วย 3 ระดับคือ

  1. Cold Temperature หรือกลุ่มลูกค้าที่ไม่เคยรู้จักแบรนด์หรือสินค้าและบริการของแบรนด์โดยที่การทำโฆษณาออนไลน์กับลูกค้ากลุ่มนี้คือการแนะนำตัวเอง (Introduction) เพื่อเริ่มสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าก่อนการเสนอขายสินค้าและบริการ 
  2. Warm Temperature หรือกลุ่มลูกค้าที่มีการรับรู้เกี่ยวกับแบรนด์หรือมีความสนใจ แต่ยังไม่ได้สนใจในขั้นที่จะต้องทำการซื้อสินค้าและบริการ ซึ่งแบรนด์จำเป็นต้องเข้าหาพวกเขาโดยการใช้โฆษณาเพื่อกระตุ้นการตัดสินใจ และชูว่าสินค้าและบริการของแบรนด์นั้นคือสิ่งที่ตอบโจทย์ที่สุด
  3. Hot Temperature หรือกลุ่มลูกค้าเต็มตัวที่ได้ทำการเข้าซื้อสินค้าและบริการแล้ว โดยที่แบรนด์สามารถรักษาความสัมพันธ์กับพวกเขาผ่านการทำโฆษณาแบบ Retargeting ได้เช่นเดียวกัน 

ซึ่งในแต่ละระดับอุณหภูมิก็จะมีวิธีการสร้างแผนโฆษณาออนไลน์ไปยังกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน ดังนั้นแบรนด์ต้องรู้จักกลุ่มเป้าหมายและระดับความสัมพันธ์ระหว่างตนเองและลูกค้าผ่านระดับ Traffic Temperature เพื่อเพิ่มโอกาสให้แบรนด์สร้างโฆษณาที่สื่อสารกับคนที่ใช่ ในเวลาที่ใช่ 

UPSYD

หรืออีกชื่อภาษาไทยคือ อัปไซด์ ที่ประกอบไปด้วยพยัญชนะภาษาอังกฤษ 5 ตัว โดยที่ Framework จะให้ความสำคัญกับปัญหา (Problems) ของกลุ่มเป้าหมาย และทางแก้ (Solutions) ของแบรนด์ เพื่อที่แบรนด์จะได้ตอบปัญหาได้อย่างตรงจุดในแต่ละขั้นของ Framework

ตัวอย่าง UPSYD Framework
ตัวอย่าง UPSYD Framework

โดย UPSYD Framwork นั้นประกอบไปด้วย 5 ชั้นตอนคือ 

  1. Unaware คือช่วงที่กลุ่มเป้าหมายกำลังเผชิญกับ ‘ความไม่รู้’ ว่าพวกเขาไม่รู้อะไร โดยสารที่ควรสื่อออกไปหาพวกเขาคือ สารที่มีประโยชน์และให้ความรู้เพื่อก่อให้เกิดการตระหนักรู้
  2. Problem คือช่วงที่กลุ่มเป้าหมายรับรู้แล้วว่าตัวเอง ‘มีปัญหา’ และต้องการแก้ไขปัญหา แต่ไม่รู้วิธีแก้ไขปัญหาเหล่านั้น หน้าที่ของแบรนด์ในการสื่อสารกับลูกค้าขั้นนี้คือ การเสนอข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาและทางแก้ไข 
  3. Solution คือช่วงที่กลุ่มเป้าหมายรับรู้ ‘ปัญหา’ และ ‘ทางแก้ไข’ ของปัญหาแล้วแต่เขาไม่รู้จักแบรนด์หรือสินค้าและบริการของแบรนด์เลย ดังนั้นแบรนด์ควรสื่อสารกับลูกค้าเพื่อให้พวกเขาหยุดการลังเลและชูสินค้าและบริการของแบรนด์ให้โดดเด่นกว่าใคร 
  4. Your-Solution Aware คือช่วงที่กลุ่มเป้าหมาย ‘รับรู้’ ถึงสินค้าและบริการของแบรนด์ แต่ไม่มั่นใจว่าแบรนด์จะเป็นทางเลือกที่ใช่หรือไม่ ดังนั้นแบรนด์ควรนำเสนอ ‘ความน่าเชื่อถือ’ ออกมา เช่น การรีวิวสินค้าและบริการจากลูกค้าคนอื่น
  5. Deal คือช่วงที่กลุ่มเป้าหมายมีความสนใจในสินค้าและบริการมากขึ้น แต่ยังขาดการ ‘กระตุ้น’ อยู่ สารที่แบรนด์ควรสื่อออกไปคือ offer ที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจได้ง่ายยิ่งขึ้น 

ถ้าแบรนด์ต้องทำแผนสร้างโฆษณาออนไลน์เพื่อสื่อสารให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนขึ้น การเลือกนำ Framework แบบ UPSYD หรืออัปไซด์มาร่วมใช้งานออกแบบโฆษณานับว่าเป็นอีกทาง เลือกที่ดีต่อแบรนด์

หรือถ้าอยากรู้จักการทำ UPSYD แบบเจาะลึก ก็สามารถเข้าไปศึกษาบทความของเราได้ เพื่อช่วยคุณเลือก Message ให้ตรงใจลูกค้ามากยิ่งขึ้น 

ทั้ง 3 Framework ที่กล่าวมานั้นมีจุดเด่นและแนวคิดที่แตกต่างต่างกัน แต่ล้วนมีประโยชน์สำหรับแบรนด์ในการวางแผนให้ละเอียดและรู้ว่ากำลังสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าในช่วงระยะไหน เพื่อให้โฆษณาออนไลน์ออกมาได้ตรงใจ และไปถึงกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง 


ในขั้นตอนของการวางแผนงบประมาณการซื้อโฆษณาขั้นตอนนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นขนาดของบริษัท งบประมาณที่มี ช่องทางที่ต้องการเผยแพร่โฆษณาและอื่นๆ อีกมากมาย ดังนั้นในส่วนนี้แบรนด์จำเป็นต้องวิเคราะห์ปัจจัยเหล่านั้นเพื่อหางบประมาณที่เหมาะสมที่สุดในการทำโฆษณาและวางเป้าหมายไว้ว่าภายใต้งบปประมาณเหล่านี้ จะต้องได้อะไรตอบแทนกลับมาบ้าง

 

กำหนดช่องทางทำโฆษณาออนไลน์ (Select Paid Media Channels)

โฆษณาออนไลน์ที่ลงในช่องทางที่ต่างกัน อาจจะได้ผลลัพธ์ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญอีกอย่างคือการเลือกช่องทางการทำโฆษณาออนไลน์ กำหนดพื้นที่ว่าพื้นที่ไหนบ้างที่มีกลุ่มเป้าหมาย ของแบรนด์อยู่ หรือพื้นที่ไหนที่พวกเขามีโอกาสมองเห็นโฆษณาของแบรนด์ 

ซึ่งแบรนด์ไม่จำเป็นต้องเลือกใช้ช่องทาง เดียวสำหรับ 1 แคมเปญ เพียงแค่ต้องศึกษาและทำความเข้าใจกับช่องทางแต่ละช่องทางว่าควรใช้โฆษณารูปแบบไหน มีจุดเด่น จุดด้อยอย่างไร เหมาะสมกับสินค้าและบริการของแบรนด์มากน้อยแค่ไหน 

ช่องทางยอดฮิตที่แบรนด์นิยมใช้กระจายโฆษณาของตัวเองมีประมาณ 10 พื้นที่ ได้แก่

  1. Facebook Ads
  2. Instagram Ads
  3. Twitter Ads
  4. LinkedIn Ads
  5. Tiktok Ads
  6. LINE Ads Platform (LAP)
  7. Google Ads
  8. Youtube Ads
  9. Shopee Ads 
  10. Lazada Ads

โดยที่คุณสามารถเข้าไปอ่านบทความ 10 ช่องทางโฆษณาออนไลน์ พร้อมจุดเด่น-จุดด้อย พร้อมวิธีการทำงานของแต่ละตัวอย่างละเอียด สามารถเข้าไปปศึกษาและทำความรู้จัก พร้อมชมหน้าตาทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านของ Platform เหล่านั้นได้

5 องค์ประกอบสำคัญบนโฆษณาออนไลน์

รูปแบบของโฆษณานั้นไม่ว่าจะเป็นภาพนิ่ง หรือ ภาพเคลื่อนไหว ก็มีความสำคัญไม่แพ้กันเพราะต่างก็มีจุดประสงค์เพื่อที่จะสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ อ้างอิงจาก Digitalmarketer.com ว่าภายในโฆษณาแต่ละชิ้น แต่ละประเภทนั้นจะประกอบไปด้วย 5 องค์ประกอบสำคัญคือ ข้อเสนอ, ข้อความ, ความสร้างสรรค์, ความเชื่อมโยง, และกลุ่มเป้าหมาย 

ข้อเสนอต่อกลุ่มเป้าหมาย (Offer)

องค์ประกอบแรกคือ ข้อเสนอ ที่แบรนด์ต้องขายสิ่งนี้ออกไปพร้อมกับโฆษณาของสินค้าและบริการของ

แบรนด์เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายรู้สึกต้องการที่จะสร้าง action กับโฆษณานั้น โดยข้อเสนอเหล่านี้อาจจะ เป็นอะไรที่แบรนด์สามารถเสนอให้ลูกค้าได้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่อง

  • ทดลองฟรี
  • การขนส่ง เช่น ส่งฟรี หรือ อัพเกรดระดับขนส่งฟรี
  • ราคา เช่น 1 แถม 1 หรือลด  30% 
ตัวอย่าง Offer ในโฆษณา
ตัวอย่าง Offer ในโฆษณาจาก Cloud.Google.com

ยิ่งยื่นข้อเสนอที่ทำให้กลุ่มเป้าหมายรู้สึกคุ้มค่าและชูแบรนด์ให้โดนเด่นกว่าใคร โอกาสที่กลุ่มเป้าหมายจะตัดสินใจซื้อหรือทำอะไรบางอย่างที่คุณอยากให้ทำก็จะมีมากขึ้น

ข้อความในโฆษณา (Copy)

องค์ประกอบที่สองของโฆษณาคือ ข้อความ หรือ Copy บนตัวโฆษณานั่นเอง โดยที่ข้อความในที่นี้คือ Message ที่แบรนด์ต้องการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายของพวกเขา และ Message นี้ควรจะชัดเจนและโน้มน้าวเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายรู้สึกคล้อยตามไปกับโฆษณา 

โดยที่แบรนด์สามารถเสนอ Copy ในรูปแบบของการชี้ให้กลุ่มเป้าหมายเห็นถึงปัญหาที่เขากำลังเผชิญและต่อด้วยการเสนอ Offer ของแบรนด์เพื่อเป็นการแก้ปัญหาที่พวกเขากำลังเจอ 

ตัวอย่าง Copy ในโฆษณา
ตัวอย่าง Copy ในโฆษณาจาก DataCamp

ตรงส่วน Message ที่แบรนด์นี้เลือกใช้คือหยิบยกปัญหาที่กลุ่มเป้าหมายกำลังเจอ คือ ‘ความสนใจใน Data Science แต่ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน’ เพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมายในสิ่งที่พวกเขากำลังมีความสนใจ พร้อมกับเสนอ Offer เพื่อแก้ไขปัญหานั่นคือ แบรนด์จะช่วยเหลือว่าสามารถเริ่มที่ไหนและต้องเรียนอะไรเพื่อเพิ่มความสามารถ

ความสร้างสรรค์ของโฆษณา (Creative)

องค์ประกอบต่อมาของโฆษณาคือ ความสร้างสรรค์ ของโฆษณา ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบภาพนิ่ง วิดีโอ การนำเสนอ หรือแบบ carousel ก็ตามล้วนต้องสามารถบอกใบ้ให้กลุ่มเป้าหมายเห็นภาพเกี่ยวกับสินค้าและบริการของแบรนด์ หรือก็คือ Graphic บนโฆษณานั่นเอง

ตัวอย่าง Creative ในโฆษณา
ตัวอย่าง Creative ในโฆษณาจาก Slack.com

การใส่ Graphic ลงไปในโฆษณามีส่วนช่วยให้ Copy ของโฆษณานั้นสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เพราะเป็นการช่วยวาดภาพให้กลุ่มเป้าหมายมองโฆษณาได้ชัดมากยิ่งขึ้น รวมถึง Graphic เหล่านั้นยังสามารถบ่งบอกความเป็นตัวตนของแบรนด์ได้อีกเช่นเดียวกัน 

คุณสามารถทำความรู้จักการสร้าง Brand Identity ที่ผสมผสานระหว่าง Branding และ Design เพื่อช่วยสื่อสารความเป็นแบรนด์ต่อกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจนยิ่งขึ้น 

ความเชื่อมโยงของโฆษณา (AdScent)

องค์ประกอบที่สี่คือ ความเชื่อมโยง ของโฆษณา การที่จะช่วยดึงดูดกลุ่มเป้าหมายให้คล้อยตามกับโฆษณานั้น แบรนด์ต้องสร้างความเชื่อมโยงระหว่างโฆษณาและปลายทางที่จะส่งกลุ่มเป้าหมายไป หลังจากกลุ่มเป้าหมายสร้าง Action เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสน หรือโอกาสสูญเสียลูกค้าไป 

โดยแบรนด์สามารถเริ่มจากการสร้างโฆษณาออกมาชิ้นหนึ่งและใส่ CTA (Call to Action) เพื่อส่งกลุ่มเป้าหมายไปยังหน้าเว็บไซต์ โดยที่หน้า Landing page นั้นจะต้องเป็นจุดหมายเดียวกันกับบนโฆษณา ถ้าโฆษณาขายรองเท้าผ้าใบ รุ่น A ตัว Landing page ที่จะส่งกลุ่มเป้าหมายไปก็ต้องเป็นหน้าของรองเท้าผ้าใบ รุ่น A เพื่อป้องกันความสับสน

ตัวอย่าง Adscent ในโฆษณา
ตัวอย่าง Adscent จากคำว่า รองเท้าสเก๊ต และส่งลูกค้าไปยัง Landing Page
ตัวอย่าง Adscent ในโฆษณา
ตัวอย่าง AdScent ในโฆษณาจาก Nike.com

การกำหนดเป้าหมาย (Targeting)

องค์ประกอบสุดท้ายของการทำโฆษณาคือ การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ แทบจะมากที่สุดในการทำโฆษณา เพราะหัวใจของการทำโฆษณาคือการส่ง ‘สาร’ ที่ใช่ไปหา ‘คน’ ที่ใช่ใน ‘เวลา’ ที่ใช่ ต่อให้องค์ประกอบ 4 อันที่ผ่านมาจะแข็งแกร่งแค่ไหน แต่ถ้าส่งไปหาคนที่ไม่ใช่ คนที่ต้องการรับสารอย่างแท้จริง เป้าหมายของการทำโฆษณาก็จะไม่ประสบผล  

ตัวอย่าง Targeting ของโฆษณา
ตัวอย่าง Targeting จาก Facebook Ads Manager

ดังนั้นแบรนด์ต้องวางแผนกำหนดกลุ่มลูกค้าและวิธีสื่อสารกับพวกเขาอย่างรอบคอบและชัดเจนก่อนจะทำการปล่อยโฆษณาออนไลน์ออกไป

ถ้าคุณสนใจเรียนรู้การทำ Digital Advertising ทาง Content Shifu มีคอร์สเรียน Facebook Ads Certification และ Google Ads Certification ให้คุณไปศึกษาเพิ่มเติม เรียนรู้ตั้งแต่ระดับ Basic จนถึง Intermediate พร้อมรับใบ Certification ของ Content Shifu หลังเรียนจบ

สรุป

การสร้างแผนโฆษณาออนไลน์นั้นสิ่งสำคัญคือการรู้จักตัวเองว่าคือใคร ขายสินค้าและบริการอะไร มีจุดแข็ง จุดอ่อนอะไร รวมไปถึงการรู้จักผู้ฟังหรือผู้รับสารอย่างดีเพื่อให้โฆษณาถูกส่งออกไปอย่างแม่นยำและไม่คลาดเคลื่อน 

แบรนด์จำเป็นต้องวางเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการซื้อโฆษณาอย่างชัดเจน จับต้องและวัดผลได้ และใช้ประโยชน์จาก Framework หลายรูปแบบเพื่อย้ำวัตถุประสงค์ ความสัมพันธ์กับลูกค้า และสารที่ต้องการสื่อออกไปให้คมชัดมากขึ้น พร้อมกับเลือกช่องทางในการทำโฆษณาออนไลน์และสร้างโฆษณาออนไลน์ภายใต้องค์ประกอบ 5 ข้อที่สำคัญ สิ่งเหล่านี้คือขั้นตอนที่แบรนด์ควรวิเคราะห์เพื่อสร้างโฆษณาออนไลน์ชิ้นเอกออกมาสื่อสารกับลูกค้า 

ในบทความต่อไป เราจะพาคุณไปรู้จักกับตัวชี้วัดผลลัพธ์ (Metrics) ของโฆษณาออนไลน์เหล่านี้กัน